ฉบับที่ 226 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2562

สี่ล้อแดงเชียงใหม่ปรับตัว เริ่มใช้แอปฯ ต้นปี 2563        หลังกระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาออกกฎหมายรองรับแกร็ป ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการสี่ล้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีอยู่ทั้งหมด 2,465 คัน ขณะที่สี่ล้อแดงเชียงใหม่ ก็เตรียมพร้อมปรับตัว โดยในต้นเดือน ม.ค.63 สหกรณ์นครลานนาเดินรถ เตรียมเปิดใช้แอปพลิเคชัน CM TAXI ที่ร่วมพัฒนาโดย กระทรวงพลังงานและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยแอปฯ มีการใช้งานทุกอย่างเหมือนกับ Grab มีการแสดงระยะทาง อัตราค่าโดยสาร และข้อมูลรถที่จะให้บริการ เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจ ในขณะที่ผู้ใช้เฟสบุ๊คบางรายแสดงความเห็นว่า นอกจากการทำแอปฯ แล้วอยากให้ปรับปรุงเรื่องการให้บริการและการคิดราคาค่าโดยสารด้วย สสส. ชวนเลิกบุหรี่ ผ่าน อสม.        สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที “ชวน ช่วย เลิกบุหรี่” เพื่อให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านแนวคิดและกระบวนการทำงานระหว่างภาคีเครือข่ายที่มีส่วนในการขับเคลื่อน พร้อมประกาศเจตนารมณ์ “ปักหมุด หยุดสูบ” ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่ และสร้างการมีส่วนร่วมในการสร้างปัจจัยเอื้อต่อการลด ละ เลิกสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ         โดยข้อมูลจากระบบบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการปี 2560 พบว่ามีผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคจากบุหรี่ถึง 553,611 ครั้ง คิดเป็นค่ารักษาพยาบาลรวม 21,389 ล้านบาท แต่ละครั้งต้องนอนรักษาที่โรงพยาบาลเฉลี่ย 7 วัน โดยเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในแต่ละครั้งเฉลี่ย 38,638 บาท หรือ 6,806 บาทต่อวันสสส. จึงสนับสนุนโครงการจัดความรู้และสื่อสารการขับเคลื่อนงานตามพันธกิจชวนและช่วยเลิกบุหรี่ ดำเนินการในพื้นที่ 12 จังหวัด ผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน “อสม.” โดยมีโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นแกนกลางสนับสนุนให้เครือข่ายและ อสม. ทำหน้าที่ชวนและช่วยคนในชุมชนให้เลิกสูบบุหรี่ตามบริบท วิถีชีวิต สภาพสังคม และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่​ผู้สูงอายุไทยยังรู้สึกว่าดูแลตนเองได้        ข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้สัมภาษณ์กลุ่มผู้สูงอายุในประเด็นการดูแลตนเองว่า “จำเป็นต้องมีคนดูแลปรนนิบัติในงานกิจวัตรประจำวันหรือไม่” โดยคำตอบจากกลุ่มผู้สูงอายุ 60 - 69 ปี ร้อยละ 94 บอกว่าสามารถดูแลตนเองได้ ซึ่งสัดส่วนของคำตอบนี้ ลดลงตามอายุที่มากขึ้น ในกลุ่มผู้สูงอายุวัย 80 ปีขึ้นไป เหลือร้อยละ 76.2 ในผู้ชาย และร้อยละ 58.4 ในผู้หญิง         นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้สูงอายุชายร้อยละ 90.9 และผู้หญิงร้อยละ 84.6 ตอบว่าไม่ต้องการผู้ดูแล และส่วนที่ต้องการและมีผู้ดูแลมีร้อยละ 7.4 ในเพศชาย และ 13.4 ในเพศหญิง         ส่วนกลุ่มที่ต้องการ แต่ไม่มีผู้ดูแล มีร้อยละ 1.7 - 2.1 เมื่อจำแนกตามอายุและเพศ โดยกลุ่มอายุ 60 - 69 ปี ที่ไม่ต้องการผู้ดูแล มีสูงถึงร้อยละ 94.6 ในเพศชาย และ 93.4 ในเพศหญิง ซึ่งอาจอธิบายได้ว่ากลุ่มนี้ยังแข็งแรงและช่วยตัวเองได้        ส่วนคำถามที่ว่า ‘ใครเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ’ ผู้สูงอายุที่ตอบว่ามีผู้ดูแลในชีวิตประจำวันซึ่งอาจมีมากกว่าหนี่งคน คือ บุตรสาวมีสัดส่วนสูงสุด (ร้อยละ 45.1) รองลงมาคือ คู่สมรส (ร้อยละ 28.1) บุตรชาย (ร้อยละ 18.4) และหลาน (ร้อยละ 6.2) สรุปได้ว่าเป็นผู้ดูแลในระบบครอบครัว และดูเหมือนว่าผู้ดูแลจากระบบบริการ เช่น ผู้ช่วยพยาบาล หรือ ผู้ดูแลรับจ้าง ยังไม่มีบทบาทมากนัก         อย่างไรก็ตาม แม้จะเชื่อมั่นว่าดูแลตัวเองได้ แต่จากสถิติระบุผู้สูงอายุ ‘พลัดตก-หกล้ม' ต้องเข้ารับบริการทางแพทย์ฉุกเฉินเฉลี่ย 140 ครั้ง/วัน เสียชีวิตเฉลี่ย 3 คน/วัน พบรอบ 3 ปี รับบริการทางแพทย์ฉุกเฉินถึง 141,895 ราย แม้ลักษณะบ้านที่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุควรเป็น ‘บ้านชั้นเดียว’ แต่ผู้สูงอายุกลับอยู่ 'บ้านหรือตึกสองชั้นขึ้นไป' มากที่สุดที่ 44% ต้องใช้บันไดขึ้นลงทุกวัน 48.8% ต้องเดินบนพื้นที่ลื่น 31.7% มีผู้สูงอายุเพียง 24.6% เท่านั้นระบุว่าอยู่บ้านที่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับตนเอง เด็กไทยเล่นเกมส์ออนไลน์เกินวันละ 8 ชั่วโมง        สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานอื่นๆ จัดเสวนาเรื่อง “เปิดวิถีออนไลน์...