ฉบับที่ 270 โทรศัพท์ที่บ้าน...เงียบเกินไปไหม!!!???

        โทรศัพท์บ้าน หรือที่เรียกเป็นทางการว่า “โทรศัพท์ประจำที่” หรือ “โทรศัพท์พื้นฐาน” ทุกวันนี้มีการใช้บริการลดน้อยลงเรื่อยๆ สวนทางกับการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ         สำหรับคนที่ยังเปิดใช้บริการโทรศัพท์บ้าน การใช้ก็น้อยลงเรื่อยๆ เช่นกัน โดยเฉพาะการโทรออก บางคนแทบไม่เคยใช้โทรศัพท์บ้านเพื่อการโทรไปหาผู้อื่นเลย ใช้ก็เพียงการรับสายที่โทรเข้ามาเท่านั้น ซึ่งนับวันเสียงเรียกเข้าก็น้อยลงและห่างหายไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน         ด้วยสภาพดังกล่าวที่เป็นแนวโน้มปกตินี้เอง ถึงแม้โทรศัพท์บ้านจะยังคงตั้งอยู่ตรงที่เดิมของมัน และทุกเดือนๆ ผู้ใช้บริการก็จ่ายสิ่งที่เรียกว่า “ค่ารักษาเลขหมาย” จำนวน 100 บาท รวม vat เป็น 107 บาท แต่ผู้ใช้จำนวนมากอาจแทบไม่เคยยกหูโทรศัพท์ขึ้นมาเป็นเดือนๆ หรือหลายๆ เดือน และอาจไม่ทันเอะใจกับความเงียบอันเป็นปกติของ “โทรศัพท์บ้าน” ของตนเอง โดยคิดไปว่าคงเพราะไม่มีใครติดต่อมาทางช่องทางดังกล่าวนั่นเอง         อย่างไรก็ตาม จากเรื่องร้องเรียนต่อไปนี้ อาจทำให้คนที่ยังมีโทรศัพท์บ้านอยู่ จำเป็นต้องคิดใหม่และทำใหม่         เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้โทรศัพท์บ้านคนหนึ่งได้ร้องเรียนเข้ามาที่สำนักงาน กสทช. ระบุปัญหาว่า โทรศัพท์บ้านที่บ้านแม่ของเธอใช้ไม่ได้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งในครั้งนั้นเคยแจ้งเหตุไปยังบริษัททีโอทีบริษัทตรวจสอบแล้วแจ้งว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากสายภายในบ้าน จากนั้นทั้งสองฝ่ายต่างก็เงียบหายกันไป         ผู้ร้องเรียนบอกเล่าว่า จนกระทั่งกลางปี 2565 แม่ของผู้ร้องเรียนได้บ่นว่าเมื่อไรจะจัดการเรื่องโทรศัพท์บ้าน มีปัญหาผ่านมานานหลายปีแล้ว เธอจึงทดสอบดูด้วยการโทรเข้าเบอร์บ้านแม่ ผลพบว่าสองครั้งแรกมีเสียงอัตโนมัติตอบกลับว่า เลขหมายนี้ยังไม่เปิดใช้บริการ แต่ครั้งหลังพบว่ามีเสียงสัญญาณเรียกดังในหูผู้โทร แต่ไม่ดังที่เครื่องโทรศัพท์แต่อย่างใด         นั่นทำให้เธอร้องเรียนไปยังบริษัทผู้ให้บริการอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ผู้ให้บริการเปลี่ยนเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือเอ็นที (NT) แล้ว จากการควบรวมกิจการกันระหว่างบริษัททีโอที กับบริษัท กสท โทรคมนาคม หรือแคท (CAT) คราวนี้ได้รับการชี้แจงจากช่างของบริษัทฯ ว่า เนื่องจากมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า จึงทำให้สายโทรศัพท์ภายนอกชำรุดเสียหาย         ต่อมาผู้ร้องเรียนตัดสินใจพาแม่ไปดำเนินการขอยกเลิกการใช้บริการโทรศัพท์บ้านไปเลย พร้อมกับเรียกร้องขอเงินที่จ่ายไปเดือนละ 107 บาทคืนด้วย โดยระบุว่าขอคืนย้อนหลังไปจนถึงปี 2561 ที่เคยมีการร้องเรียนปัญหาครั้งแรก แต่บริษัทฯ ไม่ได้แก้ไขปัญหาให้         หลังจากนั้น ทางบริษัทฯ ได้ติดต่อกลับหาผู้ร้องเรียน แจ้งว่าได้พบสาเหตุของปัญหาคือ เคเบิลปลายทางขาดจากการถูกลักลอบตัดสายตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565!!!         กลายเป็นว่า จากเรื่องที่เริ่มด้วยการแจ้งเหตุเสียของผู้บริโภค บทลงเอยกลายเป็นเรื่องบริษัทฯ ถูกลักทรัพย์                 อย่างไรก็ตาม ปัญหาการลักลอบตัดสายเคเบิลโทรศัพท์เพื่อนำทองแดงไปขาย หรือแม้แต่สายเคเบิลอื่นๆ เช่นสายไฟฟ้า สายรถไฟฟ้า เป็นปัญหาจริงที่เกิดขึ้นและทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างต้องปวดหัวและสูญเสียงบประมาณจำนวนมหาศาล         ยกตัวอย่าง บริษัททีโอทีเคยให้ข่าวว่า ผลจากการขโมยตัดสายเคเบิลในปี 2557 เพียงปีเดียว สร้างความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท โดยประมาณร้อยละ 20 นั้นเป็นความเสียหายที่เกิดในเขตกรุงเทพมหานคร อีกทั้งปัญหาดังกล่าวยังกระทบผู้ใช้บริการจำนวนมากและกระทบการสื่อสารในวงกว้าง โดยเฉพาะถ้าสายที่ถูกขโมยเป็นสายเคเบิลขนาดใหญ่         แม้แต่ในปี 2566 นี้ ข่าวอาชญากรรมเกี่ยวกับการจับกุมผู้ลักลอบตัดสายเคเบิลชนิดต่างๆ ก็ยังมีให้เห็นเป็นระยะ         แน่นอนว่า ปัญหาดังกล่าวนี้ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายกับบริษัทฯ เป็นหลัก ส่วนผู้บริโภค แม้ว่าโดยทั่วไปอาจถือว่าไม่เดือดร้อน เนื่องจากดังที่กล่าวไปตอนต้นว่า ในระยะหลังโทรศัพท์บ้านก็ดูจะอยู่อย่างเงียบๆ มาจนเป็นปกติไปแล้ว แต่ผู้บริโภคก็มีความเสียหายจากการต้องจ่ายเงินให้แก่สิ่งที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้...อย่างไม่รู้ตัว         ทั้งนี้ สำหรับกรณีของผู้ร้องเรียน ในที่สุดบริษัทได้เสนอ “ปรับลดค่าบำรุงรักษาคู่สายโทรศัพท์” ของรอบปี 2565 ให้ ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ร้องเรียนมิได้พึงพอใจต่อข้อเสนอดังกล่าว และตั้งประเด็นที่น่ารับฟังไว้ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า เหตุใดบริษัทจึงไม่แจ้งผู้ใช้บริการ แต่กลับ “ตีเนียน” เก็บค่าบริการเรื่อยมาเดือนแล้วเดือนเล่า         เนื่องจากสถานการณ์จริงเป็นเช่นนั้นแล ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคจึงต้องช่วยเหลือตัวเอง ถ้าโทรศัพท์บ้านของใครไม่ส่งเสียงบ้างเลย ก็อาจต้องลองยกหูขึ้นฟังว่ายังมีสัญญาณอยู่หรือไม่ เพราะโทรศัพท์บ้านของท่านอาจกลายเป็น “บริการไร้สาย” ไปเสียแล้ว โดยไร้สายมาตั้งแต่ต้นทาง...จากนอกบ้าน...นั่นทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับ 250 หลงซื้อน้ำมันงาโบราณ ไม่มีเลขทะเบียนยา

        "อย.ขอเตือนประชาชน อย่าได้หลงเชื่อยาสมุนไพรแผนโบราณใดๆ ที่แสดงสรรพคุณเกินจริงว่า สามารถรักษาได้สารพัดโรค เพราะนอกจากจะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังอาจได้รับอันตรายอย่างคาดไม่ถึง เนื่องจากมักพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่แสดงสรรพคุณโอ้อวดเกินจริง มักลักลอบใส่ยาหรือสารที่เป็นอันตรายลงไป และการผลิตผลิตภัณฑ์มักไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน จึงอาจทำให้ได้รับอันตรายจากการปนเปื้อน”...นี่คือตัวอย่างคำเตือนที่มักปรากฏตามสื่อต่างๆ บ่อยๆ แต่บางครั้งบางคนก็หลงจ่ายเงินซื้อยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณครอบจักรวาลมา เพียงเพราะหลังทดลองใช้แล้วเห็นผลทันตาเพียงครู่ เลยลืมดูรายละเอียดของข้อความบนฉลากให้ถ้วนถี่ซะก่อน          คุณเด่น ไกด์หนุ่มก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาเล่าว่าตอนที่เขาพาลูกทัวร์ไปท่องเที่ยวที่แก่งกึด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ มีแม่ค้ามาขายน้ำมันงาโบราณโดยบอกว่าใช้นวดแก้ปวดเมื่อยดีขนาด และจะมาขายแค่ปีละครั้งเท่านั้น เขาเองก็กำลังรู้สึกปวดที่ต้นแขนอยู่พอดี จึงขอลองใช้น้ำมันงาโบราณนี้นวดดูหน่อย อะ ได้ผลดีแฮะ นวดไปๆ กล้ามเนื้อที่ต้นแขนเริ่มหายปวดละ เขาจึงอุดหนุนแม่ค้าในราคาขวดละ 190 บาท มา 2 ขวด ว่าจะไว้ใช้เองขวดหนึ่ง อีกขวดจะเอาไปฝากแม่         เมื่อแม่ค้าคล้อยหลังไปแล้ว ไกด์หนุ่มจึงหยิบขวดน้ำมันงานั้นขึ้นมาอ่านฉลากให้ละเอียดอีกที ปรากฎว่าหมุนรอบขวดแล้วก็ยังหาเลขทะเบียนยา หรือ อย. ไม่เจอเลย ตัวฉลากก็ไม่ได้อธิบายรายละเอียดส่วนประกอบ ไม่มีวันหมดอายุ มีแต่เบอร์โทรคนขาย และเขียนวิธีใช้ว่า ใช้นวดเวลาปวด เช้า-เย็น มีสรรพคุณ ใช้นวดอาการปวดเส้น ปวดเอ็น ปวดเข่า ปวดขา แก้ปวดฟัน รักษาอาการผื่นคัน ใช้ทาริดสีดวง สารพิษสัตว์กัดต่อย บาดแผลทุกชนิด ซึ่งดูจะเกินจริงไปมาก ไกด์หนุ่มเห็นแบบนี้ก็ไม่กล้าใช้แล้วเพราะกลัวว่าจะแอบใส่สารอันตรายอะไรปนไปหรือเปล่า จึงมาร้องเรียนกับศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยาได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นกับคุณเด่นว่า ผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณจะต้องมีเลขทะเบียนยา ชื่อที่อยู่ผู้ผลิต มีวันเดือนปีที่ผลิต และวันหมดอายุ ซึ่งน้ำมันงาโบราณนี้ไม่มีรายละเอียดเหล่านี้เลย มีแต่สรรพคุณ วิธีใช้และเบอร์โทรผู้ขาย ซึ่งไม่ทราบแหล่งที่มา และส่วนประกอบ จัดเป็นสิ่งผิดกฎหมาย อาจมีส่วนผสมของสารอันตราย ดีแล้วที่คุณเด่นไม่ใช้ต่อ ทางศูนย์ฯ จะนำผลิตภัณฑ์นี้ส่งตรวจหาสารต้องห้ามต่อไป หากพบว่าเป็นผลิตภัณฑ์อันตรายจะส่งเรื่องให้ทางสาธารณสุขจังหวัดจัดการต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 จดหมายถึงบอกอ

จดหมายถึงบก.        ผมมีความสงสัยเรื่องวันหมดอายุของหมายเลขโทรศัพท์แบบเติมเงินว่าตอนนี้มีเกณฑ์เป็นอย่างไร แล้วถ้าไม่มีกำหนดวันเลยได้ไหมครับ  บ.จะต้องแบกรับต้นทุนอะไรบ้างช่วยอธิบายหน่อยครับ                                                                                                                                                                          สมพรตอบ        ขอบคุณสำหรับคำถามของท่านสมาชิก เรื่องการเติมเงินโทรศัพท์ ทุกครั้งที่เติมเงิน ไม่ว่ามูลค่าเท่าใด จะได้วันใช้งาน 30 วัน กฎหมายมีหลักว่า ห้ามกำหนดวันหมดอายุ เว้นแต่ ค่ายมือถือจะได้รับอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งเมื่อประมาณปี 2557  ทั้ง 3 ค่ายมือถือได้ยื่นขอกำหนดวันหมดอายุ และ กสทช. ได้มีมติอนุญาตให้กำหนดวันได้ที่ 30 วัน ทุกมูลค่าที่เติมเงิน  ในส่วนที่ว่า ถ้าไม่มีกำหนดวันเลยได้ไหมครับ  ต้องตอบว่า บางคนเปิดเบอร์ไว้ มีเงินในระบบ แต่ทิ้งไว้ ไม่ใช้งาน บริษัทมีค่ารักษาเลขหมาย เลขหมายที่เราซื้อมา ควรได้นำไปจัดสรรให้คนได้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ คนที่มีหลายเบอร์ แต่ไม่ได้ใช้ เปิดเบอร์เพราะอยากได้โปรโมชัน แล้วเลขหมายนั้นๆ ก็ถูกทิ้ง ไม่ได้ใช้ เบอร์แบบนี้มีไม่น้อยเลย บางคนอาจเติมไว้รับสายอย่างเดียวก็มี การกำหนดวันจึงช่วยให้เบอร์ยังเกิดการใช้งาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 เหตุใดมีเลข อย.จึงยังอันตราย

ช่วงนี้เกิดคำถามสำคัญขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแล กฎหมายอาหาร ยา เครื่องสำอาง ว่าเหตุใด สินค้ามี อย.ถึงยังเป็นอันตรายสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ประชาชนมีความสับสนในส่วนของเครื่องหมายที่ สำนักงาน อย. นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์สุขภาพแต่ละประเภท รวมกับความเข้าใจผิดของคนกลุ่มใหญ่ว่า “เครื่องหมาย อย.” มีค่าเท่ากับ “ปลอดภัย” (ซึ่งการสื่อสารผิดพลาดนี้ต้องวิเคราะห์กันต่อไปว่ามาได้อย่างไร) เพราะความจริงคือ เครื่องหมาย อย. นั้น  ไม่ได้รับรองว่า สินค้าปลอดภัย เครื่องหมายนี้มีความสำคัญเพียงแค่ให้รู้ว่าผลิตภัณฑ์ตัวนั้นมีที่มาที่ไปจากผู้ผลิตไหน หากมีปัญหาในภายหลัง สำนักงาน อย.สามารถติดตามไปจัดการได้  ความจริงคือ เครื่องหมาย อย. นั้น  ไม่ได้รับรองว่า สินค้าปลอดภัย เครื่องหมายนี้มีความสำคัญเพียงแค่ให้รู้ว่าผลิตภัณฑ์ตัวนั้นมีที่มาที่ไปจากผู้ผลิตไหน หากมีปัญหาในภายหลัง สำนักงาน อย.สามารถติดตามไปจัดการได้  และในเรื่องของความสับสนจากเครื่องหมายที่ถูกนำมาใช้ ก็มีที่มาจากความไม่เข้าใจในสาระที่ถูกต้องของเครื่องหมายแต่ละประเภท ได้แก่   เครื่องหมาย อย. จะใช้กับอาหารเท่านั้น เรียกว่า “เลขสารบบอาหาร” ซึ่ง เลขสารบบอาหาร จะเป็นตัวเลข 13 หลัก แสดงอยู่ภายในกรอบเครื่องหมาย อย. หากเป็น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จะไม่มี เลข อย. แต่ฉลากต้องแสดง“เลขที่ใบรับแจ้ง” (เลขจดแจ้ง)โดยกำหนดให้เป็นเลข 10 หลัก เช่น 10-1-61xxxxx เป็นต้นขณะที่ ยา จะแสดงเลขทะเบียนตำรับยา โดยลักษณะของกลุ่มตัวเลขแรกคือ ประเภทของทะเบียนตำรับยาจะเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ แล้วตามด้วยเลขทะเบียนตำรับยา(ของแต่ละตำรับยา) /ปี พ.ศ. เช่น ทะเบียนยาเลขที่ 1A 324/50 เป็นต้น ช่องโหว่จากความที่ผู้บริโภคทั่วไปไม่เข้าใจเรื่องนี้ ได้กลายเป็นจุดขายให้แม่ค้าพ่อค้าสินค้าสุขภาพลวงโลก เอาไปยำข้อมูลจนผู้บริโภคสับสน เช่น เอาเครื่องหมาย อย.ไปใส่ในฉลากเครื่องสำอาง  เอาเครื่องหมาย อย.ไปใช้ในตัวสินค้าที่เป็นแค่อาหาร แต่อ้างสรรพคุณในทางรักษา หรือไม่ก็ข้างในผลิตภัณฑ์เป็นยา แต่ระบุฉลากด้วยเครื่องหมาย อย.  และโฆษณาว่า “ผลิตภัณฑ์เรามี อย. ผลิตภัณฑ์เราปลอดภัย” จนกลายเป็นที่มาของคำถามว่า ทำไมมี อย.แล้วยังไม่ปลอดภัย ปรับความรู้กันใหม่ สู้ภัยสินค้าสุขภาพผิดกฎหมาย 1.เข้าใจให้ถูกต้องเรื่องเครื่องหมาย เลขสารบบอาหาร ใช้กับผลิตภัณฑ์อาหารเท่านั้น และห้ามฉลากหรือโฆษณาบอกว่า รักษาหรือบำบัดโรค ส่วนฉลากเครื่องสำอาง ต้องไม่มีเลข อย. แต่มีเลขจดแจ้ง ระบุไว้ ซึ่งเครื่องหมายเหล่านี้สามารถนำไปตรวจสอบได้ว่า เป็นเครื่องหมายจริงหรือปลอม  2.ผลิตภัณฑ์ต้องมีการระบุ ชื่อ ที่อยู่ ผู้ผลิตที่ชัดเจน จะได้ตรวจสอบได้ หาคนรับผิดชอบได้ หากเกิดปัญหา  3.เลิกเชื่อโฆษณาอวดอ้าง ผลลัพธ์มหัศจรรย์ทั้งหลาย  เพราะมันไม่เป็นจริง  4.หากใช้แล้วมีความผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อย ต้องหยุดใช้ทันที คำอ้างที่ว่า ขับพิษหรือรออีกสักพักจะดีขึ้น มันคือคำลวง  5.ติดตามข่าวสารการแจ้งเตือนภัยสินค้า เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อสินค้าผิดกฎหมาย  6.เจอผลิตภัณฑ์เข้าข่ายผิดกฎหมาย แจ้งสายด่วน อย. 1556 อีเมล์ 1556@fda.moph.go.th หรือต่างจังหวัดที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือแจ้งตำรวจ ปคบ. สายด่วน 1135 -----------------------------------สามารถติดตามการแจ้งเตือนภัยสินค้าได้ที่www.tumdee.org  ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์5 แพลตฟอร์มของ อย. facebook.com/fdathai twitter.com/fdathai Instagram.com/fdathai YouTube.com/fdathai Line@fdathai

