ฉบับที่ 221 ผลทดสอบสารกันบูดในแกงไตปลาแห้ง

        แกงไตปลาแห้ง หรือที่เรียกว่า แกงพุงปลาแห้ง หมายถึง ผลิตภัณฑ์พร้อมบริโภคที่ทำจากไตปลาหมัก เนื้อปลาแห้ง เครื่องเทศและสมุนไพร เช่น ใบมะกรูด มาผสมรวมกัน ปรุงรสด้วยเครื่องปรุงรส เช่น กะปิแล้วเคี่ยวให้แห้ง เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่แปรรูปจากแกงไตปลาทำให้แห้งเพื่อเก็บรักษาได้นานขึ้น         อย่างไรก็ตามแกงไตปลาแห้งในแหล่งผลิตหลายแห่งมีการใช้สารกันบูดเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา ซึ่งนิตยสารฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้ทำทดสอบผลิตภัณฑ์นี้ไปเมื่อปีที่ผ่านมา(2561) พบว่าจากตัวอย่างแกงไตปลาแห้งที่นำมาทดสอบทั้งหมดจำนวน 10 ยี่ห้อ มี 5 ยี่ห้อ ที่พบสารกันบูด(กรดเบนโซอิก/ ซอร์บิก) ตกค้างเกินกว่าที่มาตรฐานโคเด็กซ์กำหนด คือพบได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มก./ อาหาร 1 กก.         ในครั้งนี้เราจึงทำทดสอบซ้ำเพื่อติดตามและเฝ้าระวังสารกันบูดในแกงไตปลาแห้ง โดยเก็บจากฐานตัวอย่างเดิมและเพิ่มยี่ห้อใหม่ ซึ่งต้องขอบคุณเครือข่ายผู้บริโภคในภาคใต้ที่ช่วยเก็บตัวอย่างสินค้าให้ เป็นจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 15 ตัวอย่าง ซึ่งขอแจ้งไว้ตรงนี้เลยว่า ผลการทำทดสอบเพื่อการเฝ้าระวังสินค้าชนิดนี้ มีแนวโน้มดีขึ้น ผลการทดสอบ        ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561 (เรื่องวัตถุเจือปนอาหารฉบับที่ 5) ไม่ได้ห้ามการใส่สารกันบูดในผลิตภัณฑ์แกงไตปลาแห้ง* แต่กำหนดให้ใส่อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม เพราะการใช้วัตถุกันเสียที่มากเกินไป สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคที่รับประทานเป็นประจำได้ เช่น ทำให้ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือเกิดการสะสมในร่างกายและก่อให้เกิดเป็นพิษเรื้อรังในอนาคต        จากการทดสอบผลิตภัณฑ์ 15 ตัวอย่าง พบว่า มี 3 ตัวอย่างที่เกินค่ากำหนดตามกฎหมาย ได้แก่            1.ยี่ห้อ คุณแม่จู้ (จังหวัดภูเก็ต) พบปริมาณกรดซอร์บิก 1190.45 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม            2.ยี่ห้อ แม่กุ่ย (จังหวัดภูเก็ต) พบปริมาณกรดซอร์บิก 1107.64 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม            3.ยี่ห้อ เจ้นา (จังหวัดพังงา) พบปริมาณกรดเบนโซอิก 971.76 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม            และ 4.ยี่ห้อ ป้าสุ (จังหวัดสุราษฎร์ธานี) พบปริมาณกรดซอร์บิก 697.23 และ กรดเบนโซอิก 332.01 ซึ่งมีปริมาณรวมกันเกิน 1 ตามกฎหมายกำหนด         หากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 389) การใช้วัตถุเจือปนอาหารที่มีการกำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตเป็นตัวเลขในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป จะต้องมีผลรวมของสัดส่วนของปริมาณการใช้วัตถุเจือปนอาหารต่อปริมาณสูงสุดที่อนุญาตของวัตถุเจือปนอาหารแต่ละชนิดไม่เกินหนึ่ง         *แกงไตปลาแห้ง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 389 จัดอยู่ในอาหารหมวด 12.2.2 (เครื่องปรุงรส) ซึ่งกำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตของวัตถุกันเสีย ประเภทกรดเบนโซอิก(INS 210) 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ วัตถุกันเสียประเภทกรดซอร์บิก(INS 200)  1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สรุปผลการเปรียบเทียบการทดสอบสารกันบูด พ.ศ. 2561 และ 2562

อ่านเพิ่มเติม >