ฉบับที่ 242 รู้เท่าทันการเลือกเทรนเนอร์และนักโภชนาการ

สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้คนใส่ใจเรื่องของสุขภาพทั้งในด้านอาหารการกินและการออกกำลังกายเพื่อดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น มีเทรนด์สุขภาพใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการเทรนการลดน้ำหนัก แต่หากมีการใส่ใจแบบหวังผลลัพธ์ไวทันตาเห็น อาจตกเป็นเหยื่อได้โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอยากสุขภาพดีโดยอาศัยทางลัด อย่าง การอดอาหาร กินอาหารเสริม หรือพึ่งพา Health Coach ที่ไม่ได้เรียนจบมาทางด้านโภชนาการโดยตรง แค่อาศัยจากการเรียนคอร์สโภชนาการมาบ้าง ดังนั้นผู้บริโภคต้องมีความรู้เท่าทันเพื่อจะได้ไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง         ความหมายของ “เทรนเนอร์ และ นักโภชนาการ”        “เทรนเนอร์” คือ (Trainer) ผู้ที่มีความรู้ด้านฟิตเนส ที่จะต้องพัฒนาและนำวิธีการออกกำลังกายที่แตกต่างกันไปเฉพาะแต่ละคนไปสู่การปฏิบัติ เพื่อเป็นผู้นำในการออกกำลังกายของกลุ่มคนที่มีสุขภาพดีหรือกลุ่มคนทั่วไปที่ไม่มีข้อจำกัดทางการแพทย์ โดยประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายไปสอนบุคคลคน ด้วยเทคนิคการสอนที่หลากหลาย ปลอดภัย เกิดประสิทธิภาพ และทำให้เกิดผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีต่อบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา รักษา หรือทำให้เกิดผลสูงสุดต่อสุขภาพให้กับแต่ละบุคคล รวมทั้งมีความสามารถเพียงพอที่จะให้คำแนะนำที่เหมาะสมในการออกกำลังกาย กระตุ้นจูงใจให้บุคคลดูแลรักษาสุขภาพ และเป็นผู้นำด้านสุขภาพและการออกกำลังกาย หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือ เทรนเนอร์ จะทำหน้าที่เทรนการออกกำลังกายอย่างถูกวิธีให้กับผู้คน          “นักโภชนาการ” หรือ “นักกำหนดอาหาร” คือผู้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับอาหารและสารอาหารอย่างรอบด้าน เป็นอาชีพที่มีบทบาทสำคัญในการวางแผนให้คำปรึกษาและเตรียมอาหารตามหลักโภชนาการสำหรับบุคคลทั่วไปหรือผู้ป่วย นอกจากนั้นนักโภชนาการยังทำหน้าที่เป็นคนศึกษา วิเคราะห์ วิจัยและทดลองตำรับอาหารใหม่ พัฒนาสูตรอาหารตามหลักวิชาการและโภชนาการ กำหนดรายการอาหาร คำนวณคุณค่าของอาหารที่ใช้บริโภค ควบคุมและให้คำแนะนำการประกอบอาหารเฉพาะโรค การถนอมอาหารหรือ แปรรูปอาหารเพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ด้านโภชนาการแก่สาธารณชน ดังนั้นแล้วด้วยเทรนด์อาหารคลีนที่กำลังมาแรง นักโภชนาการที่คิดค้นและพัฒนาสูตรอาหารจึงมีความจำเป็นมาก           ปัจจุบันนักกำหนดอาหารในประเทศไทยนั้น จะต้องขึ้นทะเบียนวิชาชีพกับ “สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย” โดยจะได้รับคำว่า กอ.ช หรือ CDT ต่อท้ายซึ่งย่อมาจาก “นักกำหนดอาหารวิชาชีพ” หรือ “Certified dietitian of Thailand” ซึ่งจะมีการจัดสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นประจำทุกปี  นักโภชนาการที่ไม่ได้สอบขึ้นทะเบียนวิชาชีพนักกำหนดอาหารจะไม่สามารถขึ้น Ward ดูคนไข้ได้และไม่สามารถเขียนใบสั่งอาหารเพื่อกำหนดอาหารให้ผู้ป่วยรับประทานในแต่ละมื้อได้ ล่าสุดเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ได้มีประกาศจากคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการกำหนดอาหาร เรื่อง ผลการพิจารณาขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหาร ที่ปฏิบัติงานด้านการกำหนดอาหาร โดยมีผู้ที่ผ่านการอนุมัติขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหาร จำนวน 371 คน และผู้ที่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต จำนวน 88 คน ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อได้           สิ่งที่ต้องรู้ในการจ้างเทรนเนอร์และนักโภชนาการ        การจ้างเทรนเนอร์ มีการแยกราคาเทรนออกมาเป็น 2 แบบ         1. แบบส่วนตัว หรือ แบบยืนสอนในยิม (On-field)         แบบส่วนตัว ราคาค่อนข้างหลากหลาย โดยเฉลี่ยแล้วมีอัตราราคาอยู่ที่ชั่วโมงละ 300-1,200 บาท/ชั่วโมง หรืออาจจะสูงถึง 1,500/1,800/2,000 หากเป็นเทรนเนอร์ต่างชาติตามฟิตเนสหรือเทรนเนอร์เซเลบริตี้          2. แบบออนไลน์ หรือ เทรนออนไลน์ (Online Training)          แบบออนไลน์ ซึ่งอัตราจ้างไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก อยู่ที่เฉลี่ย 1000-2000 /เดือน โดยส่วนมากจะมีโปรโมชั่นราคาเฉลี่ยถูกลง ซึ่งรายละเอียดการเทรนออนไลน์ จะเน้นดูแลอาหารที่ลูกค้ากินและดูแลเรื่องตารางการออกกำลังกาย        การจ้างนักโภชนาการส่วนตัว จะให้บริการในเรื่องโภชนาการเพื่อควบคุมน้ำหนัก โภชนาการเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และโภชนาการสำหรับผู้มีโรคประจำตัว โดยมีอัตราเฉลี่ยราคา 700-3000 บาทต่อเดือน อัตราเฉลี่ยข้อมูลจากเว็บ https://www.bumrungrad.com/th/packages/nutrition-tele-consultation         ลักษณะการให้บริการของเทรนเนอร์และนักโภชนาการที่ดี          คำแนะนำในการเลือกเทรนเนอร์เพื่อการลดน้ำหนักหรือปรับรูปร่าง         1) เลือกคนที่เหมาะกับเป้าหมายของคุณ         ควรรู้เป้าหมายตัวเองก่อนว่าอยากจะออกกำลังกายเพื่อจุดประสงค์อะไรเช่น อยากลดไขมัน เพิ่มกล้ามเนื้อ  ลดน้ำหนัก หากอยากฝึกซ้อมเพื่อวิ่งมาราธอน ควรเลือกเทรนเนอร์ส่วนตัวที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ         2) เลือกระดับราคาที่เหมาะสม         สาเหตุที่คนไม่อยากใช้บริการเทรนเนอร์เพราะรู้สึกว่ามีราคาที่แพง ดังนั้นควรเลือกในอัตราราคาที่เหมาะสมต่อรายได้ตัวเอง และศึกษาส่วนลด​ โปรโมชั่น เปรียบเทียบราคาเพื่อเกิดความคุ้มค่ากับตัวเองมากที่สุด         3) เลือกที่นิสัยที่ใช่         เทรนเนอร์บางคนมีความรู้ที่มากแต่สื่อสารไม่เก่งเท่าไหร่ ซึ่งแบบนี้ทำให้การออกกำลังกายของคุณไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดังนั้นก่อนตัดสินใจเลือกเทรนเนอร์ส่วนตัว ควรศึกษาลักษณะนิสัย โดยลองสอบถามพูดคุยกับเขา หรือศึกษาข้อมูลจากการรีวิวผ่านลูกค้าคนอื่น ๆ         สุดท้าย ขอเสนอทางเลือกที่จะไม่ขอตารางอาหารการกินเป๊ะๆ จากเทรนเนอร์ เพราะแต่ละคนมีลักษณะร่างกายและปัจจัยที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถกำหนดได้ว่าต้องกินอะไร หากทำไปโดยไม่เข้าใจ ถึงอาจจะเห็นผลแต่ในผลลัพธ์ที่ได้จะอยู่กับคุณไม่นาน เนื่องจากขาดความเข้าใจ และคุณไม่สามารถทำตามได้ทั้งหมด ถึงเทรนเนอร์จัดตารางให้คุณ แต่คุณไม่ชอบ ไม่สอดคล้องกับตัวคุณเอง คุณก็ทำไม่ได้อยู่ดี ดังนั้นควรตรวจสอบว่าบุคคลนั้นหรือแบรนด์นั้น ๆ ว่ามีใบอนุญาตหรือมีประสบการณ์หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของตัวเราเอง ข้อมูลอ้างอิง        https://www.gourmetandcuisine.com/stories/detail/944 เจาะลึก “อาชีพนักกำหนดอาหาร” ในยุคเทรนสุขภาพ นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 242 เดือนกันยายน 2563        https://traindee.co/uncategorized ราคาตลาดของเทรนเนอร์ 30 ตุลาคม 2021        https://hellokhunmor.com เทรนเนอร์ส่วนตัว ควรมีไหม? แล้วเลือกยังไงให้เหมาะสม        https://sorbdd.com        http://www.careercast.com/content/10-least-stressful-jobs-2011-2-dietitian อาชีพ นักโภชนาการ

อ่านเพิ่มเติม >