ฉบับที่ 243 ลูกจ้างรายวันไปทำละเมิดคนอื่น นายจ้างต้องรับผิดด้วยหรือไม่

เมื่อวันก่อนมีข่าวเกี่ยวกับการเลิกจ้างลูกจ้างจำนวนมาก  ผู้ประกอบธุรกิจหลายแห่งก็ปิดกิจการเพราะทนพิษโควิดไม่ไหว หลายคนต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านนะครับ  กลับมาในประเด็นของเรา เมื่อพูดถึงลูกจ้าง ทุกคนคงพอทราบว่า ลูกจ้างเมื่อทำงานให้แก่นายจ้าง หากเกิดปัญหากับบุคคลภายนอก ทำให้เขาเสียหายใดๆ ก็ตาม กฎหมายเรากำหนดให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างด้วย แต่มีคนสงสัยว่า หากเป็นลูกจ้างรายวัน ความรับผิดในส่วนของนายจ้างจะมีแค่ไหน เพียงใด         ในกรณีนี้ เคยมีการฟ้องคดีกันจนถึงศาลฏีกา เป็นเรื่องที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่ง จ้างลูกจ้างรายวันให้ขับรถบรรทุกไปส่งสินค้า แต่ปรากฏว่าลูกจ้างคนดังกล่าวขับรถไปเฉี่ยวชนกับรถโดยสารทำให้เกิดความเสียหาย นายจ้างก็ไปคุยเจรจาต่อรองค่าเสียหายที่โรงพัก พร้อมทั้งยินยอมเสนอเงินชดใช้ค่าเสียหาย ศาลจึงตัดสินว่า พฤติการณ์ที่นายจ้างกระทำดังกล่าวเป็นการยอมรับว่ายอมรับผิดร่วมกับลูกจ้างผู้ก่อเหตุ แม้ จะเป็นเพียงลูกจ้างรายวันและขณะเกิดเหตุจะล่วงเลยเวลาทำงานตามปกติของแล้วก็ตาม ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17440/2555         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17440/2555         จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3 ขับรถบรรทุกเฉี่ยวชนรถโดยสารของโจทก์ได้รับความเสียหายแม้ขณะเกิดเหตุเป็นเวลา 20 นาฬิกา แต่จำเลยที่ 1 ยังคงสวมใส่ชุดทำงาน ในวันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 3 ไปพบพนักงานสอบสวนกับจำเลยที่ 1 โดยมิได้ปฏิเสธความรับผิดว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 แต่กลับยอมรับต่อตัวแทนฝ่ายโจทก์และพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และยังร่วมเจรจาต่อรองค่าเสียหายโดยไม่ได้แจ้งหรือแสดงพฤติการณ์ใดให้เห็นว่าเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 แสดงว่าจำเลยที่ 2 รับโดยปริยายแล้วว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำในทางการที่จ้างซึ่งจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการที่ยินยอมเสนอเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นเพียงลูกจ้างรายวันและขณะเกิดเหตุจะล่วงเลยเวลาทำงานตามปกติของจำเลยที่ 1 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและเมื่องานที่ทำเป็นกิจการของนายจ้าง จึงเป็นการปฏิบัติงานในทางการที่จ้างที่จำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้าง และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดความรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ห้างก่อให้เกิดขึ้นด้วย        อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ แม้ลูกจ้างที่รับจ้างขับรถส่งของ จะเลือกใช้เส้นทางที่นอกคำสั่งของนายจ้าง และเป็นการฝ่าฝืนระเบียบก็ตาม ก็ยังถือได้ว่าการปฏิบัติงานที่ได้กระทำไปนั้นอยู่ในทางการที่จ้าง ผู้เป็นนายจ้างจะอ้างคำสั่งหรือระเบียบภายในขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกไม่ได้         คำพิพากษาฎีกาที่ 501-504/2517               จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถของจำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 1 ให้ขับรถบรรทุกน้ำมันไปส่งที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว โดยใช้เส้นทางถนนพหลโยธินและถนนมิตรภาพไปถึงจังหวัดหนองคายแต่หลังจากส่งน้ำมันเสร็จ ขากลับจำเลยที่ 2 ขับรถมาถึงจังหวัดนครราชสีมาแล้วก็แยกเข้าถนนสายนครราชสีมา-กบินทร์บุรีเพื่อจะกลับมายังบางนางเกรง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นที่จอดรถโดยไม่ใช้เส้นทางเดิมอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งและระเบียบของจำเลยที่ 1แล้วเกิดเหตุชนกับรถยนต์อื่นที่อำเภอเมืองชลบุรี แม้จำเลยที่ 2 จะขับรถออกนอกเส้นทาง ก็ยังถือได้ว่าการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปนั้นอยู่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 จะอ้างคำสั่งหรือระเบียบภายในขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในผลแห่งละเมิดด้วย

อ่านเพิ่มเติม >