ฉบับที่ 224 น้องหมาห้องเช่าข้างๆ เสียงดังทำอะไรได้บ้าง

โดยทั่วไป คอนโดมิเนียมหรืออพาร์ตเม้นท์ จะมีกฎระเบียบห้ามเลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและเพื่อป้องกันเรื่องเดือดร้อนรำคาญ เนื่องจากลักษณะของห้องที่เรียงรายติดต่อกัน   ดังนั้นผู้อยู่อาศัยจึงไม่ควรละเมิดกฎเกณฑ์ แต่หากห้องข้างเคียงทำผิดกฎ การแจ้งให้ผู้ดูแลอาคารหรือส่วนกลางของคอนโดดำเนินการ ก็เป็นสิ่งที่กระทำได้        อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง หลายคนแม้รู้สึกถูกรบกวนด้วยการเลี้ยงสัตว์ของเพื่อนห้องข้างๆ หรือชั้นเดียวกัน แต่ไม่อยากมีปัญหาที่เกิดจากการฟ้อง เพราะต้องอาศัยอยู่ด้วยกันอีกนาน คงอยากได้คำตอบว่า สามารถทำอย่างไรได้บ้าง        เช่นเดียวกับคุณธรณี อยู่อพาร์ตเม้นท์ในซอยแห่งหนึ่งมาได้เกือบสามปีแล้ว จนเมื่อประมาณต้นปี 2562 มีเพื่อนหรือผู้เช่าห้องข้างเคียงใหม่ นำสุนัขมาเลี้ยงไว้ในห้องเช่าด้วย โดยเจ้าของอพาร์ตเม้นท์ก็รู้เห็น ปัญหาคือ เวลาผู้เช่าห้องนั้นไปทำงาน สุนัขจะเห่าเสียงดังเวลาที่มีคนเดินผ่านหน้าห้อง ทำให้คุณธรณีเดือดร้อน รำคาญเนื่องจากเขาอยู่อาศัยในห้องเกือบตลอดเวลา เคยแจ้งผู้ดูแลอาคารก็ไม่สามารถจัดการปัญหาได้ การไปแจ้งตำรวจผู้ร้องหรือคุณธรณีก็ไม่อยากมีปัญหากับผู้เช่าใหม่ เพราะห้องอยู่ติดกัน “ผมจะทำอะไรได้บ้าง”  แนวทางแก้ไขปัญหา          1.ควรแจ้งให้เจ้าของอพาร์ตเม้นท์หรือผู้ดูแลอาคารจัดการปัญหา โดยขอคำตอบว่า จะดำเนินการได้เมื่อไร อย่างไร เนื่องจากอพาร์ตเม้นท์เป็นสิทธิของเจ้าของว่าจะมีกฎเกณฑ์เรื่องให้เลี้ยงหรือห้ามเลี้ยงสัตว์หรือไม่  และต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เช่าห้องทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน          2.ผู้ร้องอาจแจ้งเหตุเสียงดังต่อหน่วยงานท้องถิ่น เช่น เทศบาล เพื่อขอให้เข้ามาตรวจสอบเนื่องจากเหตุรำคาญ เช่น กลิ่น เสียง ฯลฯ โดยทำเป็นหนังสือแจ้งต่อเทศบาลได้ เมื่อมีการแจ้งเหตุเจ้าหน้าที่จะดำเนินการเข้ามาตรวจพื้นที่และแก้ไขปัญหา ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535           3.กรณีที่พักอาศัยในเขตกรุงเทพฯ ควรทำหนังสือร้องเรียนต่อสำนักงานเขต เพื่อให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ. 2548 ข้อ 16 (3) มีหลักว่า ในการเลี้ยงสุนัข เจ้าของสุนัขต้องควบคุมดูแลสุนัขมิให้ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ เช่น ก่อให้เกิดเสียงดังติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 เลี้ยงสัตว์ รบกวนชาวบ้าน

สำหรับใครที่เคยมีประสบการณ์เดือดร้อนรำคาญ เพราะเพื่อนบ้านเลี้ยงสัตว์มากมายหลายชนิด ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเรา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องกลิ่น เสียง หรือกระทบต่อสุขภาพก็ตาม ลองมาดูเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้กัน ว่าเขามีวิธีรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างไรคุณทินกรเป็นหนึ่งในผู้พักอาศัยของหมู่บ้านชื่อดังย่านรังสิต ซึ่งได้เพื่อนข้างบ้านที่มีพฤติกรรมชอบเลี้ยงเป็ดและไก่ แต่นั่นจะไม่ใช่ปัญหาเลย หากเพื่อนข้างบ้านของเขาไม่ได้เลี้ยงสัตว์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก  และปล่อยให้สัตว์ทั้งสองชนิดกีดขวางทางสัญจรสาธารณะภายในหมู่บ้าน มากไปกว่านั้นยังนำแผ่นคอนกรีตมาวางในที่ถนนสาธารณะเพื่อการเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้ทางสัญจรสกปรกและมีเชื้อโรคแม้เขาจะพยายามแสดงความไม่ประทับใจในพฤติกรรมดังกล่าว ให้เพื่อนบ้านรับรู้ด้วยการว่ากล่าวตักเตือน แต่ก็ยังไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ส่งผลให้คุณทินกรส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาจากการที่เพื่อนบ้านนำเป็ดและไก่จำนวนมากมาเลี้ยงและปล่อยให้เดินขับถ่าย ไปตามพื้นที่ต่างๆ ในหมู่บ้าน อาจถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิด ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 (แก้ไขเพิ่มเติม 2560) มาตรา 25 (2) ซึ่งกำหนดไว้ว่าการกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ความเสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนข้างเคียง หรือแก่ผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง เช่น การเลี้ยงสัตว์ในที่ หรือวิธีใด หรือมีจำนวนเกินสมควร จนเป็นเหตุให้เสื่อม หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพให้ถือว่าเป็นเหตุรำคาญ โดยการการเลี้ยงสัตว์ในที่นี้ หมายถึงการเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดที่ 1) สถานที่เลี้ยงไม่เหมาะสม สกปรก มีกลิ่นเหม็น เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์พาหะนำโรค เป็นต้น 2) โดยวิธีการเลี้ยงที่รบกวนความเป็นอยู่ ของผู้อาศัยข้างเคียง เช่น การปล่อยให้สัตว์ไปกินพืชผักของคนข้างบ้าน หรือปล่อยให้ไปถ่ายบ้านข้างเคียง เป็นต้น 3) เลี้ยงจำนวนมากเกินไป เช่น สถานที่เลี้ยงคับแคบ อยู่ใกล้บ้านข้างเคียง แต่ก็เลี้ยงจำนวนมาก จนเกิดเสียงร้องดัง มีกลิ่นสาบ หรือกลิ่นมูลเหม็น เป็นต้น ซึ่งฝ่ายปกครองท้องถิ่นมีอำนาจดำเนินการตรวจสอบและออกคำสั่งให้ผู้ที่ก่อเหตุรำคาญนั้นระงับหรือแก้ไขเหตุนั้นได้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ จึงช่วยผู้ร้องส่งหนังสือถึงฝ่ายปกครองท้องถิ่นประจำจังหวัด (รูปแบบของการฝ่ายปกครองท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล/ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)) เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย ภายหลังสำนักงานเทศบาลประจำจังหวัด ก็ได้ส่งหนังสือตอบกลับผลการดำเนินการมาว่า ได้ออกคำสั่งให้คู่กรณีแก้ไขปัญหาด้วยการเลี้ยงไก่และเป็ดแบบมีรั้วรอบ พร้อมให้ทำความสะอาดบริเวณโดยรอบ เพื่อไม่ให้ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นและความสกปรกเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ร้องพอใจในการดำเนินการดังกล่าวและยินดียุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >