ฉบับที่ 197 เมียหลวง : สามีก็เป็นปัจจัยการผลิต

และแล้วมหากาพย์การต่อสู้เหนือใบทะเบียนสมรสกันระหว่างตัวละครอย่าง “ดร.วิกันดา” และ “อรอินทร์” ที่จะช่วงชิงความเป็นเจ้าของ “ดร.อนิรุทธิ์” มาเป็นสามีตามกฎหมาย ก็หวนกลับมาอีกครั้ง เป็นคำรบที่เท่าไรก็มิอาจทราบได้ แต่เหตุใดปมปัญหาชีวิตเรื่อง “เมียหลวง” “เมียน้อย” และ “เมียที่น้อยๆ ลงไปอีกมากมาย” แบบนี้ จึงได้ย้อนกลับมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์อยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และภาพความขัดแย้งระหว่างบรรดาเมียๆ ใหญ่น้อยบ่งบอกให้เราเห็นความเป็นจริงอันใดในสังคมกันแน่ โครงเรื่องหลักของละคร “เมียหลวง” เปิดฉากแรกมาให้เห็นภาพวันวิวาห์หวานชื่นของอนิรุทธิ์และวิกันดา โดยมีสักขีพยานมากมายมาร่วมงานมงคลสมรสของทั้งคู่ ซึ่งหากดูผิวเผินนั้น ภาพแบบนี้น่าจะบ่งบอกเป็นนัยว่า ชีวิตคู่และชีวิตครอบครัวในอุดมคติได้เริ่มต้นเปิดม่านออกสู่สาธารณชนแล้ว แต่เพราะนั่นเป็นเพียงฉากเริ่มต้นเรื่องของละครที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งตามมา ฉากถัดๆ ไปของท้องเรื่องจึงค่อยๆ เผยให้เห็นภาพบางอย่างที่แตกต่างไปจากอุดมคติที่สังคมรับรู้ เมื่อพระเอกหนุ่มที่ดูจะมี look เป็น “สามีแห่งชาติ” อย่าง ดร.อนิรุทธิ์ ได้มีผู้หญิงมากหน้าหลายตามาติดพัน และเขาเองก็ไปพัวพันกับผู้หญิงอีกมากหน้าหลายตาเช่นเดียวกัน  ถ้ามองจากจุดยืนของบรรทัดฐานศีลธรรมทางศาสนาแล้ว ปัญหาเรื่องเมียน้อยถือเป็นเรื่องผิดศีลกาเมข้อสาม และเป็นการละเมิดจารีตการครองเรือนของพุทธศาสนิกชนที่ดี ในขณะที่หากเรามองด้วยหลักนิติศาสตร์แล้ว เมียน้อยยังถือเป็นภรรยาที่ไม่ผ่านการจดทะเบียนสมรส จึงไม่อาจมีศักดิ์และสิทธิ์ตามกฎหมาย เมื่อเทียบกับภรรยาหลวงซึ่งรัฐและสถาบันกฎหมายรับรองเอาไว้ (แบบความหมายตรงตัวว่า “หลวง” หรือราชการได้มอบหมายความชอบธรรมสูงสุดให้กับหญิงผู้เป็นเมียหลวงนางนี้)  ถ้ามีทั้งจารีตศีลธรรมและระเบียบกฎหมายประทับตราอำนาจกับความชอบธรรมของเมียหลวงเอาไว้ดั่งนี้แล้ว คำถามที่น่าสงสัยก็คือ แล้ววัฒนธรรมความเป็นเมียน้อยเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?  กล่าวกันว่า ในสังคมที่บุรุษเพศถือครองอำนาจนำอยู่นั้น การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมเมียน้อยเป็นหนึ่งในสิ่งบ่งชี้สำคัญถึงการครองอำนาจของผู้ชายในสถาบันครอบครัว หรืออีกนัยหนึ่ง ผู้ชายบางคนเชื่อว่า การมีภรรยาที่มากกว่าหนึ่งขึ้นไปหาใช่เรื่องต้องห้าม หากแต่เป็นเครื่องพิสูจน์ศักดานุภาพที่เขามีอำนาจปกครองสตรีเพศทั้งหลายให้อยู่ใต้อาณัติบัญชาของตนได้ เฉกเช่นอนิรุทธิ์ที่ชีวิตหลังแต่งงานมีลูกและมีครอบครัวแล้ว แต่ก็ยัง “ไล่ล่า” ผู้หญิงมากหน้าหลายตามาเป็นอนุภรรยากันอย่างไม่สิ้นไม่สุด ไม่ว่าจะเป็นอรอินทร์ผู้พยายามเป็น “มือที่สาม” เพื่อปั่นป่วนความสัมพันธ์ระหว่างเขากับวิกันดา หรือ “นวล” สาวใช้ในบ้านของอนิรุทธิ์ หรือ “นุดี” เด็กสาวใสซื่อผู้อยู่ในความดูแลของวิกันดา ไปจนถึง “เมเปิ้ล” สาวนักธุรกิจรูปสวยที่ “ไก่เห็นตีนงูงูเห็นนมไก่” และเท่าทันความเจ้าชู้ของอนิรุทธิ์แบบช็อตต่อช็อต แต่เพราะ “อำนาจไม่เคยเข้าใครออกใคร” ดังนั้น แม้อนิรุทธิ์อาจจะเชื่อมั่นว่า ชีวิตที่รายล้อมไปด้วยภรรยาน้อยใหญ่ก็เป็นการสำแดงอำนาจของผู้ชายที่ควบคุมบงการร่างกายและจิตใจอิสตรีเอาไว้ได้ก็ตาม แต่อีกด้านหนึ่ง ก็ใช่ว่าบรรดาอนุภรรยาทั้งหลายจะสมยอมสยบต่ออำนาจนั้นโดยเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ดูผิวเผินแล้ว เหตุผลร่วมกันของบรรดาเมียน้อยที่เข้ามาแก่งแย่งช่วงชิงเป็นเจ้าของหัวใจอนิรุทธิ์จากภรรยาหลวง ก็อาจมาจากตัวแปรเรื่อง “ความรัก” ซึ่งเป็นข้ออ้างแรกๆ ของพวกเธอ แต่ในอีกทางหนึ่ง ก็ดูเหมือนพวกเธอเองก็พยายามใช้อำนาจเพื่อย้อนศรมากำกับบงการชีวิตของอนิรุทธิ์ด้วยผลประโยชน์ที่ต่างกันไป สำหรับเมียน้อยกลุ่มนี้ อนิรุทธิ์เป็นผู้ชายที่ “ดูรวมๆ แล้วมีเสน่ห์เหลือเกิน” ทั้งรูปร่างหน้าตา การศึกษา และฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่งคั่งร่ำรวย เขาจึงมีสถานะไม่ต่างจาก “ปัจจัยการผลิต” ที่จะทำให้พวกเธอใช้เป็นทุนเพื่อต่อยอดหรือดำรงอำนาจของตนขึ้นไปได้ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม แม้นปากจะพร่ำบอกว่าตนรักอนิรุทธิ์มากมายเพียงใด แต่อรอินทร์ก็เห็นว่า การมีเขาเท่านั้นที่จะทำให้เธอมีสถานะสังคมและครอบครัวสมบูรณ์ทัดเทียมกับชีวิตครอบครัวพ่อแม่ลูกของคู่แข่งอย่างวิกันดา หรือนวลที่ยอมเป็นเมียเก็บก็ด้วยเหตุผลหนึ่งที่จะใช้อนิรุทธิ์เพื่อเขยิบฐานะทางเศรษฐกิจของตนขึ้นไปเท่านั้น ในขณะที่นุดีที่มาดหมายจะยอมเป็นเมียอีกคนของอนิรุทธิ์ก็เพียงเพื่อหลีกหนีไปจากลุงที่มุ่งหวังจะคุกคามทางเพศเธอ รวมไปถึงเมเปิ้ลที่วางแผนใช้ความสัมพันธ์ฉันชู้สาวเพื่อแบล็คเมล์อนิรุทธิ์ได้อย่างแสบสันต์ในท้ายเรื่อง เพราะฉะนั้น แม้อนิรุทธิ์จะคิดว่า “ผู้หญิงของเขา” ต่างก็เป็นตัวหมากที่สมยอมอำนาจให้เขาหยิบวางลงบนตำแหน่งแห่งใดบนกระดานก็ได้ แต่ทว่า เขาเองก็ดูจะไม่ต่างจากตัวเบี้ยบนกระดานของพวกเธอ เพราะบรรดาอนุภรรยาเหล่านั้นก็จับเขามาวางเดินเกมเพื่อช่วงชิงผลประโยชน์ของตนด้วยในทางกลับกัน และที่สำคัญ ตราบใดที่บรรดาเมียๆ ยังเห็นว่า อนิรุทธิ์เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มี “มูลค่าทางการผลิต” ตราบนั้นพวกเธอก็ยังพุ่งเป้ามาแก่งแย่งช่วงชิงเขามาเป็น “สามี” หนึ่งเดียวคนนี้ แต่ทางตรงข้าม มันก็คงไม่ต่างจากฉากจบของละคร หากพวกเมียๆ ได้ตระหนักแล้วว่า เขามิอาจเป็น “ปัจจัยการผลิต” ได้อีกต่อไป พวกเธอก็พร้อมจะ “เท” เขาทิ้งอย่างไร้เยื่อใยได้เช่นกัน  ไม่ว่าจะเป็นเมียเก็บอย่างนวลที่พูดกับตนเองในตอนจบเรื่องว่า “ชีวิตก็ต้องสู้ต่อไป โดนเท อย่าได้แคร์ สู้ๆ คราวนี้นังนวลจะหาผัวดีๆ มาเย้ยด้วย คอยดูแล้วกัน” หรือเมเปิ้ลที่แบล็คเมล์และพูดเชือดเฉือนแทงใจดำของอนิรุทธิ์ว่า “ผู้หญิงไม่ได้โง่หลงใหลคุณทุกคน ให้เสียตัวฟรีๆ สมัยนี้ไม่มีแล้ว สมัยนี้ทุกอย่างแลกได้ด้วยเงิน”  ไปจนถึงเมียหลวงเสียงจริงตัวจริงอย่างวิกันดาที่พูดกับคู่ท้าชิงตัวแม่อย่างอรอินทร์บนเข้าใจ “ธาตุแท้” ของสามีว่า “ไม่เลย เธอไม่รู้เลย จำคำของฉันไว้นะ คุณรุทธิ์ไม่เคยเห็นใครสำคัญเท่ากับตัวเอง...”  ด้วยเหตุฉะนี้ เมื่ออนิรุทธิ์ไม่เหลือคุณค่าใดๆ อรอินทร์ก็พร้อมจะผละเขาไปเริ่มต้นชีวิตคู่กับชายคนใหม่อย่าง “วาทิน” ในขณะที่วิกันดาภรรยาหลวงก็เลือกจะจดทะเบียนหย่า เพื่อปลดเงื่อนพันธนาการจากอำนาจและความเจ้าชู้ของเขาไปในที่สุด  ท่ามกลางความสัมพันธ์แบบสามีภรรยาและการมีภรรยาลำดับรองๆ ลงไปมากมายนั้น บางครั้งอหังการและอำนาจที่บุรุษเพศตระหนักว่าตนถือครองอยู่นั้น ก็ยังมีอีกด้านที่ฝ่ายหญิงหรือเมียหลวงเมียน้อยต่างเห็นพ้องต้องกันว่า สามีก็เป็นเพียงแค่ “ปัจจัยการผลิต” ที่อาจมีหรือไม่มี “มูลค่า” ใดๆ ได้ด้วยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >