ฉบับที่ 207 ลูกเสียชีวิตหลังคลอด เรียกร้องอะไรได้บ้าง

หนึ่งในเรื่องไม่คาดคิดที่ทำให้หลายคนใจสลาย คือการที่เด็กเสียชีวิตหลังการคลอด ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้ เราลองไปดูกันว่าเธอจะสามารถเรียกร้องสิทธิอะไรได้บ้างคุณนภาอยู่ในช่วงระยะเวลาใกล้คลอด จึงใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพเข้ารับการผ่าคลอดที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร ซึ่งหลังจากได้รับการผ่าคลอดแล้วเรียบร้อยและได้ยินเสียงเด็กร้องแล้ว ทางพยาบาลก็เดินมาเรียกชื่อ ถามสิทธิต่างๆ พร้อมนำเด็กมาให้กินนมของเธอ ภายหลังคุณนภาหลับและตื่นมาอีกครั้ง ทางพยาบาลก็ได้เข้ามาแจ้งว่าจะวัคซีนให้ พร้อมเดินเข้ามาอุ้มเด็ก แต่ทันใดนั้นก็ส่งเสียงร้องตกใจและรีบนำเด็กออกไปจากห้อง ซึ่งเมื่อกลับเข้ามาอีกครั้งก็ได้แจ้งเรื่องที่ไม่คาดคิดว่า ลูกของเธอได้เสียชีวิตแล้ว โดยอาจมีสาเหตุจากโรคประจำตัวอย่างไรก็ตามหลังออกจากโรงพยาบาล คุณนภาตัดสินใจส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ ด้วยเหตุที่เธอไม่แน่ใจสาเหตุการเสียชีวิตของลูก นอกจากนี้ยังอยากทราบว่าจะสามารถเรียกร้องความรับผิดชอบอะไรจากโรงพยาบาลได้บ้างหรือไม่แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นสามารถเรียกร้องให้ทางโรงพยาบาลชดใช้เยียวยาความเสียหายได้ตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 41 ซึ่งกำหนดให้ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นโดยเงินช่วยเหลือเบื้องต้น หมายถึง เงินที่จ่ายให้ผู้รับบริการหรือทายาทหรือผู้อุปการะ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับค่าเสียหายจากการรักษาพยาบาลในหน่วยบริการ โดยมิต้องรอการพิสูจน์ถูกผิด แต่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด  ทั้งนี้เกณฑ์การพิจารณาเงินช่วยเหลือ คือ 1. กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท 2. กรณีพิการหรือสูญเสียอวัยวะ จ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท 3. กรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 100,000 บาท 4. กรณีฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องและได้รับการดูแลตามมาตรฐานการฝากครรภ์ จนอายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ขึ้นไป และทารกเสียชีวิตในครรภ์ระหว่างการดูแลในหน่วยบริการ ให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้เท่ากรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร และหากมารดาได้รับความเสียหายด้วยก็ให้ได้รับเงินช่วยเหลือได้อีกตามประเภทความเสียหายนั้น สำหรับกรณีนี้ศูนย์ฯ ได้ช่วยผู้ร้องทำหนังสือถึงโรงพยาบาลเพื่อให้มีการเยียวยาผู้ร้องก่อนเบื้องต้น พร้อมแนะนำให้รอผลการชันสูตรการเสียชีวิตเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามภายหลังผู้ร้องได้แจ้งกลับมาว่า ทางประกันสังคมได้ติดต่อมาแนะนำผู้ร้องว่า ขอให้ผู้ร้องให้ความร่วมมือกับทางโรงพยาบาลว่า มีการดูแลรักษาเป็นอย่างดี เพื่อจะให้เบิกเงินประกันสังคมได้ และนัดให้ผู้ร้องไปรับฟังคำชี้แจงจากโรงพยาบาล ส่งผลให้ผู้ร้องไม่แน่ใจว่าควรจะเข้าไปฟังเองเพียงคนเดียวหรือไม่ ศูนย์ฯ จึงช่วยประสานงานให้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ไปร่วมฟังคำชี้แจงด้วย ซึ่งผลชันสูตรพบว่าเด็กมีอาการไหลตาย และทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพจะชดเชยเยียวยาผู้ร้องเป็นจำนวน 320,000 บาท ด้านผู้ร้องไม่ติดใจอะไรเพิ่มเติมกับผลการชันสูตรและตกลงรับข้อเสนอดังกล่าว จึงยินดียุติการร้องเรียน ทั้งนี้ขอเพิ่มเติมเล็กน้อย สำหรับผู้ที่ต้องการยื่นเรื่องร้องเรียน สามารถยื่นคำร้องได้ 2 วิธี  คือ ด้วยตนเองที่หน่วยรับคำร้อง หรือส่งคำร้องทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาจังหวัด(สสจ.) ที่เกิดเหตุ หรือกรณีในกรุงเทพฯ สามารถส่งไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำกรุงเทพมหานคร โดยเตรียมเอกสารที่ดังนี้ 1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 2. สำเนาทะเบียนบ้าน 3. หนังสือมอบอำนาจ(กรณีที่มีการมอบอำนาจ) 4. เอกสารหรือหลักฐานแสดงรายละเอียดข้อมูลอื่นที่อาจใช้เป็นประโยชน์ประกอบการพิจารณา(ถ้ามี) และข้อสำคัญคือต้องยื่นเรื่องภายใน 1 ปี นับจากทราบความเสียหาย 

อ่านเพิ่มเติม >