ฉลาดซื้อ เผยผลสุ่มตรวจ ‘ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ’ ร้อยละ 67 ไม่ผ่านมาตรฐานประกาศ สธ. พบ 1 ยี่ห้อ ใช้เมธิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม

        ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เผยผลตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ ร้อยละ 67 ไม่ได้มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พบ 1 ยี่ห้อ มีส่วนประกอบของเมธานอล (Methanol) ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดห้ามใช้ในเครื่องสำอางเพราะมีพิษสูง ย้ำผู้ผลิต นำเข้า เครื่องสำอางไม่ปลอดภัย โทษปรับสูงสุดถึง 500,000 บาทส่วนผู้ขายมีโทษปรับสูงสุดถึง 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ        วันนี้ (5 มิถุนายน 2563) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ จำนวน 39 ตัวอย่าง สุ่มเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ระหว่างวันที่ 10 มีนาคม ถึง 17 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา แบ่งเป็นสองกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากร้านค้าทั่วไป ร้านขายยา ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก จำนวน 25 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์จากร้านค้าออนไลน์ จำนวน 14 ตัวอย่าง          สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ เปิดเผยว่า ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ และ นำส่งตรวจวิเคราะห์ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ว่าได้มาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563 หรือไม่ ซึ่งประกาศฯ ดังกล่าว ได้กำหนดให้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความสะอาดมือโดยไม่ใช้น้ำ ที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร เป็นเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย         “ผลทดสอบ พบว่า มีผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่ผ่านมาตรฐาน ซึ่งมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จำนวน 13 ตัวอย่าง (ประมาณร้อยละ 33) และไม่ผ่านมาตรฐาน 26 ตัวอย่าง (ประมาณร้อยละ 67) นอกจากนี้ยังพบ 1 ตัวอย่าง มีส่วนผสมของเมธานอล (Methanol) หรือ เมธิลแอลกอฮอล์ (Methyl Alcohol) ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดห้ามใช้ในการผลิตเครื่องสำอางอีกด้วย” บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าว         ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ จำนวน 26 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ไม่ผ่านเกณฑ์ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563 แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ        (1) จำนวน 14 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ทั้งนี้ทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ระบุวันผลิตตั้งแต่ประกาศฯ มีผลบังคับ คือ 10 มีนาคม 2563         (2) จำนวน 8 ตัวอย่าง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตก่อนวันที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ฯ มีผลบังคับ        (3) จำนวน 4 ตัวอย่าง ไม่ระบุวันผลิต ได้แก่ ยี่ห้อ เมดเดอร์ลีน, Sweet Summer, BFF บีเอฟเอฟ และ TOUCH                   ส่วนอีก จำนวน 13 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร หรือมีปริมาณแอลกฮอล์มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 70 ทั้งนี้แบ่งเป็น        (1) ผลิตภัณฑ์ที่มีวันผลิตก่อนวันที่ 10 มีนาคม 2563 จำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่ Skin Heaven Hand Safe, Anti-A gel (2 ตัวอย่าง), ไลฟ์บอย แฮนด์ ซานิไทเซอร์        (2) ผลิตหลังวันที่ 10 มีนาคม 2563 จำนวน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ Ver.88, WE Cleanser, ก๊กเลี้ยง, โพรเทค และ CAVIER         (3) ไม่ระบุวันผลิต 4 ตัวอย่าง ได้แก่ยี่ห้อ CCP LAB BLUE, D GEL , ETC อาย-ตา-นิค และพันตรา         อย่างไรก็ตาม จากทั้งการสุ่มตรวจทั้ง 39 ตัวอย่าง พบผลิตภัณฑ์ 4 ตัวอย่าง ไม่มีเลขจดแจ้ง แบ่งเป็น 3 ตัวอย่าง (2 ยี่ห้อ) ไม่แสดงเลขจดแจ้ง ได้แก่ Anti-A gel (ยี่ห้อเดียวกัน แต่มี 2 ตัวอย่าง), Top Clean Hand Sanitizer และ ยี่ห้อ L Care (มีการแสดงเลข อย. ซ้ำกับผลิตภัณฑ์ตัวอื่น) นอกจากนี้ ยังพบอีก 1 ตัวอย่าง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ ANANTA Spray (อนันตา สเปรย์) ที่มีการใช้เมธานอลเป็นส่วนผสมในการผลิต           ด้าน รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในการทดสอบเพื่อหาปริมาณแอลกอฮอล์และชนิดของแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ที่ทางแลปใช้เป็นการนำเทคนิค Gas Chromatography มาวิเคราะห์ตัวอย่าง ซึ่งเป็นเทคนิคหลักในอุตสาหกรรมยาที่ใช้ในการตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ โดยวิธีวิเคราะห์นี้ถูกพัฒนาและตรวจสอบความถูกต้องให้สามารถตอบโจทย์การทดสอบในผลิตภัณฑ์เพื่อทำความสะอาดมือดังกล่าวได้         “อย่างไรก็ตามในมุมมองผม ผลดังกล่าวคงไม่ใช่การตีตราได้ 100 เปอร์เซนต์ ว่าบริษัทใดดีหรือไม่ดีเนื่องจากมีข้อสังเกตจากการทดสอบหลายประการ เช่น เรื่องคุณภาพการผลิต ซึ่งพบว่า ยังไม่มีการควบคุมให้ได้มาตรฐาน และจากรายละเอียดข้อมูลที่แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือทั้ง 39 ตัวอย่าง พบว่า บางบริษัทรับผลิตสินค้าให้กับผู้ประกอบการหลายยี่ห้อ แต่จากผลการทดสอบบางยี่ห้อผ่านเกณฑ์ บางยี่ห้อไม่ผ่านเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ ทั้งที่ผลิตโดยบริษัทเดียวกัน หรือ บางยี่ห้อระบุว่ามีแอลกอฮอลล์ร้อยละ 75 แต่วิเคราะห์ผลได้เพียงร้อยละ 70 ซึ่งถึงแม้จะผ่านตามประกาศกระทรวงฯ แต่ถือว่ามีปัญหาด้านคุณภาพในการผลิต” รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ กล่าวและว่า ในประเด็นการปลอมแปลงฉลากผู้ผลิตก็เป็นอีกปัจจัยที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน แต่ที่แน่นอน คือ ผลที่ออกมาสะท้อนอย่างชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่มีในท้องตลาดมีปัญหาและต้องมีการแก้ไขปัญหาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยด่วน         ส่วน ผศ.ดร.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และรองผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 เจลแอลกอฮอล์หรือผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เช่น เจล โลชั่น ครีม โฟม สเปรย์ สารละลาย หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ (Alcohol-Bases Hand Sanitizer) ถูกจัดอยู่ในหมวด “เครื่องมือแพทย์” ที่ต้องแจ้งรายละเอียด และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบคุมตามกฎหมายเครื่องมือแพทย์ โดยส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นี้ ได้แก่ เอธิลแอลกอฮอล์/เอธานอล, ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์/ไอโซโพรพานอล หรือเอ็น - โพรพิวแอลกอฮอล์/เอ็น - โพรพานอล และมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า “ส่วนประกอบเหล่านี้ต้องรวมกันตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไปโดยปริมาตร” ซึ่งอาจมีสารอื่นๆ ประกอบด้วยได้ เช่น สารแต่งกลิ่น สารกันเสีย         เมื่อเกิดปัญหาโรคโควิด 19 ระบาด คณะกรรมการเครื่องมือแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติยกเลิก ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ พ.ศ.2562 เพื่อปรับให้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือเป็นสินค้าในกลุ่ม “เครื่องสำอางหรือหมวดเครื่องสำอาง” ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563 เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดที่อาจทำให้เกิดสินค้าขาดแคลนได้ โดยมีสาระสำคัญ คือ         เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่มีส่วนประกอบเพียงอย่างเดียวหรือผสมรวมกันน้อยกว่าร้อยละ 70  โดยปริมาตร ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย” และ “หากมีการตรวจพบผู้ผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ผู้ผลิตหรือนำเข้า จะมีโทษ จำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท ขณะที่ผู้จำหน่าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท          มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา “ตาม มาตรา 60 ของ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ได้กำหนดโทษสำหรับ ผู้ที่ผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือรับจ้างผลิตเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศฯ  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ขายนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         หรือในกรณีเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งมีวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ผู้ที่ผลิต นำเข้า เพื่อขาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ขาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         “ผู้บริโภคสามารถใช้ข้อมูลผลทดสอบของนิตยสารฉลาดซื้อ ในการตัดสินใจเลือกซื้อเจลแอลกอฮอล์ได้ โดยเจลแอลกอฮอล์ที่ดีนั้น นอกจากต้องมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตรแล้ว ยังไม่ควรแห้งเร็วจนเกินไป เพื่อให้แอลกอฮอล์ได้มีเวลาฆ่าเชื้อไวรัสที่อาจเกาะอยู่ตามผิวหนังก่อนที่จะระเหย  นอกจากนี้ อย. ควรต้องเร่งแก้ปัญหาคุณภาพผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการยกระดับมาตรฐานโรงงานผลิต เพราะความเสียหาย คือ การมีผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ที่แพร่หลาย แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่สามารถมีผลในการลดเชื้อได้จริง” ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าว         ขณะที่ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กล่าวเสริมว่า อยากฝากข้อเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการ ดังนี้        1. ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานแอลกอฮอล์ ในผู้ประกอบการที่ผลิต นำเข้า หรือขาย ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่ไม่เป็นไปตามประกาศฯ ให้เป็นไปตามประกาศฯ        2.มีการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ ในสถานประกอบการที่ผลิตและนำเข้า หรือขายเหล่านี้ให้มากขึ้น ก่อนการอนุมัติ เพื่อป้องกันมิให้มีผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพเข้าสู่ท้องตลาดและส่งผลเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขในวงกว้าง        และ 3.ดำเนินการกับบริษัทที่ใช้เมทานอลอย่างจริงจัง และฝากไปถึงบริษัทด้วย ขออย่าใช้เทคนิค การถูกเจ้าอื่นแอบผลิตหรือใช้เลขที่ใบจดแจ้ง หรืออ้างว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่ใช่ของตนเอง         รายละเอียดผลทดสอบอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3402

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 มันมาแล้วกับโควิด 19

        สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดในหลายประเทศ ก่อให้เกิดความตระหนกและตื่นตัว ผู้บริโภคต่างแสวงหาวิธีการ หรืออุปกรณ์ต่างๆ มาป้องกันตนเองและครอบครัว หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ น้ำยาทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อโรค ขาดแคลนเป็นระลอกๆ        เมื่อเข้าตาจน ผู้บริโภคหลายรายที่อ่อนไหวต่อสถานการณ์นี้ จึงแสวงหาทางเลือกอื่นๆ เพื่อนำมาใช้ป้องกันตัว เช่น มีการนำน้ำยาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่ใช้ล้างแผลมาใช้ล้างมือแทนแอลกอฮอล์ หรือนำสุราขาวมาใช้แทนแอลกอฮอล์ล้างแผล ซึ่งความจริงแล้วแอลกอฮอล์ที่ใช้ฆ่าเชื้อได้ดีที่สุดต้องมีความเข้มข้น 70% หากน้อยกว่าหรือมากกว่านี้ประสิทธิภาพจะลดลง        นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ผลิตบางรายถือโอกาสนำผลิตภัณฑ์แปลกๆ มาขายผู้บริโภค จนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกมาเตือนผู้บริโภคไม่ให้หลงเชื่อแผ่นป้ายหรืออุปกรณ์ห้อยคอต่างๆ (เช่น ปากกา พัดลม) ที่จำหน่ายในสื่อออนไลน์ โดยอวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถปล่อยสารบางอย่างออกมา เพื่อช่วยกรองอากาศ ป้องกันและยับยั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียในอากาศได้ สามารถใช้แทนหน้ากากอนามัยได้ ซึ่งความจริงผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าสามารถฆ่าเชื้อในอากาศได้นั้น จะจัดเป็นวัตถุอันตรายที่ใช้ตามบ้านเรือน ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 จะต้องมาขอขึ้นทะเบียนและขออนุญาตนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายในประเทศกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน และต้องผ่านการประเมินด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยก่อนด้วย จึงจะสามารถจำหน่ายได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผลิตภัณฑ์เหล่านี้ชนิดใด มาขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเล         หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีการเผยแพร่ทางออนไลน์อีก เป็นการเผยแพร่บทสวดมนต์อ้างว่า ปัดเป่าขับไล่ไวรัสได้ ในจังหวัดสมุทรสงครามเอง ก็มีผู้บริโภคมาเล่าให้ฟังว่า มีคนนำเหรียญหรือยันต์มาชักชวนให้ตนซื้อ เพื่อใช้ป้องกันโรคได้เช่นกัน          ดังนั้นขอย้ำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไวรัสและเชื้อโรคต่างๆ คือ         1. กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ : รับประทานอาหารปรุงร้อนจนสุก ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกัน         2. ใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเอง เมื่อต้องไปอยู่ในที่ชุมชน หรือที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก มีผู้คนหนาแน่น         3. ดูแลร่างกายให้แข็งแรง เพื่อให้มีภูมิต้านทานโรค         วัตถุประหลาดใดๆ ไม่อาจช่วยให้รอดจากไวรัสได้ อย่าไปหลงเชื่อโดยเด็ดขาด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 น้ำยาทำความสะอาดมือ

        น้ำยาทำความสะอาดมือ(Hand Anticeptic) เป็นสารที่ใช้เพิ่มเติมเป็นทางเลือกของการทำความความสะอาดมือ โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่มีน้ำ ปัจจุบันมีทั้งรูปแบบเจล โฟมและสารละลายเหลว เมื่อฉบับที่แล้วฉลาดซื้อได้สุ่มสำรวจผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือไป ฉบับนี้จึงขอต่อเนื่องมาที่ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ แบบที่ไม่ต้องพึ่งพาน้ำกันบ้าง ซึ่งได้รับความนิยมมากพอสมควรมีหลายผลิตภัณฑ์ให้เลือกซื้อหา ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่พบมีสารออกฤทธิ์สำคัญคือ เอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้ดี เหมาะสำหรับการฆ่าเชื้อบนผิวหนัง นอกจากนั้นก็จะมีการผสมสารประเภทที่ให้ความชุ่มชื้น ครีมบำรุงและสารประเภทน้ำหอมเพิ่มเติม ซึ่งไม่มีประโยชน์ในงานทำความสะอาดแต่ช่วยเพิ่มความน่าสนใจ โดยลดความกังวลเรื่องที่มืออาจแห้งกร้านเนื่องจากการสัมผัสแอลกอฮอล์            จากการสุ่มตัวอย่างพบผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือแบบไม่ใช่น้ำ จำนวน 11 ผลิตภัณฑ์ มีส่วนผสมหลักดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่มีอยู่สองตัวที่มีส่วนผสมของ ไตรโคลซาน ซึ่งฉลาดซื้อเคยนำเสนอไปว่า เป็นสารที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสารที่มีอันตรายสูง ทำให้มีปัญหากับระบบนิเวศดังนั้นควรหลีกเลี่ยง         น้ำยาทำความสะอาดมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ที่ดีควรเป็นอย่างไร            1.ควรมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ระหว่าง 60-85 % เพื่อให้เพียงพอสำหรับการฆ่าเชื้อ            2.มีฉลากระบุวันผลิตและวันสิ้นอายุที่ชัดเจน(ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุ)  รวมทั้งคำเตือนที่จำเป็น เช่น ห้ามใช้หรือวางใกล้เปลวไฟ            3.มีเลขจดแจ้งที่ชัดเจน น้ำยาทำความสะอาดมือจัดเป็นเครื่องสำอาง ดังนั้นต้องมีเลขที่จดแจ้งตามกฎหมายเครื่องสำอาง  ความสะอาดมือบ่อยๆ        การล้างมือเป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันการติดเชื้อที่ดี โดยทั่วไปหากมือสกปรกควรล้างด้วยน้ำและสบู่ เพื่อชะล้างคราบสกปรกออกไป แต่หากเป็นกรณีที่มือไม่มีคราบสกปรกแต่อาจสัมผัสกับจุดเสี่ยง เช่น การสัมผัสกับสิ่งของสาธารณะ สัตว์เลี้ยง การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือแบบไม่ต้องใช้น้ำ ก็ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้ วิธีการใช้ผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่ถูกต้อง         เจลล้างมือควรใช้ในปริมาณ 3-5 ซีซี หรือปริมาณเท่าขนาดเล็บหัวแม่มือของผู้ใช้ ถูให้ทั่วฝ่ามือและซอกเล็บ ถูจนเจลระเหยหมดภายในครึ่งนาที (หากเจลระเหยอย่างรวดเร็วก่อน 15 วินาที อาจหมายถึงใช้เจลในปริมาณน้อยไป ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการกำจัดเชื้อโรค) ระวัง!เจลล้างมือติดไฟได้ หากถูกสะเก็ดไฟ         เจลล้างมือมีส่วนผสมสำคัญคือแอลกอฮอล์ ที่นอกจากมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค และยังสามารถติดไฟได้ง่าย ดังนั้นเจลล้างมือจึงติดไฟได้ง่ายเช่นกัน โดยเฉพาะในผู้สูบบุหรี่ ผู้ที่ใช้เจลล้างมือหลังชโลมเปียกทั่วมือแล้วจึงควรรอให้แห้งก่อน ซึ่งใช้เวลาประมาณครึ่งนาที

อ่านเพิ่มเติม >