ฉบับที่ 275 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2567

ร้องเรียน 9,218 เรื่อง ปัญหามลพิษ ปี 2566        อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เผยมีประชาชนแจ้งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหามลพิษในปี 2566 เข้ามากว่า 9,218 เรื่อง ผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงสายด่วน 1650 โดยพบว่าจำนวน 8,043 เรื่อง เป็นกรณีเหตุรำคาญต่างๆ โดยทางกรมควบคุมมลพิษได้ให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่ผู้ร้องเรียนและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหา อีก 1,175 เรื่อง ทางกรมควบคุมมลพิษดำเนินการเอง ส่วนใหญ่แหล่งกำเนิดมลพิษ คือ โรงงานอุตสาหกรรม อาคารประเภทต่างๆ การเลี้ยงสุกร โดยได้รับการแก้ไขแล้วกว่า 836 เรื่อง         ทั้งนี้ ประเด็นที่พบมากที่สุด ได้แก่ 1. ปัญหากลิ่นเหม็น  2. ปัญหาฝุ่นละออง-เขม่าควัน และ 3. เสียงดัง-เสียงรบกวน   ผลิต-เผยแพร่สื่อลามกด้วย AI ระวังโทษคุก 5 ปี                    สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยว่า ปัจจุบันมีกลุ่มมิจฉาชีพนำเทคโนโลยี AI มาใช้สร้างเนื้อหาปลอมเพื่อใช้ในการฉ้อโกงสร้างความเสียหายให้กับประชาชน รวมถึงผลิตสื่อลามกอนาจาร โดยมักนำภาพของบุคคลมีชื่อเสียง เช่น ดารา นักแสดง นักร้อง มาใช้เป็นใบหน้าตัวอย่างและสร้างคลิปลามกแล้วนำไปเผยแพร่หรือจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ ทางออนไลน์ ประชาชนต้องระวังต่อภัยดังกล่าว ทั้งนี้ฝากเตือนถึงผู้ที่ผลิตและเผยแพร่สื่อลามกปลอมด้วย AI  ดังกล่าวนั้น จะถือว่าเข้าข่ายความผิดทางอาญาถึง 6 ฐานความผิด ระวางโทษสูงสุดจำคุก 5 ปี ปรับสูงสุดถึง 200,000 บาท ระวัง! ไลน์ปลอม ก.ล.ต. อ้างเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน         จากกรณีพบบัญชีไลน์แอบอ้างเป็น “ที่ปรึกษาด้านการลงทุน ภายใต้สำนักงาน ก.ล.ต.” นั้น   ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ทำการตรวจสอบถึงกรณีดังกล่าวแล้ว และได้ทำการชี้แจ้งว่า บัญชีไลน์ที่ว่ามีการปลอมแปลงและแอบอ้างการใช้โลโก้ของหน่วยงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งผู้ที่ได้รับข้อมูลอาจเข้าใจผิดและหลงเชื่อเข้าลงทุนจนเกิดความเสียหาย  ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่างหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว พร้อมทั้ง ไม่แชร์หรือส่งต่อข้อมูลดังกล่าวด้วย ลูกชิ้นเถื่อน         กองบังคับการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าตรวจค้นพื้นที่ ม.4 ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี หลังพบว่ามีการใช้สถานที่ดังกล่าวในการผลิตและจัดส่งจำหน่ายลูกชิ้นไม่ถูกสุขอนามัย ไปในพื้นที่ใกล้เคียง เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดลูกชิ้นกว่า 2,400 ถุง พร้อมอุปกรณ์เครื่องจักร บรรจุภัณฑ์ และส่วนผสมต่างๆ กว่า 31 รายการ พร้อมนำตัวอย่างส่งตรวจสอบ และดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ ลูกชิ้นที่พบมีทั้งมียี่ห้อและไม่มียี่ห้อรวม 9 รายการ ดังนี้ 1.ลูกชิ้นหมูตราตี๋ใหญ่  2.ลูกชิ้นหมูเมืองทอง ตราโกดี KODEE  3. ลูกชิ้นหมูเมืองทองตราที.เค  4.ลูกชิ้นหมูตราตี๋เล็ก  5.ลูกชิ้นเนื้อตราตี๋ใหญ่  6.ลูกชิ้นเนื้อ ตรา เฮง 7.ลูกชิ้นเนื้อตราเมืองเอก 8.ลูกชิ้นหมู AR  9. ชาย 2 ลูกชิ้นหมู         ทั้งนี้  การกระทำดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ฐาน “ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  มพบ. จี้ ขสมก. ตอบคำถาม “ทำไมรถต่างสี ราคาต่างกัน” ย้ำ นโยบายปฎิรูปรถเมล์ ให้คำนึงถึงผู้ใช้บริการ         16 มกราคม 67 จากกรณีรถยูโรทู "สายปฏิรูป" เปลี่ยนเลขสายใหม่ พร้อมทั้งกำหนดให้ผู้เดินรถที่ได้สัมปทานโครงการปฏิรูปเอาเลขสายใหม่ไปใช้และเก็บค่าโดยสารเพิ่มอีก 1 บาท (แพงกว่าเดิม) โดยเก็บจากราคา "อัตราขั้นสูง" ตามที่กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดไว้ในตารางค่าโดยสาร (ทำให้การลดอัตราค่าโดยสารทำได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของอัตราขั้นสูง) เปิดช่องให้ผู้เดินรถเลือกที่จะเก็บค่าโดยสารตามอัตราขั้นสูงหรือหากจะลดราคาก็ให้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับทาง ขสมก. ทั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้ประกาศแจ้งให้ผู้โดยสารรับรู้ล่วงหน้าสำหรับการขึ้นราคาครั้งนี้ จึงทำให้เกิดกระแสสังคมจากผู้บริโภคในเชิงตำหนิต่างๆ นั้น         นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “มูลนิธิฯ ขอเป็นตัวแทนผู้บริโภคตั้งคำถามไปถึง ขสมก. ที่ต้องตอบให้ชัดว่า รถต่างสี ทำไมต้องเก็บราคาค่าโดยสารต่างกัน และ การเปลี่ยนเลขหมายรถนั้นมีเหตุผลอย่างไร อะไรที่เป็นเหตุต้องปรับงขึ้นราคาค่ารถ โดยไม่แจ้งผู้โดยสารล่วงหน้า” มูลนิธิฯ ขอเรียกร้องให้กรมการขนส่งทางบก ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ตรวจสอบและแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสาร เพราะนโยบายการ “ปฎิรูปรถเมล์” ของกรมการขนส่ง ควรคำนึงถึงผู้ใช้บริการให้มีรถเมล์บริการอย่างทั่วถึงและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยเฉพาะ ขสมก. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องให้บริการรถที่มีคุณภาพและคิดค่าบริการที่ราคาเป็นธรรม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ผู้ประกอบการ “ยอดแย่” แห่งปี

        ประมาณช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี องค์กรผู้บริโภคออสเตรเลียหรือเรียกสั้นๆ ว่า CHOICE จะ “มอบ” รางวัลให้กับผู้ประกอบการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคจนสมควรแก่การพูดถึง ปีนี้เป็นการแจกครั้งที่ 18 แล้ว เจ้าของรางวัล Shonky 2023 มีตั้งแต่ร้านค้าปลีก แพลตฟอร์มหาบ้านเช่า อุปกรณ์ไอที เว็บไซต์ ไปจนถึง “ตู้เย็น”ห้างค้าปลีก Woolworths and Coles ได้รางวัลแชมป์ขูดรีด         ปีนี้คนออสซีเผชิญค่าเช่าแพง ดอกเบี้ยเงินกู้แพง แถมข้าวของยังพากันขึ้นราคาอีกการสำรวจล่าสุดพบว่าร้อยละ 88 ของคนออสเตรเลียกังวลเรื่องราคาอาหารและสินค้าในชีวิตประจำวันเพราะพวกเขาเริ่มรู้สึกว่าได้ของกลับบ้านน้อยทั้งๆ ที่จ่ายเงินมากขึ้น ในขณะที่สองห้างใหญ่โกยกำไรอู้ฟู่         เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาห้างวูลเวิร์ธประกาศว่าปีนี้มีกำไร 1,620 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากปีก่อนหน้า ผู้บริหารให้เหตุผลว่าที่กำไรเพิ่มก็เพราะมีค่าใช้จ่ายส่วนที่เกี่ยวกับโควิดน้อยลง หลังทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ ทางห้างโคลส์ก็มีกำไรถึง 1,100 ล้านเหรียญ เช่นกัน         การสำรวจโดย CHOICE ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาพบว่าร้อยละ 60 ของนักช้อปเชื่อว่าสองห้างนี้กำลังกอบโกยกำไรมหาศาลจากการขึ้นราคาสินค้า มีไม่ถึงร้อยละ 20 ที่คิดว่าซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งสองแห่ง (ครองตลาดรวมกันถึงร้อยละ 65) ได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วที่จะไม่ขึ้นราคาสินค้า RentTech แพลตฟอร์มหาบ้านเช่า ที่ข้อมูลเกินจำเป็น         นอกจากค่าเช่าบ้านที่แพงขึ้นแล้ว คนออสซีจำนวนไม่น้อยยังหาบ้านอยู่ไม่ได้อีกด้วย แพลตฟอร์มหาบ้านเช่า อย่าง Ignite, 2Apply และ Snug จึงกลายเป็นที่พึ่งสุดท้าย พวกเขาต้องยอมให้ข้อมูลมากมาย เพราะอยากมีที่อยู่ ตั้งแต่สเตทเมนท์ธนาคาร ที่อยู่ปัจจุบัน ที่อยู่ก่อนหน้า บุคคลรับรองจากงานที่ทำล่าสุด 5 งาน หรือแม้แต่รูปถ่ายของลูกๆ และสัตว์เลี้ยง         การสำรวจโดย CHOICE พบว่าร้อยละ 60 ของผู้ใช้แอปฯ เหล่า รู้สึกไม่พอใจกับปริมาณหรือชนิดของข้อมูลที่ต้องให้กับแอปฯ         ในขณะที่ร้อยละ 41 เคยถูกเจ้าของบ้านกดดันให้ทำเรื่องขอเช่าผ่านแอปฯ มีจำนวนไม่น้อย (ร้อยละ 29)ที่ตัดสินใจไม่เช่าเพราะไม่ไว้ใจแพลตฟอร์มเหล่านี้         CHOICE เสนอว่าถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องออกกฎหมายควบคุม เพื่อป้องกันการเรียกขอข้อมูลตามใจชอบโดยไม่มีการแจ้งผู้ใช้ว่าจะส่งให้ใคร นำไปใช้อย่างไร และจะเก็บไว้นานแค่ไหน  Personal alarms อุปกรณ์ฉุกเฉินที่ชิลเกินไป         สินค้ายอดนิยมอย่างหนึ่งที่ลูกหลานนิยมซื้อให้ผู้สูงอายุใส่ติดตัวคืออุปกรณ์แจ้งเตือนฉุกเฉิน เจ้าเครื่องนี้ควรจะช่วยให้ผู้ที่สวมใส่ (ห้อยไว้ที่คอ สวมรอบข้อมือ หรือติดเป็นเข็มขัด) สามารถส่งสัญญาณไปขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแลได้อย่างรวดเร็ว         แต่การทดสอบของ CHOICE ที่ทำกับอุปกรณ์นี้จำนวน  40 รุ่น พบว่ามันไม่เป็นเช่นนั้น แม้จะทำหลายปีก็ยังไม่เจออุปกรณ์ที่ดีสักรุ่นเดียว ทั้งตั้งค่ายาก ใช้งานยาก ตัวหนังสือเล็กมาก คู่มือก็ไม่มีให้ ผู้ใช้ต้องดาวน์โหลดเองจากอินเทอร์เน็ต ได้มาแล้วก็ยังอ่านยาก เจ้าหน้าที่ทดสอบ (ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี) อ่านเท่าไรก็ยังไม่เข้าใจ ต้องโทรไปถามฝ่ายบริการลูกค้าของบริษัท แถมต้องชาร์จบ่อย ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องความจำจะทำอย่างไร แต่ถึงจะจำได้ก็ชาร์จยากอยู่ดี ซ้ำร้ายบางรุ่นสัญญาณจะขาดหายเวลาที่ผู้ใช้งานอยู่บนยานพาหนะ เช่น รถเมล์ รถไฟ บ้างก็ไม่ส่งเสียงเตือนเมื่อผู้สวมใส่อยู่นอกเขตที่โปรแกรมไว้ สรุปว่าผู้ผลิตต้องปรับปรุงด่วน อุปกรณ์เหล่านี้จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายได้ก็ต่อเมื่อมันทำงานได้จริง Kogan First ทำเนียนเก็บค่าสมาชิก         การซื้อของออนไลน์ เหมือนการเดินฝ่าดงกับระเบิด หูตาต้องไว บางครั้งอาจไม่ใช่การกด “เลือก” แต่เราต้องมีสติและกด “ไม่เลือก” ไม่เช่นนั้นอาจถูกหักเงินในบัญชีบัตรเครดิตโดยไม่รู้ตัว         ผู้ที่ซื้อของกับร้านออนไลน์ของ Kogan หรือ Dick Smith จะเห็นตัวเลือก “ฟรีช้อปปิ้ง” ที่หน้าเช็คเอาท์ มีเครื่องหมายเหมือนถูกกดเลือกไว้แล้ว พวกเขาก็เข้าใจไปว่ามันฟรีตามนั้น แต่มองไม่เห็นตัวหนังสือเล็กๆ ที่แจ้งข้อความทำนองว่า “คุณได้สมัครเป็นสมาชิกเพื่อทดลองใช้บริการของเรา และสามารถใช้ได้ฟรีเป็นเวลาสองสัปดาห์ หากพ้นกำหนดแล้วคุณจะถูกหักเงิน 99 เหรียญ”         CHOICE ทอลองให้ผู้ใช้ 19 คน ลองเข้าไปใช้งานเว็บไซต์ดังกล่าว และพบว่ามีถึง 9 คนที่ “พลาด” สมัครใช้บริการโดยไม่รู้ตัวว่าอีกสองอาทิตย์จะถูกหักเงิน         ปัจจุบันออสเตรเลียยังไม่มีกฎหมายที่จะสกัดพฤติกรรมแบบนี้ของผู้ประกอบการ ในขณะที่ยุโรป อเมริกาและสิงคโปร์มีแล้ว   Xbox Mini Fridge ตู้เย็นอะไร แช่แล้วไม่เย็น         เครื่องใช้ไฟฟ้านี้เป็นผลงานที่ Microsoft กับ Ukonic ร่วมกันพัฒนาเพื่อตอบโต้เรื่องล้อเลียนบนอินเทอร์เน็ตที่บอกว่าเกมคอนโซล Xbox Series X หน้าตาเหมือนตู้เย็นไม่มีผิด         ไหนๆ ถูกล้อแล้วก็ทำตู้เย็นไปเลย แต่ปัญหาคือมันแช่แล้วไม่เย็นนี่สิ         การทดสอบของ CHOICE ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิ 32 องศา พบว่าตู้นี้ใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมงกว่าจะทำให้เครื่องดื่มบรรจุกระป๋อง 8 กระป๋อง มีอุณหภูมิ 21 องศา (น้ำเปิดจากก๊อกยังเย็นกว่า) แถมยังกินไฟมากด้วย ถ้าเสียบปลั๊กไว้ทั้งวันทั้งคืนจะกินไฟประมาณ 376 kWh ต่อปี ไม่ต่างกับตู้เย็นขนาด 500 ลิตร ที่ทำความเย็นได้จริงๆ เลย เสียชื่อไมโครซอฟท์ที่เป็นผู้นำด้านการลดการใช้พลังงานของวิดีโอเกม         CHOICE สรุปว่ามันไม่ใช่ตู้เย็น มันเป็นแค่ตู้เก็บความเย็นที่มีความจุ 10 ลิตร เราต้องนำของไปแช่ในตู้เย็นจริงๆ ก่อนแล้วค่อยเอามาใส่ แถมยังแช่เครื่องดื่มได้น้อยกว่าที่ออกแบบและโฆษณาไว้ เพราะกระป๋องเครื่องดื่มในออสเตรเลียมีขนาดใหญ่กว่าในอเมริกา เลยใส่ได้แค่ 8 กระป๋อง แทนที่จะเป็น 12

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 อย่าเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ลงทุนน้อย ผลตอบแทนสูง ใช้เวลาสั้น ไม่มีในโลก

        เขียนมาตั้งหลายสิบตอนเพิ่งจะนึกได้ว่าไม่เคยพูดถึงวิธีสังเกตและป้องกันตัวเองจากพวกมิจฉาชีพที่หลอกให้ลงทุนนั่นนี่เลย ตอนนี้เลยต้องขอพูดถึงซะหน่อยเพราะมีเยอะจริงๆ แถมมีสักพักใหญ่แล้วด้วย        จำได้ไหม? เคยบอกว่าเมื่อไหร่ที่ผู้เสนอให้ลงทุนบอกว่าจะได้ผลตอบแทนเยอะๆ ต่อเดือน เช่น ร้อยละ 5 บางที่ให้ตัวเลขสูงถึงร้อยละ 30 ต่อเดือน เจอตัวเลขแบบนี้ให้เอะใจก่อนเลยว่ามิจฉาชีพแน่ๆ เพราะนักลงทุนเก่งๆ ก็ยังทำผลตอบแทนไม่ได้ขนาดนี้เลย         ตามหน้าเฟสบุ๊คเรามักจะเห็นมิจฉาชีพนำรูปวิกรม กรมดิษฐ์ ผู้ก่อตั้งอมตะ คอร์ปเปอเรชั่นมาใช้บ่อยๆ (ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน ประเทศไทยมีนักธุรกิจใหญ่ๆ ตั้งมากมาย) แล้วหลอกล่อว่าคุณกำลังจะมีโอกาสลงทุนกับบริษัทมหาชนอย่างอมตะ แถมได้ผลตอบแทนต่อเดือนสูง ใช้สามัญสำนึกพื้นฐาน มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่คนอย่างวิกรมจะมาถ่ายรูปแปะบนป้ายเชิญชวนคนมาลงทุน อยากลงทุนกับอมตะก็ไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์สิ         สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เคยบอกข้อควรระวังไว้ 5 ข้อ ถ้าเจอแบบนี้ให้ถอยห่าง อย่าไปยุ่ง        1.เพจที่บอกว่าจะให้ผลตอบแทนสูงๆ ในเวลาสั้นๆ แต่ใช้เงินไม่มาก (เป็นไปไม่ได้)        2.การันตีผลตอบแทนว่าได้แน่ๆ (กองทุนรวมระดับโลกยังไม่กล้าการันตีเลย)        3.อ้างชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียง (ทำไมไม่อ้างวอร์เรน บัฟเฟตต์ไปเลย)        4.ไม่สามารถตรวจสอบธุรกิจได้ (ก็มันไม่มีอยู่จริง จะตรวจสอบได้ยังไง)5.รีบให้ตัดสินใจลงทุน (มุขเดิมๆ ยิ่งช้า ยิ่งเสียโอกาส)นอกจากนี้ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร) ยังเคยเตือนด้วย ซึ่งบางส่วนคาบเกี่ยวกับการหลอกให้ลงทุน เพราะฉะนั้นอย่าทำ        1. คิดว่าไม่เป็นอะไร มักจะมีคนคิดว่า “ลองดูสักหน่อย เงินแค่สามสี่พัน ไม่น่าจะมีอะไร เจ็บตัวไม่มาก เผื่อฟลุ้ค” คนที่คิดแบบนี้มักเป็นคนแรกๆ ที่ถูกหลอก         2. ชอบคุยกับเพื่อนใหม่ เป็นคนอัธยาศัยดีก็ดีอยู่ แต่ก็ต้องระมัดระวังและเอะใจเสมอเมื่อไหร่ที่เพื่อนใหม่เริ่มพูดเรื่องเงิน        3. ชอบสินค้าราคาถูก อันนี้ก็คล้ายๆ กับชอบการลงทุนน้อย แต่ได้ผลตอบแทนเยอะๆ นั่นแหละ        4. ชอบเสี่ยงโชค เพราะเห็นตอบแทนสูงๆ ก็อยากเสี่ยง สุดท้ายก็ตกไปในวังวนแชร์ลูกโซ่                 5. ชอบช่วยเหลือ คนประเภทนี้น่าสงสารที่สุด ทั้งที่มีจิตใจชอบช่วยเหลือ เห็นคนลำบากก็อยากช่วย แต่ก่อนจะช่วยฉุกใจคิดสักหน่อย เพราะบางทีอาจเป็นมิจฉาชีพแฝงตัวมาหรือแม้กระทั่งสร้างเฟสปลอมของเพื่อนเรา ดังนั้น ข้อมูลส่วนตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญจำไว้ว่าการลงทุนน้อยๆ ได้ผลตอบแทนสูงๆ ในเวลาสั้นๆ ไม่มีในโลก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 ลืมฉันได้ไหม

        เทคโนโลยีในการระบุตัวตนด้วยข้อมูลใบหน้า ไม่ใช่เรื่องใหม่ เราคุ้นเคยกันดีกับฟังก์ชันปลดล็อกสมาร์ตโฟน หรือการยืนยันตัวตนเพื่อความปลอดภัยที่สนามบินบางแห่ง แต่เราอาจไม่สบายใจนัก หากมีใครมาแอบส่องและบันทึกข้อมูลใบหน้าของเราขณะจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าอยู่ในห้าง          เรื่องนี้กำลังเป็นเรื่องร้อนที่ออสเตรเลีย หลังองค์กรผู้บริโภค Choice ได้สำรวจการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในห้างค้าปลีก 25 แห่ง และพบว่ามีห้างค้าปลีกสามห้าง ได้แก่ Kmart, Bunnings และ The Good Guys ที่นำเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาใช้ ด้วยเหตุผลหลักคือป้องกันการสูญหายของสินค้า โดยทางห้างอ้างว่าได้ติดป้ายแจ้งให้ผู้บริโภคทราบแล้วว่าการเดินเข้าประตูมาถือเป็นการยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวแต่ป้ายเหล่านี้มีขนาดค่อนข้างเล็ก ถ้าไม่ตั้งใจมองก็อาจพลาดไปได้ง่ายๆ จึงเกิดคำถามว่า ห้างแน่ใจได้อย่างไรว่าลูกค้าเห็น และได้อ่านป้ายดังกล่าวแล้วจริงๆ และผู้บริโภครู้หรือไม่ว่าข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำไปใช้หรือจัดเก็บอย่างไร นานแค่ไหน ส่งต่อให้ใคร ปลอดภัยจากการถูกแฮคหรือไม่ ที่สำคัญคือไม่มีออปชัน “ไม่ยินยอมให้จดจำใบหน้าของฉัน” ให้ลูกค้าได้เลือก        การสำรวจความคิดเห็นของนักช้อป 1,000 คน ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาโดย Choice พบว่ามีถึงร้อยละ 76 ที่ไม่รู้ว่ามีการนำระบบจดจำใบหน้ามาใช้ในห้าง  ร้อยละ 78 บอกว่าตนเองรู้สึกกังวลเรื่องความปลอดภัย และร้อยละ 83 บอกว่าห้างควรแจ้งให้ลูกค้าทราบล่วงหน้าด้วย            เทคโนโลยีที่ว่านี้ นอกจากจะเก็บข้อมูล “ใบหน้า” ของลูกค้าแล้ว ยังติดตามจำนวนครั้งที่ลูกค้าเข้าร้าน ช่วงเวลาและระยะเวลาที่อยู่ในร้าน อีกทั้ง “รีแอคชัน” ของลูกค้าเมื่อเห็นป้ายราคา หรือโฆษณาต่างๆ รวมไปถึงบุคคลที่มักจะมาเดินช้อปด้วยกัน เป็นต้น          ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนี้บอกว่า