ฉบับที่ 198 กฎหมายคุ้มครองแม่และเด็กแรกเกิดจากอิทธิพลของบริษัทนมผง

การตลาดที่ได้ผลดีที่สุดของบริษัทนมผง คือการเปลี่ยนให้บุคลากรทางด้านสาธารณสุขกลายมาเป็นตัวแทนขายของบริษัทนม มีรายงานในประเทศไทยระบุว่า แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมผสม ร้อยละ 81.8 จะเลือกยี่ห้อนมตามที่ได้รับแจก(ตัวอย่าง)และคำแนะนำจากบุคลากรสาธารณสุข ภาพจำในหลายๆ ปีที่ผ่านมา รูปแบบกิจกรรมการตลาดของบริษัทนมผงมีการบันทึกไว้หลากหลาย กล่าวคือ เป็นการตลาดแบบจู่โจมเข้าถึงเนื้อตัวคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อกับหญิงที่ตั้งครรภ์โดยตรงของตัวแทนขายสินค้า(ส่วนหนึ่งก็เป็นบุคลากรทางสาธารณสุข) หรือการแจกนมผงฟรีที่โรงพยาบาลให้แม่นำกลับไปเลี้ยงลูกที่บ้าน หรือการให้ข้อมูลที่เกินความเป็นจริงต่างๆ เพื่อโน้มน้าวให้คุณแม่เชื่อว่า นมผงเทียบเท่านมแม่ หรือดีกว่าเพราะเพิ่มเติมสารอาหารที่จะทำให้พัฒนาการของเด็กดียิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังเกี่ยวโยงไปถึงการที่บริษัทนมบริจาคสิ่งต่างๆ ให้กับสถานพยาบาล ทั้งในรูปแบบ การจัดกิจกรรมให้ความรู้กับแม่ การให้ค่าตอบแทนพิเศษแก่บุคลากรที่ช่วยแนะนำสินค้า การนำผลิตภัณฑ์แจกให้กับแม่ถึงเตียงนอนพักฟื้น ฯลฯ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ได้ถูกถกเถียงกันมาอย่างยาวนานในประเทศไทย เหตุเพราะการกระทำดังกล่าวนั้น ผิดจริยธรรม อีกทั้งเข้าข่ายละเมิดสิทธิของแม่และเด็กทารกในการเข้าถึงสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดสำหรับเด็กแรกเกิด ซึ่งก็คือ การได้รับน้ำนมแม่อันทรงคุณค่า เช่นเดียวกันกับภาคธุรกิจ ผู้ที่เห็นคุณค่าของการส่งเสริมให้คุณแม่ทั้งหลายใช้น้ำนมของตัวเองเลี้ยงดูทารกก็ได้พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะผลักดันให้เกิดกติกา ที่จะสามารถลดทอนอิทธิพลทางการตลาดของบริษัทนมผงลง โดยเฉพาะการทำตลาดแบบถึงเนื้อตัวและการห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบผ่านสื่อทุกชนิด ซึ่งลำพังกติกาเดิมที่เรียกว่า โค้ดนมแม่ หรือ  หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ที่ประเทศไทยได้ประกาศใช้มาตั้งแต่ ปี 2551นั้น ไม่อาจต้านทานพลังจากภาคธุรกิจได้ จึงมีแนวคิดที่จะนำกลไกที่เป็นกฎหมายหรือพระราชบัญญัติมาใช้จัดการปัญหา และในวันที่ 9 กันยายน 2560 นี้ จะเป็นวันแรกที่ พระราชบัญญัติการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560  จะมีผลบังคับใช้ ขอเล่าถึงความยากของการผลักดัน พ.ร.บ.นี้สักเล็กน้อย เนื่องเพราะมีผลประโยชน์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องมหาศาล ทำให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย แน่นอนว่าส่วนหนึ่งย่อมมาจากภาคธุรกิจผู้ผลิตนมผง แต่ที่น่าตั้งคำถามที่สุดว่ามาคัดค้านเพื่ออะไร กลับเป็นบรรดาองค์กรวิชาชีพบางแห่ง ที่ให้ข้อมูลและคัดค้านจน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ รวนไปหลายรอบ อย่างไรก็ตามแม้จะใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่ในที่สุด พ.ร.บ.นี้ก็ผ่านออกมาจนได้ ทำให้ต่อไปนี้การทำตลาดที่ละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงดังที่ผ่านมา จะต้องถูกควบคุมด้วยกฎหมายและมีบทลงโทษเป็นการเฉพาะ  กฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ห้ามการขายนมผง ผู้บริโภคจะยังสามารถหาซื้อนมผงได้จากร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา ฯลฯ แต่สิ่งที่กฎหมายห้ามคือ ห้ามบริษัททำการส่งเสริมการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์นมสำหรับเด็กอายุ 0-3 ปี ซึ่งหมายความว่า • ห้ามโฆษณาตามสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ ป้ายโฆษณา นิตยสาร อินเตอร์เน็ต• ห้ามแจกตัวอย่างนมผง เช่น การแจกตัวอย่างนมผงให้แม่หลังคลอด หรือเมื่อไปแจ้งเกิด • ห้ามการส่งเสริมการขาย เช่น แจกของขวัญ หรือสิ่งจูงใจต่างๆ ให้แก่หญิงตั้งครรภ์ แม่และครอบครัวของทารกและเด็กเล็ก การลดราคา การขายพ่วง• ห้ามติดต่อกับแม่ เพื่อสนับสนุนให้ใช้ผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เช่น การให้ Call center โทรศัพท์ไปหาแม่หลังคลอด การจัดอีเวนท์ต่างๆนอกจากนี้ กฎหมายจะมีผลในการห้ามให้ของขวัญหรือสิ่งจูงใจอื่นๆ แก่บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด้วย  ในส่วนของตัวผลิตภัณฑ์ กฎหมายจะให้ความสำคัญกับการโฆษณาเพื่อคุมการส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์ถึง 3 ปี ไม่ใช่เพียงเพราะเหตุผลว่า นมแม่มีประโยชน์ต่างๆ ต่อเด็กมากว่าแค่ในช่วง 6 เดือนแรกหรือปีแรก และเด็กควรได้รับนมแม่อย่างต่อเนื่องควบคู่กับอาหารตามวัยจนอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้นเท่านั้น แต่ยังมีเหตุผลสำคัญด้านตลาดด้วย คือการป้องกันการส่งเสริมการขายแบบข้ามชนิด(Cross promotion) ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่บริษัทใช้ในการหลบเลี่ยงกฎเกณฑ์ที่มีอยู่เดิม ที่ผ่านมา แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จะได้ห้ามการโฆษณานมผงสำหรับทารก แต่ยังไม่มีการห้ามโฆษณานมสำหรับเด็ก 1 ปีขึ้นไป หรือที่เราเห็นในท้องตลาดว่าคือ “นมสูตร 3” ซึ่งกลายเป็นช่องโหว่สำคัญ ให้บริษัทต่างๆ ทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์นี้ โดยทำให้รูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ของทุกๆ สูตรให้คล้ายกัน และใช้ชื่อยี่ห้อที่คล้ายกันมาก มีการใช้สโลแกน สัญลักษณ์ และแมสคอตเดียวกัน และใช้เลข 1-2-3 บนกล่องเพื่อแสดงให้ว่ามีความเกี่ยวข้องกัน เพราะตั้งใจเพื่อให้การส่งเสริมการตลาดของนมสูตร 3 ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจว่าโฆษณานมสูตร 1 และ 2 ไปด้วย  แต่เมื่อกฎหมายฉบับใหม่นี้มีผลบังคับใช้ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับเด็กต่ำกว่า 3 ขวบ จะถูกห้ามโฆษณาผ่านสื่อทุกชนิด  ผลิตภัณฑ์ที่จะถูกควบคุมการส่งเสริมการตลาดตามกฎหมายนี้ ประกอบด้วย 1.อาหารสำหรับทารก (อาหารสำหรับเด็กอายุ 0-12 เดือน) 2.อาหารสำหรับเด็กเล็ก(อาหารที่ใช้สำหรับเด็กอายุ 1-3 แต่จะต้องมีประกาศรองรับก่อน ส่วนนี้กรมอนามัยจะเป็นผู้จัดทำประกาศดังกล่าว) และ 3. อาหารเสริมสำหรับทารก ดังนั้นจึงขอฝากถึงบรรดาคุณแม่หรือผู้ที่ใกล้ชิด ให้ตระหนักและช่วยกันเฝ้าระวัง สอดส่องกิจกรรมการทำตลาดนมผง ที่อาจเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อดูแลลูกหลานของเราให้ได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่ ซึ่งเป็นอาหารอันแสนวิเศษสุดบนโลกใบนี้สำหรับเด็กแรกเกิดทุกคน  

อ่านเพิ่มเติม >