ฉบับที่ 276 ถูกมิจฉาชีพหลอกให้จองที่พัก

        เรื่องราวของมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบของเพจเฟซบุ๊กปลอมหลอกให้โอนเงินจนเสียทรัพย์สินเกิดขึ้นบ่อย แต่ก็ยังมีหลายคนพลาดเพราะความเนียนของมิจฉาชีพ ซึ่งไม่นานนี้คุณพลอยก็ได้ร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเช่นกัน         เรื่องนี้เริ่มจาก คุณพลอย ได้พบ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa โพสต์โฆษณาที่พักที่หาดเจ้าสำราญ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งสวยงาม ถูกใจมาก คุณพลอยสนใจจึงติดต่อไปจองเข้าพักในวันที่ 23-24 ธ.ค. 66 แอดมินเพจ BEACH VIEW pool Villa ก็ตอบกลับอย่างรวดเร็วแจ้งให้คุณพลอยโอนเงินค่าที่พักทันทีแล้วจะได้ส่วนลด 3,300 บาท จากราคาเต็ม 13,000 บาท คุณพลอยจึงโอนเงินค่าที่พักไปทันที จำนวน 9, 700 บาท  แต่เมื่อโอนเงินแล้วแอดมินเพจยังบอกอีกว่า ต้องโอนค่าประกันที่พักอีกจำนวน  5,000 บาท การจองจึงจะสมบูรณ์ คุณพลอยหลงเชื่อเพราะคิดว่าได้โอนเงินไปแล้ว 9, 700 บาท การติดต่อก็ไม่ได้ขาดหาย แล้วเรื่องเงินประกันก็มีเหตุผล ซึ่งเงินประกันย่อมได้คืนหากไม่มีอะไรเสียหายกับที่พัก เธอจึงโอนเงินไปให้อีก 5,000 รวมเป็นเงิน 14,700 บาทถ้วน         แต่เรื่องราวกลับถูกเปิดเผยว่า นี่คือมิจฉาชีพ เมื่อคุณพลอยเดินทางไปยังสถานที่จริงตามที่เพจระบุกลับไม่พบที่พักสวยหรูอย่างที่โพสต์ไว้เลย เวียนหายังไงก็ไม่เจอ เมื่อถามกับโรงแรมใกล้เคียงก็พบว่าไม่มีที่พักชื่อ Beach View Pool Villa และไม่สามารถติดต่อผู้ขายและแอดมินเพจได้อีกแล้ว จึงรู้ว่าถูกหลอก คุณพลอยจึงแจ้งความเพื่อดำเนินคดีที่ สน.สำเหร่ ทันที ต่อมาเมื่อนำไปไปสืบหาความจริงเรื่อยๆ จึงได้พบว่า แท้จริงแล้วภาพสวยๆ ที่อยู่บนโพสต์นั้นเป็นมิจฉาชีพนำภาพของที่พักชื่อ Canary Good Pool Villa มาเนียนหลอกลวงคน ซึ่งเจ้าของที่พัก (เจ้าของภาพ) ดังกล่าวก็ได้แจ้งความเอาผิดกับมิจฉาชีพแล้วด้วยเช่นกัน  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อผู้บริโภครู้ว่าซื้อสินค้าบริการแล้วถูกหลอก  ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้         1.เก็บหลักฐานข้อมูลให้มากที่สุด เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน เช่น เบอร์โทรศัพท์ผู้ขาย , ภาพหน้าร้านเพจ, โปรไฟล์ของพ่อค้าแม่ค้า,บัญชี, ธนาคารที่โอนเงินไป, สลิป และ การโอนเงินชำระค่าสินค้า         2. โทรแจ้งธนาคารอาญัตบัญชีของมิจฉาชีพทันที  เมื่อรู้ตัวว่าถูกโกง ผู้บริโภคสามารถโทรศัพท์ไปที่ศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพของธนาคารต่างๆ ได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง (โดยที่ไม่จำเป็นต้องแจ้งความก่อน) ซึ่งเป็นไปตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี         3. ไปแจ้งความทันที โดยแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน โดยแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า “ขอให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด” อย่าทำเพียงลงบันทึกประจำวันเด็ดขาด! หรือแจ้งความออนไลน์ที่  www.thaipoliceonline.com         4. ประสานงาน ติดต่อแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ เพื่อนำหลักฐานการแจ้งความ เพื่อแจ้งประสานงานขอข้อมูลมิจฉาชีพ ที่ใช้ทำการสมัคร และเพื่อให้ เพื่อค้นหาข้อมูลต่างๆ ในการตามตัว รวมทั้งเพื่อให้ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการยกระดับความปลอดภัยของผู้ขายสินค้าด้วย             5.ส่งข้อมูลที่ได้เพิ่มมาให้กับตำรวจ เป็นระยะเพื่อตามตัวมิจฉาชีพให้ได้         อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบัน คุณพลอยแม้จะได้แจ้งความกับตำรวจและติดต่อให้ธนาคารอายัดบัญชีธนาคารของมิจฉาชีพแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับเงินคืนแต่อย่างใด ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคขอย้ำว่า การมีความรู้เท่าทันไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพหรือการป้องกัน เป็นวิธีการที่ดีกว่าการแก้ปัญหาภายหลังแน่นอน  ซึ่งกรณีนี้ที่คุณพลอยถูกมิจฉาชีพหลอกให้จองที่พักในเพจ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa  มีข้อสังเกตที่ผู้บริโภคสามารถนำไปป้องกันตนเองได้คือ           1. มิจฉาชีพให้คุณพลอยชำระค่าที่พักและค่าจองไปยังบัญชีที่เป็นชื่อบุคคล  ซึ่งหากเป็นโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้อง ชื่อบัญชีจะเป็นชื่อโรงแรมหรือบริษัทโดยตรง        2. เพจ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa  มีรูปที่พัก ผู้ติดตามจำนวนมาก และยังมีโชว์ภาพผู้เข้าพัก เหมือนจริงทุกอย่างแต่เท่านั้นยังเชื่อไม่ได้ ต้องมีการตรวจสอบชั้นที่ 2 โดยผู้บริโภค ควรโทรศัพท์ไปติดต่อสอบถาม พูดคุยโดยตรงด้วยให้บ่อยครั้ง เพราะมิจฉาชีพส่วนใหญ่มักจะตั้งระบบไม่ให้สามารถโทรกลับได้ง่าย หากเบอร์ไม่สามารถติดต่อได้ หรือติดต่อได้ยาก จุดนี้จะทำให้เห็นพิรุธได้ว่า ไม่น่าเป็นเบอร์โทรศัพท์ติดต่อของที่พัก โรงแรมที่จะติดต่อได้ง่ายตลอดเวลา         3. หากเห็นว่ามีผู้เข้ามาพูดคุย หรือแสดงความคิดเห็นในเพจ เราควรเข้าไปดูเฟซบุ๊กของผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นด้วยว่า เป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ มีลักษณะของผู้ที่เป็นบุคคลจริงหรือไม่  มีข้อสังเกตว่าหากเป็นมิจฉาชีพมักใช้วิธีการจูงใจหลายรูปแบบ เช่น อ้างว่าจะให้เหล้าหรือไวน์ฟรีจำนวนมากเพื่อเร่งรัดให้ตัดสินใจโอนเงิน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 สั่งสินค้าจากร้านค้าบนเฟซบุ๊กแล้วไม่ได้ของต้องทำอย่างไร

        เฟซบุ๊กนอกจากจะเป็นช่องทางในการติดต่อพูดคุย อัปเดทข่าวสารและติดตามชีวิตของเพื่อนแล้ว เฟซบุ๊กยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถซื้อขายสินค้าได้ ซึ่งก็มีสินค้าจำนวนมาก การซื้อขายสินค้าในเฟซบุ๊กต้องอาศัยความเชื่อกันอย่างมากจากทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เพราะว่าผู้ซื้อไม่เห็นสินค้า ไม่แน่ใจว่าจะได้สินค้าตามที่โฆษณาไว้หรือไม่ หรือผู้ขายอาจจะไม่ส่งสินค้ามาเลยก็ได้ ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จะต้องทำอย่างไร มาดูกัน         นักรบสั่งซื้อเสื้อออกกำลังกาย จำนวน 2 ตัว ราคา 500 บาท จากเพจเฟซบุ๊กหนึ่ง และได้โอนเงินจ่ายค่าเสื้อเข้าบัญชีธนาคารของผู้ขายตามที่ได้รับการแจ้งมา หลังจากโอนเงินเสร็จเรียบร้อยก็ได้แจ้งการโอนเงิน ชื่อ เบอร์โทรศัพท์และที่อยู่ในการจัดส่งสินค้าไปทางกล่องข้อความ ซึ่งทางแอดมินเพจแจ้งว่าจะจัดส่งสินค้าให้ภายใน 3-5 วัน ครั้นเมื่อครบ 5 วันนักรบก็ยังไม่ได้สินค้า เขาจึงแจ้งไปยังแอดมินเพจว่ายังไม่ได้สินค้านะครับ แอดมินตอบกลับมาว่าได้ดำเนินการต่อแล้ว ทางระบบจัดส่งจะโทรหาล่วงหน้า แต่หลังจากนั้นก็ยังไม่มีใครติดต่อมาอีกเลย เขาจึงสอบถามแอดมินอีกครั้งเพราะว่าเลยกำหนดมา 11 วันแล้ว คราวนี้แอดมินอ่านข้อความเขาแล้วแต่ไม่ตอบอะไรเลย เขาไม่รู้จะทำอย่างไร จึงสอบถามมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรจัดการอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา        เมื่อศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคได้รับคำร้องของคุณนักรบแล้ว ได้แนะนำว่า ควรดำเนินการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ดังนี้        1. ไปแจ้งความดำเนินคดีกับร้านค้าที่สถานีตำรวจ โดยนำหนักฐานข้อความในแชทสลิปโอนเงิน และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องไปด้วย        2. ขอให้ตำรวจทำเอกสารขออายัดบัญชีธนาคารของร้านค้า (บัญชีที่ผู้ร้องได้โอนเงินไป) ปล. เอกสารตัวนี้จะเป็นเอกสารที่มีครุฑอยู่ด้านบน        3. นำเอกสารขออายัดบัญชีธนาคารไปดำเนินการขออายัดบัญชีที่ธนาคารที่ผู้ร้องได้โอนเงินไป ณ สาขาไหนก็ได้        4. บัญชีธนาคารขอร้านค้าจะถูกระงับ และร้านค้าจะรีบติดต่อกลับมา เพื่อเจรจากับผู้ร้อง        สำหรับการจัดการเบื้องต้นนี้ควรเร่งดำเนินการทันที เมื่อเปิดการเจรจาแล้วค่อยดูกันต่อไปว่ายังต้องการสินค้าอีกหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 ซื้อสินค้าผ่านเฟซบุ๊กไม่ได้คุณภาพทำอย่างไรดี

ตลาดสินค้าออนไลน์ของประเทศไทย หรือ e-Commerce นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าปี 2560 ที่ผ่านมา มีมูลค่าประมาณ  214,000 ล้านบาท และจะยิ่งเติบโตไปอีกมาก ซึ่งความนิยมอย่างต่อเนื่องนี้ สิ่งหนึ่งที่ตามมาอย่างไม่อาจเลี่ยง ก็คือ ปัญหาจากการถูกหลอกลวง และสินค้าที่นำมาจำหน่ายไม่มีคุณภาพ คุณพอใจ เป็นคนหนึ่งที่พอใจในบริการที่สะดวกของโลกโซเชียล หลังจากมองหาสินค้าน่าสนใจไปเรื่อยๆ เธอถูกใจรองเท้าสตรีคู่หนึ่งเข้า จากเพจขายสินค้าประเภทแฟชั่น โดยเพจดังกล่าวมีระบบจัดส่งและสามารถเก็บเงินที่ปลายทางได้ ซึ่งสะดวกสำหรับคุณพอใจมาก เธอจึงเลือกรองเท้าตามที่เห็นโพสต์ขายในราคา 1,200 บาท หลังจ่ายเงินไปเธอรีบเปิดดูรองเท้าอย่างตื่นเต้น แต่กลับพบมากยิ่งไปกว่าความตื่นเต้น เพราะรองเท้าที่ได้มามีสภาพพื้นรองเท้าหลุดล่อน คุณพอใจจึงรีบติดต่อไปที่เพจทันทีเพื่อขอคืนสินค้าและขอเงินคืน “เพจเขาก็ตอบนะคะ แต่บอกว่าเขาจะคืนให้แค่ 10 % หรือ 120 บาท” คำตอบนี้ทำให้คุณพอใจไม่พอใจมากๆ จึงนำเรื่องมาปรึกษาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์ฯ แนะนำให้คุณพอใจไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อเป็นหลักฐานสำหรับการขอคืนสินค้าและรับเงินคืนเต็มจำนวน เนื่องจากสินค้าที่ได้รับมามีความชำรุดเสียหาย  และได้ช่วยติดต่อประสานกับทางเพจดังกล่าวเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหา หลังการประสานไปสองครั้ง ทางเพจตอบกลับว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้อง แต่ขอให้ประสานกับผู้ร้องติดต่อกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากทางเพจมีลูกค้าลงข้อความติดต่อจำนวนมาก อาจทำให้เรื่องของคุณพอใจหลุดรอดสายตาไป เมื่อทางศูนย์ฯ แจ้งให้คุณพอใจทราบและขอให้ดำเนินเรื่องติดต่อใหม่ ทราบต่อมาว่าคุณพอใจได้รับเงินคืนเต็มจำนวนแล้วดังนั้นหากพบปัญหาจากการซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้บริโภคควรติดต่อไปยังผู้ขายก่อน เพื่อแจ้งให้ทราบและให้ผู้ขายแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นการซื้อผ่านเว็บไซต์(Website) ก็จะมีขั้นตอนและเงื่อนไขในการรับผิดชอบของเว็บไซต์(Website) กำหนดไว้แล้ว สามารถติดต่อไปยังคอลเซ็นเตอร์ หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ปรากฏบนหน้าเว็บไซต์ แต่ถ้าเป็นการซื้อผ่านโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ ต้องติดต่อไปยังผู้ขาย ซึ่งเป็นการช่วยเหลือตนเองในเบื้องต้นก่อน ถ้าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขจนพอใจก็ควรร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่รับเรื่องร้องเรียนโดยนำหลักฐานต่างๆ เช่น ใบสั่งซื้อสินค้า ข้อความสนทนาการซื้อสินค้าระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย ข้อมูลร้านค้า หลักฐานการชำระเงิน รูปถ่ายสินค้า และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มาประกอบคำขอร้องเรียน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็วมาก ยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้การแก้ปัญหาในขั้นตอนนี้จะมีระยะเวลาดำเนินการพอสมควร 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 กระแสต่างแดน

ลงดาบเว็บไม่แฟร์ สำนักงานควบคุมการแข่งขันทางการค้าของอิตาลี สั่งปรับเว็บไซต์ท่องเที่ยว 6 ราย เป็นเงินรวมกันไม่ต่ำกว่าสี่พันล้านยูโร(ประมาณ 150,000 ล้านบาท) โทษฐานทำธุรกิจแบบไม่โปร่งใสและปฏิบัติต่อผู้บริโภคอย่างไม่เป็นธรรม ตั้งแต่การไม่ให้ที่อยู่อีเมลสำหรับติดต่อ คิดค่าบริการทางโทรศัพท์ในอัตราที่แพงเกินควร และไม่ให้ความชัดเจนว่าลูกค้ากำลังจอง/ซื้อบริการกับบริษัทไหน ที่สำคัญ คือเว็บพวกนี้คิดค่าบริการบัตรเครดิตบางชนิดแพงเกินควร สำนักงานฯ ถือว่าการบังคับจ่ายค่าทำธุรกรรมโดยผู้บริโภคไม่มีทางเลือกนั้นเป็นการขัดขวางการพัฒนาพาณิชย์ชอิเล็กทรอนิกส์  เว็บเหล่านี้ได้แก่ volagratis.it เจ้าของเดียวกับ it.lastminute.com นอกจากนี้ยังมี opodo.it  govolo.it และ edreams.it ซึ่งเป็นเว็บในเครือ Opodo Group และ gotogate.it จากฟินแลนด์ volagratis.it เจ้าเดียวก็โดนปรับไป 2.2 ล้านยูโร (85.9 ล้านบาท) แล้วเพราะผิดครบทุกข้อหา  พลาสติกขาลง นาทีนี้ดูเหมือนใครๆ ก็กำลังหาทางลดการใช้พลาสติก ประเทศสมาชิกสหประชาชาติมีมติว่าจะลดปริมาณพลาสติกในทะเลลงให้ได้  สหภาพยุโรปกำหนดให้แพคเก็จสินค้าทั้งหมดต้องเป็นชนิดที่รีไซเคิลได้ภายในปี 2030  และจีนก็ประกาศยกเลิกการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศแล้วอังกฤษก็ไม่น้อยหน้า ประกาศแผนลดการใช้พลาสติกอย่างจริงจัง ด้วยการห้ามใช้พลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ในสถานที่ราชการ (หลักๆ คือแก้วกาแฟ)  ขอความร่วมมือจากร้านค้าปลีกให้จัดโซนปลอดพลาสติกเพื่อรองรับลูกค้าที่เตรียมบรรจุภัณฑ์มาเอง รวมถึงการเริ่มคิดเงินค่าถุงพลาสติกด้วยผู้ประกอบการอย่าง โคคา-โคล่า แมคโดนัลด์ และเอเวียง ต่างก็ประกาศเป้าหมายการหยุดใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ภายในปี 2030รายงานระบุว่าธุรกิจที่ไปได้สวยในขณะนี้ คือธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั่นเอง เปรี้ยวกว่ามะนาว บรรดาผู้ค้ารถมือสองในสิงคโปร์ทำทีเป็นเจ้าของรถเองเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีสินค้าและบริการตามข้อกำหนดของกฎหมายมะนาวที่สำคัญขายง่ายกว่าเพราะผู้ซื้อเชื่อถือ “รถบ้าน” ที่เจ้าของขายเอง แถมยังได้กำไรมากกว่าเดิมอย่างน้อย 2,000 เหรียญ(ประมาณ 48,000 บาท) เพราะไม่ต้องจ่ายค่าทำประกัน    ตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของสิงคโปร์ ผู้ประกอบการรถมือสองจะต้องทำประกันรถเป็นระยะเวลาหกเดือนให้ลูกค้าและต้องเสียภาษี GST ในขณะที่การซื้อขายกันเองระหว่างบุคคลไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวลูกค้าบางคนไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของรถตัวจริงจนกระทั่งเกิดปัญหา วิธีง่ายๆ คือตรวจสอบกับกรมการขนส่งเพื่อหาเจ้าของที่แท้จริงหรือเลือกซื้อรถมือสองจากดีลเลอร์ที่เป็นสมาชิก STVA ที่สมาคมผู้บริโภคสิงคโปร์ให้การรับรองกูเกิ้ลก็หาไม่เจอจักรยานจีไบค์  ที่กูเกิ้ลมีไว้ให้พนักงานได้ใช้เดินทางในระหว่างอาคารที่ตั้งอยู่ห่างกันมักสูญหายบ่อย ทั้งๆ ที่หนึ่งในสามจักรยาน 1,100 คันมีจีพีเอสระบุตำแหน่งผู้คนในเมืองเมาน์เท่นวิว(ซึ่งมีประชากร 80,000 คน) ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัท มองว่าจักรยานของกูเกิ้ลก็เหมือนจักรยานของตัวเอง แน่นอนพวกเขาสามารถหยิบยืมไปใช้ได้ตามสบาย กูเกิ้ลกล่าว บริษัทจ้างผู้รับเหมาถึง 30 รายเพื่อทำหน้าที่ “เก็บกู้” จักรยานเหล่านี้กลับมา และในระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายนปีที่แล้ว เขาก็สามารถเก็บจักรยานได้สัปดาห์ละ 70 ถึง 190 คัน (จากที่หายไปสัปดาห์ละ 100 ถึง 250 คัน) ข้อมูลจากจีพีเอสระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วจักรยานพวกนี้ถูกใช้ประมาณวันละสิบกว่าเที่ยว เป็นระยะทางประมาณหกไมล์ และมีคนใช้ถีบไปถึงบริษัทออราเคิล คู่แข่งสำคัญของกูเกิ้ลด้วย  เล่นไม่เป็นเรื่องเรื่องสนุกล่าสุดของวัยรุ่นอเมริกัน คือการถ่ายคลิป/ภาพนิ่ง ขณะที่ตัวเองกำลังกัด(และกิน?) ซองน้ำยาซักผ้ายี่ห้อหนึ่ง แล้วโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก ยูทูบ หรืออินสตาแกรม แล้วท้าเพื่อนๆ ให้ทำด้วยกระแสนี้ลุกลามอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งๆ ที่เห็นได้ชัดว่านอกจากจะเป็นการท้าทายที่ไม่เข้าท่าและยังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตถ้าเผลอกลืนน้ำยาซักผ้านั้นลงไป สมาคมควบคุมสารพิษแห่งสหรัฐอเมริกาออกมาประกาศเตือนให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าว เพราะปีนี้ (แค่เดือนมกราคม) มีผู้ป่วยอายุระหว่าง 13 ถึง 19 ปีที่ได้รับสารพิษโดยการจงใจกินเข้าไปกว่า 30 ราย บรรดาแพลทฟอร์มต่างๆ ก็ถูกเรียกร้องให้ลบโพสต์เพี๊ยนๆ พวกนี้ออกไปให้เร็วที่สุด ในขณะที่ผู้ผลิตน้ำยาซักผ้ายี่ห้อไทด์ ก็รีบทำคลิปวิดีโอที่มีนักกีฬาชื่อดังออกมาเตือนว่า “เจ้าถุงเล็กๆ พวกนี้เอาไว้ซักผ้า มันไม่ใช่ของกินนะวัยรุ่น”

อ่านเพิ่มเติม >