ฉบับที่ 250 โควิดก็ยังไม่หมด และข้อมูลมั่วๆ ก็ยังมา (2)

        ยืนตากแดดก็ฆ่าเชื้อโควิด 19         จากกรณีที่โลกออนไลน์มีการแชร์ข้อมูล โดยแนะนำให้ประชาชนออกมาตากแดดตอนเช้า เพื่อให้แดดฆ่าเชื้อโควิด 19  เพราะเชื้อโควิด 19 ชอบความเย็นมากกว่าความร้อน ดังนั้นเมื่อเจอความร้อนจากแสงแดดเชื้อโควิด 19 จะตาย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่าข้อมูลนี้เป็นเท็จ การยืนตากแดดไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้จริง         ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดความเสี่ยงในการเป็นโควิด19         มีการแชร์ข้อมูลเชิญชวนให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยอ้างว่าฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดความเสี่ยงในการเป็นโควิด-19 แม้ในแง่วิชาการ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่จะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ในประเด็นที่อ้างว่า ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดความเสี่ยงในการเป็นโควิด 19 ได้นั้น ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่าไม่เป็นความจริง วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้เฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่เท่านั้น ไม่สามารถป้องกันโควิด 19 ได้ แต่อาจจะเกี่ยวข้องกันบ้างในแง่ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะลดความรุนแรงของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาจจะพบการติดเชื้อร่วมกับโควิด 19         เราจะรับมือกับกับข้อมูลเท็จในยุคที่ผู้บริโภคกำลังสำลักข้อมูลอย่างไรดี?        ในโลกปัจจุบันที่ผู้คนสามารถสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลมั่วๆ เหล่านี้ยังคงถาโถมมาเรื่อยๆ และมันก็จะวนเวียนอยู่ในอินเทอร์เน็ตแบบไม่มีวันหมดสิ้น เมื่อเวลาผ่านไปมันก็จะหมุนเวียนกลับมาอีกเป็นระยะๆ ผู้บริโภคอย่างเราจึงต้องตั้งสติให้ดี         1. ตรวจสอบต้นตอที่มาของข่าว         เมื่อได้รับข้อมูล อย่าเพิ่งรีบเชื่อ และต้องไม่รีบส่งต่อหรือแชร์ข้อมูล เพราะการส่งต่อข้อมูลที่เป็นเท็จจะเป็นการทำร้ายคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ผู้บริโภคควรตรวจสอบรายละเอียดในข้อมูลก่อนว่ามีการระบุต้นตอแหล่งที่มาชัดเจนหรือไม่ ถ้าไม่มีแหล่งที่มาอย่างชัดเจนก็ไม่ควรแชร์  แต่ส่วนใหญ่ข้อมูลมั่วๆ เหล่านี้มักจะมีการอ้างอิงแหล่งที่มาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ดังนั้นเราก็ไม่ควรรีบเชื่อ เพราะอาจเป็นการอุปโลกน์แหล่งที่มาของข้อมูลเพื่อหลอกเรา         2. ลองค้นข้อมูลด้วยตัวเองดูก่อน         เนื่องจากข้อมูลที่แชร์ๆ ต่อๆ กันมา บางทีก็เป็นข้อมูลเก่าที่เคยแชร์มาหลอกชาวบ้านเมื่อหลายปีมาแล้ว ผู้บริโภคที่รู้เท่าทัน ควรจะลองเข้าไปค้นหาข้อมูลดูด้วย เช่น อาจค้นจาก google ดูก็ได้ บางทีเราจะพบว่าข้อมูลนี้เป็นเท็จ และในอดีตก็มีหน่วยงานต่างๆ ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว         3. สอบถามผู้รู้ เช่น คน หน่วยงาน         หากไม่มั่นใจในข้อมูล ผู้บริโภคสามารถติดต่อสอบถามยังหน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ช่วยหาข้อเท็จจริงมาบอกเราได้ ทั้งนี้ควรเลือกหน่วยงานที่เรามั่นใจและน่าเชื่อถือในแง่วิชาการด้วย                 4. จัดการต้นตอข่าวลือให้อยู่หมัด         หากข่าวลือดังกล่าวนำไปสู่การโฆษณาหรือขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ควรแจ้งเบาะแสให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 เลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เดี๋ยวนี้

        โพลล่าสุด บอกคนกรุงเทพต้องการให้รัฐบาลเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด่วน        วิกฤตการระบาดของเชื้อโควิดโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สะท้อนการบริหารจัดการการดูแลผู้ป่วยโควิดได้อย่างยากยิ่งในเมืองหลวง แต่ได้เห็นความพยายามของกลุ่มคนต่างๆมากมายซึ่งเป็นโอกาสที่รัฐบาลจะได้ใช้ความร่วมมือของกลุ่มคนต่างๆเหล่านี้ หน่วยงานที่ต้องยกย่องชมเชย เห็นจะเป็นชมรมแพทย์ชนบท และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีความพยายามที่จะมองปัญหาเรื่องนี้ไปข้างหน้าไม่ว่าจะเป็นการจัดการปัญหาเรื่องการแยกตัวที่บ้าน(Home Isolation) หรือการแยกตัวในชุมชน(Community Isolation) กับสนับสนุนให้ประชาชนสามารถกลับไปรักษาที่จังหวัดของตนเอง โดยการสนับสนุนรถรับส่ง เพราะเห็นได้ว่าหน่วยบริการไม่สามารถจัดบริการเหล่านี้ได้หรือรองรับได้เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ประชาชนต้องพึ่งกลุ่มบุคคลต่างๆที่ทำงานนอกระบบหรืออาสาสมัครในปัจจุบัน เช่น วัดสะพาน หลายชุมชนในคลองเตย คลองเตยดีจัง กลุ่มเส้นด้าย คลินิกพริบตา IHRI กลุ่มออนไลน์อีกจำนวนมาก และรวมถึงมูลนิธิและองค์กรสาธารณประโยชน์ อาสาสมัครอีกมากมายในการแก้ไขปัญหาวิกฤตโควิด หรือแม้แต่การสนับสนุนการทำกิจกรรมป้องกัน ดูแล รักษา กันเองในชุมชน         สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นรัฐบาลการดำเนินการ คือการสนับสนุนกลุ่มองค์กรต่างๆเหล่านี้ ด้วยงบประมาณแผ่นดิน แทนที่แต่ละองค์กรจะต้องมีภาระในการระดมเงินบริจาคจากประชาชนเพียงอย่างเดียว หรือการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐสามารถทำได้เพียงหน่วยบริการสาธารณสุขในระบบเท่านั้น         ซึ่งต้องยอมรับว่าในปัจจุบันหน่วยบริการต่างๆได้มีความพยายามให้บริการได้อย่างเต็มความสามารถ และได้ขยายการให้บริการในรูปแบบต่างๆเต็มศักยภาพเท่าที่จะสามารถทำได้ แต่จำนวนยังไม่เพียงพอต่อการเจ็บป่วยของประชาชน         ทางออกสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโควิดในปัจจุบันก็คือให้ชุมชนดูแลกันเองให้มากที่สุด ให้ประชาชนที่สามารถแยกตัวเองที่บ้านได้มีชุดความรู้ ชุดข้อมูล ชุดอุปกรณ์ดูแลตัวเองแบบเบ็ดเสร็จ พร้อมสนับสนุนการเข้าถึงยาที่จำเป็นในการรักษาตนเองโดยเร็วที่สุด         เขียนมาตั้งนานไม่เห็นจะเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเลย หากย้อนกลับไปจะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด รัฐบาลได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้เกือบแปดเดือนแล้ว หลายคนก็คาดหวังว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่ต่างก็ต้องผิดหวัง ทำให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบันไม่ยึดโยงกับประชาชนใช่หรือไม่ เพราะไม่ได้มาจากการตัดสินใจของประชาชนในกรุงเทพมหานคร ทำให้การตัดสินใจหลายครั้งของผู้ว่ากรุงเทพมหานครไม่ได้ยึดโยงอยู่กับความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ว่าการออกประกาศให้เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาท แต่ถูกนายกรัฐมนตรีสั่งห้าม ดึงดันคิดราคา 65 บาททั้งที่ไม่มีที่ไปที่มา หรือแม้แต่การแก้ไขปัญหาโควิดของกรุงเทพมหานครก็สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาที่ไม่สามารถดูแลประชาชนได้อย่างน่าภูมิใจ ถึงแม้ทุกคนจะรู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนความต้องการผู้ว่าราชการที่มาจากการเลือกตั้งเดี๋ยวนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 เช็คสุขภาพใจกับ Mental Health Check Up

        ช่วงนี้นั่งฟังข่าววันไหน ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด -19 ยังคงมีให้เห็นอยู่ทุกวัน แถมยังต้องระมัดระวังตนเองให้การ์ดไม่ตกตามมาตรการของรัฐบาลอีก จนทำให้ใครหลายคนอาจต้องทำงานที่บ้าน งดการเดินทางท่องเที่ยว งดการสร้างสรรค์กันอีกระลอก เพื่อช่วยลดการแพร่ระบาดเชื้อโควิด -19 ให้หมดไปจากประเทศไทยโดยเร็ว         “แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม” ขอฮัมเพลงเบาๆ  กันสักหน่อย เพราะจะหมุนตัวไปทางไหนก็ไม่ได้ เครียดเหลือเกินกับการต้องมาระวังตัวจนจิตตกคิดตลอดว่า “เป็นหรือยังเนี่ย” เครียดเหลือเกินที่ไม่ได้ออกไปเที่ยวกับเพื่อน เครียดเหลือเกินไม่ได้ทานข้าวกับแฟนมาเนิ่นนานมากแล้ว และเครียดเหลือเกินไม่รู้ว่าบริษัทจะลดเงินเดือนเมื่อไรกันหนอ         กลับมาสู่โลกความเป็นจริงกัน ทุกคนต้องพึ่งสุภาษิตที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ดีที่สุด ดังนั้นการขจัดความเครียดและรู้เท่าทันความรู้สึกของตนเองสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดระลอกใหม่ ที่ดูทุกอย่างจะถาโถมมาพร้อมกันเหลือกัน ทุกคนต้องตั้งสติ และตระหนักกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยไม่ตระหนกกับเหตุการณ์ต่างๆ มากจนเกินไป         เพื่อคลายความเครียดไม่ให้สะสมจนก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตมากไปกว่านี้ ลองหันมาพึ่งแอปพลิเคชั่น Mental Health Check Up ที่จะช่วยเช็คสุขภาพจิตของเราว่าเป็นเช่นไร เพื่อให้รู้เท่าทันและพร้อมปรับเปลี่ยนสุขภาพจิตให้เหมาะสม จนไม่เกิดภาวะเครียด ภาวะซึมเศร้า และจิตตกกันดีกว่า         แอปพลิเคชั่น Mental Health Check Up เป็นแอปพลิเคชั่นของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โดยออกแบบมาเพื่อประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นด้วยตนเอง และคัดกรองปัญหาโรคจิตเวชที่พัฒนาขึ้น ทำให้ผู้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว         ภายในแอปพลิเคชั่นจะใช้วิธีการประเมินตนเองที่เกี่ยวกับสุขภาพใจหลากหลายหมวด ได้แก่ ประเมินดัชนีวัดความสุข ประเมินความเครียด ประเมินภาวะซึมเศร้า ประเมินความฉลาดทางอารมณ์ EQ ประเมินภาวะติดสุรา ประเมินภาวะความจำ ประเมินภาวะติดเกม ประเมินภาวะหมดไฟในการทำงาน ประเมินพลังสุขภาพจิต RQ         โดยก่อนเริ่มใช้แอปพลิเคชั่นจะสอบถามข้อมูลผู้ใช้งาน ดังนี้ ชื่อนามสกุล (ไม่บังคับใส่) อายุ เพศ ที่อยู่ หลังจากนั้นเมื่อเข้ามาในหน้าแรกจะปรากฎวิธีการประเมินตนเองที่เกี่ยวกับสุขภาพใจในหมวดต่างๆ ที่กล่าวมา การทำแบบประเมินจะเป็นในรูปแบบคำถามเชิงจิตวิทยา โดยในแต่ละหมวดจะมีจำนวนข้อแตกต่างกันไป         เมื่อตอบคำถามครบทุกข้อแล้ว แอปพลิเคชั่น Mental Health Check Up จะประมวลผลและแจ้งผลการประเมินว่าอยู่ในระดับใด พร้อมคำแนะนำ ในกรณีที่ผลการประเมินออกมาในเชิงลบ อย่างเช่น มีความเครียดปานกลาง คำแนะนำจะอธิบายถึงสาเหตุที่อาจทำให้เกิดความเครียดเกิดขึ้น และเสนอทางแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย อ่านหนังสือ เล่นดนตรี ดูหนัง ฟังเพลง รดน้ำต้นไม้ สวดมนต์ไหว้พระ ทำจิตใจให้สงบ ไม่นึกถึงเรื่องอดีต เป็นต้น         ถ้าสถานการณ์ช่วงนี้ทำให้จิตใจว้าวุ่นใจ เครียด ไม่มีสมาธิ ลองใช้แอปพลิเคชั่น Mental Health Check Up เช็คสุขภาพใจของตนเองกันดู อย่างน้อยก็ทำให้รู้ตัวว่าสุขภาพใจอยู่ในภาวะใด จะได้รับมือและฟื้นฟูสภาพจิตใจของตนเองได้ทันถ่วงที

อ่านเพิ่มเติม >