ฉบับที่ 261 ไม่ให้สัญญากู้ยืมเงินแก่ผู้กู้ได้หรือไม่

        ปัจจุบันอัตราภาวะเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้น หลายคนชักหน้าไม่ถึงหลัง จึงต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาใช้จ่ายภายในครอบครัว เงินสดทันใจก็เป็นที่พึ่งของใครหลายคนผู้ให้กู้ก็มีหลายเจ้า เข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็ว แต่...         ภูผามีค่าใช้จ่ายเพิ่มพูนขึ้นจำนวนมากเดือดร้อนหนักชักหน้าไม่ถึงหลัง จึงต้องการหาเงินมาหมุนเพื่อครอบครัวของเขาสามารถไปต่อได้ เขาเห็นโฆษณาของบริษัทสินเชื่อสีฟ้าแถวบ้าน ซึ่งมีสาขามากมายทั่วประเทศ ให้กู้ง่าย สะดวก รวดเร็ว แค่มีโฉนดที่ดินก็กู้ได้ ไม่ต้องจำนองด้วย เขาจึงลองเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทสินเชื่อสาขาใกล้บ้านเจ้านั้น เมื่อดูท่าทีว่ามีความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่และบริษัทสินเชื่อที่มีโฆษณาทางทีวี เขาจึงนำโฉนดที่ดินที่เป็นที่สวนของตัวเองเข้าไปกู้ยืมเงินกับบริษัทสินเชื่อ โดยเขากู้เงิน 150,000 บาท เซ็นชื่อในเอกสารของบริษัทเรียบร้อย มีการหักค่าธรรมเนียม ค่าดำเนินการอะไรต่างๆ ของบริษัทประมาณ 3,000 บาท เจ้าหน้าที่ของบริษัทก็ให้บัตรมาใบหนึ่งมีรายละเอียดว่าให้ชำระหนี้ทุกวันที่ 25 ของทุกเดือน หลังจากดำเนินการเรื่องเอกสารเรียบร้อยสักประมาณ 1 ชั่วโมงก็มีเงินโอนเข้าบัญชีเงินฝากเขาจากบริษัท         หลังจากกู้เงินมาได้ 1 สัปดาห์ เขาก็เล่าให้ลูกชายว่าไปกู้เงินกับบริษัทสีฟ้ามา ลูกชายก็บ่นๆ เขา ว่าทำไมพ่อไม่บอก ไม่น่าไปกู้เงินมาเลย ลูกชายเขาจะได้หาทางช่วย ลูกชายขอพ่อดูสัญญากู้ เขาบอกว่าบริษัทให้บัตรรายละเอียดที่ต้องชำระเงินมา ไม่รู้ว่าบัตรนี้เรียกสัญญาไหม เมื่อเขาคุยกับลูกชายไปมาก็ถึงบางอ้อว่า เอกสารที่บอกว่ากู้เงินกี่บาท ดอกเบี้ยเท่าไหร่ ต้องชำระยังไง เขาเรียกว่าสัญญา ก็คือเอกสารที่เขาได้เซ็นไปนั่นแหละ สรุปว่าภูผาไม่ได้สัญญากลับมา         พอเห็นว่าพ่อไม่ได้สัญญามาไว้กับตัว ลูกชายจึงให้เขาไปขอสัญญาเงินกู้กับบริษัทสินเชื่อ เมื่อภูผาไปขอสัญญาจากบริษัทฯ พนักงานบริษัทฯ ก็บอกว่าเดี๋ยวให้ๆ วันนี้กลับไปก่อนนะครับ จนเวลาได้ล่วงเลยมา 2 เดือนหลังจากกู้ยืมเงิน ลูกชายเขาเข้าใจว่าบริษัทในฐานะผู้ให้กู้ต้องให้สัญญากู้ยืมเงินตั้งแต่วันที่ให้พ่อของเขากู้ไม่ใช่หรอ นี่ไปของสัญญากู้ตั้งนานแล้วทำไมยังไม่ได้ จึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา         ลูกชายของผู้ร้องเข้าใจถูกแล้วว่าเมื่อกู้ยืมเงินกันสัญญากู้ต้องทำเป็นสองฉบับ ฉบับหนึ่งผู้ให้กู้เก็บไว้ ส่วนอีกฉบับหนึ่งให้ผู้กู้เก็บไว้ หรือทำสัญญาฉบับเดียวแล้วถ่ายสำเนาสัญญากู้ให้อีกพร้อมหนึ่งเก็บไว้ด้วย เพื่อเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย         ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๔๔ ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้กำหนดอย่างชัดเจนไว้ว่า “ผู้ประกอบธุรกิจต้องส่งมอบสำเนาหรือคู่ฉบับสัญญาเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินให้แก่ผู้บริโภคไว้เป็นหลักฐานหนึ่งฉบับทันทีที่ผู้บริโภคลงนามในสัญญา” ดังนั้นบริษัทสีฟ้าต้องส่งมอบสัญญาให้ผู้ร้องทันทีเมื่อได้เซ็นสัญญากัน หากไม่ทำตามมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522         ทั้งนี้ผู้ร้องสามารถดำเนินการร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อให้ดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงและให้บริษัทสินเชื่อส่งสัญญาให้ผู้ร้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 รวมพลังสู้ ‘เงินเฟ้อ’

        ศัตรูสำคัญของเงินออมคือเงินเฟ้อ มันเหมือนมอดปลวกที่คอยกัดกิน ‘มูลค่าเงิน’ ของเราให้ถอยถดลดลง         ทำไมต้องใช้คำว่า ‘มูลค่าเงิน’ เพราะยังมีผู้คนไม่น้อยสับสนระหว่างจำนวนเงินกับมูลค่าเงินน่ะสิ เหมือนจะเคยเล่าไปแล้วว่าถ้าคุณฝากเงินไว้ในธนาคารที่ดอกเบี้ยต่ำเตี้ย สมมติว่าแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ แต่อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมปี 2565 ของไทยอยู่ที่ 7.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี หมายความว่าต่อให้เงิน 100 บาทในธนาคารได้ดอกเบี้ย 1 บาท ความจริงคือเงินของคุณมีมูลค่าต่ำกว่า 100 บาทไปแล้วจากเงินเฟ้อที่สูงลิบลิ่ว         เงินเฟ้อคือสภาวะที่ข้าวของในท้องตลาดราคาขยับสูงขึ้นๆ อย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ ทำให้เงินจำนวนเท่าเดิมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการต่างๆ ได้ในปริมาณลดลง         สาเหตุของเงินเฟ้อในไทยรอบนี้ที่นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์เกิดจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น (น้ำมันนั่นแหละ) ไหนจะภาครัฐยังลดมาตรการอุดหนุนค่าครองชีพ ส่วนภาคธุรกิจก็ส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อมายังผู้บริโภค (ขึ้นราคาสินค้า) แต่รอบนี้หนักกว่าเคยเพราะเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นทั่วโลกสืบเนื่องจากสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด เพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 75 bps เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่ปี 2537 ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ก็ตั้งท่าจะขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อเหมือนกัน         เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องนำเงินไปลงทุนต่อยอดให้งอกเงยมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ         แต่การลงทุนอะไรที่จะชนะเงินเฟ้อได้? คำตอบคือหุ้น และถ้าไม่มีเวลาไล่ดูหรือศึกษาหุ้นที่ละตัว กองทุนรวมหุ้นก็เป็นตัวเลือกที่ดี เพราะในระยะยาวแล้ว ย้ำว่าในระยะยาวหุ้นรวมเงินปันผลให้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อได้         สินทรัพย์อีกประเภทคืออสังหาริมทรัพย์ เพราะมันไม่ขึ้นกับความผันผวนของภาคอุตสาหกรรมและตลาดหุ้น แล้วค่าเช่าก็มักเพิ่มสูงขึ้นตามเงินเฟ้อนั่นแหละ แต่จะควักเงินก้อนซื้อที่ดิน ซื้อตึกแถวเองคงยาก ก็มีรีทหรือทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REAL ESTATE INVESTMENT TRUST: REIT) ให้เลือกลงทุน         บ้างก็ว่าทองคำหรือกองทุนรวมทองคำเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการรักษามูลค่าเงิน เพราะโลหะสีเหลืองนี่ขยับมูลค่าตามเงินเฟ้อเหมือนกัน         ถ้าใครตามส่องบรรดาบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนช่วงนี้ จะเห็นว่าแนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวมในหุ้นต่างประเทศกันยกใหญ่ ยังไงก็ควรศึกษาก่อนตัดสินใจให้ดีๆ อย่าเชื่อคำโฆษณาอย่างเดียวเป็นอันขาด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 เงินเฟ้อ ปลวกที่กัดกินมูลค่าเงินเป็นอาหาร

        อันที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ควรต้องพูดถึงตั้งแต่แรก แต่ก็หลงลืมไปเสียได้ ขออภัยๆ         เราได้ยินคำนี้บ่อยมากจากข่าวเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อๆๆ เป็นศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ที่เหมือนจะเข้าใจ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า แล้วถ้าแปลกันแบบเป็นวิชาการสักหน่อย เงินเฟ้อคือภาวะเศรษฐกิจที่ระดับราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง         หรือมีเงินอยู่ในระบบมากเกินไป ให้จินตนาการว่าเงินเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง สินค้าที่มีอยู่ในตลาดปริมาณมากๆ ราคาของสินค้านั้นก็จะตกลง ในที่นี้คือมูลค่าของเงินจะตกลง เมื่อมูลค่าของเงินตกลงทำให้ซื้อของได้น้อยลงนั่นเอง         ยังฟังดูยากไปหรือเปล่า? ให้ง่ายขึ้นอีกก็ได้ว่า เงินเฟ้อคือของกิน ของใช้ หรือค่าใช้บริการต่างๆ มีราคาแพงขึ้นนั่นเอง หรือจะเรียกว่ามูลค่าของเงินที่เรามีอยู่ลดลง         เคยได้ยินข่าวหรือเห็นภาพประเทศที่เงินเฟ้อสูงเป็นร้อยๆ เปอร์เซ็นต์ใช่มั้ย คนต้องหอบเงินหลายล้านเป็นปึกๆ เพื่อซื้อน้ำสักขวด ประเทศเยอรมนีช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 บวกกับสภาพเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (the great depression) คนเยอรมันต้องเจอกับสภาพประมาณนั้นแหละ         ยกตัวอย่างให้เข้าใจขึ้น นึกถึงสแน็คประเภทมันฝรั่งทอดกรอบในร้านสะดวกซื้อ เมื่อก่อนมีถุงละ 5 บาท ตอนนี้แทบไม่มีแล้ว ส่วนใหญ่เป็นถุง 10 บาท แถมเป็น 10 บาทที่มีปริมาณน้อยลงกว่าเดิม เช่นเดียวกับถุงละ 20 บาท หรือข้าวแกงที่เคยจานละ 20 ขยับเป็น 25 30 35 40 จนเดี๋ยวนี้ 50 และมันจะขึ้นไปอีกเรื่อยๆ แน่นอน         เงินเฟ้อมีผลต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม มากเกินไปก็ไม่ได้ น้อยเกินไปก็ไม่ดี แต่เราจะไม่ไปยุ่งกับเศรษฐกิจมหภาคหรอก เอาแค่ว่ามันเกี่ยวกับเงินในกระเป๋าเราอย่างไร         ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เงินฝากธนาคารสมัยนั้นสูงมาก 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปีก็มีมาแล้ว แต่ตอนนี้เงินฝากออมทรัพย์เหลือแค่ 0.5 เปอร์เซ็นต์ หรือฝาก 100 บาท ได้ดอกเบี้ย 50 สตางค์ หมายความว่าการออมเงินโดยฝากเงินไว้กับธนาคารเช่นในอดีตไม่เพียงพออีกต่อไป ลองนึกดูว่าเงินเฟ้อปีละ 3 เปอร์เซ็นต์ ฝากเงิน 100 บาท ผ่านไป 1 ปี เงินเฟ้อจะกัดกินเงินต้นทำให้มูลค่าเหลือจริงๆ แค่ 97 บาท ทั้งที่ตัวจำนวนเงินเท่าเดิม แต่ได้ดอกเบี้ยมาแค่ 50 สตางค์         แบบนี้เท่ากับยิ่งฝากยิ่งจนลงเรื่อยๆ         จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงต้องเรียนรู้เรื่องการลงทุน เพื่อทำให้เงินงอกเงยให้มากกว่าที่ถูกเงินเฟ้อกัดกิน ไม่ว่าจะเป็นหุ้นในประเทศหรือต่างประเทศ ตราสารหนี้ ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น         แต่เดี๋ยวก่อน ที่สาธยายมานี่ไม่ได้หมายความว่าให้โยนเงินทั้งหมดไปไว้ในทรัพย์สินอื่น จนไม่มีเงินสดติดบัญชีเลย ไม่ได้ มันจะเจอความพินาศทางการเงินอีกแบบ

อ่านเพิ่มเติม >