ฉบับที่ 274 โดนแอบอ้างใช้บัตรเครดิต เสียหายเป็นแสน

        เสียงผู้บริโภคในวันนี้เป็นเรื่องราวที่หลายคน คงได้เห็นกันตามข่าวกันมาเยอะ กับกรณีที่ถูกพวกแก๊งมิจฉาชีพหลอก นำข้อมูลส่วนตัวของเราเพื่อไปทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งเรื่องของคุณน้ำตาลที่ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็เกี่ยวกับการโดนภัยออนไลน์หลอกเช่นกัน แต่มาในรูปแบบอีเมล         คุณน้ำตาลได้เล่าให้ฟังว่า เธอได้รับอีเมลจากทางเว็บไซต์ที่ให้บริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น จองที่พัก จองเที่ยวบิน หรือจองรถเช่าต่างๆ  รายหนึ่ง (ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นเว็บไซต์ปลอมที่พี่มิจฉาชีพแอบอ้างขึ้นมา) โดยในอีเมลมีการระบุข้อความว่า “แจ้งให้รางวัลสำหรับการเข้าพัก” หลังได้รับอีเมลดังกล่าว ตัวเธอเองก็ไม่ได้คิดอะไรตอนนั้น จึงให้ข้อมูลบัตรเครดิต และ OTP สำหรับการยืนยันไป แต่พอผ่านไปไม่ถึง 10 นาที เธอก็เริ่มมีสติ! รู้สึกไม่สบายใจขึ้นมาได้ แต่...ก็ยังไม่ทันอยู่ดีเพราะเธอได้กรอกข้อมูลไปเรียบร้อยแล้วเลยคิดว่าคงโดนหลอกแล้วแน่ๆ เธอจึงรีบโทรติดต่อไปยังธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อให้ยกเลิกการทำธุรกรรมต่างๆ ทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นหลังจากเผลอให้ข้อมูลไปทางอีเมล ทางคอลเซนเตอร์ แจ้งรับทราบเรื่องพร้อมทั้งบอกว่าจะระงับธุรกรรมที่เกิดขึ้นและออกบัตรให้ใหม่คุณน้ำตาล         ทว่าในเดือนต่อมาดันมีสเตทเม้นท์แจ้งว่ามียอดการใช้จ่ายที่บริษัทแห่งหนึ่งในรายการชำระค่าบัตรเครดิตของเธอ ยอดค่าใช้จ่ายคือ 234,682.96 บาท คุณน้ำตาลก็ตกใจสิ! ฉันแจ้งระงับไปแล้วนะ เลยรีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ทันที พร้อมกับปรึกษากับธนาคารแห่งประเทศไทยว่าเกิดเรื่องราวแบบนี้ขึ้น เธอไม่ควรต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ใช่หรือ ซึ่งเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งกับทางคุณน้ำตาลว่า เมื่อแจ้งระงับการใช้บัตรแล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องยอดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายหลังการแจ้งระงับให้เธอสามารถใช้จ่ายได้ตามปกติเลย         แม้เธอได้รับข้อมูลว่าจบ แต่เอาจริงเรื่องก็ยังคงไม่จบ เพราะว่ายังคงมีอีเมลส่งมาจากธนาคารว่าเธอได้ซื้อของทางออนไลน์เพิ่มเติมอีก โดยมีชื่อผู้ซื้อเป็นชื่อชาวต่างชาติ ซึ่งไม่ใช่ชื่อเธอที่เป็นเจ้าของบัตร แถมการจัดส่งสินค้าก็ยังขึ้นที่อยู่จัดส่งอยู่ในประเทศโปแลนด์อีกด้วย     อีกทั้งต่อมาเธอได้รับจดหมายที่ส่งมาจากทางธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตอีกครั้งว่า หลังจากได้มีการตรวจสอบแล้วยอดค่าใช้จ่ายใหม่ที่เกิดขึ้นธนาคารได้ระงับการเรียกเก็บเงินทั้งหมด แต่ทางคุณน้ำตาลต้องเป็นคนรับผิดชอบยอดค่าใช้จ่ายครั้งแรกคือ 234,682.96 บาท         คุณน้ำตาลจึงมาปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าควรจะแก้ปัญหาอย่างไรดี?  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ แนะนำวิธีการแก้ไขให้ผู้ร้องเบื้องต้นดังนี้         1. ทำหนังสือปฏิเสธการชำระทั้งหมด ไปยังธนาคารดังกล่าว เนื่องจากผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้ใช้จ่ายเอง (มิจฉาชีพเป็นผู้ทำธุรกรรม) พร้อมทั้งแจ้งธนาคารเพื่ออายัด และให้ผู้ร้องมีการทำสำเนาถึงธนาคารแห่งประเทศไทยและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอีกด้วย โดยทางมูลนิธิฯ จะติดตามเรื่องและช่วยในการไกล่เกลี่ยให้กับผู้ร้องเพื่อไม่ต้องชำระยอดค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องไม่ได้กระทำ         2. หากเกิดกรณีธนาคารฟ้องร้องได้อธิบายต่อผู้ร้องว่า อาจใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ถึง 2 ปี ซึ่งแนะให้ผู้ร้องสู้คดี เพราะคำพิพากษาจะเป็นประโยชน์ต่อร้องเนื่องจากไม่ใช่ความผิดของทางผู้ร้องเอง         3. หากระหว่างนั้นผู้ร้องติดเครดิตบูโร แนะนำว่าถ้าสู้คดีในชั้นศาลเสร็จสิ้น ให้ไปแจ้งสาเหตุดังกล่าวต่อทางเครดิตบูโร          ดังนั้นจึงฝากเตือนใจ เตือนภัยผู้บริโภคให้ระมัดระวังให้มากเมื่อต้องทำข้อมูลทางออนไลน์ โดยเฉพาะไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวสำคัญหรือ OTP แก่ผู้ติดต่อที่ไม่มีตัวตนแน่ชัด ไม่น่าเชื่อถือ แนะนำว่า ให้ลองถามคำถามแรกกับตัวเองก่อนว่า บุคคลเหล่านี้เป็นมิจฉาชีพหรือไม่          นอกจากนี้ สิ่งที่ควรระวัง ก็คือพวกลิงก์ปลอม ก่อนกดลิงก์ถ้าไม่แน่ใจว่า จริง หรือ ปลอม แนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงที่จะไม่กดไปเลยเพื่อความปลอดภัย หรือถ้ามาในรูปแบบแจกของรางวัลต่างๆ ให้เช็กกับทางเว็บไซต์ทางการเพื่อความแน่ใจดีกว่าก่อนที่จะกดเข้าไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 Click ชุมชนด้วยแอปพลิเคชัน

        ด้วยโอกาสอันดีในช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลปีใหม่นี้ เหล่าพนักงานเงินเดือนหลายคนได้วางแผนเดินทางท่องเที่ยวก่อนที่จะเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดกัน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะได้หนุดพักเหนื่อยและชาร์จพลังงานกลับคืนมาหลังจากที่นั่งทำงานมาทั้งปี ฉบับนี้ขอมาแนะนำนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบเดินทางท่องเที่ยวในแหล่งชุมชน ชื่นชอบการช้อปปิ้งผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ผู้ที่มองหาของขวัญปีใหม่ควบคู่กับการสนับสนุนรายได้ให้กับคนในพื้นที่ จากแอปพลิเคชัน Click ชุมชน         แอปพลิเคชัน “Click ชุมชน” นี้เกิดขึ้นจากการประชุมขับเคลื่อนการปฏิบัติงานพัฒนาชุมชน ของกรมการพัฒนาชุมชนกระทรวงมหาดไทย เป็นแพลตฟอร์มบริการดิจิทัลเพื่อให้ภาคีเครือข่ายการพัฒนาและประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายสะดวก รวดเร็วและใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตและพัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น สามารถดาวน์โหลดฟรีได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android         หลังจากดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน สามารถเลือกลงทะเบียนเข้าใช้ได้หลายรูปแบบ เช่น ผ่าน Line ผ่าน E-mail เป็นต้น ซึ่งภายในแอปพลิเคชันจะพบกับเมนู 13 หมวด ได้แก่ หมวดที่ 1 เมนู CDD พาเที่ยว เพื่อให้ข้อมูลการเข้าถึงชุมชนท่องเที่ยว Virtual Tours เที่ยวเสมือนจริง GIS ชุมชนท่องเที่ยว และ Trip ท่องเที่ยว ในเมนูนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยว โดยสามารถเลือกสถานที่ท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัด และเลือกเชื่อมต่อเส้นทางไปยัง Google Map ได้ หมวดที่ 2 เมนู Shop ชุมชน ที่ช่วยรวบรวมแหล่งรวมสินค้า OTOP ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยมาไว้ในแอปพลิเคชัน เพื่อให้ผู้ใช้สะดวกในการค้นหา พร้อมทั้งเป็นการส่งเสริมการสร้างรายได้ของคนในชุมชนอีกด้วย         หมวดที่ 3 เมนูสมัครสมาชิก OTOP หมวดนี้มีไว้สำหรับผู้ประกอบการออนไลน์ ที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถตรวจสอบรายชื่อและสมัครสมาชิก OTOP เพื่อรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ผ่านเมนูนี้ได้ หมวดที่ 4 เมนู 108 อาชีพ เพื่อเสริมทักษะอาชีพ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้กับพี่น้องประชาชน โดยสามารถเลือกเรียนหลักสูตรในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ หมวดที่ 5 เมนูกองทุนฯ สตรี สมัคร/ตรวจสอบสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี หมวดที่ 6 เมนูปราชญ์ชุมชน รวบรวมองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญของปราชญ์ชุมชน หมวดที่ 7 เมนูโคกหนองนา ข้อมูลแปลง ครัวเรือนต้นแบบ องค์ความรู้และข่าวสารต่างๆ หมวดที่ 8 เมนูความรู้ชุมชน แหล่งรวบรวมองค์ความรู้ ฐานเรียนรู้ในรูปแบบ e – Book         หมวดที่ 9 เมนูมีทุน รวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ สื่อการเรียนรู้ศูนย์จัดการกองทุนชุมชน หมวดที่ 10 เมนู Big Data ฐานข้อมูลขนาดใหญ่การพัฒนาชุมชน มีการวิเคราะห์และเเสดงผลข้อมูลในรูปแบบกราฟ หมวดที่ 11 เมนู Do คนไทย สามารถตรวจสอบคุณภาพชีวิตจากข้อมูล จปฐ. ด้วยเลขบัตรประชาชน 13 หลัก หมวดที่ 12 เมนู Do ชุมชน ข้อมูลการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน และความเข้มแข็งของชุมชน หมวดที่ 13 เมนูเขื่อนชุมชน สามารถตรวจสอบฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ ด้วยเลขบัตรประชาชน 13 หลัก         ช่วงวันหยุดยาวปีนี้ มาเลือกเดินทางท่องเที่ยวผ่านแอปพลิเคชัน “Click ชุมชน” กันดู เพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ของคนในชุมชน แถมผลักดันเศรษฐกิจในประเทศให้เติบโตได้อีกทาง        หมวดที่ 3 เมนูสมัครสมาชิก OTOP หมวดนี้มีไว้สำหรับผู้ประกอบการออนไลน์ ที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถตรวจสอบรายชื่อและสมัครสมาชิก OTOP เพื่อรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ผ่านเมนูนี้ได้ หมวดที่ 4 เมนู 108 อาชีพ เพื่อเสริมทักษะอาชีพ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้กับพี่น้องประชาชน โดยสามารถเลือกเรียนหลักสูตรในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ หมวดที่ 5 เมนูกองทุนฯ สตรี สมัคร/ตรวจสอบสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี หมวดที่ 6 เมนูปราชญ์ชุมชน รวบรวมองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญของปราชญ์ชุมชน หมวดที่ 7 เมนูโคกหนองนา ข้อมูลแปลง ครัวเรือนต้นแบบ องค์ความรู้และข่าวสารต่างๆ หมวดที่ 8 เมนูความรู้ชุมชน แหล่งรวบรวมองค์ความรู้ ฐานเรียนรู้ในรูปแบบ e – Book         หมวดที่ 9 เมนูมีทุน รวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ สื่อการเรียนรู้ศูนย์จัดการกองทุนชุมชน หมวดที่ 10 เมนู Big Data ฐานข้อมูลขนาดใหญ่การพัฒนาชุมชน มีการวิเคราะห์และเเสดงผลข้อมูลในรูปแบบกราฟ หมวดที่ 11 เมนู Do คนไทย สามารถตรวจสอบคุณภาพชีวิตจากข้อมูล จปฐ. ด้วยเลขบัตรประชาชน 13 หลัก หมวดที่ 12 เมนู Do ชุมชน ข้อมูลการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน และความเข้มแข็งของชุมชน หมวดที่ 13 เมนูเขื่อนชุมชน สามารถตรวจสอบฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ ด้วยเลขบัตรประชาชน 13 หลัก         ช่วงวันหยุดยาวปีนี้ มาเลือกเดินทางท่องเที่ยวผ่านแอปพลิเคชัน “Click ชุมชน” กันดู เพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ของคนในชุมชน แถมผลักดันเศรษฐกิจในประเทศให้เติบโตได้อีกทาง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 สถานการณ์ผู้บริโภคประจำปี 2566

