ฉบับที่ 273 เล็บเป็นเชื้อราจากการทำเล็บควรอย่างไรดี

        การทำเล็บเพื่อความสวยมีการพัฒนารูปแบบไปอย่างหลากหลาย ร้านทำเล็บมีกันเกลื่อนเมือง มีทั้งการทำเล็บเจลที่นิยมทำกันมากหรือการต่อเล็บปลอมแล้วตกแต่งให้สวยงาม ซึ่งเป็นเล็บปลอมจากอะคริลิก PVC แต่รู้หรือไม่ อาจเสี่ยงให้เกิดเชื้อราหรือเป็นเล็บเขียวๆ หลังจากถอดเล็บปลอมออกไปได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวเพราะว่ามองไม่เห็น จะมารู้ตัวอีกทีก็หลังจากถอดเล็บออกมาเท่านั้น         อาการเล็บเป็นเชื้อราจากการทำเล็บนั้นเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ส่วนมากคือเกิดจากความอับชื้น และจากอุปกรณ์ของช่างที่ไม่สะอาด ดังนั้นเพื่อให้รู้จักสังเกตอาการก่อนจะเกิดอาการไม่พึงประสงค์ลุกลาม สามารถสังเกตได้ง่ายๆ คือหลังจากถอดเล็บปลอมออกแล้ว พบว่า เล็บเป็นสีเขียว หรือสีขาวหรือออกเหลืองๆ  และบางคนอาจมีอาการคัน บวม แดง ก็แสดงว่าติดเชื้อราเข้าแล้ว  เกิดอาการเล็บติดเชื้อรา ควรทำอย่างไรดี         ฉลาดซื้อ แนะนำว่าหลังถอดเล็บทุกครั้งให้ดูแลความสะอาดให้ดี พร้อมกับพักระยะเวลาการต่อเล็บปลอมหรือทาสีเจลไปอีกสักพักก่อน เพื่อให้เล็บได้ฟื้นตัว หากมีอาการแบบที่บอกไว้ข้างต้น ควรทายาฆ่าเชื้อราเพื่อรักษาอาการคู่ไปด้วย โดยหากเป็นไม่มากแค่ออกสีเขียวๆ ปรึกษาเภสัชกรให้แนะนำยาที่เหมาะแก่การรักษาให้ แต่หากมีอาการมาก คัน อักเสบ ให้ไปพบแพทย์เพื่อรักษาทันทีเพื่อไม่ให้เชื้อราเกิดลุกลามจนหน้าเล็บพัง เพราะในกรณีที่ลุกลามมากๆ อาจจะต้องให้แพทย์ทำการรักษา เช่น ตัดเล็บหรือถอดเล็บบริเวณเกิดเชื้อราออก ซึ่งแพทย์จะจ่ายยาให้รับประทานโดยเฉพาะ         อีกเรื่องคือ หากใครที่ต่อเล็บแล้วพบว่าเล็บเหมือนจะหลุดแต่ยังไม่หลุด จนมีช่องว่างระหว่างตรงกลางไว้ แนะนำให้รีบไปถอดออกทันที อย่าปล่อยไว้ เพราะอาจมีช่องว่างให้น้ำเข้าไปจนเกิดความอับชื้น ซึ่งอาจเป็นแหล่งก่อเกิดเชื้อราโดยเฉพาะนั้นเอง ร้านทำเล็บต้องสะอาด         การเลือกร้านทำเล็บ ควรเลือกที่น่าเชื่อถือ มีการทำความสะอาดอุปกรณ์และมีอุปกรณ์เพื่อการฆ่าเชื้ออย่างดี ที่สำคัญฉลาดซื้อย้ำเตือนเสมอ คือ มีใบอนุญาตหรือช่างผ่านการอบรมมาอย่างดี รวมถึงเรื่องสุขอนามัยของร้าน เช็กให้ดีก่อนเข้าใช้บริการทุกครั้ง  เพราะการที่เราจะทำอะไรเกี่ยวกับร่างกาย ไม่ว่าจะภายนอกหรือภายใน เราควรที่จะเน้นเรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัยเป็นหลักข้อมูลจาก : www.Pobpad.com ข้อควรรู้ก่อนทำเล็บปลอม เพื่อป้องกันเล็บพังwww.Pobpad.com ความหมาย เชื้อราที่เล็บwww.hellokhunmor.com เล็บปลอม กับข้อควรรู้ก่อนต่อเล็บปลอม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 สระผมอย่างไร? ให้ไม่เสี่ยงปัญหาหนังศีรษะ

        ฉลาดซื้อ คิดว่ามีหลายคนที่เจอปัญหาเกี่ยวกับหนังศีรษะ ทั้งรังแค เชื้อรา หรือแม้แต่ปัญหาผมร่วง ซึ่งสาเหตุก็คงมีหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเกิดจากโรคประจำตัว พันธุกรรมหรืออื่นๆ แต่อย่างหนึ่งที่เราน่าจะรู้กันอยู่แล้วหรือบางคนก็อาจลืมไป ก็คือ พฤติกรรม “การสระผม” ของเรานี้ล่ะที่เป็นสาเหตุ ขั้นตอนสระผมให้สะอาด ป้องกันปัญหาบนหนังศีรษะ        ·     หนังศีรษะของเราโดยปกติมักมีเหงื่อ หรือสิ่งสกปรกต่างๆ สะสมอยู่แล้ว  ดังนั้นควรที่จะทำความสะอาดสระผมเป็นประจำ เช่น  2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ไม่แนะนำให้สระบ่อยจนเกินไป ทั้งนี้ บางคนที่มีหนังศีรษะที่มันง่าย อาจจะเปลี่ยนเป็นสระวันเว้นวันได้ ขึ้นอยู่ที่สภาพหนังศรีษะของแต่ละบุคคล        ·     สิ่งที่ควรทำก่อนสระผม คือ การล้างผมด้วยน้ำสะอาดก่อนให้ทั่วหัว ไม่ควรใช้น้ำอุ่น ควรใช้แค่น้ำอุณหภูมิปกติทั่วไป หลังจากนั้นบีบแชมพูลงไป แต่พยายามอย่าบีบยาสระผมให้ลงไปที่หนังศีรษะจนเกินไป  ส่วนใครที่ใช้ครีมนวดผมก็ควรจะใช้บริเวณกลางหัวถึงปลายผมพอ        ·     ไม่เกาหนังศีรษะเวลาสระผมแรงๆ เพราะอาจเกิดแผลและระคายเคือง ใครที่ชอบเกาแรงๆ เพราะชอบหรือผ่อนคลายก็ควรงดเลย        ·     เมื่อสระผมเสร็จแล้วควรจะมีการเป่าให้แห้ง หากสระผมก่อนนอน อย่านอนในขณะที่ผมยังไม่แห้งเด็ดขาด เพื่อป้องกันหนังศีรษะอับชื้น และไม่เป่าผมด้วยอุณหภูมิที่ร้อนจนเกินไป        ·     การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์แชมพูสระผมก็เกี่ยวด้วยเช่นกัน เพราะแต่ละยี่ห้อก็มีส่วนผสมที่แตกต่างกันไป ดังนั้นควรเลือกยาสระผมที่อ่อนโยน ไม่ระคายเคือง หลีกเลี่ยงส่วนผสมพวกพาราเบน พทาเลต ซัลเฟต หรือกลุ่มซิลิโคน         สำหรับคนที่มีปัญหาหนังศีรษะ เช่น รังแค ควรเลือกแชมพูสระผมที่เน้นเรื่องการลดปัญหานั้นๆ ที่มีขายอยู่ตามตลาดมากกว่าแชมพูทั่วไป หากไม่หายควรไปพบแพทย์ นอกจากนี้ใครที่มีอาการแพ้ยาสระผมอย่างรุนแรงก็ควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อทำการรักษาให้ถูกวิธีเช่นกัน และเชื่อหรือไม่ว่า สิ่งที่หลายๆ คนมองข้ามคือ การใช้ผ้าขนหนูร่วมกับผู้อื่น ทางที่ดีอย่าใช้ร่วมกับคนอื่น และผ้าขนหนูเช็ดตัวกับเช็ดผมก็ควรใช้แยกกันไปไปเลยดีกว่า อุปกรณ์หวีผมก็ดูแลทำความสะอาดให้ดี ไม่ปล่อยให้สิ่งสกปรกหมักหมมไว้นาน         อีกเรื่องช่วงนี้เริ่มเข้าสู่หน้าฝนที่ร้อนชื้น อบอ้าว ดังนั้นหลายคนคงพบปัญหาฝนตกจนเปียกไปทั้งตัวกันอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะบริเวณหนังศีรษะที่เมื่อเปียกและปล่อยทิ้งไว้ก็อาจจะทำให้เป็นหวัดหรือเกิดการอับชื้น จนอาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น เชื้อรา ดังนั้นช่วงหน้าฝนควรดูแลหนังศรีษะเบื้องต้น ซึ่งมาฝากดังนี้         เมื่อหนังศีรษะเปียกฝนควรสระผมทันทีที่ทำได้ เพื่อชะล้างสิ่งสกปรกที่เรามองไม่เห็นที่มาพร้อมกับฝนออก เช่น พวกกลุ่มเชื้อโรค ไวรัสต่างๆ ที่อาจทำให้ไม่สบายเป็นหวัดได้ และควรเป่าให้แห้งสนิท ห้ามนอนในระหว่างที่ผมยังไม่แห้งดี กรณีที่เราไม่สามารถสระผมได้ทันที ก็อาจจะซับผมและเป่าพัดลมให้แห้งไว้ก่อนได้เพื่อขจัดความอับชื้นออกไป  ข้อมูลจาก :  https://hellokhunmor.com : วิธีสระผมที่ถูกต้อง เพื่อผมแข็งแรงสุขภาพดี ทำอย่างไรhttps://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1130https://www.springnews.co.th/news/583062https://www.vichaiyut.com/th/health/informations/question-healthy-in-the-rain-wash-the-hair/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤศจิกายน 2665

ภาชนะพลาสติกสำหรับอาหารจะเป็นสินค้าควบคุม         สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศเพิ่มเติมให้สินค้าประเภทพลาสติกที่ใช้กับอาหารเป็นสินค้าควบคุม เนื่องจากภาชนะที่ใช้สัมผัสอาหารโดยตรงอาจมีความเสี่ยงให้ก่อสารมะเร็งได้ เช่น สีที่ใช้ทาเคลือบภายนอก สารที่ใช้ทำพลาสติก         นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จำนวน 136 รายการ ที่ทาง สมอ. ประกาศเป็นสินค้าควบคุม และกำลังจะเพิ่มอีก 5 รายการ ได้แก่ 1.ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากพอลิเอทิลีน พอลิพรอพิลีน พอลิสไตรีน พอลิเอทิลีนเทเรฟแทเลต พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ และพอลิเมทิลเพนทีน  2. ภาชนะเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากพอลิไวนิลคลอไรด์ พอลิคาร์บอเนต พอลิแอไมด์ และพอลิเมทิลเมทาคริเลต 3. ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากอะคริโลไนไทรล์-บิวทะไดอีน-สไตรีน และสไตรีน-อะคริโลไนไทรล์  4. ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่น (ใช้ซ้ำได้)  5. ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่นครั้งเดียว เพิ่มเติม เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งทั้ง 5 รายการที่กล่าวมาจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 มกราคม 2565 นี้ ทวงหนี้ผิดกฎหมายระบาด         นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เผยว่า พบแก๊งมิจฉาชีพส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ทวงหนี้เงินกู้มากขึ้น และชักชวนให้กู้วงเงินเพิ่ม โดยมี 3 ข้ออ้าง ดังนี้ 1.ขู่ว่าเป็นหนี้ไม่จ่ายจะติดคุก ความจริงคือ ไม่จ่ายหนี้ไม่ใช่ความผิดทางอาญา แต่เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ 2.จะมีการยึดทรัพย์ทันทีหากไม่ยอมจ่ายหนี้ ความจริงคือ เจ้าหนี้ต้องฟ้องคดีถึงที่สุดก่อน 3.การทวง เช้า กลางวัน เย็น ไม่สามารถทำได้ ทางกฎหมายให้ทวงนี้แค่วันละ 1 ครั้งเท่านั้น หากใครได้รับการข่มขู่ลักษณะข้างต้นให้ตั้งสติแล้วบันทึกข้อมูลเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ เช่น ข้อมูลสนทนา ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ เพื่อใช้ดำเนินคดีอย่าเพิกเฉย         การทวงหนี้ตามกฎหมายหากมีลักษณะการข่มขู่ ดุหมิ่น เปิดเผยข้อมูลของลูกหนี้ หรือใช้ความรุนแรงทำให้เสียทรัพย์ใดๆ อาจถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และ ผู้ประประกอบการสินเชื่อที่ไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000 – 500,000 บาท เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท ห้ามโอนลอยรถ เสี่ยงได้รถผิดกฎหมาย                    กรมการขนส่งทางบก แจ้งเตือนประชาชนที่ ซื้อ-ขาย รถมือสองว่าไม่ควรซื้อ-ขาย โดยวิธีการโอนลอย เช่น การเซ็นเอกสารแล้วมาดำเนินการทีหลัง เพราะอาจจะก่อให้เกิดปัญหาสำหรับผู้ซื้อและผู้ขายได้ เช่น ผู้ซื้อไม่ยอมชำระภาษีประจำปี รถเกิดอุบัติเหตุ หรือเคยนำรถไปกระทำโดยผิดกฎหมายอาจจะสร้างปัญหาผู้ขายได้ เนื่องจากชื่อเจ้าของรถยังคงปรากฎเป็นเจ้าของรายเดิมอยู่ในระบบ         ทั้งนี้การไม่นำรถมาโอนทางทะเบียน อาจทำให้ผู้ซื้อไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของรถได้ว่าเป็นรถที่ถูกโจรกรรมมาหรือไม่ อย่างไรก็ตามทางกรมการขนส่งทางบกได้กำชับทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขายว่าต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของรถก่อนการซื้อทุกครั้ง และต้องตรวจสอบหลักฐานทะเบียนรถให้ครบถ้วน โดยเฉพาะคู่มือรถฉบับจริงที่มีชื่อเจ้าของรถ เลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์ สีรถถูกต้องตรงกับที่ซื้อขายทุกรายการ ที่สำคัญควรตรวจสอบว่ามีการชำระภาษีประจำปีถูกต้องครบถ้วน สั่งอาหารออนไลน์ระวังเชื้อรา        กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือนผู้บริโภคที่นิยมสั่งซื้ออาหารผ่านทางออนไลน์ ว่า ระวังเสี่ยงเชื้อราและให้สังเกตบรรจุภัณฑ์ หรือดูวันหมดอายุก่อนบริโภคทุกครั้ง         นายแพทย์เอกชัย  เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกรมอนามัย เผยว่า ปัจจุบันประชาชนนิยมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านแอปพลิเคชันทางออนไลน์กันมากขึ้น เพราะสะดวก ประหยัดน้ำมัน และไม่เสียเวลาในการเดินทาง ผู้ผลิตยังนิยมจัดกลยุทธ์การตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย ทำให้ผู้บริโภคสั่งซื้ออาหารนั้นบ่อยและมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว จึงควรระวังสินค้าเก่าเก็บที่อาจเสี่ยงเชื้อรา เพราะหากเก็บรักษาไม่เหมาะสม เช่น เก็บไว้ในที่ชื้นเกินไปหรือไม่มีการอบให้แห้งดีพอ จะก่อให้เกิดสาร “อะฟลาทอกซิน” หากมีการบริโภคเข้าไปสะสมในปริมาณมากก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้ ดังนั้น เมื่อได้รับสินค้าควรสังเกตบรรจุภัณฑ์ว่าสะอาด มีฝาปิดมิดชิด ซองบรรจุไม่มีรูรั่ว และอ่านฉลากให้ครบถ้วน ตั้งแต่ชนิด ส่วนประกอบ วันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดคุณภาพ         สำหรับอาหารสดก่อนที่จะนำมาปรุง ประกอบอาหาร ควรล้างให้สะอาดเพื่อขจัดสิ่งปนเปื้อน และควรตรวจสอบวันหมดอายุก่อนนำมาบริโภคทุกครั้ง นอกจากผู้บริโภคควรสังเกตเรื่องความปลอดภัยของอาหารแล้ว หากพบอาหารที่สั่งมามีกลิ่นหรือสีที่เปลี่ยนไปถึงแม้จะมองไม่เห็นว่ามีเชื้อราก็ไม่ควรนำมาบริโภค ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ “สารอะฟลาทอกซิน” เป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่ง โดยปริมาณเพียง 1 ไมโครกรัมสามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรียและทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ หากได้รับอย่างต่อเนื่อง ศาลปกครองกลาง "รับฟ้อง" คดีควบรวมธุรกิจทรู-ดีแทค        จากที่ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้ยื่นคำร้อง ให้เพิกถอนมติ กสทช. “รับทราบ” การควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งรับคำฟ้องแล้ว และทาง สอบ.ได้นำรายชื่อผู้บริโภค 2,022 ราย ที่ได้ร่วมรณรงค์คัดค้านและสนับสนุนเรื่องดังกล่าวยื่นต่อศาลปกครองอีกด้วย         กรณีที่ผู้บริโภคยื่นคำขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ศาลได้รับคำขอดังกล่าวไว้ และรอให้ ทรู-ดีแทค มาเป็นผู้ร้องสอดในคดีจึงจะเริ่มพิจารณา เนื่องจากศาลมองว่า 2 บริษัทเป็นบุคคลภายนอกที่อาจมีผลกระทบจากการพิพากษา นอกจากนี้ สาเหตุที่ สอบ.ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางนั้นมาจากที่ มติในการประชุมของ กสทช.นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งด้านเนื้อหาและกระบวนการเพราะก่อนลงมติฯ กสทช.ไม่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ใช้บริการก่อน ทั้งนี้มติดังกล่าวกระทบกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมากกว่า 118 ล้านเลขหมาย โดยเฉพาะผู้ใช้บริการของทรูและดีแทคที่มีจำนวนสูงถึง 60 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 รู้เท่าทันกินเนยถั่ว

กินเนยถั่ว (ลิสง) อันตรายต่อสุขภาพไหม        เนยถั่วลิสงเป็นอาหารยอดนิยมที่ผู้คนใช้ในการประกอบอาหารและของว่างหลายชนิด เป็นอาหารที่ไม่ควรมีคอเลสเตอรอลและเป็นตัวเลือกที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เต็มไปด้วยโปรตีนและไขมันที่ดีต่อสุขภาพ เพราะเนยถั่วลิสงมีทั้งวิตามินและแร่ธาตุซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตามความที่มันเป็นอาหารที่มีรสมันจัดจึงน่าสงสัยว่าดีต่อสุขภาพจริงหรือ         เนยถั่วลิสงนั้นต่างจากเนยสำหรับทาขนมปัง (หรือ butter ที่ทำจากนมวัว) ตรงที่เนยถั่วลิสงมีโปรตีนเป็นองค์ประกอบสูงเท่าที่ถั่วลิสงมี แต่เนยทาขนมปังนั้นเป็นไขมันเกือบทั้งหมด โดย 100 กรัม เนยถั่วลิสงมีโปรตีนประมาณ 25 กรัม ในขณะที่เนยทาขนมปังนั้น 100 กรัม มีโปรตีนไม่เกิน 1 กรัม         นอกจากนี้ไขมันในเนยถั่วลิสงยังเป็นไขมันไม่อิ่มตัวสูงหรือ PUFA ซึ่งไม่มีคอเลสเตอรอล ในขณะที่เนยทาขนมปังมีไขมันตามที่นมมีคือ มักเป็นไขมันอิ่มตัวแต่อาจมีไขมันไม่อิ่มตัวได้บ้างตามอาหารที่วัวกินว่า เป็นหญ้าหรือกากถั่วเหลือง กากข้าวโพด ที่สำคัญคือ เนยทาขนมปังมีคอเลสเตอรอลได้เพราะเป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ดังนั้นถ้าเนยถั่วลิสงยี่ห้อใดมีการเติม butter เพื่อให้รสชาติดีโอกาสพบคอเลสเตอรอลในระดับหนึ่งย่อมเป็นไปได้         สิ่งที่ควรคำนึงเมื่อกล่าวถึงกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงในเนยถั่วลิสงคือ สารอาหารนี้ถูกออกซิไดส์ให้เกิดความหืนได้ ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จึงอาจจำเป็นต้องมีการเติมสารต้านออกซิเดชั่น (antioxidants) ให้มากพอเพื่อช่วยในการดำรงสภาพของกรดไขมันไม่อิ่มตัว แม้ว่าเนื้อถั่วลิสงเองก็มีสารต้านออกซิเดชั่นธรรมชาติหลายชนิดก็ตามแต่ก็อาจไม่พอ สารต้านออกซิเดชั่นสังเคราะห์นั้นมีหลายชนิดที่อุตสาหกรรมอาหารสามารถเลือกใช้ได้ตามต้องการ เช่น BHA นอกจากนี้เนยถั่วลิสงบางยี่ห้ออาจมีการแต่งสีเพื่อให้มีความสม่ำเสมอของผลิตภัณฑ์ในแต่ละครั้งของการผลิต พร้อมเติมไขมันอื่น ๆ เพื่อให้เนื้อเนยมีความเนียน และที่สำคัญคือ เนยถั่วลิสงอาจต้องมีการเติมสารกันเสียเพื่อกันราขึ้นด้วย         สิ่งที่ต้องแลกกับประโยชน์ของเนยถั่วลิสงคือ ความเสี่ยงในการรับสารพิษจากเชื้อราคือ aflatoxin  (B1, B2, G1 และ G2) ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วลิสงนั้นเป็นที่ยอมรับว่าปลอดจากสารพิษนี้ยาก จึงต้องพยายามคุมให้มีระดับไม่เกิน 20 ส่วนในพันล้านส่วน ซึ่งในทางพิษวิทยาถือว่า มีความเสี่ยงต่ำ         ก่อนซื้อเนยถั่วลิสงควรดูฉลากว่า มีการเติมองค์ประกอบอื่น เช่น น้ำตาลทราย และสารเจือปนต่าง ๆ หรือไม่ แล้วจึงถามตัวเองว่ายอมรับได้หรือไม่ถ้าเนยถั่วลิสงไม่ได้มีเฉพาะถั่วลิสงบดกับเกลือ ซึ่งถ้ารับไม่ได้ก็จำเป็นต้องเลือกเนยถั่วยี่ห้อที่แสดงฉลากว่า ไม่เติมสารเจือปนใด ๆ หรือทำกินเองเพราะทำได้ง่ายมาก         อย่างไรก็ดีสิ่งที่สำคัญที่สุดในการบริโภคเนยถั่วลิสงคือ เนยถั่วลิสงนั้นอร่อยสุด ๆ การกินมากเกินไปย่อมทำให้อ้วนได้ สมาคมโรคหัวใจสหรัฐอเมริกา (The American Heart Association) แนะนำให้กินเนยถั่วลิสงได้วันละ 2 ช้อนโต๊ะ ซึ่งมีประมาณ 188 calories เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้นวันไหนที่กินเนยชนิดนี้ก็ควรออกกำลังกายเพิ่มขึ้นสักหน่อยเพื่อความสบายใจของแพทย์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 หน้าฝนระวังอาการภูมิแพ้เชื้อรา

        ฝนตกหนักน้ำท่วมขังและบ้านที่อับชื้น ไม่เพียงทำให้อารมณ์ไม่สดชื่น มันอาจเสี่ยงกับอาการภูมิแพ้เชื้อราด้วย  ซึ่งคนที่รู้ตัวว่ามีอาการภูมิแพ้อากาศคงไหวตัวทัน เมื่อเริ่มหายใจอึดอัด น้ำตาไหล หรือเกิดหอบหืดกำเริบ แต่หลายคนอาจเพิ่งเริ่มหรือเพิ่งเคยมีอาการ ก็ขอให้ระมัดระวังและเร่งป้องกันก่อนกลายเป็นปัญหาใหญ่        ในสิ่งแวดล้อมมีเชื้อราลอยอยู่ในอากาศทั่วไป ซึ่งมีทั้งชนิดก่อให้เกิดโรคและไม่ก่อให้เกิดโรค แต่เชื้อราบางชนิดอาจทำให้เกิดโรคได้ถ้าร่างกายอ่อนแอ ปกติคนแข็งแรงมักไม่ก่ออาการ แต่ในคนที่มีอาการภูมิแพ้อาจจะมีอาการน้ำมูกไหล หายใจไม่ออก น้ำตาไหล หอบหืด มีผื่นผิวหนังอักเสบ และมักจะกำเริบในช่วงที่มีอากาศเย็นและชื้น เพราะมีเชื้อราเป็นตัวกระตุ้น โดยสปอร์ของเชื้อราสามารถกระจายไปได้ในอากาศ เราจึงควรทราบถึงแหล่งที่มาของเชื้อราเหล่านี้ และพยายามกำจัดให้หมดไปจากบริเวณบ้าน         เชื้อราชอบอยู่ตามที่ชื้นและอับทึบ         ห้องน้ำ ห้องครัวหรือในพื้นที่ส่วนที่ใช้ในการชำระล้าง ต้องหมั่นทำความสะอาดและทำให้แห้ง มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ปล่อยให้ชื้นแฉะตลอดเวลา        ห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศเป็นประจำจะเป็นที่ที่มีความชื้นมาก เชื้อราเกิดขึ้นได้ง่าย ควรหมั่นตรวจตราเปิดให้อากาศถ่ายเท ตัวเครื่องปรับอากาศต้องทำความสะอาดบ่อยๆ เพราะอาจมีเชื้อราสะสมอยู่ได้         ตู้เย็น หลายครั้งที่สะสมอาหารไว้เป็นจำนวนมากในตู้เย็นแล้วรับประทานไม่ทัน อาหารบางอย่างก่อให้เกิดเชื้อรา ถ้าพบทิ้งทันที ห้ามรับประทาน วิธีป้องกันง่ายๆ คือ ไม่สะสมอาหารจนรับประทานไม่ทัน        ต้นไม้ ปัจจุบันนิยมปลูกต้นไม้ในบ้านเพื่อช่วยฟอกอากาศ แต่รู้ไหมว่าดินที่ใช้ปลูกก็เป็นแหล่งที่ก่อเกิดเชื้อราได้ ควรวางไว้ในตำแหน่งที่แดดส่องถึง รดน้ำแต่พอชุ่มไม่บ่อยเกินไป แต่หากเป็นผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ไม่ควรนำต้นไม้วางไว้ในบ้าน อีกอย่างที่อาจคาดไม่ถึงคือ ดอกไม้ประดับ ดอกไม้บูชาพระ หากเหี่ยวเฉาแล้วควรรีบทิ้งไป ไม่ปล่อยไว้เพราะเป็นแหล่งเพาะเชื้อราได้เช่นกัน         สํารวจเชื้อราหลังน้ำท่วม         หน้าฝนหลายบ้านระบายน้ำไม่ทัน น้ำท่วม หลังคารั่ว ควรต้องสังเกตว่ากลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อราหรือไม่ อาจทําได้ง่ายมองหาว่า ผนังมีรอยเปื้อนหรือมีลักษณะเชื้อราขึ้นหรือไม่ และวิธีดมกลิ่น กลิ่นเชื้อราเป็นกลิ่นเหม็นอับทึบหรือเหม็นคล้ายกลิ่นดิน ทั้งนี้หากสงสัยว่ามีเชื้อราควรให้ใช้หลักว่า สิ่งของใดที่ไม่สามารถกําจัดเชื้อราได้หมดจดให้ทิ้ง โดยเฉพาะวัสดุที่มีรูพรุน ซึ่งไม่สามารถชะล้างและทําให้แห้งได้จะกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อรา ส่วนผ้าที่เกิดเชื้อราฝังอยู่ หากยังเสียดายต้องฆ่าเชื้อด้วยการต้มด้วยน้ำร้อนก่อนจึงจะนํามาใช้อีก         หลังน้ำลดต้องรีบทําความสะอาดพื้นและผนังโดยการขัดล้างให้เร็วที่สุดภายใน 24 - 48 ชั่วโมง อย่าทิ้งไว้จนเกิดคราบรา กรณีเกิดคราบราขึ้นแล้ว ต้องเร่งกำจัด ควรล้างด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอกเพื่อขจัดสิ่งสกปรกออกก่อนแล้วตามด้วยการขัดล้างด้วยน้ำยา ถ้าเป็นการขัดผนังปูนหรือพื้นผิวที่หยาบควรขัดด้วยแปรงชนิดแข็ง น้ำยาฆ่าเชื้อรามีจำหน่ายในท้องตลาดหลายชนิด ชนิดที่หาซื้อง่ายและราคาไม่แพง คือน้ำยาดับกลิ่นไลโซล หรือน้ำยาฟอกฝ้าขาวเช่น คลอร็อกซ์ เป็นต้น ระหว่างทําความสะอาดให้เปิดประตูหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ และเปิดพัดลมเพื่อช่วยให้แห้งโดยเร็ว กรณีกำจัดเชื้อราไม่ออกเป็นคราบฝังแน่นตามผนังควรเปลี่ยนใหม่ ไม่ทาสีทับ         เชื้อรานอกบ้าน        หลีกเลี่ยงการสูดดมสปอร์ของเชื้อรา ง่ายๆ โดยใช้ผ้าปิดปากหรือจมูก แนะนำเป็นการสวมหน้ากากอนามัย (จะป้องกันได้ดีกว่าชนิดที่ทำจากผ้า)        ตรวจร่างกาย         บางคนไม่เคยมีประวัติของโรคภูมิแพ้แต่มีอาการหอบ ไอและเหนื่อยเมื่อถึงฤดูฝน หากสงสัยตัวเอง แนะนำว่าควรไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นเพียงไข้หวัดหรือเป็นโรคภูมิแพ้ ถ้าเป็นภูมิแพ้ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านโรคภูมิแพ้เพื่อตรวจว่าแพ้อะไรบ้าง จากนั้นก็ต้องคอยหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นซึ่งจะเป็นวิธีที่ดีกว่าการใช้ยามาตามแก้เมื่อมีอาการแพ้เกิดขึ้น         เราสามารถควบคุมความชื้นได้ โดยอาจจะใช้อุปกรณ์วัดระดับความชื้น เครื่องดูดความชื้น ซึ่งสามารถหาซื้อมาใช้ได้ทั่วๆ ไป แต่ในการเลือกซื้อและนำมาใช้งานก็ควรศึกษาผลให้ดี เพราะในระดับความชื้นที่น้อยเกินไปหรือมากเกินไป ก็สามารถส่งผลเสียให้กับร่างกายได้ทั้งนั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 นมข้นหวานและบรรจุภัณฑ์ที่ชวนข้องใจ

เคยทานนมข้นหวานกันหรือไม่ ? แล้วนมข้นหวานที่ท่านรู้จักบรรจุอยู่ในภาชนะแบบไหน ? เมื่อก่อนนมข้นหวานจะบรรจุในกระป๋องโลหะเคลือบดีบุก เวลาใช้งานต้องเจาะรูสองข้าง หรือเจาะฝาทั้งหมด แต่เดี๋ยวนี้นมข้นหวานมีชนิดที่บรรจุในหลอดพลาสติกแบบบีบ เพื่อสะดวกต่อการใช้งาน แต่ว่าผู้บริโภคหลายคนก็กังวลเมื่อเจอปัญหานมข้นหวานในบรรจุภัณฑ์แบบใหม่นี้           คุณภูผาซื้อนมข้นหวานชนิดบีบยี่ห้อหนึ่งมารับประทาน ทั้งรู้สึกชอบใจที่บรรจุภัณฑ์แบบใหม่นี้วิธีการใช้ง่ายดี บีบรับประทานได้สะดวก เมื่อใช้ไม่หมดในครั้งแรกเขาก็เก็บส่วนที่เหลือเข้าตู้เย็นและนำออกมารับประทานอีกหลายครั้ง จนนมใกล้จะหมดหลอด คราวนี้เมื่อบีบออกมาก็พบว่า นมมีกลิ่นแปลกๆ และมีจุดดำๆ ออกมาด้วย         เมื่อสงสัยก็ต้องพิสูจน์ คุณภูผาจึงผ่าหลอดออกดู เขาพบว่าในหลอดมีสิ่งปนเปื้อนจุดดำๆ หลายจุดลักษณะคล้ายเชื้อรา ตกใจในสิ่งที่เห็นมากมายเขาจึงแจ้งไปยังบริษัทผู้ผลิตเพื่อขอให้บริษัทฯ นำสินค้าไปตรวจสอบว่า สิ่งปนเปื้อนที่พบเป็นอะไรกันแน่ เมื่อมอบสินค้ากับเจ้าหน้าที่แล้ว เขาก็รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อให้คลายกังวล  แต่แพทย์ไม่ได้ทำอะไร เนื่องจากเขาไม่มีอาการผิดปกติ ซึ่งคุณภูผาก็ยังกังวลเพราะไม่ทราบว่า กินสิ่งที่คล้ายเชื้อราไปตั้งแต่เมื่อไหร่ และในอนาคตไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีอาการผิดปกติหรือไม่         ต่อมาพนักงานของบริษัทฯ แจ้งกลับมาว่า สิ่งที่คุณภูผาพบนั้นเป็นเชื้อราจริง แต่ไม่สามารถให้ผลการตรวจได้ โดยก่อนมารับตัวอย่างพนักงานของบริษัทเคยรับปากว่า จะนำผลการตรวจสอบส่งให้เขา ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ตกลงก่อนมอบสินค้า คุณภูผาจึงขอคุยกับคนที่มีอำนาจตัดสินใจ แต่พนักงานคนดังกล่าวบ่ายเบี่ยง พร้อมส่งเอกสารแจ้งมาว่า “ไม่สามารถสรุปสาเหตุได้แน่ชัด” เขาจึงกังวลว่าสิ่งที่รับประทานเข้าไปจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย และสงสัยว่ากรณีแบบนี้ บริษัทผู้ผลิตต้องรับผิดชอบอะไรหรือไม่ อย่างไร จึงสอบถามมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มีหนังสือถึงบริษัทผู้ผลิตขอเชิญประชุมเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างคุณภูผาและบริษัทฯ โดยตัวแทนบริษัทฯ ได้ชี้แจงว่า ปกติเชื้อราที่พบในนมไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายของเรา เพราะร่างกายจะสามารถกำจัดออกได้เอง ไม่เหมือนเชื้อราอะฟลาทอกซินในถั่วที่อาจทำให้เป็นมะเร็งได้ ตัวแทนบริษัทได้แสดงการขอโทษด้วยการมอบผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้ผู้ร้องหนึ่งกระเช้าและเงินค่าเสียเวลาจำนวนหนึ่ง คุณภูผาเองเมื่อได้ทราบข้อมูลเรื่องความปลอดภัย ก็ไม่ติดใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เพียงแค่ขอให้บริษัทปรับปรุงการให้ข้อมูลของฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์         อย่างไรก็ตามศูนย์ฯ ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้ตรวจสอบสถานที่ผลิตของบริษัทนมข้นหวานนี้เพิ่มเติมด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 กระแสในประเทศ

 ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤศจิกายน 2554 8 พฤศจิกายน 2554สคบ.ระดมหน่วยงานช่วยเหลือผู้บริโภคที่ประสบภัยน้ำท่วมสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. จับมือร่วมกับหลากหลายองค์กร เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด โดยจะดูแลให้ความช่วยเหลือให้ครอบคลุมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขอความร่วมมือจากสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย ดูแลช่วยเหลือผู้บริโภคในเรื่องการเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เช่นการพักชำระหนี้ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ส่วนสมาคมอู่กลางแห่งประเทศไทยก็จะเข้ามาดูแลเรื่องการซ่อมรถยนต์ ควบคุมเรื่องค่าบริการของอู่ซ่อมต่างๆ ให้มีความเป็นธรรม โดยต้องมีการแสดงเอกสารใบเสร็จให้ชัดเจน เพื่อความสบายใจของผู้ที่มาใช้บริการด้านการไฟฟ้านครหลวงก็ได้จัดทำคู่มือแนะนำ ข้อควรปฏิบัติก่อนและหลังน้ำท่วม ส่วนผู้ที่ต้องการซ่อมแซมบ้านที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ สคบ. ได้ขอความร่วมมือจากสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน และสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร จัดทำข้อมูลราคากลางการซ่อมแซมบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม ทั้งในส่วนของค่าแรงและค่าวัสดุ เพื่อไว้ใช้เปรียบเทียบกับราคาที่ผู้ประสบภัยจะใช้ว่าจ้างกับผู้รับเหมาก่อนตัดสินใจซ่อมแซมบ้าน สามารถดูเอกสารแสดงราคากลางการซ่อมแซมบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม ได้ที่เว็บไซต์ของ สคบ.ผู้ประสบภัยที่ต้องการความช่วยเหลือหรือขอคำแนะนำจากหน่วยงานต่างๆ ที่กล่าวมา สามารถติดต่อได้ตามเบอร์โทร. เหล่านี้ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน โทร.02-570-0153, สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย โทร. 02-655-0240-55, สมาคมนายหน้าประกันภัย โทร. 02-645-1133, สำนักงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โทร. 1186 และ การไฟฟ้านครหลวง โทร. 1130__________________________________________________________   28 พฤศจิกายน 2554ยาย้อมผมไม่ใช่แชมพู ใช้บ่อยอันตราย คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เตือนคนที่ชอบเปลี่ยนสีผม ให้ระวังการใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมผมรูปแบบแชมพู เพราะไม่ใช่แชมพูสระผมทั่วไป ใช้บ่อยอาจได้รับอันตราย เนื่องจากผลิตภัณฑ์ย้อมผมส่วนใหญ่มีสารที่เป็นสีย้อมผมที่อาจทำให้เกิดการแพ้ได้ ซึ่งขณะนี้มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ย้อมผมในรูปแบบแชมพู โดยให้ผู้ใช้นำส่วนผสมที่บรรจุอยู่ในซองผสมเข้าด้วยกันแล้วชโลมบนเส้นผมให้ทั่ว จากนั้นล้างออกด้วยน้ำเหมือนการสระผมปกติ จึงมีการโฆษณาทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทแชมพูสระผมที่สระแล้วทำให้สีผมเปลี่ยนไป จนผู้บริโภคบางส่วนเข้าใจผิดว่าสามารถใช้สระผมได้ทุกวันเหมือนแชมพูทั่วไป ผลิตภัณฑ์ย้อมผมมากกว่าร้อยละ 60 ที่จำหน่ายในท้องตลาดมีสาร p-phenylenediamine หรือ PPD เป็นสีย้อมผมถาวร ซึ่งอาจทำให้เกิดการแพ้ได้ การใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมผมจึงควรใช้อย่างระมัดระวัง และถึงแม้จะอยู่ในรูปแบบแชมพูก็ไม่สามารถใช้บ่อยเหมือนการสระผมทั่วไป เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งเราสามารถทดสอบการแพ้ก่อนใช้ได้ โดยทาผลิตภัณฑ์ย้อมผมที่ผสมแล้วใต้ท้องแขนหรือหลังใบหู ทิ้งไว้ 24 - 48 ชั่วโมง หากมีอาการคัน เป็นผื่นแดง บวม หรือมีอาการผิดปกติอื่นใดก็ตามให้หยุดใช้ทันที-----------------------------------------   30 พฤศจิกายน 2554นอนกางเต็นท์ระวังเป็นผู้ป่วย ช่วงหน้าหนาวปลายๆ ปีแบบนี้ ถือเป็นช่วงที่หลายๆ คนนิยมไปเที่ยวพักผ่อน ซึ่ง 1 ในกิจกรรมยอดฮิตของนักเที่ยวก็คือ การไปกางเต็นท์นอนตามป่าหรือภูเขา รวมทั้งการนอนดูดาวกลางแจ้ง แต่อย่ามัวเพลิดเพลินกับบรรยากาศจนลืมดูแลตัวเอง เพราะกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาเตือนนักท่องเที่ยวที่จะไปกางเต็นท์นอนบนพื้นหญ้าตามป่าตามเขาระวังถูกตัวไรอ่อนที่อยู่ตามป่ากัด สาเหตุของโรคสครับไทฟัส ซึ่งอาจทำให้เกิดไข้สูง ปวดศีรษะมาก ปวดเมื่อยตามตัว ตาแดง อาจมีอาการทางปอดและสมองได้ เวลาที่เราถูกไรอ่อนกัดจะสังเกตเห็นเป็นแผลไหม้ เล็กๆ คล้ายกับโดนบุหรี่จี้ ตรงกลางเป็นสะเก็ดสีดำ และรอบๆ แผลจะแดง โดยอาการป่วยจะแสดงหลังถูกกัดประมาณ 10-12 วัน นอกจากนี้ยังให้ระวังอย่าให้ถูกยุงก้นปล่องกัด เพราะอาจป่วยเป็นโรคมาลาเรีย ซึ่งทั้ง 2 โรคนี้มีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต สำหรับการป้องกันไม่ให้ไรอ่อนกัด ควรใส่รองเท้า ถุงเท้าหุ้มปลายขากางเกงไว้ ใส่เสื้อแขนยาวปิดคอ และเหน็บปลายเสื้อเข้าในกางเกงปิดทางเข้าของไรมายังร่างกาย ส่วนการเลือกที่ตั้งค่ายพักในป่า ควรทำบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ หรือที่หญ้าขึ้นรก และเมื่อกลับมาถึงที่พัก ควรทำความสะอาดเสื้อผ้าที่ใส่ทันที รายงานโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศในปี 2554 พบมีผู้ป่วยโรคสครับไทฟัส 5,721 ราย เสียชีวิต 2 ราย ผู้ป่วยร้อยละ 63 พบในภาคเหนือ มากที่สุดคือ จ.น่าน เชียงราย และตาก รองลงมาคือ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนโรคมาลาเรีย ในปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยทั้งสิ้น 17,636 ราย เสียชีวิต 8 ราย พบมากที่สุดที่ภาคเหนือ 11,150 ราย ภาคใต้ 3,028 ราย ภาคกลาง 2,694 ราย จังหวัดที่พบมากที่สุด คือ จ.ตาก แม่ฮ่องสอน และยะลา ----------------------------------------------------------     จัดการเชื้อราในบ้านหลังน้ำลด เมื่อน้ำลดก็ถึงเวลาที่แต่ละครอบครัวจะต้องกลับไปฟื้นฟูและซ่อมแซมบ้านของตัวเอง ซึ่งสิ่งที่ต้องระวังที่สุดคือ “เชื้อรา” ที่เจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีความชื้นสูง การสูดหายใจเอาสปอร์ของเชื้อราที่ปลิวอยู่ในอากาศภายในบ้านเข้าไป อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น เกิดโรคภูมิแพ้ มีไข้ จาม น้ำมูกไหล โรคปอดอักเสบจากภูมิแพ้ โรคหอบหืด ก่อให้เกิดระคายเคืองต่อตา จมูก หลอดลม ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน และอาการแพ้เป็นผื่นลมพิษ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ฝากข้อแนะนำในการกำจัดเชื้อราในบ้านหลังน้ำลด  เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเชื้อรา ซึ่งขั้นตอนที่ควรทำมีดังต่อไปนี้ 1.การป้องกันตนเอง โดยการสวมรองเท้าบู้ทยาง สวมถุงมือยาง เพื่อป้องกันเชื้อราสัมผัสผิวหนังโดยตรง 2.ต้องระบายอากาศในระหว่างทำความสะอาด ให้อากาศถ่ายเทและให้มีแสงแดดส่องถึง ที่สำคัญไม่ควรเปิดแอร์ และพัดลมในระหว่างการทำความสะอาดเพราะจะทำให้สปอร์ของเชื้อราฟุ้งกระจายได้ 3.การทำความสะอาด หากพบเชื้อราภายในบ้าน ให้ใช้แอลกอฮอล์ หรือน้ำยาฟอกผ้าขาวผสมน้ำ (อัตราส่วน 1 ถ้วย หรือ 240 มิลลิลิตร ในน้ำประมาณ 4 ลิตร) เช็ดคราบเชื้อราทิ้งไว้ 15 นาที แล้วใช้น้ำล้างออก ส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อราและทำให้แห้งได้ เช่น พรม เบาะผ้า ที่นอน ฟูก วอลเปเปอร์ ฯลฯ ไม่ควรเก็บไว้ใช้ต่อควรทิ้งโดยใส่ในถุงพลาสติกและมัดอย่างดีเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อราสู่อากาศ 4.หลังทำความสะอาดและฆ่าเชื้อราในบ้านเสร็จแล้วให้เปิดพัดลมเป่าในบ้านและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เปิดหน้าต่าง ประตู เพื่อให้อากาศถ่ายเท 5.ตรวจสอบเชื้อรา หลังจากทำความสะอาดไปแล้ว 2-3 วัน ให้สังเกตว่ามีเชื้อราเจริญเติบโตอีกหรือไม่ ถ้ายังพบว่ามีเชื้อราให้ทำความสะอาดซ้ำ หากมีเชื้อราเกิดขึ้นอีกให้ตรวจสอบระบบระบายอากาศ ระบบแอร์ทั้งหมด และระดับความชื้นภายในบ้านด้วย    ภาครัฐรวมพลังแก้ปัญหาโฆษณาอาหาร - ยาโม้เกินจริงปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาเกินจริงที่กำลังแพร่หลายอย่างมากทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องรีบหาทางแก้ไข ถึงเวลาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาจัดการ ก่อนที่ผู้บริโภคจะตกเป็นเหยื่อมากไปกว่านี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), กรมประชาสัมพันธ์, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย, บุคลากรสาธารณสุข และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ ระดมสมองหาทางออกร่วมกัน จัดทำร่างข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะเรื่อง “การจัดการปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม” เพื่อนำไปพิจารณาในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ในวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2555 สำหรับข้อเสนอฯ เบื้องต้น มีร่างมติ 9 ข้อ เช่น ขอระบุให้ อย.เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการ และมีการเสนอให้เพิ่มโทษหากละเมิดกฎหมายว่าด้วยยาและอาหาร รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่ง กสทช. จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ฯ พร้อมทั้งจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม ภายในปี 2555 ด้านกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ก็จะเข้ามาควบคุมในส่วนของการเผยแพร่ทางเว็บไซต์ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคเองก็ต้องติดตามข่าวสารและใช้วิจารณญาณในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาเกินจริงทั้งหลาย ทั้งอันตรายและราคาแพง อย่าหลงซื้อมาใช้โดยเด็ดขาด ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังและรับร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพของ อย. ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 ถึงเดือนกันยายน 2554 ก็พบว่ามีเรื่องร้องเรียนโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายสูงถึง 1,461 เรื่อง จำแนกเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร 556 เรื่อง ยา 335 เรื่อง เครื่องสำอาง 319 เรื่อง เครื่องมือแพทย์ 208 เรื่อง และวัตถุอันตราย 73 เรื่อง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 ปลาหมึกแห้ง ของดีแต่มีเสี่ยง

ปลาหมึกแห้ง จัดเป็นอาหารแปรรูปที่ขายดีอันดับหนึ่ง หาซื้อไม่ยากจะเอามาทำอะไรกินก็ง่ายจะทอดหรือย่างก็อร่อย ปลาหมึกที่นำมาทำปลาหมึกแห้งมีหลายชนิด แต่ที่นิยมกันมากๆ ก็คือ  ปลาหมึกกล้วย และปลาหมึกสาย ผลการทดสอบที่นำเสนอนี้เป็นผลจากการทดสอบตัวอย่างอาหารจำนวน 8 ตัวอย่างจาก 8 จังหวัด ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังฯ โดยเก็บตัวอย่างในเดือนมกราคม 2553 ครับ   ปลาหมึกแห้งที่เก็บตัวอย่างนี้เรานำมาทดสอบหาสิ่งปนเปื้อนในอาหาร 3 กลุ่ม คือ สารพิษจากเชื้อรา-อะฟลาท็อกซิน ซึ่งอาจจะมาจากการเก็บรักษาที่ไม่สะอาด โลหะหนักในอาหาร ซึ่งมักปนเปื้อนในอาหารทะเลและสารปรุงแต่งรส สีผสมอาหาร และสารเคมีทางการเกษตรที่พ่อค้า-แม่ค้าบางรายมักฉีดพ้นเพื่อป้องกันแมลงมาตอมปลาหมึกแห้งในร้านครับ   ผลการทดสอบ - ข่าวดี ไม่พบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา-อะฟลาท็อกซินในทุกตัวอย่างที่ทดสอบ (8 ตัวอย่าง) - ข่าวร้าย พบการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทแคดเมียมในทุกตัวอย่างที่ทดสอบ คิดเป็นร้อยละ 100 โดยมีค่าเฉลี่ยของแคดเมียมที่พบอยู่ที่ 3.43 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ค่ามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ-CODEX อยู่ที่ 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) และหากนำค่ามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศมาเป็นตัวชี้วัดจะพบว่ามีตัวอย่างที่พบค่าแคดเมียมเกินกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่ (1) ตัวอย่างจากร้านเจ๊ต้อย ซึ่งเก็บจากตลาดสดมหาสารคาม พบแคดเมียมที่ปริมาณ 13 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (2) ตัวอย่างจากร้านเจ๊ดม ซึ่งเก็บตัวอย่างจากร้านพรพัฒนา จังหวัดสมุทรสงคราม พบแคดเมียมที่ปริมาณ 4.77 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (3) ตัวอย่างจากตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พบแคดเมียมที่ปริมาณ 3.36 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (4) ตัวอย่างจากตลาดสดเทศบาล 3 จังหวัดขอนแก่น พบแคดเมียมที่ปริมาณ 2.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม -พบการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทตะกั่วในทุกตัวอย่าง (8 ตัวอย่าง) คิดเป็นร้อยละ 100 โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาณตะกั่วที่พบเท่ากับ 0.137 มิลลิกรัม/กิโลกรัม อย่างไรก็ตามไม่มีตัวอย่างใดที่มีการปนเปื้อนสูงเกินกว่ามาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) กำหนดที่ 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยมีปริมาณตะกั่วสูงสุดที่พบในตัวอย่างที่เก็บจากตลาดสดตำบลจำปาหวาย จังหวัดพะเยาที่ปริมาณ 0.46 มิลลิกรัม/กิโลกรัม - พบการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอทในทุกตัวอย่าง (8 ตัวอย่าง) คิดเป็นร้อยละ 100 โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาณที่พบเท่ากับ 0.03 มิลลิกรัม/กิโลกรัม อย่างไรก็ตามไม่มีตัวอย่างใดที่มีการปนเปื้อนสูงเกินกว่ามาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) กำหนดที่ 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล โดยมีปริมาณปรอทที่พบสูงสุดในตัวอย่างที่เก็บจากตลาดสดเทศบาล 3 จังหวัดขอนแก่นที่ปริมาณ 0.06 มิลลิกรัม/กิโลกรัม - พบการปนเปื้อนของสารตกค้างทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ (ยาฆ่าแมลง) จำนวน 5 ตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่างที่ทดสอบ คิดเป็นร้อยละ 62 โดยพบสารตกค้างชนิดเพอร์เมทริน (Permethrin) ในตัวอย่างจากตลาดสดตำบลจำปาหวาย จังหวัดพะเยา และ ตัวอย่างจากผู้ผลิต บมจ.สยามแมคโคร กรุงเทพฯ โดยมีปริมาณที่พบเท่ากับ 0.18 และ 0.15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ นอกจากนั้นยังพบสารตกค้างชนิดไซไฟทริน (Cyflythrin) ในตัวอย่างจากร้านเจ๊ดม จังหวัดสมุทรสงครามและตัวอย่างจากตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ที่ปริมาณ 0.12 และ 0.10 มิลลิกรัม/กิโลกรัมตามลำดับ ท้ายที่สุด พบสารพิษตกค้างชนิดไบเฟนทริน (Bifenthrin) ในตัวอย่างเก็บจากร้านป้าอร ตลาดสดละงู จังหวัดสตูล ที่ปริมาณ 0.03 มิลลิกรัม/กิโลกรัม - พบการปนเปื้อนของสารตกค้างทางการเกษตรประเภทคาเบนดาร์ซิม (ยากันรา) ในตัวอย่างจำนวน 3 ตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่างที่ทดสอบ คิดเป็นร้อยละ 37.5 โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาณที่พบเท่ากับ 0.2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ปริมาณสูงสุดของสารเคมีที่พบคือ 0.44 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จากตัวอย่างที่เก็บในตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่   ข้อสังเกต- ตัวอย่างที่เก็บจากตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และตัวอย่างที่เก็บจากห้างแมคโคร กรุงเทพฯ พบการปนเปื้อนทั้งแคดเมียม สารตกค้างทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ และยากันรา-คาร์เบนดาซิมในปริมาณที่ค่อนข้างสูงและอาจก่อให้เกิดอันตรายหากมีการบริโภคติดต่อกันเป็นระยะเวลานานได้ - ตัวอย่างที่เก็บจากร้านเจ๊ดม จังหวัดสมุทรสงคราม พบการปนเปื้อนของแคดเมียมในปริมาณที่สูงเกินกว่าที่มาตรฐานอาหารสากล (CODEX) กำหนด (2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) โดยพบในปริมาณที่สูงถึง 4.77 มิลลิกรัม/กิโลกรัม นอกจากนี้ยังพบการปนเปื้อนของตะกั่วและปรอทในระดับพอสมควร อีกทั้งยังพบการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ในตัวอย่างอีกด้วย - ตัวอย่างกว่าร้อยละ 90 ที่ทำการทดสอบไม่ระบุยี่ห้อ ไม่ทราบผู้ผลิต และไม่ทราบวันผลิตและวันหมดอายุ ----------------------------------------------------------------------------------------------------- อันตรายของโลหะหนักที่ปนเปื้อนในปลาหมึกแห้งอันตรายจากแคดเมียม – ทำให้เกิดความเจ็บปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอย่างมาก ทำให้กระดูกและไตพิการ อันตรายจากตะกั่ว – จะทำให้เบื่ออาหาร ปวดท้อง มือเท้าอ่อนแรง เลือกจาง ถ้าเป็นเด็กจะทำให้สมองพิการได้ การเรียนรู้ด้อยลงอันตรายจากปรอท – เกิดอาการชาตามปลายมือปลายเท้า รวมไปถึงแขน ขา ริมฝีปากและเป็นอัมพาตในที่สุด ---------------------------------------------------------------------------------------------------- *จากผลทดสอบจะเห็นว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในปลาหมึกแห้งก็คือ การปนเปื้อนของแคดเมียม และสารเคมีในกลุ่มไพรีทอยด์ ซึ่งเป็นสารเคมีในกลุ่มยากำจัดศัตรูพืช การปนเปื้อนของแคดเมียมส่วนหนึ่งก็มาจากเหตุผลเรื่องธรรมชาติความสะอาดในท้องทะเล เพราะมนุษย์เรานี่แหละที่ทำร้ายธรรมชาติชอบทิ้งสารเคมีลงในทะเล ถ้าอยากกินอาหารทะเลดีๆ ที่ปลอดภัยก็ต้องช่วยกันดูแลรักษาท้องทะเล ส่วนเรื่องสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ ก็ต้องฝากวอนไปถึงพ่อค้า-แม่ค้าอย่าได้ใส่อะไรไม่พึ่งประสงค์ลงไปเลย ผู้บริโภคเราอยากรับประทานของสะอาดและมาจากธรรมชาติจริงๆ ครับ ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- -ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ.2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนข้อ 4 (2) ระบุการปนเปื้อนของ อฟลาทอกซิน ได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมข้อ 4 (1) (ง) ระบุการปนเปื้อน ตะกั่ว ได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม เว้นแต่อาหารที่มีสารตะกั่วปนเปื้อนตามธรรมชาติในปริมาณสูง ให้มีได้ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาข้อ 4 (1) (ฉ) ระบุการปนเปื้อน ปรอท   ได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และไม่เกิน 0.02 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารอื่น -ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่288  (พ.ศ. 2548) เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง ไม่ระบุว่าอนุญาติให้มีการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรในอาหารทะเลแห้ง ดังนั้นจึงไม่ควรมีปนเปื้อนมาในอาหาร -ค่ามาตรฐานอาหารสากล (CODEX)กำหนดค่าการปนเปื้อนของ แคดเมียม ในอาหารประเภทปลาหมึก อยู่ที่ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(ผลรายงานเฉพาะตัวอย่างที่ส่งวิเคราะห์เท่านั้นโดย สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี ม.ขอนแก่น คณะอุตสาหกรรมการเกษตร ม.สงขลานครินทร์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.เชียงใหม่) วิธีการทำปลาหมึกแห้ง ไม่ยากแต่อาจจะมีหลายขั้นตอนอยู่สักหน่อย เอาปลาหมึกไปตากแดดแล้วก็คอยพลิกกลับตัวปลาหมึกเพื่อให้ปลาหมึกแห้งทั่วกัน ถ้าแดดดีๆ 20 -30 ชั่วโมงก็ถือว่าใช้ได้ แต่ยังกินไม่ได้นะ ต้องนำปลาหมึกที่ตากแล้วนำมาวางซ้อนทับกันแล้วใช้ผ้าใบหรือพลาสติกคลุมไว้แล้วหาอะไรหนักๆ ทับไว้ ทิ้งไว้ 2 – 3 วัน ปลาหมึกจะยืดหยุ่นมากขึ้นเพราะความชื้นเกิดขึ้นในเนื้อปลาหมึก หลังจากนั้นก็นำมาตากแดดให้แห้งอีกครั้งประมาณอีก 2-3 วัน ที่นี้ก็นำมาทำอาหารรับประทานได้แล้ว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 142 กระแสต่างแดน

Chonky Awards 2012 แม่ช้อยส์เจ้าเก่าเขากลับอีกครั้ง ไม่ได้มารำโชว์แต่มาประกาศผลรางวัลผลิตภัณฑ์/บริการ ยอดแย่ประจำปี 2012 CHOICE เป็นชื่อขององค์กรเพื่อผู้บริโภคและนิตยสารเพื่อผู้บริโภคเช่นเดียวกับ ฉลาดซื้อ (ต่างกันตรงที่เขามีทุนในการทดสอบสินค้าและบริการสูงกว่ามาก เพราะเขาก่อตั้งมากว่า 50 ปี และมีสมาชิกในออสเตรเลียไม่ต่ำกว่า 200,000 คน)     เครื่องนี้ต้องซักฟอก จากการทดสอบเครื่องซักผ้าไปแล้ว 170 เครื่อง ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา CHOICE พบว่ามีเครื่องซักผ้ารุ่นหนึ่งใช้น้ำถึง 224 ลิตร ในการซักผ้า 3.5 กิโลกรัม ด้วยโปรแกรมซักอัตโนมัติ เครื่องรุ่นที่ควรค่าแก่การถูกซักฟอกครั้งนี้ได้แก่ เครื่องซักผ้าซัมซุงฝาบน ขนาด 7 กิโลกรัม รุ่น SW70SP ใช้น้ำ มากแล้วจะซักได้สะอาดขึ้น? ... เครื่องซักผ้าดังกล่าวได้คะแนนการล้างผงซักฟอกออกถึงร้อยละ 99 แต่ได้คะแนนการกำจัดคราบสกปรกไปเพียงร้อยละ  62 ในขณะที่เครื่องที่ได้คะแนนกำจัดคราบสูงสุด ใช้น้ำเพียง 1 ใน 4 ของ ปริมาณนี้  ความจริงเครื่องรุ่นนี้จัดอยู่ในกลุ่มที่ได้ 4 ดาวในเรื่องการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ แต่การคำนวณนี้คิดจากการทดสอบที่ทำโดยห้องปฏิบัติการที่มีนักวิจัยคอยตั้งโปรแกรมการซักให้เหมาะสม  แต่แม่ช้อยส์เชื่อว่า ผู้บริโภคทั่วไปจะเลือกใช้โปรแกรมซักอัตโนมัติมากกว่า   เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจโปรแกรมออโต้ กันน้ำ (ออก) ยอดเยี่ยม อ้างอิงจากข้อมูลบนเว็บไซต์ของเขาเอง ลิควิเพล คือเทคโนโลยีนาโน ที่ใช้เคลือบอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางน้ำ คนออสซี่ส่วนหนึ่งยินดีควักกระเป๋า 99 เหรียญ (ประมาณ 3,000 กว่าบาท) เพื่อสร้างความมั่นใจว่าอุปกรณ์อันเป็นที่รักจะมีอายุการใช้งานนานขึ้น เว็บไซต์ของลิควิเพล สาธิตประสิทธิภาพของลิควิเพลด้วยการทำให้เห็นว่า ไอโฟนที่ผ่านการเคลือบแล้วยังอยู่ดีมีสุขหลังจากลงไปนอนแช่น้ำเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่เขามีคำเตือนว่าไม่ควรทำการทดลองดังกล่าวนี้เองที่บ้าน บังเอิญว่าทีมงานแม่ช้อยส์ไม่เชื่อคำเตือน เลยไปซื้อไอโฟนและไอแพด ส่งไปเคลือบลิควิเพล แล้วนำมาทดลองแช่น้ำดูบ้าง ปรากฏว่าอุปกรณ์เหล่านั้นแทบจะเสียชีวิตในทันที เมื่อทำการทดลองซ้ำอีก (งบเยอะจริง... ชักจะอิจฉาแล้วนะ) ก็พบว่าโทรศัพท์เครื่องที่เคลือบแล้วนั้น มีอาการ “น้ำเข้า” ไม่ต่างอะไรกับเครื่องที่ไม่ได้เคลือบ แถมยังมีรายงานจากหน่วยกู้ภัยว่า ในกลุ่มผู้รอดชีวิตนั้น มีเครื่องที่ไม่ได้ผ่านการเคลือบอยู่ด้วย     ผลิตภัณฑ์ที่ไม่อาจ “เลิกรา” จากการทดสอบผลิตภัณฑ์กำจัดราทั้งหลายในปีนี้ แม่ช้อยส์เขาพบว่าไม่มีผลิตภัณฑ์ใดเลยที่สามารถ “ฆ่า” เชื้อราได้จริงๆ ผู้เชี่ยวชาญสาขาราวิทยาบอกว่า สาเหตุหลักเป็นเพราะผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อรา เหล่านี้ไม่สามารถเจาะผ่านพื้นผิวที่เป็นรูพรุนอย่างปูนยาแนว ลงไปจัดการกับราต่างๆ ซึ่งมั่วสุมกันอยู่ภายใต้มันได้ ที่เราเห็นว่าขาวขึ้นนั้นเป็นเพียงอิทธิฤทธิ์ของสารฟอกขาว ซึ่งถ้าใช้ไปเรื่อยๆ กระเบื้องและปูนยาแนวก็จะสึกมากขึ้น เปิดโอกาสให้ราทั้งหลายขยายขอบเขตการปกครองออกไปได้อีก แม้จะมีราบางตัวที่อยู่ด้านบนถูกกำจัดออกไปได้ แต่ตัวแม่ยังคงฝังแน่นอยู่ในปูนยาแนว และพร้อมที่จะออกมาเฮฮาปาร์ตี้ได้อีก CHOICE เลยบอกว่าขอเถอะ อย่าได้เที่ยวโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์นั้น “สามารถขจัดราฝังลึก” หรือ “ซึมผ่านพื้นผิวเข้าไปกำจัดราที่ต้นตอ” อีกเลย   ธรรมชาติบำบัดไม่ได้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าที่ออสเตรเลียก็มีผลิตภัณฑ์แนว “น้ำป้าเช็ง” ขายเหมือนกัน แม่ช้อยส์ลงความเห็นว่า การขายน้ำ (ที่อ้างว่าสามารถรักษาได้สารพัดโรค) ในราคาลิตรละ 1,000 เหรียญ มันก็แย่พออยู่แล้ว แต่การหลอกลวงพ่อแม่ที่อยากให้ลูกหายป่วยโดยเร็วนี่มันออกจะใจร้ายไปหน่อย ยาสมุนไพร เนเจอร์ส์ เวย์ คิดส์มาร์ท (ซึ่งเคยโดนตักเตือนมาแล้วเรื่องการโฆษณาเกินจริง) อ้างว่าสามารถรักษาอาการไข้ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ แพ้อากาศ น้ำมูกไหล และทำให้เด็กรู้สึกสบายขึ้น ด้วยส่วนผสม “จากธรรมชาติ” หนึ่งในส่วนผสมที่ว่าของ “น้ำรสผลไม้” นี้ประกอบด้วย สตริกนิน 1 ส่วนในล้านส่วน (ถูกต้องแล้ว .. สตริกนิน .. ยาพิษ แบบในหนังที่เคยดูนั่นแหละ) ซึ่งปริมาณดังกล่าวไม่มากพอที่จะเป็นอันตรายต่อเด็ก แต่ ... ความเสี่ยงคือการเสียเวลาไปเปล่าๆ เพื่อรอผลการรักษาโดยไม่ได้หาวิธีการอื่นๆ เพราะอาการหงุดหงิด ร้องไห้โยเย ไม่หลับไม่นอนของเด็กนั้นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคร้ายแรงที่เกินกว่าการรักษาแบบธรรมชาติจะรับมือไหว   ขนมสร้างความแตกแยก ขนมรวยเพื่อนก็รู้จักกันมานานแล้ว เรามาดูขนมที่อาจทำให้เสียเพื่อนกันบ้าง เนื่องจากแม่ช้อยส์แกเป็นคนละเอียดถี่ถ้วน แม้แต่จะซื้อขนมมาแจกเพื่อน แกก็ไม่ลืมเช็คก่อนว่าจะพอรับประทานกันโดยเท่าเทียมหรือเปล่า บ่อยเข้าแกเลยพบว่าขนมหวานรสช็อกโกแลตยี่ห้อทอปเบอโรน มันมีฉลากที่ไม่ชอบมาพากล ฉลากขนมทอปเบอโรน ขนาด 400 กรัม ระบุว่าทานได้ 16 ที่ แต่ว่าที่เขาแบ่งมาเป็นยอดปิระมิดเล็กๆ ในกล่องนั้นมีเพียงแค่ 15 ชิ้นเท่านั้น ขนาด 200 กรัมก็เช่นกัน ฉลากระบุว่า ทานได้ 8 ที่ (แต่มี 15 ชิ้น) ส่วนขนาด 50 กรัมนั้นระบุว่าทานได้ 2 ที่ (มี 11 ชิ้น)  มีเพียงขนาด 100 กรัมเท่านั้น พอจะแบ่งกันได้ไม่เกิดความแตกแยก   อย่ามาตั๋ว ค่าธรรมเนียม ตามประสาคนชอบดูมหรสพ แม่ช้อยส์แกหงุดหงิดกับภาวะไม่มีทางเลือก เพราะบัตรคอนเสิร์ต/การแสดงจากต่างประเทศ ทั้งหมดในประเทศออสเตรเลีย จัดจำหน่ายโดย ทิคเก็ตเทค และทิคเก็ตมาสเตอร์ ซึ่งคิด “ค่าธรรมเนียมพิเศษ” แพงเหลือเกิน คอนเสิร์ตของเอลตัน จอห์น ที่จัดขึ้นซิดนี่ย์ เอนเตอร์เทนเมนท์เซ็นเตอร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ราคาที่นั่งที่ถูกที่สุดคือ 119.90 เหรียญ (ประมาณ 3,800 บาท) ถ้าจ่ายด้วยบัตรเครดิตทิคเก็ตมาสเตอร์คิดค่าธรรมเนียมอีก 2.64 เหรียญ (85 บาท) และ “ค่าดำเนินการ” อีก 9.50 เหรียญ (300 บาท) รวมๆ แล้วก็เกือบๆ 4,200 บาท ด้าน ทิคเก็ตเทค ก็ใช่ย่อย รายนี้มีค่าจัดส่งด้วย คอนเสิร์ตของเจนนิเฟอร์ โลเปซ ที่รอดลาเวอร์ อารีน่า ตั๋วราคาต่ำสุดคือ 101.60 เหรียญ (ประมาน 3,200 บาท) รวมค่าจัดส่งอีก 5.20 ถึง 11.10 เหรียญ (160 -  350 บาท) ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดส่ง บวกค่าธรรมเนียมการจ่ายด้วยบัตรเครดิตอีกร้อยละ 1.75 บริษัทที่คิดค่าธรรมเนียมเป็นธรรมกว่านี้ก็เคยมี แต่ถูกเบียดตกเวทีไปแล้วโดยดูโอยักษ์ใหญ่ทั้งสอง ปีกลายทิคเก็ตเทค โดนปรับ 2,500,000 เหรียญ ข้อหามีพฤติกรรมผูกขาดทางธุรกิจ ซึ่งนับว่าเป็นเงินจิ๊บๆ สำหรับกำไร 50 ล้านเหรียญในปีดังกล่าว   ค่าแท็กซี่ติดเทอร์โบ แม่ช้อยส์คิดไปคิดมาแล้วงงว่า ทำไมการจ่ายค่าแท็กซี่ด้วยบัตรเครดิตเพื่อความสะดวกมันถึงได้แพงเลยเถิดขนาดนี้ ลองนึกภาพ... คุณมาถึงที่หมายและกำลังจะจ่ายเงินค่าแท็กซี่ มองไปเห็นค่าโดยสารขึ้นที่มิเตอร์ 42.10 เหรียญ (ราคานี้รวมค่าโดยสารเริ่มต้น ค่าจอง ค่าทางด่วน/ทางพิเศษ ค่าธรรมเนียมกลางคืนและภาษี) แต่บังเอิญคนขับไม่มีเงินทอนพอสำหรับแบงค์ 50 ของคุณ คุณเลยจ่ายด้วยบัตรเครดิต เลยโดนเรียกเก็บค่า “เซอร์ชาร์จ” อีกร้อยละ 10 (ซึ่งโดยทั่วไปเขาคิดกันไม่เกินร้อยละ 3 เท่านั้น) บริษัทแค็บชาร์จ ซึ่งเป็นผู้ดูแลการจ่ายเงินค่าแท็กซี่ผ่านบัตรเครดิต อธิบายว่านั่นไม่ใช่ “เซอร์ชาร์จ” มันเป็น “ค่าธรรมเนียมการให้บริการทางการเงิน” ต่างหาก นอกจากนี้ยังมีภาษีอีก 1% สำหรับบัตรเครดิตอื่น ที่ไม่ใช่บัตรของแค็บชาร์จเองด้วย     บริษัททัวร์เจ้าเล่ห์ คุณเลือกจ่ายค่าทริปในฝันของคุณผ่านบัตรเครดิต เพราะถ้าบริษัททัวร์ไม่สามารถจัดทัวร์ให้คุณได้หรือมีเหตุให้เลิกกิจการไปกะทันหัน คุณจะได้รับเงินคืน ซึ่งเป็นเงื่อนไขตามบริการ “chargeback” ที่คุณสมัครไว้กับบริษัทบัตรเครดิตในกรณีที่คุณไม่ได้รับสินค้าหรือบริการที่จ่ายผ่านบัตรเครดิต (โดยบริษัทบัตรเครดิตจะเป็นฝ่ายไปเรียกเก็บเงินกับผู้ขายเอง) บริการนี้สำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการซื้อทัวร์ต่างประเทศ เพราะมันไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของ “ประกันภัยการเดินทาง” แต่บริษัทเจ็ทเซท ทราเวลเวิร์ลด กรุ๊ป และบริษัทในเครือ (ซึ่งคุม 1 ใน 3 ของธุรกิจนี้ในออสเตรเลีย) มีข้อความใน “ข้อตกลงและเงื่อนไข” ที่ระบุว่าลูกทัวร์จะยินยอมงดเว้นการใช้สิทธิ “chargeback” กับบริษัท แม้สิ่งที่เจ็ทเซททำจะไม่ผิดกฎหมาย แต่แม่ช้อยส์เขาขอประณามการกระทำดังกล่าว ซึ่งเข้าข่ายเจ้าเล่ห์และไร้จริยธรรมไปหน่อย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 คู่มือกำจัดเชื้อราและเชื้อโรคหลังน้ำท่วม

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ข้อมูลนี้ผมได้นำมาจากแผ่นพับของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ได้พิมพ์แจกประชาชนทั่วไป ที่ประสบปัญหา เชื้อราขึ้นในบ้านและสิ่งของ ตอนน้ำท่วม หวังว่าสมาชิกฉลาดซื้อที่ประสบกับอุทกภัยน้ำท่วม จะยังครองสติ ตั้งมั่นและไม่ยอมแพ้ต่อปรากฎการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ สามารถแก้ปัญหาและฝ่าฟันวิกฤติได้อย่างดี นำข้อมูลนี้ไปเป็นแนวทางในการทำความสะอาดบ้านหลังน้ำท่วมได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย การทำความสะอาดบ้านเรือน โรงเรียนและอาคารหลังน้ำท่วม เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการหลังน้ำลดหลังจากที่สามารถเข้าไปในบ้านเรือนได้แล้วโดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย สิ่งแรกที่ต้องดำเนินการเพื่อความปลอดภัยคือ • ตรวจเช็คไฟฟ้าก่อนเข้าไปสำรวจในบริเวณบ้าน ซึ่งอาจขอความช่วยเหลือจากการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าภูมิภาค • เปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท • สำรวจพื้นที่ในบ้านอย่างระวังเพราะอาจมีสัตว์อันตรายที่หนีน้ำท่วมเข้าอยู่ในตัวบ้าน หลังจากนั้นจึงกวาดล้าง ทำความสะอาดพื้นและผนังบริเวณที่ถูกน้ำท่วม โดยใช้น้ำสะอาดฉีดล้างในเบื้องต้นเพื่อกำจัดเศษโคลนและขยะที่มากับน้ำท่วมที่ยังคงค้างอยู่ในบ้านและขัดล้างเช็ดถูด้วยแปรง กับน้ำผสมผงซักฟอกและล้างด้วยน้ำตามอีกครั้งจนสะอาด จากนั้นจึงทำการสำรวจพื้นผนังหรือฝ้าที่มีเชื้อราเกาะอยู่ หรือเห็นเป็นคราบดำชัดเจน วิธีการจัดการกับเชื้อราในบ้าน หรือบนวัสดุอุปกรณ์ที่เกิดราขึ้นควรปฏิบัติดังนี้ • แยกวัสดุออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มของวัสดุติดเชื้อราที่ต้องทิ้ง และกลุ่มที่สองเป็นวัสดุติดเชื้อราที่สามารถทำความสะอาดและนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยไม่เกิดอันตราย • กลุ่มของวัสดุที่เกิดราที่ต้องทิ้งประกอบด้วยวัสดุที่มีรูพรุนเปียกน้ำ มีราปกคลุมทั้งชิ้น วัสดุที่เสียสภาพไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมถึงกระดาษ ไม้อัด ไม้ธรรมชาติที่เกิดรา เนื่องจากสปอร์ของเชื้อราจะเข้าไปฝังตัวอยู่ในรูพรุนของวัสดุเหล่านี้ ทำให้ไม่สามารถกำจัดเชื้อราได้หมด และเชื้อราสามารถที่จะแพร่กระจายบนวัสดุนั้นได้ใหม่ โดยกลุ่มวัสดุเหล่านี้รวมทั้งเสื้อผ้า หรือพรมที่เปียกน้ำหลายวันจนมีเชื้อราขึ้นเต็ม ต้องแยกเก็บไว้นอกบ้านในที่อากาศถ่ายเทสะดวกหรือบรรจุลงในถุงดำถ้ามีขนาดไม่ใหญ่มาก รอการจัดเก็บเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกต้องจาก กทม. อบต. หรือเทศบาลต่อไป • กลุ่มของวัสดุติดเชื้อรา ที่ปนเปื้อนผิววัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่โดยไม่เกิดอันตราย ได้แก่วัสดุที่ไม่มีรูพรุน เช่น พลาสติก แก้ว โลหะ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ที่มีเชื้อราเล็กน้อยบนพื้นผิววัสดุ   สารที่ใช้กำจัดเชื้อรา• ใช้น้ำยากำจัดเชื้อรา ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพัฒนาขึ้น คือ “ราอะเวย์” ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับได้ที่ 02-470-9999 และรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://antifightflood.kmutt.ac.th หรือ http://aff.kmutt.ac.th • เตรียมทำน้ำยาเองโดยใช้สารฟอกผ้าขาว 1 ถ้วยตวงต่อน้ำ 1 แกลลอนหรือใช้สารฟอกผ้าขาว 50 มิลลิลิตรต่อน้ำหนึ่งลิตร • ห้ามผสมน้ำยากำจัดเชื้อราและเชื้อโรคที่มีสารฟอกผ้าขาวกับแอมโมเนียหรือน้ำยาเช็ดกระจก   ขั้นตอนการทำความสะอาดพื้นผนังหรือฝ้าที่มีเชื้อรา 1. สวมถุงมือยางชนิดหนา และสวมหน้ากากปิดจมูกก่อนทำงาน2. ทำความสะอาดพื้น/ผนัง โดยการขัดและล้างด้วยผงซักฟอกเพื่อขจัดคราบสิ่งสกปรกออก3. เทน้ำยากำจัดเชื้อราและเชื้อโรคใส่ขันหรือภาชนะพลาสติก ใช้ผ้าหรือฟองน้ำชุบน้ำยากำจัดเชื้อราให้ชุ่ม เช็ดเชื้อราและคราบสกปรกที่ติดบนผนัง ออกให้หมด โดยระวังไม่ให้ราฟุ้งกระจาย ให้เช็ดไปในทิศทางเดียว เพื่อป้องกันราลุกลามไปยังบริเวณอื่น4. เช็ดให้ทั่วบริเวณที่ต้องการทำความสะอาด ไม่ควรนำผ้าที่เช็ดแล้วกลับมาใช้ใหม่5. เปลี่ยนน้ำยาเมื่อน้ำยาชุดแรกสกปรก6. ฉีดพ่นน้ำยาด้วยหัวฉีดแบบฝอยหรือใช้ฟองน้ำชุบน้ำยากำจัดเชื้อราเช็ดให้ชุ่ม ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาทีเพื่อฆ่าเชื้อราที่อาจหลงเหลืออยู่ จนน้ำยาแห้ง7. ฉีดน้ำยาหรือเช็ดด้วยฟองน้ำผสมน้ำยาฆ่าเชื้อราอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง นานสามอาทิตย์ จนมั่นใจว่า ผนังและพื้นปราศจากเชื้อรา ทิ้งผนังไว้ให้แห้งอย่างน้อย 3-4 อาทิตย์ก่อนทาสีใหม่   การจัดการความชื้นภายในบ้านและทำบ้านให้แห้งหลังจากทำความสะอาดและจัดแยกวัสดุแล้วสิ่งที่สำคัญคือ ต้องเร่งดำเนินการกำจัดความชื้นภายในบ้านและทำให้บ้านแห้งในระยะเวลาอันสั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อราลุกลาม เนื่องจากเชื้อราสามารถเติบโตและก่อให้เกิดปัญหาได้ใหม่ภายในเวลาสองถึงสามวันหากภายในบ้านยังมีความชื้นอยู่ การกำจัดความชื้นภายในบ้านและทำให้บ้านแห้งสามารถดำเนินการได้ดังนี้ • ใช้พัดลมเป่า เพื่อไล่ความชื้นภายในตัวบ้านให้ทั่ว• เปิดเครื่องปรับอากาศหลังจากทำความสะอาดเสร็จแล้วเพื่อดูดไล่ความชื้นออกจากห้อง• เปิดเครื่องดูดความชื้น  (Dehumidifier) เพื่อช่วยดูดความชื้นจากวัสดุภายในบ้าน   ที่มาของข้อมูลคู่มือกำจัดเชื้อราและเชื้อโรคหลังน้ำท่วม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point