ฉบับที่ 188 ระวัง! ยาเหลืองเขียวคร่าชีวิต

ผมเคยเห็นคลิปที่แพร่ในอินเตอร์เน็ต เด็กวัยรุ่นหญิงมีอาการชักเกร็งในดินโคลน จากข้อมูลที่ปรากฎในคลิปทราบว่าเด็กวัยรุ่นคนนี้ นำยาแก้ปวดชนิดหนึ่งมารับประทานผสมกับยาแก้ไอหวัดเพื่อให้มึนเมา แล้วเกิดอาการชักเกร็ง เท่าที่ตามข่าวทราบว่า สุดท้ายเด็กวัยรุ่นหญิงคนนี้ได้เสียชีวิตแล้ว หลังจากนั้นก็มีข่าวปรากฏผ่านทางสื่อเป็นระยะๆ ว่าเด็กวัยรุ่น นำยาแก้แพ้ชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า ยาป๊อคมาผสมกับยาแก้ปวดชนิดหนึ่งจำนวน 20 - 40 เม็ด (วัยรุ่นบางกลุ่มยังนำยาต่างๆ ไปผสมกับน้ำอัดลมชนิดน้ำดำ หรือบางครั้งอาจใช้ยาน้ำเชื่อมแก้แพ้แก้ไอหวัดชนิดอื่นๆ มาผสมแทน) เพื่อทำให้เกิดอาการมึนเมา จนหลายคนเกิดอาการชักเกร็งต้องส่งโรงพยาบาลล่าสุดผมมีโอกาสได้ไปคุยกับเด็กวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเนื่องจากมั่วสุมกันและมีการใช้ยาเพื่อให้มึนเมา มียาของกลางเป็นยาแบบนี้กล่าวมาข้างต้นมากมาย โดยแอบซื้อมาจากจังหวัดข้างเคียง จากการพูดคุยทำให้ทราบว่า เด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้ถูกชักชวนให้ลองใช้ยาแก้ปวดแคปซูลเหลืองเขียว โดยบอกว่าถ้าใช้แล้วจะฟิน สมองโล่ง บางคนจะรับประทานยานี้ชนิดเดียว ครั้งละ 5 – 10 เม็ด ในขณะที่บางคนจะไปซื้อยาน้ำเชื่อมแก้แพ้หรือแก้ไอหวัดชนิดต่างๆ แล้วแกะแคปซูลเทยาแก้ปวดแคปซูลเหลืองเขียว ใส่ลงไปครั้งละ 10 -20 แคปซูล เขย่าให้เข้ากัน แล้วจึงเทยาออกมาประมาณ 1 – 2 ฝา ใส่น้ำอัดลมดื่มแบ่งกันดื่ม เด็กเล่าให้ฟังว่าหลังจากดื่มจะมึนๆ สมองโล่ง บางคนก็มีอาการเกร็งจนเพื่อนต้องพาส่งโรงพยาบาล แต่หลายคนก็ยังไม่เข็ดเพราะคิดว่าคงไม่เป็นอะไรมากจากข้อมูลทางวิชาการ ยาแคปซูลเหลืองเขียวคือ ยาทรามาดอล (Tramadol) ซึ่งเป็นยาที่ ออกฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน ใช้สำหรับระงับอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง ในทางการแพทย์จะใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังที่ใช้ยาแก้ปวดชนิดอื่นไม่ได้ผล เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ส่วนยาป๊อค เป็นยาน้ำเชื่อม แก้แพ้ ลมพิษ เมารถเมาเรือ การใช้ยาเหล่านี้อย่างผิดๆ เช่น ใช้ในขนาดหรือปริมาณที่มากเกินปกติ หรือนำทั้งสองชนิดมารวมกัน (หรือใช้ยาน้ำเชื่อมแก้แพ้แก้ไอหวัดแทนยาป๊อค) การใช้ยาอย่างผิดๆ ดังกล่าว จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง เช่น มึนงง วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน ระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานล้มเหลว ชักเกร็ง และอาจอันตรายถึงชีวิตได้จากการกดการหายใจในแง่กฎหมาย ยาเหล่านี้สามารถจำหน่ายในร้านขายยาแผนปัจจุบันได้ เนื่องจากเป็นยาจำเป็นที่ใช้ในการรักษาโรคบางอย่าง แต่ยาเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะมีการนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงจำกัดการจ่ายยาแก้ปวดทรามาดอล จะจ่ายได้ไม่เกินครั้งละ 10 แคปซูล ส่วนยาแก้ไอน้ำเชื่อม จำกัดการขายไม่ควรจ่ายยาเกินครั้งละ 3 ขวด โดยแต่ละร้านต้องจำหน่ายไม่เกิน 300 ขวดต่อเดือน และก่อนจ่ายจะต้องพิจารณาว่าผู้ซื้อมีความจำเป็นจะต้องใช้หรือไม่ และต้องทำบัญชีขายยาไว้เป็นหลักฐานด้วยด้วยเหตุที่ยาเหล่านี้เริ่มถูกควบคุมการจำหน่ายมากขึ้น เด็กวัยรุ่นจึงมักจะแบ่งกันเพื่อทยอยไปซื้อยามาสะสมไว้ หรือบางกลุ่มก็ใช้วิธีการสั่งซื้อยาทางตลาดมืดทางอินเตอร์เน็ต โดยให้ส่งทางไปรษณีย์รู้อย่างนี้แล้ว ผู้ปกครองคอยสอดส่องดูแลลูกหลานให้ดีนะครับ และหากพบเห็นว่า ร้านยาแผนปัจจุบันร้านไหนจำหน่ายแบบไม่เหมาะสม หรือมีร้านค้าชำแอบลักลอบจำหน่าย แจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ ได้เลยครับ

อ่านเพิ่มเติม >