ฉบับที่ 273 กระแสต่างแดน

ลดแล้วเพิ่ม         หลังจากเนเธอร์แลนด์ปรับลด “ความเร็วจำกัด” บนท้องถนนในเมือง จาก 50 กิโลเมตร เป็น 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จำนวนผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงจากอุบัติเหตุจราจรกลับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21 จากปี 2022         ข้อมูลจากสถาบันความปลอดภัยทางถนน (SWOV) ระบุว่า ปีนี้มีผู้เสียชีวิต 745 คน บาดเจ็บสาหัส 8,300 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 39 ของผู้เสียชีวิต และร้อยละ 70 ของผู้ได้รับบาดเจ็บคือผู้ใช้จักรยาน คนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ยังเป็นผู้สูงอายุอีกด้วย         สาเหตุหลักคือ อุบัติเหตุรถล้มขณะขับขี่ การชนกับจักรยานด้วยกันเอง หรือไม่ก็อุบัติเหตุที่คู่กรณีไม่ใช่พาหนะคันอื่น         เรื่องนี้ค้านกับสิ่งที่ผู้คัดค้านการบังคับสวมหมวกนิรภัยเคยเสนอว่าการบาดเจ็บล้มตายจากอุบัติเหตุจักรยานควรเป็นการทำสภาพถนนให้ปลอดภัยและปรับลดความเร็วจำกัดบนท้องถนน พวกเขาไม่เชื่อในการบังคับสวมหมวกนิรภัย เพราะจะทำให้คนไม่อยากใช้จักรยานไม่เอาหนี้นอก         ช่วงนี้เทรนด์การจัดการหนี้นอกระบบกำลังมา ประเทศร่ำรวยอย่างเกาหลีใต้เพิ่งจะประกาศใช้กฎระเบียบที่เข้มขึ้นพร้อมเพิ่มบทลงโทษเจ้าหนี้เงินกู้ที่คิดดอกแพงลิ่ว จุดประสงค์คือการคุ้มครองลูกหนี้ไม่ให้จมกองหนี้โดยไม่มีทางออก         ลูกหนี้รายหนึ่งกู้เงินมา 250,000 วอน สามเดือนต่อมาหนี้ดังกล่าวงอกเงยขึ้นเป็น 150,000,000 วอน ในขณะที่เจ้าหนี้สาวรายหนึ่งถูกจับกุมดำเนินคดีเพราะเรียกเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 5,000 และยังข่มขู่ลูกหนี้ไปไม่ต่ำกว่า 300 ครั้ง            แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าปัญหาที่แท้จริงคือการเข้าไม่ถึงเงินกู้จากแหล่งทุนถูกกฎหมาย (สมาคมผู้ให้บริการเงินกู้บอกว่าพวกเขาปล่อยกู้ได้น้อยลงเกือบร้อยละ 70) แม้แต่การกู้เงินจากบัตรเครดิตก็ไม่ง่ายเช่นกัน         เกาหลีใต้มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นจากปี 2019 มากกว่าสองเท่าตัว และในปี 2022 มีคนเข้าสู่วงจรนี้ไม่ต่ำกว่า 70,000 คน  ทาสแมวมีเฮ         รัฐบาลสิงคโปร์เสนอให้ยกเลิกการห้ามเลี้ยงแมวในแฟลตของรัฐ หลังใช้กฎหมายดังกล่าวมานานกว่า 30 ปี โดยรัฐบาลให้คำมั่นว่าแผนนี้จะเป็นผลดีทั้งต่อคนที่เลี้ยงและไม่ได้เลี้ยงแมว         ทั้งนี้ภายใต้ร่างกฎหมายใหม่ที่ว่าด้วย “การจัดการแมว” เจ้าของจะต้องนำแมวไปขึ้นทะเบียน ฝังไมโครชิป (ผู้มีรายได้น้อยสามารถขอรับบริการฟรีได้) และปฏิบัติตามมาตรการในการดูแลสวัสดิภาพสัตว์เลี้ยง เช่น การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมด้วยการติดตั้งลูกกรงหรือตาข่ายป้องกันน้องตกจากตึก เป็นต้น         หลังการประกาศใช้ในครึ่งหลังของปี 2024 ทาสแมวจะมีเวลา 2 ปีในการยื่นเรื่องขอใบอนุญาตขอเลี้ยงแมวที่มีอยู่ (ซึ่งอาจจะมากกว่าสองตัวก็ได้) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หากเกินกำหนด ทาสจะถูกปรับ 5,000 เหรียญ (ประมาณ 130,000 บาท)         ส่วนมือใหม่ที่จะเริ่มเลี้ยงแมวก็ต้องเข้ารับการอบรมออนไลน์ว่าด้วยการมีสัตว์เลี้ยงอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ก่อนจะได้รับใบอนุญาตด้วย  ขยะที่ถูกลืม         หลายประเทศมีแผนรับมือกับขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รวม “ก้นบุหรี่” ไว้ในขยะประเภทนี้         งานวิจัยโดยศูนย์ธรรมาภิบาลนานาชาติในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ยังเสนอให้มีการ “แบน” ก้นบุหรี่โดยด่วน เพราะขยะที่ถูกทิ้งในประมาณมากที่สุดในโลกคือก้นบุหรี่ ซึ่งข้อมูลวิชาการยืนยันว่าไม่ได้มีสรรพคุณในการลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ได้อย่างที่เข้าใจกัน         ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประเทศจีนซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคยาสูบรายใหญ่ที่สุดของโลก ค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะจากก้นบุหรี่และซองใส่บุหรี่ในจีนสูงถึงปีละ 2,600  ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 20 ของค่าใช้จ่ายทั้งโลกรวมกัน)         ปัญหาสิ่งแวดล้อมอาจเป็นเรื่องใหม่ แต่ปัญหาสุขภาพนั้นมีมานานแล้ว จีนมีนักสูบไม่ต่ำกว่า 300 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคอย่างมะเร็ง โรคปอด โรคหัวใจ วันละประมาณ 3,000 คน    เงินไม่ถึง         หน่วยงานควบคุมดูแลการแข่งขันทางการค้าของอิตาลีสั่งปรับบริษัทของบล็อกเกอร์/ดีไซเนอร์ ชื่อดัง เคียร่า แฟร์รานี เป็นเงินล้านกว่ายูโร         การสอบสวนพบว่าบริษัทดังกล่าวไม่ได้นำเงินที่ได้จากการขาย “เค้กการกุศล” ไปมอบให้กับมูลนิธิของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในช่วงคริสต์มาสปีที่แล้ว ตามที่โฆษณาไว้ ด้านบริษัท Balocco ผู้ผลิตเค้กก็โดนปรับไป 420,000 ยูโรเช่นกัน         หน่วยงานดังกล่าวพบว่า มูลนิธิเพื่อการวิจัยและรักษาโรคมะเร็งกระดูกของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองตูริน ได้รับเงินบริจาค 50,000 ยูโร จากบริษัทผู้ผลิตเค้กหลายเดือนก่อนคริสต์มาส แต่หลังจากที่บริษัทของแฟร์รานีออกแคมเปญชวนทำบุญและระดมทุนได้มากกว่าหนึ่งล้านยูโร กลับไม่มีการบริจาคเพิ่มให้อีกเลย             มาดูกันว่าผู้ติดตามเกือบ 30 ล้านคนในอินสตาแกรมของแฟร์รานีจะมีปฏิกิริยากับเรื่องนี้อย่างไร 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 มัดรวมผลทดสอบอาหาร 2 ปีรวด คน "ฉลาดซื้อ" ต้องอ่าน

        “อาหาร” ก็เหมือน “ยา” การได้กินอาหารที่ดีมีคุณประโยชน์ร่างกายก็แข็งแรง ซึ่งแน่นอนว่าหาก “กายดี จิตก็ดี” ในทางกลับกันหากกินอาหารคุณภาพไม่ดี คุณประโยชน์ขาดๆ เกินๆ นอกจากจะไม่แฮปปี้ในการกินแล้วยังส่งผลให้สุขภาพแย่ลงด้วย โดยเฉพาะอาหารที่มีการผสมสารเคมีหรือวัตถุเจือปนอาหารต้องห้ามหรือมากเกินมาตรฐานอย่างสารกันบูด การปนเปื้อนโลหะหนักอย่างสารตะกั่ว หรือการปนเปื้อนสารพิษอันตราย อาทิ สารเคมีทางการเกษตร ทั้งยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงต่างๆ แทนที่จะกินอาหารเป็นยา กลับกลายเป็น “ยาพิษ” ไปได้         ดังนั้นนอกจากการออกเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัย โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่พยายามปรับปรุงอย่างเต็มกำลัง ซึ่งจะมีข้อห้ามและบทลงโทษเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว ก็อาจต้องยอมรับว่า อย.ยังด้อยเรื่องการทำงานเชิงรุก เรียกว่ายังไม่มากเพียงพอที่จะตามทันเล่ห์เหลี่ยมคนที่จ้องจะหาผลประโยชน์จากการผลิต “ผลิตภัณฑ์อาหาร” ที่ไม่ได้คุณภาพออกมา         “นิตยสารฉลาดซื้อ” โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จึงเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งในการทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามผลิตภัณฑ์อาหารที่วางจำหน่ายในท้องตลาดเมืองไทย เพื่อคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมให้คนไทยได้กินอาหารที่ดี มีประโยชน์จริงๆ ซึ่งต้องบอกว่าเรื่องนี้ “ฉลาดซื้อ” ติดตาม เกาะติดมานานหลายปี ช่วยจัดทำชุดข้อมูลข้อเท็จจริงส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำกับติดตามให้เกิดการแก้ไข และเพื่อการมีอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย         ในโอกาสสิ้นปี 2563 นี้ นิตยสารได้ทำการสรุปผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้ดำเนินการตรวจสอบตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2563 อะไรเด่น “ฉลาดซื้อ” มัดรวมเอาไว้ผ่านบทความชิ้นนี้ โดยแยกเป็นกลุ่ม 1. สารกันบูด 2. สารเคมีทางการเกษตร 3. เชื้อดื้อยา และ 4. ไขมันทรานส์         เริ่มกันที่ กลุ่มวัตถุกันเสีย หรือ สารกันบูด ทั้ง กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) และ กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) มีผลต่อการทำงานของตับ และไต ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา นิตยสารฉลาดซื้อได้เก็บตัวอย่างมาทดสอบจำนวนมาก ดังนี้...         “โรตีสายไหม” สุดยอดของฝากจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งการตรวจสอบต้องแยกเป็น 2 ส่วนคือ 1.แผ่นแป้ง ซึ่งบูดง่าย อาจมีการใช้สารกันบูดเพื่อยืดอายุการใช้งาน 2.น้ำตาลสายไหม ทำจากน้ำตาล น้ำมันมะพร้าว แป้งสาลี และสีผสมอาหารสังเคราะห์ที่มากเกินไปก็ไม่ดีต่อสุขภาพ หลังจากที่เคยเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนมี.ค. 2561 จำนวน 10 ตัวอย่าง พบ 4 ตัวอย่างผสมสารกันบูด ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เข้ามาจัดการแล้ว แต่จากการเก็บตัวอย่างมาตรวจอีกครั้งในเดือนเม.ย.2562 จากตลาด 13 แห่งในพื้นที่ โดยเป็นโรตีสายไหมจากเจ้าเดิม 10 ตัวอย่าง และเจ้าใหม่อีก 3 ตัวอย่าง ผลทดสอบในแป้งโรตี มีการใช้สีผสมอาหารสังเคราะห์ตาร์ตราซีน (Tartrazine) เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด (สูงสุดไม่เกิน 50 มก./กก.) 2 ตัวอย่าง คือ 1.ร้านวรรณพร ตรวจพบ ตาร์ตราซีน 59.76 มก./กก. และ 2.ร้านประวีร์วัณณ์  ตรวจพบ ตาร์ตราซีน 57.41 มก./กก.         ขณะที่การทดสอบวัตถุกันเสียนั้น ในทุกตัวอย่างไม่พบกรดซอร์บิก แต่พบกรดเบนโซอิกในทุกตัวอย่าง แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน (ไม่เกิน 1,000 มก./กก.) 7 ตัวอย่าง แต่มีอีก 6 ตัวอย่างที่พบกรดเบนโซอิกเกินค่ามาตรฐาน คือ 1. โรตีสายไหม ร้านเรือนไทย 2. ร้านไคโร น้องชายบังอิมรอน 3. ร้านบังหมัด 4.ร้านวริศรา โรตีสายไหม 5.ร้านบังเปีย อามีนะห์ แสงอรุณ และ 6.ร้านแม่ชูศรี (รายละเอียดในฉบับที่ 218) โดยมีอยู่ 2 ร้านที่ผลการทดสอบครั้งแรกเดือนมี.ค. 2561 (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 205) และครั้งนี้พบเกินค่ามาตรฐานทั้ง 2 ครั้ง ร้านเอกชัย (B.AEK) และ ร้านศิลัคข บังอารีย์ แสงอรุณ เจ้าเก่า อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 218)            “เส้นขนมจีน” ซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยม เป็นอาหารจำพวกแป้งสด จึงบูดเสียง่าย จึงพบการลักลอบในสารกันบูดเช่นเดียวกัน ซึ่งจากการทดสอบมาแล้ว 2 ครั้ง ในเดือน ก.พ. 2559 (ฉบับที่ 180) และในเดือนมิ.ย. 2560 (ฉบับที่ 196) พบว่ามีการการผสมสารกันบูดเกินมาตรฐานเกินครึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่สุ่มเก็บมา         ล่าสุดเดือนพ.