ฉบับที่ 229 ความล้มเหลวของการกระจายหน้ากากอนามัย

        คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มี รมต. พาณิชย์เป็นประธาน ประกาศห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยเกินกว่า 500 ชิ้น โดย มีมติเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ประกาศจริงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563        ตามมาตรา 24 ของ พ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการ 2542 ระบุไว้ว่า ประกาศ กกร. มีผลเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ความล่าช้าที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาที่ถูกตั้งคำถามว่า ล่าช้าหรือขัดข้องจากเหตุใด หรือเป็นความบกพร่อง ความอ่อนหัดในการบริหารราชการ หรือเอื้อประโยชน์ให้กับใครหรือไม่        โฆษกกรมศุลกากร ให้ข่าวว่าเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ มีการส่งออกมากถึง 330 ตัน และมีการนำเข้า 145 ตัน หลังแถลงข่าวมีการแก้ข่าวทันทีในวันนั้นว่า อ้างว่า เป็นหน้ากากอนามัยหลายประเภท พร้อมทั้งวันรุ่งขึ้นอดีตอธิบดีกรมการค้าภายใน ไปดำเนินการฟ้องคดีกับโฆษกกรมศุลกากร         จนบัดนี้ยังไม่ทราบชัดเจนว่า ประเทศไทยมีกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยเท่าใด เพราะตัวเลขที่แต่ละท่านให้ข้อมูลไม่ตรงกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พูดถึงตัวเลข 100 ล้านชิ้นต่อเดือน เมื่อ 30 มกราคม 2563 อดีตอธิบดีกรมการค้าภายในจำนวน 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน หรือ 36 ล้านชิ้นต่อเดือน  ขณะที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า 2.3 ล้านชิ้นต่อวัน หรือประมาณ 70 ล้านชิ้นต่อเดือน เมื่อ 9 มีนาคม และ 30 มีนาคม ตามลำดับ         การกระจายจำนวน 1.2 ล้านชิ้น จัดสรรให้องค์การเภสัชกรรม ส่งต่อให้โรงพยาบาล 7 แสนชิ้นต่อวัน และจัดการโดยร้านธงฟ้า 5 แสนชิ้นต่อวัน เพื่อแจกจ่ายผ่านร้านค้า ร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ และปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้แถลงยกเลิกการดำเนินการโดยธงฟ้า วันที่ 20 มีนาคม 2563 จนบัดนี้ประชาชนยังไม่ทราบว่ากระจายหน้ากากอนามัยอย่างไร โรงพยาบาลจำนวนมากยังขอรับบริจาคหน้ากากอนามัย ทั้งที่ถูกสั่งห้ามให้ข่าว หน้ากากอนามัยออนไลน์ยังราคาแพง แถมบางครั้งยังมีโกงซื้อแล้วไม่ได้ของไม่คืนเงิน         สถิติการจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำความผิดกรณีหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และแอลกอฮอล์ ในภาพรวม มีการจับกุมดำเนินคดีไปแล้วทั้งสิ้น 241 ราย แบ่งเป็นการจับกุมในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 120 ราย และในต่างจังหวัด 121 ราย แต่จากการสำรวจของคนซื้อ ยังพบราคาแพง ทุกคนต่างกว้านซื้อเพื่อบริจาค ทำให้กระบวนการกักตุน ราคาแพงไม่หมดไป ทั้งที่บทลงโทษมีไม่น้อยเลย หากพบว่ามีการกักตุนสินค้าและฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรมจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ที่สำคัญหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ กลายเป็นสินค้าขาดแคลน จำหน่ายราคาแพงโดยไม่สามารถป้องกันหรือแก้ปัญหาได้จริงหรือ??         สิ่งที่ประชาชนอยากเห็น คือความโปร่งใส ประชาชนตรวจสอบข้อมูลได้ ประเทศมีกำลังการผลิตเท่าใด กระจายให้หน่วยบริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลเป็นลำดับแรก เหลือแจกจ่ายประชาชน โดยสามารถนำบัตรประชาชนรับได้จากร้านขายยา หรือร้านสะดวกซื้อ ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญที่รัฐมีหน้าที่ในการป้องกันโรคโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ยุติการจำหน่ายในออนไลน์และทุกช่องทาง ไม่ใช่ปล่อยให้ทุนใหญ่ทุนเล็กทำมาหากินกับสินค้าเหล่านี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 ผลทดสอบเจลแอลกอฮอล์

        สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ในขณะนี้ นอกจากหน้ากากอนามัยแล้ว เจลแอลกอฮอล์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือแบบอื่นๆ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้ทำความสะอาดมือเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ซึ่งเป็นที่ต้องการของประชาชนเป็นอย่างมากจนทำให้เกิดภาวะขาดแคลนสินค้าและมีสินค้าไม่ได้มาตรฐานออกมาวางจำหน่าย         ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังสินค้าและคุ้มครองผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงดำเนินการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือจำนวน 39 ตัวอย่าง แบ่งเป็นสองกลุ่มตัวอย่าง คือผลิตภัณฑ์จากร้านค้าทั่วไป ร้านขายยา ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก จำนวน 25 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์จากร้านค้าออนไลน์ จำนวน 14 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10 มีนาคม – 17 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อตรวจหาปริมาณร้อยละของแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ และตรวจหาการปนเปื้อนของเมธิลแอลกฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค สรุปผลทดสอบผลทดสอบ พบว่า-   จำนวน 26 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอลต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ไม่ผ่านเกณฑ์ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563  แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ(1) จำนวน 14  ตัวอย่าง คือมีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ทั้งนี้ทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ระบุวันผลิตตั้งแต่ประกาศฯ มีผลบังคับ คือ 10 มีนาคม 2563(2) จำนวน 8 ตัวอย่าง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตก่อนวันที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ฯ มีผลบังคับ(3) จำนวน 4 ตัวอย่าง ไม่ระบุวันผลิต ได้แก่ยี่ห้อ เมดเดอร์ลีน, Sweet Summer, BFF บีเอฟเอฟ และ TOUCH        -  จำนวน 13 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ทั้งนี้แบ่งเป็น(1) ผลิตภัณฑ์ที่มีวันผลิตก่อนวันที่ 10 มีนาคม 2563 จำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่ Skin Heaven Hand Safe, Anti-A gel (2 ตัวอย่าง) ,ไลฟ์บอย แฮนด์ ซานิไทเซอร       (2) ผลิตหลังวันที่ 10 มีนาคม 2563 จำนวน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ Ver.88, WE Cleanser, ก๊กเลี้ยง, โพรเทค และ CAVIER       (3) ไม่ระบุวันผลิต 4 ตัวอย่าง ได้แก่ยี่ห้อ  CCP LAB BLUE, D GEL , ETC อาย-ตา-นิค และพันตรา     -   พบผลิตภัณฑ์ 4 ตัวอย่าง ไม่มีเลขจดแจ้ง แบ่งเป็น 3 ตัวอย่าง (2 ยี่ห้อ) ไม่แสดงเลขจดแจ้ง ได้แก่ Anti-A gel, Top Clean Hand Sanitizer และมี 1 ตัวอย่างแสดงเลข อย.ซ้ำกับผลิตภัณฑ์ตัวอื่น ได้แก่ ยี่ห้อ L Care     -  พบ 1 ตัวอย่าง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ ANANTA Spray(อนันตา สเปรย์) ใช้เมธานอลเป็นส่วนผสมในการผลิต   ฉลาดซื้อแนะการใช้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือที่ถูกต้อง1.ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เข้มข้น 70% ขึ้นไป (ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน) ทำไมต้อง 70% ถ้าใช้สัดส่วนที่ต่ำกว่านั้น ไม่สามารถกำจัดเชื้อโรค COVID-19 ได้2.ลูบให้ทั่วฝ่ามือและนิ้วมือ ทิ้งไว้ 20-30 วินาที จนแอลกอฮอล์แห้ง หากใช้แล้วไม่รอให้แห้งไปหยิบจับสิ่งต่างๆ ก็จะทำให้ประสิทธิภาพลดน้อยลง3.ควรใช้เจลแอลกอฮอล์เฉพาะมือเท่านั้น ห้ามสัมผัสหรือเช็ดล้างบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น ใบหน้าและดวงตาโดยเด็ดขาด4.ผลิตภัณฑ์ชนิดที่มีส่วนผสมอื่นนอกจากตัวแอลกอฮอล์จะช่วยทำให้ตัวแอลกอฮอล์ระเหยได้ช้าลง สัมผัสกับผิวได้นานขึ้น ช่วยลดการระคายเคืองของแอลกอฮอล์และคงความชุ่มชื้นต่อผิว5.ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ ทำให้ต้องระมัดระวังการเก็บหรือการใช้ อย่าวางเจลใกล้ความร้อนหรือเปลวไฟ เพราะแอลกอฮอล์ติดไฟได้ง่าย อาจเกิดอุบัติเหตุทำให้บาดเจ็บได้

อ่านเพิ่มเติม >