ฉบับที่ 212 เมีย 2018 : เป็นเมียคุณ...ทำไมเราต้องทน

   พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้บัญญัติความหมายของคำว่า “เมีย” เอาไว้ว่า “หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย”    ความหมายโดยนัยที่พ่วงมากับนิยามตามพจนานุกรมนี้ก็คือ เพราะเมียคือผู้ที่ถูกสังคมกำหนดให้ “เป็นคู่” และถูกครอบ “ครองของชาย” ดังนั้น นับตั้งแต่อดีตเรื่อยมา บทบาทของบรรดาเมียๆ จึงมีสถานะเป็นผู้ถูกกระทำ และเป็น “ช้างเท้าหลัง” ที่ต้องเสียสละอุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขของสมาชิกทุกคนในครอบครัว    แต่เมื่อเวลาผันผ่านมาถึงปัจจุบัน เราจะยังแน่ใจได้หรือไม่ว่า เมียแห่งปี 2018 จะยังคงดำรงวัตรปฏิบัติหรือมีความคิดความเชื่อที่เป็นไปตามนัยซึ่งพจนานุกรมได้สร้างความชอบธรรมเอาไว้   ชีวิตของผู้หญิงอย่าง “อรุณา” แห่งละครโทรทัศน์เรื่อง “เมีย 2018” เริ่มต้นชีวิตครอบครัวก็ด้วยนิยามแบบพจนานุกรมที่ว่า เมียก็คือผู้หญิงที่ถูกกำหนดเป็น “คู่ครองของชาย” เพราะฉะนั้น หลังจากแต่งงานอยู่กินกับ “ธาดา” และมีบุตรสาวคือ “น้องนุดา” แล้ว เธอก็เลือกที่จะสละความสุขทั้งชีวิต โดยปวารณาตัวให้กับสามีและลูกสาวอันเป็นที่รัก   ฉากเปิดเรื่องของละครที่อรุณาบรรจงจัดเตรียมสำรับอาหารเป็นเกี๊ยวน้ำสูตรเด็ดที่สืบทอดมาจากมารดา ตลอดจนการวิ่งสาละวนไปไหว้เจ้าทำบุญเพื่อให้ผลานิสงส์แผ่ซ่านไปถึงสามีที่กำลังจะได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งในหน้าที่การงาน เหล่านี้ก็คือการบอกผู้ชมคนดูว่า เมียในเวอร์ชันก่อนปี 2018 นั้น ทุกลมหายใจเข้าออกต้องยึดเรื่องครอบครัวและความสำเร็จของสามีเอาไว้เป็นสรณะ   จนกระทั่งมีบทพิสูจน์ใหม่แทรกเข้ามาเป็นตัวแปรในชีวิตของผู้หญิงที่เป็นเมียนั่นแหละ ลมหายใจเข้าออกของอรุณาก็ก่อกลายเป็นคำถามข้อใหม่ว่า เมียในบทบาทผู้ที่เป็นคู่และถูกครอบครองของบุรุษเพศ จะคงเป็นเพียงคำตอบเดียวในชีวิตของผู้หญิงอีกต่อไปจริงหรือไม่   และการปรากฏตัวขึ้นของตัวละครอย่าง “กันยา” น้องสาวลูกพี่ลูกน้องของอรุณา ที่เข้ามาแทรกอยู่กึ่งกลางระหว่างชีวิตครอบครัวของเธอกับธาดา ก็คือบททดสอบต่อคำถามข้างต้นดังกล่าว   ด้วยทัศนะของผู้หญิงแบบกันยาที่พูดกับอรุณาว่า “คนเราถ้าอยากได้อะไร จะต้อง fight ต้องอย่าไปยอม” ดังนั้นเมื่อกันยาย้ายเข้ามาอยู่ร่วมชายคาบ้าน และต้องการที่จะช่วงชิงสิทธิ์แห่งการเป็นภรรยาของธาดาขึ้นมา เธอจึงทำทุกอย่างตั้งแต่ยั่วยวน วางหมากกล หรือกระทั่งปั่นหัวพี่เขย จนในที่สุดก็ได้กลายมาเป็นอนุภรรยาของธาดาในเขตรั้วไพศาลของบ้านใหญ่หลังเดียวกับอรุณา   แม้ว่าตอนต้นของเรื่อง อรุณาจะเคยพูดกับเพื่อนรักอย่าง “ธารี” ว่า “ชีวิตแต่งงานถ้าเดือดง่ายก็พังกันหมดสิ” หรือแม้แต่เตือนสติธารีที่กำลังมีปัญหากับสามีเจ้าชู้อย่าง “ชาติชาย” ว่า “คำว่าหย่ามันมีไว้ใช้ครั้งเดียวเท่านั้น คือครั้งที่คิดว่าใช้เท่านั้นจริงๆ อย่าพูดไปเรื่อยเพราะอารมณ์” แต่เมื่อ “ผงที่เคยเขี่ยจากตาคนอื่น” หลุดมาเข้าตาของเธอบ้าง อรุณาก็ถึงกับขาดสติและแทบจะมิอาจจัดการกับปัญหาใดๆ ในชีวิตของเธอได้เลย   ในช่วงแรกที่เผชิญปัญหานั้น อรุณายังคงยืนกรานว่า ไม่ว่ามรสุมคลื่นลมจะโถมถามาเพียงใด แต่การพยายามรักษาความอยู่รอดของครอบครัวก็ยังคงเป็นหน้าที่หลักของหญิงผู้เป็นภรรยา