ค.2562 สุ่มเก็บมาอีก 31 ตัวอย่าง จากตลาดสดและห้างสรรพสินค้า ตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการแล้วไม่พบกรดซอร์บิกเลย แต่พบกรดเบนโซอิกในทุกตัวอย่าง และมี 2 ตัวอย่างที่พบเกินค่ามาตรฐาน 1.เส้นขนมจีน ยี่ห้อ หมื่นบูรพา จากตลาดคลองเตย พบในปริมาณ 1066.79 มก./กก.และ  2.เส้นขนมจีน ยี่ห้อ M&A บ้านขนมจีนปทุม จากตลาดสี่มุมเมือง พบในปริมาณ 1361.12 มก./กก.         อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตรวจพบว่าเส้นขนมจีนทุกตัวอย่างมีการปนเปื้อนกรดเบนโซอิก จึงสังเกตที่ฉลากบรรจุภัณฑ์เพิ่มเติมพบว่ามีเพียง 4 ตัวอย่างที่แสดงข้อมูลการใช้สารกันบูดหรือวัตถุกันเสีย ที่เหลือบางตัวอย่างมีเลขสารระบบของอย. บางตัวอย่างระบุไว้บนฉลากว่าปราศจากวัตถุกันเสีย ปราศจากสิ่งเจือปน  (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 219)         “น้ำพริกหนุ่ม” สำหรับการตรวจหาสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่มนั้น โดยสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำพริกหนุ่มที่จำหน่ายในภาคเหนือ 17 ตัวอย่าง เมื่อเดือนมิ.ย. 2562 ผลการตรวจพบว่า 2 ตัวอย่างไม่มีสารกันบูดเลย ส่วนที่พบสารกันบูดแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน 8 ตัวอย่าง         และพบกรดเบนโซอิกเกินมาตรฐาน 7 ตัวอย่าง คือ 1.น้ำพริกหนุ่ม ร้านดำรงค์ จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบ 890.32 มก./กก. 2.น้ำพริกหนุ่ม ล้านนา จาก ตลาดของฝากเด่นชัย จ.แพร่ พบ 1026.91 มก./กก. 3.น้ำพริกหนุ่ม นิชา (เจ๊หงษ์ น้ำพริกหนุ่ม) จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ 1634.20 มก./กก. 4.น้ำพริกหนุ่ม เจ๊หงษ์ จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบ 1968.85 มก./กก. 5.น้ำพริกหนุ่ม แม่ชไมพร จาก ตลาดสดอัศวิน ร้านสิริกรของฝาก จ.ลำปาง พบ 2231.82 มก./กก. 6.น้ำพริกหนุ่ม ยาใจ (รสเผ็ด) จาก ร้านขายของฝากสามแยกเด่นชัย จ.แพร่ พบ 3549.75 มก./กก. และ 7. น้ำพริกหนุ่ม อุมา จาก ตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา พบ 5649.43 มก./กก. (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 221)         “กุนเชียง” ว่าด้วยเรื่องของกุนเชียงนั้น เมื่อเดือน ธ.ค.2562 “นิตยสารฉลาดซื้อ” ได้รับการสนับสนุนทีมอาสาสมัครจากเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน ในการเก็บตัวอย่าง กุนเชียง 19 ตัวอย่าง แบ่งเป็นกุนเชียงหมู 9 ตัวอย่าง  กุนเชียงไก่ 5 ตัวอย่าง และกุนเชียงปลา 5 ตัวอย่าง มาตรวจสอบ ก็พบว่าทุกตัวอย่างมีความปลอดภัย ไม่มีวัตถุเจือปนอาหาร ไนไตรท์ ไนเตรท กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก เกินค่ามาตรฐาน หรือถ้าพบก็พบในปริมาณน้อยไม่เกินค่า ...(อ่านต่อได้ที่ฉลาดซื้อฉบับ 227)         มาต่อกันที่ “สลัดครีม” เมนูอาหารมื้อเบาๆ ที่มักพบสารกันบูดละไขมันนั้น จากการ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประเภทสลัดครีม 17 ตัวอย่าง จากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ มาตรวจวิเคราะห์ พบ 1 ตัวอย่างมีสารกันบูด ทั้งกรดซอร์บิก และ กรดเบนโซอิก รวมกันเกินค่ามาตรฐาน คือ “American Classic Ranch” โดยพบกรดเบนโซอิก664.14 มก./กก. และพบกรดซอร์บิก 569.47 มก./กก. รวมแล้วทั้ง 2 ชนิดพบ 1,233.61 มก./กก. (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 232)         กลุ่มสารเคมีทางการเกษตร และโลหะหนัก ทั้งนี้ สิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย มีโลหะหนัก หรือการใช้สารเคมีในภาคเกษตรที่มีอยู่หลายร้อยชนิด เป็นความเสี่ยงอย่างสูงที่จะทำให้วัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารนั้นมีการปนเปื้อนสารเหล่านี้ไปด้วย ดังนั้น ตลอดปี 2562-2563  “ฉลาดซื้อ” มีการเก็บตัวอย่างอาหารมาทดสอบหาการปนเปื้อน           โฟกัสไปที่ “น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ” เมื่อเดือน ก.พ.-มี.ค.2561 ได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ 12 ตัวอย่าง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อตรวจหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม ผลการตรวจตะกั่ว พบว่าในน้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มก./ อาหาร 1 กก. ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้าของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียมต้องน้อยกว่า 2 มก./กก.ก็พบว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช.ทุกตัวอย่าง           ต่อมาเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ 15 ตัวอย่าง โดยเป็นตัวอย่างในชื่อผลิตภัณฑ์เดิม 9 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 6 ตัวอย่าง ตรวจแล้วทุกอย่างอย่างผ่านเกณฑ์การทดสอบตะกั่ว และแคดเมียมทั้งหมด  แต่กลับตรวจพบสารกันบูดแต่ยังไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ซึ่งกรณีที่พบในปริมาณน้อย อาจจะเป็นไปได้ว่า กรดเบนโซอิกสามารถพบได้จากพืชพรรณหลายชนิดตามธรรมชาติ  (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 220)         ขณะที่ “ปลาสลิดตากแห้ง” ซึ่งเป็นอาหารที่แมลงวันชอบมาตอมและไข่ทิ้งไว้ ทำให้ดูไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งบางร้านใช้การขับไล่ตามปกติ แต่บางร้าน  อาจจะมีการใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่น ดังที่เป็นข่าวเมื่อต้นปี 2560 ที่พบการใช้ ไดคลอโรไดฟีนิลไตรคลอโรอีเทน (Dichloro-diphenyl-trichloroethane หรือ ดีทีที) ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อเดือน ก.