        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคปี 2566 ได้รับเรื่องร้องเรียนและให้คำปรึกษาตั้งแต่เดือน มกราคม-พฤศจิกายน 2566 ดำเนินการสำเร็จ 1,277 เรื่อง จากเคสร้องเรียนทั้งหมด 1,614 เรื่อง โดยแบ่งปัญหาของผู้บริโภค 9 เรื่องเด่นใน 4 หมวด ได้แก่ สินค้าและบริการทั่วไป, บริการขนส่งและยานพาหนะ, อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย, การเงินการธนาคารและประกัน เรื่องที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ หมวดสินค้าและบริการทั่วไป มีมากถึง 630 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 39 จากทุกข์ของผู้บริโภคทั้งหมดที่ร้องเรียนเข้ามา     9 เรื่องเด่น ประจำปี 2566    เรื่องที่ 1        ·     หมวดบริการขนส่งและยานพาหนะ        M-Flow ตามที่มีนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางด่วนและมอเตอร์เวย์ โดยการใช้เทคโนโลยี AI พัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางด้วยกล้องตรวจบันทึกภาพป้ายทะเบียนรถ ผ่านระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) บนเส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ของกรมทางหลวง  ได้แก่ ด่านทับช้าง 1 ด่านทับช้าง 2 ด่านธัญบุรี 1 ด่านธัญบุรี 2 นั้น          มูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ใช้บริการ และประสบปัญหาเรื่องการถูกเรียกเก็บค่าปรับทางด่วน  โดยมีเรื่องร้องเรียนดังนี้         1. อัตราค่าปรับแพง ระบบ M-Flow กำหนดให้ผู้ใช้บริการชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันใช้บริการ หากไม่ชำระภายในระยะเวลาดังกล่าวจะถูกปรับ 10 เท่าของค่าธรรมเนียม โดยให้ผู้ใช้บริการดำเนินการชำระเงิน หากไม่เห็นด้วยให้เข้ามาชี้แจงต่อกรมทางหลวงภายในระยะเวลาที่กำหนด (ให้ระยะเวลาเข้าไปชี้แจงประมาณ 8 วัน) หากไม่ดำเนินการชี้แจงจะถูกปรับจากการไม่มาชี้แจงตามกำหนดเวลา (200 บาทต่อกรณี) ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าอัตราค่าปรับไม่เหมาะสมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการ เนื่องจากผู้ใช้บริการไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง         2. ไม่ทราบว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่ใช้ระบบ M-Flow ผู้ใช้บริการบางคนเดินทางมาจากต่างจังหวัด ทำให้ไม่ทราบว่า หากใช้เส้นทางของระบบ M-Flow แล้วต้องชำระค่าบริการหรือไม่ หรือต้องชำระค่าบริการอย่างไร หรือบางรายอาจถูกรถเบียดเปลี่ยนเส้นทางไม่ได้ จนหลุดเข้าไปใช้เส้นทางดังกล่าวโดยไม่ตั้งใจ แล้วไม่ทราบว่าต้องดำเนินการชำระเงินอย่างไร ซึ่งกว่าจะได้รับหนังสือแจ้งเตือน ก็เลยกำหนดระยะเวลาที่ต้องชำระไปแล้ว         3.ป้ายแสดงไม่ชัดเจน จำนวนป้ายแสดงน้อย และมีขนาดเล็ก หากไม่สังเกต หรือไม่คุ้นเส้นทางก็จะไม่ทราบว่าเส้นทางข้างหน้าเป็นเส้นทาง M-Flow         4.ไม่รู้ยอดอัตราค่าบริการ และช่องทางการชำระ ไม่มีการประชาสัมพันธ์ช่องทางการชำระเงินให้ผู้ใช้บริการรับทราบ ซึ่งผู้ใช้บริการบางรายไม่ทราบด้วยว่าได้ใช้งานผ่านเส้นทาง M-Flow แล้ว         5.หนังสือแจ้งให้ชำระค่าบริการมาถึงช้า ทำให้เกินกำหนดชำระต้องเสียค่าปรับ ผู้ใช้บริการบางรายแจ้งว่า หนังสือแจ้งให้ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง ส่งมาถึงก่อนวันถึงกำหนดเพียง 1 วัน โดยไม่ได้ระบุช่องทางการชำระเงินมาในหนังสือ แต่ระบุเพียงว่า “ท่านสามารถชำระผ่านเว็บไซต์ระบบ M-Flow  (www.mflowthai.com)” หรือบางรายได้รับหนังสือหลังจากเกินกำหนดชำระแล้ว ทำให้ต้องเสียค่าปรับจำนวน 10 เท่า         6.ระบบโต้แย้งค่าผ่านทาง ไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ ระบบ M-Flow ได้จัดให้มีการส่งเหตุผลการโต้แย้งค่าผ่านทางได้ ผ่านเว็บไซต์ https://mflowthai.com/mflow/dispute และเหตุผลในการโต้แย้งค่าผ่านทาง ไม่ครอบคลุมปัญหาที่ผู้ใช้บริการได้รับจริง โดยในเว็บไซต์จะมีเหตุผลการโต้แย้งให้เลือกได้ดังนี้         (1) มีหนังสือยกเว้นภายหลังผ่านทาง         (2) ชำระเงินแล้วมีหนังสือแจ้งเตือน/ขอคืนเงิน/ขอคืนแต้ม         (3) ไม่ได้ผ่านทาง         (4) ข้อมูลซื้อขายรถไม่ตรงกับกรมขนส่งทางบก         (5) ซื้อขายรถแบบโอนลอย         (6) รถสวมทะเบียน         (7) รถหาย/รถโดนขโมย         (8) การผ่านทางซ้ำ (การสร้างรายการผ่านทางซ้ำ)         (9) ขนาดรถไม่ถูกต้อง         (10) เคลื่อนย้ายรถส่งซ่อมการดำเนินการ         1. ทำหนังสือขอให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการใช้งานระบบ M-FLOW พร้อมแนบรายชื่อผู้เสียหาย (มพบที่.119/2565)                                                                      2.ทำหนังสือ/ข้อเสนอ ขอให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการใช้งานระบบ M-FLOW (มพบที่ 272/2566)    เรื่องที่ 2        ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป        งานวิ่ง Ultra Trail Unseen Koh Chang 2023 ถูกยกเลิก แต่บริษัท ทีละก้าว จำกัด ไม่คืนเงินซึ่งจะจัดในวันที่ 21-22 ม.ค. 66 จัดที่โรงเรียนสลักเพชร เกาะช้างใต้ จ.ตราด โดยสมัครทางช่องทาง Google Form 2023 ผู้เสียหายได้ชำระค่าสมัครเรียบร้อย ต่อมาวันที่ 20 ม.ค.2566 เพจ Ultra-Tail Unseen Koh Chang ประกาศแจ้งยกเลิกงานดังกล่าว ทำให้เกิดความเสียหาย ผู้ร้องจึงประสงค์ให้บริษัทคืนเงินค่าสมัคร โดยได้แจ้งขอคืนเงินไปยังบริษัทฯแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการคืนเงินแต่อย่างใด        การดำเนินการ         1. บริษัท ทีละก้าว จำกัด จัดการแข่งขันวิ่งเทรลเกาะช้าง จังหวัดตราด ในวันที่ 21-22 มกราคม 2566 และได้มีการประกาศยกเลิกฉุกเฉิน ผ่านเพจ ""Ultra-Trail Unseen Koh Chang"" ที่เป็นของผู้จัดงาน ประกาศเพียง 1 วัน และแจ้งเพียงช่องทางเดียว         2. 3 มิถุนายน 2566 เนื่องจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทราบปัญหาการยกเลิกงานวิ่งดังกล่าวจึงได้ตรวจสอบเพจเฟซบุ๊ก Ultra-Trail Unseen Koh Chang ของ ผู้จัดงานวิ่ง พบว่าโพสต์ล่าสุด 18 เมษายน 2566 ได้โพสต์แจ้งการคืนเงินเฉพาะค่าสมัครวิ่งให้กับผู้เสียหายตามกำหนดรอบเรียงตามคิวที่ยื่นเรื่อง แต่จนถึงต้นเดือนมิถุนายน ยังมีผู้เสียหายจำนวนมาก ที่ยื่นเรื่องตามคิวแรกแจ้งว่า ยังไม่ได้รับเงินคืน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงประกาศให้ผู้เสียหายงานวิ่งเทรลเกาะช้าง ส่งหลักฐานเพื่อนำสู่การไกล่เกลี่ยกับผู้จัดให้เร่งจ่ายเงินคืน พร้อมส่งหลักฐานประกอบการร้องเรียน กรณี Ultra Trail Unseen Koh Chang 2023 (งาน UTKC 2023) (21-22 มกราคม 2566) ดังนี้            (1) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน            (2) หลักฐานการสมัครวิ่ง, หมายเลขประจำตัวนักวิ่ง             (3) หลักฐานการโอนเงิน            (4) หลักฐานการจองที่พัก หรือค่าเสียหายอื่นๆ         มีผู้ร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจำนวน 18 ราย         3. 13 กรกฎาคม 2566 เชิญบริษัทฯมาไกล่เกลี่ย ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ซึ่งดำเนินการไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 จากการไกล่เกลี่ย ผู้ร้องและบริษัทฯได้ทำบันทึกข้อตกลงระงับข้อพิพาท ดังนี้             (1)  บริษัทฯจะดำเนินการตรวจสอบรายชื่อนักวิ่งที่ตกหล่นและอัพเดตรายชื่อนักวิ่งให้สามารถตรวจสอบได้ พร้อมระบุลำดับการคืนเงินผ่านเพจ ""Ultra-Trail Unseen Koh Chang"" และบริษัทฯจะดำเนินการตอบข้อความผู้ร้องและเคลื่อนไหวข้อมูลทางเพจ ภายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2566             (2)  บริษัทฯจะดำเนินการประสานนักวิ่งเพื่อขอข้อมูลที่พัก รวบรวมเพื่อประสานสภาอุตสาหกรรม ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามที่ประสานไว้             (3)  บริษัทฯจะดำเนินการคืนเงินแก่นักวิ่งตามรอบที่ลงทะเบียนเดิม โดยจะเริ่มคืนรอบที่ 2 ภายใน 2 เดือนนับแต่วันที่มาไกล่เกลี่ย ผู้ร้องตกลงรับข้อเสนอที่บริษัทฯแจ้ง             (4)  13 กันยายน 2566 ผู้เสียหายรอบการคืนเงิน 16 กรกฎาคม – 16 สิงหาคม 2566 แจ้งมายังมูลนิธิฯว่ายังไม่ได้รับการคืนเงินจากบริษัทฯตามที่ได้ทำบันทึกไว้ จึงประสานไปยังบริษัทฯแจ้งว่าจะดำเนินการตรวจสอบและคืนเงินแก่ผู้ร้องภายในวันที่ 22 กันยายน 2566 เมื่อครบกำหนดผู้ร้องกลับไม่ได้รับเงินคืนตามสัญญา และตรวจสอบจากผู้ร้องพบว่ายังไม่มีผู้ร้องคนใดได้รับการคืนเงิน            (5)  12 ตุลาคม 2566 ติดต่อบริษัทฯสอบถามความคืบหน้าการคืนเงิน บริษัทฯขอให้ส่งรายชื่อผู้เสียหายอีกครั้ง มูลนิธิฯจึงส่งอีเมล์พร้อมแนบรายชื่อผู้เสียหายอีกครั้ง            (6)  18 ตุลาคม 2566 บริษัทฯแจ้งว่าได้รับอีเมล์และรายชื่อผู้เสียหายแล้ว บริษัทฯจะดำเนินการคืนเงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 แต่จนถึงปัจจุบันผู้เสียหายยังไม่ได้รับการการคืนเงินและไม่ได้รับการติดต่อกลับจากบริษัทฯ ทั้งนี้มูลนิธิฯไม่สามารถติดต่อบริษัทฯได้เช่นเดียวกัน ***  ซึ่งผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิทางกฎหมายเพื่อดำเนินคดีกับผู้ประกอบการได้ โดยสามารถแจ้งความประสงค์ในการดำเนินคดีพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง มายังมูลนิธิฯเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินคดีได้     เรื่องที่ 3        ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป        การปรับผังเวทีคอนเสิร์ต Mark Tuan ‘the other side’ Asia Tour 2023 in Thailand บัตรราคา 6,500 บาท ในรอบการแสดงที่กรุงเทพ และ บัตรราคา 4,500 บาท ในรอบการแสดงที่ขอนแก่น  ทำให้ผู้ซื้อบัตรคอนเสิร์ตที่ไม่พอใจการจัดเวทีรูปแบบใหม่         การดำเนินการ         ดำเนินการเจรจาแทนผู้ร้อง โดยผู้จัดงาน บริษัท ไบร์ท แพนเทอร์ จำกัด ได้ติดต่อมาที่มูลนิธิฯ บริษัทฯจะดำเนินการคืนเงินแก่ผู้ร้องที่ประสงค์จะขอเงินคืน หากผู้ร้องจะขอเงินคืนสามารถแจ้งชื่อ-สกุล เบอร์ติดต่อ/อีเมล์ และให้มูลนิธิฯดำเนินการประสานไปยังบริษัทฯ แต่ทั้งนี้ในส่วนของการเปลี่ยนผังบริษัทฯแจ้งว่าจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้     เรื่องที่ 4        ·     หมวดอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย            บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) สร้างคอนโด 4 ปีไม่เสร็จตามสัญญา ไม่คืนเงิน โดยมีโครงการดังนี้             1.โครงการ RISE Phahon - Inthamara : ขณะนี้สร้างเสร็จถึงชั้น 2 แต่บอกว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ 31 ธันวาคม 2564             2.โครงการ The Excel ลาซาล 17 : ขณะนี้ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ แต่บอกว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ 31 ธันวาคม 2564             3.โครงการ The Excel Hideaway รัชดาห้วยขวาง : ขณะนี้ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ แต่บอกว่าสร้างเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ : 31 ธันวาคม 2562            4.โครงการ The Excel Hideaway สุขุมวิท 50 : ผู้เสียหายแจ้งขอยกเลิกสัญญาตั้งแต่ก่อนก่อสร้างแล้วเสร็จ ( ซึ่งเดิมแจ้งว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์มีกำหนด กุมภาพันธ์ 2563)             5. โครงการ Impression เอกมัย สร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ : มิถุนายน 2563  โดยมูลนิธิฯดำเนินการช่วยยื่นฟ้องคดีที่ศาลแพ่ง จำนวน 22 คดี , และยื่นฟ้อง ที่ ศาลแขวงพระนครเหนือ จำนวน 10 คดี         การดำเนินการ         ดำเนินการช่วยเหลือผู้ร้องโดยการฟ้องคดี                               1. ฟ้องที่ศาลแพ่ง จำนวน 22 คดี                                              2.ยื่นฟ้อง ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ จำนวน 10 คดี     เรื่องที่ 5     ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป        Asia Society Fitness สาขารามคำแหง119 ปิดให้บริการ สมาชิกที่สมัครในสาขาดังกล่าวไม่สะดวกไม่สามารถไปใช้บริการในสาขาอื่น บริษัทฯไม่กำหนดแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหา  ผู้บริโภคต้องการยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน บริษัทฯแจ้งว่าจะดำเนินการคืนเงินภายใน30 วัน เมื่อครบกำหนดบริษัทฯไม่คืนเงินและไม่สามารถติดต่อบริษัทฯได้         การดำเนินการ        ทำหนังสือขอให้คืนเงิน (มพบที่ 147/2566) แต่ไม่ได้รับการตอบกลับจากบริษัทฯ     เรื่องที่ 6    ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป          ถูกว่าจ้างให้ซื้อมือถือ  ปัจจุบันมือถือกับค่ายผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มีการทำโปรโมชั่นร่วมกัน ด้วยการจำหน่ายมือถือในราคาพิเศษ แต่แลกด้วยการทำสัญญาเปิดใช้บริการอย่างน้อย 1 ปี (ซิมรายเดือน) จุดนี้จะมีช่องให้มีคนหาผลประโยชน์เข้าตนเองได้ คือ การจ้างบุคคลทั่วไป ใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน เพียงแค่อายุ 18 ปีขึ้นไปและมีบัตรประชาชน ซื้อมือถือและเปิดใช้บริการแทนตน โดยแลกกับการจ่ายเป็นค่าจ้างให้ 300-500 บาท มองเผินๆ ก็น่าจะดีเพราะไม่ได้ทำอะไรมาก แค่ซื้อเครื่องให้และรับเงินค่าจ้างสบายๆ แต่อาจลืมมองไปว่าคนที่ลงลายมือชื่อทำสัญญาใช้บริการนั้นคือเจ้าของบัตรประชาชน” ดังนั้นในกรณีที่เกิดการค้างชำระค่าบริการ หรือโทรศัพท์ถูกนำไปใช้ก่ออาชญากรรม คนที่ต้องรับผิดชอบก็คือคนที่ทำสัญญา     การดำเนินการ         ตามพระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ระบุว่า เจ้าของบัญชีม้า หรือเบอร์ม้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         รวมถึงผู้ที่เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 - 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ทั้งนี้หากบุคคลที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้เปิดบัญชี ให้รีบดำเนินการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที และใช้เอกสารที่แจ้งความไปติดต่อขอยกเลิกสัญญากับผู้ให้บริการ     เรื่องที่ 7    ·     หมวดการเงินการธนาคาร/ประกัน         ทำประกันแบบสะสมทรัพย์ 20 ปีแต่ได้รับเงินปันผลไม่ครบตามสัญญา ผู้ร้องสมัครทำประกันแบบสะสมทรัพย์ 20 ปี ตรีคูณ  (มีเงินปันผล)  จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000,000 บาท เริ่มทำสัญญาวันที่ 8 สิงหาคม 2545 กรมธรรม์ครบสัญญาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ผู้ร้องแจ้งว่าก่อนทำสัญญาพนักงานขายแจ้งแก่ผู้ร้องว่าหากทำสัญญาครบ 20 ปี จะได้รับเงินปันผลจำนวน 500,000 บาท  ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาบริษัทฯแจ้งว่าจะจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ร้องจำนวน 70,000 บาท ผู้ร้องจึงทำเรื่องร้องเรียนโต้แย้งการจ่ายเงินปันผล บริษัทฯพิจารณาเสนอการจ่ายเงินเพิ่มเติมจากเดิมแก่ผู้ร้องเป็นจำนวน 180,000 บาท แต่ผู้ร้องไม่รับข้อเสนอเนื่องจากไม่เป็นตามสัญญาที่ระบุว่าผู้ร้องจะต้องได้รับเงินปันผลจำนวน 500,000 บาท  หลังจากรับเรื่องร้องเรียนมูลนิธิฯทำหนังสือเชิญบริษัทฯมาเจรจาแต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับใดๆจากทางบริษัทฯ จึงดำเนินการฟ้องคดีเพื่อช่วยเหลือผู้ร้อง         การดำเนินการ         1.ทำหนังสือเชิญบริษัทฯมาไกล่เกลี่ย ( มพบ. 038/2566)บริษัทฯไม่มาไกล่เกลี่ย         2.ดำเนินการช่วยเหลือผู้ร้องโดยการฟ้องคดี          เรื่องที่ 8    ·     สินค้าและบริการทั่วไป         ร้องเรียนกรณีถูกบริษัท  มิเนอรัล บิวตี้ จำกัด  เสนอขายเครื่องสำอางค์ของ Aqua Mineral แพงเกินจริง         การดำเนินการ         เจรจาตามความประสงค์ที่ร้องเรียน     เรื่องที่ 9    ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป          ธุรกิจนำเที่ยว บริษัท อ้วนผอม อะราวด์ เดอะ เวิลด์ จำกัด หรือทัวร์ “อ้วน ผอม จอมเที่ยว” ยกเลิกทัวร์ ทำให้มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก และเกิดความเสียหายกว่า 50 ล้านบาท         การดำเนินการ         ประสานกรมการท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยวแจ้งกรณีถูกบริษัท อ้วนผอม อะราวด์ เดอะ เวิลด์ จำกัด ยกเลิกทัวร์ให้ผู้เสียหายเตรียมเอกสารหลักฐาน 5 รายการ ดังนี้         1. รายการนำเที่ยวที่ซื้อ         2. ใบเสร็จรับเงิน         3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ชำระเงิน         4. หลักฐานการแจ้งยกเลิกการเดินทาง (ถ้ามี)         5. เอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อความการแชตพูดคุยต่างๆ         ส่งทางอีเมล tgtcenter@tourism.go.th หรือ เดินทางมาร้องเรียนได้ตนเอง ที่กรมการท่องเที่ยว (บริเวณโถงกลาง) ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ         หลังจากส่งเอกสารครบถ้วนนิติกรจะติดต่อกลับไปยังผู้ร้องทั้งนี้กรมจะดำเนินการเชิญบริษัทฯมาเจรจาหากบริษัทฯไม่มาเจรจาหรือเจรจาไม่ได้ กรมจะนำเงินกองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยวมาชดเชยแก่ผู้เสียหาย และจะดำเนินการส่งเรื่องให้สคบ.ดำเนินการฟ้องคดี         สามารถติดตามการแถลงข่าว สถานการณ์ผู้บริโภค ปี 2566 ได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค | มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแถลงผลงานปี2566 (ffcthailand.org)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ยกเลิกทัวร์และได้เงินมัดจำคืน

        การจองทัวร์ไปท่องเที่ยวเมื่อถึงกำหนดแล้วได้ท่องเที่ยวตามที่ใจหวังนับเป็นโชคดี แต่หากมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นแล้ว การจ่ายเงินซื้อทัวร์ท่องเที่ยวก็ทำให้เงินสูญไปได้เฉยเลยเช่นเดียวกัน   การศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อปกป้องรักษาสิทธิของตนเองก่อนทำการซื้อทัวร์จึงมีความสำคัญอย่างมาก เช่น กรณีของคุณส้มริน         เรื่องราวของคุณส้มรินเริ่มเมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา คุณส้มรินได้จองทัวร์ทัศนศึกษาสถานที่สำคัญในพระคัมภีร์ไบเบิล ณ ประเทศอิสราเอล กับสถาบันที่ส่งเสริมศาสนาคริสต์แห่งหนึ่ง  โดยมีกำหนดเดินทางวันที่ 4-10 ม.ค. 2567  จำนวน 3 คน ราคามัดจำคนละ 15,000 บาท รวมทั้งสิ้น  45,000 บาท อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอลตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคมและรัฐบาลอิสราเอลแจ้งว่าสงครามจะยืดเยื้อไปอีกอย่างน้อย 2 เดือน คุณส้มรินและครอบครัวจึงเป็นกังวลต่อความปลอดภัยในการเดินทางจึงได้ติดต่อขอยกเลิกทัวร์และขอคืนค่ามัดจำ ซึ่งผู้จัดทัวร์ได้แจ้งคุณส้มรินว่าได้นำเงินชำระค่ามัดจำกับสายการบินแอล อัลอิสราแอร์ไลน์ (LY) ไปแล้ว ซึ่งสายการบินได้แจ้งว่า กรุ๊ปทัวร์ที่เดินทางตั้งแต่เดือน ต.ค. - พ.ย. สามารถเลื่อนทัวร์ได้ แต่ยกเลิกไม่ได้ ส่วนกรุ๊ปทัวร์ที่เดินทางในปี 2567 ไม่สามารถเลื่อนหรือยกเลิกการเดินทางได้         คุณส้มรินเห็นว่าการจำเป็นต้องยกเลิกทัวร์เป็นเหตุมาจากภัยสงครามไม่ได้เกิดปัญหาจากตัวเธอ จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ให้คำแนะนำกับคุณส้มรินว่าหากผู้ซื้อทัวร์แจ้งขอยกเลิกให้ผู้จัดทัวร์ทราบล่วงหน้า 30 วัน (หรือเกิน 30 วันไปแล้ว) และยังไม่ได้รับเงินคืนสามารถแจ้งเพิ่มเติมได้ที่กรมการท่องเที่ยว เนื่องจากประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง  หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 ได้กำหนดไว้ในข้อ 4 (1) ว่า ‘ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวทราบไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันที่นำเที่ยวให้คืนในอัตราร้อยละหนึ่งร้อยของเงินค่าบริการ’ และในข้อ 5 ยังระบุว่า ‘ในกรณีมีเหตุให้ต้องยกเลิกการนำเที่ยวตามที่ได้โฆษณาไว้ โดยมิใช่ความผิดของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจ่ายเงินค่าบริการคืนแก่นักท่องเที่ยวในอัตราร้อยละหนึ่งร้อยของเงินค่าบริการ’         อย่างไรก็ตามเมื่อมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องของคุณส้มรินแล้วจึงติดต่อไปยังสถาบันผู้จัดทัวร์ดังกล่าว ซึ่งทางสถาบันฯ ได้แจ้งว่า “ปัจจุบันผู้จัดทัวร์ได้ติดต่อกลับคุณส้มรินแล้ว และแจ้งว่าถ้าคุณส้มรินต้องการเดินทางต่อสามารถเลื่อนออกไปก่อนได้จนกว่าจะพร้อม แต่ถ้าไม่ประสงค์ที่จะเดินทางต่อผู้จัดทัวร์จะคืนเงินมัดจำให้คุณส้มรินทั้งหมด”         ดังนั้นประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง  หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 เป็นกฎหมายที่สำคัญอย่างยิ่งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำให้ประชาชนศึกษาอย่างละเอียดก่อนการซื้อทัวร์ท่องเที่ยวทุกครั้ง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 สายการบินทำกระเป๋าเดินทางหาย

        ปัญหาเกี่ยวกับกระเป๋าสัมภาระชำรุดเสียหายระหว่างเดินทางข้ามประเทศ ผ่านสายการบินต่างๆ นั้นมีผู้เสียหายได้ร้องเรียนมามากมายกับฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อย่างเช่นกรณีของคุณน้ำตาล         เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา คุณน้ำตาล ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ ว่า เธอได้เดินทางกลับจากออสเตรเลียโดยสายการบินแห่งหนึ่ง ซึ่งหลังจากเครื่องแล่นลงสู่ภาคพื้นดิน เธอก็มารอรับกระเป๋าสัมภาระของเธอ แต่ไม่พบกระเป๋าสัมภาระของตัวเองไม่ว่าจะรอนานแค่ไหน จึงได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ให้ช่วยตรวจสอบ หลังการตรวจสอบปรากฏว่าไม่มีกระเป๋าเดินทางของเธอในระบบ เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้เธอกลับบ้านไปก่อน หากพบว่ากระเป๋าของเธออยู่ตรงไหนแล้วทางเจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับ คุณน้ำตาลจึงทำตามคำแนะนำที่ทางเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีการแจ้งเพิ่มเติมว่า จะดำเนินการติดตามให้ภายใน 21 วัน         ผ่านมาแล้ว 21 วัน คุณน้ำตาลยังไม่ได้รับการติดต่อจากสายการบิน เธอร้อนใจเพราะว่าของที่อยู่ในกระเป๋าก็มีมูลค่าไม่ใช่น้อย กระเป๋าเดินทางก็ราคาไม่เบา 5,000 บาท เสื้อผ้า และของใช้ ประมาณ 20,000 บาท คอมพิวเตอร์+อุปกรณ์ 30,000 บาท และแทบเล็ตอีก 10,000 บาท จึงได้รีบติดต่อสายการบินอีกครั้ง ทางสายการบินได้ส่งอีเมล์แจ้งว่าไม่พบสัมภาระผู้ร้อง อ้าว ! ทำไมทำกันแบบนี้ ทางสายการบินได้ให้คุณน้ำตาลทำเรื่องเคลมกระเป๋าที่สูญหาย เธอเองกังวลว่า สายการบินจะชดเชยความเสียหายตามจำนวนที่เสียหายได้หรือไม่ จึงร้องมายังมูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิฯ แนะนำให้ติดต่อสอบถามข้อเท็จจริงกับสายการบินเรื่องการเคลมว่าต้องทำอย่างไรบ้าง และให้ผู้ร้องดำเนินการทำเรื่องเคลมกับสายการบินตามระเบียบดังกล่าวก่อน หากพบปัญหาอย่างไรให้แจ้งมายังมูลนิธิฯ อีกครั้ง โดยทางเจ้าหน้าที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ หากพบว่า ทางสายการบินชดเชยให้ไม่เหมาะสม ทั้งนี้ หากกระเป๋าเดินทางสูญหายหรือชำรุดเสียหาย จากการขนส่งโดยสายการบิน มีวิธีการ  ดำเนินการตามนี้         1.  ติดต่อเคาน์เตอร์สายการบินที่ใช้บริการเพื่อขอเอกสารบันทึกความเสียหาย เพื่อเป็นหลักฐาน        2.  ถ่ายภาพความเสียหายของกระเป๋าเดินทาง (กรณีกระเป๋าชำรุดเสียหาย)         3.  รีบติดต่อขอเคลมค่าเสียหายกับสายการบินทันที         4.  กรณีกระเป๋าสูญหาย ให้รีบแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สนามบินเพื่อลงบันทึกประจำวัน เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สูญหายในกระเป๋าเดินทาง สิ่งที่ต้องเตรียมเพื่อป้องกันเบื้องต้น        ·  ชื่อ – นามสกุล ที่อยู่ และเบอร์ติดต่อ ไว้ที่แท็ก (tag) และด้านในของกระเป๋าเดินทางพร้อมกับ ถ่ายรูปกระเป๋าเดินทางเก็บไว้ก่อนทำการเช็กอิน        ·  หลังชั่งน้ำหนัก เช็กอินกระเป๋าเดินทาง แนะนำให้ตรวจสอบว่าได้รับแท็กบาร์โค้ดเท่ากับจำนวนกระเป๋าเดินทางหรือไม่ (กระเป๋า 1 ใบ ต่อ 1 แท็ก)        ·  ทำสัญลักษณ์ไว้บนกระเป๋าเดินทาง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหยิบผิด กรณีกระเป๋ายี่ห้อเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 267 ‘ทัวร์เกาหลี’

        ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคโดย ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนปัญหาของประชาชนจากการซื้อบริการทัวร์ท่องเที่ยวยังประเทศเกาหลี ทำให้สูญเสียเงิน หรือไม่ได้ท่องเที่ยวตามที่หวังไว้ หลายลักษณะ         ข้อมูลจากองค์การส่งเสริมท่องเที่ยวเกาหลี (KTO) ในเดือน มิถุนายน ปี 2023 เผยว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวไทยเดินทางท่องเที่ยวเกาหลีมากถึง 570,000 คน/ปี สูงเป็นลำดับที่ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นอันดับ 5 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และไต้หวันแม้ประชาชนส่วนใหญ่จะนิยมเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวมากขึ้นต่อเนื่อง แต่การท่องเที่ยวกับครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อนขนาดใหญ่ การเดินทางโดยการซื้อทัวร์ยังมีความสำคัญ และยังได้รับความนิยม เรื่องเด่นฉบับนี้รวมประเด็นสำคัญที่ประชาชนควรได้รู้ก่อนตัดสินใจซื้อบริการทัวร์ท่องเที่ยวหลายลักษณะปัญหาที่พบจากเรื่องร้องเรียนกรณีซื้อทัวร์เกาหลีที่เข้ามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค        -          จองทัวร์ไปท่องเที่ยวประเทศเกาหลีระหว่างวันที่ 13-17 มีนาคม 2563 แต่ถูกเลื่อนเพราะจากสถานการณ์โควิด จ่ายเงินครบจำนวน 139 ,491 บาท แต่ไม่ได้ท่องเที่ยวต่อมาได้เจรจาไกล่เกลี่ย บริษัทได้เสนอเป็นเครดิตท่องเที่ยวจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2567         -          ซื้อทัวร์แบบกลุ่มไปเที่ยวเกาหลีกับเพื่อนร่วมงาน แต่ลงทะเบียนระบบ K-ETA (ระบบอนุมัติการเดินทางออนไลน์สำหรับชาวต่างชาติท่ีต้องการเข้าประเทศเกาหลีใต้โดยไม่ต้องขอวีซ่า) ไม่ผ่าน บริษัททัวร์ไม่ได้แจ้งเงื่อนไขในสัญญาว่าถ้าลงทะเบียนไม่ผ่าน ไม่สามารถเดินทางได้        -          ซื้อทัวร์ไปเที่ยวกับครอบครัวและญาติๆ รวมจำนวน 9 คน แต่ลงทะเบียนระบบ K-ETA ผ่านเพียง 4 รายเป็นเด็กเล็ก 3 รายและมีผู้ใหญ่เพียงคนเดียวและไม่ได้เป็นผู้ปกครองของเด็ก จึงจำต้องยกเลิกทัวร์ ถูกบริษัททัวร์หักเงินไปจำนวนมาก        -          จองทัวร์เพื่อไปเที่ยวลานสกีที่เกาหลี แต่เมื่อไปเที่ยวกลับไม่ได้ไปที่ลานสกีเพราะปิดบริการ บริษัทจึงพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวชดเชยในจุดอื่นๆ แต่นักท่องเที่ยวไม่พอใจเพราะไม่ได้เล่นสกีตามที่ทัวร์ได้โฆษณาไว้ จึงร้องขอเงินคืนในส่วนที่ทัวร์ไม่ได้จัดโปรแกรมให้เล่นสกี  เจาะเรื่องจริง ศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อทัวร์         กรณีของคุณพฤกษ สามกษัตริย์ ได้ซื้อทัวร์ไปเที่ยวแบบกลุ่มกับครอบครัวและญาติพี่น้อง รวมจำนวน 9 ราย ในราคาโปรโมชั่น 1 แถม 1 จากราคา 34,999 เฉลี่ยลดลงมาที่รายละ 17,499.5 บาท เป็นโปรแกรมท่องเที่ยวแบบ 5 วัน 3 คืน  คุณพฤกษซื้อทัวร์ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และมีกำหนดเดินทางท่องเที่ยวในช่วงกลางเดือนมีนาคม         ปัญหาของคุณพฤกษเริ่มเกิดขึ้นในช่วงของการลงทะเบียนระบบ K-ETA (ระบบอนุมัติการเดินทางออนไลน์สำหรับชาวต่างชาติท่ีต้องการเข้าประเทศเกาหลีใต้โดยไม่ต้องขอวีซ่า) ซึ่งคุณพฤกษได้เลือกให้บริษัททัวร์เป็นผู้ดำเนินการให้ แต่แล้วจากการลงทะเบียนมีผู้ลงทะเบียนผ่านเพียง 4 ราย คือ คุณพฤกษ และลูกๆ ของญาติ เหตุนี้จึงทำให้คุณพฤกษ์ไม่อาจเดินทางไปท่องเที่ยวได้ จำต้องยกเลิกโปรแกรมทัวร์         อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนกลับไปแรกเมื่อบริษัทเสนอขายโปรแกรมทัวร์ให้แบบโปรโมชั่นคุณพฤกษ์ได้สอบถามถึงการตรวจ K-ETA  ตั้งแต่แรกเจ้าหน้าที่ของบริษัททัวร์กลับให้ข้อมูลว่า “ใช่ค่ะ ต้องทำค่ะ แต่จะรบกวนจองทัวร์เข้ามาก่อนได้ไหม  เพราะว่าเดี๋ยวโปรฯ มันจะหมด” และขอให้คุณพฤกษรีบตัดสินใจ โอนเงินให้บริษัทแบบเต็มจำนวน คือ 151,796 บาท และย้ำถึงเรื่องการลงทะเบียนระบบ K-ETA  ว่า “ไม่น่ามีปัญหาค่ะ เดี๋ยวจัดการให้เลย” “ไม่น่ามีปัญหานะคะ เพราะว่าไม่เคยมีใครมีประวัติอะไรเลย ดังนั้นทำคิดว่าน่าจะผ่าน”         เมื่อผลการลงทะเบียน K-ETA  ไม่ผ่าน คุณพฤกษจึงขอคืนเงินค่าทัวร์ที่ได้จ่ายไปเต็มจำนวน บริษัททัวร์จึงแจ้งว่าจะหักเงินไว้รวมจำนวน 33,732 บาท ในจำนวนนี้เป็นเงินที่บริษัทจะหักจากผู้ที่ลงทะเบียนK-ETA  ผ่านร้อยละ 50 ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านจะถูกหักรายละ 500 บาท          แน่นอนว่า คุณพฤกษไม่พอใจที่ถูกหักเงินไว้จำนวนมาก ทั้งที่บริษัทยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ แต่เมื่อศึกษาข้อมูลจากเอกสารของโปรแกรมท่องเที่ยวที่บริษัทได้ให้ไว้ คุณพฤกษพบว่า หลักเกณฑ์ ข้อกำหนดเหล่านี้ถูกระบุไว้ทั้งหมดในเงื่อนไขท้ายโปรแกรม เพียงขณะที่ซื้อทัวร์การสื่อสารของพนักงานบริษัทได้เร่งเร้าให้รีบซื้อและรีบจ่ายเงินเต็มจำนวน นี่คือความผิดพลาดที่ผู้ซื้อทัวร์อาจไม่ทันเฉลียวใจที่คุณพฤกษ์อยากบอกต่อเพราะประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้สูญเงินไปได้เปล่าๆ จำนวนมากและยังไม่ได้เที่ยว!           "เขาเขียนชัดเจนครับ  คือเขาระบุเลยนะว่า กรณีที่เราจ่ายเงินแล้ว และลงทะเบียนไม่ผ่าน เขาจะคืนเงินให้ 50% แต่กรณีผ่านแล้วมีการเปลี่ยนแปลง หรือไม่ไปเขาจะหักไว้ครึ่งนึงแล้วกำหนดเวลาคุณจะต้องทำลงทะเบียน K-ETA เข้าประเทศเกาหลีใต้ให้ผ่าน คือในเอกสารเขามี แต่การขายทัวร์ของเจ้าหน้าที่ของเขาไม่สื่อสารเราแบบนี้"         "ผมอยากให้บริษัททัวร์สื่อสารกับนักท่องเที่ยว กับผู้ซื้อทัวร์ให้ชัดเจน  สื่อสารความเสี่ยงให้ชัดเจนเลยว่า เขาจะไม่ได้รับเงินคืนเรื่องอะไรบ้าง ให้เน้นเรื่องนี้ตัวแดงบันทึกไว้ทุกที่เลย"  เมื่อเกิดปัญหาจากการซื้อทัวร์ท่องเที่ยว ประชาชนควรทำอย่างไร         เมื่อมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  มูลนิธิฯ จะแนะนำให้ประชาชนผู้เดือดร้อนติดต่อไปยังสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศน์กลาง กรมการท่องเที่ยว พร้อมเอกสารหลักฐานต่างๆ ในการจองทัวร์ดังกล่าว  โดยกรมการท่องเที่ยวจะดำเนินการดังนี้        o  การสอบข้อเท็จจริง โดยจะนัดหมายบริษัท และประชาชนผู้ซื้อบริการท่องเที่ยวเข้ามาสอบข้อเท็จจริง นายทะเบียนจะพิจารณาข้อสาระสำคัญฝ่ายใดเป็นผู้ทำให้เกิดความเสียหายให้เกิดขึ้น เช่น บริษัทนำเที่ยวปฎิบัติตามสัญญาในการนำเที่ยวหรือไม่ หรือมาจากเหตุส่วนตัวของผู้ซื้อทัวร์เอง        o  เมื่อสอบข้อเท็จจริงแล้วจะเจรจาไกล่เกลี่ย หากบริษัทเป็นผู้ทำให้ความเสียหายเกิดขึ้น เช่น คีย์ข้อมูลของนักท่องเที่ยวผิดพลาด ทำให้การลงทะเบียน K-ETA ไม่ผ่าน นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางไปได้ บริษัทย่อมต้องคืนเงินให้แก่นักท่องเที่ยว        o  กรณีบริษัททัวร์ไม่จ่ายเงินคืน หรือหักเงินนักท่องเที่ยวไว้ส่วนใด บริษัทมีหน้าที่ที่จะต้องแสดงหลักฐานว่ามีค่าใช้จ่ายส่วนใดเกิดขึ้นอันเป็นความเสียหายต่อบริษัทอย่างชัดเจน หากไม่สามารถระบุได้ บริษัทต้องคืนเงินให้กับนักท่องเที่ยว        o  หากฝ่ายบริษัทเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายกับนักท่องเที่ยว แต่ไม่ยอมชดใช้ความเสียหายให้กับนักท่องเที่ยว นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้หักเงินหลักประกันของบริษัททัวร์นำมาชดเชยความเสียหายให้กับนักท่องเที่ยวไปพรางก่อน หากเงินหลักประกันยังไม่ครอบคลุมความเสียหายทั้งหมด กรมการท่องเที่ยวจะส่งเรื่องนี้ไปที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียน หาทางออกเพื่อชดเชยความเสียหายของนักท่องเที่ยวในส่วนที่เหลือต่อไป        o  ข้อแนะนำจากกรมการท่องเที่ยวก่อนที่ประชาชนตัดสินใจซื้อโปรแกรมทัวร์คือให้ศึกษาเงื่อนไขท้ายโปรแกรมอย่างละเอียด เพราะส่งผลต่อส่วนได้ ส่วนเสียกับนักท่องเที่ยวอย่างมาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 “ผมคิดทุกคนก็จะมีความเสี่ยงที่จะเจอเรื่องเดียวกันนี้ เพราะการตรวจข้อมูล K-ETA ใช้ AI ผมจึงอยากแบ่งปันเรื่องนี้”