อาจเนื่องด้วยว่าโลกทัศน์ของผู้หญิงที่สังคมหลอมหล่อเอาไว้นั้น ต้องยึดมั่นในคติประจำใจที่ว่า “เป็นเมียเราต้องอดทน” นั่นเอง   ก็เหมือนกับประโยคที่อรุณาพูดกับแม่บ้านผู้ชมที่ติดตามการสาธิตทำเกี๊ยวน้ำผ่านวิดีโอออนไลน์ของเธอว่า “คุณแม่บ้านทุกคน พวกเราเหมือนคนห่อเกี๊ยว เกี๊ยวคือครอบครัวของเรา เราต้องช่วยกันประคับประคองทุกอย่างให้เหนียวแน่น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต้องทำทุกอย่างด้วยความรักและความใส่ใจ และเราจะผ่านอุปสรรคไปได้ทุกอย่าง”   อย่างไรก็ดี หากจิตสำนึกเรื่อง “ช้างเท้าหลังต้องเสียสละและอดทน” เป็นสิ่งที่สังคมติดตั้งเอาไว้ให้กับผู้หญิงอย่างอรุณาได้ เมื่อเงื่อนไขทางสังคมเปลี่ยน และปมความขัดแย้งระหว่างเธอกับสามีและน้องสาวสุกงอมจนถึงจุดแตกหัก อรุณาก็เริ่มทบทวนตัวเอง และค่อยๆ พัฒนามุมมองใหม่ที่ท้าทายและตั้งคำถามกับ “ตรรกะป่วยๆ” ที่เคยถูกดาวน์โหลดเอาไว้แต่เดิม   ในขณะที่เมียในยุคก่อนปี 2018 ต้องยึดมั่นการบำเพ็ญทุกรกิริยาใดๆ ที่ชายผู้เป็นสามีสาดซัดเข้ามา แต่ในความเป็น “เมีย 2018” แล้ว อรุณาก็เลือก “คิดใหม่ทำใหม่” และก้าวข้ามสถานการณ์เอารัดเอาเปรียบที่สามีก่อขึ้น แต่กลับต้องเป็นเธอที่เผชิญทุกขเวทนาเอาไว้ผู้เดียว   หลังจากที่ธาดามิอาจตอบคำถามได้ว่ายังรักเธออยู่หรือเปล่า อรุณาก็ค้นพบคำตอบว่า วลีสวยๆ ที่ผู้ชายมักพูดว่า “เป็นเมียเราต้องอดทน” นั้น เอาเข้าจริงๆ ก็เป็นเพียง “จิตสำนึกปลอมๆ” ที่สังคมสืบทอดฝากฝังไว้ให้กับผู้หญิงเท่านั้นเอง    และประโยคที่เธอกรีดร้องกับสามีว่า “ฉันอยู่กับคุณ ทำทุกอย่างเพื่อคุณ ฉันควรจะเป็นคนที่คุณขอบคุณสิ” ก็คงไม่ต่างจากการบอกเป็นนัยว่า คงถึงเวลาแล้วที่ผู้หญิงต้องเลือกระหว่างหน้าที่ที่สังคมกำหนดให้เธอเป็นแม่พระผู้เสียสละอย่างไม่ลืมหูลืมตา กับการเปิดโอกาสให้เธอได้ทำตามใจปรารถนาของตนเองเสียบ้าง อันนำมาซึ่งการจดทะเบียนหย่ากับธาดาในที่สุด   ยิ่งเมื่อมีตัวแปรใหม่ที่เข้ามาในชีวิตอย่าง “วศิน” บิ๊กบอสวัยหนุ่มหัวหน้างานคนใหม่ อรุณาก็พบว่า ชีวิตที่เคยมีตัวเลือกเพียงข้อเดียวคือสามีและครอบครัว จริงๆ แล้วก็ลวงตาไม่ให้บรรดา “เมีย 2018” ได้เห็นตัวเลือกอื่นๆ ในชีวิต เหมือนที่วศินพูดกับเธอว่า “ผมแค่รู้สึกว่าคุณฉลาดกว่าจมตัวเองอยู่ในครัวหรือทำความสะอาดบ้าน”   จนมาถึงฉากจบ ในขณะที่ตัวเลือกแบบหันกลับไปคืนดีกับอดีตสามี ก็อาจเหมาะกับผู้หญิง “ช้างเท้าหลัง” แบบเดิมๆ หรือในขณะที่การเลือกเป็น “ซิงเกิ้ลมัมแม่เลี้ยงเดี่ยว” ก็มักเป็นคำตอบของผู้หญิงที่อยากยืนหยัดอยู่ด้วยลำแข้งของตนเอง แต่กับ “เมีย 2018” ที่ลุกขึ้นมาปรับลุคแต่งตัวทำผมเสียใหม่ ได้ออกไปใช้ชีวิตโลดแล่นนอกบ้าน และกล้าเผยความในใจสู่สาธารณชนผ่านสังคมออนไลน์ การตอบตกลงรับรักกับวศินชายหนุ่มที่อ่อนวัยกว่าแต่ก็พร้อมจะยืนเคียงข้างชีวิตของเธอ ก็ดูจะเป็นตัวเลือกใหม่ๆ ของบรรดาเมียๆ ในยุคสมัยนี้   บทเรียนชีวิตของอรุณาเฉกเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ทิ้งคำถามใหม่กับคุณสามีว่า “เป็นเมียคุณ...ทำไมเราต้องทน” เท่านั้น แต่ยังย้อนกลับไปตั้งคำถามกับคุณผู้หญิงทั้งหลายด้วยว่า หากผู้หญิงคือเพศที่ต้องทำอะไรต่อมิอะไรเพื่อคนอื่นอยู่ตลอดเวลาแล้ว จะมีสักช่วงชีวิตบ้างไหมที่เธอจะรู้จักหันกลับมาทำอะไรเพื่อตนเองได้บ้าง 

อ่านเพิ่มเติม >