ค. 2562 “ฉลาดซื้อ” จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลาสลิดตากแห้ง 19 ตัวอย่าง จากร้านค้าในตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าทั่วไป และร้านค้าออนไลน์ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่ผลตรวจไม่พบว่ามีตัวอย่างใดปนเปื้อนยาฆ่าแมลงในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต และในกลุ่มไพรีทรอยด์ แต่อย่างใด (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 235)         มาต่อกันที่ “น้ำปู” หรือ “น้ำปู๋” เป็นเครื่องปรุงรสของทางภาคเหนือ กลุ่มเดียวกับกะปิ ซึ่งจากการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์น้ำปูจำนวน 24 ตัวอย่าง จากตลาดในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ ระหว่างวันที่ 7-15 ก.ย. 2563 มาตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของพาราควอต พบสารพาราควอตในน้ำปู 33 % หรือ 1 ใน 3 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ ค่าเฉลี่ยของการตกค้าง 0.04275 มก./กก.         โดยตัวอย่างที่พบปริมาณพาราควอตตกค้างมากที่สุด ได้แก่1.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ต.บ้านลา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง พบ 0.090 มก./กก. 2.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ต.ทุ่งฮั้ว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง พบ 0.074 มก./กก. 3.น้ำปู ยี่ห้อน้ำปู๋แม่แจ่ม จาก ตลาดสดข่วงเปา ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ พบ 0.046 มก./กก.  4.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ร้าน น.ส.นิตยา ต.แม่ยางฮ่อ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ พบ 0.042 มก./กก. 5.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก บ้านป่าสัก ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา พบ 0.040 มก./กก. 6.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ตลาดบ้านปางลาว ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย พบ 0.031 มก./กก. 7.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จากบ้านหนุน อ.ปง จ.พะเยา พบ 0.011 มก./กก. และ 8. น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ร้านป้าหวิน บ้านร่องกาศใต้ ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น จ.แพร่ พบ 0.006 มก./กก. (อ่านรายละเอียดได้ที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 235)         ส่วน “หมึกแห้ง” นั้น เมื่อเดือน ม.ค.2563 ฉลาดซื้อได้เก็บหมึกแห้ง 8 ตัวอย่าง  (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 112-113 ปลาหมึกแห้ง ของดีแต่มีเสี่ยง) จากตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งร้านค้าในต่างจังหวัด และห้างออนไลน์ รวม 13 ตัวอย่าง  ตรวจพบว่าทั้ง 13 ตัวอย่างมีการปนเปื้อนปรอทแต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด โดยตัวอย่างที่พบสูงสุดอยู่ที่ 0.042 มก./กก. เช่นเดียวกับผลการตรวจหาตะกั่วที่พบทั้ง 13 ตัวอย่างแต่ไม่เกินเกณฑ์ สูงสุด คือ 0.059 มก./กก. สำหรับการตรวจหาสารพิษจากเชื้อรา ( Aflatoxin B1, B2, G1, G2 และ Total Aflatoxin) ไม่พบในทุกตัวอย่าง  เช่นเดียวกับการตรวจหาการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ ก็ไม่พบในทุกตัวอย่างเช่นกัน         อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการตรวจหาแคดเมียม ก็พบทุกตัวอย่าง แต่มีอยู่ 7 ตัวอย่างที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน คือ 1.หมึกแห้ง จาก ตลาดคลองเตย ไม่ระบุ ซ.1 ต้นโพธิ์ พบ 2.003  มก./กก. 2. หมึกแห้ง จาก จังหวัดระยอง ร้านโชคชัยการค้า พบ 2.393 มก./กก. 3. หมึกแห้ง จาก ร้านค้าออนไลน์ SHOPEE พบ 2.537  มก./กก. 4. หมึกแห้ง จาก ตลาดเยาวราช ร้าน ต.วัฒนาพาณิชย์ ตลาดเก่าเยาวราช พบ  3.006  มก./กก. 5. หมึกแห้ง จาก ตลาดมหาชัย ร้านศรีจันทร์ พบ  3.303  มก./กก. 6. หมึกแห้ง จาก จังหวัดตราด ร้านเจ๊อำนวย (ตรงข้าม รพ. จังหวัดตราด) พบ 3.432  มก./กก. และ 7. หมึกแห้ง จาก ตลาดปากน้ำสมุทรปราการ ร้านพี่น้อง (เจ๊เล็ก) พบ 3.872  มก./กก. ...(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 230)         อีกหนึ่งตัวอย่างที่ฉลาดซื้อให้ความสำคัญคือ “ถั่วเหลือง” เป็นพืชที่พบการใช้สารเคมีอันตราย อย่างพาราควอต และไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส แต่ถูกผลักดันให้ยกเลิกการนำเข้า และใช้สารเคมีเหล่านี้ในประเทศไทย ทั้งนี้เมื่อฉลาดซื้อ เก็บตัวอย่างถั่วเหลืองทั้งแบบเต็มเม็ดและแบบผ่าซีก  3 ครั้ง ในวันที่ 29 พ.ย., 2 ธ.ค. และ 6 ธ.ค. 62  รวม 8 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่มาทำการตรวจหาการปนเปื้อนสารเคมีทางการเกษตร         ทั้งนี้ผลตรวจสอบพบการตกค้างของไกลโฟเซต 5 ตัวอย่างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน  ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา ไร่ทิพย์ พบ 0.53 มก./กก., ถั่วเหลืองซีก ตรา เอโร่ พบ 0.07 มก./กก., ถั่วเหลือง ตรา ด็อกเตอร์กรีน พบ 0.50 มก./กก., ถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท พบ 0.20 มก./กก., และถั่วเหลืองผ่าซีก ตรา แม็กกาแรต พบ 0.24 มก./กก. ส่วนอีก 3 ตัวอย่างไม่พบการตกค้างได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา บิ๊กซี, ถั่วเหลิองออร์แกนิค ตรา โฮม เฟรช มาร์ท, และถั่วเหลืองซีก ตรา ท็อปส์        “แม้จะพบไกลโฟเซตไม่เกินค่ามาตรฐานอาหารสากล แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ หากมีการบริโภคในปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากถั่วเหลืองที่ไม่ผ่านความร้อนสูงไม่ว่าจะเป็นน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ฟองเต้าหู้”...(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 231)         สำหรับกลุ่ม “ไขมันทรานส์” ที่มักพบในขนม นมแนย นั้น และส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน ซึ่งล่าสุดทายอย.ประกาศห้ามมีในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ แล้วนั้น อย่างไรก็ตาม “ฉลาดซื้อ” ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาตรวจสอบ และเผยแพร่ต่อประชาชนคือ         “เค้กเนย และชิฟฟ่อน” โดยมีการเก็บตัวอย่าง 16 ตัวอย่าง พบไขมันทรานส์ในปริมาณน้อยไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 0.5 กรัม/หน่วยบริโภค ยกเว้นเค้กเนยของยี่ห้อ PonMaree Bakery (พรมารีย์ เบเกอรี่)  ที่พบไขมันทรานส์ที่ 0.61 กรัม ต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม) ถือว่าสูงกว่ายี่ห้ออื่นๆ แต่เมื่อตรวจสอบที่ผลการวิเคราะห์ชนิดของกรดไขมันทรานส์ พบว่า ยี่ห้อนี้เขาจัดหนักจัดเต็มในสูตรเค้กเพราะใช้เนยแท้ หรือก็คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่ตรวจพบนี้เป็นกรดไขมันทรานส์ธรรมชาติ จึงไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจผิดต่อผู้ที่รักสุขภาพ ส่วนผลตรวจหาสารกันเสีย ก็พบเค้กเนยนั้นไม่พบกรดเบนโซอิก แต่กรดเบนโซอิกเล็กน้อยไม่เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดไว้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ..(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 216)           การตรวจหาการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ และเชื้อดื้อยา        “ปลาทับทิมและเนื้อไก่ชำแหละ” ...เมื่อเดือนต.ค. 2563 “ฉลาดซื้อ” ลุยเก็บตัว “ปลาทับทิม” จากตลาดในเขตกรุงเทพฯ 11 แห่ง ตลาดและกระชังปลาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง 4 แห่ง รวม 15 ตัวอย่าง ส่งตรวจพบว่ามี 14 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ มีเพียง 1 ตัวอย่าง จากตลาดคลองเตย พบ ยา Oxytetracycline ในปริมาณน้อยกว่า 5.00 ไมโครกรัม/กิโลกรัม (ไม่เกินมาตรฐาน)         ส่วน “เนื้อไก่ชำแหละ” ซึ่งได้เก็บมา 10 ตัวอย่าง ผลตรวจพบว่ามี 9 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ  มี 1 ตัวอย่าง จากเนื้อไก่ที่ซื้อจากตลาดเจ้าพรหม  พบยา Enrofloxacin (Endrofloxacin) ในปริมาณ 0.66 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ทั้งนี้ ยาดังกล่าวไม่ได้เป็นรายการยาในบัญชีแนบท้ายประกาศ แม้ อย. อนุญาตให้ใช้ได้แต่ต้องไม่พบการตกค้างเลย อาจถือเป็นความผิดตามมาตรา 60 โทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522           มัดรวมไว้ตรงนี้ เผื่อว่าใครยังไม่ทราบว่าฉลาดซื้อได้เคยทำทดสอบด้านอาหารอะไรไว้บ้าง ก็น่าจะได้เป็นแนวทางในการค้นหารายละเอียดต่อไป และเราสัญญาว่า เราจะตามติดและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา เครื่องสำอาง ฯลฯ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ “ซื้อ” หรือ “ไม่ซื้อ” ในปี 2564 อย่างเข้มข้น แน่นอน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ไขมันทรานส์ในเค้กเนย หลังประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์มีผลบังคับ

              เค้กและผลิตภัณฑ์เบเกอรี เป็นขนมที่จัดว่ามีมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท เป็นขนมที่นิยมกันทุกเพศวัย  เค้กนั้นมีส่วนผสมหลักคือแป้ง ไข่ ไขมันและน้ำตาล จึงเป็นอาหารให้พลังงานสูง และเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่เดิมจัดว่าเป็นกลุ่มอาหารที่มีไขมันทรานส์สูง เนื่องจากส่วนผสมนั้นนิยมใช้ไขมันจากน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งทำให้เกิดไขมันทรานส์ แต่เมื่อมีกฎหมายห้ามการใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์แล้ว ทำให้หลายคนอยากทราบว่า เค้กและบรรดาขนมอบทั้งหลาย จะยังเป็นกลุ่มเสี่ยงของไขมันทรานส์หรือไม        ฉลาดซื้อ และโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงอาสาทำหน้าที่แทนผู้บริโภค เราเก็บตัวอย่างเค้กเนย จำนวน 12 ตัวอย่างจากผู้ผลิตเจ้าดัง และได้เพื่อนเครือข่ายผู้บริโภคเก็บตัวอย่างเค้กชิฟฟ่อน ที่นิยมซื้อเป็นของฝากจำนวน 4 ตัวอย่าง รวม 16 ตัวอย่าง ส่งทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ และสารกันบูดหรือวัตถุกันเสียกรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก โดยผลทดสอบเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภค เชิญติดตาม       ไขมันทรานส์ คืออะไร                   ไขมันทรานส์ (Trans Fat) เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่บริเวณพันธะคู่มีการจัดเรียงตัวของไฮโดรเจนอะตอมอยู่ตรงข้ามกัน สามารถพบได้ทั้งในธรรมชาติ และจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนลงในน้ำมัน       ไขมันทรานส์จากธรรมชาติ พบได้ในเนื้อวัว ควาย ซึ่งเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ดังกล่าว เช่น นม เนย ชีส แต่พบในปริมาณเพียงเล็กน้อย       ไขมันทรานส์จากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partial Hydrogenation) ลงไปในน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ซึ่งน้ำมันที่ผ่านกระบวนการดังกล่าวจะเรียกว่า Partially Hydrogenated Oil ทำให้น้ำมันที่อยู่ในสภาพของเหลวเปลี่ยนเป็นไขมันที่มีสภาพแข็งขึ้นหรือเป็นของกึ่งเหลว พบในอุตสาหกรรมเนยเทียม (margarine) หรือเนยขาว (shortening) ซึ่งไขมันดังกล่าวจะหืนช้า และมีอายุการเก็บรักษานานขึ้น ผลทดสอบ        ไขมันทรานส์                                                                                                                                                        จากผลการทดสอบพบว่า ปริมาณไขมันทรานส์ในเค้กเนย 12 ตัวอย่าง และเค้กชิฟฟ่อน 4 ตัวอย่าง มีปริมาณน้อยเฉลี่ยต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม) คือ 0.2 กรัม/หน่วยบริโภค   ถือว่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 0.5 กรัม/หน่วยบริโภค        ยกเว้นเค้กเนยของยี่ห้อ PonMaree Bakery (พรมารีย์ เบเกอรี่)  ที่พบปริมาณไขมันทรานส์ที่ 0.61 กรัม ต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม)  ทำให้ทางฉลาดซื้อเกิดคำถามว่า ทำไมผลทดสอบของ พรมารีย์ เบเกอรี่   จึงสูงกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ซึ่งเป็นไปได้สองสาเหตุคือ ยังคงใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์ หรือใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติคือ เนยแท้ จำนวนมาก ดังนั้นจึงตรวจสอบที่ผลการวิเคราะห์ชนิดของกรดไขมันทรานส์มีเพียงชนิดเดียวที่สูงเด่นมาก ได้แก่ Vaccenic acid (C18:1)-11 ที่พบมากตามธรรมชาติในไขมันจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง จึงอนุมานได้ว่า ยี่ห้อนี้เขาจัดหนักจัดเต็มในสูตรเค้กเพราะใช้เนยแท้ หรือก็คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่ตรวจพบนี้เป็นกรดไขมันทรานส์ธรรมชาติ  จึงไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจผิดต่อผู้ที่รักสุขภาพและควบคุมน้ำหนัก หากรับประทานเกิน1 หน่วยบริโภค         ปัจจุบัน ผู้ประกอบการน้ำมันและไขมันส่วนใหญ่ได้ปรับใช้กระบวนการอื่นแทนกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และมีการปรับสูตรผลิตภัณฑ์อาหารโดยไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้ว ดังนั้นเมื่อประกาศฯ มีผลใช้บังคับ (9 มกราคม 2562) ผลิตภัณฑ์เบเกอรี เช่น ขนมปังกรอบ เค้ก พาย พัฟ เพสตรี คุกกี้ หรืออาหารที่ผ่านการทอดโดยใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแบบน้ำมันท่วม (Deep frying) เช่น โดนัททอด ไก่ทอด  จะไม่มีการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม สามารถตรวจพบปริมาณไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์ข้างต้นได้ เนื่องจากอาจมีการใช้วัตถุดิบที่มีองค์ประกอบของไขมันทรานส์ตามธรรมชาติ เช่น นม เนย ชีส เป็นต้น ทั้งนี้ ปริมาณที่ตรวจพบน้อยมาก เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจนบางส่วน·        วัตถุกันเสีย                ฉลาดซื้อทดสอบหากรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ซึ่งเป็นวัตถุกันเสียที่นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์เบเกอรี เค้กเนยและเค้กชิฟฟ่อน พบว่า เค้กเนยจำนวน 10 ผลิตภัณฑ์ไม่พบกรดเบนโซอิก และพบปริมาณกรดเบนโซอิกเล็กน้อยใน 2 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจเป็นไปตามข้อสังเกตจากการทดสอบผลิตภัณฑ์ขนมอบที่ผ่านมาคือ มีการใช้แป้งสาลี ซึ่งใช้สารฟอกขาวที่เรียกว่า กรดเบนโซอิ้ว ซึ่งมีโครงสร้างทางเคมีที่คล้ายกรดเบนโซอิก ทั้งๆ ที่ในสูตรการผลิตเค้ก ไม่มีการผสมวัตถุกันเสีย ส่วนในเค้กชิฟฟ่อนไม่พบกรดเบนโซอิกจำนวน 3 ผลิตภัณฑ์และพบปริมาณเล็กน้อย 1 ผลิตภัณฑ์        ผลการตรวจหากรดซอร์บิก พบว่าปริมาณของกรดซอร์บิกที่ตรวจพบสูงสุดคือ ผลิตภัณฑ์เค้กเนย ของ KUDSAN Bakery & Coffee พบปริมาณกรดซอร์บิก 244.15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม   ซึ่งไม่เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดไว้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 389) พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5)        ตามบัญชีแนบท้าย ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 389) พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) อนุญาตให้ตรวจพบปริมาณสารกันเสียประเภท กรดเบนโซอิก ในผลิตภัณฑ์กลุ่มขนมอบที่มีการปรุงแต่งรสชาติ และส่วนผสมสำเร็จรูป ได้สูงสุดไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน กรดซอร์บิก สามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์ขนมอบ (ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่) ได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 138 เค้กกระทะกะข้าวเม่า

ก่อนน้องสาวจะต้องย้ายตัวเองไปเรียนภาษาที่นิวซีแลนด์ เธอกลับมาอยู่บ้านของพ่อเธอ 1 สัปดาห์ ก็บ้านเดียวกับที่ฉันกับแม่อาศัยอยู่นี่แหละ แล้วบ่ายวันหนึ่ง ก็ได้ฤกษ์ดีที่ฉันมีโอกาสว่างได้ละจากหน้าจอคอมพ์ชั่วคราว  ฉันก็ได้ลองทำเค้กกระทะ(pan cake) กันกับแม่และน้อง  ทำครั้งแรกก็ทำเลียนแบบสูตรที่ข้างกล่องแป้งแพนแค้กสำเร็จรูปจำหน่ายว่าไว้ เพียงแต่ลดเนื้อแป้งลงนิดหน่อย และไม่ใส่เนยตามสูตร เพราะแม่ต้องควบคุมไขมัน อันที่จริง ก่อนหน้านี้ย้อนไปกว่า 10 ปี เค้กกระทะที่เคยกินอยู่นี้มีเพื่อนคนหนึ่งเคยทำให้กิน  ทั้งๆ ที่เพื่อนคนนี้ไม่นิยมการทำอาหารใดๆ เลย ยกเว้นการชงกาแฟหอมๆ ให้เพื่อนๆ ดื่ม  จำได้ว่านอกจากความแปลกประหลาดใจที่เห็นเธอลงมือทำเองแล้ว  รสอร่อยของแพนเค้กชุดนั้นมันอร่อยมากด้วยเช่นกัน   หลังจากนั้นมา พอเบื่อๆ อาหาร บางคราวก็นึกถึงเค้กกระทะ  แล้วก็ทดลองทำกินเองจากสูตรแป้งสำเร็จที่มีวางขายในชั้นของซูเปอร์มาร์เก็ต  มีบ่อยๆ ที่ฉันเพิ่มแป้ง ลดแป้ง ลดนม  แล้วเติมกล้วยหอม กล้วยน้ำว้า ข้าวโอ้ต  รำละเอียด หรืองา  ลงไปผสม  ทำเสร็จออกมาก็กินกับแยมมั่ง น้ำผึ้งมั่ง  ผลัดเปลี่ยนไปตามแต่จะมีวัตถุดิบอะไรมาให้เล่น   แพนเค้กข้าวเม่า เครื่องปรุง แป้งแพนเค้กสำเร็จรูป 100 กรัม  หรือ  1 ถ้วย , นมสด   1 ถ้วย , ไข่ไก่ฟองใหญ่ 1 ฟอง , ข้าวเม่า  1/3 ถ้วย , น้ำมันถั่วเหลือง 1 ช้อนโต๊ะ   วิธีทำ 1ใส่น้ำมันลงในถ้วย ตีไข่แล้วคนให้ไข่แดง และไข่ขาวเข้ากันกับน้ำมัน 2.เติมน้ำนมลงไปแล้วใส่ข้าวเม่าคนให้เข้ากัน  จากนั้นจึงค่อยๆ เติมแป้งลงไปทีละน้อย  คนให้แป้งละลาย จนกระทั่งแป้งหมด 3.ตั้งกระทะเทฟลอนบนเตาไฟขนาดกลาง  เมื่อกระทะร้อนดีแล้วจึงค่อยๆ ตักส่วนผสมที่เตรียมไว้ลงไปทอด จนกระทั่งเหลืองหอมแล้วพลิกอีกด้านหนึ่งทอดให้เหลืองสุก ตัดเสิร์ฟ กินกับเนย แยม หรือน้ำผึ้ง ครบ 1 เดือนพอดี ที่น้องไปอยู่ในที่ที่ไม่มีใครในบ้านรู้จัก  อาการกินอะไรไม่ได้นอกจากนมกับกล้วยหอมของน้องเริ่มดีขึ้น เธอเริ่มกินขนมปัง และหันมาพึ่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบ้าง  แต่ยังปฏิเสธชัดเจน แกะแพะและเนื้อวัว จนฉันกับแม่คลายห่วงลงได้นิดหน่อย ระหว่างเคี้ยวเค้กกระทะราดแยมส้มและเนยที่มีเม็ดข้าวเม่าเจือกลิ่นอยู่ในปาก  ฉันกำลังสงสัยว่า ถ้าเปลี่ยนเป็นข้าวเม่าในไข่เจียวกินกับปลาร้าบ้องอุบลฯ  หรือน้ำพริกหนุ่มเจ้าอร่อยจากเชียงใหม่ที่น้องชอบ   มันจะทำให้อาการช่วยบรรเทาคิดถึงปลาร้าสับ ปลาร้าหลนของน้องสาวที่อยู่ไกลได้ไหมหว่า???

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่่ 136 ขนประหลาดในเค้ก

ด้วยชีวิตรีบเร่ง ทำให้เดี๋ยวนี้คนไทยกินข้าวที่บ้านกันน้อยลง หันไปพึ่งอาหารสำเร็จรูปเยอะขึ้น เข้าร้านสะดวกซื้อหยิบปุ๊บ จ่ายเงินปั๊บ แกะห่อเป๊ะ หยิบใส่ปากป๊าบ เอ๋...นี่มันเส้นอะไร อึ๋ยยยย! นี่มันขน.@#@?? “คน” นี่นาเช้าวันที่ 15 มีนาคม 2555 น่าจะเป็นเช้าวันทำงานที่สดใสอีกวันหนึ่งสำหรับคุณบูรณ์มี หากว่าไม่เจอขนเส้นนั้น ก่อนออกไปทำงาน เธอเปิดตู้เย็นเพื่อหาของรองท้อง หมายตาไปที่ขนมเค้กโรลบลูเบอรี่ฟาร์มเฮ้าส์ ที่ซื้อจากร้านเซเว่น อีเฟเว่นใกล้บ้านตั้งแต่เมื่อคืนวันวานเธอแกะมารับประทานได้คำสองคำ ก็เจอเส้นขนประหลาดแทรกอยู่ในเนื้อขนมเค้ก ทีแรกเธอคิดว่าเป็นเศษด้ายสีดำ แต่เมื่อเอานิ้วไปเขี่ยๆ แตะๆ ก็รู้ว่าไม่ใช่ หยิบขึ้นมาดูชัดๆ มันดูเหมือนขนเพชรของคนมากเลย“ทิ้งเลยค่ะไม่กินต่อเลย”พอเจอขนประหลาดในเนื้อขนม สิ่งแรกที่เธอทำคือ การกดเบอร์โทรลูกค้าสัมพันธ์ฟาร์มเฮ้าส์ที่แสดงอยู่บนซองขนมเพื่อจะร้องเรียน ปรากฏว่าไม่มีใครรับสายเพราะตอนนั้นเป็นเวลา 7 โมงเช้ากว่าๆพอถึงที่ทำงานเวลา 9 โมงกว่าโทรเข้าไปใหม่สายก็ไม่ว่าง ประมาณเกือบ 11 โมงจึงโทรติด“พอมีเจ้าหน้าที่มารับสายก็เลยบอกว่าเราได้เจอขนเพชรในขนม เจ้าหน้าที่ถามกลับมาว่าวันผลิต วันหมดอายุเมื่อไหร่ เลยบอกไปว่าผลิต 13 มี.ค. หมดอายุ 18 มี.ค.55 ซื้อจากที่ไหน ก็บอกว่าร้านสะดวกซื้อ(เซเว่น) อยู่แถวฝั่งตรงข้ามสำนักงาน ปปส. ดินแดง” จากนั้นก็ได้มีเจ้าหน้าที่ของฟาร์มเฮ้าส์โทรติดต่อกลับมาอีกครั้ง“ถามว่าจะมาพบได้ที่ไหน ตอนนี้ขนมอยู่ที่มือหรือเปล่า บอกว่าอยู่ เขาบอกว่าจะมีเจ้าหน้าที่มาพบตอนบ่าย แต่ตอนหลังโทรกลับมาบอกว่ารถไม่ว่างจะมาวันพรุ่งนี้ คือวันที่ 16 มี.ค. บอกว่าจะมาประมาณ 11 โมงเช้าวันที่ 16 มี.ค. 55 เวลาประมาณ 11.00 น. ณ ที่ทำงานของคุณบูรณ์มี  มีเจ้าหน้าที่ของบริษัทฟาร์มเฮ้าส์มาขอพบเธอ 2 คน“ก็นำขนมชิ้นนั้นไปให้ดู เขาก็ขอโทษและชี้แจงว่า ช่วงนี้มีพนักงานเข้าออกกันบ่อย บอกขอบคุณที่ช่วยแจ้งข้อมูล และให้ขนมปลอบใจ 1 กระปุกแล้วแยกย้ายกันไป”“ก็มึนๆ ล่ะค่ะ ที่เขาเอาขนมอีกกระปุกมาให้เป็นการขอโทษ จบแค่นี้เองเหรอคะ”คุณบูรณ์มีทิ้งท้าย ก่อนส่งข้อมูลและภาพถ่ายของขนมและเส้นขนในขนม พร้อมสำเนาบันทึกประจำวันของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ใจในการร้องเรียนมาให้มูลนิธิฯ เพื่อขอให้ช่วยดำเนินการตรวจสอบปัญหานี้ต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหาการที่มีเส้นขนหรือสิ่งแปลกปลอมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภคปะปนมาในอาหาร โดยที่ไม่ได้เกิดจากการกระทำของผู้บริโภค ให้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากการผลิต บรรจุ หรือ เก็บรักษาอาหารโดยไม่ถูกสุขลักษณะเป็นเหตุให้เกิดปัญหาที่เรียกว่า “อาหารไม่บริสุทธิ์” ซึ่งพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 ได้มีข้อห้ามไม่ให้ผู้ใดผลิตหรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับถ้าจะเปรียบเทียบความรุนแรงของโทษ การจำคุกไม่เกิน 2 ปีก็มีความรุนแรงเท่ากับโทษการทำร้ายร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ซึ่งทำให้เกิดอันตรายแก่กาย หรือจิตใจของผู้อื่น เช่น  ตบหน้าจนบวมช้ำ ต้องรักษาบาดแผล ส่วนโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทก็เป็นการปรับระดับโทษเดียวกับการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 เช่น รักษาผู้ป่วย  ไม่รอบคอบ ประมาทเลินเล่อทำให้เขาตาย ขับรถประมาทชนคนตาย   มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท แต่โทษจำนั้นหนักกว่าคือมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ดังนั้น การแสดงความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจเพียงแค่กล่าวคำขอโทษแล้วให้ขนมมาปลอบใจดูจะอ่อนไปหน่อย มูลนิธิฯ จึงได้มีหนังสือร้องเรียนไปถึงบริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตขนมฟาร์มเฮ้าส์ และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) ผู้ประกอบการร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ในฐานะผู้จำหน่ายขนม ให้ร่วมกันตรวจสอบปัญหาและพิจารณาเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บริโภคตามสมควรไม่นานบริษัทเพรซิเดนท์ เบเกอรี่ฯ ได้มีหนังสือชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกลับมาที่มูลนิธิฯ โดยใจความสำคัญพอสรุปได้ว่า โอกาสที่สิ่งแปลกปลอมจะปนเปื้อนเข้าสู่กระบวนการผลิต อาจเกิดจากวัตถุดิบบางประเภท อาทิเช่น ไข่ไก่ตอก เนื่องจากไข่ไก่ที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นั้น เป็นไข่ไก่สด ซึ่งถูกบรรจุในถุงแช่เย็นจากทางผู้ผลิตไข่ไก่โดยตรงใส่ในถาดตะแกรง เมื่อเข้าสู่โรงงานจะผ่านขั้นตอนการตรวจรับที่อยู่ภายนอกอาคาร เจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพจะทำการสุ่มตรวจสิ่งแปลกปลอม กรณีสุ่มไม่พบ ไข่ไก่จะถูกส่งเข้าสู่กระบวนการผลิตต่อไป“จากกรณีดังกล่าวทางบริษัทฯ จึงเล็งเห็นแนวทางพัฒนาการป้องกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมคุณภาพ โดยเพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบสิ่งแปลกปลอม เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าวัตถุดิบที่ใช้ตลอดจนกระบวนการผลิตยังอยู่ในมาตรฐาน”“เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2555 ทางบริษัทฯ จึงได้ทำการติดต่อลูกค้าอีกครั้ง เพื่อทำความเข้าใจและยืนยันในคุณภาพกระบวนการผลิตภายใต้มาตรฐานหลักปฏิบัติการผลิตที่ดี และดำเนินการส่งมอบผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นการขอบพระคุณลูกค้าที่กรุณาให้ข้อมูลกรณีพบสิ่งแปลกปลอมในผลิตภัณฑ์แก่ทางบริษัทฯ ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อันนำไปสู่การพัฒนากระบวนการตรวจสอบคุณภาพของฝ่ายผลิตของทางบริษัทฯ ภายหลังการดำเนินการทางลูกค้าได้รับความพึงพอใจเป็นอย่างมาก” เป็นคำตอบจาก บริษัทเพรซิเดนท์ เบเกอรี่ฯในท้ายที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 เค้ก (cake)

เค้ก (cake) ขนมอบประจำเทศกาลสำคัญ ทั้งปีใหม่ วันเกิด งานแต่งงาน เค้กกำเนิดมาในยุคเดียวกับขนมปังตั้งแต่อียิปต์โบราณ เดิมแยกความแตกต่างของเค้กกับขนมปังด้วยรูปร่างและรสชาติ   เค้ก ออกรสหวานเด่นชัด ซึ่งส่วนใหญ่จะได้จากน้ำผึ้ง ภายหลังความแตกต่างยิ่งเด่นชัดขึ้นมาก เมื่อขนมปังจัดอยู่ในกลุ่มอาหารหลัก ส่วนเค้กจัดอยู่ในกลุ่มขนมหวาน   เค้กยุคแรกจะทำโดยใช้เตาหินร้อนๆ และใช้ยีสต์เพื่อการขึ้นฟู มาเลิกใช้ยีสต์เอาเมื่อศตวรรษที่ 18 เมื่อมีคนคิดค้นเบกกิ้งโซดาได้ในปี ค.ศ. 1840 และยังมีผงฟูที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1860 ส่วนการเปลี่ยนจากเตาหินมาเป็นเตาไฟฟ้าหรือเตาแก๊สนั้น เริ่มในศตวรรษที่ 19 ประมาณปี ค.ศ. 1900  ว่ากันว่าโลกนี้มีสูตรการทำเค้กเป็นล้านๆ สูตร บางสูตรตำรับก็ถ่ายทอดสืบต่อกันมา  นานนับศตวรรษ แต่ก็ล้วนทำจากส่วนผสมหลัก 4 อย่าง คือ แป้ง น้ำตาล ไข่ และไขมัน   เห็นส่วนผสมก็น่าจะดูออกว่า เค้กเป็นขนมที่ให้พลังงานสูง เค้ก 1 ชิ้นเล็ก(35 กรัม) ให้พลังงานถึง 140 กิโลแคลอรี่ ยิ่งถ้ากินร่วมกับน้ำหวาน น้ำอัดลมปริมาณแคลอรี่ยิ่งกระฉูด ดังนั้นก็เตือนกันไว้ อร่อยได้ แต่อย่ามากมายนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >