ฉบับที่ 178 เมืองไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

    อันดับ 3 ของโลก ส่งออกอาหารทะเลมากสุด แต่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนมากสุด ประเทศไทยส่งออกอาหารทะเลมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและนอร์เวย์ อุตสาหกรรมประมงสร้างรายให้ประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 5,400 ล้านเหรียญ ผลพลอยได้คือ เรามีชื่อติดอันดับเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับเขาด้วย อุตสาหกรรมประมงไทยต้องอาศัยแรงงานอย่างน้อย 300,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติที่ลักลอบเข้าเมืองจากประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยสภาพการทำงานที่ค่อนข้างเลวร้ายจึงทำให้มี “ตำแหน่งงานว่าง” ปีละไม่ต่ำกว่า 50,000 ตำแหน่ง กระบวนการสรรหาบุคลากรผ่านกระบวนการค้ามนุษย์จึงเกิดขึ้น องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่างก็ออกมาสนับสนุนสหรัฐฯ ที่จัดประเทศไทยไว้ในกลุ่มประเทศที่ยังจัดการเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ต่ำกว่ามาตรฐาน ปลายปีนี้ก็มีลุ้นว่าเราจะได้ใบแดงจากสหภาพยุโรป (ลูกค้ารายใหญ่ที่นำเข้าอาหารทะเลจากไทยเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 700 ล้านยูโร หรือประมาณ 27,000 ล้านบาทในปี 2557) หรือไม่ ระหว่างนี้ผู้บริโภคก็มีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ด้วยการตั้งคำถามให้มากเรื่องที่มาของอาหารทะเล   อันดับ 2 ของโลก อุบัติเหตุบนท้องถนน จากการเก็บสถิติอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วโลกในปี 2557 ของสถาบันวิจัยด้านคมนาคม มหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ในอัตราส่วนประชากร 100,000 คนต่อปี ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุดในโลก คือ นามิเบีย 45/100,000 คน ประเทศไทย 44/100,000 คน ส่วนประเทศที่มีผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนน้อยที่สุดคือ มัลดีฟท์ 2/100,000 คนเท่านั้น โดยค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 18/100,000 คน ยืนยันซ้ำโดยทางการไทย กรมการขนส่งทางบก ระบุอัตราการตายที่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เฉลี่ยวันละ 25 คน หรือชั่วโมงละ 1 คน โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เกิดจากรถตู้โดยสารสาธารณะ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 ถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2555 มีอุบัติเหตุรถตู้โดยสารสาธารณะรวม 45 ราย ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมคนขับถึง 41 ราย และที่เหลือเกิดจากสาเหตุสภาพรถ จำนวน 4 ราย ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุน่าตกใจนี้ มีงานวิจัยพบสาเหตุ 3 ประการ คือ พฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวดพอ และความปลอดภัยของถนนไม่ได้มาตรฐานปีใหม่นี้ขอให้แคล้วคลาดปลอดภัยทุกคน   อันดับ 3 ของโลก ใช้น้ำอย่างสิ้นเปลืองข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเพื่อประชาชนระบุว่า ประเทศไทยเราถูก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ยกให้เป็นประเทศที่ใช้น้ำในกระบวนการผลิตต่างๆ ในปริมาณมาก พร้อมทั้งสร้างผลกระทบต่อแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า “Water Footprint” ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าในภาคการผลิตของประเทศไทยเรายังใช้ทรัพยากรน้ำอย่างไม่รู้คุณค่า!!! โดยประเทศไทยมีค่าเฉลี่ย Water Footprint อยู่ที่ 2,223 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี มากเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองแค่ สหรัฐอเมริกา และ อิตาลี โดยค่าเฉลี่ยของ Water Footprint ของโลกอยู่ที่ 1,243 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี ไทยเรายังมีความรู้เรื่อง Water Footprint ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิตภาคเกษตรกรรมที่มีค่าเฉลี่ย Water Footprint สูงถึง 2,131 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี เนื่องจากเราเป็นประเทศเกษตรกรรม ส่งออกสินค้าเกษตรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ส่วนเรื่องการใช้น้ำในภาคคัวเรือนทั่วไป คนไทยเราก็ทำสถิติใช้น้ำเปลืองด้วยเช่นกัน การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค พบว่าในปี 2557 คนไทยใช้น้ำเฉลี่ยมากถึง 119 ลิตรต่อวันต่อคน เพิ่มจากปี 2555 ที่มีใช้น้ำเฉลี่ยต่อวันต่อคนอยู่ที่ 48 ลิตร สูงขึ้นเกินกว่าเท่าตัว สถิติการใช้น้ำของคนไทย จัดเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากประเทศ สิงคโปร์ที่ 165 ลิตรต่อวันต่อคนและฟิลิปปินส์ 164 ลิตรต่อวันต่อคน ขณะที่ชาวโลก สหรัฐอเมริกามีอัตราการใช้น้ำเฉลี่ยสูงที่สุดในโลกที่ 575 ลิตรต่อคนต่อวัน รองลงมาคือ ออสเตรเลีย 493 ลิตรต่อคนต่อวัน และ ญี่ปุ่น 374 ลิตรต่อคนต่อวัน   อันดับ 5 ของโลก ใช้สารเคมีทางการเกษตรมากปี 2554 ประเทศไทยเราเคยถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการใช้สารเคมีทางการเกษตรมากที่สุดในโลก โดยธนาคารโลก (World Bank) องค์การทางการเงินระหว่างประเทศ ได้จัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่ใช้สารเคมีทางการเกษตรสูงที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก ที่ปริมาณ 0.86 กิโลกรัมต่อพื้นที่เกษตร 10,000 ตารางเมตร เป็นรองแค่ ฝรั่งเศส เวียดนาม สเปน และบราซิล (ถ้านำมาวางเรียงกันแล้วจะสูงเท่ากับตึกใบหยก 2 หรือที่ความสูงประมาณ 304 เมตร) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รายงานตัวเลขปริมาณและมูลค่าการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรของประเทศไทยในปี 2557 มีตัวเลขการนำเข้าทั้งหมดรวม 134,377 ตัน คิดเป็นมูลค่าถึง 19,357 ล้านบาท ส่วนปี 2558 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้มีการสรุปตัวเลขการนำเข้าล่าสุดถึงเดือน มิ.ย. พบว่ามีการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรไปแล้วจำนวน 96,871 ตัน คิดเป็นมูลค่า 12,453 ล้านบาท การใช้สารเคมีทางการเกษตรเป็นจำนวนมากส่งผลต่อสุขภาพ ไม่เฉพาะแค่ผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเกษตรกรด้วย ข้อมูลจากสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ และสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารเคมีกําจัดศัตรูพืชเฉลี่ยปีละ 1,734 ราย และในปี 2557 ได้มีการตรวจเลือดเกษตรกรจำนวน 317,051 ราย พบว่ามีเกษตร 107,820 ราย หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ที่มีผลตรวจเลือดอยู่ในระดับไม่ปลอดภัย อันดับ 6 ของโลก ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากทะเลไทยขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามติดอันดับโลก ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติต้องมาสัมผัส แต่ทะเลไทยกำลังจะเปลี่ยนไป น้ำทะเลที่เคยสวยใส สัตว์ทะเลน้อยใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ อาจจะไม่มีให้เราได้ชื่นชมอีก เพราะทะเลไทยกำลังจะถูกทำลายด้วย “ขยะพลาสติก” สำนักข่าวต่างประเทศชื่อดังอย่าง CNN ได้นำรายงานของ www.sciencemag.org ที่มีชื่อว่า “ขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเล” (Plastic waste inputs from land into the ocean) มาเผยแพร่ โดยพบว่าในปี 2010 มีพลาสติกมากถึง 275 ล้านเมตริกตัน (1 เมตริกตัน = 1,000 กิโลกรัม) ที่ถูกผลิตและใช้ในประเทศที่มีพื้นที่ติดกับทะเลจำนวน 192 ประเทศทั่วโลก โดยในจำนวนนี้น่าจะมีขยะพลาสติกราว 4.8 – 12.7 ล้านเมตริกตันที่ถูกทิ้งลงทะเล ประเทศไทยเราถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดของโลก โดยในแต่ละปีเราทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากถึง 1.03 ล้านเมตริกตัน ประเทศที่มีการทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดคือ จีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้พลาสติกสูงที่สุดของโลกด้วย โดยจีนทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลที่ปริมาณ 8.82 ล้านเมตริกตันต่อปี อันดับ 2 อินโดนีเซีย 3.22 ล้านเมตริกตัน, อันดับ 3 ฟิลิปปินส์ 1.88 ล้านเมตริกตัน, อันดับ 4 เวียดนาม 1.83 ล้านเมตริกตัน และ อันดับ 5 ศรีลังกา 1.59 ล้านเมตริกตัน ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในปี 2015 มีการเก็บขยะจากทะเลและชายฝั่งเป็นจำนวน 5,363.50 กิโลกรัม โดยประเภทของขยะที่พบมากที่สุดคือ ถุงพลาสติก จำนวน 12,971 ชิ้น คิดเป็น 28.21% รองลงมาก็ยังเป็นขยะในกลุ่มพลาสติกอย่าง หลอด, ฝาขวด, ขวดน้ำพลาสติก   ตั้งแต่พลาสติกถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในช่วงยุค 90 ว่ากันว่า ขยะพลาสติกชิ้นแรกก็ยังคงมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ ไม่ได้ย่อยสลายหายไปไหน   ละเมิดลิขสิทธิ์ติดอันดับโลกไทยแลนด์ไม่น้อยหน้าใครเรื่องการเป็นแหล่งซื้อหาสินค้า “ทำเหมือน” คุณภาพเยี่ยม ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ และแทบจะในทุกแหล่งจับจ่าย ตั้งแต่ริมทางเท้าไปจนถึงห้างสรรพสินค้าห้องแอร์ นักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาบางคนก็อดใจไม่ไหว ต้องซื้อสินค้าเหล่านี้ติดไม้ติดมือกลับบ้านไป ปีนี้สหรัฐฯ ยังคงจัดให้เราอยู่ในกลุ่มประเทศ PWL (Priority Watch List) หรือ กลุ่มประเทศที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ ทั้งเรื่องสินค้าปลอมที่ใช้โลโก้ลิขสิทธิ์ การใช้โลโก้ที่เลียนแบบต้นฉบับ ไปจนถึงการใช้ซอฟท์แวร์ไม่จดทะเบียน สหรัฐฯ ระบุว่าไทยเป็นตลาดสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ขนาดใหญ่ ที่จะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายให้จริงจังขึ้น แต่สินค้าปลอมนี้ดูไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลง แม้จะมีการตรวจจับและนำมาทำลายให้เห็นกันบ่อยครั้ง “ผู้ประกอบการ” นิยมนำเข้าสินค้าเหล่านี้จากจีน เกาหลี และไต้หวัน กันมากขึ้น โดยนำเข้ามาทางเรือหรือทางรถผ่านชายแดนลาวและกัมพูชา ที่สำคัญ การค้าในแหล่งท่องเที่ยวดูเหมือนจะดีวันดีคืน ถึงขั้นที่ต้องนำเข้า “พนักงานขาย” จากประเทศเพื่อนบ้านที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษด้วย   