ฉบับที่ 145 กระแสต่างแดน

  จากเนื้อม้าถึงอาวุธ หลายคนรู้แล้วว่าการบริโภคเนื้อม้านั้นไม่ได้เป็นอันตราย แม้จะเป็นเนื้อจากม้าแข่งที่ถูกฉีดยาแก้ปวดและยาแก้อักเสบมาเป็นประจำ(ผู้รู้เขาบอกว่าเราจะได้รับอันตรายต่อเมื่อเรารับประทานเบอร์เกอร์เนื้อม้าขนาด 250 กรัม เข้าไปไม่ต่ำกว่า 500 ก้อน) แต่คุณรู้แล้วหรือยังว่าธุรกิจจัดหาเนื้อม้านั้นมีความเกี่ยวข้องกับเครือข่ายค้าอาวุธด้วย บริษัทที่ส่งเนื้อให้กับผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปในยุโรปได้แก่ บริษัท Draap Trading ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในไซปรัส แต่จดทะเบียนที่หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน แหล่งเลี่ยงภาษียอดฮิตของชาวโลก   Draap Trading รับซื้อเนื้อม้าจากโรงฆ่าสัตว์ 2 แห่งในโรมาเนีย แล้วนำมาขายให้กับ Spanghero บริษัทแปรรูปอาหารสัญชาติฝรั่งเศส(ซึ่งเป็นประเทศที่มีการบริโภคเนื้อม้าเป็นปกติ) บริษัทนี้ขายเนื้อสัตว์แปรรูปให้กับบริษัท Comigel ซึ่งจะผลิตอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งจากโรงงานในลักเซมเบอร์กเพื่อป้อนให้กับแบรนด์ต่างๆ ที่ส่งสินค้าให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตในอังกฤษ Draap Trading ถูกเปิดโปงว่ามีความสัมพันธ์กับบริษัท Guardstand ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทค้าอาวุธ Ilex Ventures ที่มีความเกี่ยวโยงกับนายวิคเตอร์ บูท ชาวรัสเซียที่ถูกจับได้ในเมืองไทยและถูกส่งตัวไปดำเนินคดีที่สหรัฐฯ เมื่อสามปีก่อนนั่นเอง   บาหลีรับมือขยะเทศกาล เทศบาลเมืองเดนปาซาร์แห่งเกาะบาหลี เตรียมหน่วยฉุกเฉินไว้รับมือกับขยะกองโต ที่จะปรากฏตัวขึ้นในเทศกาลปีใหม่แบบฮินดู หรือที่เรียกอีกอย่างว่า เทศกาล “เข้าเงียบ” ในวันธรรมดาๆ เดนปาซาร์จะมีขยะประมาณ 2,500 ลูกบาศก์เมตร อาจมีมากกว่านั้นบ้างในช่วงเทศกาลทางศาสนา แต่งานไหนก็มีขยะไม่มากเท่าเทศกาลปีใหม่หรือวันนเยปิ ซึ่งปริมาณขยะจะเพิ่มเป็น 6,000 ลูกบาศก์เมตร เพราะทุกๆ พิธีกรรมในเทศกาลนี้ล้วนแล้วแต่มี “พร็อพ” มากมาย ตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวบ้านที่นั่น ตั้งแต่บรรณาการที่เตรียมไว้ถวายเทพเจ้า ขบวนแห่ หรือแม้แต่หุ่นไม้ไผ่ที่เป็นตัวแทนของปีศาจที่จะต้องถูกเผาทิ้ง ในพิธีต่อสู้กับสิ่งชั่วร้าย ปิดท้ายด้วยงานเลี้ยงพบปะสังสรรค์ของคนในครอบครัวที่จัดใหญ่ เทศบาลฯ บอกว่าเขาจะไม่เปลี่ยนแปลงความเชื่อดั้งเดิมของผู้คน จะมีก็แค่ขอความร่วมมือจากชาวบ้านให้ลดการใช้พลาสติกลงบ้าง หน่วยสวาทพิฆาตขยะที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่กวาดถนน 600 คน และพนักงานเก็บขยะอีก 1,000 คน จึงต้องออกปฏิบัติการรักษาความสะอาดของถนน 113 สาย ไปอย่างเงียบๆ ในเทศกาลเข้าเงียบอีกเช่นเคย     มาช้าต้องรับผิดชอบ ร้อยละ 80 ของเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเดินทางขนส่ง คือปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้โดยสารเครื่องบิน  เพราะกฎระเบียบเดิมที่ใช้มา 8 ปี นั้นได้สร้างความสับสนให้กับผู้โดยสารจนเป็นเหตุให้ถูกผู้ประกอบการเอาเปรียบอยู่บ่อยๆ สหภาพยุโรปเลยมีข้อเสนอใหม่ว่าด้วยการชดเชยและการดูแลผู้โดยสารในกรณีที่เที่ยวบินล่าช้าหรือถูกยกเลิกมาให้สมาชิกทั้ง 27 ประเทศได้โหวตกัน เช่น สายการบินต้องแจ้งผู้โดยสารให้ทราบว่าเกิดปัญหาขึ้น ภายใน 30 นาทีหลังจากเวลาออกเดินทางที่ได้กำหนดไว้ ผู้โดยสารของเที่ยวบินที่ล่าช้าตั้งแต่ 2 ชั่วโมงขึ้นไป จะต้องได้รับการช่วยเหลือดูแลที่สนามบิน รวมถึงการได้รับอาหารและเครื่องดื่ม(ไม่ว่าจะเป็นเที่ยวบินไกลหรือใกล้) ถ้าเที่ยวบินล่าช้าเกิน 5 ชั่วโมง ผู้โดยสารสามารถยกเลิกเที่ยวบิน และขอเงินคืนได้ ในกรณีของผู้โดยสารต่อเครื่องที่พลาดเที่ยวบินถัดไปเพราะเที่ยวบินขาแรกเกิดการล่าช้า สายการบินจะต้องรับผิดชอบหาเที่ยวบินใหม่ของสายการบินอื่นให้ ในกรณีที่ไม่สามารถหาเที่ยวบินของตนเองให้ได้ภายใน 12 ชั่วโมง นับจากเวลาออกเดินทางตามตารางเดิม นอกจากนี้สายการบินจะต้องจัดการกับเรื่องร้องเรียนของผู้โดยสาร ภายในเวลา 1 สัปดาห์นับแต่ได้รับแจ้ง แต่ในกรณีเหตุการณ์ที่อยู่เหนือการควบคุมอย่างภูเขาไฟระเบิดที่ไอซ์แลนด์เมื่อ 3 ปีก่อน ที่มีเที่ยวบินในยุโรปถูกยกเลิกไปกว่า 100,000 เที่ยวนั้น เขาเสนอจำกัดความรับผิดชอบของสายการบินในการจ่ายค่าที่พักให้กับผู้โดยสารเพียง 3 คืนเท่านั้น ไม่แน่ใจว่าหลังจากนั้นผู้โดยสารต้องไปเช็คอินเข้าพักที่สนามบินหรือเปล่า     น้ำพอมีแต่ยังไม่มั่นคง ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียเขาประเมินแล้วว่าหมู่เฮาชาวเอเชียแปซิฟิกยังขาดสิ่งที่เรียกว่า “ความมั่นคงทางน้ำ” ทั้งๆ ที่ภูมิภาคนี้ก็เป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันอัตราการเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดของเอเชียอยู่ที่ร้อยละ 91 แต่หลายๆ เมืองในประเทศจีนและเกาหลีใต้ยังไม่มีน้ำใช้ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยปริมาณน้ำที่จำกัดจึงต้องเปิด/ปิดเป็นเวลา แต่ก็ยังดีกว่าที่จาการ์ตาเมืองหลวงของอินโดนีเซียที่มีน้ำใช้วันละ 18 ชั่วโมง หรือเชนไนทางตอนใต้ของอินเดียที่มีน้ำใช้วันละ 4 ชั่วโมงเท่านั้น ถ้าจะดูเรื่องความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติเช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ดินถล่ม พายุ ของประเทศในกลุ่มนี้แล้วต้องขอบอกว่ามีหลายประเทศที่น่าเป็นห่วง เช่น บังคลาเทศ ทาจิกิสถาน วานัวตู เนปาล กัมพูชา และลาว ในขณะที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ เขาเตรียมตัวพร้อมอย่างยิ่ง รายงานระบุว่าเกือบร้อยละ 50 ของจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยภัยที่เกี่ยวกับน้ำ และร้อยละ 90 ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยที่สืบเนื่องจากน้ำก็คือประชากรที่อาศัยอยู่ในเอเชีย ร้อยละ 80 ของแหล่งน้ำในภูมิภาคนี้อยู่ในสภาพที่จัดว่าเลวร้าย ที่สำคัญคือความต้องการอาหารและพลังงานที่เพิ่มขึ้นจะทำให้มันยิ่งเลวร้ายไปกว่าเดิม     โฟมแอนด์เดอะซิตี้ นายกเทศมนตรีเมืองนิวยอร์ค ไมเคิล บลูมเบิร์ก กลับมาอีกแล้ว คราวนี้เขามาด้วยขอเสนอห้ามร้านอาหารใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหารให้กับลูกค้า เป็นที่รู้กันดีว่าอเมริกันชนนั้นเขานิยมโทรสั่งอาหารมารับประทาน จึงมีการใช้ภาชนะโฟมกันไม่น้อย แต่ละปีมีขยะโฟมเหล่านี้กว่า 20,000 ตัน ซึ่งนอกจากจะไม่ย่อยสลายแล้วยังกินเนื้อที่ในการฝังกลบด้วย เทศบาลต้องจ่ายค่ากำจัดมันในราคาตันละ 600 บาท บลูมเบิร์กจึงเสนอให้มีการใช้กฎหมายห้ามขาดไปเลยแบบเดียวกับการประกาศห้ามใช้สีที่มีสารตะกั่วสำหรับบ้านพักอาศัยเมื่อปี ค.ศ. 1960 คงจะมีแรงต้านแน่นอนเพราะภาชนะที่จะนำมาใช้แทนโฟมนั้นราคาแพงกว่าถึง 2 – 5 เท่า แต่หลายๆ เมืองเช่น ลอสแองเจลิส ซานฟรานซิสโก ซีแอตเทิล หรือพอร์ทแลนด์ เขาก็แบนการใช้โฟมแล้ว บลูมเบิร์กบอกว่าเราจะไม่ใช้มันต่อไปในเมื่อ “ไม่มีมันเราก็อยู่กันได้ ... ไม่มีมันเราอาจจะอายุยืนขึ้นด้วย”   //

อ่านเพิ่มเติม >