        ประเทศเกาหลีเป็นอีกประเทศหนึ่งที่คนไทยนิยมไปเที่ยวมาก  นิยมกันไปทั้งแบบเดี่ยวและแบบกรุ๊ปทัวร์ โดยการท่องเที่ยวกับครอบครัว กลุ่มเพื่อน การซื้อบริการทัวร์ท่องเที่ยวย่อมสร้างความสะดวกให้มากกว่า จึงได้รับความนิยมค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามทัวร์เกาหลีในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากการซื้อทัวร์ท่องเที่ยวไปประเทศเกาหลีใต้หลายกรณีด้วยกัน หลายรายประสบปัญหาจากการซื้อทัวร์เกาหลี ทำให้สูญเงินหรือไม่ได้ท่องเที่ยวตามที่หวังไว้หลายลักษณะ  ทุกคนมีสิทธิ์ฉบับนี้ ฉลาดซื้อได้รับความกรุณาจาก คุณพฤกษ สามกษัตริย์ มาแบ่งปันเรื่องราวปัญหาที่ได้พบเจอจากการซื้อทัวร์เกาหลีใต้  มาติดตามกันเลยค่ะ เหตุการณ์เริ่มเกิดขึ้นอย่างไร         เริ่มที่ผมกับครอบครัวและเพื่อนๆ ตั้งใจจะไปเที่ยวเกาหลี ครอบครัวผมมีลูกและภรรยา ครอบครัวของเพื่อนก็เหมือนกัน รวม 3 ครอบครัว เราจะไปกัน 9 คน  ตัวผมไปมาหลายรอบแล้ว แต่เพราะจากสถานการณ์โควิดเราทราบว่ามีความยุ่งยาก ญาติพี่น้องเลยบอกว่า งั้นเราไปซื้อทัวร์แล้วกัน การไปเองมันเดินทางลำบาก ถ้าไปกับทัวร์ เราได้ขึ้นรถบัส มีเซอร์วิส บริการดี  แล้วราคาก็ถือว่ายุติธรรม  โปรแกรมที่ผมจะไปคือเดินทางช่วงกลางเดือนมีนาคม  5 วัน 3 คืน  บริษัททัวร์ที่เกิดปัญหาขึ้น ผมจองทัวร์กับเขาเพราะว่า มีคนที่รู้จักเคยไปมาแล้ว และแนะนำมาพอติดต่อไป บริษัทบอกว่า ตอนนี้เรามีโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 จากราคาต่อคนที่ 30,999 บาท เฉลี่ยลดลงมาที่ 17,499  จัดโปร 4 ชุด บวกกับอีก 1 คน  ราคาคำนวณทั้งหมดคือ 151,796 บาท         ทีนี้ผมทราบว่า ก่อนเดินทางต้องมีลงทะเบียน K-ETA เข้าประเทศเกาหลีใต้ เจ้าหน้าที่ของบริษัทเขาก็บอกว่า  “ใช่ค่ะ ต้องทำคะ แต่จะรบกวนจองทัวร์เข้ามาก่อนได้ไหม  เพราะว่าเดี๋ยวโปรมันจะหมด ”เราเลยบอกว่า “ได้ๆ เดี๋ยวผมจะเริ่มโอนตังค์มาให้”   เขาเลยบอกว่า ขอเก็บเต็มจำนวนเลย เพราะว่าเวลาเหลืออีกไม่กี่วันแล้ว ผมเลยโอนเต็มจำนวนไปเลย 151,796 บาท แล้วปัญหาเริ่มเกิดขึ้นเมื่อไหร่        เริ่มเกิดในขั้นตอนลงทะเบียน K-ETA บริษัททัวร์บอกว่า เดี๋ยวเขาทำให้ มันจะได้ผ่านง่ายเป็นมาตรฐานเดียวกันเหมือนกันหมด แล้วเขาก็คิดเงินค่าดำเนินการคนละประมาณ  350 บาท ผมก็ส่งรายละเอียด ทั้ง 9 คนไปให้ คือครอบครัวผมและครอบครัวเพื่อนๆ ไป 3 ครอบครัว ปรากฏลงทะเบียน K-ETA ส่งไป 9 คน  คนที่ผ่าน  มี 4 คนครับ คือมีผมคนเดียวและเด็กอีก 3  คน  กลายเป็นพ่อแม่ของที่เหลือไม่ผ่านกันสักคน ผมเลยบอกว่า “อ้าว แล้วถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ทำยังไงถ้าไม่ผ่าน”  เขาก็แนะนำว่า อย่าทำรอบ 2 – 3 เลย   เพราะว่าถ้าทำ จะไม่ผ่านอยู่ดี แล้วทำได้แค่ 3 รอบ การลงทะเบียน K-ETA เข้าประเทศเกาหลีใต้ ครั้งนี้คือบริษัทลงให้           ผมส่งข้อมูลให้บริษัทลงให้  คือผมวางใจเพราะผมไปเที่ยวเกาหลีเองแล้วหลายครั้ง คือเราไม่ค่อยเป็นคนที่น่าสงสัย แล้วน้องๆ คนอื่นๆ ที่ไปด้วยกันคนอื่นๆ เป็นเจ้าของกิจการ ได้รายสูงทุกอย่างโปรไฟล์ดีมากๆ  เขาไปต่างประเทศมาเยอะมาก เพียงแต่ว่ายังไม่เคยเข้าประเทศเกาหลีใต้  ส่วนเด็กๆ เขาไม่มีประวัติอะไร  ผมเลยให้ข้อมูลไป  ทางบริษัททัวร์ก็บอกว่า “ไม่น่ามีปัญหาค่ะ เดี๋ยวจัดการให้เลย” แต่ผู้ใหญ่ไม่ผ่านสักคน  มีผมคนเดียว         แต่ถามว่าลงทะเบียน K-ETA  ไม่ผ่านเพราะอะไร  ผมกำลังสันนิษฐานว่า บางทีรูปไม่ชัดเพราะว่าเขาใช้ AI ตรวจ ไม่ได้ใช้คนตรวจ ผมรู้สึกได้เลยว่าบางรูปมันไม่ตรงปก เพราะเนื่องจากว่า เขาจะให้เราถ่ายรูปหน้าตรงพื้นหลังสีขาว  ใส่เสื้อสีขาวแล้วส่งไป รูปพวกนี้ เราดูด้วยตาเรายังรู้สึกเลยว่าไม่เป็นธรรมชาติ  แต่ทางบริษัททัวร์ที่ทำให้ เขาก็ไม่ช่วยเราติงว่า “พี่คะ รูปมันไม่เคลียร์นะคะ  พี่คะ ช่วยถ่ายรูปใหม่ได้ไหม” จะไม่มีข้อแนะนำใดๆ เลย เขาได้อะไรจากเรา  เขาก็เอาไปทำต่อเลย พอเกิดปัญหา แล้วเริ่มแก้ไขอย่างไร          ผมก็ถามทางเจ้าหน้าที่ว่า สถานการณ์เป็นอย่างนี้แล้วเราต้องทำยังไง  เราผ่านกันแค่ 4 คน  เขาบอกว่า ก็จะต้องไป 4 คน เราบอกว่า “ไม่ได้สิ  ผมจะเอาลูกคนอื่นไปยังไง  พ่อแม่เขาต้องไปด้วย” ทางทัวร์เลยบอกว่า  อย่างนั้นเท่ากับว่าผมยกเลิกซึ่งเงื่อนไขการยกเลิกของเขา คนที่ผ่านคือผมกับเด็กอีก 3  คน จะได้รับเงินคืนแค่ครึ่งเดียว จะหัก 50%  ส่วนคนที่ไม่ผ่านถูกหักรายละ 500 บาท  ผมเลยบอกว่าในความเป็นจริง ทำไมคุณถึงไม่บอกว่าให้ลงทะเบียน K-ETA ก่อนแล้วค่อยจ่ายเงินจองทัวร์ ถูกไหม เพราะว่าถ้าคุณมีเงื่อนไขคืนครึ่งเดียวสำหรับคนที่ผ่าน แล้วถ้าเราจะไปเป็นบางคนมันเป็นไปไม่ได้แน่นอน เขาไม่แจ้ง เขาบอกว่ามันไม่ได้จริงๆ ค่ะ มันเป็นกฎ         ผมจึงแจ้งยกเลิกการเดินทาง ยกเลิกทัวร์และเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มาร้องเรียนที่มูลนิธิเพราะรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร         ผมคิดว่าเขาควรจะสื่อสารความเสี่ยงให้ผู้ซื้อทัวร์ให้ชัดเจนกว่านี้ ต้องให้ชัดเจนมากๆ ผมติดที่ว่า เขาไม่พูดความเสี่ยงให้เราฟัง และไม่ช่วยเหลือเราในการแบบว่า “เห้ย เดี๋ยวพี่จะเสียเงินฟรีนะ ถ้าทำตรงนี้ไม่ผ่าน”   เขาไม่ช่วยเรา  แล้วอีกกรณีที่สำคัญ พอเกิดเรื่องขึ้นแล้ว ผมคิดว่าช่วยๆ กันได้ เพราะว่าเขาก็ยังไม่ได้ซื้อตั๋วอะไรให้เราเลย เพราะล่วงหน้าเป็นเดือน เราเลยคิดว่าเขาจะคืนเงินให้เราเยอะกว่านี้ ผมจะรู้สึกดีกว่านี้         ถามว่าในเอกสารโปรแกรมการท่องเที่ยวของบริษัทเขาระบุไว้ไหม เขาเขียนชัดเจนครับ  คือเขาระบุเลยนะว่า กรณีที่เราจ่ายเงินแล้ว และลงทะเบียนไม่ผ่าน เขาจะคืนเงินให้ 50% แต่กรณีผ่านแล้วมีการเปลี่ยนแปลง หรือไม่ไปเขาจะหักไว้ครึ่งนึงแล้วกำหนดเวลาคุณจะต้องทำลงทะเบียน K-ETA เข้าประเทศเกาหลีใต้ให้ผ่าน คือในเอกสารเขามี แต่การขายทัวร์ของเจ้าหน้าที่ของไม่สื่อสารเราแบบนี้ มันจะมีแชท ที่ผมส่งรูปเข้าไป ที่ผมสอบถาม แล้วเราจะต้องทำยังไง เขาจะบอกว่าโอนจองก่อน รีบโอน เดี๋ยวหมดโปร คือเขาโทรมา เขาไม่ได้พิมพ์  เขาพิมพ์มาแค่ว่า ช่วยโอนเงินจองก่อนค่ะ เพียงแต่ผมคิดว่า เขาควรจะบอกว่า “คุณลูกค้า ช่วยทำ K-ETAให้ผ่านก่อนนะคะ แค่คนละ 350 บาท ”  แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร เขาไม่แนะนำให้ทำ K-ETA ก่อน เราไม่เชิงปรึกษา เราถามเขาเพราะเห็นในเอกสารว่าต้องทำ เจ้าหน้าที่บอกว่า  “ไม่น่ามีปัญหานะคะ เพราะว่าไม่เคยมีใครมีประวัติอะไรเลย ดังนั้นทำคิดว่าน่าจะผ่าน” ผมเชื่อตามด้วยความคิดแบบนี้ ผมเลยซื้อทัวร์         อีกอย่าง สมมติถ้าผมรู้เงื่อนไขนี้อยู่แล้ว ผมบอกว่า ให้เขาทำ K-ETA ให้ก่อนได้ไหม ในนั้นเขาระบุว่าไม่ได้  เขาจะทำ K-ETA  ให้ต่อเมื่อเราลงทัวร์กับเขาแล้ว  เขาถึงจะมีบริการทำให้ อันนี้เป็นข้อที่ผมรู้สึกว่าผิด จริงๆ คุณต้องทำก่อนสิ  เราถึงจะจ่ายเงินทัวร์ ถึงจะยุติธรรม แต่กลายเป็นเราจ่ายทัวร์  แล้วให้เขาไปทำ ถ้าไม่ผ่าน ก็โดนเงื่อนไข โดนหักเงิน  ผมโดนหักเงินไป 33,732 บาท จนถึงปัจจุบันปัญหาได้รับแก้ไขอย่างไร          ตอนแรกครอบครัวก็บอกว่า เราแจ้งไปที่  สคบ. เลยไหม แต่เงินกว่า 150,000 บาทเกิดจากการรวมกันของหลายครอบครัว   พวกเราหลายคนกลัวว่าเงินจะจม ต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะได้คืน เงินแสนนึงเราเอามาทำอะไรได้มากมาย  ญาติพี่น้องผมบอกว่า ถ้าไม่ได้ไปเกาหลีเขาก็อยากเอาเงินไปเที่ยวประเทศเวียดนาม  ต้องใช้เงินในการทำทริปต่อไป เราเลยจำใจต้องเอาเงินคืนกลับมาให้ได้ก่อน เพราะว่ายังไงเราก็ไปไม่ได้ ยังไงเราก็ต้องทิ้ง  เราก็ยอม แล้วทำเรื่องส่งไปให้ทำเงินคืนให้หน่อย  บริษัทบอกว่าจะคืนให้ภายใน 7 วัน  เราก็รอไปเกือบเดือน กว่าจะได้เงินคืน จนผ่านเวลาที่จะเดินทางไปแล้ว เราตามหลายครั้งจนได้เงินคืน  มาราว 1 แสน 1 หมื่นกว่าบาท   อยากฝากอะไรถึงผู้ที่สนใจจะซื้อทัวร์ไปประเทศเกาหลี         ผมอยากให้บริษัททัวร์สื่อสารกับนักท่องเที่ยว กับผู้ซื้อทัวร์ให้ชัดเจน  สื่อสารความเสี่ยงให้ชัดเจนเลยว่า เขาจะไม่ได้รับเงินคืนเรื่องอะไรบ้าง แบบขอตัวแดง บันทึกไว้ทุกที่เลย แค่ระบุว่า  อันนี้เขาพูดแบบ ก็มีกรณี มีตายาย พ่อแม่และลูกจะไปด้วยกันแต่พ่อแม่ไม่ผ่านเขาก็ไปกับตายายได้ ผมมองว่ามันตลกหรือเปล่า หลายกรณีมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปเที่ยวได้  เอาจริงๆ ครับ ผมคิดทุกคนก็จะมีความเสี่ยงที่จะเจอเรื่องเดียวกันนี้ เพราะการตรวจข้อมูล K-ETA ใช้ AI ผมจึงอยากแบ่งปันเรื่องนี้ ผมเลยคิดว่าง่ายมากเลย  บังคับให้ลูกค้า หรือคนที่จะไปทัวร์ลงทะเบียน K-ETA เข้าประเทศเกาหลีใต้ ให้ผ่านก่อน  วิธีทำให้เรียบร้อยครับ  มีการสื่อสารแนะนำให้ประชาชนเข้าใจว่าจะลงลงทะเบียน K-ETA ให้ผ่านได้อย่างไร ผมคิดว่าต้องมีชุดความรู้ที่ถอดออกแนะนำได้ ทำให้เรามีความเข้าใจที่ชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่ได้ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 กระแสต่างแดน

ทำงานช่วยชาติ         รัฐบาลเดนมาร์กมีมติยกเลิกการหยุดงานในวัน Great Prayer Day ซึ่งเป็นวันสำคัญทางคริสต์ศาสนามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 โดยให้เหตุผลว่าต้องการเงินทุนเพิ่มสำหรับการใช้จ่ายภาครัฐรวมถึงการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มให้กับกระทรวงกลาโหมในยุคที่ประเทศอาจต้องเผชิญสงคราม         ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป จะไม่มี “ลองวีคเอนด์” ที่เริ่มจากวันศุกร์ที่สี่หลังอีสเตอร์ ในฤดูใบไม้ผลิ หรือวัน Great Prayer Day นั่นเอง         เมื่อไม่ใช้วันหยุด ห้างร้าน สถานประกอบการ และธุรกิจอื่นๆ ก็ต้องเปิดทำการ เมื่อผู้คนมีชั่วโมงทำงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยคนละ 7.4 ชั่วโมง ก็ย่อมมีรายได้เพิ่มและเสียภาษีมากขึ้นตามไปด้วย         กระทรวงการคลังประเมินว่ารัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 3,000 ล้านแดนิชโครน (ประมาณ 15,000 ล้านบาท) และจะบรรลุเป้าหมายที่นาโตกำหนดไว้ว่าประเทศสมาชิกจะต้องมีงบป้องกันประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ เล็กๆ ห้ามแจก         อีกสองปีโรงแรมที่มีห้องพักมากกว่า 50 ห้องในเกาหลีจะยกเลิกการแจกสบู่ แชมพู โลชัน ยาสีฟัน ฯลฯ ในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งให้กับแขกที่เข้าพัก เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. การรีไซเคิลทรัพยากร (Resource Recycle Act)         หลายคนไม่ถูกใจสิ่งนี้ เพราะของใช้ส่วนตัวดังกล่าวเป็นปัจจัยที่คนเกาหลีจำนวนไม่น้อยใช้เลือกโรงแรมที่เข้าพัก เพราะมันหมายถึงโอกาสที่จะได้ใช้ “ของไฮเอนด์” เช่นเดียวกับบรรดาแบรนด์ต่างๆ ที่มักใช้วิธีการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ผ่านทางลูกค้าของโรงแรม         ผลตอบรับจากโรงแรมที่เริ่มใช้นโยบายนี้แล้วออกมาไม่ค่อยดีนัก พนักงานบอกว่าลูกค้าส่วนหนึ่งที่ไม่อยาก “ใช้ของร่วมกับคนอื่น”​ จะโทรลงมาขอสบู่ แชมพู ขวดใหม่ บางคนที่อยากได้แชมพูหรือครีมอาบน้ำไว้ใช้ต่อก็พกพาขวดใหญ่กลับบ้านไปด้วย        บางโรงแรมจึงแก้ปัญหาด้วยการติดตั้งตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติให้ลูกค้าได้กดซื้อเองไปเลย น้องไก่กู้โลก         หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมือง Colmar ทางตะวันออกของฝรั่งเศส มีวิธีกำจัดขยะอาหารแบบ “ออกานิก” ด้วยการแจกไก่ให้ลูกบ้านนำไปเลี้ยงครัวเรือนละสองตัว         โครงการไก่กู้โลกนี้ทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่แปดแล้ว โดยผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการได้ต้องมีสภาพบ้านที่เหมาะสมในการเลี้ยง และเพื่อให้มั่นใจว่าน้องๆ จะอยู่ดีมีสุขตลอดเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่จะแวะไปเยี่ยมเยียนโดยสม่ำเสมอด้วย        ไก่หนึ่งตัวมีศักยภาพในการเก็บกินอาหารเหลือได้วันละประมาณ 300 กรัม เขาคำนวณแล้วว่าวิธีการนี้สามารถกำจัดขยะอาหารของครัวเรือนที่มีสมาชิกสองคนได้ถึงปีละ 100 กิโลกรัม         อีกแผนแก้ปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากอาหารการกินของฝรั่งเศสคือการเตรียมประกาศ “มาตรฐานการทำปุ๋ยหมัก” ให้ทุกครัวเรือนสามารถใช้อ้างอิงได้ ในเดือนมกราคมปี 2567 และขณะนี้บางโรงเรียนเริ่มลดปริมาณเนื้อสัตว์ในอาหารกลางวันแล้วน้อยก็ต้องทอน         ชายอินเดียวัย 27 ปียื่นฟ้องบริษัทขนส่งมวลชนบังกาลอร์ (BMTC) เรียกร้องค่าเสียหายทางจิตใจที่ถูกกระเป๋ารถเยาะเย้ยเมื่อเขาทวงเงินทอน 1  รูปี         เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเดือนกันยายนปี 2562 เมื่อเขาโดยสารรถเมล์ของ BMTC แล้วให้เงินกระเป๋ารถไป 30 รูปี เพื่อจ่ายค่าโดยสารในอัตรา 29 รูปี แต่กระเป๋าไม่ยอมทอนเงินให้ แถมเธอยังพูดจาไม่ดี เมื่อเขาไปร้องเรียนกับพนักงานอาวุโสของบริษัท คนเหล่านั้นก็หัวเราะเยาะเขาอีกเช่นกัน         เขาจึงใช้สิทธิตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ยื่นฟ้องบริษัทและผู้บริหาร ข้อหาบกพร่องในการให้บริการ  และเรียกร้องค่าเสียหาย 15,000 รูปี จากการถูกทำให้เสียความรู้สึก            หลังจากต่อสู้คดีกันเป็นเวลา 3 ปี ศาลตัดสินว่าพฤติกรรมการให้บริการของกระเป๋ารถคนดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และตัดสินให้เขาได้รับเงินทอน 1 รูปี พร้อมค่าชดเชยอีก 3,000 รูปี (ประมาณ 1,250 บาท) เพื่อเป็นการเยียวยาสภาพจิตใจรับมือตัวฤทธิ์         ซัมเมอร์นี้อิตาลีคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับไปเหมือนก่อนช่วงโควิดระบาด และคราวนี้บรรดาเมืองเล็กที่อยู่ในเส้นทางระหว่างสถานที่ยอดนิยมก็เตรียมมาตรการรับมือไว้แล้ว        ชุมชนเหล่านี้มีจุดยืนว่าจะไม่ “รับทุกคน” ถนนบางสายถูกกำหนดให้ใช้ได้เฉพาะผู้มีใบขับขี่อิตาลี บางสายที่คนท้องถิ่นใช้สัญจรไปมาหนาแน่นก็ไม่อนุญาติให้รถยนต์หรือจักรยานยนต์ของนักท่องเที่ยว (ทะเบียนต่างชาติ) เข้ามาวิ่ง             หลายที่บังคับใช้การจองผ่านแอปฯ เพื่อจำกัดจำนวนคน บางเมืองห้ามนำรถยนต์เข้าถ้าเข้าพักไม่ถึงสี่วัน ทั้งนี้รถต่างถิ่นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมล่วงหน้า และชาวต่างชาติจะต้องจ่ายค่าเหยียบแผ่นดินในฤดูร้อน 3 ยูโร ด้วย         นอกจากนี้ยังมีนโยบายจำกัดจำนวนห้องที่นำมาให้บริการที่พักกับนักท่องเที่ยว เพื่อให้มั่นใจว่านักศึกษาหรือคนทำงานที่ต้องการที่อยู่ จะไม่ขาดแคลนห้องเช่านั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 254 ความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2565

นายกฯ สั่งปฏิรูปรถเมล์ไทย         5 เมษายน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและติดตามความคืบหน้าของโครงการจัดหารถโดยสารพลังงานสะอาดเพื่อมาให้บริการประชาชนในกรุงเทพฯ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมคาดการณ์ว่า “จะสามารถให้บริการได้ภายในเดือนสิงหาคม 2565”  โดยการปฏิรูปรถเมล์ครั้งนี้ ต้องการให้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะยกระดับมาตรฐานบริการรถโดยสารประจำทาง ซึ่งกรมการขนส่งทางบก จะมีการประเมินผลการประกอบการด้วยดัชนีชี้วัด 12 ข้อ ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ รถโดยสารใหม่จะต้องมี GPS  CCTV หรือระบบ E-Ticket เก็บข้อมูลผู้โดยสาร ใช้บริการมากน้อยแค่ไหน ช่วงเวลาไหนผู้โดยสารแน่นหรือคนน้อย หรือช่วงไหนรถติด โดยข้อมูลจะถูกนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ด้วยระบบ AI ทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาการให้บริการได้อย่างรวดเร็ว โฟม-พลาสติกใช้ครั้งเดียว ห้ามนำเข้าอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช         ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง นำเข้าเขตอุทยานแห่งชาติ  ทั้งนี้เพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษา ทรัพยากรธรรมชาติ ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง ระบบนิเวศ และเป็นการควบคุมลดปริมาณขยะในอุทยานแห่งชาติ จึงมีประกาศ ดังนี้         ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟม และบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว ได้แก่ พลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องบรรจุอาหารพลาสติก แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) หลอดพลาสติก และช้อน-ส้อมพลาสติก เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท (มีผล 6 เมษายน 2565 เป็นต้นไป)  ตำรวจสอบสวนกลางเตือนภัย “มิจฉาชีพ แอบอ้างเป็นบริษัทเงินกู้”         ตำรวจสอบสอบสวนกลาง ได้โพสต์เตือนภัย โดยมีข้อความระบุว่า ปัจจุบันเราจะพบเห็นกลุ่มมิจฉาชีพหลากหลายกลุ่มใช้กลลวงต่างๆ หลอกลวงประชาชน เพื่อให้ได้ไปซึ่งข้อมูลส่วนตัวต่างๆ รวมไปถึงทรัพย์สินของมีค่าของประชาชน ตำรวจสอบสวนกลางจึงขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้ทราบถึงรูปแบบหนึ่งของมิจฉาชีพที่จะแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของท่านไป เพื่อนำไปใช้ในการถอนเงินในบัญชี ซึ่งมิจฉาชีพจะติดต่อผ่านช่องทาง SMS Line Facebook หรืออื่นๆ และแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกลวงให้โอนค่าธรรมค้ำประกัน หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว เลขหน้า-หลังบัตรประชาชน เลขหน้า-หลังบัตรเครดิต  วันเดือนปีเกิด หลังจากนั้นนำข้อมูลไปใช้เพื่อถอนเงินในบัญชี เพื่อความปลอดภัยเราควรตรวบสอบข้อมูลให้แน่ใจ ว่าบริษัทบริการเงินกู้นั้นได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ที่ https://bit.ly/3rW26VF   (เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศ) หากพลาดโอนเงินให้มิจฉาชีพสามารถแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ หรือติดต่อได้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร.1599 กรมอนามัยเผยคนไทยบริโภคน้ำตาลสูงเสี่ยงโรค NCDs          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่าปัจจุบันคนไทยกินน้ำตาลมากถึงวันละ 25 ช้อนชา มากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ คือไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs มากยิ่งขึ้น         สอดคล้องกับข้อมูลการศึกษาเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2562 ที่ระบุว่า โดยเฉลี่ยคนไทยดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาล 3 แก้วต่อวัน โดยเฉพาะเด็กอายุ 6-14 ปี ซึ่งคือกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเฉลี่ยต่อสัปดาห์มากที่สุด  ทั้งนี้เครื่องดื่มผสมน้ำตาลที่ขายทั่วไปนั้น พบว่ามีปริมาณน้ำตาลสูงถึง 9-19 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร แต่ปริมาณที่เหมาะสมจริงๆ แล้วคือไม่ควรมีน้ำตาลเกินกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินน้ำตาลของคนไทย สามารถเปลี่ยนได้ โดยเริ่มจากการลดการดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลมาเป็นดื่มน้ำเปล่า 6-8 แก้วต่อวันแทน  และขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ร้านเครื่องดื่ม ร้านกาแฟที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ขอให้ช่วยกันในการคิดค้นหาเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยจำหน่ายในร้าน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเลือกเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ลดเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง ผู้บริโภคต้องการยกเลิกจองทัวร์ท่องเที่ยว “สามารถขอเงินคืนได้”          วันที่ 14 เมษายน 2565 นางนฤมล เมฆบรสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์อาจมีผู้บริโภคที่จองทัวร์ท่องเที่ยวไว้ แต่ด้วยความที่ช่วงนี้สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มติดเชื้อสูงขึ้น ผู้บริโภคที่จองทัวร์สามารถใช้สิทธิของผู้บริโภคในการยกเลิกทัวร์ที่จองไว้ได้ ตามประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 ในกรณีมีเหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางได้เฉพาะตัว ให้นักท่องเที่ยวแจ้งขอรับเงินค่าบริการคืนจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องจ่ายเงินคืนในอัตรา ดังนี้  1. หากนักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 30 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 100 ของเงินค่าบริการ 2. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 15 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 50 ของเงินค่าบริการ 3. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อนน้อยกว่า 15 วัน ไม่ต้องคืนเงินค่าบริการ กรณีมีเหตุให้ต้องยกเลิกนำเที่ยวตามที่ได้โฆษณาไว้ โดยไม่ใช่ความผิดผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจ่ายค่าบริการคืนในอัตรา ร้อยละ 100 ขอเงินค่าบริการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 อยากไปเที่ยวด้วยรถเช่าต้องเท่าทันกลโกง

        ช่วงวันหยุดยาวอันแสนคิดถึง คุณชัยพรวางแผนเดินทางกับครอบครัวด้วยรถเช่า เขาเล็งจังหวัดแถบภาคอีสานไว้หลายพื้นที่ ตอนแรกก็คิดว่าอยากจะเช่ารถกับบริษัทใหญ่ที่มีสาขาทั่วไทย แต่ก็คิดว่า ราคาแรงอยู่เพราะมีประกันมีเงื่อนไขมาก ถ้าใช้บริการรถเช่าในพื้นที่น่าจะช่วยประหยัดลงไปได้อีกนิด จึงลองค้นหาจากกูเกิ้ล โดยพิมพ์คำว่า “รถเช่าจังหวัด XXX” ซึ่งมีข้อมูลให้เลือกมากพอสมควร เมื่อลองเปรียบเทียบราคาแล้วพบว่า มีบริษัทหนึ่งดูโอเคมาก รีวิวก็ดี จึงติดต่อไปทางไลน์ไอดี         หลังจากติดต่อและแจ้งว่าต้องการรถอะไร ไปวันไหน สอบถามราคา คุณชัยพร ก็วางเงินมัดจำ เงินประกันไป 5,000 บาท วันที่นัดรถมาส่ง รถก็มาตามที่นัดก็ได้เที่ยวกับครอบครัวสนุกสนาน เมื่อคืนรถแล้ว คุณชัยพรเผอิญเจองานด่วนเข้าพอดี ทำให้ลืมว่ายังไม่ได้รับเงินมัดจำคืน ปล่อยเวลาไปสองสามวัน จนมานึกได้และติดต่อกลับไป คราวนี้ยาว เพราะทางบริษัทฯ อ้างว่า รถมีสภาพเสียหายจากการใช้งานของลูกค้า ต้องยึดเงินมัดจำและเงินประกันไว้ก่อน คุณชัยพรไม่เข้าใจและไม่คิดว่า ตนเองทำอะไรให้รถเสียหายเพราะตอนคืนรถก็มีการถ่ายรูปดูสภาพรถกันแล้ว ซึ่งทางตัวแทนบริษัทฯ ก็ไม่ได้แจ้งอะไร ตนจึงต่อรองและเจรจากับบริษัทฯ ไปอีกหลายครั้ง ซึ่งทางบริษัทก็บ่ายเบี่ยงไม่คืนเงิน “ไม่รู้ว่าทำอะไรได้บ้าง” จึงขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        มูลนิธิฯ ได้แนะนำให้ผู้ร้องเรียนติดตามทวงถามเงินค่ามัดจำคืนด้วยการทำจดหมายทวงถามเป็นลายลักษณ์อักษร  โดยเนื้อความต้องระบุให้ชัดเจนว่า เมื่อตอนบริษัทฯ รับรถคืนนั้นได้มีการตรวจสอบสภาพรถก่อนรับคืนแล้ว    อีกทั้งเมื่อบริษัทรับรถยนต์กลับไปแล้ว ก็ควรจะต้องคืนเงินภายในระยะเวลาตามที่ตกลงกัน (ตามสัญญา)  ดังนั้นหากบริษัทฯ ยังบ่ายเบี่ยงไม่คืนเงินให้ ผู้ร้องสามารถระบุลงไปในจดหมายขอคิดค่าปรับรายวัน  วันละ...........บาท     และหากบริษัทไม่คืนเงินตามจดหมายทวงถามให้ผู้ร้องสามารถร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เพื่อให้เรียกผู้ประกอบการมาคืนเงิน โดยทางมูลนิธฯ จะช่วยติดตามให้อีกทางหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 กรแสะต่างแดน

โหวตได้หรือไม่        สวิตเซอร์แลนด์ใช้ระบบประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนสามารถโหวตได้ทุกเรื่อง แต่มีอย่างน้อยหนึ่งเรื่องที่แต่ละรัฐในประเทศยังเห็นไม่ตรงกัน มีจึงมีเพียงบางรัฐ (จากทั้งหมด 26 รัฐ) เท่านั้นที่จัดโหวตในเรื่องดังกล่าว         ประเด็นที่ว่าคือ “การขอให้บริการขนส่งมวลชนเป็นสิ่งที่รัฐจัดให้ฟรี”           เนื่องจากรัฐธรรมนูญของสวิตเซอร์แลนด์กำหนดว่า ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะจะต้องจ่ายค่าเดินทางในราคาที่สมเหตุสมผล ในขณะที่บางคนมองว่าการจ่ายภาษีก็ถือเป็นการร่วมจ่ายอย่างเหมาะสมแล้ว ผู้บริหารบางรัฐยังตีความว่าการจัดโหวตเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้         แต่บางรัฐอย่างรัฐโว (Vaud) ตีความว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม “บริการขนส่งสาธารณะฟรี” และให้ความเห็นว่า รัฐมีสิทธิตัดสินใจได้ว่าจะช่วยจ่ายค่าโดยสารให้เต็มราคาหรือไม่ เขาเลือกใช้หลักการ...หากเกิดข้อสงสัย ให้เลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนไว้ก่อน อยากเปลี่ยนน้ำ         เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในยุโรป เดนมาร์กยังล้าหลังในเรื่องการลดปริมาณแคลเซียมในน้ำประปา ชาวบ้านจึงต้องหาวิธีจัดการกับน้ำกระด้างกันเอง บ้างก็พยายามขูดหินปูนในท่อ บ้างก็ลงทุนซื้อเครื่องกรองมาติดฝักบัว  นอกจากจะเปลืองสบู่ แชมพู และผงซักฟอก เพราะ “ตีฟองไม่ขึ้น” แล้ว การอาบน้ำกระด้างยังทำให้ผิวแห้ง หนังศีรษะเป็นรังแค แถมยังผมชี้ฟูอีกด้วย         แต่ข่าวดีคือโคเปนเฮเกนกำลังจะมีระบบกรองน้ำประปาส่วนกลางแล้ว บริษัท Hofor ผู้ให้บริการน้ำประปาในเมืองนี้และพื้นที่โดยรอบประกาศว่าเขาจะลดความกระด้างของน้ำลงให้ได้ภายในปี 2028         ด้านทันตแพทย์ออกมาเตือนว่า “น้ำอ่อน” จะทำให้คนฟันผุมากขึ้น โดยอ้างอิงงานวิจัยที่ยืนยันว่าเด็กในโคเปนเฮเกนมีฟันผุน้อยกว่าเด็กในเขตอื่นอย่างมีนัยยะสำคัญ (งานวิจัยนี้เก็บข้อมูลจากเด็กอายุ 15 ปี จำนวน 52,000 คน)           มารอดูกันว่าเขาจะแก้ปัญหานี้อย่างไร   ป้องกันหลงผิด         ตั้งแต่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป รัฐบาลเมืองหางโจวจะเริ่มใช้กฎหมายอนุรักษ์ชาหลงจิ่ง สินค้าที่ได้รับการคุ้มครองเพราะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองหางโจว         ด้วยชื่อเสียงด้านคุณภาพและราคาระดับพรีเมียม ทำให้มี “ชาแอบอ้าง” เข้ามาบุกตลาด ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรตัวจริงจากไร่ชาในเขตรอบทะเลสาบซีหู และหุบเขาในเมืองหางโจว          เพื่อพิทักษ์ “แบรนด์หลงจิ่ง” เขาจึงมีกฎหมายกำหนดรหัสเฉพาะ ที่ประกอบด้วยชื่อบริษัทผู้ผลิต ปีที่ผลิต ซีเรียลนัมเบอร์ และรหัสที่ต้องแจ้งบนกระป๋องนี้ จะไม่สามารถนำไปโอน แจกจ่าย หรือให้ใครยืมได้ ผู้ฝ่าฝืนมีค่าปรับ 10,000 หยวน สำหรับบุคคลธรรมดา และ 50,000 หยวน สำหรับนิติบุคคล          นอกจากนี้ยังต้องมีแพลตฟอร์มออนไลน์ทำหน้าที่ควบคุม ดูแล จัดการ ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจัดจำหน่าย รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้วย          ไร่ชาที่นี่จะมีการสำรวจทุก 10 ปี เพื่อดูแลจัดการเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และทำฐานข้อมูลพื้นที่แต่ละแปลง รวมถึงการใช้ปุ๋ยธรรมชาติตามที่รัฐส่งเสริม โปรฯ โรแมนติก         ข่าวดีสำหรับคู่รักที่พร้อมจะแต่งงานกันภายในปีนี้ แคว้นลาซิโอ อิตาลี เขาจัดโปรโมชันเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจงานแต่ง และโปรฯ นี้สามารถเข้าร่วมได้ทั้งคนอิตาเลียนและคนต่างชาติ            ตามโครงการ “In Lazio with Love” คู่สมรสที่จัดพิธีแต่งงานในเขตลาซิโอ ไม่ว่าจะเป็นในกรุงโรม ชายหาด หรือปราสาทยุคกลาง หรือโลเคชันยอดนิยมอื่นๆ จะสามารถนำใบเสร็จมาขอเบิกเงินคืนได้สูงสุด 2,000 ยูโร (ประมาณ 73,000 บาท)         ใบเสร็จที่ว่านี้อาจมาจากบริษัทรับวางแผนงานแต่ง ร้านเช่าชุดแต่งงาน ผู้ให้เช่าสถานที่ ร้านดอกไม้ บริษัทรับจัดเลี้ยง รวมไปถึงค่าจ้างช่างภาพ หรือค่าเช่ารถด้วย ทั้งนี้เขาสงวนสิทธิ์ให้ส่งใบเสร็จได้ไม่เกิน 5 ใบ         ข่าวบอกว่าเขาตั้งงบไว้ 10,000,000 ยูโร เพื่อช่วยเหลือธุรกิจงานแต่งที่ซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2019 มีคู่รักมาจัดงานแต่งที่นี่ถึง 15,000 คู่ แต่สองปีกว่าหลังการระบาดของโควิด-19 เขามีโอกาสจัดงานแต่งไปเพียง 9,000 งานเท่านั้น       สควิดฟาร์ม        โลกกำลังจะมีฟาร์มปลาหมึกแห่งแรกในปี 2023 ภายใต้การดำเนินการของบริษัท Nueva Pescanova ของสเปน ที่ปาดหน้าคู่แข่งจากญี่ปุ่นและเม็กซิโกไปได้         บริษัทอ้างว่าเขาลงทุนไปกว่า 65 ล้านยูโร หรือประมาณ 2,400 ล้านบาท และได้ศึกษาวิจัยจนพบ “สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม” กับการเลี้ยงปลาหมึกในถัง เขาจะผลิตปลาหมึกได้ถึงปีละ 3,000 ตัน ภายในปี 2026 ทั้งนี้เขาไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพราะถือเป็น “ความลับทางการค้า”         แต่นักวิชาการที่รีวิวผลงานวิจัยกว่า 300 ชิ้น ฟันธงว่า “ฟาร์มปลาหมึก” มันเป็นไปไม่ได้ การถูกจำกัดบริเวณอาจทำให้ปลาหมึกเครียดและทำร้ายกันเอง นักสิ่งแวดล้อมก็มองว่านี่เป็นการสวนกระแสเรื่องความยั่งยืน ปัจจุบันเราใช้ 1 ใน 3 ของสัตว์ทะเลที่จับได้มาเป็นอาหารสัตว์  แล้วเรายังจะต้องนำไปใช้ในฟาร์มปลาหมึกอีกหรือ ชาวประมงรายย่อยก็อาจได้รับผลกระทบ ในขณะที่เชฟบอกว่า “มันไม่อร่อย”            ขณะนี้ฟาร์มดังกล่าวอยู่ระหว่างรอการอนุมัติ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 รองเท้าเดินป่าแบบหุ้มข้อ

        การมาเยือนของโควิด-19 อาจทำให้หลายคนรู้สึกว่าการเดินห้างมัน “เอ้าท์” และการใช้เวลากับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงด้วยการบุกป่าฝ่าลำธารน่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอเอาใจ “ขาลุย” อีกครั้งด้วยผลทดสอบเปรียบเทียบรองเท้าเดินป่าแบบหุ้มข้อ สำหรับคนที่กังวลเรื่องความเสี่ยงจากอาการเท้าแพลงเพราะสะดุดรากไม้หรือก้อนหิน (ก่อนหน้านี้เราได้นำเสนอผลการทดสอบรองเท้าเดินป่าแบบธรรมดาไว้ในฉบับที่ 222 แถมด้วย “เป้เดินป่า” ในฉบับที่ 216 และ 245)          ครั้งนี้มีรองเท้าถูกส่งเข้าแข่งขันทั้งหมด 16 รุ่น (สนนราคาตั้งแต่ประมาณ 2,300 ไปจนถึง 11,200 บาท)* โดยองค์กรผู้บริโภคจากออสเตรีย สวีเดน สโลเวเนีย และ สาธารณรัฐเช็ค ข้อตกลงเบื้องต้นคือต้องเป็นรองเท้าเดินป่าที่เหมาะกับการสวมใส่ในทุกฤดูกาล  และมีทั้งรุ่นสำหรับผู้หญิงและผู้ชายคะแนนจากการทดสอบแบ่งออกเป็น 2 ด้านคือ        1. คะแนนจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ (ร้อยละ 70)             - การกันน้ำ (ทดสอบโดยการแช่รองเท้าที่ระดับความลึกของน้ำถึงกึ่งกลางระหว่างรูร้อยเชือกที่หนึ่งและสอง เป็นเวลา 4 ชั่วโมง แล้วนำมาชั่งน้ำหนัก) การรักษาอุณหภูมิ และการระบายอากาศ              - ความทนทานต่อการขีดข่วนหรือสึกหรอ (กาว เชือกผูก พื้นรองเท้าด้านในและด้านนอก)             - ประสิทธิภาพในการกันลื่น บนพื้นผิวเซรามิกและกระเบื้องดินเผา ทั้งขณะเปียกและแห้ง (วัดค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน)            - การดูดซับแรงกระแทก         2. คะแนนจากความเห็นของผู้ทดลองสวมใส่  (ร้อยละ 30)ใส่/ถอดสะดวก ผูกเชือกง่าย สวมใส่สบาย กระชับ ไม่กัดเท้า เดินได้อย่างมั่นใจทั้งบนพื้นผิวที่เปียกและแห้ง ใส่แล้วรู้สึกไม่ร้อน ไม่อับชื้น และทำความสะอาดง่าย เป็นต้น          * อ้างอิงจากราคาที่ซื้อเป็นหน่วยยูโร          * ในการทดสอบครั้งนี้ใช้รองเท้ารุ่นละ 5 คู่ (1 คู่ ส่งเข้าห้องแล็บ  2 คู่สำหรับอาสาสมัครหญิง และอีก 2 คู่ สำหรับอาสาสมัครชาย) อัตราค่าทดสอบอยู่ระหว่าง 312.42 – 356.42 ยูโร (ประมาณ 12,000 – 14,000 บาท) ต่อตัวอย่าง รุ่นที่มีหนังเป็นส่วนประกอบจะมีค่าใช้จ่ายมากกว่า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 245 เป้เดินป่า

        การเดินทางข้ามจังหวัดหรือข้ามประเทศไม่สะดวกเหมือนเคยมาพักใหญ่ ผู้คนเริ่มโหยหาการเดินทาง การผจญภัย เพื่อสัมผัสกับธรรมชาติ เมื่อการระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงบ้างในยุโรปซึ่งกำลังอยู่ในช่วงหน้าร้อน ผู้คนจึงเริ่มซื้อหาสินค้าประเภทอุปกรณ์เดินป่าจนบางอย่างขาดแคลนแล้วฉลาดซื้อฉบับนี้ขอนำผลทดสอบเป้เดินป่าที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศทำไว้มาฝากสมาชิก มีให้เลือกกัน 20 รุ่น ให้คุณได้จินตนาการเวลาออกไป “เที่ยวทิพย์” เพื่อลดความเครียดกันไปพลางๆ การทดสอบซึ่งทำขึ้นในสาธารณรัฐเชคครั้งนี้แบ่งออกเป็นสองด้าน        1. การทดสอบประสิทธิภาพ/คุณสมบัติ ทำในห้องแล็ป (ร้อยละ 60)แบ่งออกเป็น พื้นที่ใช้สอยสำหรับการใส่สิ่งของจำเป็นในการเดินป่า / ความสามารถในการกันน้ำ ทดสอบด้วยการตากฝนเทียมเป็นเวลา 30 นาที / ความแข็งแรงทนทาน ด้วยการทดลองใส่น้ำหนัก 9 กิโลกรัม แล้วแขวนด้วยหูจับ สายสะพายไหล่ รวมถึงการทดลอง “ทำตก” ที่ระยะ 40 มิลลิเมตร ทั้งหมด 20,000 ครั้ง และรูดซิปปิดเปิด 2,000 รอบ เป็นต้น / คุณภาพงานประกอบ รวมถึงการดูแลรักษา และอุปกรณ์ช่วยสะท้อนแสง         2. การทดลองใช้จริงโดยอาสาสมัคร 5 คน (ชาย 3 หญิง 2) ที่เปิด ปิด ปรับสาย และแบกน้ำหนักที่ 3 กิโลกรัมและ 9 กิโลกรัม แล้วให้ความเห็น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 239 บอกเลิกสัญญา Work & Travel เพราะโควิด-19

วัยรุ่นจำนวนไม่น้อยอยากไป Work & Travel ในต่างประเทศ เพราะนอกจากการทำงานระยะสั้น ๆ หาประสบการณ์แล้ว ยังได้ท่องเที่ยวในประเทศนั้นๆ ด้วย เช่นเดียวกับคุณกันตพล ที่อยากให้ลูกชายได้เปิดประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศ จึงตัดสินใจส่งลูกชายเข้าโครงการ Work & Travel ในประเทศสหรัฐอเมริกากับบริษัทตัวแทนแห่งหนึ่งระยะเวลา 3 เดือน โดยคุณกันตพลได้ผ่อนค่าใช้จ่ายเป็นรายงวด รวมเป็นเงินทั้งหมดแล้วเกือบ 80,000 บาท         แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ทำให้กำหนดการการเดินทางไปทำงานและท่องเที่ยวที่อเมริกาของลูกชายคุณกันตพลต้องพับลง บริษัทที่จัดโครงการ Work & Travel ได้แจ้งกับคุณกันตพลว่า ไม่สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น โดยทางบริษัทจะคืนเงินให้ประมาณ 50,000 บาท         คุณกันตพลทราบดังนั้น ก็คิดว่าเงินที่บริษัทคืนให้นั้นน้อยเกินไปหรือไม่ ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้นคุณกันตพลได้ชำระไปแล้วล่วงหน้าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าโครงการ ค่าธรรมเนียมวีซ่า ค่ามัดจำตั๋วเครื่องบิน การที่บริษัทหักเงินไปเกือบ 30,000 บาทนั้นดูไม่เป็นธรรมเอาเสียเลย แนวทางการแก้ไขปัญหา                 กรณีที่บริษัทแจ้งว่าไม่สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสนั้น เท่ากับเป็นการบอกเลิกสัญญา ซึ่งจะต้องคืนเงินให้แก่ผู้บริโภคโดยทันที หากจะมีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ ก็ต้องชี้แจงรายละเอียดของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน มีการแสดงเอกสารหลักฐานค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงให้ได้ทราบอย่างครบถ้วน ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็สามารถใช้สิทธิฟ้องร้องได้         ทั้งนี้ ผู้บริโภคเองสามารถบอกเลิกสัญญากับบริษัทที่จัดทำโครงการในลักษณะ Work & Travel ได้ โดยทำหนังสือบอกเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรส่งแบบไปรษณีย์ตอบรับ หากทางบริษัทเอเจนซี่จะหักค่าใช้จ่ายใดๆ ก็ต้องชี้แจงและแนบหลักฐานให้ผู้บริโภคได้รับทราบด้วยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 235 กระแสต่างแดน

ลดช่องว่าง    สถิติเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศจีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 940 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งโลกรายงานจากศูนย์ข้อมูลสารสนเทศและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งชาติจีน ยังบอกอีกว่าอัตราการเข้าถึง อินเทอร์เน็ตของจีนสูงถึงร้อยละ 67 (ค่าเฉลี่ยของทั้งโลกคือร้อยละ 62) และที่สำคัญกว่านั้นคือช่องว่างหรือความได้เปรียบเสียเปรียบทางดิจิทัลระหว่างคนเมืองกับคนชนบทลดลงอย่างมาก เพราะร้อยละ 98 ของหมู่บ้านในชนบทห่างไกลมีอินเทอร์เน็ตผ่านไฟเบอร์ออปติกให้ชาวบ้านใช้แล้วขณะนี้จีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอนออนไลน์ไม่ต่ำกว่า 380 ล้านคน และยังมีการใช้ประโยชน์ในการทำงานจากบ้าน หรือ “พบแพทย์” ออนไลน์เพื่อขอคำปรึกษามากขึ้นสาเหตุที่ชาวจีนทุกเพศทุกวัยหันมาใช้อินเทอร์เน็ตกันมากขึ้นก็เพราะการระบาดของโควิด-19 นั่นเอง มีลูก มีรางวัล    รัฐบาลสิงคโปร์พยายามแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำมากว่าหนึ่งทศวรรษ ด้วยแผนให้เงินช่วยเหลือ 10,000 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 230,000 บาท) กับคู่สามีภรรยาที่มีบุตร แถมด้วยโบนัสอื่นๆ อีกมากมาย แต่ดูเหมือนจะยังไม่ประสบความสำเร็จข้อมูลปี 2018 ระบุว่าค่าเฉลี่ยการให้กำเนิดบุตรของสิงคโปร์อยู่ที่ 1.14 คนต่อผู้หญิง 1 คน และปีนี้การระบาดของโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกเมื่อคู่แต่งงานพากันยกเลิกแผนมีบุตร เพราะกังวลเรื่องปัญหาการเงินหรือการถูกเลิกจ้าง รัฐบาลจึงเตรียมประกาศแพ็กเกจใหม่ที่น่าดึงดูดใจกว่าเดิมเรื่องราวช่างตรงข้ามกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับสี่ของโลกคาดว่าจะมีจำนวนเด็กเกิดมากกว่าปกติถึง 400,000 คน ในขณะที่ฟิลิปปินส์ซึ่งปัจจุบันมีประชากรไม่ต่ำกว่า 108 ล้านคน มีแนวโน้มจะมีเด็กเกิดใหม่อีก 2.6 ล้านคน หากมาตรการล็อกดาวน์ยังมีอยู่จนถึงสิ้นปี คนท้องถิ่นต้องมีที่อยู่    การขยายตัวของการท่องเที่ยวและแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นมาเป็นสื่อกลางระหว่าง “เจ้าของบ้าน” ในเมืองยอดนิยมกับบรรดานักท่องเที่ยวที่ต้องการประหยัดเงิน ทำให้คนท้องถิ่นที่ต้องการหาที่อยู่ใกล้ที่ทำงานหรือที่เรียนกลายเป็นกลุ่มที่ “ไร้ที่พักอาศัย” เพราะไม่สามารถจ่ายค่าเช่าห้องซึ่งแพงขึ้นได้เทศบาลของ 22 เมืองยอดนิยมในยุโรปจึงรวมตัวกันเรียกร้องให้สหภาพยุโรปออกกฎระเบียบควบคุมแพลตฟอร์มหรือแอปฯ อย่าง Airbnb ให้แชร์ข้อมูลกับรัฐบาลท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยบริการดิจิทัลกลุ่มพันธมิตรเมืองในยุโรป (Eurocities Alliance) ต้องการให้เทศบาลสามารถกำกับดูแลได้ ว่าเจ้าของบ้านไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการหรือไม่  หรือมีรายใดปล่อยเช่าห้องพักต่อปีกับแอปฯ เหล่านี้เกินจำนวนวันที่ได้รับอนุญาตหรือเปล่า และแอปฯ ต้องร่วมรับผิดชอบหากเกิดการฝ่าฝืนจะอ้างว่าเป็นเพียงตัวกลางไม่ได้เมืองในพันธมิตรดังกล่าวได้แก่ ลอนดอน ปารีส มิลาน เบอลิน เวียนนา พอร์โต เฮลซิงกิ บาเซโลนา และอัมสเตอร์ดัม เป็นต้น เตรียมเลิกรถใช้น้ำมัน    แคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในอเมริกา (39.5 ล้านคน) ออก “คำสั่งผู้บริหาร” ห้ามใช้รถที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ภายในปี 2035 แน่นอนว่าคำสั่งนี้ไม่ถูกใจค่ายรถยนต์และสร้างความหงุดหงิดให้ลุงทรัมป์เป็นอย่างมาก แต่ผู้ว่าการรัฐฯ เขาก็เล่นใหญ่ ถึงกับเซ็นคำสั่งดังกล่าวบนฝากระโปรงรถพลังงานไฟฟ้ารุ่น Ford Mustang Mach E ออกสื่อมันเสียเลย แต่ก็ยังต้องรอลุ้นกันต่อไปว่าคำสั่งนี้จะถูกล้มล้างโดยรัฐบาลหรือไม่  นอกจากการแบนรถใช้น้ำมันแล้ว แคลิฟอร์เนียยังมีแผนพัฒนาการขนส่งระบบราง การปรับปรุงทางเท้า และทางจักรยาน  กว่าร้อยละ 50 ของมลภาวะที่เกิดขึ้นในแคลิฟอร์เนียมาจากการเดินทางขนส่ง จึงตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกให้เหลือเพียงร้อยละ 80 ของปริมาณทีเกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน ภายในปี 2050นอกจากมลภาวะบนท้องถนนแล้ว ปีนี้แคลิฟอร์เนียยังเผชิญกับสภาพอากาศเลวร้ายเพราะไฟป่าที่ กินพื้นที่ถึง 14,600 ตารางกิโลเมตรอีกด้วย ไม่ขาดก็เกิน    ในปี 2018 อินโดนีเซียใช้เงินถึง 155,000 ล้านเหรียญเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพ ซึ่งมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับ “อาหาร” โดยร้อยละ 48 เป็นความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน ในขณะที่ร้อยละ 26 เป็นปัญหาการขาดอาหารในเด็ก ร้อยละ 20 เกิดจากมลภาวะ ที่เหลืออีกร้อยละ 6 คือการได้รับสารอันตรายจากยากำจัดศัตรูพืชนักวิจัยจากโครงการแนวร่วมอาหารและการใช้ที่ดิน (Food and Land Use Coalition) บอกว่ารัฐบาลยังใช้เงินอีก 137,000 ล้านเหรียญเพื่อลดผลกระทบของการเกษตรที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 55 เพื่อแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 40 แก้ปัญหาภัยแล้ง และอีกร้อยละ 5 ในการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพและนักวิจัยยังขอร้องให้คนอินโดนีเซียปรับปรุงนิสัยการบริโภค ด้วยการกินผักให้มากขึ้น (คนอินโดฯ กินผักเพียงวันละ 122 กรัม จากปริมาณที่แนะนำ 300-400 กรัม) และบริโภคน้ำตาลให้น้อยลง (จากมากกว่า 50 กรัมควรเหลือเพียงไม่เกิน 40 กรัม) เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ปัญหาการขอยกเลิกเที่ยวบิน ในสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรง (Covid-19)

        ปัญหาการแพร่ของโรคระบาดร้ายแรง ของเชื้อไวรัส โควิด 19 ส่งผลให้ ผู้บริโภคที่ได้จองตั๋ว แพ็คเกจการท่องเที่ยว ซึ่งหมายถึง การเดินทางโดยเครื่องบิน และการจองที่พักในโรงแรม ผ่าน บริษัทตัวแทน พักไม่สามารถบินไปได้ เนื่องมาจากมาตรการของรัฐในการปิดสนามบิน เพื่อลดปัญหาการนำเชื้อไวรัสดังกล่าวเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศ ปัญหาดังกล่าว เป็นปัญหาที่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีให้ความสำคัญ         ข้อเสนอของรัฐบาลเยอรมนี ในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และป้องกัน การล้มละลายของภาคธุรกิจ คือการให้ภาคธุรกิจสามารถออกคูปอง มูลค่าเท่ากับราคาของแพ็คเกจ เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น และถ้าสถานการณ์ในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงดีขึ้น ก็สามารถนำคูปองชดเชยนั้นมาใช้ได้ มาตรการนี้ ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมีความเห็นพ้องกับรัฐบาลสำหรับมาตรการดังกล่าว ในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ซึ่งเห็นว่า ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะเลือกการได้รับการชดเชย ที่ผู้บริโภคพอใจ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกขอรับคูปอง หรือการขอคืนเป็นเงินสด         ถึงแม้ว่า ประเด็นทางกฎหมายจะชัดเจนแล้วสำหรับ กรณีการชดเชยความเสียหาย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมียอดเงินที่ยังคงค้างอยู่จาก การซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบิน เป็นมูลค่าถึง 4,000 ล้านยูโร ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว ก็ยังคงใช้เล่ห์เหลี่ยมในการเอาเปรียบ และคดโกงผู้บริโภค โดยหลอกผู้บริโภคว่า ไม่สามารถคืนเงินได้ หรือ การคืนเป็นเงินจะต้องเสียค่าธรรมเนียมที่สูงมาก และมักจะขอเวลาในการคืนเงินที่ยาวนานผิดปกติ          จากการติดตามสถานการณ์ของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี จึงได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และอาสาเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้บริโภคและประชาชนที่เดือดร้อน          เมื่อกลับมาดูสถานการณ์ของไทย ก็พบว่า ไม่แตกต่างกัน และในส่วนของคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการ ก็มีมติเห็นชอบในการติดตามประเด็นเรื่องนี้ และกำลังรวบรวมข้อมูลการร้องเรียน ตลอดจนกำลังประสานกับคณะกรรมาธิการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎรในการจัดการปัญหา การละเมิดสิทธิผู้บริโภค ต่อประเด็นการชดเชยความเสียหายที่ล่าช้า หรือ การไม่สามารถชดเชยความเสียหายในการยกเลิกสัญญาภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับ การล้มละลายของผู้ประกอบธุรกิจ ที่มีข้อเสนอว่า รัฐจะต้องให้ความช่วยเหลือผู้บริโภค ในกรณีที่ สายการบินขอให้ภาครัฐช่วยจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือมาตรการความช่วยเหลือทางการเงินอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถาการณ์ โควิด 19 โดยเฉพาะสายการบินที่มีสัญชาติไทยเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัทสายการบินนกแอร์จำกัด (มหาชน) และสายการบินนกสกู้ต จำกัด ที่ขอจดทะเบียนเลิกบริษัท ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า        สำหรับข้อมูลการร้องเรียนกรณีปัญหาการยกเลิกตั๋วเครื่องบินทั้งจากการซื้อด้วยตนเอง มีผู้ร้องเรียน 172 ราย และซื้อผ่านเอเจนซี่ จำนวน 71 ราย จากศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (ข้อมูล ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2563)กรณีการซื้อตั๋วเครื่องบินด้วยตนเอง สามารถยุติข้อพิพาทได้ 40 ราย คิดเป็น 23 % กรณีการซื้อตั๋วเครื่องบินผ่านเอเจนซี่ สามารถยุติข้อพิพาทได้ 13 ราย คิดเป็น 18 %สำหรับการยุติเรื่องร้องเรียนมีหลายกรณีที่น่าสนใจ เช่น        ·  ได้รับเงินคืนเต็มจำนวน        ·  สามารถเก็บเครดิตไว้ใช้ครั้งต่อไป        ·  เก็บวงเงินไว้ใช้ภายใน 2 ปี        ·  สามารถเลื่อนตั๋วโดยสารได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย        ·  ได้รับเครดิตการบิน ชดเชย เป็น 120 %สำหรับการยุติเรื่องที่ซื้อตั๋วโดยสารผ่านเอเจนซี่ ก็มีลักษณะคล้ายๆกันไม่ว่าจะเป็น        · ได้รับเงินคืน        ·  ได้รับเงินคืนผ่านบัตรเครดิต        · ได้รับเงินคืน แต่ถูกหักค่าดำเนินการ/ค่าธรรมเนียม        ·  ได้รับเครดิตเงินคืน ที่สามารถใช้ได้ภายใน 1 ปี        ·  ได้รับการเลื่อนเที่ยวบิน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย          สำหรับรูปแบบการชดเชย เยียวยาผู้โดยสารนั้น จะสังเกตได้ว่า มีช่องทางการคืนเงิน ผ่านบัตรเครดิต ถ้าพิจารณาเพียงผิวเผิน ก็อาจเป็นที่น่าพอใจ แต่ผู้บริโภคต้องคำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิต ที่ปัจจุบันคิดอัตราดอกเบี้ยไว้สูงมาก ตั้งแต่ 20- 28% และกรณีผู้โดยสาร ต้องการเงินสด การถอนเงินสดจากบัตรเครดิต ก็จะถูกคิดค่าธรรมเนียมการถอนแต่ละครั้ง ประมาณ 3 % จะเห็นได้ว่า ผู้บริโภค/ผู้โดยสาร มีต้นทุนสูงกว่ามากถ้าต้องการเงินสดที่มีวงเงินอยู่ในบัตรเครดิต         ดังนั้น ผมจึงคิดว่า การได้รับเงินชดเชยคืน ควรจะอยู่ในรูปแบบเงินสด เช็คเงินสด หรือ โอนเข้าบัญชี ธนาคารครับสำหรับผู้โดยสารที่ประสบปัญหาเรื่อง การคืนตั๋วโดยสารเครื่องบินก็สามารถ ร้องเรียนผ่านศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้นะครับ เบอร์โทร 02-2483737 วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 น. – 17.00 น. หรือ สามารถร้องเรียนออนไลน์ ได้ที่www.consumerthai.org ตามหลักการที่ว่า ร้องทุกข์ 1 ครั้งดีกว่า บ่น 1,000 ครั้ง(แหล่งข้อมูล https://www.vzbv.de/pressemitteilung/pauschalreisen-gutscheine-bleiben-freiwillig-erstattungen-lassen-auf-sich-warten )

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 หลอกลวงแบบเนียนๆ

        ผู้บริโภครายหนึ่งเล่าเหตุการณ์ที่พลาดเสียเงินไปโดยไม่รู้ตัวให้ฟังว่า เพื่อนบ้านมาชวนไปเที่ยว “บอกว่างานนี้ฟรีทุกอย่าง เขาจัดล่องเรือชมวิว แนะนำสินค้า เราไม่ซื้อก็ไม่เป็นไรถือว่าได้เที่ยวฟรี” ผู้บริโภครายนี้คิดว่าตนเองคงไม่ยอมเสียเงินซื้อแน่ๆ แต่ใจก็อยากเที่ยวฟรี ในที่สุดเลยตกลงไปเที่ยวลงเรือตามที่เพื่อนชวน        “เมื่อขึ้นไปบนเรือ เขาพาล่องแม่น้ำ มีอาหารให้กินฟรีจริงอย่างที่เพื่อนบอกนะ แต่พอเรือล่องไปได้สักระยะหนึ่ง ก็มีคนมาแนะนำสินค้าต่างๆ ส่วนมากเป็นพวกโสม มีทั้งโสมผสมถังเช่า โสมตังจือ โสมเกาหลีสีส้ม ราคาขวดละเกือบสามพันบาท เขาบรรยายสรรพคุณต่างๆ เยอะมาก ฟังแล้วเคลิ้มเลยล่ะ เขาชวนให้เราทดลองซื้อมาใช้ดูก่อนก็ได้ สุดท้ายเราก็ใจอ่อนเอง ซื้อไปหลายอย่าง รวมๆ แล้วเกือบสามหมื่น มาถึงบ้าน นึกไปนึกมา นี่ถ้าเราไม่ไปเที่ยว เราก็คงไม่เสียเงินขนาดนี้ พอเราไป ไอ้ที่คิดว่าฟรี มันไม่ฟรีแล้ว เพราะเราหมดไปสามหมื่น สงสัยเหมือนกันว่า มันคงรวมๆ ค่าเที่ยวค่ากินไปในค่าโสมแน่นอน นึกแล้วเจ็บใจจริงๆ ไม่น่าเสียรู้เลย ไม่กล้าไปเตือนใคร อายเขา”        อีกเรื่องหนึ่ง มาจากน้องเภสัชกรที่ทำงานในชนบททางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเล่าให้ฟังว่า ยุคนี้ผลิตภัณฑ์สุขภาพบุกถึงวัดแล้ว อ้างว่าเป็นสะพานบุญ คนขายพวกนี้มักจะตระเวณไปตามวัด ไปแอบหาข้อมูลว่าพระตามวัดต่างๆ มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง โดยมากจะเล็งไปที่พระที่รูปร่างอ้วนๆ น้ำหนักมากๆ        แต่พวกนี้ไม่ได้ไปขายผลิตภัณฑ์สุขภาพกับพระ แต่จะไปสังเกตญาติโยมที่มาทำบุญที่วัด พอมีโอกาสก็จะเข้าไปพูดคุยชวนทำบุญ อ้างว่าผลิตภัณฑ์ของตนเป็นเสมือนผลิตภัณฑ์สะพานบุญ สามารถลดน้ำหนักให้พระสงฆ์ที่ญาติโยมเคารพได้ เมื่อท่านน้ำหนักลดลง ท่านจะได้ไม่ป่วย ไม่เสี่ยงกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ สุดท้ายญาติโยมก็ใจอ่อน บางคนก็เกรงใจ ยอมเสียเงินซื้อผลิตภัณฑ์พวกนี้ถวายพระไปด้วย หมดกันคนละเป็นหมื่น        ล่าสุด มีผู้บริโภคมาเล่าให้ฟังว่า “มีคนมาในช่วงที่ผู้สูงอายุในชุมชนกำลังประชุม บอกว่าจะขอแนะนำความรู้ด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ มีการใช้คอมพิวเตอร์ฉายภาพ เป็นรูปคนสุขภาพดีหน้าตาแจ่มใส แล้วผู้ขายก็บรรยายสรรพคุณสินค้า เป็นผลิตภัณฑ์รากมะเดื่อ และเชิญชวนให้ผู้สูงอายุลองซื้อไปรับประทาน ผู้สูงอายุบางคนก็มีเงินเยอะ พอผู้สูงอายุคนหนึ่งซื้อ ที่เหลือก็เริ่มซื้อตาม สุดท้ายก็ขายได้หลายหมื่น หลังจากวันนั้นเขาก็มาอีก คราวนี้ตระเวณไปถึงบ้าน มาทราบทีหลังว่าขายได้ด้วย บางบ้านซื้อเยอะ รวมๆ หลายบ้าน น่าจะหมดเป็นแสน”        เท่าที่สอบถามข้อมูล ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับอนุญาตแล้ว มีเครื่องหมาย อย. และฉลากถูกต้อง ไม่มีเอกสารใดๆ ที่ผิดกฎหมายหรือโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง แต่พฤติกรรมประกอบการขายที่โอ้อวดเกินจริง โดยใช้คำพูดโน้มน้าว ทำให้ผู้บริโภคที่ใจอ่อน หลงเชื่อ สุดท้ายก็เสียเงินเสียทองมากมาย ในการจัดการเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับผลิตภัณฑ์พวกนี้ทำได้ยาก เพราะเอกสารหลักฐานมักไม่ค่อยชัดเจน นอกจากคำพูดโน้มน้าวระหว่างขายสินค้าเท่านั้น ต้องช่วยกันเตือนผู้บริโภค ให้มีภูมิต้านทาน ให้เท่าทันกับสถานการณ์แบบนี้ ท่องไว้เลยว่า “ยาเทวดาไม่มีในโลก ถ้ามันเจ๋งขนาดนี้ ทำไมโรงพยาบาลไม่เอาไปใช้รักษาผู้ป่วย และถ้าได้ผลดีต่อสุขภาพจริง ทำไมมาขึ้นทะเบียนเป็นอาหาร .. สรุปง่ายๆ คือ หลอกลวงแบบเนียนๆ นั่นเอง”

อ่านเพิ่มเติม >