ฉบับที่ 220 จดหมายถึงบอกอ

จดหมายถึงบก.        ผมมีความสงสัยเรื่องวันหมดอายุของหมายเลขโทรศัพท์แบบเติมเงินว่าตอนนี้มีเกณฑ์เป็นอย่างไร แล้วถ้าไม่มีกำหนดวันเลยได้ไหมครับ  บ.จะต้องแบกรับต้นทุนอะไรบ้างช่วยอธิบายหน่อยครับ                                                                                                                                                                          สมพรตอบ        ขอบคุณสำหรับคำถามของท่านสมาชิก เรื่องการเติมเงินโทรศัพท์ ทุกครั้งที่เติมเงิน ไม่ว่ามูลค่าเท่าใด จะได้วันใช้งาน 30 วัน กฎหมายมีหลักว่า ห้ามกำหนดวันหมดอายุ เว้นแต่ ค่ายมือถือจะได้รับอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งเมื่อประมาณปี 2557  ทั้ง 3 ค่ายมือถือได้ยื่นขอกำหนดวันหมดอายุ และ กสทช. ได้มีมติอนุญาตให้กำหนดวันได้ที่ 30 วัน ทุกมูลค่าที่เติมเงิน  ในส่วนที่ว่า ถ้าไม่มีกำหนดวันเลยได้ไหมครับ  ต้องตอบว่า บางคนเปิดเบอร์ไว้ มีเงินในระบบ แต่ทิ้งไว้ ไม่ใช้งาน บริษัทมีค่ารักษาเลขหมาย เลขหมายที่เราซื้อมา ควรได้นำไปจัดสรรให้คนได้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ คนที่มีหลายเบอร์ แต่ไม่ได้ใช้ เปิดเบอร์เพราะอยากได้โปรโมชัน แล้วเลขหมายนั้นๆ ก็ถูกทิ้ง ไม่ได้ใช้ เบอร์แบบนี้มีไม่น้อยเลย บางคนอาจเติมไว้รับสายอย่างเดียวก็มี การกำหนดวันจึงช่วยให้เบอร์ยังเกิดการใช้งาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2555 เรียวปากสวย...แต่เสี่ยงสารตะกั่ว สาวๆ คงต้องให้ความสนใจกับข่าวนี้เป็นพิเศษ เพราะมีข้อมูลจากเว็บไซต์ Time Healthland ของอเมริกา รายงานว่ามีการตรวจพบการปนเปื้อนของสารตะกั่วอยู่ในลิปสติกยี่ห้อดังอย่าง Maybelline’s Colour Sensation เฉดสี Pink Petal, L’oreal Colour Riche เฉดสี Volcanic และ ลิปสติก Nars เฉดสี Red Lizard กับเฉดสี Funny Face ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงต้องนำสินค้าชนิดเดียวกันในวางขายอยู่ในประเทศไทยมาตรวจสอบ ซึ่งทางบริษัทผู้นำเข้าคือ ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ซิเซโด้ (ไทยแลนด์) จำกัด ชี้ได้แจงข้อเท็จจริงว่า ทางบริษัทผู้ผลิตไม่มีการใช้สารตะกั่วเป็นส่วนประกอบ แต่สารตะกั่วที่พบนั้นมาจากการปนเปื้อนในธรรมชาติ เช่น น้ำ อากาศ และวัตถุดิบ ซึ่งเป็นการปนเปื้อนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การปนเปื้อนที่พบในลิปสติกน้อยกว่าการปนเปื้อนในธรรมชาติ แต่ทาง อย. ก็ให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้ลิปสติกยี่ห้อที่ต้องสงสัยเหล่านี้ หยุดใช้ชั่วคราวจนกว่า อย. จะทราบผลการตรวจวิเคราะห์ ที่สามารถยืนยันความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ได้   เมื่อ ปี 2550 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของอเมริกา เคยสุ่มตรวจลิปสติกจำนวน 20 ตัวอย่าง พบว่ามีการปนเปื้อนทุกตัวอย่าง แต่ไม่เกินมาตรฐาน แต่การปนของตะกั่วในลิปสติกถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับร่างกายโดยตรงและใช้บ่อยครั้ง คนที่ใช้เป็นประจำจึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับอันตราย -------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เติมความ “สด” ให้นมโค “วันนี้คุณดื่มนมแล้วหรือยัง?” คำถามที่แสดงถึงความห่วงใย เพราะนมมีประโยชน์ เราจึงอยากให้ทุกคนดื่มนมกันประจำ แถมจากนี้ไปนมที่เราดื่มจะยิ่งมีคุณค่าทางอาหารเพิ่มมากขึ้น เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เตรียมแก้ไขนิยามผลิตภัณฑ์นมโคพร้อมดื่ม จากที่ใช้คำว่า “นมโค” ให้เติมคำว่า “สด” ต่อท้าย เพื่อให้เห็นภาพของนมโคแท้ 100% ที่ผ่านกรรมวิธีพลาสเจอร์ไรส์ก่อนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งการเปลี่ยนไปใช้คำว่า “นมโคสด” เหมือนเป็นการบังคับทางอ้อมกับผู้ผลิตที่เดี๋ยวนี้มีนมที่ผสมนมผงหรือใช้วิธีการผลิตแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่การพลาสเจอร์ไรส์ออกมาทำให้คนที่ชอบดื่มนมเข้าใจผิด ซึ่งจากนี้ไป อย. ก็จะออกข้อบังคับให้นมโคพร้อมดื่มที่ไม่ใช่นมโค 100% ต้องแสดงข้อมูลปริมาณนมโคที่ใช้จริงหรือสูตรของนมผงที่นำมาผสม อีกหนึ่งข้อดีที่ผู้บริโภคจะได้รับ หากมีการบังคับให้ใช้คำว่านมโคสดคือ ต้องกำหนดระยะเวลาวันหมดอายุของตัวสินค้าไม่ให้เกิน 10 วัน ซึ่งทำให้นมสดที่เราดื่มจะมีคุณค่าทางอาหารสูง เพราะเป็นนมที่ผลิตใหม่และสดจากฟาร์มจริงๆ ทาง อย. คาดการณ์ว่าประกาศนี้จะผ่านคณะกรรมการพร้อมบังคับใช้ภายในเดือนสิงหาคม 2555 ------------------------------------------------------------------------------------------------- สคบ.ออกตราการันตีของดีสำหรับผู้บริโภค จากนี้ไปผู้บริโภคน่าจะมีความมั่นใจในการใช้สินค้าและบริการต่างๆ มากขึ้น เมื่อทางสำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เตรียมออก “ตราสัญลักษณ์ของ สคบ.” (CONSUMER PROTECTION GUARANTEE) ตรารับรองสินค้าและบริการที่ผ่านเกณฑ์ตามที่ สคบ.กำหนด ซึ่งทาง สคบ.เชื่อว่าการให้สินค้าติดตรารับรอง จะช่วยลดปัญหาของผู้บริโภคที่เกิดจากสินค้าและบริการต่างๆ ลงได้ เครื่องหมายตราสัญลักษณ์ สคบ.นี้จะเป็นตัวคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค หากได้รับความไม่เป็นธรรมหรือได้รับความเสียหายจากการบริโภคสินค้าที่ติดตราสัญลักษณ์ ผู้บริโภคก็สามารถแจ้งเพื่อขอรับการแก้ไขหรือการชดเชยความเสียหายได้รวดเร็วขึ้น เพราะทาง สคบ. มีข้อมูลของผลิตภัณฑ์นั้นๆ อยู่แล้ว โดยสินค้าและบริการที่ สคบ.จะออกตราการันตีให้ ได้แก่ รถยนต์มือ 2 โทรศัพท์มือถือ ทองรูปพรรณ ห้างสรรพสินค้า รถยนต์ใหม่ หอพัก บัตรเครดิต ตั๋วเครื่องบิน ธุรกิจซ่อมรถยนต์ บ้านจัดสรรและอาคารชุด เครื่องใช้ไฟฟ้า ฟิตเนส บริษัทนำเที่ยว ธุรกิจขายตรง ธุรกิจเสริมความงาม สินค้าเกษตร ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ โรงเรียนกวดวิชา อัญมณี ศูนย์บริการดูแลเด็ก ผู้ป่วยและผู้สูงอายุ โรงแรม โรงภาพยนตร์ สถานบริการน้ำมัน โรงพยาบาล และบริษัทรับออกแบบ ซึ่งผู้ที่ได้ตราสัญลักษณ์สินค้าต้องมาต่ออายุทุก 2 ปี และจะมีเจ้าหน้าที่ลงตรวจคุณภาพสินค้าทุก 6 เดือน --------------------------------------------------------------------------------------------- “พารา” ไม่ใช่ยาครอบจักรวาล หลายคนยังเข้าใจผิดคิดว่า “พาราเซตามอล” เป็นยาสารพัดประโยชน์ทั้งแก้ปวดและแก้ไข้ แต่ในความเป็นจริงแล้วอาการปวดที่เกิดขึ้นกับร่างกายมีหลากหลาย การรักษาก็ต้องใช้ตัวยาที่แตกต่างกัน เตือนคนที่ยังใช้ยาแก้ปวดไม่ถูกกับโรค อาจเกิดอันตรายกับร่างกายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ยาแก้ปวดสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้ระงับอาการปวดที่รุนแรงถึงรุนแรงมากที่สุด แต่ไม่มีฤทธิ์ลดไข้ เช่น มอร์ฟีน (morphine) ทรามาดอล (Tramadol) ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ใช้ระงับความเจ็บปวดที่รุนแรงจากอวัยวะภายใน หรือจากบาดแผลขนาดใหญ่ มักใช้กับคนไข้ในสถานพยาบาลต่างๆ ยากลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาจส่งผลต่อระบบประสาทและระบบหายใจ ส่วนยาแก้ปวดอีกกลุ่มคือ กลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้สำหรับอาการปวดไม่รุนแรง เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน มีฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ และลดการอักเสบ แต่ก็ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานๆ เพราะจะมีผลต่อระบบทางเดินอาหาร การทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ยิ่งถ้าใช้ในปริมาณมากจะส่งผลเสียต่อตับ ดังนั้นการใช้ยาแก้ปวดที่ถูกต้อง ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาเกินขนาดหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยาที่ใช้ต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ------------------------------------ เริ่มแล้ว!!! เติมเงินห้ามหมดอายุ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถือเป็นวันดีเดย์ที่ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะดำเนินการเอาผิดกับบรรดาบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ที่ยังมีการออกข้อกำหนดเรื่องวันหมดอายุบัตรเติมเงิน เนื่องจากมีความผิดเพราะฝ่าฝืนประกาศเรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ตั้งแต่สมัยยังเป็น สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จนตอนนี้ผ่านมาถึง 7 ปี กสทช. เพิ่งจะมีมาตรการเด็ดขาดเอาผิดกับผู้ประกอบการ ซึ่งเครือข่ายผู้บริโภคคอยติดตามและสอบถามถึงการดำเนินการในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นว่าปัญหานี้เรื้อรังมานาน ผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิของตัวเองถึง 7 ปี เหตุผลมาจากหน่วยงานที่รับผิดชอบซึ่งเป็นคนออกข้อบังคับเองแท้ๆ แต่กับบังคับใช้กฎหมายของตัวเองไม่ได้ สำหรับบทลงโทษที่ทาง กสทช. จะดำเนินการกับบริษัทผู้ให้บริการหากยังมีการกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงิน คือ การปรับเงินจำนวน 100,000 บาทต่อวัน แต่ในส่วนของผู้ใช้ยังไม่มีมาตรการชดเชยใดๆ ในกรณีที่ถูกกำหนดวันหมดอายุหรือถูกยึดเงินเพราะวันหมดแต่เงินในโทรศัพท์ยังเหลือ ผู้ใช้โทรศัพท์แบบบัตรเติมเงินแล้วพบปัญหาเรื่องการกำหนดวันหมดอายุ สามารถร้องเรียนไปได้ที่ กสทช. โทร 1200 ช่วยร้องเรียนกันเยอะๆ เพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง ----------------------------------------------------------------------------------------------

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนกันยายน 25545 กันยายน 2554สินค้าลดราคาช่วยเหลือผู้บริโภค กระทรวงพาณิชย์จับมือกับผู้ประกอบการ ปรับลดราคาสินค้า 5 ประเภท รับการปรับลดลงของราคาน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค โดยสินค้าทั้ง 5 รายการประกอบด้วย ปูนซีเมนต์ ลดราคาถุง (50 กก.) ละ 5-10 บาท จากราคาปัจจุบัน 135-140 บาท กระเบื้องมุงหลังคา ลดลงแผ่นละ 5 บาท จากราคา 36-40 บาท ปุ๋ยเคมี ลดลงถุงละ 5-8 บาท จากราคา 905-1,010 บาท เครื่องปั๊มน้ำ ลดลงเครื่องละ 100-200 บาท จากราคา 4,590 บาท และแป้งสาลี ลดลงถุงละ 10 บาท จากราคา 477-698 บาท  นอกจากนี้กระทรวงจะพิจารณาปรับลดราคาสินค้าในกลุ่มอื่นๆ เพิ่มเติม โดยดูตามราคาทุนหากมีการปรับลดลง เช่น น้ำมันพืช เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์นม และน้ำตาล ส่วนสินค้าที่ยังไม่สามารถลดราคาได้ทันที ผู้ประกอบการได้ยืนยันจะไม่มีการปรับขึ้นราคา และจะตรึงราคาจำหน่ายไปจนถึงสิ้นปี ได้แก่ หมวดของใช้ประจำวัน เช่น ผงชักฟอก สบู่ ยาสีฟัน และหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ซึ่งน่าจะเป็นผลดีกับสภาวะน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้น เพราะสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่จำเป็นกับชีวิตประจำวันทั้งสิ้น-------------   14 กันยายน 2554  แปรงสีฟัน เลือกไม่ดีอาจมีเสี่ยง เมื่อการแปรงฟันอาจเป็นฝันร้าย เพราะอันตรายจากแปรงสีฟัน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เปิดเผยผลสำรวจแปรงสีฟันที่ขายอยู่ตามท้องตลาดทั้งที่ผลิตในประเทศและต่างประเทศ พบว่าด้อยคุณภาพถึง 61% ซึ่งมีปัญหาขนแปรงแข็งเกินไป หัวแปรงใหญ่และขนหลุดง่าย แถมยังพบสารโลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว ที่บริเวณด้ามแปรง และหัวแปรง ซึ่งถือเป็นสารเคมีอันตรายที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ แต่พบเฉพาะในแปรงสีฟันที่นำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น   สคบ. จึงได้ประกาศให้แปรงสีฟันจำนวน 83 ยี่ห้อ 229 รุ่น เป็นสินค้าควบคุมฉลาก ต้องมีการระบุลักษณะของขนแปรง ชนิดของขนแปรง วัสดุที่ใช้ผลิตด้ามแปรง และวิธีใช้ ถ้าเป็นแปรงสีฟันนำเข้าก็ต้องมีฉลากภาษาไทย สำหรับวิธีการเลือกซื้อแปรงสีฟันควรเลือกที่ขนาดพอดีกับช่องปากของเรา หัวแปรงต้องไม่มีลักษณะทรงแหลมหรือมีความคม ด้ามแปรงก็ต้องไม่สั้นเกินไป ขนแปรงต้องทำจากเส้นใยไนล่อน หรือวัสดุอื่นที่มีคุณสมบัติเทียบเท่า เป็นเส้นกลม หรือรี ขนตั้งตรง ผิวเรียบ ปลายมน ไม่มีขอบคม หรือขรุขระ ที่สำคัญคือควรมีลักษณะอ่อนนุ่ม และผู้บริโภคควรเปลี่ยนแปรงใหม่ทุกๆ 3 เดือน------------     16 กันยายน 2554ห้ามตัดสัญญาณมือถือเติมเงิน ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินเตรียมเฮ เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งห้ามตัดสัญญาณคนใช้มือถือแบบเติมเงินที่ไม่ได้เติมเงินในเวลาที่กำหนด หลังจากที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายแบบสัญญาการให้บริการโทรคมนาคมฉบับใหม่ ซึ่งเสียเวลาในการพิจารณาไปกว่า 3 ปี แต่ก็ไม่แล้วเสร็จ ซึ่งกลายเป็นปัญหาส่งมาถึงผู้บริโภคที่ใช้โทรศัพท์ระบบเติมเงินต้องถูกกำหนดวันหมดอายุ และถูกระงับการใช้บริการ รวมถึงถูกยึดหมายเลขโทรศัพท์ เป็นเพราะยังไม่มีกฎหมายที่ออกมาเป็นแนวทางปฏิบัติชัดเจนให้กับค่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเมื่อยังไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนเรื่องการระงับการใช้มือถือแบบเติมเงิน สิทธิในเบอร์โทรศัพท์จึงเป็นของผู้ใช้  ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการพิจารณามาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคมให้เสร็จภายใน 90 วัน เพื่อให้มีกฎหมายที่เป็นแนวทางในการปฎิบัติของทั้งผู้ให้บริการ และให้ผู้บริโภคได้รู้สิทธิของตัวเอง ----------  เฝ้าระวังความปลอดภัย “ของกิน – ของเล่นหน้าโรงเรียน” สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี ฝากข้อความร่วมมือจากครู – อาจารย์ ตามโรงเรียนต่างๆ  ไปจนถึงพ่อ – แม่ ผู้ปกครอง ตรวจตราดูอาหารและของเล่นที่ไม่ได้มาตราฐานที่วางขายอยู่ตามหน้าโรงเรียน เพราะอาจเป็นอันตรายกับนักเรียน  อย. ได้ฝากเตือนว่า อาหารที่ขายให้กับเด็กนักเรียนตามหน้าโรงเรียนส่วนใหญ่จะเป็นพวกของทอดหรือปิ้งย่าง ถ้าเป็นขนมก็เป็นพวกขนมกรุบกรอบหรือไม่ก็ขนมที่มีสีสันน่าสงสัย ซึ่งล้วนแต่เป็นอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็ก ส่วนของเล่นที่ขายอยู่ตามหน้าโรงเรียนนั้น แนะนำให้สังเกตสัญลักษณ์ของ สมอ. เพื่อความปลอดภัย และให้ระวังของเล่นต้องห้าม ทั้ง ลูกโป่งวิทยาศาสตร์ และตัวดูดน้ำ ซึ่งเป็นของเล่นที่อันตรายมากหากหลุดเข้าไปในร่างกายอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งถ้าใครพบเจอของเล่นต้องห้ามเหล่านี้สามารถแจ้งไปยัง สคบ. ที่เบอร์ 1166 ----------------------------------     รถตู้โฟตอนไม่ได้คุณภาพ เสียทั้งค่าเช่าจ่ายทั้งค่าซ่อมสมาชิกสมาคมรถตู้ต่างจังหวัดแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อขอให้ช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อรถตู้โดยสารยี่ห้อโฟตอนจาก บริษัท แพล็ททินัม มอเตอร์ เซลล์ จำกัด ซึ่งรถตู้ยี่ห้อดังกล่าวเป็นรถด้อยคุณภาพ ต้องนำรถไปซ่อมแซมหลายครั้ง ไม่สามารถนำรถยนต์มาประกอบอาชีพได้ ทำให้ผู้ซื้อรถต้องแบกรับภาระทั้งค่าเช่าซื้อและค่าซ่อมแซม กลายเป็นหนี้ค้างชำระกับบริษัทผู้ให้เช่าซื้อ บางรายต้องถูกยึดรถยนต์และถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีต่อศาล รวมเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท   โดยที่บริษัทยังไม่มีความรับผิดชอบใดๆ นายทรงผล พ่วงทอง ตัวแทนผู้เสียหาย กล่าวว่า การที่มายื่นหนังสือครั้งนี้ อยากขอให้รัฐมนตรี ช่วยดำเนินการให้ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ต่อตัวแทนจำหน่ายและผู้ให้เช่าซื้อ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนกรกฎาคม 2554 11 กรกฎาคม 2554 ซื้อเนื้อซื้อหมูแล้วมีปัญหาเชิญมาร้องเรียนผ่านออนไลน์ ต่อจากนี้ไปใครที่มีปัญหาจากการบริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย สินค้าไม่ได้คุณภาพ หรืออยากได้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ สามารถร้องเรียนและข้อมูลจากผู้รู้ตัวจริงผ่านระบบออนไลน์ของกรมปศุสัตว์ได้ที่ www.facebook.com/GreenstarAlert โดยกระทรวงเกษตรฯ และกรมปศุสัตว์ได้จัดทำ "โครงการดาวเขียว โซเชียลเน็ตเวิร์ค" ระบบแจ้งเตือนภัยสินค้าปศุสัตว์ผ่านเฟซบุ๊ค เพื่อเป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์และเนื้อสัตว์อย่างถูกวิธี ถูกสุขอนามัย และมีความปลอดภัย เช่น วิธีการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากสัตว์และเนื้อสัตว์อย่างถูกวิธี อาทิ เนื้อสัตว์ นม และไข่ นอกจากนี้ผู้บริโภคที่มีปัญหาหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการบริโภคเนื้อสัตว์ หรือพบเห็นผู้จำหน่ายรวมทั้งแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ดูน่าสงสัยก็สามารถแจ้งข้อมูลต่างๆ ถึงกรมปศุสัตว์ เพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงแก้ไขในการดูแลและควบคุมมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ให้มีประสิทธิภาพ -----------    20 กรกฎาคม 2554 ใช้น้ำยาบ้วนปากระวังเจอแบคทีเรียใครที่ใช้น้ำยาบ้วนปากอาจต้องใส่ใจกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพิ่มมากขึ้น เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ออกมาให้ข้อมูลว่ามีการตรวจพบการปนเปื้อนของแบคทีเรียเกินกว่ากฎหมายกำหนดในบางรุ่นการผลิตของผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ ออรัล-บี ทูธแอนด์กัมแคร์ และ ออรัล-บี ทูธแอนด์กัมแคร์ ไม่ผสมแอลกอฮอล์ ขนาด 350 มล. และ 500 มล. โดยปนเปื้อนใน 3 รุ่นการผลิต ได้แก่ รุ่น 1009852525 1010852521 และ 1066852522 แบคทีเรียที่ปนเปื้อนมีชื่อว่า เบิร์คโฮลเดอเรีย แอนทีน่า (Burkholderia anthina) เป็นแบคทีเรียชนิดฉวยโอกาส พบได้ในแหล่งน้ำ พื้นดิน และในธรรมชาติทั่วไป ไม่ใช่ชนิด ก่อโรครุนแรง แต่อาจมีผลต่อผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรง หรือผู้ที่กำลังรับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ซึ่งทาง อย. ก็ได้กำชับให้บริษัท พี แอนด์ จี เรียกคืนสินค้าออกจากตลาดทั่วประเทศแล้ว     21 กรกฎาคม 2554อย.ปรับสถานะยาแก้หวัดผสมซูโดอีเฟรดรีนเป็นยาควบคุมพิเศษอย. สั่งปรับสถานะของยาแก้หวัดชนิดเม็ด/แคปซูล ที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีน 3 สูตร ได้แก่ สูตรซูโดอีเฟรดรีน และไตรโพรลิดรีน ,สูตรซูโดอีเฟรดรีน และบรอมเฟนิรามีน และสูตรบรอมเฟนิรามีน และคลอเฟนิรามีน จากยาอันตรายให้เป็น“ยาควบคุมพิเศษ" เนื่องจากพบว่ามีการจับกุมการกระทำผิดอย่างต่อเนื่อง และมีการจำหน่ายเกินกำหนด ซึ่งประชาชนทั่วไปห้ามจำหน่ายเกิน 60 เม็ดต่อเดือน และร้านขายยาห้ามจำหน่ายเกิน 5,000 เม็ดต่อเดือน โดยจะให้จำหน่ายได้เฉพาะในสถานพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลเอกชนประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน --------------   มือถือเติมเงินยังแย่โดนใจ ยอดร้องเรียนอันดับ 1สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนในช่วงครึ่งปี 2554 ที่ผ่านมา ปัญหาที่มีคนร้องเรียนเข้ามามากที่สุดคือเรื่อง วันหมดอายุของบัตรเติมเงิน ที่ผู้ใช้ยังรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบจากการกำหนดอายุบัตรเติมเงิน ต้องคอยเติมเงินทั้งที่ยังมีเงินเหลืออยู่ในระบบ รวมทั้งการถูกยึดเงินทั้งที่ไม่ได้ใช้งาน ซึ่งปัญหาที่ว่านี้มีจำนวนผู้ร้องเรียนเข้ามาคิดเป็นจำนวนถึงร้อยละ 55  อีกเรื่องที่เป็นปัญหาหนักใจของคนใช้มือถือก็คือ การคิดค่าบริการผิดพลาด โดยเฉพาะการคิดค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศหรือโรมมิ่ง คิดเป็นค่าเสียหายมากกว่า 1 ล้านบาท แม้จะมีเรื่องร้องเรียนไม่ถึง 30 เรื่อง แต่เพราะแต่ละรายที่มาร้องเรียนล้วนถูกเรียกเก็บเงินในจำนวนที่สูงมากตั้งแต่หลักหมื่นบาทไปจนถึงหลักแสนบาท ซึ่งสาเหตุก็มาจากการรู้ไม่เท่าทันการใช้โทรศัพท์ “สมาร์ทโฟน” และการไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน ผู้ใช้จึงมักเผลอเปิดใช้ระบบเชื่อมต่อโดยไม่รู้ตัว  ช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2554 สบท.ได้รับเรื่องร้องเรียนมากกว่า 3,000 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องที่มีการดำเนินการแจ้งบริษัทแก้ไข 1,409 เรื่อง โดยร้อยละ 72 หรือจำนวน 1,019 เรื่อง เป็นปัญหาจากการใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ที่เหลือเป็นปัญหาจากการใช้บริการอินเตอร์เน็ต จำนวน 311 เรื่อง หรือร้อยละ 22 และปัญหาจากการใช้บริการโทรศัพท์พื้นฐานจำนวน 52 เรื่อง หรือร้อยละ 4-------------------  รังนกแท้...แค่ 1%มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคติงผู้ผลิตรังนกสำเร็จรูป ใช้ข้อความโฆษณาสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้บริโภค แม้จะผลิตจากรังนกแท้ 100% แต่ถ้าว่ากันถึงส่วนประกอบในรังนกสำเร็จรูป 1 ขวด จะมีรังนกผสมอยู่แค่ 1% แถมตัวโฆษณายังสร้างความเชื่อว่ารับประทานรังนกแล้วสุขภาพแข็งแรง ทั้งที่คุณค่าทางอาหารไม่ต่างจากถั่วลิสง แต่เมื่อเทียบเรื่องราคากลับต่างกันค่อนข้างมาก  นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูป พบว่า รังนกสำเร็จรูปยี่ห้อดังอย่าง  สก็อต และ แบรนด์ ระบุแค่น้ำตาลกรวด 10-12% กับ รังนกแห้งที่ 1.1-1.4% ส่วน เอฟแอนด์เอ็น โกลด์ ระบุว่า มี นมโค 19% รังนกแห้ง 0.16% นมผงขาดมันเนย 4.8% และส่วนประกอบอื่นๆ อีกเล็กน้อย ซึ่งเป็นการแสดงข้อมูลส่วนประกอบที่ไม่ครบ 100% มีเพียงยี่ห้อเดียวที่แสดงส่วนประกอบครบ 100% คือ เบซซ์ ที่ระบุว่า มีน้ำ 83.8% น้ำตาลกรวด 15.0% และ รังนกก่อนต้ม 1.2% เป็นส่วนประกอบ   ส่วนปัญหาการใช้คำโฆษณาว่าผลิตจากรังนกแท้ 100% ที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน ทางคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องตีความว่า รังนกแท้ 100% เป็นการโฆษณาเกินจริงหรือหลอกลวงผู้บริโภคหรือไม่ ซึ่งในเบื้องต้นเห็นควรให้ปรับข้อความบนฉลากให้เข้าใจง่าย ป้องกันการสับสน โดยจะมอบให้คณะอนุกรรมการว่าด้วยฉลากดำเนินการแจ้งไปยังบริษัทผู้ผลิตรังนกทุกยี่ห้อให้มีการปรับปรุงข้อความบนฉลาก โดยจะให้ปรับปรุงข้อความว่ารังนกแท้ 100% ซึ่งมีความหมายกำกวม เป็นคำว่า "รังนกแท้" เพียงอย่างเดียว หรือบอกว่ามีปริมาณรังนกแท้ 1% ของน้ำหนักหรือส่วนประกอบทั้งหมด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการว่าด้วยฉลากจะพิจารณาความเหมาะสมต่อไป ข้อมูลจากสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ระบุไว้ว่า รังนกปริมาณ 1% ในรังนกสำเร็จรูป 1 ขวด มีคุณค่าทางโภชนาการเท่ากับนมสดครึ่งช้อนโต๊ะ หรือถั่วลิสง 2 เมล็ด ผู้บริโภคจึงควรต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อว่าคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 กสทช. ออกคำสั่งห้ามตัดสัญญาณบัตรเติมเงิน

หลังจากรอให้เกิด กสทช. มานานเกือบ 15 ปี วันนี้มีแล้ว และได้เริ่มปฏิบัติงานมาแล้วเกือบ 5 เดือน อาจถือได้ว่าเป็นช่วงทดลองงาน ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงที่ กสทช.ยังชุลมุนอยู่กับ การจัดทำแผนแม่บท ทั้งเขียนทั้งรับฟัง เพื่อให้ได้แผนแม่บทที่เป็นเป้าหมายการปฏิบัติงานของ กสทช. ที่ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนแต่ในช่วงชุลมุนนี้ กสทช.ก็ยกมาเป็นข้ออ้างในการชะลอการบังคับใช้ประกาศของ กทช.เดิมไม่ได้(ยกเว้นกสทช.มีประกาศในเรื่องเดียวกันที่ดีกว่าออกมาบังคับใช้เสียก่อน) โดยเฉพาะประเด็น การกำหนด ระยะเวลาการให้บริการบัตรเติมเงิน ที่มีเรื่องร้องเรียนกันมาอย่างยาวนาน จนอาจารย์อนุภาพ ถิรลาภ ซึ่งเป็นหน่วยกล้าตายฟ้องคดีนี้ต่อศาล นำไปสู่การมีคำสั่งของศาล ช่วงปลายปี 2554 ให้ กทช.เร่งดำเนินการบังคับใช้ระเบียบของ กทช.ภายใน 90 วัน(หลังจากศาลตัดสินเป็นที่สุด) และคำสั่งดังกล่าวคาบเกี่ยวตั้งแต่ กทช.ที่กำลังหมดวาระ จนมาถึง กสทช. ชุดปัจจุบัน ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งเกือบ 5 เดือน แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่ขยับผู้เขียนในนามประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค จึงได้ออกแถลงการณ์ผ่านสื่อเพื่อกระตุ้นให้ กสทช.บังคับใช้(ประกาศ กทช) ซึ่งส่งผลให้ กสทช. นัดให้ผู้ประกอบการและตัวแทนผู้บริโภคเข้ามาหารือกันถึงการแก้ปัญหาการกำหนดอายุบัตรเติมเงิน ในระยะยาว ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 โดยมีข้อสรุปให้ฝ่ายผู้ให้บริการไปคำนวณต้นทุนและให้หาข้อสรุปร่วมกันภายใน 30 วันหลังจากที่ได้หารือกัน โดยในวันนั้น “กสทช.สุทธิพล ทวีชัยการณ์ พูดชัดเจนว่า ขณะนี้ กสทช.ได้บังคับใช้ ประกาศมาตรฐานสัญญาข้อ 11 แล้วโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินจะไม่มีการกำหนดวันหมดอายุ ใครจะมาตัดวันเราไม่ได้” นั่นหมายถึงโทรศัพท์แบบเติมเงินทุกเจ้าไม่มีสิทธิตัดการใช้บริการผู้บริโภคได้อีกแล้ว จนกว่าจะมีข้อสรุปร่วมกันใหม่ แต่เรื่องจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ผู้ให้บริการบางเจ้า ยังใช้เล่ห์เหลี่ยมทางธุรกิจตัดการให้บริการอยู่ เรื่องนี้ยืนยันเห็นจริงปฏิบัติจริงมากับมือ เหตุมีอยู่ว่ามีคนมาหารือกับผู้เขียนว่า ตนเหลือเงินอยู่ในโทรศัพท์ 400 กว่าบาท แต่โทรออกไม่ได้ โดยมีการแจ้งว่าสาเหตุมาจากผู้ให้บริการว่าวันหมด ผู้เขียนจึงให้น้องโทรประสานไปที่คอลเซ็นเตอร์ของบริษัทนั้น และได้แจ้งว่าบริษัทกำลังละเมิดคำสั่ง กสทช. ที่ห้ามตัดการใช้บริการ ก็ได้คำตอบมาว่า บริษัทได้ทำตามคำสั่ง กสทช.แล้ว โดยไม่ได้ตัดสัญญาณ เพราะเบอร์ดังกล่าว สามารถรับสายเข้าได้ปกติ แต่ไม่ให้โทรออกเท่านั้นเอง(ดูเขาทำ) น้องก็เถียงไปว่า กสทช.ห้ามตัดการใช้บริการทั้งโทรเข้าโทรออก ทำอย่างนี้ก็ขัดคำสั่ง กสทช.อยู่ดี เพราะเงินเรายังมีเราต้องใช้บริการได้ เจ้าหน้าที่ก็ตอบกลับมาอย่างกำปั้นทุบดินว่า หากต้องการโทรออกได้ให้เอาเงินที่เหลือไปแลกวันมาก็จะสามารถใช้บริการได้ปกติต่อไป เจอเข้าไปแบบนี้ผู้ใช้บริการก็ได้แต่มึนไปไม่เป็นว่าจะเอาอย่างไรต่อไป ผู้เขียนได้แนะนำให้โทรไปร้องทุกข์ที่สายด่วน กสทช. หมายเลข 1200 เพื่อร้องเรียนผู้ประกอบการรายนี้ จนสามารถโทรออกได้ปกติและได้วันฟรีมา 1 ปี เรื่องนี้ผู้เขียนเห็นว่ายังอยู่ในระยะเวลาของการหารือจึงยังมิได้ดำเนินการทางกฎหมายหลังจากวันที่ 8 มีนาคม 2555 หากใครถูกจำกัดการใช้บริการด้วยเหตุวันหมด สามารถเดินขึ้นไปบนศาลจังหวัด ขอฟ้องคดีผู้บริโภคได้ทันทีทุกศาล โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ อ้อ... หากจะฟ้องนอกจากบริษัทผู้ประกอบการแล้ว ที่ขาดไม่ได้คือต้องฟ้อง กสทช.ด้วย ในฐานะเป็นองค์กรกำกับ แต่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีความสามารถกำกับให้ผู้ให้บริการปฏิบัติการคำสั่งได้ เพราะ กสทช.มีอำนาจสั่งปรับบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กสทช.ได้ พวกเราผู้บริโภคควรร่วมกันผลักดันให้องค์กรกำกับทำหน้าที่ มิให้ผู้ประกอบการกระทำการเอาเปรียบผู้บริโภคได้อย่างเช่นที่ผ่านมา

อ่านเพิ่มเติม >