ฉบับที่ 266 พาวเวอร์เจลให้พลังงาน : กินไม่เกิดโรค รู้บริโภคปลอดภัย

        Power Gel หรือ Energy Gel เป็นอาหารชนิดหนึ่งที่อยู่ในรูปของเจลคาร์โบไฮเดรต โดยแต่งเติมกลิ่นและรสชาติเข้าไปเพื่อให้สะดวกแก่การรับประทาน         Power Gel เป็นแหล่งให้พลังงานสูงทำให้ร่างกายฟื้นฟูสภาพได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยสารอาหารจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว เป็นแหล่งพลังงานของร่างกายและช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดโดยทั่วไป Power Gel จะไม่มีไขมัน มีโปรตีนไฟเบอร์เป็นส่วนประกอบเพื่อช่วยระบบย่อยและดูดซึมอาหารทำงานได้เร็วที่สุด         กลุ่มนักกีฬาประเภทที่ใช้พลังงานต่อเนื่องเป็นเวลานานอย่างวิ่งมาราธอน ว่ายน้ำ มักจะหา Power Gel ชนิดและยี่ห้อต่างๆ มาใช้และมีความนิยมกันเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มีข้อที่ต้องระมัดระวังในการใช้อยู่ด้วย ดังนั้นผลิตภัณฑ์ต้องได้มาตรฐานต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดและประเภทที่เหมาะกับตนเอง         เมื่อปี 2019 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศหนึ่งได้ออกประกาศเตือนภัยให้แก่ผู้บริโภคในประเทศของตนให้หลีกเลี่ยงการซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์ Power Gel ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน หากจะเปรียบเทียบในประเทศเราก็คือประกาศแจ้งเตือนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้หลีกเลี่ยงการใช้และบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีเครื่องหมาย อย. ไม่มีข้อความแสดงในฉลากเป็นภาษาไทย เพราะเมื่อบริโภคจะมีความเสี่ยงสูงที่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายจากส่วนประกอบที่อาจมีอันตรายหรือไม่ได้มาตรฐานและอาจเกิดพิษสะสมเมื่อรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งปัจจุบันพบผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นจำนวนไม่น้อยในงานวิ่งรายการต่างๆ ร้านค้าออนไลน์         นอกจากนี้ยังมี Power Gel อีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องระมัดระวังในการบริโภคคือ Power Gel ที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน ที่ใส่เข้าเพิ่มมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการตื่นตัว รู้สึกตื่นตัว เชื่อว่าช่วยให้ร่างกายทนทานต่อความเมื่อยล้าเพิ่มมากแต่อาจไม่เหมาะกับบางคนรวมถึงเด็กเล็ก  เพราะผลข้างเคียงให้เกิดอาการปวดหัวหรือกระวนกระวายใจได้ในบางคน องค์กร European Food Safety Authority แนะนำว่าปริมาณการบริโภคคาเฟอีนของผู้ใหญ่แต่ละครั้งไม่ควรเกิน 200 mg. และต่อวันไม่ควรเกิน 400 mg (ต้องกิน Power Gel ถึง 8 ซอง) แต่ในบางคนที่ไวต่อการกระตุ้น เช่น เด็ก หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวข้องกับความดัน หัวใจ แม้การกินคาเฟอีนที่ปริมาณไม่เกินกำหนดก็อาจทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ ใจสั่นได้ง่ายขึ้นได้ทันทีหรือความดันอาจจะเพิ่มขึ้นได้บ้าง โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้กินเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมคาเฟอีนเป็นประจำ นอกจากนี้ก็มีฤทธิ์เป็นยาระบายและยาขับปัสสาวะผลต่อการขับปัสสาวะที่บ่อยขึ้นเกิดผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำ         นักกีฬาที่จะหา  Power Gel มาทานจึงควรใส่ใจ อ่านฉลากซองผลิตภัณฑ์ให้ละเอียด 1) มีเลข อย. และมีข้อความภาษาไทย ระบุแหล่งผลิต วันเดือนปีที่หมดอายุ 2) ตรวจสอบส่วนประกอบในฉลากว่า มีส่วนผสมของคาเฟอีนหรือไม่ โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับตัวเอง และ 3) เลือกชนิดและประเภทของ Power Gel ที่เหมาะกับสภาพร่างกายของตนเอง ซึ่งสามารถปรึกษากับเภสัชกรที่ร้านยาทุกแห่งหรือผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์ Power Gel

อ่านเพิ่มเติม >

‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ยืนหยัด ‘คุ้มครองผู้บริโภค’ แถลงชัดไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบจากเว็บไซต์

            ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ดำเนินการเชิงรุกเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคช่วงโควิด - 19 โดยเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือในช่วงที่ขาดแคลนและมีราคาแพง รวมทั้ง ขาดข้อมูลอ้างอิงที่จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อถือได้ว่ามีคุณภาพตรงกับฉลากหรือคำโฆษณา และไม่ปนเปื้อนสารที่ก่ออันตราย มูลนิธิฯ ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือจำนวน 39 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ว่าเป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือไม่ และตรวจหาการปนเปื้อนของเมธิลแอลกฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค ผลพบว่า จำนวน 27 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 69.23 มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 จากนั้นจึงได้เผยแพร่ข้อมูลให้ผู้บริโภคได้รับทราบผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเปิดเผยชื่อยี่ห้อ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อเท็จจริง และมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการเลือกซื้อสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้สำหรับปกป้องสุขภาพในภาวะที่มีการระบาดของเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิตนั้น (อ่านข้อมูล ผลทดสอบเจลแอลกอฮอล์ จากนิตยสารฉลาดซื้อ ได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3420)         ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 บริษัท รีเอกซ์ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเจลแอลกอฮอล์ ได้ฟ้องคดีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 1 และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่า จำเลยได้กระทำผิดอาญา ใส่ความหมิ่นประมาทบริษัท และระบุว่า “...ไม่ใช่ผลการทดสอบที่ถูกต้องที่จะนำเสนอเป็นข่าวหรือบทความให้สาธารณชนได้รับทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เจลล้างมือ เพราะเกณฑ์มาตรฐานการทดสอบจำเป็นต้องมีการควบคุมการทดสอบและกำหนดค่าความผันแปรของผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมระหว่างทดสอบ...”         ในวันนี้ (5 พฤศจิกายน 2563) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้แถลงข่าวเพื่อให้ข้อเท็จจริงและแสดงจุดยืนต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้         1. นิตยสารฉลาดซื้อ และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดให้มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลกับผู้บริโภค โดยมีการเปิดเผยชื่อยี่ห้อให้ผู้บริโภคได้รับทราบ ด้วยเหตุผลในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า ตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการตามหลักการนี้มาอย่างต่อเนื่องตลอดมา         2. การทดสอบได้ทำอย่างสุจริตและโปร่งใส โดยยึดมั่นหลักวิชาการ และดำเนินการอย่างมีคุณภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยการทดสอบเจลแอลกอฮอล์ในครั้งนี้ ดำเนินการโดย ศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ มีความเป็นอิสระ และเป็นห้องทดลองที่ได้มาตรฐานและผ่านการรับรอง ISO 17025 แม้แต่ อย. ก็ใช้ห้องทดลองนี้เช่นกัน และในการแถลงข่าวเพื่อเผยแพร่ข้อมูล เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ผู้เกี่ยวข้องกับการทดสอบได้ร่วมในการให้ข้อมูลอย่างเปิดเผย ประกอบด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร. ยุพดี ศิริสินสุข คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และรองผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย         3. มูลนิธิฯ เห็นว่า การฟ้องร้องของบริษัท รีเอ็กซ์ โปรดักส์ จำกัด อาจเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้มูลนิธิฯ ยุติการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภค         4. มูลนิธิฯ ไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบที่ได้จัดทำและเผยแพร่จากเว็บไซต์ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อสินค้า โดยเป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ดังที่ได้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติตลอดมา         ด้าน ดร. ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ยืนยัน กระบวนการทดสอบสินค้าและบริการของนิตยสารฉลาดซื้อ ใช้ห้องทดสอบที่มีมาตรฐาน ระดับประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับกระบวนการทดสอบด้านสินค้าและบริการ จะอ้างอิงหลักการและวิธีการออกแบบการทดสอบ ขององค์กรผู้บริโภคระหว่างประเทศ ที่เป็นสมาขิกของ International Consumer Product Research and Testing โดยเน้นหลักการความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ใช้การสุ่มซื้อสินค้าที่มีการจำหน่ายจากร้านค้าจริงทั่วไปและออนไลน์เหมือนผู้บริโภคซื้อสินค้าและเผยแพร่ผลการทดสอบผ่านนิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะที่ไม่รับโฆษณาจากบริษัทต่าง ๆ เพื่อทำให้สามารถรักษาผลประโยชน์สาธารณะได้อย่างตรงไปตรงมา         "การทดสอบสินค้าที่มีมาตรฐานกำกับจะดำเนินการทดสอบตามมาตรฐาน โดยใช้ห้องทดสอบของมหาวิทยาลัย หรือ ห้องทดสอบเอกชนระดับมาตรฐาน ISO 17025 กรณีสินค้าที่ยังไม่มีมาตรฐานกำกับจะทดสอบโดยใช้มาตรฐานของต่างประเทศที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น กรณีการทดสอบเครื่องฟอกอากาศ การทดสอบเปรียบเทียบมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดมาตรฐานอุตสาหกรรมของไทยที่จะเข้าไปกำกับมาตรฐานของเครื่องฟอกอากาศในอนาคต เป็นต้น"        ทั้งนี้ พลังของผู้บริโภคในการสนับสนุนการต่อสู้คดีในครั้งนี้ ซึ่งเป็น “ครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี” ที่ผลการทดสอบและการเปิดเผยข้อมูลของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถูกฟ้องคดีโดยบริษัทผู้ผลิตหลังจากเปิดเผยชื่อผู้ผลิตและยี่ห้อของสินค้าจากการทดสอบ” จึงมีความสำคัญต่อการยืนหยัดทำหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ความล้มเหลวของการกระจายหน้ากากอนามัย

        คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มี รมต. พาณิชย์เป็นประธาน ประกาศห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยเกินกว่า 500 ชิ้น โดย มีมติเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ประกาศจริงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563        ตามมาตรา 24 ของ พ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการ 2542 ระบุไว้ว่า ประกาศ กกร. มีผลเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ความล่าช้าที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาที่ถูกตั้งคำถามว่า ล่าช้าหรือขัดข้องจากเหตุใด หรือเป็นความบกพร่อง ความอ่อนหัดในการบริหารราชการ หรือเอื้อประโยชน์ให้กับใครหรือไม่        โฆษกกรมศุลกากร ให้ข่าวว่าเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ มีการส่งออกมากถึง 330 ตัน และมีการนำเข้า 145 ตัน หลังแถลงข่าวมีการแก้ข่าวทันทีในวันนั้นว่า อ้างว่า เป็นหน้ากากอนามัยหลายประเภท พร้อมทั้งวันรุ่งขึ้นอดีตอธิบดีกรมการค้าภายใน ไปดำเนินการฟ้องคดีกับโฆษกกรมศุลกากร         จนบัดนี้ยังไม่ทราบชัดเจนว่า ประเทศไทยมีกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยเท่าใด เพราะตัวเลขที่แต่ละท่านให้ข้อมูลไม่ตรงกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พูดถึงตัวเลข 100 ล้านชิ้นต่อเดือน เมื่อ 30 มกราคม 2563 อดีตอธิบดีกรมการค้าภายในจำนวน 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน หรือ 36 ล้านชิ้นต่อเดือน  ขณะที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า 2.3 ล้านชิ้นต่อวัน หรือประมาณ 70 ล้านชิ้นต่อเดือน เมื่อ 9 มีนาคม และ 30 มีนาคม ตามลำดับ         การกระจายจำนวน 1.2 ล้านชิ้น จัดสรรให้องค์การเภสัชกรรม ส่งต่อให้โรงพยาบาล 7 แสนชิ้นต่อวัน และจัดการโดยร้านธงฟ้า 5 แสนชิ้นต่อวัน เพื่อแจกจ่ายผ่านร้านค้า ร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ และปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้แถลงยกเลิกการดำเนินการโดยธงฟ้า วันที่ 20 มีนาคม 2563 จนบัดนี้ประชาชนยังไม่ทราบว่ากระจายหน้ากากอนามัยอย่างไร โรงพยาบาลจำนวนมากยังขอรับบริจาคหน้ากากอนามัย ทั้งที่ถูกสั่งห้ามให้ข่าว หน้ากากอนามัยออนไลน์ยังราคาแพง แถมบางครั้งยังมีโกงซื้อแล้วไม่ได้ของไม่คืนเงิน         สถิติการจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำความผิดกรณีหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และแอลกอฮอล์ ในภาพรวม มีการจับกุมดำเนินคดีไปแล้วทั้งสิ้น 241 ราย แบ่งเป็นการจับกุมในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 120 ราย และในต่างจังหวัด 121 ราย แต่จากการสำรวจของคนซื้อ ยังพบราคาแพง ทุกคนต่างกว้านซื้อเพื่อบริจาค ทำให้กระบวนการกักตุน ราคาแพงไม่หมดไป ทั้งที่บทลงโทษมีไม่น้อยเลย หากพบว่ามีการกักตุนสินค้าและฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรมจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ที่สำคัญหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ กลายเป็นสินค้าขาดแคลน จำหน่ายราคาแพงโดยไม่สามารถป้องกันหรือแก้ปัญหาได้จริงหรือ??         สิ่งที่ประชาชนอยากเห็น คือความโปร่งใส ประชาชนตรวจสอบข้อมูลได้ ประเทศมีกำลังการผลิตเท่าใด กระจายให้หน่วยบริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลเป็นลำดับแรก เหลือแจกจ่ายประชาชน โดยสามารถนำบัตรประชาชนรับได้จากร้านขายยา หรือร้านสะดวกซื้อ ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญที่รัฐมีหน้าที่ในการป้องกันโรคโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ยุติการจำหน่ายในออนไลน์และทุกช่องทาง ไม่ใช่ปล่อยให้ทุนใหญ่ทุนเล็กทำมาหากินกับสินค้าเหล่านี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 ผลทดสอบเจลแอลกอฮอล์

        สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ในขณะนี้ นอกจากหน้ากากอนามัยแล้ว เจลแอลกอฮอล์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือแบบอื่นๆ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้ทำความสะอาดมือเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ซึ่งเป็นที่ต้องการของประชาชนเป็นอย่างมากจนทำให้เกิดภาวะขาดแคลนสินค้าและมีสินค้าไม่ได้มาตรฐานออกมาวางจำหน่าย         ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังสินค้าและคุ้มครองผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงดำเนินการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือจำนวน 39 ตัวอย่าง แบ่งเป็นสองกลุ่มตัวอย่าง คือผลิตภัณฑ์จากร้านค้าทั่วไป ร้านขายยา ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก จำนวน 25 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์จากร้านค้าออนไลน์ จำนวน 14 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10 มีนาคม – 17 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อตรวจหาปริมาณร้อยละของแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ และตรวจหาการปนเปื้อนของเมธิลแอลกฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค สรุปผลทดสอบผลทดสอบ พบว่า-   จำนวน 26 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอลต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ไม่ผ่านเกณฑ์ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563  แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ(1) จำนวน 14  ตัวอย่าง คือมีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ทั้งนี้ทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ระบุวันผลิตตั้งแต่ประกาศฯ มีผลบังคับ คือ 10 มีนาคม 2563(2) จำนวน 8 ตัวอย่าง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตก่อนวันที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ฯ มีผลบังคับ(3) จำนวน 4 ตัวอย่าง ไม่ระบุวันผลิต ได้แก่ยี่ห้อ เมดเดอร์ลีน, Sweet Summer, BFF บีเอฟเอฟ และ TOUCH        -  จำนวน 13 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ทั้งนี้แบ่งเป็น(1) ผลิตภัณฑ์ที่มีวันผลิตก่อนวันที่ 10 มีนาคม 2563 จำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่ Skin Heaven Hand Safe, Anti-A gel (2 ตัวอย่าง) ,ไลฟ์บอย แฮนด์ ซานิไทเซอร       (2) ผลิตหลังวันที่ 10 มีนาคม 2563 จำนวน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ Ver.88, WE Cleanser, ก๊กเลี้ยง, โพรเทค และ CAVIER       (3) ไม่ระบุวันผลิต 4 ตัวอย่าง ได้แก่ยี่ห้อ  CCP LAB BLUE, D GEL , ETC อาย-ตา-นิค และพันตรา     -   พบผลิตภัณฑ์ 4 ตัวอย่าง ไม่มีเลขจดแจ้ง แบ่งเป็น 3 ตัวอย่าง (2 ยี่ห้อ) ไม่แสดงเลขจดแจ้ง ได้แก่ Anti-A gel, Top Clean Hand Sanitizer และมี 1 ตัวอย่างแสดงเลข อย.ซ้ำกับผลิตภัณฑ์ตัวอื่น ได้แก่ ยี่ห้อ L Care     -  พบ 1 ตัวอย่าง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ ANANTA Spray(อนันตา สเปรย์) ใช้เมธานอลเป็นส่วนผสมในการผลิต   ฉลาดซื้อแนะการใช้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือที่ถูกต้อง1.ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เข้มข้น 70% ขึ้นไป (ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน) ทำไมต้อง 70% ถ้าใช้สัดส่วนที่ต่ำกว่านั้น ไม่สามารถกำจัดเชื้อโรค COVID-19 ได้2.ลูบให้ทั่วฝ่ามือและนิ้วมือ ทิ้งไว้ 20-30 วินาที จนแอลกอฮอล์แห้ง หากใช้แล้วไม่รอให้แห้งไปหยิบจับสิ่งต่างๆ ก็จะทำให้ประสิทธิภาพลดน้อยลง3.ควรใช้เจลแอลกอฮอล์เฉพาะมือเท่านั้น ห้ามสัมผัสหรือเช็ดล้างบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น ใบหน้าและดวงตาโดยเด็ดขาด4.ผลิตภัณฑ์ชนิดที่มีส่วนผสมอื่นนอกจากตัวแอลกอฮอล์จะช่วยทำให้ตัวแอลกอฮอล์ระเหยได้ช้าลง สัมผัสกับผิวได้นานขึ้น ช่วยลดการระคายเคืองของแอลกอฮอล์และคงความชุ่มชื้นต่อผิว5.ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ ทำให้ต้องระมัดระวังการเก็บหรือการใช้ อย่าวางเจลใกล้ความร้อนหรือเปลวไฟ เพราะแอลกอฮอล์ติดไฟได้ง่าย อาจเกิดอุบัติเหตุทำให้บาดเจ็บได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ เผยผลสุ่มตรวจ ‘ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ’ ร้อยละ 67 ไม่ผ่านมาตรฐานประกาศ สธ. พบ 1 ยี่ห้อ ใช้เมธิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม

        ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เผยผลตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ ร้อยละ 67 ไม่ได้มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พบ 1 ยี่ห้อ มีส่วนประกอบของเมธานอล (Methanol) ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดห้ามใช้ในเครื่องสำอางเพราะมีพิษสูง ย้ำผู้ผลิต นำเข้า เครื่องสำอางไม่ปลอดภัย โทษปรับสูงสุดถึง 500,000 บาทส่วนผู้ขายมีโทษปรับสูงสุดถึง 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ        วันนี้ (5 มิถุนายน 2563) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ จำนวน 39 ตัวอย่าง สุ่มเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ระหว่างวันที่ 10 มีนาคม ถึง 17 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา แบ่งเป็นสองกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากร้านค้าทั่วไป ร้านขายยา ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก จำนวน 25 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์จากร้านค้าออนไลน์ จำนวน 14 ตัวอย่าง          สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ เปิดเผยว่า ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ และ นำส่งตรวจวิเคราะห์ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ว่าได้มาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563 หรือไม่ ซึ่งประกาศฯ ดังกล่าว ได้กำหนดให้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความสะอาดมือโดยไม่ใช้น้ำ ที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร เป็นเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย         “ผลทดสอบ พบว่า มีผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่ผ่านมาตรฐาน ซึ่งมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จำนวน 13 ตัวอย่าง (ประมาณร้อยละ 33) และไม่ผ่านมาตรฐาน 26 ตัวอย่าง (ประมาณร้อยละ 67) นอกจากนี้ยังพบ 1 ตัวอย่าง มีส่วนผสมของเมธานอล (Methanol) หรือ เมธิลแอลกอฮอล์ (Methyl Alcohol) ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดห้ามใช้ในการผลิตเครื่องสำอางอีกด้วย” บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าว         ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ จำนวน 26 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ไม่ผ่านเกณฑ์ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563 แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ        (1) จำนวน 14 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ทั้งนี้ทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ระบุวันผลิตตั้งแต่ประกาศฯ มีผลบังคับ คือ 10 มีนาคม 2563         (2) จำนวน 8 ตัวอย่าง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตก่อนวันที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ฯ มีผลบังคับ        (3) จำนวน 4 ตัวอย่าง ไม่ระบุวันผลิต ได้แก่ ยี่ห้อ เมดเดอร์ลีน, Sweet Summer, BFF บีเอฟเอฟ และ TOUCH                   ส่วนอีก จำนวน 13 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร หรือมีปริมาณแอลกฮอล์มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 70 ทั้งนี้แบ่งเป็น        (1) ผลิตภัณฑ์ที่มีวันผลิตก่อนวันที่ 10 มีนาคม 2563 จำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่ Skin Heaven Hand Safe, Anti-A gel (2 ตัวอย่าง), ไลฟ์บอย แฮนด์ ซานิไทเซอร์        (2) ผลิตหลังวันที่ 10 มีนาคม 2563 จำนวน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ Ver.88, WE Cleanser, ก๊กเลี้ยง, โพรเทค และ CAVIER         (3) ไม่ระบุวันผลิต 4 ตัวอย่าง ได้แก่ยี่ห้อ CCP LAB BLUE, D GEL , ETC อาย-ตา-นิค และพันตรา         อย่างไรก็ตาม จากทั้งการสุ่มตรวจทั้ง 39 ตัวอย่าง พบผลิตภัณฑ์ 4 ตัวอย่าง ไม่มีเลขจดแจ้ง แบ่งเป็น 3 ตัวอย่าง (2 ยี่ห้อ) ไม่แสดงเลขจดแจ้ง ได้แก่ Anti-A gel (ยี่ห้อเดียวกัน แต่มี 2 ตัวอย่าง), Top Clean Hand Sanitizer และ ยี่ห้อ L Care (มีการแสดงเลข อย. ซ้ำกับผลิตภัณฑ์ตัวอื่น) นอกจากนี้ ยังพบอีก 1 ตัวอย่าง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ ANANTA Spray (อนันตา สเปรย์) ที่มีการใช้เมธานอลเป็นส่วนผสมในการผลิต           ด้าน รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในการทดสอบเพื่อหาปริมาณแอลกอฮอล์และชนิดของแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ที่ทางแลปใช้เป็นการนำเทคนิค Gas Chromatography มาวิเคราะห์ตัวอย่าง ซึ่งเป็นเทคนิคหลักในอุตสาหกรรมยาที่ใช้ในการตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ โดยวิธีวิเคราะห์นี้ถูกพัฒนาและตรวจสอบความถูกต้องให้สามารถตอบโจทย์การทดสอบในผลิตภัณฑ์เพื่อทำความสะอาดมือดังกล่าวได้         “อย่างไรก็ตามในมุมมองผม ผลดังกล่าวคงไม่ใช่การตีตราได้ 100 เปอร์เซนต์ ว่าบริษัทใดดีหรือไม่ดีเนื่องจากมีข้อสังเกตจากการทดสอบหลายประการ เช่น เรื่องคุณภาพการผลิต ซึ่งพบว่า ยังไม่มีการควบคุมให้ได้มาตรฐาน และจากรายละเอียดข้อมูลที่แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือทั้ง 39 ตัวอย่าง พบว่า บางบริษัทรับผลิตสินค้าให้กับผู้ประกอบการหลายยี่ห้อ แต่จากผลการทดสอบบางยี่ห้อผ่านเกณฑ์ บางยี่ห้อไม่ผ่านเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ ทั้งที่ผลิตโดยบริษัทเดียวกัน หรือ บางยี่ห้อระบุว่ามีแอลกอฮอลล์ร้อยละ 75 แต่วิเคราะห์ผลได้เพียงร้อยละ 70 ซึ่งถึงแม้จะผ่านตามประกาศกระทรวงฯ แต่ถือว่ามีปัญหาด้านคุณภาพในการผลิต” รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ กล่าวและว่า ในประเด็นการปลอมแปลงฉลากผู้ผลิตก็เป็นอีกปัจจัยที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน แต่ที่แน่นอน คือ ผลที่ออกมาสะท้อนอย่างชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่มีในท้องตลาดมีปัญหาและต้องมีการแก้ไขปัญหาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยด่วน         ส่วน ผศ.ดร.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และรองผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 เจลแอลกอฮอล์หรือผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เช่น เจล โลชั่น ครีม โฟม สเปรย์ สารละลาย หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ (Alcohol-Bases Hand Sanitizer) ถูกจัดอยู่ในหมวด “เครื่องมือแพทย์” ที่ต้องแจ้งรายละเอียด และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบคุมตามกฎหมายเครื่องมือแพทย์ โดยส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นี้ ได้แก่ เอธิลแอลกอฮอล์/เอธานอล, ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์/ไอโซโพรพานอล หรือเอ็น - โพรพิวแอลกอฮอล์/เอ็น - โพรพานอล และมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า “ส่วนประกอบเหล่านี้ต้องรวมกันตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไปโดยปริมาตร” ซึ่งอาจมีสารอื่นๆ ประกอบด้วยได้ เช่น สารแต่งกลิ่น สารกันเสีย         เมื่อเกิดปัญหาโรคโควิด 19 ระบาด คณะกรรมการเครื่องมือแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติยกเลิก ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ พ.ศ.2562 เพื่อปรับให้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือเป็นสินค้าในกลุ่ม “เครื่องสำอางหรือหมวดเครื่องสำอาง” ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563 เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดที่อาจทำให้เกิดสินค้าขาดแคลนได้ โดยมีสาระสำคัญ คือ         เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่มีส่วนประกอบเพียงอย่างเดียวหรือผสมรวมกันน้อยกว่าร้อยละ 70  โดยปริมาตร ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย” และ “หากมีการตรวจพบผู้ผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ผู้ผลิตหรือนำเข้า จะมีโทษ จำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท ขณะที่ผู้จำหน่าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท          มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา “ตาม มาตรา 60 ของ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ได้กำหนดโทษสำหรับ ผู้ที่ผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือรับจ้างผลิตเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศฯ  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ขายนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         หรือในกรณีเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งมีวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ผู้ที่ผลิต นำเข้า เพื่อขาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ขาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         “ผู้บริโภคสามารถใช้ข้อมูลผลทดสอบของนิตยสารฉลาดซื้อ ในการตัดสินใจเลือกซื้อเจลแอลกอฮอล์ได้ โดยเจลแอลกอฮอล์ที่ดีนั้น นอกจากต้องมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตรแล้ว ยังไม่ควรแห้งเร็วจนเกินไป เพื่อให้แอลกอฮอล์ได้มีเวลาฆ่าเชื้อไวรัสที่อาจเกาะอยู่ตามผิวหนังก่อนที่จะระเหย  นอกจากนี้ อย. ควรต้องเร่งแก้ปัญหาคุณภาพผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการยกระดับมาตรฐานโรงงานผลิต เพราะความเสียหาย คือ การมีผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ที่แพร่หลาย แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่สามารถมีผลในการลดเชื้อได้จริง” ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าว         ขณะที่ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กล่าวเสริมว่า อยากฝากข้อเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการ ดังนี้        1. ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานแอลกอฮอล์ ในผู้ประกอบการที่ผลิต นำเข้า หรือขาย ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่ไม่เป็นไปตามประกาศฯ ให้เป็นไปตามประกาศฯ        2.มีการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ ในสถานประกอบการที่ผลิตและนำเข้า หรือขายเหล่านี้ให้มากขึ้น ก่อนการอนุมัติ เพื่อป้องกันมิให้มีผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพเข้าสู่ท้องตลาดและส่งผลเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขในวงกว้าง        และ 3.ดำเนินการกับบริษัทที่ใช้เมทานอลอย่างจริงจัง และฝากไปถึงบริษัทด้วย ขออย่าใช้เทคนิค การถูกเจ้าอื่นแอบผลิตหรือใช้เลขที่ใบจดแจ้ง หรืออ้างว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่ใช่ของตนเอง         รายละเอียดผลทดสอบอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3402

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 มันมาแล้วกับโควิด 19

        สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดในหลายประเทศ ก่อให้เกิดความตระหนกและตื่นตัว ผู้บริโภคต่างแสวงหาวิธีการ หรืออุปกรณ์ต่างๆ มาป้องกันตนเองและครอบครัว หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ น้ำยาทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อโรค ขาดแคลนเป็นระลอกๆ        เมื่อเข้าตาจน ผู้บริโภคหลายรายที่อ่อนไหวต่อสถานการณ์นี้ จึงแสวงหาทางเลือกอื่นๆ เพื่อนำมาใช้ป้องกันตัว เช่น มีการนำน้ำยาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่ใช้ล้างแผลมาใช้ล้างมือแทนแอลกอฮอล์ หรือนำสุราขาวมาใช้แทนแอลกอฮอล์ล้างแผล ซึ่งความจริงแล้วแอลกอฮอล์ที่ใช้ฆ่าเชื้อได้ดีที่สุดต้องมีความเข้มข้น 70% หากน้อยกว่าหรือมากกว่านี้ประสิทธิภาพจะลดลง        นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ผลิตบางรายถือโอกาสนำผลิตภัณฑ์แปลกๆ มาขายผู้บริโภค จนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกมาเตือนผู้บริโภคไม่ให้หลงเชื่อแผ่นป้ายหรืออุปกรณ์ห้อยคอต่างๆ (เช่น ปากกา พัดลม) ที่จำหน่ายในสื่อออนไลน์ โดยอวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถปล่อยสารบางอย่างออกมา เพื่อช่วยกรองอากาศ ป้องกันและยับยั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียในอากาศได้ สามารถใช้แทนหน้ากากอนามัยได้ ซึ่งความจริงผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าสามารถฆ่าเชื้อในอากาศได้นั้น จะจัดเป็นวัตถุอันตรายที่ใช้ตามบ้านเรือน ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 จะต้องมาขอขึ้นทะเบียนและขออนุญาตนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายในประเทศกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน และต้องผ่านการประเมินด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยก่อนด้วย จึงจะสามารถจำหน่ายได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผลิตภัณฑ์เหล่านี้ชนิดใด มาขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเล         หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีการเผยแพร่ทางออนไลน์อีก เป็นการเผยแพร่บทสวดมนต์อ้างว่า ปัดเป่าขับไล่ไวรัสได้ ในจังหวัดสมุทรสงครามเอง ก็มีผู้บริโภคมาเล่าให้ฟังว่า มีคนนำเหรียญหรือยันต์มาชักชวนให้ตนซื้อ เพื่อใช้ป้องกันโรคได้เช่นกัน          ดังนั้นขอย้ำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไวรัสและเชื้อโรคต่างๆ คือ         1. กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ : รับประทานอาหารปรุงร้อนจนสุก ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกัน         2. ใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเอง เมื่อต้องไปอยู่ในที่ชุมชน หรือที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก มีผู้คนหนาแน่น         3. ดูแลร่างกายให้แข็งแรง เพื่อให้มีภูมิต้านทานโรค         วัตถุประหลาดใดๆ ไม่อาจช่วยให้รอดจากไวรัสได้ อย่าไปหลงเชื่อโดยเด็ดขาด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 น้ำยาทำความสะอาดมือ

        น้ำยาทำความสะอาดมือ(Hand Anticeptic) เป็นสารที่ใช้เพิ่มเติมเป็นทางเลือกของการทำความความสะอาดมือ โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่มีน้ำ ปัจจุบันมีทั้งรูปแบบเจล โฟมและสารละลายเหลว เมื่อฉบับที่แล้วฉลาดซื้อได้สุ่มสำรวจผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือไป ฉบับนี้จึงขอต่อเนื่องมาที่ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ แบบที่ไม่ต้องพึ่งพาน้ำกันบ้าง ซึ่งได้รับความนิยมมากพอสมควรมีหลายผลิตภัณฑ์ให้เลือกซื้อหา ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่พบมีสารออกฤทธิ์สำคัญคือ เอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้ดี เหมาะสำหรับการฆ่าเชื้อบนผิวหนัง นอกจากนั้นก็จะมีการผสมสารประเภทที่ให้ความชุ่มชื้น ครีมบำรุงและสารประเภทน้ำหอมเพิ่มเติม ซึ่งไม่มีประโยชน์ในงานทำความสะอาดแต่ช่วยเพิ่มความน่าสนใจ โดยลดความกังวลเรื่องที่มืออาจแห้งกร้านเนื่องจากการสัมผัสแอลกอฮอล์            จากการสุ่มตัวอย่างพบผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือแบบไม่ใช่น้ำ จำนวน 11 ผลิตภัณฑ์ มีส่วนผสมหลักดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่มีอยู่สองตัวที่มีส่วนผสมของ ไตรโคลซาน ซึ่งฉลาดซื้อเคยนำเสนอไปว่า เป็นสารที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสารที่มีอันตรายสูง ทำให้มีปัญหากับระบบนิเวศดังนั้นควรหลีกเลี่ยง         น้ำยาทำความสะอาดมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ที่ดีควรเป็นอย่างไร            1.ควรมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ระหว่าง 60-85 % เพื่อให้เพียงพอสำหรับการฆ่าเชื้อ            2.มีฉลากระบุวันผลิตและวันสิ้นอายุที่ชัดเจน(ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุ)  รวมทั้งคำเตือนที่จำเป็น เช่น ห้ามใช้หรือวางใกล้เปลวไฟ            3.มีเลขจดแจ้งที่ชัดเจน น้ำยาทำความสะอาดมือจัดเป็นเครื่องสำอาง ดังนั้นต้องมีเลขที่จดแจ้งตามกฎหมายเครื่องสำอาง  ความสะอาดมือบ่อยๆ        การล้างมือเป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันการติดเชื้อที่ดี โดยทั่วไปหากมือสกปรกควรล้างด้วยน้ำและสบู่ เพื่อชะล้างคราบสกปรกออกไป แต่หากเป็นกรณีที่มือไม่มีคราบสกปรกแต่อาจสัมผัสกับจุดเสี่ยง เช่น การสัมผัสกับสิ่งของสาธารณะ สัตว์เลี้ยง การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือแบบไม่ต้องใช้น้ำ ก็ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้ วิธีการใช้ผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่ถูกต้อง         เจลล้างมือควรใช้ในปริมาณ 3-5 ซีซี หรือปริมาณเท่าขนาดเล็บหัวแม่มือของผู้ใช้ ถูให้ทั่วฝ่ามือและซอกเล็บ ถูจนเจลระเหยหมดภายในครึ่งนาที (หากเจลระเหยอย่างรวดเร็วก่อน 15 วินาที อาจหมายถึงใช้เจลในปริมาณน้อยไป ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการกำจัดเชื้อโรค) ระวัง!เจลล้างมือติดไฟได้ หากถูกสะเก็ดไฟ         เจลล้างมือมีส่วนผสมสำคัญคือแอลกอฮอล์ ที่นอกจากมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค และยังสามารถติดไฟได้ง่าย ดังนั้นเจลล้างมือจึงติดไฟได้ง่ายเช่นกัน โดยเฉพาะในผู้สูบบุหรี่ ผู้ที่ใช้เจลล้างมือหลังชโลมเปียกทั่วมือแล้วจึงควรรอให้แห้งก่อน ซึ่งใช้เวลาประมาณครึ่งนาที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 เล็บสีเจล สวยให้ปลอดภัย

ผู้หญิงส่วนใหญ่มักต้องการให้เล็บมือและเล็บเท้าสวยงามอยู่เสมอ ซึ่งหนึ่งในวิธีการยอดฮิตเพื่อตกแต่งเล็บให้สวยงามก็หนีไม่พ้นการทาเล็บสีเจล เพราะนอกจากจะทำให้เล็บมีสีสันสวยงามแวววาวกว่าการทาเล็บแบบธรรมดาแล้ว ยังทำให้เล็บสวยนานอยู่ทนทานเป็นเดือนได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามการทำเล็บด้วยวิธีดังกล่าวจะมีข้อดีมากหรือน้อยกว่าข้อเสียอย่างไร เราลองไปดูกันมารู้จักเล็บสีเจลกันสักนิดการทาเล็บสีเจล เริ่มเป็นที่นิยมในบ้านเราเมื่อประมาณ 3 - 4 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการใช้ยาทาเล็บชนิดเจล (Gel nail polish) มาทาลงบนเล็บจริง หรือเล็บที่ต่ออะคริลิคแล้ว โดยยาทาเล็บชนิดนี้มีจุดเด่นตรงที่ติดทนนาน หรืออยู่ได้ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับวิธีการรักษาของแต่ละคน และมีสีสันสดใสสวยงามกว่ายาทาเล็บทั่วไป อย่างไรก็ตามหากต้องการล้างออก ต้องใช้ยาล้างเล็บสำหรับเล็บเจลโดยเฉพาะ และไม่สามารถปล่อยให้แห้งเองได้ ต้องใช้เครื่องอบเล็บเท่านั้น นอกจากนี้วิธีการทาเล็บเจลยังต่างจากการทาเล็บธรรมดา เพราะต้องตะไบหน้าเล็บก่อนลงสี เพื่อช่วยให้สีเกาะหน้าเล็บผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อทาเล็บเจลแม้ยาทาเล็บเจลจะสามารถทำให้สีติดทนนานและสวยงามกว่าปกติ จนเป็นที่นิยมในหมู่สาวๆ อย่างรวดเร็ว แต่ยังมีข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้- หน้าเล็บเสียโฉม เพราะทุกครั้งที่ทาและล้างเล็บเจล ต้องมีการตะไบหน้าเล็บออกเสมอ ซึ่งหากเราทำประจำสามารถส่งผลให้หน้าเล็บพัง หรือมีลักษณะเป็นรอยขูดได้ โดยต้องใช้เวลาดูแลประมาณ 2 – 3 เดือนเพื่อทำให้หน้าเล็บกลับมาปกติเหมือนเดิม นอกจากนี้บางคนอาจเกิดอาการเล็บอ่อนแอ เปราะหักง่าย หรืออักเสบ เพราะถูกตะไบหน้าเล็บออกมากเกินไป- เกิดความผิดปกติที่เล็บ หากอุปกรณ์ที่ใช้สะอาดไม่เพียงพอ สามารถส่งผลให้เชื้อโรคเข้าสู่เล็บหรือเกิดเชื้อราที่เล็บได้ ซึ่งจะทำให้เล็บผิดปกติ เช่น เล็บเป็นขุย เปลี่ยนสี โค้งงอบิดเบี้ยว หรือแตกเปราะ- เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจและดวงตา ตามข้อมูลจากสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ระบุว่าสารเคมีฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในยาทาเล็บ สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ในกลุ่มผู้ที่ไวต่อสารเคมีได้ โดยหากสัมผัสกับผิวหนังจะปรากฏเป็นผดผื่นและมีอาการคัน หรือหากสูดดมเข้าไปเป็นประจำ สามารถสร้างความระคายเคืองในลำคอ หรือก่อให้เกิดโรคมะเร็งในระบบทางเดินหายใจได้- มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง เพราะเล็บสีเจลต้องถูกทำให้แห้งด้วยเครื่องอบเล็บเจล เนื่องจากไม่สามารถแห้งได้ด้วยแรงลมธรรมดา ซึ่งต้องอบหลายครั้งเพื่อช่วยให้สีแห้งสนิท ดังนั้นผู้ที่ใช้บริการเป็นประจำอาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังได้ เพราะเครื่องอบเล็บเจลใช้ความร้อนจากจากหลอดยูวี (UV) และหลอดแอลอีดี (LED) แต่สามารถป้องกันได้เบื้องต้นด้วยการทาครีมกันแดดที่มือ- ราคาค่อนข้างสูง โดยปัจจุบันพบว่าอัตราค่าบริการ เริ่มตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพันบาท ขึ้นอยู่กับลายที่เลือก ร้านหรือยี่ห้อของน้ำยาเราสามารถเลือกวิธีทำเล็บให้สวยสมใจและปลอดภัยได้ดังนี้- ล้างเล็บอย่างถูกวิธี เพื่อช่วยป้องกันหน้าเล็บเสียโฉม ซึ่งเราควรเลือกทำเล็บกับช่างผู้ชำนาญ- เว้นช่วงการทำเล็บบ้าง เพื่อให้เล็บเกิดการซ่อมแซมตัวเอง ‪ซึ่งหากพบว่าหน้าเล็บบาง ถลอก หรืออักเสบ ควรดูแลจนกว่าจะหายแล้วค่อยทำใหม่ ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน แต่หากพบว่าเล็บไม่มีปัญหาอะไรก็สามารถเว้นระยะ 1-3 เดือนแล้วค่อยทำอีกครั้งก็ได้ ‬‬‬- บำรุงเล็บและมือเสมอ ด้วยการทาครีมกันแดดก่อนเข้าเครื่องอบเล็บเจล และทาครีมบำรุงมือและเล็บเป็นประจำ นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อเล็บ เช่น อาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารประเภทโปรตีนอย่าง ถั่ว ปลา เต้าหู้ หรืออาหารที่มีวิตามิน A C และ E สูง เช่น กล้วย แคนตาลูป ผักใบเขียว พืชตระกูลถั่ว มะม่วง มะละกอ พริกไทย ฟักทอง มะเขือเทศและเมล็ดธัญพืช หรืออาหารที่มีแร่ธาตุสังกะสี เช่น อาหารทะเล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนมิถุนายน 2559“เนื้อปลาดิบ” ปลอดภัยไม่มีสีเกิดกระแสฮือฮาเป็นข้อถกเถียงกันในโซเชียลมีเดีย  เรื่องของ “เนื้อปลาดิบย้อมสี” ที่มีนักวิชาการมาให้ข้อมูลออกเป็น 2 ฝั่ง โดยฝั่งแรกคือรองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เล่าว่าได้ไปรับประทานอาหารญี่ปุ่นร้านดังแห่งหนึ่ง แล้วสังเกตว่าปลาโอและปลาแซลมอนในร้าน มีสีแดงสดผิดปกติ จึงได้เก็บตัวอย่างมาตรวจสอบ พบว่าเมื่อนำปลาดิบไปแช่น้ำทิ้งไว้ไม่กี่นาทีเกิดมีสีละลายออกมาจากเนื้อปลาชัดเจน ซึ่งข้อความดังกล่าวที่ถูกโฟสในเฟซบุ๊คสร้างความวิตกและสงสัยกับผู้คนที่ได้รับข้อมูลเป็นอย่างมาก ว่ามีการย้อมสีในเนื้อปลาจริงหรือมั้ย และเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือเปล่าอีกด้านคือ อาจารย์ เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว อธิบายถึงสีที่ละลายออกมาจากเนื้อปลาว่า ไม่น่าจะเป็นการย้อมสี แต่เป็นสารโปรตีนธรรมชาติที่อยู่ในเนื้อปลา หรือที่เรียกว่า มายโอโกลบิน (myoglobin)ประเด็นปลาดิบย้อมสีเป็นที่สนใจในวงกว้าง เพราะทำให้คนที่ชอบกินปลาดิบรู้สึกกังวลถึงเรื่องความปลอดภัย อย.ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องอาหารปลอดภัย จึงได้ออกมาทำหน้าที่ โดยได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลาดิบจากร้านอาหาร 6 แห่ง เพื่อตรวจหาสีสังเคราะห์ ซึ่งผลที่ได้คือ ไม่พบสีสังเคราะห์ในปลาดิบทั้ง 6 ตัวอย่างที่นำมาวิเคราะห์ ซึ่งจากผลวิเคราะห์ที่ได้ น่าจะช่วยให้ผู้บริโภครู้สึกอุ่นใจได้มากขึ้น   บังคับ “สีทาบ้าน” เป็นสินค้าควบคุมฉลาก ลดการใช้สารตะกั่วคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศบังคับให้สีทาบ้าน ทั้งใช้ทาภายในและภายนอก ที่มีส่วนผสมของสารตะกั่ว เป็นสินค้าควบคุมฉลาก คือต้องแสดงปริมาณของสารตะกั่วที่ผสมอยู่ในสีโดยระบุหน่วยเป็น ส่วนในล้านส่วน (พีพีเอ็ม) และหากมีปริมาณสารตะกั่วมากกว่า 100 ส่วนในล้านส่วน ต้องมีการระบุคำเตือนว่า “สารตะกั่วอาจเป็นอันตรายต่อสมองและเม็ดเลือดแดง ห้ามใช้ทาบ้านและอาคาร” ซึ่งรายละเอียดปริมาณสารตะกั่วและคำเตือนต้องใช้ตัวอักษรหนาสีแดง ขนาดไม่ต่ำกว่า 5 มิลลิเมตร บนพื้นสีขาว โดยต้องแสดงไว้ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน สารตะกั่ว เป็นโลหะหนักที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเกิดการสะสม เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ ทำให้เกิดโรคโลหิตจาง มีผลต่อการทำงานของไต และส่งผลต่อการพัฒนาของสติปัญญา ซึ่งถ้าสีที่มีส่วนผสมของสารตะกั่วถูกนำไปใช้ในสถานรับเลี้ยงเด็กหรือศูนย์เด็กเล็กต่างๆ อาจส่งผลให้เด็กได้รับสารตะกั่วส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการช้า หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นทำให้เด็กป่วยด้วยโรคปัญญาอ่อน   อาหารเสริม-กาแฟลดอ้วน เจอสารอันตรายเพียบ!!!ใครที่ยังหลงเชื่อหลงซื้อบรรดาอาหารเสริม-กาแฟลดความอ้วนอยู่อีกละก็ อ่านข่าวนี้แล้วน่าจะต้องคิดใหม่ ถ้าหยุดซื้อได้ก็ควรหยุด เพราะล่าสุดสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทย์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เปิดเผยผลตัวอย่างอาหารและเครื่องดื่มที่อาจจะมีการนำยาแผนปัจจุบันมาผสม ตลอดช่วงปี 2556-2558 จำนวนทั้งหมด 1,160 ตัวอย่าง พบว่ามีมากกว่า 50% ที่พบการปนเปื้อนของสารอันตรายต้องห้ามอย่าง ไซบูทรามีน สเตอรอยด์ หรือแม้แต่ยาเบนโซไดอะซีปีนส์ ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ซึ่งเป็นยาควบคุม ต้องมีแพทย์เป็นคนจ่ายยาเท่านั้นโดยตัวอย่างที่วิเคราะห์ทั้งหมด 1,160 ตัวอย่าง แบ่งเป็น 1.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 690 ตัวอย่าง ตรวจพบไซบูทรามีน ร้อยละ 20, กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ร้อยละ 43.4, กลุ่มยาสเตียรอยด์ ร้อยละ 3.9 และ กลุ่มยาระบาย ร้อยละ 0.52.กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง 391 ตัวอย่าง ตรวจพบไซบูทรามีน ร้อยละ 14.5 กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ร้อยละ 26.2 กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีนส์ ร้อยละ 0.63.เครื่องดื่ม 49 ตัวอย่าง ตรวจพบกลุ่มยาสเตียรอยด์ร้อยละ 21.4และ 4.อาหารอื่นๆ 30 ตัวอย่าง การที่ผลิตภัณฑ์อาหารนำยาแผนปัจจุบันซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาที่มีการควบคุมการใช้โดยแพทย์หรือเภสัชกรมาใช้เป็นส่วนผสม เมื่อผู้บริโภคหลงกินผลิตภัณฑ์อาหารเสริมดังกล่าวเข้าไป อาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพซึ่งรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้จากการแพ้ตัวยาดังกล่าว หรือได้รับตัวยาในปริมาณที่มากเกินไปจนเกิดผลข้างเคียง อาหารที่มีการผสมยาแผนปัจจุบันจัดว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ผู้ผลิตและผู้ขายมีความผิดตามกฎหมาย   กุ้งไทยปลอดภัยไม่ฉีดสารเจลาตินสร้างความตื่นตกใจให้กับคนที่ชอบรับประทานกุ้งเป็นอย่างมาก หลังจากที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่ไม่แน่ชัดถึงที่มาที่ไปแต่คาดว่าจะมาจากต่างประเทศ โดยในคลิปเป็นภาพที่ของคนงานในโรงงานคัดแยกกุ้งกำลังฉีดสารบางอย่างเข้าไปในตัวกุ้ง ตามข่าวรายงานว่าเป็นสารหนืดเพื่อช่วยเพิ่มน้ำหนักให้ตัวกุ้งคลิปดังกล่าวสร้างความกังวลและสงสัยต่อผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ทำให้ กรมประมง ที่ดูแลอุตสาหกรรมกุ้งทั้งในประเทศและส่งออกต้องรีบออกมาทำความเข้าใจและยืนยันว่า เหตุการณ์ในคลิปดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยแน่นอน พร้อมการันตีว่าอุตสาหกรรมกุ้งไทยมีระบบการผลิต การตรวจสอบคุณภาพ สารปนเปื้อน และเชื้อโรคอย่างเข้มงวด ก่อนส่งถือมือผู้บริโภค ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่ากุ้งไทยปลอดภัยจากสารปนเปื้อนแน่นอนสำหรับสารที่ฉีดมีลักษณะหนืดคล้ายเจลาติน เรียกว่า Carboxy Methyl cellulose (CMC) แม้จะเป็นสารที่ปลอดภัยต่อการบริโภค เพราะสังเคราะห์จากพืช และใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหลายประเภทเช่น ใช้เป็นสารคงตัวในไอศกรีม ใช้เป็นสารให้ความใสในน้ำผลไม้ ไวน์ เบียร์ แต่การนำมาฉีดในตัวกุ้งเพื่อหวังเพิ่มน้ำหนักถือเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์และไม่มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค และดูแล้วเป็นการเพื่อต้นทุนซะมากกว่า เพราะต้องใช้แรงงานจำนวนมากเพื่อมาฉีดสารดังกล่าวเข้าไปในตัวกุ้งทีละตัว    สธ.ยืนยันไม่ใช้ “พัดลมไอน้ำ” ใน รพ.หวั่นแพร่เชื้อโรคนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมายืนยันว่า โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไม่มีการใช้พัดลมไอน้ำทั้งที่ตึกผู้ป่วยนอก (โอพีดี) และหอผู้ป่วย ตามคำแนะนำของสถาบันบำราศนราดูร สถาบันด้านโรคติดต่อและโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลระดับนานาชาติ หลังจากมีข่าวว่าพัดลมไอน้ำในโรงพยาบาลเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคลีเจียนแนร์ ปลัด สธ.ให้ข้อมูลว่า โรคลีเจียนแนร์ แม้จะเป็นโรคที่ทำให้ผู้ที่ป่วยเสียชีวิตได้ แต่ก็ไม่รุนแรงเหมือนโรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก และไม่ติดต่อจากคนสู่คน และรักษาให้หายได้เพียง 1 สัปดาห์ก็หายขาด อาการของโรคนี้จะคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ไอ คลื่นไส้อาเจียน แต่หากเชื้อเข้าสู่ร่างกายไปที่ปอด ทำให้ปอดอักเสบ มีไข้สูง ไอ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย อาจเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต ซึ่งโรคนี้มักส่งผลกับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำและผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง ซึ่งพัดลมไอน้ำที่ใช้เป็นประจำแล้วไม่ได้ทำความสะอาดภาชนะบรรจุน้ำของพัดลมไอน้ำอย่างสม่ำเสมอ อาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อลีเจียนแนร์ ละอองน้ำจากพัดลมจะแพร่กระจายโรคนี้รวมทั้งโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ดังนั้นผู้ป่วยในโรงพยาบาลจึงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนทั่วไปทั้งนี้ สธ. ยังฝากเตือนถึงประชาชนทั่วไปหมั่นดูแลล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศในที่พัก ทำความสะอาดท่อหล่อเย็น หรือ ถาดรองน้ำหล่อเย็นของเครื่องปรับอากาศ อย่าให้มีน้ำขัง เปียกชื้น ควรทำให้แห้ง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ส่วนพัดลมไอน้ำให้ล้างภาชนะบรรจุน้ำอย่าปล่อยให้มีตะไคร่น้ำและเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อโรค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 กระแสในประเทศ

กระแสในประเทศ ฉบับที่ 1012 มิถุนายน 2552 เรดบูลโคล่าพบโคเคน ขายต่างประเทศไทยคนละสูตร นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงข่าวสำนักงานความปลอดภัยด้านอาหาร กระทรวงอาหาร การเกษตร และคุ้มครองผู้บริโภค ประเทศเยอรมนี ตรวจพบร่องรอยของสารโคเคนในเครื่องดื่มเรดบูลโคล่าและไต้หวันอายัดเครื่องดื่ม Red Bull Energy Drink เพราะตรวจพบร่องรอยของสารโคเคนเจือปนอยู่เล็กน้อยหลังจากให้กองควบคุมอาหารเก็บตัวอย่างสินค้าเครื่องดื่มกระทิงแดงโคล่าที่ผลิตในประเทศไทยไปตรวจสอบอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม เรดบูลโคล่าในเยอรมนีถูกพัฒนาสูตรโดยบริษัท Red Bull GmbH ประเทศออสเตรีย และผลิตในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สำหรับเครื่องดื่ม Red Bull Energy Drink ที่จำหน่ายในประเทศไต้หวัน ผลิตและส่งออกจากบริษัทในออสเตรีย ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ผลการตรวจวิเคราะห์ในรุ่นการผลิตเดียวกันของประเทศออสเตรียไม่พบโคเคน ซึ่งจะได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป "กระทิงแดงโคล่าที่จำหน่ายในประเทศไทย เป็นคนละสูตรกับผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในต่างประเทศ ไม่ได้ใช้แหล่งการผลิตเดียวกัน ขอให้ประชาชนผู้บริโภคอย่าตื่นตระหนก อย.ได้เฝ้าระวังเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ให้มีการตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียดที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อีกด้วย ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจการดำเนินงานของ อย. เมื่อพบผลิตภัณฑ์ใดมีปัญหาจะเร่งตรวจเฝ้าระวังดำเนินการและชี้แจงให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลโดยเร็ว”   15 มิ.ย. 52ห้ามขาย-ห้ามทาน น้ำหวาน “แคนดี้ ไซรับ” นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับข้อมูลว่าพบร้านค้าบริเวณหน้าโรงเรียนใน จ.ราชบุรี มีการนำขนมที่มีชื่อว่า “แคนดี้ ไซรับ” ซึ่งมีลักษณะเป็นน้ำหวานบรรจุในขวดสเปรย์ เวลารับประทานจะใช้วิธีการฉีดพ่นเข้าปาก มาจำหน่ายให้กับเด็กนักเรียน ทาง อย. จึงรีบออกมาแจ้งให้ทราบว่า ผลิตภัณฑ์ประเภท “น้ำหวานในขวดสเปรย์” ไม่มีการอนุญาตให้ผลิตหรือนำเข้า และเตือนให้เด็กๆ อย่าซื้อมารับประทานเป็นอันขาด อย. ได้ประสานต่อไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี พบว่า เลขเอกสารบนฉลากอาหารดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์น้ำดื่ม ไม่ใช้ของหวานในขวดสเปรย์ นอกจากนี้ยังไม่พบข้อมูลผู้ผลิตและผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อย. ฝากให้สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดช่วยตรวจตาและเฝ้าระวังการผลิต นำเข้า ทั้งผลิตภัณฑ์แคนดี้ ไซรับ และผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยและอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค 29 มิ.ย. 52เลิกบุหรี่อาจถึงตาย! อย่าใช้ “นิโคตินเจล”กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกโรงเตือนผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ ว่าอย่าซื้อ “นิโคตินเจล” มาใช้เด็ดขาด เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ได้รับการรับรองจาก อย. ผู้ที่ใช้อาจได้รับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต การพิสูจน์ทางการแพทย์ระบุว่า การใช้นิโคตินทดแทนมีประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงในการเลิกบุหรี่ ซึ่งในต่างประเทศมีอยู่ด้วยกัน 6 วิธี คือ หมากฝรั่งเคี้ยวนิโคติน, แผ่นปิดผิวหนังนิโคติน, นิโคตินชนิดสูบพ่นทางปาก, นิโคตินชนิดสเปรย์พ่นจมูก, ยาอมนิโคติน และนิโคตินชนิดเม็ดอมใต้ลิ้น แต่สำหรับในเมืองไทยได้มีการขึ้นทะเบียนไว้เพียง 3 รูปแบบ คือ หมากฝรั่งเคี้ยวนิโคติน, แผ่นปิดผิวหนังนิโคติน และยาอมนิโคติน โดยผลิตภัณฑ์เพื่อการเลิกบุหรี่เหล่านี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรเสียก่อน สำหรับ “นิโคตินเจล” ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน เนื่องจากยังต้องตรวจสอบเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยจาก อย. เพราะการใช้ยานิโคตินทดแทนที่ไม่ได้มาตรฐานอาจส่งผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น หัวใจเต้นแรง และทำให้แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้หายช้า ผู้ที่มีประวัติการป่วยเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง และผู้เป็นโรคแผลในทางเดินอาหาร ต้องพิจารณาให้ดีในการใช้ยานิโคตินเพื่อเลิกบุหรี่ ใครที่ต้องการเลิกบุหรี่และอยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติม โทร.ไปได้ที่ “สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600” 29 มิ.ย. 52ห้ามหักเงินในบัญชีใช้หนี้บัตรเครดิตนายนิโรธ เจริญประกอบ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผยว่า สคบ.เตรียมออกประกาศห้ามไม่ให้ธนาคารพาณิชย์หักบัญชีเงินฝากของผู้บริโภคเพื่อนำมาชำระหนี้บัตรเครดิต หากยังเป็นกรณีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือยังไม่มี ข้อยุติใดๆ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย สคบ.เนื่องจากธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ทั้งนี้ สคบ.ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมากว่า ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีที่ธนาคารพาณิชย์หักเงินในบัญชีของผู้ฝากเงินเพื่อชำระหนี้ตามสัญญาบัตรเครดิตโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบ ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรม “การที่สถาบันการเงินกำหนดข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตไว้ในสัญญาและกำหนดให้ผู้ถือบัตรทำหนังสือยินยอมให้ธนาคารมีอำนาจหักเงินจากบัญชีเงินฝากที่ผู้ถือบัตรมีอยู่กับธนาคารมาชำระหนี้บัตรเครดิตในทันที ถือเป็นข้อสัญญาที่มีผลให้คู่สัญญาต้องรับภาระเกินกว่าที่บุคคลธรรมดาจะสามารถคาดหมายได้ตามปกติ เพราะการไม่ชำระหนี้บัตรเครดิตอาจเกิดได้หลายกรณี โดยที่เจ้าของบัตรไม่มีเจตนาหรือจงใจ เช่น กรณีบัตรสูญหาย บัตรถูกลักขโมย ซึ่งยังไม่ได้พิสูจน์ความรับผิด นอกจากนี้ สคบ.ยังเห็นว่าเป็นการใช้ข้อสัญญาที่เลี่ยงกระบวนการยุติธรรมโดยไม่ไปใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพื่อพิสูจน์ความผิดให้เสร็จสิ้นเสียก่อน” เทสโก้ แพ้คดีเรียก 1000 ล้าน ศาลอาญาสั่งยกฟ้องคดีที่ เทสโก้ โลตัส ฟ้อง ว่าที่ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในกรณีหมิ่นประมาททำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและรายได้ โดยทาง เทสโก้ โลตัส ได้เรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินถึงหนึ่งพันล้านบาท ซึ่งศาลสั่งยกฟ้องด้วยเหตุผลว่าการติชมเป็นการทำหน้าที่โดยสุจริตที่มาของการฟ้องร้องเกิดขึ้นเมื่อ ว่าที่ร.อ.จิตร์ ให้สัมภาษณ์ในหัวข้อข่าว “ค้ากำไรบนซากโชวห่วย เทสโก้สูบไทย 37% จากยอดขายทั่วโลก” ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ “ผู้จัดการรายวัน” ฉบับวันที่ 1 ต.ค.50 โดยเนื้อข่าวระบุว่า เทสโก้ โลตัส ดูดเงินจากผู้บริโภคชาวไทยส่งกลับไปยังบริษัทแม่ที่อังกฤษหลายหมื่นล้าน ทำให้เทสโก้ฯไต่ทะยานขึ้นเป็นบริษัทร่ำรวยที่สุดอันดับ 4 ของโลก มียอดขายรวมทั่วโลก 79,978 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมาจากไทยมากถึง 37% สวนทางกับผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยของไทย ที่ล้มตายอย่างรวดเร็วเหลือรอดไม่ถึงครึ่ง โดยที่ต่อมา ทาง “ผู้จัดการรายวัน” ได้แก้ไขตัวเลขยอดรายได้ของเทสโก้ฯในไทย จาก 37% เป็น 3.7% ตามที่ผู้บริหารของเทสโก้ฯแจ้งมาในภายหลัง ซึ่งทาง เทสโก้ฯ ไม่ได้ฟ้องหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน เป็นจำเลยในคดี แต่ได้ฟ้อง ว่าที่ร.อ.จิตร์ โดยเรียกค่าเสียหายพันล้านบาท และฟ้องคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คือนายกมล กมลตระกูล นักสิทธิมนุษยชน และนางนงนาถ ห่านวิไล บรรณาธิการน.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ เรียกค่าเสียหายรายละ100 ล้าน ซึ่งเผยแพร่เนื้อหาว่า เทสโก้ฯ ขยายกิจการจนส่งผลกระทบต่อร้านค้าปลีกรายย่อยในชุมชนล่มสลาย สำหรับคำพิพากษาของศาลอาญา สรุปได้ว่า วันที่ 16 มิ.ย. 52 ความอาญาระหว่างบริษัทเอก–ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด เป็นโจทก์ฟ้อง ว่าที่ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ เป็นจำเลยฐานความผิดหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ละเมิด เรียกค่าเสียหาย 1,000 ล้านบาท ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำบรรยายของว่าที่ร.อ.จิตร์ ที่พูดถึงปัญหาค้าปลีกในประเทศไทย มีฐานข้อมูล ในฐานะหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับจำเลยมาก่อน ส่วนเรื่องที่จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์เลี่ยงภาษี เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งประชาชนสามารถทำได้ ส่วนคำพูดที่ว่า โจทก์ใช้เล่ห์เหลี่ยมในการขายสินค้าโดยวิธีต่ำกว่าทุน จึงมิใช่จำเลยกล่าวอย่างเลื่อนลอย ไม่มีมูลความจริง จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ ส่วนที่โจทก์กล่าวว่า “โลตัสเปรต” เป็นเพียงการเรียกความสนใจของผู้ฟัง เป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สมควรตามวิสัยสันดานของแต่ละคน เป็นเพียงการใช้ถ้อยคำเกินเลยไป เมื่อฟังว่า คำบรรยายของจำเลยในงานสัมมนาไม่เป็นความผิด ในส่วนข้อความติชมนั้น ไม่ว่าจะให้สัมภาษณ์ในฐานะกรรมาธิการพาณิชย์ หรือไม่ก็ตาม จึงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยอ้างข้อมูลเท็จ อันจะทำให้ผู้อื่นเข้าใจโจทก์ผิด คดีของโจทก์จึงไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง ส่วนในคดีแพ่ง เมื่อจำเลยมิได้ทำผิดตามฟ้อง โจทก์จึงไม่เสียหาย การที่โจทก์ขอคิดค่าเสียหายโดยอ้างว่าทำให้ยอดขายสินค้าลดลงมา 1,000 ล้านบาทนั้น เป็นว่าส่อแสดงเจตนาเป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริต พิพากษายกฟ้อง ยกเลิกบัตรทอง ใช้แค่บัตรประชาชน!นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศเตรียมยกเลิก “บัตรทอง” ทั่วประเทศปลายเดือน ก.ย. นี้ โดยจะเปลี่ยนมาใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียวเพื่อความสะดวก โดยจะเริ่มจากการใช้รักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิ พร้อมเตรียมให้ 8 จังหวัดนำร่องใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาลในจังหวัด เพื่อศึกษาข้อดี-ข้อเสียก่อนปรับใช้ทั่วประเทศ “กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินโครงการในการใช้บัตรประจำตัวประชาชนแทนบัตรทองมาแล้ว 37 จังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ใน 13 จังหวัด และ 1 มิ.ย. อีก 24 จังหวัด และในเดือน ต.ค.นี้ จะนำร่องใน 8 จังหวัด ให้ใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้ภายในจังหวัดนั้นๆ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีสิทธิประกันตนที่ระบุในแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้ได้ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดูความพร้อมของแต่ละโรงพยาบาลและพิจารณางบประมาณ ก่อนดำเนินการใช้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ปิโตรเลียม เจลลี

  ฉบับนี้ อ.พิมลพรรณ ฝากขออภัยแฟนๆ นะคะ เนื่องจากอาจารย์ไม่สะดวกจริงๆ ทางกองบรรณาธิการ จึงขอนำเสนอเรื่องสวยๆ งามๆ แทน เรื่องที่ขอเสนอคราวนี้เป็นเรื่องของปิโตรเลียม เจลลี(Petroleum Jelly) ค่ะ งงๆ ใช่ไหมคะ แต่ถ้าเรียกว่า วาสลีน(Vaseline)  ล่ะก็ คงร้องอ๋อกันใช่ไหม ปิโตรเลียมเจลลี นั้นเป็นชื่อสามัญ ซึ่งไม่ฮิตติดตลาดเท่าชื่อเจ้าของดั้งเดิมต้นตำรับ คือ วาสลีน ทำไมถึงเลือกเขียนเรื่องนี้ มันก็เป็นเหตุจากช่วงชุลมุนวุ่นวายเก็บของหนีน้ำท่วมและแพ็กถุงยังชีพส่วนตัว ซึ่งขอแนะนำว่าควรเลือกพกปิโตรเลียม เจลลี 1 กระปุกไว้ในถุงด้วย เพราะอะไรเหรอคะ ก็เพราะว่ามันเป็น เครื่องสำอางอเนกประสงค์มากๆ ค่ะ   ประโยชน์ของปิโตรเลียม เจลลี ปิโตรเลียม เจลลี ถูกค้นพบจากกระบวนการขุดเจาะน้ำมัน เรียกว่าเป็นผลพลอยได้ที่ล้ำค่าไม่แพ้น้ำมันเลยค่ะ และด้วยคุณสมบัติที่ว่ามาจากน้ำมันข้อนี้ ทำให้เราสามารถใช้ปิโตรเลียม เจลลี ทดแทนโลชั่นเพื่อปกป้องผิวไม่ให้แห้งกร้านได้เป็นอย่างดี นอกจากช่วยถนอมผิวแล้ว ยังใช้ล้างเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของน้ำมันได้ดีอีกด้วย เรียกว่า ทดแทนครีมล้างเครื่องสำอางได้เลย และสำหรับคนที่มีริมฝีปากแห้ง ปิโตรเลียม เจลลี ช่วยทำหน้าที่แทนลิปมันได้เลย บางคนว่าโบกที่ริมฝีปากหนาๆ ก่อนนอนช่วยให้ริมฝีปากนุ่มชุ่มชื้นไปทั้งวัน เมื่อใช้กับปากได้ กับมือหรือเท้าที่หยาบกร้านเนื่องจากการทำงาน ทาปิโตรเลียม เจลลีก็ช่วยทำให้ผิวกลับมานุ่มนวลขึ้นได้เช่นกัน   สารพัดประโยชน์ยามผจญน้ำท่วม 1.แก้อาการแสบร้อนจากแดดเผา กรณีต้องตากแดดแรงๆ ลุยน้ำท่วม แล้วมีอาการแสบร้อนผิว  ทาหนาๆ หน่อย บริเวณผิวที่โดนแดดโดนลมทำร้าย จะช่วยบรรเทาอาการ ปวดแสบปวดร้อน ได้ 2. แก้ผิวแตกจากลมหนาว บางพื้นที่นอกจากภัยน้ำแล้ว ยังเจอภัยหนาวด้วย ทาผิวที่แห้งแตกจากลมหนาวด้วยปิโตรเลียม เจลลี จะช่วยบรรเทาอาการคันยิบๆ ได้ แล้วผิวก็ไม่แห้งเป็นขุยด้วย 3. ป้องกันน้ำกัดเท้า ถ้าต้องออกไปลุยน้ำท่วมแบบเลี่ยงไม่ได้ ให้ทาบริเวณซอกนิ้วเท้าให้หนาๆ ไว้ จะช่วยให้ผิวบริเวณดังกล่าวไม่ถูกน้ำแทรกซึมทำร้ายเอาได้ง่ายๆ เป็นการป้องกันน้ำกัดเท้าได้อีกวิธีหนึ่ง 4. ห้ามเลือด อันนี้สำหรับกรณีฉุกเฉิน เราสามารถใช้ปิโตรเลียม เจลลี ห้ามเลือดกรณีบาดแผลไม่ลึกมากได้ เป็นเทคนิคที่เรียนรู้มาจากเวทีมวยอีกที แต่เมื่อเลือดหยุดแล้วต้องรีบล้างแผลทำความสะอาดนะคะ เห็นไหมล่ะ ว่าพกไว้เพียง 1 กระปุก เจ้าปิโตรเลียม เจลลี ที่มีหน้าตาเป็นน้ำมันใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่นนี้ สามารถช่วยเราได้เยอะเชียว และราคาต้องบอกว่า ถูกมากๆ เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่คุณสมบัติใกล้กัน ปัจจุบันมีให้เลือกหลายยี่ห้อนะคะ ไม่จำเป็นต้องซื้อในชื่อ วาสลีน เท่านั้น อ้อ...ข้อเสียอย่างเดียวของปิโตรเลียม เจลลี ก็คือ ความเหนียวเหนอะหนะ ซึ่งบางคนไม่ชอบเอาเลย แต่จริงๆ แล้วมันเป็นคุณสมบัติมากกว่าโทษสมบัตินะคะ โดยเฉพาะกรณีที่ปกป้องผิวจากการสูญเสียน้ำ ปิโตรเลียม เจลลีเขาจะเคลือบและแทรกซึมเข้าระหว่างเซลล์ผิวได้ดี ทำให้สามารถป้องกันการสูญเสียน้ำผ่านออกจากผิวหนังได้ถึง 99% แต่เพราะความเหนียว ถ้าไม่ชอบจริงๆ ก็ควรใช้เฉพาะในบริเวณที่แตกแห้งพิเศษ เช่น บริเวณริมฝีปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ผื่นผิวหนังที่หนาๆ  ผิวแตกแห้ง จะได้ไม่รู้สึกเหนอะหนะเกินไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point