เด็กไทยกับภัยใกล้ตัว” โดยได้นำผลการวิจัยเชิงสำรวจ หัวข้อ "สถานการณ์การเล่นเกมส์ออนไลน์ของเด็กไทย" ประจำปี 2562 ซึ่งสำรวจนักเรียนระดับมัธยมศึกษา, ปวช. และ ปวส. รวม 3,056 คน จากทั่วประเทศใน เดือน ก.ย. – ต.ค.62 พบว่า เด็กส่วนใหญ่ 2,730 คน หรือ ร้อยละ 89.33 เคยเล่นเกมส์ออนไลน์ โดยเล่นเกมเกือบทุกวัน ร้อยละ 64.66 เฉลี่ย 3-5 ชั่วโมง หากเป็นเด็กในพื้นที่ กทม. ร้อยละ 8.1 จะใช้เวลาเล่นเกมส์มากกว่า 8 ชั่วโมงในวันหยุด         โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้เด็กเล่นเกมส์ออนไลน์มากที่สุด คือ เพื่อนชักชวน รองลงมาคือ ข้อมูลจากสื่อออนไลน์ นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าเกมส์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของเด็กไทย คือ ROV ร้อยละ 51.38 รองลงมา คือ PUBG MOBILE ร้อยละ 18.21 และ Free Fire ร้อยละ 15.53         ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายกับเกมส์ออนไลน์ พบว่าในจำนวนผู้ที่ตอบว่า เคยเสียเงินในการเล่นเกมออนไลน์ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.13 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดนั้น พบว่าร้อยละ 30.9 ในจำนวนดังกล่าว ใช้จ่ายมากกว่า 500 บาทต่อเดือน         ทั้งนี้ ยังพบว่า เด็กต้องเผชิญกับการกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ในหลายรูปแบบ จนอาจนำไปสู่การทำร้ายตนเองและผู้อื่นทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ และทางสังคม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างความฉลาดทางดิจิทัลให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อให้เท่าทันต่อกระบวนการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ เช่น สอนให้เด็กจัดการตัวตนและรับผิดชอบต่อการกระทำบนโลกออนไลน์ สอนให้ใช้เวลาออนไลน์อย่างพอเหมาะ ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ การงาน และชีวิตด้านอื่น สอนให้ยืดหยุ่น เข้มแข็ง รับมือกับการกลั่นแกล้งได้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร้อง ‘ศาลปกครองสูงสุด’ ระงับขึ้นค่าทางด่วน        เมื่อ 20 ธ.ค.62 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน ระงับการขึ้นเงินค่าผ่านทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมือง - โทลล์เวย์) ที่เตรียมจะปรับขึ้นในวันที่ 22 ธ.ค.62 ซึ่งยังเป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด หากยังคงปล่อยให้ขึ้นราคาค่าผ่านทาง จะส่งผลกระทบก่อให้เกิดความเดือดร้อนและความเสียหายต่อประชาชน และขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนคำพิพากษาจะถึงที่สุด         โดย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิฯ รู้สึกผิดหวังที่กรมทางหลวงไม่ยอมทำอะไร หลังจากที่มีคำพิพากษาศาลปกครองกลางเมื่อปี 2558 ที่ให้มีการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องสัมปทาน ซึ่งความเป็นจริงแล้วขณะนี้ประชาชนควรจะได้รับสิทธิในการใช้ทางดังกล่าวโดยที่ไม่ต้องเสียเงิน เนื่องจากสัญญาสัมปทานได้สิ้นสุดไปตั้งแต่ปี 2557        แต่ด้วยทางบริษัทฯ ได้มีการทำตัวเลขขาดทุนที่เกินจริง ทำให้มีการขยายอายุสัญญาสัมปทานออกไปอีก 20 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2577 และยังมอบอำนาจให้เอกชนสามารถปรับขึ้นค่าผ่านทางได้โดยที่ไม่ต้องขออนุญาตหน่วยงานใด ตนจึงฝากถึงนายกรัฐมนตรีให้รีบลงมาดำเนินการในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งกรมทางหลวงควรรักษาผลประโยชน์ของประชาชนที่ใช้ทางให้มากกว่านี้ อีกทั้งเพื่อรักษาสิทธิและคุ้มครองสิทธิของประชาชนทุกคนด้วย        อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ศาลมีคำสั่งไม่รับคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ความเดือดร้อนเสียหายดังกล่าว มิใช่เป็นความเดือดร้อนเสียหายที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ หรือยากแก่การเยียวยาแก่ไข เนื่องจากยังมีทางหลวงแผ่นดิน สายวิภาวดีรังสิต และพหลโยธิน อยู่ใต้ทางยกระดับ ที่สามารถใช้จร ไปมาได้ ผู้ฟ้องคดี จึงมีโอกาสเลือกที่จะใช้เส้นทางอื่น ที่ไม่ต้องชำระค่าบริการผ่านทางตามที่กล่าวแทนทางด่วนยกระดับอุตราภิมุข ช่วงดินแดง-ดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน ทั้งขาออกและขาเข้าที่ต้องชำระค่าผ่านทางดังกล่าวได้ อีกทั้งยังมีการเปิดให้บริการขนส่งมวลชน ในเส้นทางใกล้เคียง และที่จะเปิดให้บริการในเส้นทางเดียวกัน เพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ที่สามารถใช้บริการเป็นทางเลือกในการให้บริการได้         ดังนั้น คำร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยขอให้หยุดเก็บเงินค่าผ่านงส่วนที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาสัมปทานดังกล่าว ก่อนพิพากษาจนกว่าคดีจะถึงที่สุดนั้น จึงยังไม่มีเหตุเพียงพอ ตามมาตรา 66 ของพระราชบัญญัติจัดตังศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง. พ.ศ. 2542 จึงมีคำสั่งไม่รับคำขอให้ศาลกำหนดมาตราการ หรือวิธีการคุ้มครองบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ทำไมต้องลดหวาน กับทันตแพทย์หญิงมัณฑนา ฉวรรณกุล

        เมื่อนิตยสารฉลาดซื้อวิเคราะห์ปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มยอดฮิตอย่างชานมไข่มุก ผลการทดสอบทำให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ผู้บริโภคเครื่องดื่มสายหวานเป็นอย่างมาก ทันตแพทย์หญิงมัณฑนา ฉวรรณกุล รองผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ที่ทำงานรณรงค์เรื่องการลดการบริโภคน้ำตาลมายาวนาน เราลองมาติดตามคุณหมอดูว่าเห็นผลทดสอบชานมไข่มุกแล้วคิดอย่างไร เด็กไทยไม่กินหวานต้องทำงานหนักขึ้นอีกหรือไม่ โครงการเด็กไทยไม่กินหวาน ตอนนี้มีกิจกรรมอะไรบ้างคะ        ตอนนี้เป้าหมายจะไปอยู่ในกลุ่มของศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนที่ทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 ที่เริ่มมีเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ทีนี้ก็จะมีเป้าหมายให้จังหวัดพื้นที่ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดในส่วนภูมิภาคที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งในแต่ละจังหวัดเราตั้งเป้าไว้ในแต่ละปีว่าจะทำในพื้นที่ไหน ศูนย์เด็กเล็กอะไร โรงเรียนอะไร ประเด็นหลักเน้นก็คือ จะเน้นเรื่องการบริโภคน้ำตาล ในส่วนนี้เองตอนนี้ก็จะเพิ่มเป็นประเด็นรณรงค์ในส่วนไม่ดื่มน้ำอัดลมเสร็จแล้ว คือทุกโรงเรียนไม่ดื่มน้ำอัดลมไม่มีจำหน่าย แล้วก็นมเป็นนมจืด         ในส่วนประเด็นต่อมาคือเรื่องการจัดการสภาพแวดล้อม มีประเด็นให้เน้นในเรื่องของโรงเรียน โรงอาหารอ่อนหวาน มีการบูรณาการร่วมกับทางอาหาร ในเรื่องของโรงอาหารอ่อนหวานโรงอาหารปลอดภัย ให้โรงเรียนหาผักปลอดภัย สารเคมีก็อาจจะยังมีอยู่บ้างแต่อยู่ในปริมาณที่ยอมรับได้ แล้วก็ถ้าที่ไหนสามารถมีการปลูกผักโดยไม่ใช้สารเคมีในโรงเรียนก็นำสิ่งเหล่านั้นมาปรุงอาหาร แล้วในส่วนนี้เองก็บูรณาการกับโรงอาหารที่จะไม่มีการจำหน่ายของว่างที่เป็นพิษเป็นภัย คือกินของว่างแบบไหนที่จะปลอดภัย ก็ไปกินตามฉลากเขียว เหลือง แดง ที่ทาง อย.น้อยกำหนดว่าเป็นพลังงาน เกลือ ไขมัน น้ำตาล ว่าควรมีเท่าไหร่ต่อวันต่อคน ซึ่งก็จะเน้นว่าในโรงอาหารต้องมีความรู้ตรงนี้เพื่อให้มันติดตา ทั้งเด็กที่จะได้ดูรับรู้ว่าของที่เราชอบกินนั้นมันไม่ควรกิน ซึ่งตอนนี้เป็นเรื่องที่พยายามเชิญชวนโรงเรียนให้เข้าโครงการนี้อยู่         เครือข่ายของเราที่ร่วมทำงานด้วยกันจะไปดำเนินการในโรงเรียนที่ยินดี มีความพร้อม เรายังทำได้ไม่ทุกโรง ในส่วนของบางจังหวัดที่เขาสนใจก็จะเอาตัวนี้ไปทำด้วย จริงๆ แล้วพยายามจะสื่อสารว่า มันควรทำทุกแห่งทั่วประเทศ ทุกโรงเรียนควรจะได้รับโอกาสนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนควรรู้ การรู้แล้วถ้าไม่เอื้อให้ทำได้ เขาก็จะมีพฤติกรรมเดิมๆ อย่างเช่นเครื่องดื่มมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราเน้นว่าให้ดื่มน้ำสมุนไพรแทน คือถ้าไม่ดื่มน้ำอัดลมแล้วจะดื่มอะไร ดื่มน้ำหวานน้ำสมุนไพรแทน ส่วนใหญ่เด็กก็จะพยายามทานน้ำสมุนไพร เราพบว่าน้ำสมุนไพรหวานเราเลยต้องมีเงื่อนไขว่าการจะให้ดื่มน้ำอื่นๆ ก็จะต้องมีน้ำตาลไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน้ำตาลไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์มันก็ใช้วิธีคำนวณได้ถ้าเราทำเอง        มันก็มีที่บางโรงเรียนอาจจะไม่ทำเอง โรงเรียนก็ต้องควบคุมต้องบอกให้เขาพยายามทำรสชาติที่อ่อนหวาน ใช้ปริมาณน้ำตาลน้อยก็จะต้องมีเครื่องมือไปจับวัดและให้เขาปรับปรุงลดปริมาณน้ำตาลลง ในส่วนของโรงเรียนขนาดใหญ่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ยังทำไม่ได้ก็ให้มีทางเลือก แทนที่จะบอกว่าไม่มีเลย ก็จะมีเครื่องดื่มประเภทอ่อนหวานกับเครื่องดื่มที่หวานปกติ ในตรงนี้ก็ต้องมีการสร้างแรงจูงใจสร้างความตระหนักให้กับนักเรียนหรือกลุ่มคนในนั้นว่าให้เลือกซื้อในส่วนนี้ด้วย เพราะมันจะมีปัญหาว่าถ้าเราไปเน้นให้เขาอ่อนหวานแต่คนบริโภคไม่นิยม ไม่นิยมอ่อนหวานเขาก็จำหน่ายไม่ได้สุดท้ายก็จะทำไม่สำเร็จ  ในเรื่องของการปรับพฤติกรรมปรับนิสัยมันต้องใช้เวลา เช่น อาหารในโรงเรียนที่ไม่วางน้ำตาลเอาไว้ นักเรียนก็จะมีปัญหาว่ารสชาติไม่อร่อยเพราะเคยชินกับรสหวาน แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ เด็กก็จะเคยชินตอนหลังก็คือสามารถทำได้สำเร็จ การปรับพฤติกรรมต้องใช้ความร่วมมือในส่วนไหน ทำงานตรงนี้กับพวกกลุ่มอย่างไรบ้าง        เราทำงานทั้งกลุ่มของครอบครัว กลุ่มของครอบครัว หมายความว่าบางทีเราก็จะมีกิจกรรมในกลุ่มของผู้ปกครองเด็กเล็กก่อนที่จะมาเข้าโรงเรียน มีการทำกิจกรรมฐานความรู้ อย่างของจังหวัดราชบุรีมีชมรมคนรักฟัน เรามีการทำกิจกรรมให้ความรู้ในเรื่องของการเลือกบริโภคทั้งเด็กทั้งผู้ปกครอง ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้มีการนำผู้ปกครองเด็กอนุบาลมาเข้าร่วมกิจกรรมแล้วก็สอนในเรื่องของการแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟัน สอนในเรื่องของสุขภาพช่องปาก ส่วนเรื่องการบริโภคนี่สำคัญมาก เพราะว่าหลายปีที่ผ่านมาฟันผุไม่ลดลงเลยและเด็กอ้วนมากขึ้น พบว่าการบริโภคน้ำตาลมากเกินบริโภคหวานทำให้เด็กฟันผุแล้วเด็กก็อ้วนด้วย การที่เราจะรณรงค์ให้สำเร็จก็ต้องร่วมด้วยช่วยกัน หากมัวแต่รณรงค์เรื่องแปรงฟันอย่างเดียว แต่เด็กยังมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูก กินขนมหวาน ดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลมากฟันเขาก็ผุอยู่ดี ให้รณรงค์อย่างไรฟันเขาก็ผุอยู่ดี ถ้าอย่างนี้แล้วก็ต้องดูแลเรื่องการบริโภคให้ถูกต้องเพื่อให้ฟันแข็งแรง แต่เรื่องกิจกรรมการแปรงฟันก็ต้องคงอยู่ เพราะในข้อเท็จจริงแล้วเราไม่สามารถห้ามให้เด็กบริโภคหลายๆ อย่างได้แต่เราสามารถบอกให้เขาเลือก อย่างน้อยค่อยๆ แทรกซึมในสิ่งที่เขาเลือกอาหารที่ปลอดภัยของว่างที่ควรกินได้ อันไหนที่ควรหลีกเลี่ยงแล้วก็แปรงฟัน เมื่อสร้างสุขนิสัยอันนี้เด็กก็จะเคยชินพอโตขึ้นเขาก็รู้แล้วว่าควรกินอาหารประเภทไหน กินน้ำตาลให้น้อยลงแล้วลิ้นก็จะปรับได้ เหมือนสมัยก่อนตัวเองกินกาแฟต้องใส่ครีมเทียม ซึ่งพบว่าครีมเทียมเป็นไขมันทรานส์ที่ไม่ควรกิน ปัจจุบันก็กินกาแฟเปล่าๆ ที่ไม่ต้องใส่แล้วก็กินกาแฟที่ไม่ต้องใส่น้ำตาลก็อร่อยได้เช่นกัน ซึ่งถ้าเป็นแต่ก่อนก็จะบอกว่าไม่ได้ไม่อร่อย ในส่วนของผู้ใหญ่เองต้องทำให้เป็นตัวอย่างไหมคะ         อย่างยิ่งเลยค่ะ ถ้าเราจะบอกเด็กว่าไม่ควร แต่ผู้ใหญ่ยังบอกว่าขอกินหน่อยค่ะอันนี้มันก็ไม่ได้ ก่อนอื่นเลยผู้ปกครองต้องลองฝึกที่ตัวเองก่อนไม่พยายามหาของที่เป็นอันตรายเข้าบ้าน อีกอันหนึ่งที่เราจะใช้ก็คือวิธีสำรวจตู้เย็น สำรวจตู้เย็นที่บ้านว่ามีของพวกนี้อยู่ไหมเรายังไปซื้อน้ำอัดลมประเภทไซค์บิ๊กที่บอกว่ามันประหยัด แต่ก่อนเราเชื่อว่ามีโปรโมชันเราก็จะซื้อในฐานะแม่บ้านว่ามันถูก แต่ลืมไปว่าการที่เราซื้อของถูกเหล่านี้ไว้ในบ้านมันก็หยิบกินง่าย แต่ถ้าเราไม่มีเด็กก็ไม่มีโอกาสที่จะกิน มันเป็นกลไกการตลาดที่จะทำให้พ่อบ้านแม่บ้านอยากจะซื้อเข้าบ้าน สมัยก่อนตัวหมอเองก็เป็น แต่พอเรารู้ว่ามันไม่ควรกินให้มันราคาถูกอย่างไรเราก็ไม่ซื้อ อันนี้จะลดความเสี่ยง  คือถ้าไม่ซื้อเข้าบ้านเด็กๆ ก็จะไม่มีโอกาสกินและก็ให้ซื้อของที่มีประโยชน์ผักผลไม้ให้ติดเป็นนิสัย แล้วเด็กๆ เขากินแต่ของพวกนี้เขาก็จะอิ่มท้อง คือลดโอกาสที่จะไปกินของที่ไม่มีประโยชน์ มันมีอีกวิธีคือการที่ทำให้เขาอิ่มด้วยของที่มีประโยชน์ก่อน เพราะถ้าให้กินของที่ไม่มีประโยชน์เขาก็จะกินได้อีก กลายเป็นว่าเขาจะอิ่มของที่ไม่มีประโยชน์ไปก่อนทำให้เขาสุขภาพไม่ดีจะเป็นเด็กอ้วนที่แบบไม่แข็งแรง กับเรื่องผลการทดสอบชานมไข่มุกที่ทางฉลาดซื้อเพิ่งแถลงข่าวไป         ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ได้ทำการศึกษาและเผยแพร่ในนิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งเป็นตัวช่วยที่ดีมากที่ได้เผยแพร่เรื่องนี้ออกไป เพราะจริงๆ แล้วทางเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานพยายามรณรงค์เรื่องของการลดการบริโภคน้ำตาลมาโดยตลอด เราเริ่มทำงานกันมาตั้งแต่ปี 2548 แล้วก็ชวนเครือข่ายในระดับภูมิภาค เริ่มต้นมีแค่ 10 จังหวัด แล้วตอนนี้ก็มีรณรงค์เพิ่มเติมขึ้นมาเป็น 25 จังหวัด มีจังหวัดที่สนใจเข้าร่วมโดยที่ไม่ได้ขอทุนไปดำเนินการอีกประมาณ 30 กว่าจังหวัด ในส่วนที่เรารณรงค์กันเบื้องต้นเราเน้นเรื่องของน้ำอัดลม ลดปริมาณการบริโภคน้ำอัดลมเพราะว่า เท่าที่ศึกษากันมาก็มีปริมาณน้ำตาลที่สูงเกินในการบริโภค กลายเป็นว่าเราเน้นเรื่องน้ำอัดลม แต่มีน้ำอื่นมาแทน โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภคปัจจุบันชานมไข่มุกเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตที่คนทุกวัยทานได้         ก่อนหน้านี้อาจจะมีชาเขียวที่น้ำตาลเยอะ กลายเป็นว่าพอชานมไข่มุกเป็นเครื่องดื่มยอดฮิต ซึ่งเห็นข้อมูลตรงนี้แล้วถ้าเราดื่มน้ำอัดลมสักกระป๋องเราก็กินอย่างอื่นดื่มอย่างอื่นไม่ได้แล้ว เพราะน้ำตาลเกิน กลายเป็นว่าตอนนี้ชานมไข่มุกแค่แก้วเดียวก็เกินไปถึงไหนๆ จะมีอยู่ก็แค่สองยี่ห้อที่อยู่ในปริมาณที่ไม่เกิน แต่ว่าตามองค์การอนามัยโลกกำหนดว่าคนเราจะสามารถบริโภคน้ำตาลต่อวันต่อคนแค่ 6 ช้อนชา จะสังเกตว่าขนาดชานมไข่มุกยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาล 4 ช้อนชา แค่วันนั้นก็แทบจะเติมอย่างอื่นไม่ได้แล้ว โดยนิสัยคนไทยแล้วถ้าไปดู ก็ยังดื่มน้ำอัดลมกันอยู่ ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งน้ำอัดลมก็ยังครองแชมป์น้ำตาลสูง ยิ่งมาผสมกับการกินชานมด้วยก็ยิ่งไปกันใหญ่         ทุกวันนี้จะสังเกตว่าโรงพยาบาลทุกแห่งจะคนแน่นด้วยเป็นโรคทางระบบเลือด โรคเบาหวาน ความดัน หัวใจและหลอดเลือดโดยเฉพาะที่ทางเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานสนใจมาก คือปริมาณน้ำตาลที่มันไปเชื่อมโยงกับโรคฟันพุแล้วมันก็ไปถึงโรคอ้วน ทำไมส่วนใหญ่ทางเครือข่ายกลุ่มคนที่เข้ามารณรงค์จะเป็นหมอฟันที่ไปจับมือกับนักโภชนาการ งานส่งเสริมสุขภาพ ประเด็นนี้เราต้องช่วยกันเพราะว่าสุขภาพฟันก็เป็นส่วนหนึ่งของสุขภาพร่างกายเพราะถ้ามีปัญหาเรื่องฟันก็จะมีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยว ทำให้ได้รับสารอาหารได้ไม่เต็มที่  ในเรื่องของประเด็นน้ำตาลนั้นส่งผลทั้งในเรื่องของฟันผุ แล้วก็ที่ห่วงใยไปถึงสุขภาพร่างกายด้วยคือโรคทางระบบ โรคเรื้อรัง โรคติดต่อที่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต จากตรงนี้เราจะทำอย่างไร ให้คนได้รับรู้ ต้องขอบคุณนิตยสารฉลาดซื้อ แค่นี้คงไม่พอต้องอาศัยสื่อมวลชนช่วยเผยแพร่และกระตุ้น        สิ่งที่ทางเครือข่ายเริ่มพยายามจะรุกคืบก็คือ พยายามที่จะเชิญชวนร้านกาแฟ เราจะไปห้ามไม่ได้เพราะมันคือธุรกิจ จะบอกไม่ให้เขาขายคงเป็นไปไม่ได้ บอกไม่ให้คนกินก็คงยากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราก็จะใช้วิธีการลดปริมาณขนาดที่จะให้ได้บริโภคต่อวัน คือในคนที่เลิกได้หันมาดื่มน้ำเปล่าแทนก็คือสุดยอดแล้ว ห่วงใยสุขภาพตัวเอง แต่ในเด็กกับกลุ่มคนที่อยากดื่ม เหมือนเราห้ามคนสูบบุหรี่เราก็ห้ามไม่ได้ ต้องอยู่ที่เขาตระหนักเอง คงต้องร่วมด้วยช่วยกันว่าทำอย่างไรจะสร้างความตระหนักให้สังคมรับรู้ว่าเราจะต้องไม่เอาสารพิษเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย มันเปรียบเหมือนสารพิษนะคะ แต่ว่ามันเป็นสารให้ความหวานทำให้เรารู้สึกมีความสุขกินแล้วก็อิ่มอร่อย แต่ทำอย่างไรจะให้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพิษภัยต่อร่างกาย แล้วแค่ต่อมื้อก็มากแล้ว ต่อวันเข้าไปอีกแล้วสะสมหลายๆ วัน ซึ่งอีกทางที่จะช่วยป้องกันก็คือเรากินเข้าไปเผาผลาญมันออกมันก็จะช่วยลดตรงนี้ได้ แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถจัดการเอาออกได้จากสิ่งที่เอาเข้าสู่ร่างกาย         ดังนั้นวิธีที่ไม่ให้ฝืนธรรมชาติคือ คิดว่าหลายๆ คนก็ยังรู้สึกว่ายังอยากจะกิน ยังอยากมีรสชาติของชีวิตอันนั้นคงอาจจะต้องเลือกไซด์ของการบริโภคให้เล็กลง ค่อยๆ ลดลงมาหรือเป็นไปได้ก็ไม่ไปบริโภคมัน อย่างที่บอกว่าเราพยายามที่จะไปเชิญชวนหรือหาแนวร่วมของร้านกาแฟ ร้านที่ขายเครื่องดื่มให้หันมาเป็นร้านกาแฟอ่อนหวาน ซึ่งก็จะมีเกณฑ์ให้เป็นไซต์เล็กขายเป็นแก้วเล็ก ซึ่งอาจจะขัดแย้งเพราะว่าส่วนใหญ่ร้านค้าก็อยากขายแก้วใหญ่ ในเรื่องของกำไร แต่ส่วนนี้ถ้าเราสามารถเชิญชวนร้านค้าที่เขาอยากมีกำไรแล้วก็รู้สึกว่าอยากช่วยสังคมต้องร่วมด้วยช่วยกันเผยแพร่ว่า ปริมาณตัวนี้ที่เขาใส่เข้าไปมันส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง         อีกอันที่อยากเชิญชวนและให้เขารู้สึกว่าอยากเป็นแนวร่วมกับเราว่า การลดปริมาณน้ำตาลลง ลดเศรษฐกิจของเขา ลดต้นทุนของเขาถ้าเขาสามารถใส่น้ำตาลได้น้อยลงต้นทุนต่อแก้วก็น้อยลง แต่ปัญหาประเด็นที่เขาห่วงคือกลัวว่ารสชาติของเขาไม่เป็นที่ยอมรับ คือถ้าเขาลดปริมาณน้ำตาลหวานน้อยลง บางคนติดหวานก็จะไม่ซื้อเขา ซึ่งตรงนี้ต้องร่วมด้วยช่วยกันในหลายส่วนคือในเรื่องของพฤติกรรมของแต่ละคนก็สร้างนิสัยที่ให้บริโภคหวานน้อยลง ถ้าเราลดความหวานลง ผู้บริโภคก็เลือกที่จะบริโภคหวานน้อยเทรนด์นี้ก็จะมาแรง เป็นประเด็นที่อยากให้ร่วมด้วยช่วยกัน       ในส่วนของทางเครือข่ายเองก็ออกไปรณรงค์ในโรงเรียน เข้าไปเชิญชวนโรงเรียน ให้มีโรงเรียนมีโรงอาหารอ่อนหวาน ซึ่งจะคุมในเรื่องปริมาณสัญญาณไฟจราจรเขียวเหลืองแดง ปริมาณแคลอรี่ ปริมาณพลังงานน้ำตาล ไขมัน ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม พอควบคุมตัวนี้ได้สำคัญที่ตัวผู้บริโภคก็ต้องมีการหาแกนนำนักเรียน มีการให้ความรู้มีการบริโภคตามข้อแนะนำ สิ่งสำคัญคือต้องให้เขารับรู้ว่าควรที่จะบริโภคเท่าไหร่ การที่มาเผยแพร่ตรงนี้ให้กว้างขวางและให้รับรู้อยู่บ่อยๆ ก็จะช่วยได้เพราะบางทีเราก็จะจำไม่ได้ว่าควรเป็นเท่าไหร่กันแน่ ซึ่งในฉลากเราก็มีการรณรงค์เรื่องฉลากบริโภค ซึ่งพยายามสอนให้ความรู้ประชาชนและนักเรียน สิ่งสำคัญที่สุดเลยคือผู้ปกครอง ผู้ปกครองต้องมามีส่วนร่วมอย่างยิ่ง เพราะตอนนี้ที่เราทำสำเร็จคือทำกับโรงเรียน โรงเรียนก็บอกว่าน้ำอัดลมโรงเรียนไม่จำหน่ายแล้ว แต่รอบรั้วโรงเรียนยังมีอยู่ แล้วรอบรั้วโรงเรียนก็จำหน่ายน้ำเหล่านี้ ซึ่งชานมไข่มุกที่นำมาเผยแพร่ข้อมูลในวันนี้น่าตกใจมากเป็นที่นิยมมากด้วย แต่เราจะทำอย่างไร คือถ้าเขาขาย เราไม่บริโภคเขาก็ขายไม่ได้ เขาก็จะต้องปรับกลยุทธ์ที่จะปรับให้มีน้ำตาลน้อยลง ฝากสื่อมวลชนช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลตรงนี้ออกไป แล้วก็ช่วยกันเป็นต้นแบบในการบริโภคหวานให้น้อยลง ทั้งหวานมันเค็ม โรคทางระบบรักษาหายยากเป็นแล้วเป็นเลยมันไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ว่าลดความรุนแรงได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกรกฎาคม 2557 เด็กไทย...เหยื่อโฆษณาอาหาร มีเดียมอนิเตอร์ร่วมกับแผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ได้ศึกษาการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มในรายการสำหรับเด็ก ทางฟรีทีวี 4 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3 5 7 และ 9 ช่วงปิดเทอมใหญ่ ระหว่างวันที่ 24 มี.ค. ถึง 4 เม.ย. 2557 พบว่า ร้อยละ 94 ของอาหารและเครื่องดื่มที่โฆษณาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่เหมาะสม ส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่ม นม และขนมขบเคี้ยว ซึ่งโฆษณาที่เป็นปัญหามักใช้กลยุทธ์ต่างๆ ดึงดูดความสนใจของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พรีเซนเตอร์ที่เป็นดาราดัง ใช้การ์ตูน ทำให้อาหารมีขนาดใหญ่เกินความเป็นจริง กระตุ้นให้กินเกินความจำเป็น บ้างก็อ้างถึงขนาดว่ากินแทนอาหารมื้อหลักได้ ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายควบคุมการโฆษณาไม่ครอบคลุมการโฆษณาที่มีรูปแบบและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก อย., กสทช. และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งออกข้อกำหนดในการควบคุมโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่เหมาะสม เพราะขณะนี้พบว่ามีเด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่มีภาวะโภชนาการไม่เหมาะสมกับวัย เกิดภาวะอ้วน ขาดสารอาหาร และรุนแรงถึงขั้นเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังอย่าง เบาหวาน หัวใจ ไต ความดัน   ใช้ “ทิชชู” ซับน้ำมัน เสี่ยงอันตราย!!! จริงหรือ ใครที่ชอบใช้กระดาษทิชชูซับน้ำมันจากอาหาร ต้องระวังให้ดี เพราะกรมอนามัยได้ออกมาเตือนว่า ในกระดาษทิชชูมีสารโซเดียมไฮดรอกไซด์ซึ่งทำปฏิกิริยากับโปรตีนและไขมัน ทำให้มีฤทธิ์กัดกร่อน หากหายใจเข้าไปจะทำให้ระคายเคืองทางเดินหายใจ หากสัมผัสถูกผิวหนังจะระคายเคืองรุนแรง นอกจากนี้ยังมีสารก่อมะเร็ง หากกินเข้าไปก็อาจเป็นอันตรายกับกระเพาะอาหาร กระบวนการผลิตกระดาษทิชชู นิยมใช้กระดาษมาหมุนเวียนใหม่เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น นำกระดาษ A4 ที่ใช้แล้วมาผลิตกระดาษทิชชู ซึ่งการตีวัตถุดิบให้เป็นเนื้อเยื่อต้องใช้สารโซเดียมไฮดรอกไซด์ หรือ โซดาไฟ และเพื่อความขาวน่าใช้ จึงมีการใช้สารคลอรีนฟอกขาว ซึ่งมีสารไดออกซินเป็นส่วนประกอบ การใช้ทิชชูซับน้ำมันจากอาหาร กระดาษจะสัมผัสกับอาหารโดยตรง จึงควรเลือกใช้กระดาษที่ผลิตมาเพื่อใช้กับอาหารโดยเฉพาะ และต้องผ่านการรับรองตามมาตรฐานระดับสากล เช่น HACCP ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตที่มีมาตรการป้องกันอันตรายที่ผู้บริโภคอาจได้รับจากการบริโภคอาหาร แต่หลังจากที่มีข่าวดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ก็ได้มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ได้ออกมาโต้แย้งในข้อมูลดังกล่าว ว่า กระดาษ อนามัยหรือกระดาษทิชชูนั้น ไม่ได้มีความน่ากลัวตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด และแทบจะไม่มีโซดาไฟ และสารไดออกซินอยู่เลย ดร.ภูวดี ตู้จินดา อธิบายผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว ว่า สารพิษที่เป็นข่าวอยู่นั้น ไม่ว่าจะเป็นไดออกซินหรือโซเดียมไฮดร็อกไซด์ ไม่ได้เกิดขึ้น ใน "กระบวนการผลิตกระดาษ" แต่ถูกใช้ใน "กระบวนการฟอกเยื่อ" ดังนั้นการจะมีโซดาไฟปริมาณมากพอ ที่ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพปนเปื้อนอยู่ในเยื่อกระดาษธรรมดาๆ นั้นว่าน้อยแล้ว สำหรับกระดาษทิชชูนั้นยิ่งน้อยกว่า อีกทั้งโรงงานฟอกเยื่อเกือบทั้งหมดในประเทศไทยใช้สาร "คลอรีนไดออกไซด์" ซึ่งอาจทำให้เกิดสารพิษที่เรียกสั้นๆ ว่า AOX แต่ไม่เกิด "ไดออกซิน" เมื่อ "เยื่อกระดาษ" ไม่มีโซดาไฟ และ(แทบ)ไม่มีไดออกซิน กระดาษทิชชูจึงแทบไม่มีไดออกซินด้วย   ปรากฏการณ์ “คุกกี้ รัน” ดูดเงินแสน ถือเป็นเรื่องระดับ Talk of the Town เมื่อจู่ๆ มีผู้บริโภคนับ 10 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ และผู้ปกครอง พร้อมใจกันออกมาโวยว่าตัวเองถูกเรียกเก็บค่าบริการโทรศัพท์แพงจนน่าตกใจ บางรายถูกเรียกเก็บหลักแสนบาท ซึ่งเมื่อตรวจสอบดูก็พบว่าเป็นผลมาจากการเล่นเกมชื่อดังบนมือถือ อย่าง “คุกกี้ รัน” ซึ่งเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกเรียกเก็บเกิดจากการซื้อของต่างๆ ที่อยู่ในเกม เด็กที่เล่นเกมไม่รู้ว่าเมื่อกดซื้อแล้วจะต้องเสียเงิน ทำให้ถูกเรียกเก็นเงินเป็นจำนวนมากรวมไปกับค่าบริการปกติ การแก้ปัญหา ทาง สคบ.ได้เชิญผู้เสียหายมาเจรจากับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เพื่อร่วมกันเพื่อหาทางออก แม้เบื้องต้นทางผู้ให้บริการจะยอมยกเลิกการเรียกเก็บเงิน เพราะเห็นว่าเป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ใช้โทรศัพท์ แต่ดูแล้วมีโอกาสที่ปัญหาในลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นซ้ำ ทาง สคบ.จึงร่วมกับ กสทช. เตรียมปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นธุรกิจควบคุมสัญญาโดยเพิ่มข้อกำหนดของสัญญาการให้บริการให้ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือถูกเรียกเก็บค่าใช้บริการเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งจะมีการจัดการปัญหาข้อความเอสเอ็มเอส ต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการดูดวง ทายหวย หรือการโฆษณาต่างๆ ที่ส่งมาให้ผู้บริโภคโดยใช้กลยุทธ์บริการฟรี 7 วัน พอถึงวันที่ 8 ก็ต่ออายุอัตโนมัติและคิดเงินทันทีโดยที่ผู้ใช้มือถือไม่รู้ ซึ่งตามกฏหมาย สคบ.ก็มีการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องของโฆษณาที่สร้างความรำคาญ มีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ   สคบ. เตรียมตั้ง “ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ” สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมจัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นการปรับโครงสร้างการทำงานของ สคบ.ครั้งใหญ่ เพราะจะเป็นการรวบรวมงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของ 10 กระทรวงและ 20 กรม เข้ามารวมกันเพื่อแก้ไขปัญหาให้รวดเร็วมากขึ้น ตั้งกองทุนเยียวยาผู้บริโภค คอยทำหน้าที่จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้ผู้บริโภคในช่วงที่คดีกำลังอยู่ในขั้นตอนการฟ้องร้อง โดยศูนย์ดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งตามแผนแม่บทการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งจากการที่ สคบ. ได้ประชุมร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบให้แก้ไขกฎหมายของ สคบ.ฉบับเดิมให้ครอบคลุมกับแผนดังกล่าว คาดว่าศูนย์นี้จะดำเนินงานได้ภายใน 3 - 6 เดือน โดยจะให้นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกที่นายกฯ มอบหมายมาเป็นประธานศูนย์ฯ หน้าที่ของหลักศูนย์ฯ จะรวบรวมงานที่ซ้ำซ้อนของแต่ละหน่วยงาน ที่มีข้อกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค มาเร่งแก้ไขในจุดเดียวลดขั้นตอนการดำเนินงานที่ล่าช้า พร้อมทั้งมีหน่วยงาน สคบ.ระดับภูมิภาครับเรื่องร้องเรียน และไกล่เกลี่ยให้จบภายในระดับภูมิภาค รวมถึงสร้างองค์ความรู้ และสร้างเครือข่ายระดับท้องถิ่น โดยเชื่อว่าหากมีศูนย์ดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าใจ เข้าถึง สคบ.มากขึ้น ปริมาณเรื่องร้องเรียนที่มีเข้ามาก็น่าจะเพิ่มขึ้นจากปีละแค่ 8,000-10,000 เรื่อง เป็น 100,000 เรื่อง   8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ร้อง คสช.- ดีเอสไอ เอาผิดบอร์ดและ ผอ.องค์การเภสัช 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ประกอบด้วย ชมรมแพทย์ชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, กลุ่มคนรักหลักประกัน, เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา และมูลนิธิเภสัชชนบท ได้ยื่นหนังสือต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสำนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เพื่อให้พิจารณาปลดและตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ชุดที่มี นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เป็นประธาน และนายแพทย์สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม มีพฤติกรรมส่อทุจริต และทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐเป็นคดีพิเศษ โดยมี 2 ประเด็นที่ให้ดีเอสไอพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ คือ ปัญหาการก่อสร้างโรงงานผลิตยาที่รังสิต ขององค์การเภสัชกรรมที่ ผอ. และบอร์ดยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้าง และมีการเอื้อแก่บริษัทที่เคยทิ้งงานและไม่ขึ้นบัญชีดำบริษัทที่ทิ้งงาน ทั้งที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเคยได้ทักท้วงมา นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งประเด็น คือเรื่องการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งหลังจากบอร์ดปลด นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ องค์การเภสัชกรรมในขณะนั้นไปแล้ว กลับไม่มีการเร่งรัดเพื่อให้การก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็วตรงกันข้ามกลับมีการดำเนินการล่าช้า ที่สำคัญขณะนี้โรงพยาบาลในต่างจังหวัดจำนวนมากเผชิญภาวะยาขาด สาเหตุจากการที่ ผอ.อภ. และบอร์ด อภ. แก้ไขปัญหาภาวะขาดทุนด้วยการสั่งงดผลิตยาจำเป็น เช่น ยาเบาหวาน ซึ่ง อภ. เป็นผู้ผลิตส่งให้โรงพยาบาลต่างๆ ของรัฐราว 80% ของที่ใช้กับคนไข้ในประเทศ นอกจากนี้ อภ. ยังขาดส่งยาไปยังกองทุนยาต้านไวรัสกว่า 400 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่า หากไม่มีการแก้ปัญหาวัตถุดิบยา ต่อไปคนไข้อาจขาดยา นอกจากนี้ นพ.สุวัช ยังเสนอตัดงบเรื่องการทำงานวิจัย 45 ล้าน เพื่อแก้ปัญหาขาดทุน ถือเป็นการแก้ปัญหาโดยไม่คำนึงถึงอนาคตของ อภ.ที่ต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา //

อ่านเพิ่มเติม >