ฉบับที่ 170 กระแสต่างแดน

รถเมล์ในเมืองหลวง กระแสต่างแดนฉบับนี้พาคุณไปดูความเคลื่อนไหวของวงการรถโดยสารสาธารณะในเมืองใหญ่ของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเรียกน้ำย่อย ก่อนจะไปพบกับเรื่องเด่นประจำฉบับที่ว่าด้วยสถานการณ์รถเมล์โดยสารในกรุงเทพมหานครของเรา เริ่มจากสิงคโปร์ ต้องยกให้เขาจริงๆ เรื่องความเป็นเลิศในการจัดบริการสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบขนส่งมวลชนที่นักข่าวหลายสำนักจัดให้อยู่ในสิบอันดับที่ดีที่สุดของโลก แต่เชื่อหรือไม่ว่าคนสิงคโปร์เองยังไม่ค่อยพึงพอใจกับบริการรถเมล์ของเขาเท่าที่ควร เพราะยังต้องรอ “นานเกินไป” รัฐจึงต้องออกมาตรการ “ทำดีได้ ทำร้ายเสีย” เพื่อเพิ่มอัตราการตรงต่อเวลา ซึ่งก็ถือว่าได้ผลดีทีเดียว ผลการประเมินระหว่างเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายนปีที่ผ่านมาพบว่า เวลารอรถเมล์ลดลงประมาณ 12 – 36 วินาที(ย้ำวินาที) บริษัท SBS Transit ได้รับเงินรางวัลประมาณ 17 ล้านบาท จากการทำให้รถเมล์ของบริษัทวิ่งตรงเวลาขึ้น อีกบริษัท คือ SMRT Corp ก็ไม่น้อยหน้า ได้ไปประมาณ 8.3 ล้านบาท เช่นกัน บริษัทจะได้รางวัล 6,000 เหรียญ(ประมาณ 145,000 บาท) ทุกๆ 6 วินาทีของ “เวลารอรถเมล์” ที่ลดลง แต่เดี๋ยวก่อน บริษัทจะถูกปรับ 4,000 เหรียญ(ประมาณ 96,000 บาท ต่อทุกๆ 6 วินาทีที่คนต้องรอนานขึ้นด้วย และเพื่อให้ได้บริการที่ดียิ่งขึ้น รัฐบาลจึงส่งเสริมการแข่งขันด้วยการเปิดให้เอกชนที่มีรถเมล์ในสังกัดไม่ต่ำกว่า 250 คันเข้าร่วมประมูลเส้นทางเดินรถ ในเบื้องต้นมี 3 แพ็คเก็จ เริ่มจากบูลิมแพ็คเก็จที่มี 26 เส้นทาง ซึ่งข่าวระบุว่ามีผู้สนใจร่วมประมูลถึง 11 เจ้า ตั้งแต่เจ้าเก่าอย่าง SBS Transit และ SMRT Corp ไปจนถึงผู้ประกอบการผลงานเยี่ยมจากจีน อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และออสเตรเลียด้วย ใครจะเป็นผู้ได้เซ็นสัญญาต้องติดตามในปลายเดือนพฤษภาคม มาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์จัดว่ามีเครือข่ายการขนส่งมวลชนที่ดีอันดับต้นๆ ของภูมิภาคอาเซียน แต่ปัญหาเรื่องการวางผังเมือง สภาพการจราจรที่หนาแน่น และความสะดวกในการเป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนตัว ก็ยังทำให้การปรับปรุงคุณภาพการเดินทางบนท้องถนนโดยรถสาธารณะเป็นเรื่องยาก ปัจจุบันอัตราการใช้รถสาธารณะเพิ่มขึ้นเพราะผู้คนต้องการลดภาระจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น เลยทำให้ต้องยอมรับสภาพการเดินทางที่ใช้เวลาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ใช้บริการรถเมล์สายต่างๆ (ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ Rapid KL) เพราะยังต้องพบกับสถานการณ์รถขาดช่วง มาช้า หรือวิ่งนอกเส้นทาง แถมยังมีประเด็นเรื่องขาดแคลนพนักงานขับรถด้วย รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2015 นี้จะต้องมีผู้คนใน Klang Valley (รวมตัวเมืองกัวลาลัมเปอร์) ใช้บริการขนส่งมวลชนไม่ต่ำกว่า 750,000 ไปที่อินโดนีเซียกันบ้าง ล่าสุด บริษัททรานส์จาการ์ตา ผู้ประกอบการรถ BRT ในเขตเมืองจาการ์ตาซึ่งเป็นระบบ BRT ที่ยาวที่สุดในโลก(208 กิโลเมตร) ครอบคลุม 12 เส้นทาง จะเป็นผู้ดูแลการขนส่งสาธารณะทางบกทั้งหมด รวมถึงรถเมล์ร่วมบริการด้วย คนขับรถร่วมก็สนับสนุนแผนการปรับปรุงบริการรถร่วมโดยบริษัทที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ เพราะปัจจุบันรายได้ของพวกเขาขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสาร จึงเน้นรับคนให้ได้จำนวนมากไว้ก่อน อาจจะละเลยเรื่องบริการที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพไปบ้าง แต่ปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารลดลง รายได้ก็ลดลง พขร. รายหนึ่งบอกว่าเมื่อ 4 ปีก่อนเขาเคยหาได้ถึงวันละ 200,000 รูเปีย(ประมาณ 500 บาท) แต่วันนี้ถ้าได้ 100,000 รูเปีย ก็นับว่าโชคดีมากแล้ว จึงคิดว่าถ้ามีเงินเดือนเหมือนพนักงานบริษัทก็ย่อมดีกว่าแน่นอน(พวกเขาจะได้รับโอกาสเข้าทำงานกับทรานส์จาการ์ตา โดยมีเงื่อนไขว่าต้องผ่านการอบรมและรับรองก่อน) เงินเดือนพวกเขาจะเป็นเท่าไรข่าวไม่ได้บอก แต่ที่แน่ๆ ค่าแรงขั้นต่ำในจาการ์ตา คือ 6,000 บาท บรูไน ประเทศที่คนส่วนใหญ่มีฐานะดีและนิยมใช้รถส่วนตัวก็ประกาศแผนแม่บทเพื่อยกเครื่องขนส่งมวลชนให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพารถยนต์ส่วนตัวและสร้างความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันขนส่งมวลชนในบรูไนมี 3 ประเภทได้แก่ รถโดยสาร รถแท็กซี่ และเรือแท็กซี่ ซึ่งยังมีจำนวนไม่พียงพอ ไม่ครอบคลุมเส้นทาง และยังขาดประสิทธิภาพและคุณภาพ จึงไม่เป็นที่นิยมทั้งในหมู่คนท้องถิ่นและคนต่างชาติ สิ่งที่จะได้เห็นเป็นอันดับแรกๆ คือเส้นทางรถ BRT จำนวน 4 เส้นทางในเขตบรูไน-มัวรา รวมความยาว 48 กิโลเมตร ที่จะมีรถออกทุก 4 นาที และในนั้นก็มีเส้นทางที่สำรวจพบว่ามีผู้คนใช้มากที่สุดนั่นคือ ระหว่างมัสยิดทอง Masjid Jame'Asr Hassanil Bolkiah Mosque กับโรงพยาบาล Raja Isteri Pengiran Anak Saleha Hospital ที่รองรับผู้โดยสารถึง 60,000 คนต่อวันด้วย ฟิลิปปินส์ กรมการขนส่งและการสื่อสารของฟิลิปปินส์เชื่อว่า ระบบที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในกรุงโซล ประเทศเกาหลีจะใช้ได้ดีกับการปฏิรูปรถโดยสารในกรุงมะนิลา เขาต้องการลดอุบัติเหตุจากรถประจำทางและเพิ่มความคล่องตัวของการจราจร โดยเริ่มจากการทดลองใช้ระบบการประมูลเส้นทางรถเมล์ C5 ในเขตตัวเมืองของมะนิลา ระบบเดิมของเขาคือ คนขับรถจะต้องจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้กับผู้ประกอบการเมื่อจบ “กะ” ของตนเองในแต่ละวัน แต่ในระบบใหม่รัฐจะให้เงินช่วยเหลือกับคนขับในบางเส้นทางเพื่อให้สามารถออกรถตามกำหนดเวลา ไม่ต้องถ่วงเวลาเพื่อรอรับคนหรือขับเร็วขับแซงเพื่อแย่งลูกค้าจากรถคันอื่น  ก่อนหน้านี้เคยมีข้อเสนอจากวุฒิสมาชิกให้จ่ายค่าตอบแทนคนขับรถเป็นเงินเดือนที่แน่นอน และปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีขึ้นเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนมาแล้ว กัมพูชา กัมพูชาเตรียมเปิดบริการรถสาธารณะอีกครั้ง(หลังจากเมื่อ 13 ปีที่แล้วเปิดดำเนินการได้เพียง 2 เดือนก็ต้องพับไป) เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการจราจรในกรุงพนมเปญ ซึ่งมีประชากร 2 ล้านคน มอเตอร์ไซค์ 1 ล้านคัน และรถยนต์อีก 300,000 คัน เขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้คนจะเลิกการใช้มอเตอร์ไซค์แล้วหันมาใช้บริการสาธารณะแทน รัฐมนตรีท่านหนึ่งให้ความเห็นว่าคราวก่อนที่ไม่ประสบความสำเร็จก็เพราะผู้คนยังติดกับการมีรถมาส่งถึงหน้าบ้าน ไม่ชอบเดินไกล จึงไม่ชอบขึ้นรถเมล์ อย่างไรก็ดีตั้งแต่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นมา มีรถปรับอากาศ 10 คันทดลองให้บริการระหว่าง 5.30 น. – 16.30 น. บนถนนมณีวงศ์ ด้วยค่าโดยสาร 1,500 เรียล (12 บาท) ตลอดสาย ซึ่งถูกกว่าการขึ้นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง “โมโตดุ๊บ” ถึง 5 เท่า ถ้าได้ผลตอบรับดีเขาก็จะพิจารณาเพิ่มรถและเพิ่มเส้นทางอีกที เวียดนาม ในเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ การขนส่งมวลชนยังพัฒนาไปไม่ถึงเป้า รถส่วนตัวยังเต็มท้องถนน เวียดนามยังไม่มีระบบรถไฟฟ้าหรือรถ BRT ในเขตเมืองและยังขาดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับรถโดยสารสาธารณะ นักวิจัยจากโครงการลดความแออัดของการจราจร ระบุว่าในช่วงปี 2011 – 2015 การใช้บริการขนส่งสาธารณะในเมืองนี้จะมีไม่เกินร้อยละ 15 ของความต้องการในการสัญจรไปมาเท่านั้น ที่ผ่านมาเทศบาลโฮจิมินห์ซิตี้ มุ่งแต่เรื่องการปรับปรุงสภาพรถ(มีการชงเรื่องขอจัดซื้อรถเมล์ใหม่ 1,670 คัน) แต่ถึงจะปรับปรุงสถานีขนส่งหรือเพิ่มบัสเลนแล้วก็ตาม ในปี 2015 นี้คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการรถเมล์เพียง 707 ล้านคน หรือร้อยละ 11.5 ของความต้องการในการเดินทางเท่านั้น สาเหตุหลักมาจากการไม่จำกัดการใช้รถส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถมอเตอร์ไซค์ กรมการขนส่งจึงเสนอให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรถใหม่ เพิ่มภาษี คิดค่าจอดรถ รวมถึงจำกัดพื้นที่จอดรถบนทางเท้าด้วย

อ่านเพิ่มเติม >