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ตั๋วรถไฟมีเลขที่นั่ง แต่ไม่มีเก้าอี้

ใครที่เคยเดินทางโดยสารด้วยรถไฟของบ้านเรา คงเจอปัญหารถไฟมาช้าไม่ตรงเวลากันมาบ้าง แต่จะมีสักกี่คนที่เจอปัญหาซื้อตั๋วที่มีเลขนั่งแล้ว แต่บนรถไฟกลับไม่มีเก้าอี้ให้นั่ง เพราะเก้าอี้เบอร์ดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้วเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณสมชาย เขาซื้อตั๋วรถไฟที่สถานีรังสิต เพื่อที่จะกลับบ้านที่จังหวัดสุรินทร์ โดยได้ซื้อตั๋วนั่งชั้นที่ 2 ในราคา 190 บาท ซึ่งเป็นขบวนรถเร็ว กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี และเมื่อรถไฟมาถึงผู้ร้องจึงขึ้นไปที่โบกี้ชั้น 2 และเดินดูหมายเลขที่นั่งตามตั๋วที่ซื้อมา แต่เขาไม่พบเบอร์เก้าอี้ของตนเอง จึงไปสอบถามกับพนักงานตรวจตั๋ว ซึ่งตอบกลับมาว่า ชั้น 2 มีที่นั่งถึงเบอร์ 20 กว่าเท่านั้น ส่วนเบอร์อื่นได้ถูกยกเลิกไปหมดแล้ว เพราะทางการรถไฟได้ตัดตู้ชั้น 2 ไปหนึ่งตู้ ทำให้เบอร์ที่นั่งของผู้ร้องหายไป แต่สามารถไปร้องเรียนหรือขอคืนเงินค่าตั๋วได้ที่สถานีปลายทาง ส่วนตอนนี้ถ้ามีที่ว่างก็นั่งไปก่อนได้ แต่ถ้าเจ้าของหมายเลขเขาขึ้นมาก็ต้องลุกให้เขานั่งแทน ดังนั้นผู้ร้องจึงไปนั่งเก้าอี้ที่ว่าง ซึ่งภายหลังก็มีเจ้าของหมายเลขขึ้นมา ทำให้ผู้ร้องต้องลุกไปนั่งที่อื่นสลับไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหมาย เมื่อลงจากรถไฟ คุณสมชายจึงไปสอบถามกับพนักงานขายตั๋ว ซึ่งเขาไม่ได้ต้องการเงินคืน เพียงแต่ไม่เข้าใจว่าหากไม่มีเบอร์หมายเลขที่นั่ง แล้วพนักงานจะขายตั๋วเบอร์ดังกล่าวให้ทำไม ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคมาก อย่างไรก็ตามพนักงานขายตั๋วก็ไม่สามารถให้คำตอบใดๆ กับคุณสมชายได้ เขาจึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอให้มีการตรวจสอบการทำงานของการรถไฟ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์สอบถามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับตั๋วโดยสารว่า ผู้ร้องได้ไปคืนตั๋วที่ปลายทางหรือยังและได้รับเงินคืนหรือไม่ เพราะถ้าไม่ได้รับเงินคืนจะได้ทำจดหมายขอเงินคืนในครั้งเดียวกัน ซึ่งผู้ร้องแจ้งว่า ยังไม่ได้ไปขอเงินคืน เนื่องจากจะเก็บไว้เป็นหลักฐาน  จึงขอให้ผู้ร้องส่งรูปถ่ายมาให้กับศูนย์ฯ เพิ่มเติม จากนั้นจึงช่วยผู้ร้องทำหนังสือถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย และสำเนาถึงปลัดกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรยังคงต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 ฉลากอาหารไม่มีเลข อย. 13 หลักถือว่าผิดกฎหมาย

เครื่องหมาย อย. เป็นสิ่งที่การันตีความปลอดภัยได้ระดับหนึ่ง เมื่อซื้ออาหารแปรรูปต่างๆ มารับประทาน แต่เครื่องหมาย อย. อย่างเดียวอาจไม่ถูกต้อง เพราะจำเป็นต้องมี เลขสารบบอาหารหรือเลขประจำตัวผลิตภัณฑ์อาหาร 13 หลักแสดงอยู่ภายในกรอบเครื่องหมาย อย. ด้วย จึงจะเรียกว่า ถูกต้องคุณสุจิตราซื้อนมปรุงแต่งพาสเจอร์ไรส์ยี่ห้อ อืมม!..มิลค์ (Umm!..Milk) รสกล้วยหอม ราคา 55 บาท จากห้างสรรพสินค้าเซ็นทัลลาดพร้าวกลับมารับประทานที่บ้าน แต่ได้สังเกตว่านมดังกล่าว แม้จะมีเครื่องหมาย อย.แต่ไม่มีเลขสารบบอาหาร เธอจึงสอบถามไปยังหน้าแฟนเพจเฟซบุ๊กของนมยี่ห้อดังกล่าวซึ่งชี้แจงกลับมาว่า “นมปรุงแต่ง 0% แล็กโทส รสกล้วยหอม เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของ อืมม!..มิลล์ ที่อยู่ในขั้นตอนการขอ อย. และสามารถจำหน่ายได้เนื่องจากจำหน่ายในจำนวนจำกัด โดยมีการส่งตรวจคุณภาพกับ อย. เสมอ”อย่างไรก็ตามคุณสุจิตรา ยังข้องใจในคำตอบของบริษัทฯ เธอจึงได้ส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพราะไม่แน่ใจว่านมดังกล่าวได้รับมาตรฐานและมีความปลอดภัยจริงหรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหาหลังได้รับเรื่องร้องเรียนศูนย์ฯ จึงไปซื้อนมดังกล่าวจากห้างสรรพสินค้าทั่วไป เพื่อนำมาตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง ซึ่งพบว่ามีเพียงเครื่องหมาย อย. แต่ไม่มีเลขสารบบอาหารจริง จึงทำหนังสือสอบถามและขอให้มีการตรวจสอบไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่ง อย. ตอบกลับมากว่า ได้ขอความร่วมมือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ให้มีการตรวจสอบสถานที่ผลิตพร้อมเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ดังกล่าวส่งตรวจเพื่อวิเคราะห์คุณภาพ ซึ่งพบว่ามีคุณภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข แต่การแสดงอาหารดังกล่าวไม่ถูกต้อง ถือเป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 367 พ.ศ.2557 เรื่องการแสดงฉลากอาหารในภาชนะบรรจุ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาจึงได้ดำเนินการปรับตามประกาศ (ไม่เกิน 30,000 บาท) เรียบร้อยแล้วทั้งนี้สำหรับอาหารใดๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ต้องมีฉลากอาหาร ก็ไม่ควรวางจำหน่ายก่อนได้รับเครื่องหมาย อย. เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังกระทบต่อความน่าเชื่อถือ และส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >