ฉบับที่ 235 ลืมเด็กนักเรียนไว้ในรถรับส่ง แก้ไม่ได้หรือไม่ได้แก้

        ความสูญเสียที่ป้องกันได้ เหตุการณ์ผู้ใหญ่ลืมเด็กนักเรียนไว้ในรถรับส่งเมื่อ 14 สิงหาคม 2563 คือเหตุสลดอีกครั้งที่พรากชีวิตเด็กน้อยอายุเพียง 3 ปี จากนครศรีธรรมราช “น้องกองบิน” ไป         เชื่อหรือไม่ สถิติเด็กถูกลืมไว้ในรถตั้งแต่ปี 2557 ถึง 17 สิงหาคม 2563 ของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบว่ามีเด็กถูกลืมและถูกทิ้งไว้ในรถทุกประเภทมากถึง 129 ครั้ง ที่สำคัญมีเด็กเสียชีวิตมากถึง 6 ราย ซึ่ง 5 ใน 6 ราย เป็นเด็กที่ถูกลืมในรถรับส่งนักเรียน และเด็กทุกคนที่เสียชีวิตล้วนเป็นเด็กเล็กอายุเพียง 2 - 6 ปี โดยมีสาเหตุจากการขาดอากาศหายใจเพราะอยู่ในรถที่มีสภาพอากาศร้อนจัดเป็นเวลานานหลายชั่วโมง         สอดรับกับข้อมูลสาเหตุการเสียชีวิตในเด็ก ที่ศูนย์วิจัยเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี (CSIP) ระบุ กล่าวคือ “การเสียชีวิตของเด็กที่ถูกลืมไว้ในรถส่วนใหญ่เกิดจากร่างกายของเด็กมีความร้อนสูงเกินขนาด คือมีความร้อนสูงถึง 42 องศา หากถูกลืมไว้ในรถนานเกิน 2 ชั่วโมงขึ้นไป จากนั้นเซลล์ในร่างกายจะเริ่มตาย เลือดในร่างกายจะเริ่มเป็นกรด ต่อมาสมองก็จะบวมจนไปทับก้านสมองในส่วนการควบคุมในระบบการหายใจ”         เรื่องนี้บอกอะไรกับสังคมบ้าง แน่นอนมันสะท้อนถึงปัญหาระบบการจัดการคุณภาพและมาตรฐานของรถรับส่งนักเรียนที่ไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ใช่เพียงปัญหาการลืมเด็กไว้ในรถเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาด้านมาตรฐานรถและคุณภาพบริการความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัจจุบันรถรับส่งนักเรียนถูกแปรสภาพกลายเป็นหัวใจหลักในการเดินทางของเด็กนักเรียนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไปแล้ว และคาดว่ามีรถที่ถูกนำมาใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนทั่วประเทศ ทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย ไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคัน ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นรถที่ไม่ได้รับอนุญาต ขาดการจัดการควบคุมให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่ปลอดภัย        เมื่อปัญหาเกิดขึ้นสังคมก็ขยับเขยื้อนไปบ้าง เชื่อว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงอยากให้เหตุการณ์น้องกองบินเป็นความสูญเสียครั้งสุดท้าย สังคมไทยไม่ควรมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก เราจึงเห็นข่าวหลายโรงเรียนที่มีเด็กเล็กใช้รถรับส่งนักเรียน ได้พยายามหาแนวทางและมาตรการป้องกันต่างๆ เช่น ให้ความรู้กับเด็กนักเรียนเมื่อติดอยู่ในรถว่าต้องทำอย่างไร (ทั้งที่เด็กที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยที่อ่อนด้อยศักยภาพเกินกว่าจะช่วยเหลือตัวเองได้)  หรือจัดทำบัญชีรายชื่อนักเรียนและเช็คนักเรียนทุกครั้งที่มาถึงโรงเรียน เป็นต้น        แต่หากวิเคราะห์ถึงแก่นแท้ของปัญหาที่เกิดขึ้น การให้ความรู้เด็กและจัดทำรายชื่อเด็กที่ใช้รถรับส่งนักเรียนเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดนั้นคงเป็นเพียงแนวทางเบื้องต้น มิใช่การแก้ปัญหาในเชิงระบบ ถ้าเช่นนั้นสิ่งที่ควรต้องเร่งดำเนินการคืออะไร        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอเสนอแนวทางป้องกันการลืมเด็กนักเรียนไว้ในรถรับส่ง ดังนี้           1) มีระบบฐานข้อมูลนักเรียนที่ขึ้นรถรับส่งนักเรียน รายชื่อคนขับรถรับส่งนักเรียน และเส้นทางเดินรถแต่ละคันที่มีนักเรียนใช้บริการ         2) มีระบบการตรวจสอบรายชื่อนักเรียนก่อนขึ้นและหลังลงรถรับส่งนักเรียน โดยคนขับรถรับส่งนักเรียนหรือพี่เลี้ยงทุกครั้ง         3) ตรวจเช็คนักเรียนบนรถทุกครั้งหลังจากส่งถึงจุดหมายปลายทาง         4) มีช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างครู ผู้ปกครองและคนขับรถรับส่งนักเรียนตลอดการรับส่งนักเรียน เช่น กลุ่มไลน์ ว่ารับเด็กจากต้นทางและส่งเด็กถึงจุดหมายปลายทางแล้วทุกครั้ง         และ 5) มีการประเมินมาตรการความปลอดภัยบนรถรับส่งนักเรียนทุกเดือนเพื่อให้เกิดการป้องกันที่ต่อเนื่อง         อย่างไรก็ตามที่สุดแล้วแม้จะกำหนดกฎกติกาความปลอดภัยเพียงใด หากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง ครู ผู้ปกครอง คนขับรถรับส่งนักเรียน ยังไม่ใส่ใจและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาท ปัญหาที่ควรแก้ไขป้องกันได้แบบนี้ก็จะเกิดซ้ำย้ำรอยเดิม ขอภาวนาให้เหตุการณ์น้องกองบิน เป็นครั้งสุดท้ายของการลืมเด็กนักเรียนในรถรับส่ง “ให้มันจบที่รุ่นเรา” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 การเลือกซื้อรถยนต์ให้สัมพันธ์กับครอบครัวที่มีเด็กเล็ก

เมื่อทราบข่าวจากคุณแม่ว่าจะมีสมาชิกใหม่ในบ้าน หลายครอบครัวก็ต้องมาวางแผนในการที่จะต้องซื้อของเพื่อใช้ในการเลี้ยงเด็กทารก รถยนต์เป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญ บางครั้งก็ถูกมองว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบัน เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการเดินทางร่วมกันของครอบครัว ดังนั้นการเลือกซื้อรถยนต์ เพื่อตอบโจทย์ในเรื่อง ความเป็นมิตรกับครอบครัวที่มีเด็กเล็ก (Family friendly car) จำเป็นต้องมีข้อมูลและแนวทางเบื้องต้นในการประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อสิ่งที่ต้องคำนึงในการเลือกซื้อรถเข็นเด็กทั่วไป คือ ยิ่งเป็นรถขนาดใหญ่ยิ่งดีใช่หรือไม่?คำตอบคือ ถูกเพียงครึ่งเดียว สิ่งที่ควรพิจารณา คือ ความง่ายในการติดตั้งที่นั่งสำหรับเด็ก(car seat) และเข็มขัดนิรภัยของรถ สามารถติดตั้งได้ง่ายหรือไม่ ซึ่งในรถรุ่นเก่าก่อนปี 2004 จะไม่มีตะขอโลหะที่ซ่อนอยู่ใต้เบาะสำหรับติดตั้งที่นั่งสำหรับเด็ก แบบ Isofix ซึ่งเป็นชิ้นส่วนมาตรฐานสำหรับรถยนต์ในปัจจุบัน(โดยเฉพาะรถยนต์ ของประเทศยุโรป)  ที่มีไว้สำหรับการติดตั้ง car seat สำหรับเด็ก นอกจากนี้ ควรพิจารณาถึงความยาวของเข็มขัดนิรภัยในรถด้วย เพราะถ้าความยาวของเข็มขัดสั้นเกินไปอาจทำให้เกิดการรัดเข็มขัดที่ยากขึ้น หรือไม่สามารถใช้เข็มขัดนิรภัยได้สำหรับกรณีการติดตั้งที่นั่งนิรภัยสำหรับทารกแบบ carry seat ซึ่งการติดตั้งในกรณีที่ติดตั้งอยู่ข้างหน้าข้างคนขับจะต้องล็อคไม่ให้กลไกถุงลมนิรภัยทำงาน เนื่องจากจะเป็นอันตรายแก่เด็กในกรณีเกิดอุบัติเหตุ  และหากเป็นไปได้ ก็ควรเลือกรถที่มี ประตู ปิด เปิด แบบสไลด์ นอกจากจะต้องคำนึงถึงรถยนต์คันใหม่ที่จะซื้อแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังต้องคำนึงถึง ที่นั่งนิรภัยที่จะซื้อตามมาอีกด้วย เพราะ ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ไม่ได้ทำมาเพื่อติดตั้งได้กับรถทุกคันในตารางที่แสดงผลการทดสอบ ความเหมาะสมของที่นั่งตำแหน่งต่างๆ ของรถยนต์หลากหลายยี่ห้อ หลากหลายแบบ ตั้งแต่ รถยนต์ กลุ่ม Middle class SUV VAN และ Compact wagon จำนวน 18 รุ่น จะเห็นได้ว่า การติดตั้งที่นั่งนิรภัยด้านข้างคนขับนั้นทุกยี่ห้อ ได้ผลการประเมินเพียงแค่ พอใช้ หรือผ่านเท่านั้น เนื่องจากเด็กไม่ควรนั่งข้างหน้าข้างคนขับ ยกเว้นในกรณีจำเป็น เพราะในกรณีเกิดอุบัติเหตุ เด็กจะได้รับการบาดเจ็บที่รุนแรงกว่า การที่นั่งข้างหลังสำหรับการให้คะแนนในการประเมินทางองค์กรที่ทดสอบการติดตั้งที่นั่งนิรภัยจะพิจารณาจากความยาวของเบาะที่นั่ง ที่ว่างด้านหน้าเบาะ ตำแหน่งของตะขอสำหรับการติดตั้งที่นั่งนิรภัยแบบ Isofix และความยาวของเข็มขัดนิรภัยที่มา วารสาร Test ฉบับที่ 7/2015

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 115 โต๊ะเขียนหนังสือเด็กเล็ก อันตรายที่ถูกมองข้าม

จากฉลาดซื้อฉบับ 109 “ตามไปดูเขากำจัดสารตะกั่วในโรงเรียนเด็กเล็ก กทม.” ทำให้ทราบว่าจุดเสี่ยงอีกตำแหน่งหนึ่งในโรงเรียนเด็กเล็กที่พบว่ามีค่าสารตะกั่วสูงเกินมาตรฐานซึ่งอาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพของเด็กนอกเหนือจากสีที่ทาผนังอาคารก็คือ โต๊ะนักเรียน ที่จะมีตัวพยัญชนะไทย อังกฤษ และตัวเลขสำหรับการจดจำของเด็กๆ   เจ้าโต๊ะที่ว่านี้ไม่เพียงแต่จะนิยมกันในหมู่โรงเรียนเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาลเท่านั้น พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนหนึ่งก็นิยมซื้อหามาให้ลูกหลานไว้ใช้ภายในบ้านเพื่อฝึกหัดเขียนอ่านให้คล่อง สนนราคาก็มีตั้งแต่ราคา 200 ถึง 1,000 บาท วางจำหน่ายในร้านเฟอร์นิเจอร์ทั่วไปตามย่านการค้าใหญ่ๆ และในห้างสรรพสินค้า เพื่อเป็นการเฝ้าระวังปัญหาการปนเปื้อนของสารตะกั่วในสินค้าที่ใกล้ชิดเด็กเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการสะสมพิษตะกั่วที่มีผลร้ายต่อสุขภาพทั้งในทางร่างกายและสติปัญญา โดยเฉพาะสินค้าที่หลายคนอาจมองข้ามอย่างเช่น โต๊ะเขียนหนังสือสำหรับเด็ก ฉลาดซื้อจึงลงพื้นที่ไปซื้อโต๊ะเขียนหนังสือจากย่านการค้าต่างๆ 9 แห่ง ได้แก่ พงษ์เพชร หัวหมาก โชคชัย 4 รามคำแหง ห้วยขวาง บางกะปิ สะพานใหม่ อ่อนนุช และบางบอน เพื่อส่งพิสูจน์หาปริมาณสารตะกั่ว ณ ห้องปฏิบัติการบริษัท อินเตอร์เทค เทสติ้ง เซอร์วิสเซส(ประเทศไทย) จำกัด   ฉลาดซื้อทดสอบ ผลตรวจสอบสีโต๊ะเก้าอี้เด็กที่ใช้เขียนหนังสือซึ่งมีภาพหรือตัวอักษร บนโต๊ะ พบว่า 1. สีของภาพหรือตัวอักษร บนโต๊ะและเก้าอี้ เมื่อตรวจสอบโดยการขูดรวมสีและหาค่าสารตะกั่วต่อน้ำหนักทั้งหมด มีค่าสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานกำหนดร้อยละ 83 (พบสารตะกั่วในโต๊ะเขียนหนังสือ 6 จาก 9 ตัว ตกมาตรฐาน 5 ตัว) 2. สีเคลือบโลหะ ซึ่งเป็นสีเคลือบโครงโต๊ะหรือเก้าอี้ และสีที่ใช้เป็นสีพื้นโต๊ะ มีผลสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานกำหนดร้อยละ 33 (ค่ามาตรฐานกำหนด ต้องน้อยกว่า 90 มก/กก ในการทดสอบหาสารตะกั่วเมื่อนำสีไปทำปฏิกิริยากับสารละลาย) 3. แผ่นพลาสติกที่ใช้ทำที่รองนั่งของเก้าอี้ ไม่พบสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานกำหนด   ความสำคัญของการจัดการสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กให้ปลอดภัยจากสารตะกั่วในช่วงปีค.ศ. 2002-2005 CDC และ American Academy of Pediatrics, Committee on Environmental Health พบว่าสารตะกั่วเป็นมลพิษจากสิ่งแวดล้อมที่ก่ออันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงต่อเด็ก หากได้รับปริมาณมากในวัยเด็กจะมีผลโดยตรงต่อระดับสติปัญญา สมองและระบบประสาทอย่างถาวรได้ โดยเฉพาะเด็กในวัย 5 ขวบปีแรกซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดที่มี การพัฒนาของสมอง อาการเป็นพิษจะเกิดเมื่อมีการสะสมของตะกั่วในร่างกายสูงพอ สารตะกั่ว จะมีผลเสียต่อสมองและการติดต่อเชื่อมกันของเซลล์ประสาท โดยสารตะกั่วจะไปจับกับเซลล์แทนที่แคลเซียม ผลอื่นคือทำให้เนื้อสมองบวม ยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาท(Gamma Aminobutyric Acid, GABA) ความดันกะโหลกศีรษะสูง ในเด็กมีการศึกษาของ Canfield และคณะ พบว่าสารตะกั่วในเลือดที่เพิ่มขึ้นทุก 10 มคก/ดล จะทำให้ IQ ลดลง 1-3 จุด ส่วนผลต่อ เม็ดเลือดแดงจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายเป็นโรคโลหิตจาง ผลต่อการทำงานของไตในระยะเฉียบพลันจะมีการทำลายของทิวบูลไตส่วนต้นและมีอาการของ Fanconi syndrome ส่วนผล ในระยะเรื้อรังต่อไตคือไตอักเสบ จนถึงไตวายได้ ผลต่อการตั้งครรภ์และทารก สารตะกั่วสามารถก่อปัญหาให้แก่ทารกในครรภ์หากมีสารตะกั่วเป็นปริมาณมากอาจจะทำให้เกิดการแท้ง การคลอดก่อนกำหนด เด็กที่เกิดมาจะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ การทำงานของสมองจะพัฒนาช้า ปัญญาอ่อน ชัก   ต่อมาในปี ค.ศ.2003 Canfield และคณะได้ทำการวัดระดับสารตะกั่วในเลือดของเด็กอายุ 6 เดือน 12 เดือน ถึง 5 ปี และมีการตรวจวัด IQ ที่อายุ 3 และ 5 ปี พบว่า IQ จะลดลง 4.6 จุดในเด็กที่มีค่าสารตะกั่วในเลือดน้อยกว่า10 มคก/ดล ต่างจากเด็กที่มีค่าสารตะกั่วในเลือดมากกว่า 10 มคก/ดล ที่จะมีค่า IQ ลดลงถึง 7.4 จุด ซึ่งสรุปได้ว่าระดับสารตะกั่วในเลือดที่เพิ่มสูงขึ้นจะแปรผกผันกับระดับ IQ อย่างมีนัยสำคัญ13 และในปี ค.ศ. 2006 Cochrane review ได้สรุปว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาภาวะสารตะกั่วเป็นพิษนั้นสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงภาวะสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการรักษานั้นไม่ได้ก่อนให้เกิดประโยชน์ในระยะยาวดังนั้นหากเราสามารถหาภาวะเสี่ยงของสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมและนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการปรับปรุงแก้ไขสิ่งแวดล้อมให้มีความปลอดภัยต่อสารตะกั่วได้ จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคพิษตะกั่วอย่างถาวรต่อสมองของเด็กได้ อย่างไรก็ตามพบว่าไม่มีระดับสารตะกั่วในเลือดค่าใดที่ถือว่าปลอดภัยอย่างแท้จริง และผลของสารตะกั่วที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดอย่างถาวรโดยเฉพาะสมองและระบบประสาท ถึงแม้ว่าจะรักษาโดยการลดหรือกำจัดสารตะกั่วออกจากร่างกายก็ไม่สามารถแก้ไขผลที่เกิดกับสมองและระบบประสาทได้   ฉลาดซื้อแนะ 1. ควรนำข้อมูลนี้ประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จัก ผู้บริหารโรงเรียนเด็กเล็ก ผู้บริหารองค์กรท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพอนามัยเด็ก ความปลอดภัยในเด็ก สิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค และการคุ้มครองเด็ก รู้ถึงสถานการณ์อันตรายที่ปนเปื้อนอยู่ในสินค้า 2. พ่อแม่ ผู้ปกครองควรเลือกซื้อโต๊ะเขียนหนังสือด้วยความระมัดระวัง 3. สำหรับท่านที่ซื้อมาแล้ว แต่ไม่มั่นใจว่าโต๊ะมีการปนเปื้อนสารตะกั่วหรือไม่ วิธีแก้ไขปัญหาอย่างง่าย อาจหาพลาสติกใสแผ่นใหญ่หุ้มโต๊ะเพื่อกันไม่ให้เด็กขูดขีดจนสีร่อนออกมา 4. สำหรับโต๊ะที่สีหลุดร่อนไปแล้ว ไม่ควรให้เด็กใช้ต่อ เพราะมีโอกาสที่เด็กจะหยิบเข้าปากได้   ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1. กระทรวงอุตสาหกรรม ควรแจ้งผลต่อ ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และ ประชุมผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย หรือผู้นำเข้าเพื่อหามาตรการควบคุมต่อไป 2. ควรจัดให้โต๊ะ เก้าอี้ เด็ก รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์เด็กอื่นๆ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องได้รับการควบคุมความปลอดภัยเช่นเดียวกับของเล่น   ตารางแสดงผลวิเคราะห์ตัวอย่างเส้นก๋วยเตี๋ยวประเภทเส้นใหญ่ ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ทดสอบเท่านั้น วัน/เดือน/ปี ที่ทดสอบ เมษายน 2553 (วิธีทดสอบ CPSC 16 CFR 1303)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 100 น้ำตาลในอาหารเสริมสำเร็จรูปของเด็กเล็ก

  “อาหารเสริม” เวลาที่พูดถึงคำๆ นี้มักจะชวนให้คิดถึง บรรดาผลิตภัณฑ์ที่อ้างสรรพคุณว่ากินแล้วดีต่อสุขภาพ ทำให้สวย ขาว หรือแข็งแรงเว่อร์ๆ อะไรประมาณนั้น ซึ่งในทางกฎหมายเขามีชื่อที่นิยามไว้เฉพาะสำหรับผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมานี้ว่า “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” ไม่ใช่ “อาหารเสริม” เพราะอาหารเสริม โดยแท้จริงแล้วจะหมายถึง อาหารที่ให้เด็กรับประทานเสริมจากนมแม่หรือนมผสม ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถเตรียมขึ้นเอง หรือบางครั้งก็เลือกใช้ผลิตภัณฑ์แบบสำเร็จรูปที่ขายในท้องตลาดแทน จากงานวิจัยของกองทันตสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2551 พบว่า เด็กอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไปเริ่มมีการบริโภคอาหารเสริมถึงร้อยละ 52.7 ปัญหาคือ เป็นอาหารเสริมปรุงสำเร็จ หรือกึ่งสำเร็จรูป ที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลักในปริมาณสูง ซึ่งมันมีผลต่อการ “ติดรสหวาน” ของเด็กในอนาคต ฉลาดซื้อได้ทดลองหยิบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่วางขายทั่วไป และมียอดขายลำดับต้นๆ มาทดสอบหาปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ว่าจะ “หวาน” กันสักแค่ไหน ผลปรากฏว่า หวานมากเมื่อคิดว่าเป็นอาหารที่ป้อนให้ลูกน้อยรับประทานเสริมในช่วงปีแรกของชีวิต เรียงลำดับ 3 อันดับหวานมาก ได้แก่ 1. เนสท์เล่ ซีรีแลค สูตรผสมน้ำผึ้ง ปริมาณน้ำตาล 19.9 กรัม/ผลิตภัณฑ์ 100 กรัม หรือประมาณ 5 ช้อนชา2. เนสท์เล่ ซีรีแลค สูตรผลไม้รวม ปริมาณน้ำตาล 18.8 กรัม/ผลิตภัณฑ์ 100 กรัม หรือประมาณ 4 ช้อนชาครึ่ง 3. เนสท์เล่ ซีรีแลค ข้าวโอ๊ต&ลูกพรุน ปริมาณน้ำตาล 18.2 กรัม/ผลิตภัณฑ์ 100 กรัม หรือประมาณ 4 ช้อนชา อย่าปล่อยให้เด็กติดหวาน การดูแลเรื่องอาหารการกินในวัยต้นของชีวิต โดยเฉพาะช่วงขวบปีแรกถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากพ่อแม่คิดจะสร้างความแข็งแรง ความมีสุขภาพดีให้แก่ลูกรักที่จะเติบโตต่อไปเป็น “เด็กฉลาด แข็งแรง” และ “ผู้ใหญ่สุขภาพดี” หลังคลอดอาหารที่ดีที่สุดคือ นมแม่ ซึ่งสามารถให้ได้ถึง 6 เดือน โดยไม่ต้องกินอย่างอื่น จากนั้นจึงค่อยๆ เสริมด้วยอาหารอื่นเพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารที่เพียงพอสมวัย หรือหากไม่ได้กินนมแม่ตลอดมีการให้นมผงผสมผสานในการเลี้ยงดู ก็จำเป็นต้องให้อาหารอื่นเสริมไวขึ้น  อาหารเสริมที่คุ้นเคยกันดี ก็เช่น กล้วยน้ำว้าบด ข้าวบด ไข่แดงบด และอาจรวมไปถึงเนื้อสัตว์ผัก และปลา ซึ่งเตรียมเองได้ง่ายๆ ในครัวเรือน แต่ด้วยสภาพสังคมที่อาจจะไม่เอื้อต่อคุณพ่อคุณแม่หลายท่าน ส่งผลให้พ่อแม่ไม่มีเวลามากพอในการจัดเตรียมอาหารเสริมแบบปรุงเองเพื่อป้อนให้ลูกน้อยได้ ก็จำเป็นต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ปรุงสำเร็จรูปมาป้อนเข้าปากลูกแทน ซึ่งจุดนี้อาจถือว่าเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “ติดรสหวาน” จากการศึกษา พบว่า เด็กไทยอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป ร้อยละ 52.7 เริ่มบริโภคอาหารเสริมสำเร็จรูป นั่นเท่ากับว่า เด็ก 1 ใน 2 คน มีโอกาสได้ลิ้มรสชาติ “น้ำตาล” ตั้งแต่อายุเพียง 6 เดือนเท่านั้น เพราะอาหารเสริมปรุงสำเร็จส่วนใหญ่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบเพื่อเพิ่มรสชาติ ติดรสหวานไม่ดีอย่างไร เรื่องนี้พิสูจน์ได้ด้วยสถานการณ์สุขภาพเด็กไทยในปี พ.ศ.2545 ที่พบเด็กฟันผุมากถึงร้อยละ 72 จนหน่วยงานทั้งหลายต้องเร่งออกมาศึกษาและหาทางแก้ไขกันยกใหญ่ ซึ่งจุดหนึ่งของปัญหาคือ พบว่า เด็กไทยเริ่มกินนมสูตรต่อเนื่องที่มีน้ำตาลผสมในปริมาณสูง ทำให้น้ำตาลสะสมในช่องปากก่อให้เกิดฟันผุ แต่หลังจากที่หลายองค์กรทางด้านสุขภาพได้ช่วยกันรณรงค์ผลักดันให้กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศ สธ.ที่ 286 ห้ามไม่ให้เติมน้ำตาลในนมสูตรต่อเนื่องสำหรับเด็ก รวมทั้งเร่งให้การศึกษาพ่อแม่ให้ดูแลสุขภาพภายในช่องปากของลูก ทำให้พบว่า เด็กไทยมีแนวโน้มฟันผุน้อยลงมาหน่อย คือ ร้อยละ 62.8 ในปี พ.ศ. 2550 ติดรสหวานไม่เพียงทำให้ฟันผุ (ซึ่งอาจแก้ได้ด้วยการแปรงฟันที่ถูกวิธี) แต่ยังทำให้เด็กปฏิเสธอาหารรสชาติธรรมชาติ ตลอดจนอาหารอื่น โดยเรียกร้องแต่จะกินอาหารที่หวานด้วยน้ำตาลเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นขนมขบเคี้ยว ขนมถุง น้ำหวานหรือน้ำอัดลม ส่งผลให้เด็กมีภาวะน้ำหนักเกิน ขาดสารอาหาร และมีแนวโน้มเจ็บป่วยด้วยโรคที่ไม่ควรเกิดในเด็กเล็ก อย่าง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ดังนั้นหากไม่อยากให้ลูกติดรสหวาน ถ้าจำเป็นต้องเลือกอาหารเสริมสำเร็จรูป ก็ควรเลี่ยงที่มีส่วนผสมของน้ำตาล พยายามทำอาหารให้ลูกกินเองให้ได้มากที่สุด ใช้อาหารเสริมเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อไม่ให้ลูกของคุณกลายเป็นเด็กที่อ้วนแต่อ่อนแอ และหากพ่อแม่คนไหนยังมีความเชื่อว่าอาหารเสริมกึ่งสำเร็จรูปสำหรับเด็กเป็นอาหารที่ดี มีประโยชน์มากกว่าอาหารปกติ ขอให้ข้อคิดว่า อาจไม่เป็นเรื่องจริงก็ได้ เพราะความจริงคือ ไม่น่าจะมีอะไรวิเศษไปกว่าอาหารสดที่เราหาซื้อได้จากตลาดและนำมาปรุงเอง อาหารที่เตรียมเองไม่ต้องผ่านกระบวนการผลิต การบรรจุขวด ซึ่งผ่านขั้นตอนที่ทำลายคุณค่าอาหารและยังอาจมีสารกันบูดผสมด้วย ดังนั้นในยุคเศรษฐกิจฝืดๆ แบบนี้ อาหารเสริมสำเร็จรูปจากต่างประเทศ “ราคาแพงเกินไป” ทำเองดีกว่า ถูกกว่าและปลอดภัยกว่าแน่นอน ผลทดสอบปริมาณน้ำตาลในอาหารเสริมกึ่งสำเร็จรูปสำหรับเด็ก   ผลิตภัณฑ์ น้ำหนัก (กรัม) ราคาต่อหน่วย (บาท) วันผลิต – วันหมดอายุ น้ำตาล (กรัมต่อ 100 กรัม) เนสท์เล่ ซีรีแลค สูตรผสมน้ำผึ้ง 120 38.75 10-11-08 09-02-10 19.9 เนสท์เล่ ซีรีแลค สูตรผลไม้รวม 120 38.75 19-11-08 18-02-10 18.8 เนสท์เล่ ซีรีแลค ข้าวโอ๊ต&ลูกพรุน 150 120.75 16-05-08 15-08-09 18.2 เนสท์เล่ ซีรีแลค ข้าว แอปเปิลและแครนเบอรี่ 150 120.75 29-05-08 28-08-09 16.2 ไฮนซ์ แอปเปิ้ลผสมบลูเบอร์มูสลี่ 110 41.25 01-07-08 01-07-10 7.8 ไฮนซ์ คัสตาร์ด กลิ่นวานิลลา 110 41.25 04-06-08 04-06-10 6.7 ไฮนซ์ คัสตาร์ด รสไข่ 110 41.25 06-06-08 06-06-10 5.8   อายุ อาหารเสริม ครบ 4 เดือน ข้าวบดใส่น้ำแกงจืด สลับกับกล้วยน้ำว้าสุกครูด ข้าวบดกับไข่แดงต้มสุก ข้าวบดกับตับ หรือข้าวบดกับถั่วต้มเปื่อย ครบ 5 เดือน เริ่มอาหารปลา และควรเติมฟักทองหรือผักบดละเอียดในข้าวด้วย ครบ 6 เดือน ให้อาหารเสริมเป็นอาหารหลัก 1 มื้อ และให้กล้วย มะละกอสุก องุ่น มะม่วงสุก เป็นอาหารว่างอีก 1 มื้อ โดยตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ถ้วยให้ลูกหยิบรับประทานเองได้ และให้เริ่มดื่มน้ำส้มได้โดยผสมกับน้ำสุก 1 เท่าตัว ควรเริ่มทีละน้อยก่อน เช่น 1 ช้อนชา ครบ 7 เดือน เริ่มเนื้อสัตว์บดผสมในข้าว เริ่มให้ไข่ทั้งฟองได้ แต่ต้องต้มสุก ครบ 8-9 เดือน อาหารมื้อหลัก 2 มื้อ ถ้าลูกน้ำหนักตัวน้อย อาหารอาจเป็นของทอดที่มีน้ำมันด้วย ครบ10-12 เดือน อาหารมื้อหลัก 3 มื้อ และเปลี่ยนจากบด หรือสับละเอียดมาเป็นอาหารอ่อนนิ่มธรรมดาได้แล้ว   ปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับเด็กมีมูลค่าตลาดราว 427 ล้านบาท โดยมีผลิตภัณฑ์ภายใต้เนสท์เล่ เป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่ง 97% หลักเกณฑ์ทั่วไปการให้อาหารเสริมแก่ทารก      1) เริ่มให้อาหารเสริมทีละอย่าง ไม่ควรให้พร้อมกันหลายอย่าง เพราะถ้าเด็กเกิดอาการแพ้ จะได้ทราบว่าเกิดจากอาหารอะไร     2) การเริ่มให้อาหารเสริมแต่ละชนิด ควรเว้นห่างกัน 1-2 สัปดาห์ เพื่อคอยสังเกตดูว่าเด็กมีอาการผิดปกติอะไรหรือไม่ เช่น มีผื่นตามผิวหนัง ร้องกวนมาก ไอ หอบ     3) เริ่มให้ทีละน้อยจากครึ่งช้อนชา แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้น     4) เตรียมอาหารให้เหมาะกับอายุและพัฒนาการของเด็ก     5) ต้องระวังสนใจเรื่องความสะอาดให้มาก ผู้ปรุงต้องล้างมือให้สะอาดก่อนปรุง ภาชนะต้องต้มฆ่าเชื้อให้สะอาด แยกต่างหากจากของผู้อื่น อาหารต้องใหม่สด และต้มให้สุกอย่างทั่วถึง และเมื่อปรุงเสร็จแล้วต้องมีฝาปิดมิดชิดกันแมลงวันตอม     6) อาหารของทารกต้องรสไม่จัด ปรุงรสเพียงเจือจาง และไม่ใส่ผงชูรส     7) ให้เด็กรับประทานอาหารเป็นเวลา เป็นที่เป็นทาง ไม่เล่นไปด้วย ควรสร้างบรรยากาศให้เพลิดเพลินสนุกสนาน และหากเด็กปฏิเสธให้หยุดไปก่อน แล้วค่อยเริ่มใหม่ในอีก 3-4 วัน     8) ให้เด็กหัดช่วยตัวเอง หัดถือช้อนเอง หัดหยิบอาหารเข้าปากเอง โดยทั่วไป เด็ก 6-7 เดือนจะนั่งได้ และเริ่มอยากจะช่วยตัวเอง นำอาหารเข้าปากเอง     9) ไม่ควรให้น้ำหวาน กลูโคส น้ำอัดลม เพราะไม่มีประโยชน์ ทำให้ไม่อยากรับประทานอาหารอื่นที่มีประโยชน์(ข้อมูล ภญ. อ. ดร. สุญานี พงษ์ธนานิกร ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)   วิเคราะห์โดย สถาบันวิจัยโภชนาการ ม.มหิดลผลการวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point