เจนวายไทย ติดอันดับติดโทรศัพท์มือถือมากสุดในเอเชียการสำรวจพฤติกรรมออนไลน์ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ท 60,000 คน ใน 50 ประเทศทั่วโลกโดยบริษัทวิจัยการตลาด TNS พบว่า คนไทยเจนวาย (คนที่อายุระหว่าง 16 – 30 ปี) เป็นกลุ่มคนที่ติดโทรศัพท์มือถือมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยสถิติ 4.2 ชั่วโมงต่อวัน คนมาเลเซียและสิงคโปร์ใช้วันละ 3.8 และ 3.4 ชั่วโมง ตามลำดับ แม้แต่ฮ่องกงก็ยังมีอัตราใช้เพียงวันละ 2.8 ชั่วโมง ส่วนผู้นำด้านเทคโนโลยีอย่างญี่ปุ่นนั้นใช้วันละ 1.6 ชั่วโมงเท่านั้น นี่เรามาเหนือประเทศผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอย่างจีน (3.9 ชั่วโมง) และประเทศที่ต้นสังกัดของไอโฟนอย่างอเมริกา (3.1 ชั่วโมง) ได้อย่างไร (อัตราเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 3.2 ชั่วโมง) ไม่อยากจะคุยว่าคนไทยถือโทรศัพท์กันคนละ 1.4 เครื่อง (คนอเมริกันและคนจีนมีมือถือคนละ 0.91 และ 0.77 เครื่อง ตามลำดับ) นอกจากนี้ข้อมูลปี 2556 ระบุว่าร้อยละ 56 ของการใช้อินเตอร์เน็ทในเมืองไทยเป็นการเข้าผ่านโทรศัพท์มือถือ สูงกว่าในสหรัฐฯและจีนด้วย (ร้อยละ 40 และร้อยละ 34 ตามลำดับ)   โรงพยาบาลเอกชนไทยดีติดอันดับโลก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เคยถูกจัดอันดับเป็นสถานพยาบาลติด 1 ใน 10 ของสถานพยาบาลทั่วโลกที่มีมาตรฐานระดับสากลที่ชาวต่างชาตินิยมมาใช้บริการ ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนได้รับการยอมรับในระดับโลก แต่ในบ้านเราก็พบการร้องเรียนเรื่องค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนที่แพงเกินจริง จนเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ได้ล่ารายชื่อจำนวนถึง 33,000 ราย เพื่อยื่นต่อรัฐบาลให้ตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชน ผลการศึกษามาตรฐานค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาล โดยกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พบว่าค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาลเอกชนสูงกว่าค่ารักษาในโรงพยาบาลรัฐเกินกว่า 60 % ยกตัวอย่าง โรคหลอดเลือดหัวใจ ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลรัฐจะอยู่ที่ประมาณ 139,000 บาท ส่วนในโรงพยาบาลเอกชนจะอยู่ที่ 370,000 บาท โรคหวัด ค่าใช้จ่ายในการรักษากับโรงพยาบาลรัฐจะอยู่ที่ 781 บาท แต่ถ้าเป็นในโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังจะอยู่ที่ 3,069 บาท สูงกว่ากันเกือบ 4 เท่า ว่าไปแล้ว ผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็เข้าใจดีว่า ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเอกชนย่อมสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ และยอมรับว่า โรงพยาบาลเอกชน ก็คือธุรกิจประเภทหนึ่งที่จะต้องมีการหาผลกำไร มีการลงทุน (ยิ่งโรงพยาบาลเอกชนที่มีหุ้นซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ยิ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่มีหุ้นเกือบเท่าตัว) แต่การตั้งราคาควรมีความเป็นธรรมและเหมาะสมหรือไม่ หรือว่ามุ่งแต่จะรักษาคนต่างชาติเงินหนา โดยไม่สนใจผู้บริโภคคนไทย กระทรวงสาธารณสุขรับแล้วว่าจะดูแลในเรื่องนี้ ต้องติดตามดูกันต่อไป   อันดับ 1 ของอาเซียน ดื่มสุราสูงสุดองค์การอนามัยโลก ปี 2557 เผยว่า ประเทศไทยบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน มีการดื่มเฉลี่ย 7.1 ลิตรต่อคนต่อปี ส่วนอันดับรองลงมาคือประเทศลาวและฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ตามข้อมูลจากศูนย์การศึกษาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์(CAS) ภูมิภาคในประเทศไทยที่มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็นร้อยละ 40 ของประเทศ ในขณะที่อันดับสอง คือภาคเหนือ ร้อยละ 23 ส่วนในกรุงเทพฯ คิดเป็นร้อยละ 8 ในทางเดียวกันกับข้อมูลข้างต้น สำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในปี 2557 จำนวนผู้ดื่มสุราในประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 32 หรือประมาณ 17 ล้านคน อยู่ในช่วงอายุกลุ่มวัยทำงาน 25 - 59 ปี มากที่สุด ซึ่งผู้ชายมีอัตราการดื่มสุรามากกว่าผู้หญิง ประมาณ 4 เท่า โดยสุราที่นิยมเป็นอันดับหนึ่งคือ เบียร์ ทั้งนี้สำหรับ 3 สาเหตุหลัก ในการดื่มแอลกอฮอล์คือ เพื่อเข้าสังคมหรือการสังสรรค์มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 41.9 รองลงมาคือ ทำตามอย่างเพื่อนหรือเพื่อชวนดื่ม คิดเป็นร้อยละ 27.3 และอันดับสุดท้ายคือ อยากทดลองดื่ม ร้อยละ 24.4   ต่ำสุดในอาเซียน เลี้ยงลูกด้วยนมแม่แม้ผลศึกษาวิจัยหลายชิ้นจะชี้ให้เห็นประโยชน์ของนมแม่ ในการพัฒนาสมองหรือภูมิคุ้มกันของทารกให้เพิ่มขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้นมผงเสริม แต่สถิติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทยในช่วง 6 เดือนแรกของทารกก็ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยจากผลการสำรวจขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ในปี 2557 พบว่า มีคุณแม่คนไทยเพียงร้อยละ 16 เท่านั้นที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งต่ำกว่าระดับมาตรฐานโลกที่ตั้งไว้ร้อยละ 50 นอกจากนี้ยังเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากอิทธิพลของการโฆษณานมผงต่างๆ   อันดับสองในอาเซียน แม่วัยรุ่นน่าตกใจไหม? ไทยเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนที่มีแม่วัยรุ่น (อายุ 15-19 ปี) มากที่สุด โดยอ้างอิงข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่า ในปี 2556 การตั้งครรภ์ของผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 20 ปีทั่วโลก ประเทศไทยมีจำนวนสูงถึง 74 คนต่อ 1,000 คน ซึ่งเป็นอันดับ 2 รองจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นพบว่า ส่วนใหญ่เกิดจากใช้วิธีคุมกำเนิดไม่ถูกต้อง หรือไม่ใช้วิธีป้องกันเนื่องจากขาดความรู้นั่นเอง   ข้อมูลเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์สเตรทไทม์ส์ และนิตยสารมาร์เก็ตติ้งเว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก http://www.dlt.go.th/th/ และข้อมูลสถิติจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน http://deepblue.lib.umich.edu/handle/2027.42/102731http://englishnews.thaipbs.or.th/infographic/alcohol-consumption-thailand และสำนักงานสถิติแห่งชาติ http://service.nso.go.th/nso/web/survey/surveylist.htmlhttp://thaibreastfeeding.org/page.php?id=29 / http://www.hiso.or.th/hiso5/healthy/news2.php?names=06&news_id=8286 / http://www.ipu.org/splz-e/vientiane14/malnutrition.pdf / http://www.ictsilpakorn.com/ictmedia/detail.php?news_id=296#.VmE8fXYrLIU  

อ่านเพิ่มเติม >