ฉบับที่ 102 “เตาแม่เหล็กไฟฟ้า คุ้มค่าแค่ไหน”

“เสน่ห์ปลายจวักผัวรักจนตาย” สุภาษิตไทยโบราณที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการทำกับข้าวเข้าครัวของฝ่ายหญิงที่ใช้เป็นสิ่ง ผูกมัดใจฝ่ายชายให้อยู่กับบ้านกินกับเรือน ไม่ให้หนีไปหากิ๊กที่อื่นหรือมีข้ออ้างไปหาอาหารกินนอกบ้าน เรื่องดังกล่าวถือเป็นวัฒนธรรมที่ ยกให้ผู้หญิงเป็นใหญ่หรือเป็นคนสำคัญในบ้าน คล้ายกับวัฒนธรรมของชาวอิตาเลี่ยนที่คุณย่าหรือคุณยายมีหน้าที่ทำอาหารเลี้ยงคนใน ครอบครัวและเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในบ้าน เพราะเป็นผู้ที่รักษาความลับในการทำพาสต้าให้คนในครอบครัว รับประทานอย่างเอร็ดอร่อย และเมื่อลูกสะใภ้หรือลูกสาวได้รับการถ่ายทอดเคล็ดลับการทำอาหารจากคุณย่าหรือคุณยายแล้วก็จะเป็นแม่ ครัวประจำบ้านแทนทันที เมื่อนั้นความสำคัญในครอบครัวก็จะตกมาอยู่ที่ลูกสาวหรือลูกสะใภ้ต่อไป   ปัจจุบันการจะทำอาหารรับประทานกินเองในครอบครัวนั้น ถูกจำกัดด้วยสภาพที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่ต้องอาศัย อยู่ในอาคารชุด ทำให้มีข้อจำกัดในการทำอาหารรับประทานเองในที่พักอาศัย เนื่องจากอาคารชุดบางแห่งห้ามใช้เตาแก๊สในการประกอบอาหาร ทำให้ “เตาไฟฟ้า” เป็นทางเลือกหนึ่งในการหุงต้มอาหาร ซึ่งเตาไฟฟ้ามีข้อดีหลายอย่าง แต่ใช้เวลานานในการให้ความร้อนเมื่อเทียบกับเตาแก๊ส ในปัจจุบันเทคโนโลยีเกี่ยวกับเตาไฟฟ้าเพื่อใช้ประกอบอาหารก้าวหน้าไปมาก “เตาแม่เหล็กไฟฟ้า” ถือได้ว่าเป็นทางเลือกใหม่ใน การปรุงอาหาร ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าให้เลือกใช้หลากหลายยี่ห้อที่วางขายอยู่ในท้องตลาด การทดสอบนี้เป็นแนวทางที่ช่วยให้ผู้บริโภคที่สนใจจะซื้อเตาแม่เหล็กไฟฟ้าได้ทราบถึงข้อมูลเบื้องต้นในการเลือกซื้อเตาไฟฟ้าให้ตรงกับความต้องการและงบประมาณที่กำหนด ฉลาดซื้อร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ได้สุ่มซื้อเตาแม่เหล็กไฟฟ้า จำนวน 15 ยี่ห้อ 16 รุ่น จากห้างสรรพสินค้า และไฮเปอร์มาร์เก็ตในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ราคาตั้งแต่ 999 บาท ถึง 6,000 บาท โดยทดสอบเปรียบเทียบในเรื่องการใช้พลังงาน การใช้งาน และการปล่อยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Elektrosmog) แสดงผลตามตาราง  การทดสอบการใช้พลังงานทดสอบโดยต้มน้ำปริมาตร 1.5 ลิตร เปิดฝา จับเวลา และวัดพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ตั้งแต่เริ่มต้มจนกระทั่งน้ำเดือด ผลจากการทดสอบสามารถแบ่งเตาแม่เหล็กไฟฟ้าออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่กินไฟน้อย ได้แก่ เตายี่ห้อ VZIO, House Worth, Orchid, Nicole, Electrolux และ Toshiba กลุ่มที่กินไฟปานกลาง ได้แก่ AJ, Midea, Hanabishi, Imarflex รุ่น IF-830, Imarflex รุ่น IF- 863, OTTO, Zebra Head, Fagor และ Mamaru กลุ่มที่กินไฟมาก ได้แก่ Oxygen การทดสอบการปล่อยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Electrosmog)สนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจากเตาแม่เหล็กไฟฟ้าสามารถวัดได้โดยใช้เครื่องมือวัดค่าสนามแม่เหล็กแบบดิจิตอล ยี่ห้อ Gigahertz Solution รุ่น ME 3030 B ระหว่างช่วงความถี่ 16 เฮิตร์ซ ถึง 2000 เฮิตร์ซ โดยวางเครื่องมือวัดให้มีระยะห่างจากเตาแม่เหล็กไฟฟ้า 50 เซนติเมตร และเปิดเตาไฟฟ้าที่กำลังสูงสุด จากการทดสอบสามารถอ่านค่าความเข้มสนามแม่เหล็กได้สูงสุด 2000 นาโนเทสลา (nT) สำหรับเตาแม่เหล็กไฟฟ้าที่ให้ค่าความเข้มสนามแม่เหล็กมากกว่า 2000 นาโนเทสลา (nT) เครื่องมือวัดฯ ไม่สามารถประเมินในเรื่องความปลอดภัยได้ อย่างไรก็ตาม สถาบัน T?V Rheinland หน่วยงานอิสระที่ทำการทดสอบทางด้านเทคนิคของประเทศเยอรมนี ได้ให้คำแนะนำว่า ค่าความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าไม่ควรเกินกว่า 200 นาโนเทสลา (nT) การใช้งาน การใช้งานของเตาแม่เหล็กไฟฟ้าพิจารณาจากคู่มือการใช้งาน และแผงหน้าปัด คู่มือการใช้งาน ในการจัดทำคู่มือการใช้งานของผลิตภัณฑ์ สามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย คู่มือการใช้งานได้ดีมาก ได้แก่ Toshiba ซึ่งเป็นคู่มือการใช้งานที่เป็นมิตรกับผู้ใช้ ตัวหนังสือมีขนาดใหญ่ อ่านง่าย สบายตา มีภาพประกอบคำอธิบายชัดเจน คู่มือการใช้งานได้ดี ได้แก่ House Worth, AJ, Zebra Head และ Mamaru ขนาดตัวหนังสือที่ใช้อธิบายมีขนาดใหญ่ อ่านง่าย แต่มีภาพประกอบน้อย คู่มือการใช้งานได้พอใช้ ได้แก่ ยี่ห้อ Electrolux, Fagor, Imaflex รุ่น IF 830 และรุ่น IF 863, Midea และ Hanabishi ตัวหนังสือขนาดใหญ่ มีภาพประกอบน้อย และมีข้อมูลในการใช้งานน้อย คู่มือการใช้งานที่ต้องปรับปรุง ได้แก่ VZiO, Orchid, OTTO, Nicole, และ Oxygen โดยเฉพาะยี่ห้อ VZiO ไม่มีคู่มือที่แปลเป็นภาษาไทย แผงหน้าปัด แผงหน้าปัดควบคุมของผลิตภัณฑ์ แบ่งตามลักษณะการใช้งานออกเป็น 2 ประเภท คือ แบบสัมผัส (Touch screen) ได้แก่ เตาแม่เหล็กไฟฟ้า ยี่ห้อ Electrolux, House Worth, VZIO, OTTO, Fagor, Zebra Head และ Toshiba แบบปุ่มกด ได้แก่ Orchid, Nicole, AJ, Midea, Hanabishi, Imaflex รุ่น IF 830 และ รุ่น IF 863, Mamaru และ Oxygen แผงหน้าปัดถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการใช้งาน เพราะต้องสื่อสารด้วยสัญลักษณ์หรือภาษาที่เข้าใจง่าย ตัวหนังสือ ต้องมีขนาดใหญ่ เห็นได้ชัดเจน บางยี่ห้อ ปุ่มกดหรือผิวสัมผัส มีขนาดเล็ก ทำให้ไม่สะดวกในการใช้งาน โดยเฉพาะผู้ใช้งานสูงอายุ ที่มีความสามารถในการมองเห็นและการได้ยินค่อนข้างจำกัด จากการทดสอบเตาแม่เหล็กไฟฟ้าทุกรุ่น พบว่า ปุ่มกดหรือผิวสัมผัสจะมีเสียงสัญญาณ เพื่อยืนยันการกดใช้งาน นอกจากนี้ยังมีสัญญาณไฟเพื่อบอกการทำงานของเตาด้วย ตัวอย่างแผงหน้าปัดที่เหมาะสมกับผู้ใช้งาน ที่มีขนาดใหญ่ ภาพและตัวหนังสือ ชัดเจน และมีภาษาไทยประกอบ คือ Hanabishi, Zebra Head และ AJ ดูรูปที่ภาคผนวก 1 แผงหน้าปัดที่ไม่มีภาษาไทยประกอบคือ Imaflex รุ่น IF- 863, Toshiba, VZiO, Orchid, Nicole, Oxygen, Midea, OTTO, Fagor, และ Electrolux ซึ่ง แผงหน้าปัดมีการใช้สัญลักษณ์ เพียงอย่างเดียวทำให้ผู้ใช้งานสับสนได้ ดูรูปที่ภาคผนวก 2 แผงหน้าปัด ที่มีภาพและตัวหนังสือขนาดเล็ก แป้นกดขนาดเล็ก คือ Imaflex รุ่น IF 830, House Worth, Mamaru ดูรูปที่ภาคผนวก 3ความปลอดภัยเตาแม่เหล็กไฟฟ้าขณะทำงานจะมีการสร้างสนามแม่เหล็กส่งผ่านมายังกระทะสแตนเลส (ใช้ได้เฉพาะโลหะที่มีคุณสมบัติเป็นแม่เหล็ก หรือแม่เหล็กถาวรดูดติดเท่านั้น) ขึ้นมาด้านบน ซึ่งมีน้ำหรือน้ำมันอยู่ และย้อนกลับไปยังเตาแม่เหล็กไฟฟ้า สนามแม่เหล็กนี้เองที่เป็นตัวสร้างความร้อนให้เกิดขึ้นที่ก้นภาชนะ และถ่ายเทความร้อนให้กับน้ำหรือน้ำมันในกระทะสแตนเลส ในขณะที่ตัวกระทะด้านบนยังมีความเย็นอยู่และจะร้อนขึ้นจากการถ่ายเทความร้อนมาจากก้นภาชนะขึ้นมา บริเวณแผ่นส่งความร้อนตรงที่ไม่ได้มีภาชนะวาง จะไม่เกิดการเหนี่ยวนำของสนามแม่เหล็ก จึงไม่เกิดความร้อน เพราะฉะนั้นบริเวณรอบๆ ภาชนะ จึงไม่ได้เกิดความร้อน ซึ่งเป็นข้อดีประการหนึ่งของเตาแม่เหล็กไฟฟ้าที่ป้องกันอันตรายจากความร้อนของหัวเตา เตาแม่เหล็กไฟฟ้าไม่สามารถใช้ได้กับภาชนะที่ไม่มีคุณสมบัติเป็นแม่เหล็ก หม้อหรือภาชนะที่เป็นอลูมิเนียม หรือกระเบื้อง หรือแก้วไม่สามารถใช้อุ่นหรือปรุงอาหารด้วยเตาแม่เหล็กไฟฟ้าได้ ดังนั้นหากเราต้องการอุ่นอาหารด้วยหม้ออลูมิเนียมแล้วเตาแม่เหล็กไฟฟ้าดังกล่าวไม่ทำงาน ก็ไม่ได้หมายความว่าเตาแม่เหล็กไฟฟ้าชำรุดแต่ประการใด เตาแม่เหล็กไฟฟ้าขณะที่กำลังทำงานอยู่จะมีการสั่น ซึ่งสามารถทำให้กระทะหรือหม้อมีการเคลื่อนที่ได้ และถ้าโต๊ะหรือที่วางเตาแม่เหล็กไฟฟ้าไม่ได้ระนาบ กระทะหรือหม้ออาจจะพลิกหรือตกจากเตาได้ ดังรูปที่ 1  รูปที่ 1 ความเสี่ยงจากการใช้เตาแม่เหล็กไฟฟ้าบนโต๊ะที่ ไม่ได้ระนาบ ผลข้างเคียงจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าสำหรับเรื่องความปลอดภัยหรือความเสี่ยงของมนุษย์ภายใต้สภาวะสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความเข้มข้นสูงนั้น มีผลข้างเคียงต่อสุขภาพของผู้บริโภคหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังเป็นข้อถกเถียงกันของนักวิชาการฝ่ายที่ทำงานให้กับบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และฝ่ายที่ทำงานในด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จนถึงปัจจุบันนี้ ในยุโรปเองก็ยังไม่มีข้อสรุปในการออกเป็นกฎหมายบังคับ และยังไม่มีงานวิจัยใด ที่สามารถบ่งชี้ถึงผลข้างเคียงต่อผู้บริโภค เพราะการพิสูจน์เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ซับซ้อนมาก แต่ในฐานะผู้บริโภคเราควรตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกิดจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ในด้านลบหากอยู่ภายใต้ความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กสูงๆ เป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีเครื่องกระตุ้นหัวใจ pace maker ไม่ควรที่จะเข้ามาอยู่ใกล้กับเตาแม่เหล็กไฟฟ้าขณะเครื่องทำงาน เพราะสนามแม่เหล็กอาจจะไปรบกวนการทำงานของเครื่อง pace maker หรือไปหยุดการทำงานของเครื่อง pace maker ได้เช่นกัน ซึ่งประเด็นเรื่อง electrosmog เป็นเรื่องที่น่าสนใจ จะหาโอกาสมาเล่าถึงในโอกาสต่อไป เตาแม่เหล็กไฟฟ้ากับการประหยัดพลังงานหลักการโดยทั่วไปในการหุงต้มในเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคือ ความร้อนที่เกิดจากการใช้ก๊าซธรรมชาติ จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าความร้อนที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้า เพราะการใช้พลังงานปฐมภูมิ (เช่น ก๊าซธรรมชาติ) มีประสิทธิภาพดีกว่าพลังงานความร้อนที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้าที่มีการสูญเสียพลังงานโดยรวมมากกว่า แต่ในด้านความปลอดภัยโดยเฉพาะการหุงต้มในอาคารชุด จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติ เมื่อเปรียบเทียบการใช้พลังงานของเตาหุงต้มประเภทต่างๆ คือ เตาไฟฟ้า ที่ทำจากเหล็กหล่อ (Cast iron hot plate) เตาอินฟราเรด เตาอินฟราเรดพร้อมเซนเซอร์ เตาฮาโลเจน และเตาแม่เหล็กไฟฟ้า (Induction hot plate) จากรูปสามารถสรุปได้ดังนี้ รูปที่ 2 แผนภูมิแสดงการใช้พลังงานในการทดสอบของ เตาไฟฟ้าประเภทต่างๆ [1] จากผลการทดสอบเปรียบเทียบการต้มน้ำปริมาตร 1.5 ลิตร เตาอินดัคชันใช้พลังงานในการต้มน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับเตาชนิดอื่นๆ นอกจากนี้ในการอุ่นอาหารและรักษาอุณหภูมิอุ่น นาน 45 นาที เตาอินดัคชันใช้พลังงานน้อยที่สุดเช่นกัน ประเภทของเตาไฟฟ้า  รูปที่ 3 รูปแสดงประเภทของเตาไฟฟ้า [2] เตาไฟฟ้าสามารถแบ่งประเภทตามลักษณะแผ่นส่งความร้อนออกเป็น 2 ประเภทคือ1. เตาไฟฟ้าแบบธรรมดา แผ่นส่งความร้อนเป็นเหล็กหล่อใช้พลังงานไฟฟ้าในการทำให้เตาเกิดความร้อน มีราคาถูกกว่าเตาไฟฟ้าแบบอื่น (รูปประกอบ 3ก)2. เตาไฟฟ้าแบบแผ่นส่งความร้อนทำจากเซรามิก เตาประเภทนี้สามารถจำแนกพลังงานที่ทำให้เกิดความร้อน ได้ 4 ประเภท คือ 2.1 เตาอินฟราเรด (Infrared hot plate) เป็นเตาที่ให้ความร้อนโดยใช้รังสีอินฟราเรด (รูปประกอบ 3ข) 2.2 เตาฮาโลเจน (Halogen hot plate) เป็นเตาที่ให้ความร้อนโดยขดลวด ภายใต้บรรยากาศก๊าซเฉื่อย) (รูปประกอบ 3ข) 2.3 เตาอินดัคชัน (Induction hot plate) (รูปประกอบ 3 ค) เป็นเตาที่ใช้หลักการเหนี่ยวนำของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าทำให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดจากการเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานความร้อน ซึ่งความร้อนดังกล่าวจะเกิดบริเวณก้นภาชนะที่เป็นวัสดุประเภทเฟอโรแมกเนติก (Ferromagnetic- วัสดุที่สามารถใช้แม่เหล็กดูดแล้วติด เช่น เหล็กเหนียว และเหล็กหล่อ) โดยบริเวณอื่นของภาชนะไม่เกิดความร้อนจากการเหนี่ยวนำ แต่เกิดจากการนำความร้อนจากก้นภาชนะ สำหรับบริเวณด้านนอกที่ก้นหม้อหรือกระทะ ไม่ได้สัมผัสกับเตาจะไม่เกิดความร้อนเช่นกัน ทำให้สามารถใช้มือสัมผัสได้ หรือถ้าเราเปิดเตาแต่ไม่ได้วางภาชนะลงไปก็จะไม่เกิดความร้อนขึ้น ถือได้ว่าเตาแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์การทำอาหารที่ค่อนข้างปลอดภัย โดยการให้ความร้อนแบบนี้เรียกว่า (cold cooking) 2.4 เตาแก๊ส ความร้อนได้จากการเผาไหม้ของก๊าซธรรมชาติ (รูปประกอบ 3 ง) ซึ่งการให้ความร้อนของเตาทั้งสามประเภทนี้ หากเราปล่อยให้ความร้อนสูงเกินไปจะทำให้แผ่นส่งความร้อนไหม้ได้ (Overheating) ภาชนะที่เหมาะสมกับเตาอินดัคชันภาชนะที่เหมาะสมที่ใช้กับเตาอินดัคชันต้องเป็นวัสดุที่สามารถดูดติดกับแม่เหล็กได้ และขนาดของภาชนะควรมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 12 เซนติเมตร ก้นของภาชนะต้องแบนราบ เพราะหากก้นของภาชนะมีลักษณะโค้งเว้าจะทำให้พลิกคว่ำได้ง่าย ในกรณีที่ภาชนะมีขาตั้ง ระยะห่างระหว่างก้นของภาชนะกับแผ่นนำความร้อนไม่ควรจะสูงเกินกว่า 2 มิลลิเมตร การบำรุงรักษาเตาแม่เหล็กไฟฟ้าหลังจากใช้งานเสร็จแล้วควรตั้งเตาทิ้งไว้สักพัก ให้เย็นตัวลง หลังจากนั้นใช้ผ้าหรือฟองน้ำชุบนน้ำหมาดๆ เช็ดให้สะอาด หากมีคราบน้ำมันติดอยู่ ควรใช้ผ้าหรือฟองน้ำชุบน้ำยาล้างจาน เช็ดคราบสกปรกออก และขณะทำความสะอาดควรถอดปลั๊กไฟออกทุกครั้ง เนื่องจากแผ่นเตาเป็นวัสดุที่ทำจากแก้ว หรือเซรามิก จึงมีความเปราะ เวลาตั้งภาชนะ ไม่ควรกระแทกลงบนเตา และไม่ควรใช้โลหะหรือฝอยขัดหม้อขัดที่ผิวเตา หากผิวเตาแตกชำรุดไม่ควรใช้งานต่อ สรุปผลการทดสอบผลการทดสอบนี้พบว่า เตาแม่เหล็กไฟฟ้าหลายยี่ห้อประหยัดพลังงาน แต่ประเด็นเรื่องการจัดทำคู่มือการใช้งานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานนั้น พบว่ามีหลายยี่ห้อที่ยังต้องปรับปรุงและให้ความสำคัญในประเด็นนี้เพิ่มมากขึ้น สำหรับแผงหน้าปัดควบคุมการใช้งานควรมีภาษาไทยประกอบ ซึ่งบางยี่ห้อไม่ได้คำนึงถึงประเด็นนี้เลย การให้คะแนนผลิตภัณฑ์ที่น่าใช้งาน แบ่งตามเกณฑ์ดังนี้ เกณฑ์การประเมินดังกล่าวผู้บริโภคสามารถใช้เป็นแนวทางเบื้องต้นในการตัดสินใจเลือกซื้อเตาแม่เหล็กไฟฟ้าได้ เอกสารอ้างอิง1 วารสาร Test ฉบับที่ 8 ปี 20042 เอกสาร Eco Top Ten for stove and hot plate,Institute for Applied Ecology, 2008 ภาคผนวก รูปที่ 1: ตัวอย่างแผง หน้าปัดเตาแม่เหล็ก ไฟฟ้า ที่มีปุ่มกดมีขนาด ใหญ่ เห็นได้ชัดเจน มี ภาษาไทยประกอบ เข้าใจง่าย รูปที่ 2: ตัวอย่างแผง หน้าปัดเตาแม่เหล็ก ไฟฟ้า ที่ไม่ มีภาษาไทย ประกอบ เน้นการใช้ สัญลักษณ์ เข้าใจยาก ไม่สะดวกในการใช้งาน รูปที่ 3: ตัวอย่างแผง หน้าปัดเตาแม่เหล็ก ไฟฟ้า ที่มีปุ่มกดและตัว อักษรขนาดเล็ก ไม่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point