ฉบับที่ 106 กระแสต่างแดน

ยิ่งสุข ยิ่งหวาดระแวงมีข้อค้นพบจากงานวิจัยว่า คนเราซื้อระยะประกันเพิ่มสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายด้วยสองสาเหตุ หนึ่ง คือเราไม่สามารถประเมินความเสี่ยงได้อย่างถูกต้อง สองสภาวะจิตใจของเราในขณะที่ซื้อนั้นมันสุขเกินไปยิ่งเรามีความสุขมากเท่าไร เราก็จะยิ่งอยากหลีกเลี่ยงความเสี่ยงมากเท่านั้นปกติแล้วก่อนที่เราจะลงมือซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ราคาแพงสักชิ้นเรามักจะต้องทำการศึกษามาดีพอใช้ น้อยคนนักที่จะหาข้อมูลเรื่องการซื้อเวลารับประกันเพิ่ม แต่การประกันแบบนี้กลับมีคนตัดสินใจซื้อมากมายคนขายก็มักให้เหตุผลกับเราว่า เราอาจพลั้งเผลอทำอุปกรณ์เหล่านี้ตกหล่นเมื่อไรก็ได้ และซื้อการประกันนั้นก็ง่ายมาก ประหยัดเวลา คิดแล้วถูกกว่าออกไปกินข้าวนอกบ้านหนึ่งมื้อเสียอีก ทำนองนี้เป็นต้นเหตุที่ทางร้านพยายามอย่างยิ่งที่จะขายการรับประกันเพิ่มให้กับลูกค้าก็เพราะ บริการดังกล่าวสามารถทำเงินมหาศาลให้กับทางร้านนั่นเอง ลองคิดดูว่าประกันเพิ่มสำหรับเน็ตบุ๊คราคา 400 เหรียญนั้นเท่ากับ 130 เหรียญ (เกือบ 1ใน 3) เลยทีเดียวSquareTrade เป็นบริษัทที่ขายการรับประกันให้กับสินค้าที่ซื้อขายทางอินเตอร์เน็ตเป็นต้น เชื่อหรือไม่บริษัทนี้สามารถขายการรับประกันให้กับเน็ทบุ๊คตัวเดียวกันในราคา 60 เหรียญเท่านั้น ซีอีโอ ของ SquareTrade บอกว่าบริการประกันแบบนี้มันไม่ใช่บริการที่ไม่ดีนะ เพียงแต่ร้านต่างๆ มักขายในราคาที่แพงเกินกว่าเหตุเท่านั้นเองในทางกลับกัน หน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภคจะแนะนำว่าเราไม่ควรเสียเงินกับการเพิ่มระยะรับประกันเหล่านั้นเลยจะดีกว่า เพราะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องซ่อมหรือถ้าจะซ่อม มันก็อยู่ในงบประมาณเดียวกับค่าซื้อการรับประกันเพิ่มนั่นแหละเรามักคิดว่าอย่างไรเสียค่าซื้อประกันเพิ่มมันก็ยังน้อยกว่าค่าซื้อสินค้าใหม่ แต่ยังไม่มีใครรู้เลยว่าอัตราการเสียของสินค้าเหล่านี้เป็นเท่าไร แต่ขอบอกว่ามันต่ำกว่าที่คุณคิดแน่นอนคอนซูเมอร์รีพอร์ต นิตยสารเพื่อผู้บริโภคของอเมริกา ได้ทำการสำรวจกับผู้อ่าน แล้วทำการคำนวณอัตราการเสียของอุปกรณ์เหล่านี้ในระยะ 3 ถึง 4 ปี และพบว่าอัตราการเสียของเครื่องเล่นโทรทัศน์ มีเพียงร้อยละ 3 (จากเครื่องเล่นโทรทัศน์ทั้งหมด 10 ยี่ห้อ) ในขณะที่อัตราการเสียของกล้องถ่ายรูปมีร้อยละ 10อัตราสูงที่สุดได้แก่ โน๊ตบุ้ค (ร้อยละ 43) แต่นั่นเป็นการเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุและการมีของเหลวหกใส่คีย์บอร์ด ซึ่งโดยทั่วไปก็ไม่อยู่ในเงื่อนไขรับประกันอยู่แล้ว ... นั่นสิ แล้วคนเราซื้อประกันเพิ่มเพราะอะไรนักวิชาการให้ทัศนะว่า เราซื้อประกันพวกนี้เพราะเราอยู่ในอารมณ์ที่ดีเกินไปขณะที่กำลังจะได้มาซึ่งสินค้าที่เราเฝ้าฝันถึงมานาน สถิติบอกว่าคนเรานิยมซื้อระยะเวลารับประกันเพิ่มให้กับสินค้าประเภทที่ให้ความสุข มากกว่าสินค้าที่ซื้อเพราะต้องใช้ประโยชน์จากมัน (อย่างเครื่องซักผ้าหรือตู้เย็น)ฟังดูคล้ายเราควรหาเรื่องให้ตัวเองอารมณ์เสียสักเล็กน้อยก่อนออกไปซื้อของ จะได้ตัดสินใจอย่างมีสติขึ้นนะนี่จัดระเบียบเนื้อสดเชื่อหรือไม่ว่าประเทศที่ส่งออกเนื้อวัวมากเป็นอันดับสองของโลกอย่างออสเตรเลีย ไม่มีระบบการติดฉลากระบุคุณภาพสำหรับเนื้อวัวที่ขายในประเทศของตนเอง ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงไม่สามารถรู้ได้ว่า เนื้อที่ตนเองกำลังจะซื้อไปทำอาหารรับประทานนั้นเป็นเนื้อที่มีคุณภาพในระดับใดว่ากันว่าปัจจุบัน ร้อยละ 3 ของเนื้อวัวที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตในออสเตรเลีย เป็นเนื้อโคแก่ ที่แพ็คขายโดยติดฉลากว่าเป็นเนื้อ “คุณภาพเยี่ยม” หรือที่เรียกติดปากในภาษาฝรั่งว่า “พรีเมี่ยม” นั้นแลทุกวันนี้ออสเตรเลียไม่มีระบบการคัดแยกแบบบังคับสำหรับเนื้อวัวที่ขายในประเทศ มีเพียงโครงการแบบสมัครใจ ซึ่งก็มีเพียงเจ้าของไร่ปศุสัตว์เพียง 12,500 ไร่ จากทั้งหมด 160,000 ไร่ เท่านั้นที่สมัครเข้าร่วมโครงการให้การรับรองขององค์กร Meat and Livestock Australiaภายใต้ระบบรับรองที่ว่านี้ เนื้อจากโคเนื้อที่มีอายุสามปีครึ่งขึ้นไป หรือเนื้อโคนมที่พ้นวัยให้นมแล้วจะถูกจัดเข้าประเภทที่เหมาะกับการบริโภคในรูปแบบของเนื้อบดเท่านั้น แต่มีอีกข้อตกลงดั้งเดิมที่ระบุว่า เนื้อโคอายุมากเหล่านั้นสามารถนำมาขายในรูปแบบของสก็อตช์ฟิลเล่ท์ หรือ ทีโบนได้ ถ้ามีการระบุที่ฉลากว่าเป็นเนื้อโค “ราคาประหยัด”ทำไปทำมาบางห้างก็เลยทำมึนๆ ติดฉลากบรรดาเนื้อโคแก่เหล่านั้นว่า “พิเศษ” ไปด้วย ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าได้ของดีราคาถูก (ซึ่งความจริงแล้ว มันคือของไม่ดี ราคาถึงได้ถูก)รัฐบาลนิวเซาท์เวลส์ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการเสนอให้มีระบบการรับรองแบบเดียวกับ AUS-Meat ที่ใช้ในการรับรองและคัดแยกประเภทของเนื้อวัวที่ส่งออกจากออสเตรเลียไปขายทั่วโลกนั้นแลPenFriend เพื่อนใหม่ใช้อ่านฉลากหลายคนรู้จักสิ่งที่เรียกว่า PenFriend ที่คุณครูภาษาอังกฤษสมัยประถมเคยให้เราฝึกเขียนจดหมายภาษาอังกฤษถึงเพื่อนต่างชาติ (นี่ถือเป็นการเช็คอายุคนอ่านไปในตัว เด็กเดี๋ยวนี้คงใช้ MSN Hi5 หรือ Facebook กันแล้ว)แต่ PenFriend นาทีนี้ คือ อุปกรณ์หน้าตาคล้ายปากกาชนิดใหม่ที่ทำให้ผู้พิการทางสายตา สามารถอ่านฉลากบนสินค้าต่างๆ ได้ อุปกรณ์ดังกล่าวใช้ระบบบาร์โค้ด ซึ่งเมื่อสแกนด้วยปากกาดิจิตัลแล้วจะไปเปิดไฟล์ เอ็มพี3 ที่บันทึกเสียงเอาไว้นั่นเองอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นมาในโครงการร่วมระหว่างสถาบันผู้พิการทางสายตาแห่งชาติของอังกฤษและบริษัทลิงกัว มันตรา มีราคาประมาณ 60 ปอนด์ (ประมาณ 3,200 บาท) และสามารถใช้ในการทำฉลากตั้งแต่ อาหาร เสื้อผ้า ดีวีดี หรือ อัลบั้มเพลงต่างๆ ได้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Optical Identification (OID) นี้จะพิมพ์จุดเล็กๆ ลงไปบนแผ่นสติกเกอร์ ซึ่งสามารถอ่านได้ด้วยสแกนเนอร์ที่อยู่ตรงปลายของปากกา และขณะที่มันสแกน ก็จะเปิดไฟล์เสียงที่บันทึกไว้เพื่อบอกว่า ของที่อยู่ในขวดนั้นเป็นอะไร ซึ่งหมายความว่าจะบันทึกวันหมดอายุหรือคำแนะนำในการประกอบอาหารไว้ด้วยได้ ประกาศ! ห้ามใช้ทีวีกินไฟคณะกรรมาธิการด้านพลังงานของรัฐแคลิฟอร์เนียลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า ต่อไปนี้โทรทัศน์ขนาดไม่เกิน 58 นิ้ว ที่ขายในรัฐดังกล่าว จะต้องลดอัตราการกินไฟลงอย่างน้อยร้อยละ 33 ภายในปี พ.ศ. 2554 และจะต้องลดลงร้อยละ 49 ภายในปีพ.ศ. 2556ร้อยละ 10 ของการบริโภคพลังงานไฟฟ้าในรัฐแคลิฟอร์เนียเกิดจากการเปิดเครื่องรับโทรทัศน์ (ยิ่งเป็นโทรทัศน์จอพลาสมานั้น ก็จะยิ่งกินไฟมากกว่าโทรทัศน์ธรรมดาถึง 3 เท่า)ถ้าทุกคนในรัฐเปลี่ยนมาใช้โทรทัศน์ที่สามารถใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ก็จะประหยัดค่าไฟได้ 30 เหรียญต่อเครื่อง ต่อปีเลยทีเดียวอุตสาหกรรมผู้ผลิตโทรทัศน์ว่าอย่างไรน่ะหรือ บ้างก็โวยวายว่านี่มันเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเป็นการแทรกแซงกลไกตลาด ซึ่งกำลังทำให้เกิดการผลิตสินค้าที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว (ขณะนี้มีโทรทัศน์ประหยัดไฟขายอยู่ในท้องตลาดประมาณ 1,000 รุ่นแล้ว)ในแต่ละปี คนแคลิฟอร์เนียซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ 4 ล้านเครื่องหนี้ศัลยกรรมขณะนี้ประเทศเวเนซูเอล่ากำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ หลังจากที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปีแม้เศรษฐกิจจะไม่เป็นใจแต่คนเวเนซูเอล่าก็ยังมุ่งมั่นที่จะทำหน้าเด้ง ดูดไขมัน และเสริมหน้าอกกันต่อไป สถิติการทำศัลยกรรมที่นี่ไม่เคยลดลงเลย ไม่เค้ย ไม่เคย ที่เขาจะคิดหยุดทำ เพียงแต่คิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะได้ทำเท่านั้นทางออกคือการรูดปรึ๊ด หรือไม่ก็หาเงินกู้นั่นเองแพทย์ศัลยกรรมคนหนึ่งบอกว่า ยิ่งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คนก็ยิ่งอยากจะใช้จ่ายเพื่อการปลอบประโลมตัวเองมากขึ้น บ้างก็งัดเอาเงินเก็บออกมาทำสวย ที่ไม่มีก็กู้ยืมกันมาทีเดียว แพทย์คนเดิมบอกว่าลูกค้าบางรายยอมย้ายออกมาอยู่ในห้องเช่าที่เล็กลงเพื่อจะได้มีเงินเหลือไปทำการแปลงโฉม ส่วนอีกรายเอารถไปขายเพื่อหาเงินมาดึงหน้านักจิตวิทยาสังคมจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเวเนซูเอล่าบอกว่าเรื่องนี้มันเกิดกับคนส่วนน้อย เพราะผู้หญิงกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำนั้น มักไม่มีเงินเก็บให้ถอนออกมาใช้ หรือมีทรัพย์สินอะไรที่จะเอาไปขายได้อย่างนั้นหรอกแต่ถ้าดูจากโฆษณาของคลินิกศัลยกรรมตามสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจะเห็นว่า คลินิกเหล่านี้นั่นแหละที่เสนอปล่อยเงินกู้ให้เพื่อการศัลยกรรม หรืออีกนัยหนึ่งอุตสาหกรรมนี้กำลังทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตนเองมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องในทุกสภาพเศรษฐกิจคนที่นี่จำนวนไม่น้อยมองว่าการทำศัลยกรรมไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือย พวกเขาเชื่อว่าคนเราจำเป็นจะต้องสวย ถึงคุณไม่อยากจะสวยแต่แรงกดดันจากสังคมก็ทำให้คุณอยากจะไปพึ่งมีดหมออยู่นั่นเอง ร้อยละ 60 ของผู้หญิงที่นั่นทำการผ่าตัดเพิ่มขนาดหน้าอก และหลายคนก็ทำมากกว่าหนึ่งครั้งด้วย

อ่านเพิ่มเติม >