ข้อมูลใบหน้าของลูกค้าจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับภาพในฐานข้อมูลที่มีการ tag แยกหมวดหมู่ไว้ และในอุดมคติ ภาพใบหน้าเหล่านี้จะถูกเข้ารหัสและนำไปจัดเก็บไว้อย่างปลอดภัยในไฟล์ที่อ่านได้โดยอัลกอริธึมเฉพาะเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ยังไม่มีใครสามารถรับรองได้        ส่วนในทางเทคนิค ห้างสามารถนำข้อมูลใบหน้าที่มีอยู่ ไปเทียบกับ “รูปถ่าย” ในโซเชียลมีเดียที่เจ้าของหน้าโพสต์ไว้ ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเครดิต ฐานะทางเศรษฐกิจ กลุ่มคนที่คบหาหรือแม้แต่ทัศนคติทางการเมืองของลูกค้าได้ด้วย        โดยสรุปคือองค์กรผู้บริโภคเป็นกังวลและต้องการความโปร่งใสเรื่องแนวปฏิบัติในการจัดการข้อมูลของบริษัทเหล่านี้ เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวอาจเป็นการละเมิดกฎหมายความเป็นส่วนตัวของออสเตรเลียที่ระบุว่า “ข้อมูลที่ผู้ประกอบการจัดเก็บ จะต้องเหมาะสมกับเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ และจะต้องไม่มากไปจนอาจก่อให้เกิดอันตราย”         ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลแห่งออสเตรเลีย Australian Information Commissioner (OAIC) กำลังดำเนินการสอบสวนห้าง Kmart และ Bunnings ว่านำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้อย่างไร ละเมิดกฎหมายเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือไม่ ทั้งสองห้างบอกว่ายินดีให้ความร่วมมือ ในขณะที่ The Good Guys ก็ประกาศหยุดการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวไว้จนกว่าจะรู้ผลการสอบสวน        ระหว่างนี้ Choice ได้ให้คำแนะนำแบบติดตลกไว้ว่า หากผู้บริโภคไม่อยากถูกจดจำใบหน้าเวลาไปเดินห้าง ก็ให้ใส่หมวก ใส่แว่นกันแดด หรือหน้ากากอนามัยไปพลางๆ ก่อน แต่ก็ต้องทำใจเพราะช่วงเวลาทองนี้คงมีอีกไม่นาน เทคโนโลยีดังกล่าวกำลังถูกพัฒนาให้ฉลาดขึ้นทุกวันhttps://www.smh.com.au/technology/kmart-and-bunnings-use-of-face-recognition-tech-sparks-investigation-20220713https://www.choice.com.au/consumers-and-data/data-collection-and-use/how-your-data-is-used/articles/kmart-bunnings-and-the-good-guys-using-facial-recognition-technology-in-storehttps://www.securityindustry.org/wp-content/uploads/2022/04/future-of-facial-recognition-web.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 28-DeFi ระบบการเงินไร้คนกลาง (คงต้องรออีกนาน)

        ก็รู้ๆ กันอยู่ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลได้สร้างสินทรัพย์ชนิดใหม่ๆ ขึ้นมาหลายอย่าง มีคนรวยจากมันก็มาก บาดเจ็บก็เยอะ บิทคอยน์นี่ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นชัดเจน ช่วงที่ผ่านมาทำเอาหลายคนน้ำตาตกเพราะเงินดิจิทัลตกเอาๆ         โลกดิจิทัลยังไปต่อไม่รอใครทั้งนั้น ราวๆ 5 ที่แล้วหรือปี 2018 โลกเราก็ได้รู้จักกับ DeFi หรือ Decentralized Finance แปลเป็นไทยน่าจะประมาณว่า การเงินแบบกระจายศูนย์หรือบางทีก็เรียกว่าเป็นการเงินแบบไม่มีคนกลาง         คนกลางในที่นี้เป็นใคร?         ง่ายสุดคือธนาคาร ตั้งแต่สยามเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ธนาคารก็มีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อเศรษฐกิจไทย มีอิทธิพลชี้เป็นตายของธุรกิจเนื่องจากเป็นผู้กุมเงินสดและมีสิทธิจะให้ใครกู้หรือไม่กู้ ในยุคทหารครองอำนาจเราจึงเห็นนายธนาคารอัญเชิญนายพลไปนั่งเป็นคณะกรรมการกันมากมาย ปล่อยกู้ให้พวกพ้อง นักการเมือง จวบจนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ธนาคารและสถาบันการเงินล้มระเนนระนาดนั่นแหละ อิทธิพลของนายธนาคารจึงลดลง แต่ไม่ได้หมดไป         ขณะที่ตระกูลมหาเศรษฐีอาจใช้แค่นามสกุลบนบัตรประชาชนกู้เงินจากธนาคารได้ไม่ยากเย็น รายเล็กรายน้อยกลับลำบากยากเข็ญ ต้องพินอบพิเทา กว่าจะได้เงินสักแดงมาทำธุรกิจหรือซื้อบ้าน         แต่ DeFi ไม่ง้อธนาคาร มันเปิดทางให้ผู้กู้เข้าถึงผู้ปล่อยกู้ได้โดยตรง ถึงตรงนี้คงเกิดคำถามว่าถ้าเกิดผู้กู้ชักดาบล่ะ เรื่องนั้นไม่ต้องห่วง เพราะผู้กู้จะต้องฝากทรัพย์สินดิจิทัลของตนไว้บนแพลตฟอร์มเพื่อค้ำประกัน อารมณ์เหมือนแม่ค้าเอาทองไปตึ๊งไว้กับอาเสี่ยหรือเราไปโรงรับจำนำนั่นแหละ         ฟังดูดีใช่ไหม? ยังไม่แน่ DeFi ยังมีข้อบกพร่องให้แก้ไขอีกมาก แม้จะมีคนเริ่มลงทุนสร้างผลตอบแทนจากมันแล้ว แต่ผลตอบแทนก็ยังไม่คงที่ ความปลอดภัยก็ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์         ที่สำคัญ ถ้าคิดว่ามันจะมาแทนสถาบันการเงิน ช่วยให้รายเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้คงต้องคิดใหม่ คำถามพื้นฐานที่สุดคือเวลานี้มีคนไทยที่เป็นชนชั้นกลางหรือผู้มีรายได้น้อยสักกี่คนที่มีความรู้เรื่องนี้ มีสักกี่คนที่มีสินทรัพย์ดิจิทัลสำหรับค้ำประกัน         แค่ Digital Divide หรือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตระหว่างเขตเมืองกับชนบทยังต่างกันอยู่เลย เรายังต้องการนโยบาย การส่งเสริม และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอีกเยอะเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนและเข้าถึงการออมการลงทุนในรูปแบบใหม่ๆ         แล้วในประเทศที่เพิ่งประกาศให้ใช้อีเมล์รับ-ส่งหนังสือราชการได้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2564 คิดดูแล้วกันว่าต้องรออีกนานแค่ไหน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 กระแสต่างแดน

ผู้ดีบ้านแตกการสำรวจความเห็นของชาวอังกฤษรายได้น้อยที่เพิ่งซื้อบ้านใหม่จำนวน 4,341 คน พบว่าร้อยละ 50 ของพวกเขาเจอปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้าง และระบบต่างๆ ในบ้านหน่วยงาน National House Building Council ที่มีหน้าที่ตรวจสอบข้อบกพร่องของบ้านสร้างใหม่ และให้การรับประกันเป็นเวลา 10 ปี ถูกพบว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างจนเกินงามและใส่ใจประโยชน์ของบริษัทมากกว่าความเป็นอยู่ที่ดีของชาวบ้าน  สุดท้ายคนรายได้น้อยจึงต้องจ่ายเงินสร้างบ้านแพงขึ้นแต่ได้บ้านที่คุณภาพลดลงShelter องค์กรที่ทำการสำรวจครั้งนี้เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูประบบการจัดหาบ้านเอื้ออาทรโดยด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้อำนาจองค์กรท้องถิ่นจัดหาที่ดินในราคาถูก ตั้งบริษัทรับเหมา และใช้พื้นที่สาธารณะให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมจริงๆ ไม่ใช่ขายให้กับกลุ่มทุนที่ทุ่มซื้อในราคาสูงเพื่อสร้างบ้านขายในราคาที่คนทั่วไปเอื้อมไม่ถึง ไม่ดื่มก็ต้องจ่ายความผิดพลาดในการทำงานของเจ้าหน้าที่สามปีก่อน น้ำประปาในเมืองฟลินท์ รัฐมิชิแกนของสหรัฐฯ จึงปนเปื้อนด้วยสารตะกั่ว เหตุเพราะเขาต้องการลดต้นทุนในการผลิตน้ำด้วยการเปลี่ยนมาใช้แหล่งน้ำใหม่ แต่กลับหละหลวมไม่ตรวจสอบการรั่วไหลของโลหะในท่อส่งน้ำ บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องก็ถูกดำเนินคดีเป็นที่เรียบร้อย และทางการก็ช่วยรับภาระค่าน้ำให้ร้อยละ 65 เป็นการชดเชยให้กับผู้ใช้น้ำที่ใช้ได้บ้างไม่ได้บ้างวันนี้ทางการประกาศว่าน้ำที่นั่นกลับมามีมาตรฐานเดียวกันกับที่อื่นๆ แล้ว เพียงแต่ถ้าคุณต้องการใช้ดื่ม ก็ต้องไปขอรับฟิลเตอร์สำหรับกรองตะกั่วมาใช้ด้วย   และจะเริ่มเก็บค่าน้ำในราคาเต็มอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยยังไม่กล้าใช้น้ำจากก๊อกในการประกอบอาหารหรือใช้อาบ พวกเขาพึ่งพาน้ำบรรจุขวดเป็นหลัก และกำลังลุ้นกันอยู่ว่ารัฐจะหยุดแจกน้ำบรรจุขวดอีกด้วยหรือเปล่า  ไม่ใช่ผม ชายวัย 54 จากเมืองโบยโร ตกใจมากเมื่อเห็นรูปของเขาตอนนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลบนซองบุหรี่พร้อมกับข้อความ “การสูบบุหรี่อาจทำให้หลอดเลือดอุดตันและพิการได้”ชายซึ่งไม่ได้สูบบุหรี่คนนี้เชื่อว่าเขาถูกแอบถ่ายที่โรงพยาบาลเมื่อสามปีก่อน ขณะกำลังพักฟื้นและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหลังเข้ารับการผ่าตัดใส่แผ่นไทเทเนียมที่หลังเพื่อรักษาอาการปวด หน่วยงานสาธารณสุขของสเปนกำลังโดนสอบสวนโทษฐานที่ใช้รูปถ่ายของผู้ป่วยโดยไม่ได้รับอนุญาต การสืบสวนหาตากล้องมือดียังคงดำเนินต่อไป แต่เหตุการณ์ซับซ้อนขึ้นเล็กน้อยเมื่อหน่วยงานดังกล่าวระบุว่าเครื่องช่วยหายใจในภาพนั้นไม่ใช่แบบที่โรงพยาบาลในเครือใช้นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในสเปน ก่อนหน้านี้หญิงชาวบาเซโลนาก็เคยร้องเรียนเรื่องที่รูปถ่ายของสามีผู้ล่วงลับเธอไปปรากฏบนซองบุหรี่มาแล้ว  ฉลาดได้อีก อีกไม่เกิน 20 ปีเราจะมีรถยนต์ที่ไม่ต้องใช้คนขับแล้ว (แต่เรายังต้องใช้ถนน) เทคโนโลยีในการสร้างถนนหนทางจึงกำลังถูกพัฒนาขึ้นมารองรับเจ้ารถอัจฉริยะที่ว่าเดือนตุลาคมนี้เราจะได้เห็น “สะพานฉลาด” บนออโต้บาห์น หมายเลข 9 ในเมืองนูเร็มเบิร์ก ทางเหนือของแคว้นบาวาเรียสะพานมูลค่า 11 ล้านยูโร(400 กว่าล้านบาท) ที่มีความยาว 156 เมตรนี้จะส่งข้อมูลจากเซนเซอร์ที่ทำงาน 24 ชั่วโมงเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสะพาน เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ความตึง แรงกดจากยวดยาน และความเคลื่อนไหวบนตัวสะพานทำให้วิศวกรสามารถประเมินการเสื่อมสภาพหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนถึงช่วงซ่อมบำรุงตามกำหนด และยังทำให้รู้ว่ามีรถคันไหนวิ่งสวนเลนหรือแอบเข้ามาจากจุดที่ไม่อนุญาต เป็นการป้องกันอุบัติเหตุและสภาพจราจรติดขัดด้วยสะพานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทดสอบออโต้บาห์นดิจิตัล ที่รัฐบาลเยอรมนีทำร่วมกับบริษัทซีเมนส์  บ๊ายบาย FM นอร์เวย์เป็นประเทศแรกในโลกที่มีการส่งกระจายสัญญาณวิทยุโทรทัศน์แบบดิจิตัลทั้งหมด กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาเขาเริ่มยกเลิกการส่งกระจายเสียงด้วยระบบ FM ทางภาคเหนือของประเทศแล้วจะค่อยๆ ไล่ลงมาทางใต้จนยกเลิกทั้งหมดในปีนี้  รัฐบาลให้เหตุผลว่าภูมิประเทศที่เป็นภูเขาและหุบเขานั้นเหมาะกับการส่งสัญญาณแบบดิจิตัลมากกว่า ประกอบกับอุปกรณ์ FM ที่ใช้มานานก็หมดสภาพ และนอร์เวย์จะมีสถานีวิทยุระดับชาติได้ถึง 40 สถานีจากปัจจุบันที่มีเพียง 5 สถานี สำคัญที่สุดคือเขาจะประหยัดได้ปีละ 200 ล้านโครน หรือ 800 ล้านบาทแต่การสำรวจระบุว่ามีประชากรเพียงร้อยละ 17 เท่านั้นที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนมาใช้ระบบ DAB (Digital Audio Broadcasting) ที่ทำให้เครื่องรับวิทยุเกือบ 8 ล้านเครื่องกลายเป็นของสะสม และเจ้าของรถยนต์ต้องควักกระเป๋า 1500 โครน (ประมาณ 6,000 บาท) เพื่อเปลี่ยนวิทยุในรถให้เป็นระบบใหม่  ข่าวบอกว่า สวิตเซอร์แลนด์ กำลังจะเป็นรายต่อไป ตามด้วยเดนมาร์ก สวีเดน และเกาหลีใต้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 YellowPages Live ติดตามตัว

ผู้อ่านจำหนังสือเล่มหนาๆ ปกเหลืองๆ ที่ถูกแจกจ่ายไว้ตามบ้านทุกหลังคาเรือนได้ไหมค่ะ คุณสมบัติของเล่มนี้จะช่วยค้นหาเบอร์ติดต่อร้านค้า สำนักงาน โรงพยาบาล สถานีตำรวจ หรือแม้แต่เบอร์โทรศัพท์บ้านของเราก็มีระบุไว้ สมุดเล่มนี้มีชื่อว่า “สมุดหน้าเหลือง” หรือเรียกว่า เยลโล่เพจเจส (YellowPages) เป็นชื่อที่ผู้เขียนและผู้อ่านรู้จักเป็นอย่างดี  ซึ่งเป็นหนังสือขนาดเล่มหนา มีปกสีเหลือง โดยได้รวบรวมรายชื่อธุรกิจ สินค้า และบริการ มาเรียบเรียงไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อแจกจ่ายไปตามบ้านเรือน บริษัท ห้างร้าน และแหล่งธุรกิจ  ภายหลังสมุดหน้าเหลืองได้ถูกพัฒนาเป็นรูปแบบออนไลน์ บน  http://www.yellowpages.co.th แต่ด้วยความทันสมัยของเทคโนโลยีบนสมาร์ทโฟนในโลกปัจจุบัน  สมุดหน้าเหลือง จึงถูกพัฒนามาเป็น YellowPages Live Application และสามารถรองรับทุกระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็น iOS (iPhone หรือ iPad), Android OS, BlackBerry OS, Windows Phone, Windows Mobile และ สมาร์ทโฟน หรือฟีเจอร์โฟน ที่รองรับ J2ME  จะสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนี้จาก http://www.typlive.com/mobile  มาติดตั้งใช้งานได้ทันที แอพพลิเคชั่น YellowPages Live มีอยู่ 5 ส่วน คือ ส่วนแรก Highlight เป็นส่วนที่อัพเดทข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจ ส่วนที่สอง Search จะเป็นส่วนค้นหาหมายเลขสำคัญ เบอร์ฉุกเฉิน คำค้นยอดนิยม ส่วนลดร้านอาหาร และโปรโมชั่นต่างๆ โดยสามารถคลิกรับโปรโมชั่นที่ต้องการได้ทันที ส่วนที่สาม Map สามารถค้นข้อมูลและให้แสดงผลในรูปแบบแผนที่ได้ เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการทราบเส้นทางการเดินทาง ส่วนที่สี่ Content อัพเดทราคาน้ำมัน ราคาทอง อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน เลขหมายน่าสนใจ 4 หลัก รวมถึงสลากกินแบ่งรัฐบาล ส่วนที่ห้า Member เป็นส่วนของการ log in สำหรับสมาชิก ผู้อ่านสามารถสมัครเป็นสมาชิกกับแอพพลิเคชั่น YellowPages Live ได้ทันที ผู้อ่านลองดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนี้มาใช้กันนะคะ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายสำหรับการค้นหาเบอร์ติดต่อในกรณีเหตุสุดวิสัยและสามารถพกพาไปได้ทุกสถานที่ แถมแอพพลิเคชั่น YellowPages Live ยังสามารถรองรับได้ทุกระบบปฏิบัติการได้ขนาดนี้ มีแอพฯ นี้ไว้ในมือถือก็ดีไม่น้อยนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 99 สนุก Hi5 ขายแบบไม่ตกยุค

เรื่องเล่าเฝ้าระวังภก.ภาณุโชติ ทองยัง : สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม วัยรุ่นยุคนี้เขามี Hi5 กัน ผมคนหนึ่งล่ะที่ไม่ยอมตกยุค ขอตะเกียกตะกายมี Hi5 กับเขาบ้าง คนที่เคยเล่น Hi5 คงจะรู้ว่า วันดีคืนดี จะมีคนมาขอ add เพื่อเป็นเพื่อน Hi5 ของเรา ทีแรกผมก็หลงคิดว่าตัวเองมีเสน่ห์มากมาย ไหนได้ ระบบมันสุ่มสี่สุ่มห้า ส่งไปทั่ว (ฮา) แต่อย่างไรก็ตาม ถึงผมจะปูนนี้แล้วก็ใช่ว่าจะรับ add ใครๆ แบบใจง่ายนะครับ หากแปลกหน้าแปลกตาไป ผมมักจะต้องขอตามไปดูที่ Hi5 ของเขาก่อนว่าเป็นใคร มาจากไหน และวันหนึ่งผมก็ตามไปเจอข้อมูลนี้ปรากฎใน Hi5 ของคนๆ หนึ่ง “Agel Suspension Technology” นวัตกรรมใหม่ของสารอาหารสุขภาพ หนึ่งเดียวในโลกของเทคโนโลยี เจล นิวตริชั่นนอล เป็นสารสกัดจากธรรมชาติ 100% สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างเต็มที่ ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว ภายใน 3-15 นาที สารอาหารออกฤทธิ์เร็ว ให้สารอาหารในปริมาณที่แม่นยำ ความเข้มข้นสารอาหารในร่างกายคงที่ จึงทำให้ได้รับสารอาหารครบ ไม่มีผลต่อระดับของเหลวในร่างกาย รสชาติดี รับประทานง่าย บรรจุภัณฑ์ช่วยคงคุณภาพของสารอาหารได้ดี และพกพาสะดวก รูปแบบทันสมัย โดดเด่น” แถมลงท้ายแบบท้าทายใจวัยสะรุ่นซะอีก “.....คุณจะดูเป็นเหมือนคนป่วยกินยา เวลากินอาหารเสริมแบบเม็ดและน้ำ......หรือเป็นคนรุ่นใหม่กินอาหารเสริมแบบเจล ที่เสริมทั้งสุขภาพ บุคลิกภาพ และรายได้.....อยู่ที่คุณเลือก..!” ได้ผลแฮะ ปรากฏว่ามีคนสนใจ มาเม้นต์ ด้วยครับ “มั่นใจได้ไงว่าไม่มีผลข้างเคียงต่อตับ และไตไม่ทำงานหนักเหรอ ...แล้วราคามันเอื้อมถึงไหมเนี่ย มันเป็นแบบ MLM หรือเปล่าอ่ะคุณพี่” เจ้าของ Hi5 เลยถือโอกาสตอบซะเลย “ด้วยความที่ดูดซึมได้เร็ว ทำให้ไม่เปลี่ยนแปลงระดับของเหลวของร่างกาย สารอาหารที่ช่วยรักษาสมดุลของเลือดและการทำงานของร่างกาย จะส่งผลดีต่อการทำงานของตับและไตอีกต่างหากครับ ราคาสำหรับสมาชิกอยู่ประมาณ 2500 เป็นระบบ MLM ครับ ..........แต่สำหรับ Agel เราคือ เครือข่ายคนรักสุขภาพ ต่อให้ไม่ใช่นักขาย ต่อให้เกลียดการขาย ก็สามารถประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ได้ครับ” เรียกว่าทั้งบรรยายสรรพคุณ และแนะนำเครือข่ายการขายไปพร้อมๆ กันเลย ทีเดียว ด้วยความสงสัย (ความจริงก็อยากจุ้นน่ะครับ...ฮา) ผมเลยขอตามรอยไปดูผลิตภัณฑ์นี้ในเน็ต ก็เลยพบข้อมูลที่อ้างว่า เป็นสารสกัดจากผลไม้หายาก 17 ชนิด และยังอ้างอีกว่า ในสารสกัดจากผลไม้สุกจะทำให้สารต้านอนุมูลอิสระกว่า 200 ชนิด ดูแลการล้างสารพิษระดับเซลล์ ชะลอความชราและช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งอีก ไอ้ผลไม้หายาก 17 ชนิด ก็มี องุ่นดำ บลูเบอร์รี่ แครนเบอร์รี่ อโรเนีย โปรเมแกรนเต้ อเซโลร่า เอลเดอร์เบอร์รี่ พรุน โนนิ บิลเบอร์รี่ โวลฟ์เบอร์รี่ ว่านหางจระเข้ แก็ค ซีบัคธอร์น มังคุด รูอิโบ้ส อาไค และยังระบุคุณสมบัติที่น่าทึ่งอีกมากมาย เช่น ป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เหมาะกับผู้ที่เป็นภูมิแพ้และหอบหืด ผู้ที่มีปัญหาความดันโลหิตสูงและปวดประจำเดือน กระตุ้นภูมิต้านทานชีวิต ฟื้นฟูเซลล์ให้แข็งแรง ช่วยขจัดล้างสารพิษในร่างกาย (อนุมูลอิสระ) ทำงานได้ระดับเซลล์ (ไลโบโซม) ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ลดภาวะเสี่ยงของเส้นเลือดหัวใจตีบ ลดอัตราเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง..... 1 ซอง 21g ราคา 110 บาท , 1 กล่อง 30 ซอง ราคา 3000 บาท เป็นไงครับ โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงจนผิดกฎหมายอีกแล้ว เลยถือโอกาส เตือนผู้บริโภคนะครับ อย่าได้หลงเชื่อ ยิ่งยุคนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ มักมีรูปแบบกลไกในการขายแปลกๆ ใหม่ๆและทันสมัยเสมอๆ หากเจ้าหน้าที่ตามไม่ทันก็อาจจะหลงหูหลงตาไปได้ ยังไงใครพบเห็นอะไรทะแม่งๆ ช่วยนำมาบอกต่อเพื่อเตือนกันด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 Internet of Things: เทคโนโลยีที่ส่งผลต่อชีวิตของผู้บริโภค (2)

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการปัจจุบันนี้นอกจากการเชื่อมต่อผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์แล้ว การเชื่อมต่อของเครื่องมือ เครื่องจักรอุปกรณ์อื่นๆ ก็สามารถเชื่อมต่อได้เช่นกัน เรียกว่า Internet of Thingsสิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคพึงทราบไว้ก็คือ อุปกรณ์เครื่องใช้อิเลคทรอนิกส์ในกลุ่ม  Internet of Thingsมักมีการติดตั้งชิป (Chip) และเซนเซอร์ ไว้ในอุปกรณ์ดังกล่าว โดยที่เราอาจไม่ทราบ ซึ่งจากสถิติปัจจุบันที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ชิปหรือ เซนเซอร์ คือ ประมาณ 6,000 ล้านเครื่อง และภายใน 4 ปี จะเพิ่มเป็น 21,000 ล้านเครื่อง อุปกรณ์ที่ติดตั้งสำเร็จรูปไว้แล้ว ก็เช่น อุปกรณ์ติดตัวมนุษย์อัจฉริยะ (smart products) สามารถวัดอุณหภูมิของร่างกายมนุษย์ที่ใช้อุปกรณ์นั้นๆ หรือ สามารถวัดอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมรอบกายมนุษย์ได้ หรือสามารถแจ้งเตือนว่าลูกกลับจากโรงเรียนมาถึงบ้านแล้ว     เมื่อเทคโนโลยีส่งผลต่อชีวิตอย่างมหาศาล ก็มีสิ่งที่เราควรต้องคำนึงถึง ซึ่งในฉบับที่แล้วผมได้นำเสนอข้อมูลในประเด็นเรื่อง ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวและการละเมิดสิทธิ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการใช้เครื่องมือไฮเทคเหล่านี้ ซึ่งยังมีต่อดังนี้ครับ ประเด็นด้านความปลอดภัยในสังคมที่เข้าสู่ยุค internet of things มีความเชื่อกันว่า ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจะดีขึ้นผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในยุโรปหลายเจ้าติดตั้งอุปกรณ์แจ้งเตือนทันทีในกรณีที่รถยนต์ต้องเข้ารับการซ่อมแซม ในปี 2018 อียูออกประกาศให้รถยนต์ทุกคันต้องติดตั้งระบบ ecall ซึ่งเป็นระบบการแจ้งเตือนฉุกเฉิน ในกรณีที่รถยนต์เกิดอุบัติเหตุ หรืออย่างบริษัทกูเกิลที่กำลังพัฒนารถยนต์ที่ขับเคลื่อนได้เองโดยไม่ต้องใช้คนขับ เพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่เกิดจากมนุษย์ นอกจากนี้ในระบบ smart home ในกรณีที่เกิดขโมยลักลอบเข้าบ้าน ท่อน้ำแตก ไฟไหม้ ก็จะส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังเจ้าของบ้านทันทีประเด็นสุขภาพและการกำหนดจังหวะชีวิตของตัวเองปัจจุบันเราจะเห็นคนรอบข้างใช้ fitness smartwatch เพิ่มมากขึ้น อุปกรณ์ประเภทนี้จะช่วยเก็บข้อมูลการออกกำลังกายของเรา และช่วยกระตุ้นเตือนให้คนที่คล้อง fitness smart watch ออกกำลังกายเพิ่มขึ้น  อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การเชื่อมต่อของเครื่องช่วยการเต้นของหัวใจ และเครื่องปั๊มอินซูลิน ที่ส่งข้อมูลของคนไข้ให้กับแพทย์ที่รักษาตลอดเวลา ทำให้ลดการนัดหมายของคนไข้ ที่ไม่มีความจำเป็นออกไป และสามารถแจ้งเตือนคนไข้ที่อาจเกิดเหตุที่คาดไม่ถึงได้อย่างทันท่วงทีสำหรับแนวทางป้องกันการหกล้มในบ้านของคนชรา ปัจจุบันสามารถติดตั้งเซนเซอร์ไว้ใต้พรม เพื่อตรวจสอบการหกล้ม ของคนชราได้อย่างแม่นยำ สามารถส่งสัญญาณการหกล้มเชื่อมต่อกับทีมการแพทย์ฉุกเฉินที่อยู่ใกล้บ้านทันทีประเด็นการประหยัดพลังงานและป้องกันสิ่งแวดล้อมวัตถุประสงค์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ของ internet of things คือ เรื่องการประหยัดพลังงานและป้องกันรักษาสิ่งแวดล้อม ในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่น ระบบการเชื่อมต่อของการจราจรจะส่งสัญญาณแจ้งให้กับผู้ขับรถว่า มีที่จอดรถสาธารณะตรงไหนบ้างที่ยังว่างอยู่ เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือในช่วงฤดูหนาว สามารถสั่งให้เครื่องทำความร้อนเปิดเองโดยอัตโนมัติผ่านทางแอปพลิเคชัน ระหว่างที่เรากำลังเดินทางกลับบ้าน  หรือการใช้ smart metering ซึ่งเป็นระบบควบคุมและตรวจสอบการใช้พลังงานในครัวเรือนแบบ real time แต่สำหรับแนวความคิด smart metering นี้ ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าจะช่วยในเรื่องการประหยัดพลังงานได้จริงอัจฉริยะไม่ได้หมายความว่าฉลาดหรือรู้เท่าทันภายใต้เทคโนโลยีที่ทันสมัยนี้ ก็มีความเสี่ยงแฝงอยู่ อุปกรณ์หรือเครื่องมือบางชนิด เมื่อไฟดับหรือระบบอินเตอร์เนตล่ม ก็ไม่สามารถควบคุมได้ด้วย mode manual ภายใต้การควบคุมของมนุษย์ สำหรับผู้บริโภคนั้นสิ่งสำคัญคือ อุปกรณ์สามารถสื่อสารหรือเชื่อมต่อกับ ผู้ผลิตเจ้าอื่นๆได้ด้วย มิใช่ถูกจำกัดหรือผูกขาดเฉพาะกับยี่ห้อของตนเองอย่างเดียวภาวะคุกคามต่อ อิสระในการเลือก Internet of Things มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม ถึงแม้ว่าในบาง sector จะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่ก็มีการคาดการณ์กันว่า ด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติ โดยใช้คอมพิวเตอร์เช่นนี้ ความต้องการใช้แรงงานมนุษย์จะลดน้อยลง กรณีตัวอย่างของรถขับเคลื่อนอัตโนมัติของกูเกิล มีคำถามตามมาว่า มนุษย์จะเข้าไปแทรกแซงการจราจรบนท้องถนนได้หรือไม่ ถ้าได้จะต้องทำอย่างไร เพราะรถขับเคลื่อนอัตโนมัติของกูเกิลนั้น ปัจจุบันไม่มีพวงมาลัยสำหรับการควบคุมทิศทางให้กับมนุษย์ไว้เลย(แหล่งข้อมูล: วารสาร Test ฉบับที่ 4/2016)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 Internet of Things: เทคโนโลยีที่ส่งผลต่อชีวิตของผู้บริโภค (1)

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการปัจจุบันนี้นอกจากการเชื่อมต่อผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์แล้ว การเชื่อมต่อของเครื่องมือ เครื่องจักรอุปกรณ์อื่นๆ ก็สามารถเชื่อมต่อได้เช่นกัน เรียกว่า Internet of Things อุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่สามารถเชื่อมต่อกันได้นั้น สามารถเก็บข้อมูลผ่านเซนเซอร์ โดยสามารถเก็บข้อมูลของมนุษย์ ตลอดจนข้อมูลของสิ่งแวดล้อมรอบตัว และส่งข้อมูลผ่านคลื่นความถี่ไปยังอุปกรณ์ตัวอื่นหรือ ส่งข้อมูลเพื่อเก็บในฐานข้อมูลในระบบอินเตอร์เน็ต Internet of Thing สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มอย่างกว้างๆ ได้ 5 กลุ่ม คือ• การเชื่อมต่อของรถยนต์• บ้านอัจฉริยะ (smart home) เช่นระบบควบคุมตู้เย็นแบบออนไลน์ ระบบเครื่องปรับอากาศ และระบบสัญญาณการเตือนภัย• อุปกรณ์ติดตัวมนุษย์เช่น นาฬิกาอัจฉริยะ หรือ การเชื่อมต่อเครื่องกระตุ้นหัวใจ (networking of heart pacer)• กลุ่ม Gadgets ซึ่งเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ตอบสนองความเพลิดเพลินใจของมนุษย์ เช่น ตุ๊กตา หรือ รองเท้า ที่เชื่อมต่อผ่าน application บนสมาร์ตโฟน• และการเชื่อมต่อของภาคอุตสาหกรรม และระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น การเชื่อมต่อของเครื่องจักรการผลิตในโรงงาน หรือ สัญญาณไฟจราจร ไฟฟ้าส่องสว่างข้างถนน และถังขยะสาธารณะ   สิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคพึงทราบไว้ก็คือ อุปกรณ์เครื่องใช้อิเลคทรอนิกส์ปัจจุบันนี้ มักมีการติดตั้ง ชิป (Chip) และเซนเซอร์ ไว้ในอุปกรณ์ดังกล่าวโดยที่เราอาจไม่ทราบ จากสถิติปัจจุบันที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ชิปหรือ เซนเซอร์ คือ ประมาณ 6,000 ล้านเครื่อง และภายใน 4 ปี จะเพิ่มเป็น 21,000 ล้านเครื่อง อุปกรณ์ที่ติดตั้งสำเร็จรูปไว้แล้ว เช่น อุปกรณ์ติดตัวมนุษย์อัจฉริยะ (smart products) สามารถวัดอุณหภูมิของร่างกายมนุษย์ที่ใช้อุปกรณ์นั้นๆ หรือ สามารถวัดอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมรอบกายมนุษย์ได้ หรือสามารถแจ้งเตือนว่าลูกกลับจากโรงเรียนมาถึงบ้านแล้ว หรือแม้แต่ การเหยียบเบรกรถอย่างฉุกเฉิน (full breaking) หรือการที่เครื่องพิมพ์ (Printer) ส่งสัญญาณไปแจ้งผู้ประกอบการว่า หมึกพิมพ์กำลังจะหมด ทางผู้ผลิตก็จะจัดส่งพนักงานหรือ ส่งหมึกพิมพ์ให้กับลูกค้าของตน อัจฉริยะขนาดนี้ ก็ต้องมีประเด็นที่ควรคำนึงถึง ได้แก่ การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ความสะดวกสบาย สุขภาพ พลังงาน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ แต่เนื่องจากเนื้อที่จำกัด จะขอแบ่งเป็นสองตอนนะครับ ประเด็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลจากตัวอย่างความเป็นอัจฉริยะของเครื่องมือหรืออุปกรณ์ดังที่กล่าวมา ข้อมูลที่อุปกรณ์เก็บและส่งไปให้บริษัทผู้ผลิต ส่งผลให้เกิดประโยชน์ตามมาคือ บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์สามารถล่วงรู้พฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ ผู้ผลิตสมาร์ตทีวี สามารถรู้ประเภทหนังที่ลูกค้าของตนชื่นชอบ ฟิตเนสสตูดิโอ สามารถติดตามและให้คำแนะนำการออกกำลังกายของลูกค้าแต่ละคนได้อย่างแม่นยำ และเนื่องจากการควบคุมเครื่องมือหรืออุปกรณ์อัจฉริยะแบบนี้สามารถควบคุมทางออนไลน์ได้ ดังนั้นการถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด (Manipulation) จึงมีโอกาสเกิดได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจารกรรมข้อมูลส่วนบุคคล และการล่วงละเมิดสิทธิส่วนตัว ประเด็นเรื่องการโจรกรรมข้อมูลเคยมีการโจรกรรมข้อมูลของ กล้องดูแลเด็ก เพราะพ่อแม่ต้องออกไปทำงานข้างนอก โจรสามารถแฮกข้อมูลผ่านทางอินเตอร์เน็ตเข้ามา ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายมากต่อความเป็นส่วนตัว และอาชญากรรมต่อเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องง่ายมากสำหรับอาชญากรคอมพิวเตอร์ในการแฮกข้อมูล ซึ่งไม่เพียงแต่สามารถควบคุม ได้เฉพาะแต่เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ แฮกได้เท่านั้น แต่สามารถแฮกอุปกรณ์อื่นๆ เป็นลูกโซ่ตามมา ซึ่งผู้ประกอบการบางรายมักง่าย ต้องการนำเสนอสินค้าออกขายโดยเร็ว โดยที่ละเลยต่อมาตรการความปลอดภัย ประเด็นความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันผู้ประกอบการต่างก็โฆษณาในประเด็นความสะดวกสบายที่จะมาพร้อมกับยุค internet of things นี้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการเข้าถึงเพลงที่ชื่นชอบผ่านระบบ music streaming และการเข้าถึง สื่อสังคมออนไลน์ (social media) ในรถยนต์ที่มีการเชื่อมต่อ นอกจากนี้ยังสามารถเสนอเส้นทางอื่นๆ เป็นทางเลือกในการเดินทาง เพื่อป้องกันไม่ให้คนขับรถยนต์ไปพบกับการจราจรที่ติดขัด หรือการควบคุมการเปิดปิดของเตาอบขนม ผ่านแอพพลิเคชัน ในขณะที่กำลังเดินทางกลับบ้าน หรือการติดกล้องในตู้เย็นเพื่อดูว่า อาหารในบ้าน เช่น นมสดในตู้เย็นใกล้จะหมดหรือยัง ขณะอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต ติดตามตอนที่ 2 ในฉบับหน้าครับ (แหล่งข้อมูล: วารสาร Test ฉบับที่ 4/2016)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 ปัญหาลิขสิทธิ์ เมื่อเข้าสู่ยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ในเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ สำหรับบทความในวันนี้ จะขออธิบายสถานการณ์การแพร่ภาพโทรทัศน์ ของประเทศเยอรมนี ที่มีการเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณทีวีจากระบบอนาลอก มาเป็นระบบดิจิตอล สมบูรณ์แบบ และมีการหลอมรวมเทคโนโลยี คือประชาชนสามารถเลือกชมรายการโทรทัศน์ผ่านเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ และรับชมรายการผ่านอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่เรียกว่า ทีวีออนไลน์ได้ทั้งสองช่องทาง ความสะดวกในการรับชมรายการโทรทัศน์ผ่านทางอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงนั้นเป็นที่นิยมในเยอรมันอย่างมาก เพราะสามารถรับชมรายการโทรทัศน์ได้ทุกที่ และทุกเวลา สามารถเลือกชมรายการที่แพร่ภาพผ่านไปแล้วก็ได้ และที่น่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับการชมรายการผ่านระบบอินเตอร์เน็ตคือ สามารถบันทึกรายการต่างๆ ที่ชื่นชอบ เพื่อนำมาดูกี่ครั้งๆ ก็ได้เช่นกัน สำหรับการนำรายการที่เผยแพร่ออกอากาศมาบันทึกเก็บไว้ เป็นการส่วนตัวนั้น  สมัยก่อนก็เคยเกิดคดีฟ้องร้องระหว่างบริษัทที่สร้างหนังของฮอลลิวูด กับบริษัทโซนี่ เนื่องจากบริษัทที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ เกรงว่าความสามารถในการบันทึกเนื้อหาลงบนวิดีโอเทปนั้น จะทำให้รายได้ของบริษัทผู้สร้างหนังลดลง เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของตนเอง คดีฟ้องร้องดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 35 ปีที่แล้วเป็นที่ฮือฮาในประเทศสหรัฐอเมริกา คดีประวัติศาสตร์นี้มีชื่อว่า Betamax-Case และผลของคำตัดสินของศาลฎีกาสูงสุด (US supreme court) ได้ตัดสินให้โซนี่ชนะคดี ทำให้เรา(ผู้ที่ชื่นชอบการดูหนัง) สามารถบันทึกภาพยนตร์ลงบนวิดีโอเทปได้ เพื่อนำมาชมซ้ำเป็นการส่วนตัว 35 ปีให้หลังเกิดคดีลักษณะคล้ายๆ กันในประเทศเยอรมนี เนื่องจากสถานีโทรทัศน์เอกชนยักษ์ใหญ่สองช่อง คือ RTL และ SAT1 กำลังดำเนินคดีฟ้องร้องเวบไซต์ที่ให้บริการ การบันทึกการแพร่ภาพอัตโนมัติผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (Online Recorder) เนื่องจากในเยอรมันมีเวบไซต์ให้บริการการบันทึกรายการอัตโนมัติ คือ Save.tv และ Bong.tv เวบไซต์ดังกล่าวสามารถค้นหารายการโทรทัศน์ และบันทึกรายการแบบอัตโนมัติผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ทั้งสองช่องมักจะมีรายการดีๆ กีฬาดี และซีรีส์ดีๆ มานำเสนอต่อผู้ชม จึงมีจำนวนเรตติ้งค่อนข้างสูงกว่าช่องทีวีสาธารณะ ใครที่เป็นสมาชิก save.tv หรือ Bong.tv สามารถตั้งโปรแกรมให้บันทึกเนื้อหาได้แบบอัตโนมัติ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดอินเตอร์เน็ตทิ้งไว้เลย เมื่อโปรแกรมทำการบันทึกรายการเสร็จแล้ว ผู้ชมสามารถที่จะชมรายการออนไลน์ โดยการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต หรือสามารถดาวน์โหลดรายการที่ชื่นชอบเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัว แล้วอยากจะชมรายการตอนไหนก็ได้ เนื่องจากทางฝั่งสถานีโทรทัศน์เกรงในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ จึงได้ฟ้องเวบไซต์ที่ให้บริการดังกล่าว แต่ศาลสูงของเยอรมันได้ตัดสินให้เวบไซต์ที่ให้บริการ Online Recorder ชนะคดี โดยให้เหตุผลว่าการบันทึกรายการโทรทัศน์ดังกล่าวเป็นไปเพื่อการใช้งานส่วนบุคคล (BGH, Az. I ZR 215/06 และ I ZR 175/07 ราคาการสมัครเป็นสมาชิกของเวบไซต์ online recorder ดังกล่าวก็ไม่แพง เพียง 10 ยูโรต่อเดือน ซึ่งถูกกว่าค่าธรรมเนียมบำรุงทีวีสาธารณะ ซึ่งเป็นหน้าที่ ที่ทุกครอบครัวต้องจ่ายสมทบให้กับ สำนักงานจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบริโภคสื่อสาธารณะ (Die Gebühreneinzugszentrale GEZ) ในราคา 18 ยูโร ถึงแม้สถานีโทรทัศน์เอกชนทั้งสองช่องจะแพ้คดี แต่ก็ยังไม่ลดละความพยายาม  โดยที่จะปิดช่องว่างทางธุรกิจการบันทึกรายการออนไลน์ ก็ได้มีแผนที่จะสร้าง Mediathek (คลังของรายการโทรทัศน์ที่ได้ออกอากาศไปแล้ว) เนื่องจากรายได้ที่สำคัญของสถานีโทรทัศน์และรายการขึ้นอยู่กับเรตติ้ง การเข้าชมรายการ หากทางสถานีไม่เสนอบริการนี้ ก็จะเสียประโยชน์ตรงส่วนนี้ไป ในประเด็นข้อกฎหมายการบันทึกรายการโทรทัศน์อีกประเด็นหนึ่ง ที่ยังอยู่ในการฟ้องร้องระหว่างเวบไซต์ให้บริการ online recorder กับสถานีโทรทัศน์ ก็คือ เวบไซต์ onlinetvrecorder.com มี option การดึงรายการจากโทรทัศน์ที่ผู้ชมเองไม่ได้ทำการบันทึกเก็บไว้ ตรงนี้เลยกลายเป็นประเด็นว่าอาจละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ได้ ซึ่งคดีนี้ยังอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลอยู่ ในอนาคตองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคอาจต้องเข้ามาช่วยเหลือให้คำแนะนำ ในประเด็นนี้ครับ เพราะการละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ ผู้บริโภคมักจะเสียค่าปรับ หรือค่าเตือนเป็นวงเงินที่สูงมาก ซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ผู้บริโภคสื่อในยุโรปประสบปัญหาอยู่ครับ ที่มา (Finanztest 9/2012)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 108 นาโนเทคโนโลยี : โอกาสหรือความเสี่ยง (ตอน 2)

เนื่องจากภาคอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และผู้บริโภคเชื่อว่าการใช้งานวัสดุนาโนจะนำไปสู่การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ก่อให้เกิดคำถามว่าผลิตภัณฑ์นาโนใหม่ๆ เหล่านี้จะนำความเสี่ยงที่ยังไม่รู้มาสู่มนุษย์หรือไม่ อนุภาคนาโนบางชนิดที่ปรากฎอยู่ในรูปแบบที่ไม่เกาะเกี่ยวกัน (unbound form) อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพบางประการได้… ทำไมถึงมีการใช้วัสดุนาโนในเครื่องสำอาง ?อนุภาคนาโน เช่น ไททาเนียมไดอ๊อกไซด์และซิงค์อ๊อกไซด์ ถูกนำใช้งานอย่างกว้างขวางในการป้องกันแสงยูวีในผลิตภัณฑ์กันแดด อนุภาคนาโนเหล่านี้ให้ผลในด้านการปกป้องผิวหนังจากรังสียูวีในระดับสูง  วัสดุที่ผลิตด้วยนาโนเทคโนโลยี (หรือที่เรียกว่า โครงสร้างทางชีวภาพ) ส่งเสริมกระบวนการซ่อมแซมฟันตามธรรมชาติของน้ำลาย ในผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ แคปซูลนาโนสามารถป้องกันและขนส่งสารที่ออกฤทธิ์และเพิ่มประสิทธิภาพของพวกมัน ฟูลเลอร์รีน (โมเลกุลที่สร้างจากอนุภาคคาร์บอนที่มีรูปทรงเหมือนลูกฟุตบอล) ถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชนิดแรกๆ เพื่อจุดประสงค์นี้ การวิจัยเพื่อพัฒนาสมบัติทางกายภาพ (เช่น การโปร่งใส) ของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมีความจำเป็นต้องดำเนินต่อไปเพื่อหาความรู้ และข้อมูลเพิ่มเติมจากปัจจุบัน วัสดุนาโนถูกนำใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารหรือไม่ ?มีรายงานว่าวัสดุนาโนถูกนำมาใช้เป็นส่วนเสริมหรือวัตถุเจือปนในอาหาร ยกตัวอย่างเช่น กรดซิลิซิกและสารประกอบที่มีซิลิกอนอื่นๆ ถูกนำมาใช้เป็นสารตัวกรองหรือสารทำให้ข้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผลึกโซเดียมคลอไรด์และอาหารที่มีแป้งเป็นหลักเกิดการติดกันเป็นก้อน และทำให้ซอสมะเขือเทศไหลได้ง่ายยิ่งขึ้น กรดซิลิซิกยังถูกนำใช้เป็นสารจับอนุภาคเพื่อให้ตกตะกอนในไวน์และผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ สำหรับประเด็นในเรื่องความเสี่ยงต่อสุขภาพยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่า ควรจะให้เลิกใช้หรือให้มีอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารต่อไป วัสดุนาโนถูกนำใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อจุดประสงค์เฉพาะด้วย มีรายงานการใช้ซิลิกอนไดอ๊อกไซด์ คอลโลดัลซิลเวอร์ แคลเซี่ยมและแมกนีเซี่ยมในรูปอนุภาคนาโน ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าวัสดุเหล่านี้ปรากฎอยู่ในอาหารในรูปอนุภาคนาโนหรือในรูปรวม ปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมอาหารกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาอาหารเสริมพิเศษที่ประกอบไปด้วยวิตามิน กรดไขมันโอเมก้า 3 ไฟโตสเตอรอล และกลิ่น เพื่อบรรจุในแคปซูลนาโน วัสดุนาโนถูกนำใช้ในผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคหรือไม่วัสดุนาโนถูกนำมาใช้งานหลากหลายรูปแบบในผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค ยกตัวอย่างเช่น วัสดุนาโนในบรรจุภัณฑ์อาหาร สิ่งทอ อุปกรณ์เครื่องครัว วัสดุเคลือบเงาและสี นอกจากนี้ยังใช้ในผลิตภัณฑ์สำหรับการปกปิดพื้นผิวและทำความสะอาดเช่นเดียวกับสารขัดเงาอีกด้วย อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กำลังสนใจการใช้งานอนุภาคนาโนซึ่งเกาะติดกันเหมือนเป็นตัวกรองในพลาสติกและชั้นเคลือบเงา และใช้เป็นตัวเคลือบบนผิวหน้าโพลีเมอร์ (ฟิล์มและภาชนะ) ในบรรจุภัณฑ์อาหาร อนุภาคนาโนป้องกันก๊าซ ไม่ให้เข้าไปในบรรจุภัณฑ์และป้องกันไม่ให้ความชื้นระเหยออกมา การใช้อนุภาคนาโนสามารถปรับปรุงสมบัติด้านกลศาสตร์และความร้อนของบรรจุภัณฑ์อาหารและปกป้องอาหารจากแสงยูวี  ในอนาคตนาโนเทคโนโลยีจะถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารซึ่งสามารถระบุได้ว่าขั้นตอนการแช่เย็นต่อเนื่องหรือไม่ หรือว่าเลยวันหมดอายุมาแล้ว ในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ เส้นใยชนิดพิเศษถูกพัฒนาขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น เสื้อผ้าที่กันความร้อน หรือพื้นผิวเส้นใยสิ่งทอที่ทำความสะอาดตัวเองได้ ในอนาคตสิ่งทอจะมีสมบัติใหม่ๆ และสามารถป้องกันรังสียูวีหรือทำตัวเสมือนตัวกันน้ำโดยการผลิตสารเคลือบโพลีเมอร์ที่มีโครงสร้างนาโนบนพื้นผิวของสิ่งทออีกด้วย  อนุภาคนาโนซิลเวอร์ที่ต่อต้านจุลชีพมีการใช้งานแล้วในถุงเท้า ด้านในรองเท้า และสิ่งทอที่ใช้ผลิตเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม การใช้ผลิตภัณฑ์นาโนมีความเสี่ยงต่อสุขภาพหรือไม่ ?ในการที่จะประเมินว่าผลิตภัณฑ์นาโนก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพหรือไม่ สิ่งสำคัญที่ต้องรู้คือว่าวัสดุนาโนที่ใช้เกาะติดกันเป็นเมตริกซ์หรือเป็นวัสดุนาโน ปรากฎในรูปที่ไม่เกาะกัน อนุภาคนาโนที่เป็นอิสระ หลอดนาโนและเส้นใยนาโนสามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้ เนื่องจากขนาดที่เล็ก รูปทรงที่เล็ก สามารถเคลื่อนไหวได้ง่ายและเกิดปฏิกิริยาได้ดีกว่า อนุภาคนาโนที่ไม่เกาะติดกันสามารถเข้าถึงกลไกของมนุษย์ผ่านสามช่องทางและทำให้เกิดผลกระทบที่เป็นพิษภายใต้สถานการณ์บางอย่าง ได้แก่ ทางการหายใจ ทางผิวหนังและจากการรับประทาน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุดเกิดจากการสูดดมอนุภาคนาโน  การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดลบล้างความเป็นไปได้ที่อนุภาคนาโนจะแทรกซึมเข้าทางผิวหนังของมนุษย์ เรายังไม่รู้แน่ชัดว่ามีความเสี่ยงเกี่ยวข้องกับการได้รับอนุภาคทางการรับประทานหรือไม่ จนถึงขณะนี้ ผลิตภัณฑ์นาโนส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยอนุภาคนาโนที่พัวพันกับเมตริกซ์ที่แข็งแรงหรือสารละลายของเหลว ยิ่งไปกว่านั้น อนุภาคนาโนมีแนวโน้มที่จะเกาะกลุ่มเป็นสิ่งที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งมักจะใหญ่กว่า 100 นาโนเมตร ผลกระทบที่เป็นพิษของอนุภาคนาโนยังไม่มีใครสามารถบอกได้แน่ชัด แต่ตามกฎแล้ว ผู้ผลิตถูกกำหนดให้รับประกันว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเขาปลอดภัย หมายเหตุ : ล่าสุดมีประเด็นในเรื่องความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นจากการทดลองใช้วัสดุนาโน (Nano particle ) โคบอลท์โครเมียม( CoCr- Particle ) ที่เป็นส่วนผสมของยารักษาโรค โดยโคบอลท์โครเมียม( CoCr- Particle ) จะไปทำลาย DNA ในเซลล์ของมนุษย์ โดยที่ เซลล์ยังไม่ตาย จากผลการทดลองนี้ นักวิจัย ได้ตั้งข้อเสนอเพื่อให้มีการประเมินความเสี่ยงในด้านสุขภาพของการใช้ผลิตภัณฑ์นาโน แบบใหม่ที่ต้องคำนึงถึง ผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้ วัสดุนาโน2 มีการตรวจสอบความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการใช้วัสดุนาโนในสินค้าอุปโภคบริโภคแล้วหรือยัง มีการศึกษาหลายชิ้นเกี่ยวกับการใช้อนุภาคนาโนในเครื่องสำอาง ยกตัวอย่างเช่น มีการวิจัยมากมายเกี่ยวกับพฤติกรรมของอนุภาคนาโนที่เกิดจากไทเทเนียมไดอ๊อกไซด์และซิงค์อ๊อกไซด์บนผิวหนัง การทดลองหลายชิ้นยืนยันว่าอนุภาคนาโนเหล่านี้ไม่แทรกซึมสู่เซลล์ผิวหนังของมนุษย์ที่แข็งแรงแต่ยังอยู่บนด้านบนของผิวหนัง พวกมันลงไปถึงผิวหนังชั้นที่ลึกกว่าได้ผ่านรูขุมขน ที่ซึ่งพวกมันตกค้างอยู่ระยะหนึ่ง แต่ไม่แทรกซึมลงไปลึกกว่านั้น เมื่อขนยาวขึ้นจะนำพาพวกมันกลับมาสู่ชั้นบนของผิวหนังอีกครั้ง อย่างไรก็ตามในขณะนี้ยังมีคำถามหลายข้อที่ต้องตอบเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพจากอนุภาคนาโน เรามีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่คุณสมบัติที่เป็นพิษจะมีความเชื่อมโยงกับขนาดในระดับนาโน และมีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับรายงานเรื่องการที่มนุษย์ได้รับอนุภาคนาโน นักวิทยาศาสตร์กำลังทำงานเรื่องกลยุทธ์การทดสอบที่เหมาะสมเพื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เป็นไปได้ เพื่อที่จะตอบคำถามปลายเปิด เคยมีผลิตภัณฑ์ใดที่วัสดุนาโนก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ ?เท่าที่ผ่านมาทางสถาบันประเมินความสี่ยงของสหพันธรัฐ ยังไม่ได้รับรายงานกรณีที่เกิดอันตรายต่อสุขภาพโดยตรงอันมีผลมาจากอนุภาคนาโนหรือวัสดุนาโน เราควรหันมาพิจารณาดูอีกด้านของเทคโนโลยีใหม่กันบ้าง เปรียบดังคำพังเพยที่ว่า คุณอนันต์ โทษมหันต์ สำหรับเรื่องการศึกษาผลประทบของนาโนเทคโนโลยีนั้น ที่มีผลต่อสุขภาพนั้น รัฐต้องศึกษา วิจัยในเชิงสุขภาพและความปลอดภัย และให้ความรู้(ความไม่รู้) แก่ประชาชน หากยังไม่สามารถหามาตรการในด้านการป้องกันที่ดีได้ อย่างน้อยรัฐก็ควร บังคับการติดฉลากระบุว่าเป็นสินค้าประเภทนาโนเทคโนโลยี เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสเลือก(หรือไม่เลือก) กับเทคโนโลยีที่เรายังมีความรู้ในด้านนี้น้อยมาก และในด้านผลกระทบต่อสุขภาพก็ยังไม่มีใครกล้ารับประกันความปลอดภัยกันเลย ข้อมูลอ้างอิง1 Frequently Ask Question on Nanotechnology, Federal Institute for Risk Assessment, 20062 Nanoparticle can cause DNA damage across a cellular barrier, Bhabra, G. et al., Nature Nanotechnology, p. 1-8, 2009

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 107 นาโนเทคโนโลยี : โอกาสหรือความเสี่ยง (ตอน 1)

นาโนเทคโนโลยีถือว่าเป็นเทคโนโลยี ในอนาคตที่สำคัญ อย่างไรก็ตามการใช้เทคโนโลยีนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากมนุษย์ได้นำมาใช้งานตั้งแต่เมื่อหลายทศวรรษก่อนในผลิตภัณฑ์เคลือบ เงาและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยาถึงแม้ว่าในตอนนั้นมันจะไม่ได้ใช้ชื่อนี้ก็ตาม ปัจจุบันนาโนเทคโนโลยีถูกนำมาใช้ในรูปแบบที่กำหนดไว้ในหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่น เครื่องสำอาง อาหารและผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค โดยที่ผู้บริโภคไม่ได้มีโอกาสรับรู้เลย และปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อกำหนดว่าต้องมีการติดฉลากแสดงว่าเป็นผลิตภัณฑ์นาโน บทความในคราวนี้จึงขออธิบายความรู้และความไม่รู้ ที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยี ที่มีผลต่อชีวิตของผู้บริโภคกระแสหลักในบ้านเราครับ โดยขออนุญาตนำข้อมูลจาก สถาบันประเมินความเสี่ยงแห่งของสหพันธรัฐ เยอรมนี (Federal Institute for Risk Assessment) มาลงในคอลัมน์นี้ครับ เนื่องจากภาคอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และผู้บริโภคเชื่อว่าการใช้งานวัสดุนาโนจะนำไปสู่การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ก่อให้เกิดคำถามว่าผลิตภัณฑ์นาโนใหม่ๆ เหล่านี้จะนำความเสี่ยงที่ยังไม่รู้มาสู่มนุษย์หรือไม่ อนุภาคนาโนบางชนิดที่ปรากฎอยู่ในรูปแบบที่ไม่เกาะเกี่ยวกัน (unbound form) อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพบางประการได้ การวิจัยเรื่องความเสี่ยงของนาโนเทคโนโลยี ในบริบทนี้ทางสถาบันประเมินความเสี่ยง ให้ความสนใจเรื่องปฏิกิริยาต่อต้านอนุภาคนาโนที่อาจเกิดขึ้นได้ในร่างกายมนุษย์ ถึงแม้ว่าพบวัสดุนาโนในผลิตภัณฑ์หลายประเภทจะมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ประชากรเยอรมันเกินกว่าครึ่งหนึ่งแทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้เลย ประโยชน์ของมันหรือความเสี่ยงที่เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นบทความนี้ จะตอบคำถามในประเด็นที่สำคัญ สำหรับนาโนเทคโนโลยี1 “นาโน” มีขนาดเล็กแค่ไหน ?“นาโน” มาจากภาษากรีก หมายความว่าคนแคระ “นาโน” เป็นคำศัพท์ที่ใช้สำหรับเศษส่วนพันล้านของเมตร (= 1 นาโนเมตร)อนุภาคนาโนหมายถึงอะไร ?อนุภาคนาโนคืออนุภาคที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 100 นาโนเมตร (nm) เนื่องจากอนุภาคนาโนขนาดเล็กเหล่านี้มีสมบัติทางกายภาพ แตกต่างจากอนุภาคที่มีขนาดใหญ่กว่าในวัสดุประเภทเดียวกัน สิ่งนี้ทำให้มันน่าสนใจสำหรับการนำไปใช้งานที่หลากหลาย แต่ทว่า ในขณะเดียวกันความเล็กของอนุภาคนาโนก็สามารถนำไปสู่ปฏิกิริยาต่อต้านของร่างกายมนุษย์ได้   สถาบันประเมินความเสี่ยง เกี่ยวข้องอย่างไรในการวิจัยเรื่องความเสี่ยงของนาโนเทคโนโลยี ?สถาบัน (FRA) ร่วมมือกับสถาบันกลางความปลอดภัยและสุขภาพในสถานที่ทำงาน (Federal Institute for Occupatioanl Safety and Health) และสำนักงานสิ่งแวดล้อมกลาง (Federal Environment Agency) ได้พัฒนากลยุทธ์ในการวิจัยเพื่อแยกแยะความเสี่ยงที่เป็นไปได้จากนาโนเทคโนโลยี จุดประสงค์ของ กลยุทธ์การวิจัยนี้คือจัดโครงสร้างในเรื่องสาขาการวิจัย เพื่อพัฒนาวิธีการในการวัดผลและแยกแยะอนุภาคนาโน เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการได้รับอนุภาคและผลกระทบที่เป็นพิษหรือผลกระทบที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อส่งเสริมการพัฒนาการทดสอบความเสี่ยงและกลยุทธ์ในการตรวจสอบ ในขณะเดียวกัน (FRA) จะทำการสำรวจผู้เชี่ยวชาญในสาขานาโนเทคโนโลยี เป้าหมายคือแยกแยะวัสดุนาโนที่กำลังถูกใช้หรืออาจจะถูกใช้ เพื่อจัดกลุ่มพวกมันตามการนำไปใช้งานและเพื่อร่างข้อสรุปเกี่ยวกับการที่ผู้บริโภคได้รับอนุภาคจากข้อมูลเหล่านั้น จากพื้นฐานเกี่ยวกับความรู้ที่มีเรื่องการได้รับสารและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น (FRA) ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ แยกประเภทการใช้งานตามระดับความเสี่ยงที่เป็นไปได้และพัฒนากลยุทธ์สำหรับทำให้ความเสี่ยงลดน้อยลงที่สุด ในตอนที่ 2 ฉบับหน้าจะตอบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผลิตภัณฑ์จากนาโนเทคโนโลยีครับ   ข้อมูลอ้างอิง1 Frequently Ask Question on Nanotechnology, Federal Institute for Risk Assessment, 2006   นาโนเทคโนโลยีหมายถึงอะไร ?นาโนเทคโนโลยีเป็นศัพท์ทั่วไปที่ใช้เรียกเทคโนโลยีกว้างๆ ที่ถูกนำมาใช้ในวิทยาศาสตร์ตามธรรมชาติหลายประเภท เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และการแพทย์ ที่จริงแล้วมันจะถูกต้องมากกว่าถ้าจะเรียกว่ากลุ่มของนาโนเทคโนโลยี นาโนเทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับการวิจัยในเรื่องกระบวนการประมวลผลและการผลิตโครงสร้างและวัสดุที่ด้านอย่างน้อยหนึ่งด้านมีขนาดเล็กกว่า 100 นาโนเมตร (nm)  วัสดุนาโนมีโครงสร้าง “รูปทรงจุด” (อนุภาคนาโน แคปซูลนาโน กลุ่มก้อนหรือกลุ่มโมเลกุล) โครงสร้าง “เส้นตรง” (เส้นใยนาโน หลอดนาโน เสื้อร่มนาโน) และการเคลือบที่บางมาก โครงสร้างกลับรูป (รู) ก็อยู่ในประเภทนี้ด้วย เนื่องจากมีความเป็นไปได้ในการนำนาโนเทคโนโลยีมาพัฒนาโครงสร้าง เทคนิค และระบบที่มีคุณสมบัติและการทำงานแบบใหม่ จึงเพิ่มความน่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การแพทย์ วิทยาศาสตร์และผู้บริโภค โดยหวังว่าศักยภาพนี้จะนำไปสู่การใช้งานที่มีประโยชน์ เช่น หุ่นยนต์ เทคโนโลยีรับรู้ความรู้สึก วิศวกรรมกระบวนการ ชีวเทคโนโลยี และการแพทย์ รวมไปถึงการพัฒนาต่อไปในอนาคตเกี่ยวกับอาหาร ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค และเครื่องสำอาง ฐานข้อมูลของผลิตภัณฑ์นาโนที่อยู่ในท้องตลาด ณ ปั¬¬¬จจุบันนี้สามารถเข้าไปดูได้ที่ http://www.nanotechproject.org/44/consumer-nanotechnology ฐานข้อมูล “คลังผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคที่ใช้นาโนเทคโนโลยี” เป็นโครงการของ Woodrow Wilson International Centre for Scholars. จะทราบได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นมีวัสดุนาโนอยู่รึเปล่า ?ผู้บริโภคไม่สามารถทราบได้เลยว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีวัสดุนาโนหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีข้อกำหนดว่าต้องติดฉลากสำหรับผลิตภัณฑ์นาโน ผู้บริโภคสามารถรู้ถึงการใช้วัสดุนาโนได้ก็ต่อเมื่อผู้ผลิตทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์ของพวกเขาโดยการอ้างถึงนาโนเทคโนโลยี แต่การโฆษณาผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถบอกได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีอนุภาคนาโนหรือวัสดุนาโนอยู่จริงหรือไม่ ผู้บริโภครู้อะไรบ้างเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยี ?ถึงแม้ว่าจะมีวัสดุใหม่ๆ ที่ผลิตโดยการใช้นาโนเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค คนจำนวนมากไม่รู้ว่าจริงๆ ว่าสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับอะไร ตามที่มีการสำรวจมา คนเยอรมัน 50% ไม่รู้เลยว่าคำย่อที่เรียกว่า “นาโน” นั้นหมายถึงอะไร คนที่ได้ยินอะไรบางอย่างเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยี มักจะมองเทคโนโลยีในทางบวกและชี้ไปที่ประโยชน์ของมัน อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคส่วนมากอยากให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยการใช้นาโนเทคโนโลยีมีการติดฉลากอย่างชัดเจน  นาโนเทคโนโลยีถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ประเภทไหนแล้วบ้าง ?ขณะนี้ผู้บริโภคได้สัมผัสกับผลิตภัณฑ์ซึ่งมีส่วนประกอบที่ผลิตด้วยนาโนเทคโนโลยีแล้ว ได้แก่ เครื่องสำอาง อาหารหรือสิ่งทอ ตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์นาโนเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขนาดในระดับนาโนคือสิ่งเดียวที่จะทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการที่จะผลิตวัตถุที่มีสมบัติใหม่อย่างสิ้นเชิง เช่น สีรถยนต์ที่ทนต่อรอยขูดขีด เน็คไทที่กันฝุ่น หรือผลิตภัณฑ์กันแดดที่ปกป้องแสงยูวีได้ดีขึ้น  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point