ฉบับที่ 236 ผลทดสอบยาปฏิชีวนะในปลาทับทิมและเนื้อไก่ชำแหละ

        “ในเรื่องอาหารและการตกค้างของยาปฏิชีวนะ เกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคอย่างน้อยสามประเด็น คือ เรื่องข้อมูลในการเลือก เรื่องความปลอดภัย และเรื่องบริโภคศึกษา”          ทุกปีเพื่อเป็นการเฝ้าระวังอาหารที่คนไทยบริโภค ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตกค้างของยาปฏิชีวนะ ซึ่งถูกนำมาใช้ในภาคการผลิต นิตยสารฉลาดซื้อได้นำเสนอผลทดสอบย้อนหลังไปอย่างน้อยในสามครั้ง ได้แก่ การทดสอบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในอาหารฟาสต์ฟู้ด (ฉบับ 188  เดือนตุลาคม 2559 ) การตกค้างของยาปฏิชีวนะในเนื้อหมู (ฉบับ 193 เดือนมีนาคม 2560) การตกค้างของยาปฏิชีวนะในอกไก่และตับไก่สด (ฉบับ 209  เดือนกรกฎาคม 2561)         ในเดือนตุลาคม 2563 นี้ ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บตัวอย่าง ปลาทับทิม ซึ่งเป็นปลายอดนิยมของไทยและมีการเพาะเลี้ยงอย่างแพร่หลาย ซึ่งพบว่าส่วนหนึ่งของการดูแลปลาทับทิมจะมีการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย เราจึงสุ่มเก็บปลาทับทิมจากตลาดในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 11 แห่ง ตลาดและกระชังปลาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง จำนวน 4 แห่ง รวมเป็นจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 15 ตัวอย่าง ส่งห้องปฏิบัติการเพื่อหาการตกค้างของยาปฏิชีวนะ ตามตารางที่ 1         และเนื่องจากข้อเสนอของเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค โซนภาคกลาง ที่มีข้อสงสัยต่อเนื้อไก่ซอยหรือไก่ที่ชำแหละขายเป็นส่วนๆ (ปีก น่อง สะโพก ฯลฯ) ว่าอาจมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะในเนื้อไก่เหล่านี้ นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังฯ จึงสนับสนุนให้เกิดข้อพิสูจน์ดังกล่าว โดยร่วมมือกับอาสาสมัครของเครือข่ายผู้บริโภค โซนภาคกลางเก็บตัวอย่างไก่ซอย จำนวน  10 ตัวอย่างในพื้นที่ภาคกลาง เพื่อตรวจหาการตกค้างของยาปฏิชีวนะ ตามตารางที่ 2ผลทดสอบ        การตกค้างของยาปฏิชีวนะในปลาทับทิม         จากจำนวนตัวอย่าง 15 ตัวอย่าง 14 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ มีเพียง 1 ตัวอย่าง จากปลาทับทิมที่ซื้อจากตลาดคลองเตย พบ ยา Oxytetracycline ในปริมาณน้อยกว่า 5.00 ไมโครกรัม/กิโลกรัม        ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้างเพื่อใช้ควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดให้พบปริมาณการตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit, MRL) ของยาในกลุ่มต่างๆ Tetracycline (เตตราไซคลีน) ในปลาส่วนของกล้ามเนื้อ ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม         หมายเหตุ เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เดือนตุลาคม 2563 / ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น        การตกค้างของยาปฏิชีวนะในเนื้อไก่ชำแหละ        จากจำนวนตัวอย่าง 10 ตัวอย่าง 9 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ  มี 1 ตัวอย่าง จากเนื้อไก่ที่ซื้อจากตลาดเจ้าพรหม (รับจากโรงงานตลาดเจ้าพรหม) พบยา Enrofloxacin (Endrofloxacin) ในปริมาณ 0.66 ไมโครกรัม/กิโลกรัม        ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้างเพื่อใช้ควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดให้พบปริมาณการตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit, MRL) ของยาในกลุ่มต่างๆ เช่น Tetracycline (เตตราไซคลีน) ในสัตว์ปีก เช่น นก ไก่ ไก่งวง เป็ด ห่าน ไก่ต๊อก ในส่วนของกล้ามเนื้อ ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม เป็นต้น         อย่างไรก็ตามจากผลการตรวจวิเคราะห์พบยาเอนโรฟลอคซาซิน จำนวน 1 ตัวอย่าง ซึ่งไม่ได้เป็นรายการยาในบัญชีแนบท้ายประกาศ แม้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้ใช้ยานี้ได้แต่ต้องไม่พบการตกค้างเลย อาจถือเป็นความผิดตามมาตรา 60 โทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522         หมายเหตุ เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เดือนตุลาคม 2563 / ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >