ฉบับที่ 274 ภัยครีมผิวขาวผิดกฎหมาย

ธันวาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงผลการทดสอบเครื่องสำอางที่ขายผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์พบสารห้ามใช้ 8 รายการ อาทิ ปรอท สารสเตียรอยด์ ที่อาจทำให้เกิดการแพ้ เกิดฝ้าถาวร เสี่ยงพิษร้ายแรง  ทำให้หวนนึกถึงเหตุการณ์เมื่อต้นปี 2566 ที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) EcoWaste Coalition จากประเทศฟิลิปปินส์ และเครือข่ายการกำจัดมลพิษระหว่างประเทศ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (IPEN-SEA) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีสมาชิกองค์กรภาคประชาสังคมจากกว่า 120 ประเทศทั่วโลกที่ติดตามปัญหามลพิษในระดับนานาชาติ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เมื่อวันที่  6 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อเรียกร้องให้ อย. เปิดเผยรายชื่อรายการเครื่องสำอางที่ปนเปื้อนสารปรอทที่มีการเพิกถอนแล้วให้เป็นปัจจุบัน รวมถึงขอให้นำระบบการแจ้งเตือนภายหลังออกสู่ท้องตลาดของอาเซียน (ASEAN Post-Marketing Alert System: PMAS) มาใช้แจ้งเตือนหน่วยงานรัฐและผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนให้ทราบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผลิตขึ้นโดยไม่คำนึงถึงข้อกำหนดต่างๆ โดยเฉพาะที่ปนเปื้อนสารปรอทและสารต้องห้าม หรือสารควบคุมอื่นๆ  “ได้โปรดดำเนินการจัดการผู้กระทำความผิด เพื่อยุติการขายเครื่องสำอางที่มีการปนเปื้อนของสารปรอทอย่างผิดจริยธรรมและกฎหมาย และเพื่อปกป้องสิทธิทางสุขภาพที่ดีและสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ไร้มลพิษ”         เครื่องสำอางที่เอ็นจีโอฟิลิปปินส์ EcoWaste Coalition  ตรวจพบการปนเปื้อนของสารประกอบของปรอทนั้น ได้แก่       ครีมเลดี้โกลด์ สาหร่ายทองคำ ผสมกลูต้า, ครีม Super Gluta Brightening, ครีมหมอยันฮี จำนวน 5 สูตร (Dr. Yanhee), ครีม Dr. วุฒิ-ศักดิ์ จำนวน 2 สูตร (Dr. Wuttisak), ครีมสมุนไพรสาหร่ายเหมยหยง ซุปเปอร์ไวท์เทนนิ่ง (Meyyong Seaweeds Super Whitening), ครีมพอลล่าโกลด์ (Polla Gold Super White Perfects), ครีมไข่มุกนาโน (White Nano), ครีมบำรุงหน้า 88 สูตรกลางคืน (88 Whitening Night Cream), ครีมรักแร้ขาว 88 (88 Total White Underarm Cream) และครีมรักแร้ขาว สโนว์ไวท์ (Snow White Armpit Whitening Underarm Cream) ซึ่งพบสารปรอทในปริมาณที่สูงมากระหว่าง 2,486 ppm ไปจนถึง 44,540 ppm และทุกตัวอย่างฉลากระบุว่า “ผลิตในประเทศไทย”          ต่อมาทาง อย.ได้สื่อสารต่อสาธารณะในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 โดย ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ว่า  “อย. ตรวจสอบพบว่าเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ได้จดแจ้ง 13 รายการ จดแจ้งแล้ว 1 รายการ ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่ามีการกระทำผิดหรือลักลอบใส่สารห้ามใช้ จะถูกดำเนินการตามกฎหมายและประกาศผลวิเคราะห์ทันที สำหรับเครื่องสำอางเถื่อน อย. จะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบหาแหล่งผลิตและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” ในไทยก็ขายเกลื่อน         จากข้อสรุปข้างต้นคือ เครื่องสำอางที่เอ็นจีโอฟิลิปปินส์พบการปนเปื้อนสารประกอบของสารปรอทนั้น เกือบทั้งหมดเป็นเครื่องสำอางผิดกฎหมาย ไม่มีการกำกับเบื้องต้นจากหน่วยงาน อย. หรือไม่มีเลขจดแจ้ง (เครื่องหมาย อย.สำหรับเครื่องสำอาง) สำหรับ 1 ตัวอย่างที่พบเลขจดแจ้ง ต้องรอดูว่า ทาง อย.จะดำเนินการอย่างไร จะยกเลิกสถานะและดำเนินคดีทางกฎหมายหรือไม่         อย่างไรก็ตามทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคภาคกลาง ตั้งข้อสังเกตว่า แล้วทำไมสินค้าเครื่องสำอางปลอมจึงระบาดไกลไปถึงฟิลิปปินส์ และในประเทศไทยจะยังมีวางขายหรือไม่ หาซื้อง่ายหรือไม่  จึงได้ทดลองหาซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทอ้างว่าทำให้ผิวขาวหรือครีมผิวขาวผิดกฎหมาย โดยตั้งใจตามหายี่ห้อเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่ทางเอ็นจีโอฟิลิปปินส์พบว่ามีการปนเปื้อนสารประกอบของปรอท ในเดือนมีนาคม 2566 หลังจากนั้นเพื่อยืนยันในเบื้องต้นว่า ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปรากฎแลขจดแจ้ง หรือจะเรียกอีกอย่างว่า เป็นสินค้าผิดกฎหมายเหล่านี้ มีการใส่สารต้องห้าม อย่างปรอทจริงหรือไม่ (เมื่อจำหน่ายในประเทศ) ฉลาดซื้อและมูลนิธิบูรณะนิเวศ จึงได้ทดสอบผลิตภัณฑ์จำนวน 12 ตัวอย่างที่เก็บตัวอย่างมา โดยทดสอบด้วย  ชุดตรวจปรอทในเครื่องสำอางเบื้องต้น (Mercury test kit in cosmetic)    พบว่า มีสารประกอบของปรอททุกตัวอย่าง ในไทยก็ขายเกลื่อน         จึงฝากเป็นข้อเตือนใจสำหรับผู้บริโภค อย่าซื้อ อย่าใช้เครื่องสำอางผิดกฎหมาย ถ้าไม่แน่ใจเลขจดแจ้งที่ผู้ผลิตระบุ ตรวจสอบได้ที่  https: //oryor.com/check-product serial ลิ้งก์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย. ) (oryor.com)  อันตรายของเครื่องสำอางที่มีการพบสารปรอท อาจทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง เกิดพิษสะสมของสารปรอท ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และไตอักเสบ       ข้อแนะนำ         1.ซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน น่าเชื่อถือ และมีหลักฐานการซื้อขายที่ระบุชื่อและที่ตั้งของผู้ขายอย่างชัดเจน         2.ฉลากภาษาไทยมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนดอย่างครบถ้วน ได้แก่ ชื่อเครื่องสำอาง ชื่อทางการค้า ประเภทเครื่องสำอาง ชื่อของสารที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิตหรือปีเดือนที่ผลิต คำเตือน (ถ้ามี) และเลขที่ใบรับจดแจ้ง         3.กรณีที่พบผลิตภัณฑ์ ที่สงสัยว่าจะเป็นอันตราย สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ                   

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 271 ไม่อยากเสี่ยงหน้าพัง ต้องเลือกเครื่องสำอางที่ปลอดภัย

        มีหลายคนที่ต้องเผชิญภาวะผิวหน้าเป็นสิวหรือเกิดอาการแพ้ระคายเคืองต่างๆ จากเครื่องสำอางโดยที่ไม่รู้ตัวว่าสาเหตุต้นตอมันมาจากเครื่องสำอางที่เราใช้นี่แหละ ซึ่งสาเหตุก็มาจากที่บางคนซื้อสินค้ามาจากออนไลน์ตามกระแส เพราะดูรีวิวแล้วเชื่อ เห็นเขาว่าดีก็เลยอยากลอง โดยไม่ได้เช็กว่าของแท้หรือของปลอมหรือของไม่มีคุณภาพ เมื่อนำมาใช้ก็เกิดผลเสียต่อผิวหน้า         การเลือกเครื่องสำอางจึงต้องมั่นใจว่า ปลอดภัย เพื่อลดการระคายเคืองและอาการอื่นๆ ที่ไม่พึงประสงค์ ดังนี้             1. เลือกที่มี เลขที่จดแจ้ง ซึ่งหมายถึงเครื่องสำอางนั้นได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว  เครื่องสำอางคือ สินค้าควบคุมที่ผู้ประกอบการต้องมาจดแจ้งกับทาง อย. ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัย สามารถนำเลขไปเช็กได้ที่หน้าเว็บไซต์ของทาง https://oryor.com/check-product-serial            2. มีฉลากระบุรายละเอียดให้ครบถ้วน ยกตัวอย่าง ชื่อหรือประเภทเครื่องสำอาง ส่วนผสมประกอบด้วยอะไรบ้าง วันเดือนปีที่ผลิต-หมดอายุ วิธีการใช้ ปริมาณสุทธิ ที่ตั้งผู้ผลิต-นำเข้า ครั้งที่ผลิต คำเตือนและฉลากต้องเป็นภาษาไทยชัดเจนตามที่กฎหมายกำหนด             3. หากหาวันหมดอายุไม่เจอให้ดูสัญลักษณ์สากล เช่น สัญลักษณ์รูปกระปุกเปิดฝาที่มีเขียนข้อความตรงกลางว่า 2M 3M 6M โดยมีความหมายตัวอย่าง คือ 2M = สินค้าตัวนี้จะมีอายุหลังเปิดใช้งาน 2 เดือนนั้นเอง (เลือกดูตรงนี้ได้เพื่อการตัดสินใจในการเลือกซื้อได้)             4. สัญลักษณ์เป็นรูปหนังสือ คือ สัญลักษณ์ให้อ่านข้อมูลเพิ่มเติมในแผ่นพับ พวกรายละเอียดวิธีใช้ต่างๆ            5. ไม่ควรใช้สินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์แตกหรือรั่ว ควรเลือกเครื่องสำอางที่แพกเกจอยู่ในสภาพสมบูรณ์             6. ควรทดลองก่อนใช้ทุกครั้ง เช่น นำสินค้ามาเทสที่บริเวณแขนก่อนทุกครั้ง ก่อนใช้เพื่อให้เราแน่ใจว่าไม่แพ้แน่นอน  สิ่งที่ควรระวัง        · ส่วนผสมต่างๆ ของเครื่องสำอางทั้งก่อนซื้อ-ก่อนใช้ ควรอ่านฉลากให้ละเอียดว่าส่วนผสมของสารอะไรบ้าง ซึ่งบางอันอาจมีสารที่เราอาจจะแพ้ระคายเคืองได้ง่าย         · คำเตือน ตรงนี้ควรอ่านให้ชัดเจนและละเอียด ที่สำคัญควรทำตามอย่างเคร่งครัด        · สำหรับนักช้อปทั้งที่ชอบซื้อลิปสติก รองพื้น บลัชออนตามห้าง ก็ควรระวังไม่นำตัวเทสเตอร์ของทางร้านมาสัมผัสผิวโดยตรง เพราะอย่าลืมว่าเทสเตอร์แต่ละอันนั้น มีการเทสไปแล้วหลายคน อาจมีเชื้อโรคที่เรามองไม่เห็นอยู่ได้ หากเรานำมาใช้ต่อก็อาจเกิดสิว หรือติดเชื้อได้        · ไม่ควรซื้อเครื่องสำอางในปริมาณเยอะ เพราะอาจจะเสื่อมสภาพก่อนใช้งานได้        · สุดท้ายไม่ควรใช้เครื่องสำอางร่วมกับคนอื่น ควรใช้เป็นของส่วนตัวโดยเฉพาะ        · ไม่ใช้เครื่องสำอางปนกัน เช่น ใช้ทาที่ผิวก็ควรทาแค่ผิวกาย ไม่เอามาทาบริเวณผิวหน้า เพราะเครื่องสำอางแต่ละแบบก็ถูกออกแบบมาให้ใช้แค่บริเวณนั้นโดยเฉพาะนั่นเอง                    สุดท้ายอยากให้ระมัดระวังการซื้อเครื่องสำอางที่มีราคาถูกกกว่าปกติทั่วไปในโลกออนไลน์ แนะนำให้ซื้อกับร้านค้า Official ของแบรนด์ในแต่ละแพลตฟอร์มเท่านั้น เพื่อมั่นใจได้ว่าจะได้ของแท้แน่นอน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการซื้อของปลอมอีกด้วย อีกเรื่องคือการซื้อเครื่องสำอางตามตลาดนัดก็ควรจะระมัดระวังให้ดี แม้ว่าบางครั้งสินค้าจะไม่ใช่ของปลอมทุกอัน แต่ก็มีความเสี่ยงหากราคาตัวสินค้ามีราคาถูกกว่าสินค้าปกติ แถมเครื่องสำอางพวกครีมทาหน้าตามตลาดนี้ต้องระวังให้ดีอีกด้วย มักมีพวกครีมสารอันตรายไม่ได้มาตรฐานอยู่เยอะ หากมีอาการระคายเคืองแพ้เครื่องสำอางก็ควรหยุดใช้ทันที และไปพบแพทย์ไม่ควรรักษาเองนะคะ  อ้างอิงจาก: FDA Thai  https://youtu.be/qC9_ZvbxTX0?si=BYr32FEhzhSPfLRuhttps://youtu.be/SIAaW0-bXaA?si=V2nxCn8-BSmBRteOPobpad: เรื่อง...เคล็ดลับเลือกซื้อเครื่องสำอางอย่างปลอดภัย ไม่อยากหน้าพัง ต้องอ่าน!

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 สำรวจฉลากคลีนซิ่ง รีมูฟเวอร์

        คลีนซิ่ง (Cleansing) หรือ รีมูฟเวอร์ (Remover) เป็นผลิตภัณฑ์เช็ดทำความสะอาดผิวหน้าหน้าได้ล้ำลึก ที่มีคุณสมบัติเบื้องต้นช่วยขจัดคราบเครื่องสำอาง ครีมกันแดด ครีมบำรุงผิว ความมันส่วนเกิน รวมถึงละอองฝุ่นควันจากมลภาวะต่างๆ ให้หลุดออกไปอย่างหมดจด ช่วยลดการอุดตันจากไขมันหรือสิ่งสกปรกที่เป็นสาเหตุให้เกิดสิวและปัญหาผิวต่างๆ ทำให้ผู้ใช้เผยผิวหน้าสุขภาพดีอย่างมั่นใจ         ปัจจุบันมีผู้ผลิตพัฒนาคลีนซิ่งออกมาหลายสูตรมาก ผู้บริโภคควรเลือกให้ตอบโจทย์กับสภาพผิว ความจำเป็น และความคาดหวังผลหลังใช้ รวมทั้งเลี่ยงสารที่อาจทำให้มีอาการแพ้หรือระคายเคืองผิวด้วย         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกคลีนซิ่ง/รีมูฟเวอร์ จำนวน 23 ตัวอย่าง 22 ยี่ห้อ จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 มาสำรวจฉลากว่ามีสารอันตรายต้องห้ามในเครื่องสำอางหรือไม่ มีสารที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือเปล่า และข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่นๆ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ตัดสินใจเลือกซื้อต่อไป ผลการสำรวจ         • มี 16 ตัวอย่าง ที่ไม่พบทั้งพาราเบน แอลกอฮอล์ และน้ำหอม คิดเป็น 69.56% ของตัวอย่างทั้งหมด         • พบพาราเบน (Methylparaben : เมทิลพาราเบน) ในยี่ห้อบิโอเร         • พบแอลกอฮอล์ ใน 2 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อบิเฟสต้า และโอเรียนทอล พริ้นเซส         • พบน้ำหอม ใน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อบู๊ทส์, โอเรียนทอล พริ้นเซส, อีฟโรเซ, สมูท อี และคลีนแอนด์ เคลียร์         • เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณคลีนซิ่ง 1 มิลลิลิตร พบว่า แพงสุดคือ ยี่ห้อไบโอเดอร์มา = 3.56 บาท ส่วนที่ถูกสุดคือ ยี่ห้อเคที่ดอลล์ = 0.39 บาท ข้อสังเกต         • เมื่อเช็กเลขที่จดแจ้ง (11-1-6400007766) บนฉลากยี่ห้อคิวท์เพรสเพียว ออริจิน ไมเซลลาร์ เคล็นซิ่ง วอเทอร์ พบว่าสถานะใบรับจดแจ้งเป็น “ยกเลิก” โดยมีข้อมูลว่าใบอนุญาตหมดอายุเมื่อ 20/6/66 (เช็กได้ที่ https://porta.fda.moph.go.th/fda_search_all/main/search_center_main.aspx)         • มี 12 ตัวอย่าง ระบุว่าผ่านการทดสอบการระคายเคืองผิว โดยในจำนวนนี้มี 5 ตัวอย่างที่ระบุว่าผ่านการทดสอบโดยผู้เชี่ยวด้านจักษุร่วมด้วย ได้แก่ ยี่ห้อบิโอเร, การ์นิเย่, นูโทรจีนา, นีเวีย และสมูท อี         • มี 4 ตัวอย่างที่ระบุว่าผ่านการทดสอบการระคายเคือง แต่พบสารที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองในส่วนประกอบ ได้แก่ ยี่ห้อบิเฟสต้า(มีแอลกอฮอล์), บิโอเร(มีเมทิลพาราเบน), สมูท อี และคลีน แอนด์ เคลียร์ (มีน้ำหอม)         • มี 3 ตัวอย่าง ไม่ระบุวันหมดอายุ ได้แก่ ยี่ห้อบู๊ทส์, บิโอเร และลอรีอัล ปารีส ไมเซลล่า วอเตอร์             • มีระบุวันผลิต-หมดอายุไว้นานสุดคือ 4 ปี(ยี่ห้อบิเฟสต้า) รองลงมาคือ 3 ปี (16 ตัวอย่าง) และน้อยสุดคือ 2 ปี (3 ตัวอย่าง)         • ยี่ห้อแพลนท์เนอรี่และเซนกะมีกรดซาลิไซลิกในส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสารที่หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดถึงอันตรายและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับทารก ฉลาดซื้อแนะ         • คลีนซิ่งจัดอยู่ในกลุ่มเครื่องสำอาง ผู้บริโภคควรเช็กเลขที่จดแจ้งบนฉลากว่าได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงสาธารณสุขถูกต้องหรือไม่ เพื่อป้องกันผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบแอบสวมทะเบียนปลอม         • หากเพิ่งเริ่มใช้คลีนซิ่ง หรืออยากเปลี่ยนยี่ห้อใหม่ ควรซื้อขวดเล็กมาทดลองใช้ก่อน ถ้าใช้ได้ผลดีถูกใจแล้วค่อยซื้อแบบขวดใหญ่มาใช้จะคุ้มค่ากว่า         • ตัวอย่างที่นำมาสำรวจฉลากครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็น คลีนซิ่งสูตรน้ำ (คลีนซิ่งวอเตอร์ หรือ ไมเซล่าวอเตอร์) ที่ต้องใช้คู่กับสำลีเช็ดหน้า เหมาะกับคนที่มีผิวมัน ผิวผสม โดยเฉพาะผิวเป็นสิวง่าย แต่มักขจัดคราบที่เป็นน้ำมันได้ไม่มาก คลีนซิ่งบางยี่ห้ออาจต้องใช้ปริมาณเยอะและเช็ดหน้าซ้ำๆ นานๆ ทำให้มีโอกาสที่ผิวจะระคายเคืองได้ง่าย และควรเลือกใช้สำลีเช็ดหน้าที่มีผิวสัมผัสอ่อนโยน เพื่อลดการเสียดสีกับผิวหน้าอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดริ้วรอยได้         • ควรทำตามวิธีใช้และคำเตือนที่ระบุไว้อย่างเคร่งครัด เช่น ทดสอบการแพ้ก่อนใช้ ไม่ใช้บริเวณผิวที่เป็นแผล ถอดคอนแทคเลนส์ก่อนเช็ด หากเข้าตาให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที หากใช้แล้วมีความผิดปกติใดๆ ต้องหยุดใช้และปรึกษาแพทย์ เป็นต้น         • แม้หลายยี่ห้อจะระบุว่าเช็ดคลีนซิ่งแล้วไม่ต้องล้างออก แต่ก็อยากแนะนำให้ล้างออกโดยไวถ้าทำได้ เพราะสารต่างๆ ในคลีนซิ่งจะได้ไม่ต้องสัมผัสกับผิวหน้านานเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการระคายเคืองผิวนั่นเอง         • การเลือกคลีนซิ่งที่ผ่านการทดสอบการระคายเคืองอาจการันตีความปลอดภัยได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังต้องดูส่วนประกอบด้วย เพราะอาการแพ้เป็นลักษณะเฉพาะบุคคล เพื่อความมั่นใจให้ทดสอบโดยทาคลีนซิ่งไว้บริเวณหลังหู ข้อพับแขน หรือท้องแขน ถ้าหลังจาก 48 ชั่วโมงแล้ว ผิวไม่บวมแดง แสบหรือคัน ก็ใช้ได้ ข้อมูลอ้างอิง https://www.bangkokbiznews.com/pr-news/news/prnews/1027713 https://www.pobpad.com/salicylic-acid

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 269 ถูกหลอกเสียเงินหลักแสนว่าจะให้ของฟรีที่ไม่มีจริง!!

        การถูกล่อลวงให้ซื้อเครื่องสำอางหรือคอร์สเสริมความงามจนประชาชนต้องสูญเสียเงินมหาศาลนั้น ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาแม้กับคนที่ไม่ชอบใช้เครื่องสำอางเลย เช่น คุณดาว ที่แค่เพียงเดินผ่านหน้าร้าน ก็ถูกชักจูงให้รับของฟรีให้เอาไปทดลองใช้ พอคุณดาวเผลอหลวมตัวเข้าไปนั่งภายในร้าน จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ถูกหลอกซื้อเครื่องสำอางเสียเงินไปกว่าแสนบาท          เรื่องราวนี้เริ่มเพียงแค่ตอนแรกคุณดาวถูกใจและตกลงซื้อเครื่องสำอางที่จัดโปรโมชั่นลดราคาเหลือ  1,900 บาท จึงยื่นบัตรเครดิตให้พนักงานไปรูดเป็นค่าสินค้า แต่ในระหว่างที่พนักงานร้านถือบัตรเครดิตไว้แล้ว พนักงานอีก 2 คน ก็เข้ามาเสนอคอร์สทรีตเมนท์หน้าฟรีให้อีก ‘พี่รู้มั้ย มาสก์ครั้งเดียวก็ 60,000 บาทแล้ว’ คุณดาวปฏิเสธไปหลายครั้งเพราะจะรีบไปรับลูกที่โรงเรียนแต่พนักงานงานกลับช่วยกันประคองพาคุณดาวเข้าในห้องเล็กๆ เพื่อทำทรีตเม้นท์หน้าต่อ และเพียงล้มตัวนอน ฝรั่งเจ้าของบริษัทก็ปรากฏตัวขึ้นและบอกว่า ถูกใจคุณดาวมากจนอยากให้เป็นพรีเซนเตอร์ และให้พนักงานนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของบริษัทมาวางให้คุณดาวที่ข้างเตียงมากมาย จนถึงตอนนี้ คุณดาวก็รู้สึกว่าคุ้มมากๆ เพียงเข้ามาซื้อเครื่องสำอางราคา 1,900 บาทกลับได้ทรีตเมนท์หน้าฟรี ยังจะได้เป็นพรีเซ็นเตอร์และยังได้เครื่องสำอางกลับไปใช้อีกเป็นจำนวนมากด้วย         จนเมื่อพนักงานเสนอกับคุณดาวว่า “ค่าคอร์สทำหน้า ราคา 96,000 บาท ทำหน้าได้ 12 ครั้งซึ่งตอนนี้บอสถูกใจให้ทำคอด้วยอีก 12 ครั้ง  แล้วเครื่องสำอางที่นำมาวางให้กว่า 9 รอบทั้งหมดคือให้ฟรี ใช้แล้วจะเต่งตึงอยู่ได้ 5 ปี ไม่ต้องไปใช้ตัวอื่นอีกเลย” คุณดาวจึงเริ่มรู้สึกกระอักกระอ่วนใจมากแล้วเพราะราคาสูงลิ่ว และอยากออกจากร้านแล้ว แต่เพราะพนักงานยังไม่ล้างทรีตเม้นท์บนหน้าให้ ในระหว่างนี้ยังนำเครื่องสำอางมาวางให้ฟรีเรื่อยๆ ไม่หยุด จนคุณดาวต้องปฏิเสธบอกว่า เธอเป็นป่วยโรคมะเร็งและไม่อยากเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่ พนักงานก็รับประกันว่า ‘ไม่ต้องห่วง ปลอดภัยต่อผู้ป่วยมะเร็งแน่นอน และทั้งหมดนี้มีมูลค่าสูงเกือบล้านบาทแต่วันนี้ลดราคาเหลือ 96,000 บาท’ เท่านั้น  ด้วยเพราะเป็นห่วงลูกที่รอให้ไปรับที่โรงเรียนและด้วยความรำคาญจึงตอบตกลงซื้อคอร์สทรีตเมนท์ใบหน้า เพราะคิดว่าอย่างน้อยระยะเวลาให้เข้ามาใช้บริการก็ยาวนานถึง 5 ปี และยังรับประกันว่าปลอดภัย มีประสิทธิภาพไม่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์อื่นอีก         จนเมื่อกลับถึงบ้านและเห็นใบเสร็จอย่างชัดเจนว่ายอดบัตรเครดิตทั้งหมดที่พนักงานบอกว่า เป็นค่าเครื่องสำอางที่บอกว่าให้ฟรีทั้งหมดนั้นไม่ฟรีจริง ส่วนคอร์สทรีตเมนท์หน้าไม่มีรายละเอียดใดๆ ให้กลับไปใช้บริการได้เลยอีกด้วย (สัญญา 5 ปีคืออะไร)  ในท้ายใบเสร็จยังระบุว่า ‘ไม่สามารถเปลี่ยนสินค้าคืนได้’  วันรุ่งขึ้นคุณดาวจึงกลับไปที่ร้านอีกแต่ไม่พบพนักงานที่ขายของให้เลยและยังไม่สามารถติดต่อพนักงานคนใดให้รับผิดชอบได้เลยด้วย คุณดาวและสามีจึงช่วยกันสืบหาข้อมูลของบริษัทและพบว่ามีผู้เสียหายที่ถูกทำให้เข้าใจผิด ถูกยัดเยียดขายให้แบบคุณดาวจำนวนกว่า 10 ราย บางคนเป็นแพทย์ มีรายได้สูงก็ถูกหลอกขายและกดบัตรเครดิตเสียเงินไปถึงกว่า 4 แสนบาท จึงมาปรึกษาว่าตนเองและผู้ร้องรายอื่นจะสามารถทำอะไรเพื่อแก้ไขเรื่องนี้ได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา         เรื่องนี้คุณดาวเองได้เดินเรื่องร้องเรียนไว้กับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ด้วย เธอฝากบอกถึงผู้เสียหายรายอื่นๆ ว่า เมื่อเกิดเรื่องขึ้นให้เก็บหลักฐานการซื้อขายทุกอย่าง เก็บรักษาผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้อยู่ในสภาพคงเดิมและเข้าร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ  สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยกับบริษัท ณ ปัจจุบันคุณดาวได้ไกล่เกลี่ยกับบริษัทแล้ว แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ เพราะบริษัทไม่รับผิดชอบตามข้อเรียกร้องคุณดาวจึงร่วมกับผู้เสียหายรายอื่นๆ แต่งตั้งทนายความเพื่อสู้คดีแล้ว         “หากเดินผ่านร้านแบบนี้  ไม่อยากให้แวะเลย แม้ว่าเขาจะสร้างภาพหรูหราหรือตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่โตแล้วเราคิดว่าจะปลอดภัยไม่ใช่ มีทุกรูปแบบ  ไม่อยากให้รับของฟรี หรือ  gift voucher ฟรีใดๆ ปฏิเสธแล้วรีบเดินออกมาเลยดีที่สุด”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 บริโภคอย่างปลอดภัย เฝ้าระวังง่ายๆ ด้วยตนเอง

        ในชีวิตประจำวัน ผู้บริโภคล้วนต้องรับประทานอาหาร ยา ใช้เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆมากมาย  แต่เมื่อผู้บริโภคเสงสัยว่าผลิตภัณฑ์ที่ตนบริโภคนั้นจะปลอดภัยหรือไม่ สิ่งแรกที่มักจะคิดกันก็คือ จะส่งไปให้ใครตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยได้บ้าง ซึ่งในความเป็นจริง เราคงไม่สามารถส่งผลิตภัณฑ์ไปให้ใครตรวจสอบคุณภาพก่อนใช้ได้ทุกครั้ง  และคงไม่มีหน่วยงานใดที่จะสามารถติดตามตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดได้ทุกชิ้นเช่นกัน  แล้วผู้บริโภคอย่างเราจะมีวิธีการประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ได้อย่างไร?          เราอาจใช้แนวทางคร่าวๆในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่สงสัย เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคของเราเอง ดังนี้         1. ตรวจสอบจากฉลาก        1.1 ตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์นี้มีฉลากหรือไม่        1.2  ถ้ามีฉลาก  ตรวจสอบว่าเป็นฉลากภาษาไทยหรือไม่        1.3 ถ้ามีฉลากภาษาไทยแล้ว  ให้ตรวจสอบว่ามีเลขที่แสดงการได้รับอนุญาตจาก อย.หรือไม่          1.4 ถ้ามีเลขที่แสดงการได้รับอนุญาตจาก อย.แล้ว อย่าเพิ่งไว้ใจ พวกหลอกลวงมันยังมี ให้เข้าไปที่เว็บไซต์ของ อย.เพื่อตรวจสอบว่าเป็นเลขที่นั้น ตรงกับเลขที่ของผลิตภัณฑ์ในระบบข้อมูลหรือไม่         หากตรวจสอบตามที่แนะนำข้างต้นแล้ว พบว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงตามที่ระบุ แสดงว่าผลิตภัณฑ์นี้ยังไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย        2. ตรวจสอบข้อมูลความไม่ปลอดภัย        2.1 หากยังไม่แน่ใจ ลองตรวจสอบเพิ่มเติมว่า เคยมีใครรายงานข้อมูลความไม่ปลอดภัยหรือไม่  โดยตรวจสอบจากแหล่งต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ เช่น เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.แจ้งเตือนภัย)  เว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (หน้าต่างเตือนภัยสุขภาพ)  เว็ปไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฯลฯ         2.2 ถึงแม้จะไม่พบรายงานความไม่ปลอดภัย  แต่เมื่อเรานำมาบริโภคแล้วมีอาการผิดปกติ เช่น        ·     รับประทานแล้วน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว (อาจใส่ยาลดน้ำหนัก)          ·     รับประทานแล้วหายปวดเมื่อยทันที  นอนหลับ  และกินข้าวได้อย่างดี (อาจใส่สเตียรอยด์ปนเปื้อน)        ·     ใช้แล้วผิวขาวอย่างรวดเร็ว  และเมื่อไม่ได้ใช้มักจะเกิดผิวอักเสบหรือผิวคล้ำตามมา (อาจจะใส่สารอันตรายที่ทำให้หน้าขาว เช่น  ไฮโดรควิโนน  กรดวิตามินเอ  ปรอท  สเตียรอยด์)        ·     รับประทานสมุนไพรแล้วกระตุ้นสมรรถนะทางเพศ (อาจใส่ยากระตุ้นทางเพศ) หากมีอาการผิดปกติดังที่ยกตัวอย่างมานี้ แสดงว่าผลิตภัณฑ์นี้อาจจะมีสารอันตรายผสมอยู่         2.3 เราอาจใช้ชุดตรวจสอบเบื้องต้นที่มีขายในท้องตลาดมาตรวจสอบดูด้วยตนเอง หรือนำผลิตภัณฑ์ที่สงสัย ไปปรึกษาเภสัชกรในโรงพยาบาลชุมชนหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2565

สังเกตเครื่องหมาย +66 แก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์         นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงประชาชน โดยให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ (IDD) ทั้ง 6 ราย เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงโดยมีมาตรการดังนี้  1. ให้ระงับสายโทรเข้ามาจากต่างประเทศที่มีรูปแบบเบอร์โทรศัพท์บ้านหรือเบอร์โทรศัพท์สั้น 3 หลัก เบอร์โทรศัพท์สั้น 4 หลัก ที่โทรมายังเลขหมายปลายทางของประเทศไทย 2. ให้ระงับสายโทรเข้ามาจากต่างประเทศที่มีรูปแบบเป็นรหัสโทรศัพท์ประจำประเทศที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ยังไม่ได้จัดสรรให้กับประเทศใด 3. ให้ดำเนินการตรวจสอบสายที่โทรเข้ามาจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ว่าเลขหมายมีการดัดแปลงหรือไม่ ด้วยระบบ Test Call Generator อย่างต่อเนื่อง 4. กรณีสายที่โทรเข้ามาจากต่างประเทศไม่มีกำหนดเลขหมายต้นทาง ให้เพิ่มเครื่องหมาย +66 นำหน้าเบอร์โทรศัพท์ เพื่อให้ทราบว่าโทรมาจากต่างประเทศ ทั้งนี้ นายไตรรัตน์ กล่าวต่อว่า มาตรการของ กสทช. นี้เพื่อย้ำให้ผู้ให้บริการระหว่างประเทศดำเนินการ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนแยกแยะได้ว่า สายที่โทรเข้ามาเป็นสายมาจากต่างประเทศจะได้ไม่เผลอรับสายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จับเครื่องเครื่องสำอางปลอม 18 ยี่ห้อดัง         กองบังคับการปราบปรามกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมเกี่ยวกับคุ้มครองผู้บริโภค ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แถลงผลการทลายแหล่งจำหน่ายเครื่องสำอางเคาน์เตอร์แบรนด์ดังปลอมหลายยี่ห้อ ซึ่งภายในบ้านได้ดัดแปลงเป็นโกดังสินค้าย่านสวนหลวง กรุงเทพมหานคร โดยสามารถจับกุมหญิงชาวเวียดนามผู้ดูแลบ้านได้ และจากการตรวจสอบบ้านได้ยึดของกลางเป็นเครื่องสำอางยี่ห้อดัง 18 รายการ จาก 7 บริษัท มูลค่า 70 ล้านบาท ต่อมาทางหญิงชาวเวียดนามได้สารภาพว่า แฟนหนุ่มคนไทยได้ร่วมมือกับนายทุนชาวเวียดนาม รับจ้างดูแลสินค้าและบรรจุสินค้าส่งให้ลูกค้า ส่วนสินค้าคือสินค้าปลอมที่ผลิตมาจากประเทศจีน และมีการปลอมเว็บไซต์เครื่องสำอางต่างๆ อีกด้วย ด้าน นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการ อย. ได้เปิดเผยว่า ต้นเหตุในการจับกุมมาจากผู้บริโภคซื้อสินค้าเหล่านี้ผ่านช่องทางออนไลน์ และมีราคาถูกกว่าปกติ 50-70% มีโปรโมชัน 1 แถม 1 เมื่อได้รับกลับพบว่าเป็นสินค้า ด้อยคุณภาพ เมื่อใช้เกิดอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น อาการแพ้ ผื่นขึ้นและหน้าพัง จึงขอให้ผู้บริโภคตรวจสอบให้รอบคอบก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ ใส่หน้ากากอนามัยซ้ำ เสี่ยงอันตรายจากแบคทีเรีย         จากกรณีข้อมูลเผยแพร่เรื่องการใส่หน้ากากอนามัยซ้ำๆ มีโอกาสเสียชีวิต เนื่องจากแบคทีเรียสะสมนั้น เพจ Anti-Fake News Center Thailand ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีนี้ว่า ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวเป็นข้อมูลจริง ซึ่งหน้ากากอนามัยเป็นแบบใช้แล้วทิ้ง ห้ามซักแล้วนำมาใช้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัยจากผู้ป่วย หน้ากากอนามัยจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องวินิจฉัยโรค ฯลฯ เพราะถือว่าเป็นขยะที่ติดเชื้อ ต้องนำไปกำจัดตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ.2545  และหน้ากากอนามัยที่ติดเชื้อหากจัดการไม่ถูกต้องจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นแหล่งเชื้อก่อโรค โดยเฉพาะเชื้อโรคที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อราบางชนิด ปรสิตบางชนิด ที่จะเจริญเติบโตและก่อโรคให้แก่ผู้ที่ไปสัมผัส ดังนั้น ควรเปลี่ยนทุก 6-8 ชั่วโมง หรือเมื่อหน้ากากเปียกชื้น สกปรก เมื่อออกจากสถานที่เสี่ยง/แออัด และควรทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องทุกครั้ง  พาณิชย์ไม่อนุญาตขึ้นค่าส่งสินค้าออนไลน์         หลังกระทรวงพาณิชย์ได้รับเรื่องร้องเรียนว่าแพลตฟอร์มการซื้อขายออนไลน์ ได้ปรับราคาค่าขนส่ง นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้แถลงข่าว ยืนยันว่ายังไม่มีการอนุญาตให้ผู้ประกอบการ หรือผู้ให้บริการปรับขึ้นค่าขนส่งได้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน เนื่องจากแพลตฟอร์มออนไลน์มีส่วนในวิถีชีวิตของประชาชนมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงได้กำชับให้แสดงราคาสินค้าและบริการให้ชัดเจนตามกฎหมาย ซึ่งการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกจากค่าสินค้าหรือบริการต้องแสดงค่าใช้จ่ายให้ชัดเจน หากไม่มีการแสดงราคาสินค้าและบริการให้ชัดเจน มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท นอกจากนี้ หากพบเห็นการกระทำความผิดหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านราคาหรือปริมาณสินค้า แจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ  มพบ.และเครือข่ายภาคประชาชน ยื่นหนังสือค้านเร่งต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว         เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายภาคประชาชน ศูนย์สิทธิผู้บริโภค และชมรมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อคัดค้านจากกรณีที่กระทรวงมหาดไทย พยายามผลักดันประเด็นเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัทในเครือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เข้าสู่วาระการพิจารณาของการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเร่งด่วน ทั้งที่สัมปทานฉบับดังกล่าวจะหมดอายุในปี 2572 หรืออีก 7 ปี โดยไม่ได้ศึกษาหรือทบทวนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้บริการ เพราะการต่อสัญญาสัมปทานอาจจะทำให้ประชาชนขาดประโยชน์ไปอีกถึง 37 ปี         การยื่นหนังสือคัดค้านนี้ มีนางอรกัญญา บุณยมหาศาล ผู้อำนวยการส่วนเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มารับหนังสือและแจ้งกับทาง มพบ. และเครือข่ายภาคประชาชนว่า จะเรียนท่านผู้ว่าฯ และรีบดำเนินการตามที่ร้องขอ  ทั้งนี้ ทาง มพบ. เครือข่ายภาคประชาชน ยังขอทราบรายละเอียดสัญญาระหว่าง กทม. กับ BTSC  ตลอดจนขอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาเพื่อเป็นข้อมูลเผยแพร่ให้ผู้บริโภคได้รับทราบตามสิทธิอันพึงมีตามกฎหมายด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 “คดีที่ยังไม่ปิด” ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 10 คดี

        หลายคดีใช้เวลาในการตัดสินคดีที่ค่อนข้างนานและมีขั้นตอนมาก อาจทำให้ผู้บริโภคที่รอคอยบทสรุปของคดีไม่รู้ว่าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเปิดแฟ้มอัพเดตสถานการณ์ล่าสุดของคดีมูลนิธิฯ 10 คดี ที่ยังไม่ปิดคดีหรือศาลยังไม่ได้พิพากษาถึงที่สุด เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าในแต่ละคดีว่าอยู่ในขั้นตอนไหนบ้าง1.คดีค่าทางด่วนโทลเวย์         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับประชาชนผู้บริโภค ยื่นฟ้องกรมทางหลวง อธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ ข้อ 5 แห่งบันทึกข้อตกลงฯ ครั้งที่ 3/2550 ที่มีสาระสำคัญว่า ให้บริษัทฯ ขึ้นราคาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ขยายอายุสัมปทานออกไปจากเดิมอีก 27 ปี นับจากวันที่ทำสัญญา ฯลฯ พร้อมทั้งขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในวันที่ 18 สิงหาคม 2558 ศาลปกครองกลางพิพากษาว่า ให้เพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ และมติคณะรัฐมนตรีที่แก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อประโยชน์ให้เอกชน         หลังจากนั้น บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ประกาศขึ้นราคาค่าผ่านทางด่านดอนเมืองโทล์เวย์ ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2562 ราคาใหม่ รถ 4 ล้อ จาก 55 บาท เป็น 85 บาท และรถมากกว่า 4 ล้อ จาก 95 บาท เป็น 125 บาท และจะขึ้นราคาอีก 15 บาท ทุกๆ 5 ปี ตลอดอายุสัมปทาน โดยบริษัทฯ อ้างสิทธิที่ทำได้ เนื่องจากรัฐผิดสัญญากับบริษัทฯ แต่แท้จริงแล้วบริษัทไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการโดยอ้างอิงมติได้อีกต่อไป คำพิพากษาของศาลปกครองกลางมีผลผูกพันหรือเพิกถอนมติไปแล้ว จะอ้างว่าคำสั่งยังไม่ถึงที่สุดแล้วใช้มตินั้นดำเนินการต่อไปนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้หยุดเก็บเงินค่าผ่านทางส่วนที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาสัมปทานฯ ไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่ศาลไม่รับคำขอดังกล่าว โดยพิจารณาว่า เป็นความเดือดร้อนที่หลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากยังมีทางหลวงแผ่นดินอยู่ใต้ทางยกระดับที่สามารถใช้จราจรไปมาได้         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด และคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด โดยวันที่ 29 เมษายน 2564 มูลนิธิฯ ส่งหนังสือเร่งรัดติดตามผลการดำเนินคดีถึงประธานศาลปกครองสูงสุด และได้รับการตอบรับว่าแจ้งประธานศาลปกครองสูงสุดและให้ส่งหนังสือถึงตุลาการเจ้าของสำนวนแล้ว2.คดีแคลิฟอร์เนียว้าว             บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ปิดสถานบริการ โดยไม่แจ้งสมาชิกล่วงหน้า ทำให้สมาชิกรายปีและสมาชิกตลอดชีพที่ชำระเงินล่วงหน้าไปแล้วได้รับความเดือดร้อน จึงดำเนินการฟ้องคดีฉ้อโกงประชาชน และให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดมูลฐาน มูลค่ารวมกว่า 88 ล้านบาท และให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิจากการกระทำความผิดมูลฐาน เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้เสียหายยื่นต่อศาล และให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคืนให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานต่อไป         ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และให้ไต่สวนมูลฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 นายแอริค มาร์ค เลอวีน ต่อมาพบปัญหาโจทก์ว่าไม่สามารถหาที่อยู่ของจำเลยในประเทศแคนาดาเพื่อจัดส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ศาลจึงได้มีคำสั่งให้โจทก์ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 โดยวิธีปิดประกาศไว้ที่ศาลแทนและประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 24 สิงหาคม 2563 ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย แต่จำเลยไม่มาศาล ดังนั้นศาลจึงมีคำสั่งเลื่อนคดีไม่มีกำหนดและออกหมายจับ มีอายุความ 10 ปี แต่เนื่องจากคดีนี้นับจากการเริ่มกระทำความผิดทำให้หมายจับมีอายุความเหลืออยู่ 3 ปี และได้คัดสำเนาหมายจับทั้งหมด 5 ใบ ส่งไปถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานอัยการเพื่อตรวจสอบการเดินทางออกนอกประเทศของจำเลย ต้องจับตัวจำเลยก่อนจึงจะพิพากษาได้ แต่ถ้ายังจับไม่ได้ภายใน 3 ปีถือว่าคดีจบลง3.คดีกระทะโคเรียคิง         เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ที่นำเข้ากระทะยี่ห้อโคเรียคิง เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 72 คน ต่อศาลแพ่ง เรียกเงินคืนและเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1,650  ล้านบาท จากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และโจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาชั้นไต่สวนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม4.คดีเพิร์ลลี่         ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทบำรุงผิวกายยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ ได้แก่ เพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น พลัส ได้โฆษณาชวนเชื่อกับประชาชนทั่วไปว่า เมื่อใช้แล้วจะผิวขาว แต่เมื่อผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์เป็นประจำ กลับพบว่ามีอาการปวดแสบ ปวดร้อน มีรอยแตกลาย เป็นแผลเป็นบริเวณแขน และขา แพทย์ที่รักษาวินิจฉัยว่า ผิวหนังแตกลายเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ และไม่สามารถรักษาผิวหนังให้กลับมาเป็นปกติได้         วันที่ 18 กันยายน 2560 ผู้เสียหายยื่นฟ้องนางอมรรัตน์ ก่อเกียรติศิริกุล ผู้ผลิตโลชั่นทาผิวยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายตามพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 และศาลอุทธรณ์ภาค 9  อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม         วันที่ 27 ธันวาคม 2561 หลังจากดำเนินคดีในศาลชั้นต้นเป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน ก็ได้พิพากษาให้ชำระเงิน แก่โจทก์ 4 คน และสมาชิกกลุ่มกว่า 40 คน รวมทั้งหมดประมาณ 40 ล้านบาท และห้ามมิให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น พลัส และให้ชำระเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท ให้แก่ทนายความฝ่ายโจทก์ และค่าทนายจำนวน 30,000 บาท ให้ใช้เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โจทก์จึงได้อุทธรณ์คำพิพากษาในประเด็นเงินรางวัลทนายความที่ศาลกำหนดให้ต่ำเกินไป        วันที่ 26 มกราคม 2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำสั่งในชั้นขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ว่า หากจำเลยประสงค์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อไป ให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลและค่าฤชาธรรมเนียม มาชำระค่าศาลชั้นต้น ภายใน 15 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษา         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 19 มกราคม 2565 การจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาให้วางค่าธรรมเนียมศาล เพราะจำเลยยื่นฎีกา แต่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกานั้น ศาลอุทธรณ์สั่งให้ศาลชั้นต้นนำฎีกาเรื่องค่าธรรมเนียมศาลของจำเลย ไปให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อ5.คดีฟ้องกลุ่ม ดีแทคและเอไอเอส คิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาที         วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 กลุ่มผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีสามค่ายมือถือใหญ่ คือ ทรู (TRUE) เอไอเอส (AIS) และ ดีแทค (DTAC) จำนวน 3 คดี เนื่องจากบริษัทผู้ให้บริการคำนวณค่าบริการแบบปัดเศษวินาทีทุกครั้งของการโทร ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินจริง ทั้งแบบระบบรายเดือน และ/หรือระบบเติมเงิน ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2559 จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 23 เดือน เป็นเงินคนละ 465 บาท ต่อหนึ่งเลขหมายโทรศัพท์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และขอศาลกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษเป็นเงินจำนวน 5 เท่าของความเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง ในการยื่นฟ้องครั้งนี้ ค่ายมือถือ TRUE ขอไกล่เกลี่ยตกลงเยียวยาผู้บริโภค ส่วน AIS และ DTAC แม้จะมีการเจรจาแต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มคดีกลุ่มเอไอเอส         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ไม่รับเป็นคดีกลุ่ม ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 21 มีนาคม 2565คดีกลุ่มดีแทค         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นยกฟ้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 1 มีนาคม 25656.คดีอาญาทุจริต ฟ้องคณะรัฐมนตรี (คดีท่อก๊าซ ปตท.)         วันที่ 14 ธันวาคม 2550 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นร่วมผู้ฟ้องคดีปกครองเรื่อง พิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา ต่อผู้ถูกฟ้องคดี 4 ราย คือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550         วันที่ 2 เมษายน 2558 ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ให้ตรวจสอบว่า มีการปฏิบัติหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ โดย คตง. มีมติว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่ได้แบ่งแยกทรัพย์สินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายมากกว่า 32,613.45 ล้านบาท โดยเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องไม่เสนอบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินให้คณะรัฐมนตรี และการเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาของบริษัท มีเนื้อหาเป็นเท็จและปกปิดข้อเท็จจริง         วันที่ 5 มิถุนายน 2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกทรัพย์สิน ได้แก่ นายพรชัย ประภา, นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์, นายอำนวย ปรีมนวงศ์, นายนิพิธ อริยวงศ์, นายจตุพรหรือธนพร พรหมพันธุ์, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์, นายสุพจน์  เหล่าสุอาภา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ข้อหาเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการแบ่งแยกทรัพย์สินของปตท.ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ขณะนี้อยู่ในศาลอุทธรณ์อาญาคดีทุจริตฯ ซึ่งพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้เสียหาย และดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องต่อไปวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ศาลอาญามีคำสั่งให้รอผลการดำเนินการคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อน แล้วแถลงคำชี้แจงของป.ป.ช. กับศาลในวันที่ 5 ตุลาคม 2564         ความคืบหน้าล่าสุด นัดพร้อมเพื่อฟังผลการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 25657.คดีผู้เสียเสียหายจากการใช้สารเคมีพาราควอต         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ซึ่งมีส่วนผสมของ สารพาราควอตไดคลอไรด์ ใช้ชื่อทางการค้าว่า “ก๊อกโซน” เมื่อใช้แล้วได้รับอันตรายต่อสุขภาพ ต้องทุกข์ทรมานจากการรักษาโรคเนื้อเน่า สูญเสียอวัยะ หรือถึงแก่ความตาย จึงได้ฟ้องคดีแบบกลุ่มเรียกค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายให้โจทก์ 2 ราย และสมาชิกกลุ่ม พร้อมทั้งให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้น         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์ ภาค 4 มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่ม และให้วางเงินค่าใช้จ่ายประกาศหนังสือพิมพ์ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 28 มกราคม 25658.คดีอาญาที่นอนยางพารา         ผู้เสียหายจากกรณีซื้อสินค้า ที่นอนยางพารา หมอนยางพารา ปลอกหมอน และอื่นๆ ผ่านเฟซบุ๊คเพจ ชื่อ น้องของขวัญนำเข้าสินค้าราคาโรงงาน, ร้านถุงเงิน, Bed room, Perfect room, Best slumber ที่นอนในฝัน, Best slumber ซึ่งผู้เสียหายหลงเชื่อโฆษณาสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า โดยโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารที่แต่ละเพจแจ้ง ซึ่งบางเพจเป็นชื่อบุคคลเดียวกัน ผู้เสียหายจึงเข้าแจ้งความ และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องในข้อหาฉ้อโกงประชาชน และทุจริตหลอกหลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ฟ้องคดีทั้งหมด 5 คดี ความคืบหน้าล่าสุด        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1132/2563 อยู่ระหว่างเตรียมยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยพิจารณาว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่ง คือไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามสัญญาอันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากตกลงซื้อขาย ไม่ใช่การหลอกหลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1341/2563 นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย และนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 24 เมษายน 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.3995/2563 กำหนดนัดสืบพยานโจทก์-จำเลย ในวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.590/2563  ศาลพิพากษายกฟ้อง ในวันที่ 24 มีนาคม 2564 และยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1566/2563 เลื่อนนัดฟังคำพิพากษา ของนัดในวันที่ 14 มกราคม 2565 9.คดีปกครองเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า         เนื่องจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีคำสั่งอนุญาตให้รวมธุรกิจ ระหว่างซีพีและเทสโก้ โลตัส ทำให้รวมเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันที่มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ และมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าร้อยละ 83.97 ทำให้ผู้บริโภคขาดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าได้อย่างอิสระ และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดร้านค้าส่ง รวมถึงห้างสรรพสินค้า ที่กำลังจะเข้าสู้ตลาดในอนาคต ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเสรีและเป็นธรรมวันที่ 15 มีนาคม 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ 36 องค์กรผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภครายบุคคล ร่วมกันยื่นฟ้อง กขค. และศาลเรียกให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ฟ้องคดียื่นคำคัดค้านคำให้การของกขค. ซีพีและเทสโก้ และวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ศาลมีคำสั่งให้รวมสำนวนคดีของผู้ประกอบการรายย่อยที่ฟ้องในประเด็นเดียวกันเข้าด้วยกัน แล้วพิจารณาพิพากษารวมกันไป10.คดีธนาคารออมสินฟ้องผู้เสียหายสามล้อ         กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างสาธารณะ จำนวน 38 ราย ถูกสหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด ยื่นฟ้องกรณีแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน, แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนฯ และโกงเจ้าหนี้ ซึ่งความเป็นมานั้น กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างได้จดทะเบียนสิทธิรถยนต์สามล้อรับจ้างใหม่ และต้องการซื้อรถสามล้อ จึงติดต่อกับสหกรณ์บริการจักรเพชร เพื่อให้จัดหารถยนต์สามล้อและแหล่งเงินกู้ ซึ่งสหกรณ์ฯ ได้ติดต่อให้ผู้ขับรถสามล้อรับจ้าง เข้าไปทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน กับเจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสิน โดยจัดเตรียมเอกสารจำนวนมากให้ลงชื่อ ตามที่เจ้าหน้าที่ชี้บอก ทำให้ไม่รู้ว่าแต่ละคนกู้เงินจำนวนเท่าไร รู้แค่สรุปการจ่ายสินเชื่อของสหกรณ์ฯ ค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ รวมเป็นเงิน 345,000 บาท แต่ภายหลังผู้ขับรถสามล้อรับจ้างถูกธนาคารออมสินฟ้องให้คืนเงิน ซึ่งระบุยอดหนี้เงินกู้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ 400,000 ถึง 500,000 บาท ซึ่งสูงกว่าที่สหกรณ์แจ้งไว้ จึงได้จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง พบว่าเงินกู้จากธนาคารออมสิน ได้โอนให้กับสหกรณ์ฯ และเมื่อนำสัญญาหนี้กู้ยืมเงินของธนาคาร มาหักกับค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ จำนวน 345,000 บาท มีส่วนต่างอยู่ที่สหกรณ์รายละ 55,000 ถึง 155,000 บาท         ความคืบหน้าล่าสุด อยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์และจำเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ตั้งใจซื้อครีมล้างหน้าแค่ 1,300 แต่เผลอจ่ายไปเกือบแสนสาม

        เครื่องสำอางกับสุภาพสตรีเป็นของคู่กัน ยิ่งผลิตภัณฑ์นั้นได้รับคำโฆษณาว่าเป็นของที่ดาราใช้หรือดาราเป็นเจ้าของแบรนด์ มันจะดึงดูดใจมากไปกว่าเครื่องสำอางแบรนด์ธรรมดา         คุณศรีสุดาไปเดินเที่ยวห้างสรรพสินค้าใหญ่ย่านบางนาในวันหยุดตามประสาสาวนักช้อป ขณะเดินผ่านบูธในลานกิจกรรมพิเศษ สาวๆ นักขายได้ชักชวนคุณศรีสุดาให้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและพูดคุยโน้มน้าวให้ซื้อสินค้าโดยอ้างว่า เครื่องสำอางในบูธนี้แบรนด์นี้ เป็นสินค้าที่ดาราดังคนหนึ่งใช้อยู่เป็นประจำ คุณศรีสุดาตั้งใจจะซื้อครีมล้างหน้าที่มีโปรโมชันแถมที่มาร์คหน้าในราคา 1,300 บาท เพราะทดลองมาร์คหน้าแล้วรู้สึกโอเค         “ดิฉันสอบถามพนักงานว่ามีเว็บไซต์ให้เข้าไปติดตามสินค้าหรือค้นหารายละเอียดอื่นๆ หรือไม่ พนักงานตอบว่ามีค่ะ แต่หนูไม่ทราบ ยังไงจะให้ทางบริษัทติดต่อกลับไปนะคะ” ขณะคุณศรีสุดากำลังจะถามเรื่องอื่นๆ ต่อ พนักงานขายก็ชิงลงมือโอ้อวดว่า เครื่องสำอางนี้เป็นของบริษัทที่ดาราดังคนหนึ่งพร้อมโชว์ภาพถ่ายต่างๆ รวมทั้งภาพของตัวพนักงานและดาราคนดังกล่าวหลายรูป สร้างความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก คุณศรีสุดาก็ฟังเพลินไปดูภาพสินค้าและดาราเพลินไปหน่อย สุดท้ายกลายเป็นว่า จ่ายเงินค่าเครื่องสำอางไป 13 รายการ รวมเป็นเงิน 127,000 บาท ผ่านบัตรเครดิต        คุณศรีสุดานั้นย้ำว่าขอให้พนักงานขายส่งเว็บไซต์ของบริษัทเครื่องสำอางให้ตนเองทันทีที่กลับบริษัทฯ เพราะตนเองต้องการทราบรายละเอียดต่างๆ ของผลิตภัณฑ์รวมทั้งรีวิวที่ดาราคนดังได้ใช้ตัวสินค้าเหล่านี้  ต่อมาคุณศรีสุดาได้รับลิงค์ที่เป็นเพจเฟซบุ๊กของบริษัทหนึ่ง ซึ่งไม่มีรายละเอียดอะไรเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่คุณศรีสุดาซื้อมาเลย หนำซ้ำที่อยู่ของบริษัทในเพจไม่ตรงกับที่อยู่ของบริษัทที่อยู่ในใบเสร็จสินค้าราคาแสนกว่าบาทที่อยู่ในมือคุณศรีสุดา เธอจึงรีบติดต่อพนักงานขายแต่ติดต่อไม่ได้หลายวัน อย่างไรก็ตามวันหนึ่งก็ติดต่อได้ พนักงานขายบอกว่าสินค้าในมือเธอเป็นสินค้าใหม่ยังไม่มีรายละเอียดบนหน้าเว็บไซต์ และโอนเรื่องให้พนักงานของบริษัทคนอื่นมาพูดแทน         “จะข้องใจอะไรกับสินค้าหนู ของนำเข้าถูกกฎหมายทุกอย่าง” ซึ่งวิธีการพูดจาแสดงถึงความโกรธเกรี้ยว คุณศรีสุดาจึงไม่พอใจมากและไม่กล้าใช้ผลิตภัณฑ์ที่ซื้อมาด้วย เพราะเกิดความไม่มั่นใจในตัวผลิตภัณฑ์ที่แทบไม่มีรายละเอียดอะไรเลย จึงนำสินค้าทั้งหมดกลับไปคืนที่บูธที่ยังจัดขายสินค้าอยู่ แต่พนักงานขายแจ้งว่าผู้บริหารบริษัทไม่อยู่ไปเมืองนอกขอเวลา 7 วัน ต่อมาได้รับแจ้งว่า ไม่รับคืนสินค้า “ดิฉันเห็นว่าการขายสินค้าของบริษัทไม่เป็นธรรมเพราะอวดอ้างและโฆษณาด้วยข้อมูลเท็จ เอาดารามาแอบอ้าง ไม่มีเว็บไซต์หรือรายละเอียดของสินค้าด้วย ดิฉันสามารถทำอย่างไรได้บ้าง”  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิเห็นว่ากรณีนี้ทั้งสองฝ่ายน่าจะไกล่เกลี่ยกันได้ จึงนัดให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจากัน และได้ส่งเรื่องราวถึงห้างสรรพสินค้าที่เป็นผู้ดูแลพื้นที่จัดแสดงสินค้าให้รับทราบปัญหา ต่อมาทราบจากคุณศรีสุดาว่าได้ไปร้องเรียนไว้ที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย แต่ตกลงกันไม่ได้คุณศรีสุดาต้องการคืนสินค้าและขอคืนเงินทั้งหมด ส่วนบริษัทฯ บ่ายเบี่ยงไม่รับคืนสินค้า ดังนั้นทางคณะอนุกรรมการของทาง สคบ.จะส่งร้องเพื่อขอให้พิจารณารับฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อไป คุณศรีสุดาจึงยุติเรื่องร้องเรียนกับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 กระแสต่างแดน

โอกาสทอง        หลุยส์ วิตตอง และชาแนล ในเกาหลีถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักเมื่อลูกค้าที่ไปต่อแถวเข้าร้านหลังพ้นช่วงล็อกดาวน์ต้องเซอร์ไพรซ์กับสินค้า “ราคาใหม่”         ค่ายแบรนด์เนมมองว่าผู้บริโภคมีเงินเหลือใช้มากขึ้นเนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ ชาแนลปรับราคาสินค้าในร้านขึ้นร้อยละ 7 -18 ในขณะที่หลุยส์ วิตตองก็ปรับราคาขึ้นเป็นครั้งที่สามในรอบ 7 เดือน ขึ้นอีกร้อยละ 5 - 10 เช่นกัน         นี่ยังไม่นับเรื่องความ (ไม่) รับผิดชอบต่อสังคมของค่ายหลุยส์ ที่ไม่จัดอบรมแนวทางปฏิบัติตัวเพื่อลดการระบาดของไวรัสให้กับพนักงานเหมือนบริษัทอื่นๆ และเมื่อพบว่าพนักงานติดเชื้อจากการไปกินดื่มในย่านอินแทวอน ก็ยังเปิดดำเนินการต่อไปโดยไม่แจ้งให้ลูกค้าที่เข้าร้านสาขาตึกล็อตเต้เวิล์ดในช่วงที่พนักงานดังกล่าวอยู่ประจำร้าน ได้ทราบว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงด้วย           แต่เขาก็คาดการณ์ไม่ผิด ยอดขายสินค้าแบรนด์เนมหลังช่วงล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นจริงๆ     ขยะเราต้องมาก่อน        โปรตุเกสเป็นปลายทางของขยะจำนวนมากจากประเทศอื่นๆ ในยุโรป เพราะคิดค่าธรรมเนียมการจัดการขยะเพียงตันละ 11 ยูโร (ประมาณ 400 บาท) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในภูมิภาคที่ 80 ยูโร (ประมาณ 2,800 บาท)          แต่รัฐบาลได้ประกาศหยุดรับขยะจากต่างประเทศชั่วคราว เพื่อให้แน่ใจว่ามีศักยภาพเพียงพอต่อการรับมือกับขยะในประเทศที่เพิ่มขึ้นมหาศาลในช่วงการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ชุดและอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคไปจนถึงกล่องพลาสติกใส่อาหารจากบริการเดลิเวอรี         รวมถึงลดกำลังการรีไซเคิล เพื่อไม่ให้พนักงานต้องสัมผัสกับขยะพลาสติกที่อาจมีการปนเปื้อนเชื้อไวรัส         ข้อมูลจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมโปรตุเกสระบุว่าในปี 2018 มีขยะจากต่างประเทศเข้ามาถึง 330,000 ตัน หนึ่งในสามถูกจัดการโดยการฝังกลบ และตั้งแต่ต้นปี 2020 โปรตุเกสปฏิเสธขยะต่างประเทศไปแล้วกว่า 246,000 ตัน  มุมทำงาน        ในเยอรมนี หากคุณมีห้องที่จัดไว้เป็น “ออฟฟิศในบ้าน” คุณจะสามารถขอลดหย่อนภาษีได้ สถิติก่อนการล็อกดาวน์ระบุว่าร้อยละ 12 ของคนเยอรมันทำงานจากบ้าน แต่ช่วงที่รัฐบาลขอให้ทุกคนอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อ มีคนเยอรมันถึงร้อยละ 25 ที่ทำงานที่บ้าน และแนวโน้มนี้อาจกลายเป็น “นิวนอร์มอล”         ที่ผ่านมาร้อยละ 40 ของนายจ้างในเยอรมนีเปิดโอกาสให้พนักงานทำงานจากบ้านได้ ในขณะที่ร้อยละ 60 ของคนเยอรมันก็เห็นด้วยกับข้อเสนอของกระทรวงแรงงานที่จะให้พนักงานเลือกได้ว่าจะทำงานจากบ้านวันไหนบ้าง หรือทำทุกวันไปเลยหากลักษณะงานเอื้อให้ทำได้            สมาคมผู้เสียภาษีแห่งเยอรมนีเสนอว่าคนที่ใช้โน้ตบุ๊คนั่งทำงานที่โต๊ะกินข้าวหรือมุมใดมุมหนึ่งของบ้านควรมีสิทธิขอลดหย่อนภาษีเช่นกัน เพราะไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน การใช้ทรัพยากรน้ำ ไฟฟ้า รวมถึงการสร้างขยะก็เพิ่มขึ้นเหมือนกัน อย่างน้อยๆ ร้อยละ 20 ของค่าเช่าบ้านควรนำไปขอลดหย่อนภาษีได้     เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง        คนแคนาดาเกือบร้อยละ 50 เชื่อ “ข่าวโคมลอย” เกี่ยวกับโรคโควิด-19           การสำรวจโดยคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาร์ลตัน ระหว่างวันที่ 5-8 พฤษภาคม ที่สอบถามคนแคนาดา 2,000 คน พบว่าร้อยละ 46 เชื่อข่าวลืออย่างน้อยหนึ่งข่าวจากข่าวที่แชร์กันทางออนไลน์มากที่สุดสี่อันดับแรก         ข่าวลืออันดับหนึ่งได้แก่รายงานที่บอกว่าต้นกำเนิดโรคนี้มาจากไวรัสที่พัฒนาขึ้นโดย “แล็บแห่งหนึ่งในประเทศจีน” ร้อยละ 26 ของคนแคนาดาเชื่ออย่างนั้น         ร้อยละ 23 เชื่อว่ายาไฮดร็อกซีคลอโรควินสามารถรักษาโรคโควิด-19 ได้ ตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของอเมริกาบอก         ร้อยละ 11 เชื่อว่าโรคนี้ไม่ได้ร้ายแรงอะไร อาการต่างๆ เป็นผลจากเทคโนโลยี 5G ต่างหาก ตำรวจกำลังสืบสวนว่าความเชื่อนี้เป็นเหตุให้เสาสัญญาณโทรศัพท์หลายแห่งในควิเบกถูกเผาทำลายหรือไม่         แต่ที่เด็ดสุดคือร้อยละ 57 ของคนเหล่านี้เชื่อว่าตนเองสามารถแยกแยะข่าวจริงและข่าวลวงได้   มันอยู่ในตลับ        แอสเบสทอสหรือแร่ใยหินหายหน้าจากสื่อไปนาน เพราะผู้คนตระหนักถึงอันตรายและเลิกใช้มันไปแล้ว คราวนี้มันแฝงมากับเครื่องสำอางที่มีทัลคัมเป็นส่วนประกอบ ที่สามารถหาซื้อได้ในเว็บอเมซอน         การทดสอบพบว่า อายชาโดว์ Jmkcoz 120 Colors Eyeshadow Palette  มีแร่ใยหินถึง 3.9 ล้านใยต่ออายชาโดว์1 กรัม และพบในร้อยละ 40 จาก 45 เฉดสีที่ทดสอบ           ในขณะที่อีกรุ่น ได้แก่ Jmkcoz Beauty Glazed Gorgeous Me Eye Shadow Tray Palette มีถึง 3.5 ใยต่ออ่ายชาโดว์ 1 กรัม พบในร้อยละ 20 จาก 55 เฉดสีที่ทดสอบ         ก่อนหน้านี้มีการพบแร่ใยหินใน “ชุดเมคอัป” ของเล่นเด็กมาแล้ว และในเดือนตุลาคม 2019 จอห์นสันแอนด์จอห์นสันก็ประกาศเรียกคืนแป้งเด็ก หลังจาก อย.สหรัฐพบแร่ใยหินในแป้งดังกล่าวแร่ใยหินเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจเข้าไปสะสมในปอด และผู้ที่สูดดมเข้าไปอาจไม่แสดงอาการในทันที ทั้งนี้ผู้เชียวชาญย้ำว่าไม่มี “ระดับที่ปลอดภัย” ของการรับแร่ใยหินไม่ว่าประเภทใดเข้าสู่ร่างกาย       

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ข้อคิดจากการสวยตามเทรนด์

                รูปแบบของความสวยงามนั้น อันที่จริงแล้วมันไม่มีนิยามตายตัว ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับค่านิยมของสังคมและยุคสมัย ดังนั้นแต่ละปีก็จะมีคนมาบอกเราว่า ปีหน้าเขาจะนิยมรูปแบบความงามแบบไหน เราต้องดูแลหรือเตรียมการอย่างไร เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ซึ่งปีหน้า 2563 นี้หลายกูรูยังฟันธงว่า เทรนด์สวยธรรมชาติและเครื่องสำอางจากส่วนผสมธรรมชาติยังคงความแรงต่อเนื่อง         ผิวพรรณแบบกระจ่างใสดังกระจกหรือ Glass Skin ยังคงได้รับความนิยม         ผิวแบบ Glass Skin  คือผิวพรรณที่ผุดผ่องมีน้ำมีนวล บ่งบอกถึงสุขภาพดีจากภายใน ผิวแบบ Glass Skin นั้น  ขอให้ลองคิดถึงซีรีย์เกาหลี ที่สาวๆ ในเรื่องจะมีผิวใสๆ ดูอิ่มเอิบฉ่ำวาวดังแก้ว แบบนั้นแหละที่เรียกว่า Glass Skin ซึ่งผู้ก่อกระแสนี้คือ บิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดังชาวเกาหลีนั่นเอง เมื่อฮิตขึ้นมาแล้วก็ฮิตต่อกันไปยาวๆ ข้ามปี หลักๆ ของเทรนด์ผิวใสดั่งแก้วนี้ คือ เน้นที่การทำความสะอาดให้หมดจด บำรุงผิวทั้งจากภายนอกและภายในเพื่อให้ผิวเปล่งประกายอย่างคนที่สุขภาพดี และเสริมด้วยการแต่งหน้าให้ดูกระจ่างใสโชว์ความเปล่งปลั่งสดใสของผิว         อย่างไรก็ตามเมืองไทยนั้นสภาพอากาศต่างจากเกาหลีจะให้ทันกับเทรนด์นี้ ก็ต้องปรับให้เหมาะสมจะสำเนามาทั้งหมดคงไม่เหมาะ ส่วนที่สามารถทำได้เลยและดีมากเสียด้วย คือ หลักของการทำความสะอาดและการบำรุง         ขั้นตอนที่แนะนำหลักๆ คือ เมื่อแต่งหน้าแล้วต้องไม่ละเลยการทำความสะอาดอย่างหมดจด ให้เกิดการตกค้างของสารเคมีบนผิวน้อยที่สุด ดื่มน้ำให้มาก รับประทานอาหารที่ดี และบำรุงผิวด้วยครีมบำรุงที่เหมาะกับสภาพผิว ซึ่งผู้นำเทรนด์เสนอว่าควรสครับ(ขัดถูหน้าเพื่อให้เกิดการผลัดผิวที่เร็วขึ้น) และมาสก์หน้าเมื่อว่างจากกิจกรรมปกติ   และหากจะให้เป๊ะสำหรับอากาศร้อนและแดดแรงๆ แบบเมืองไทย การปกป้องผิวด้วยครีมกันแดดคือสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกัน                เทรนด์ความเป็นธรรมชาติที่ช่วยให้ผู้บริโภคมีสุขภาพผิวที่ดี        เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในลุคธรรมชาติและเครื่องสำอางที่ปกป้องคุณจากมลภาวะ คือสิ่งที่คาดว่าจะมาแรงในปี 2563 สารสกัดจากธรรมชาติที่ถูกผสมในเครื่องสำอางหรือนำมาเป็นอาหารเสริมนั้น ยังคงจะได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ต้องเพิ่มขึ้นคือ ความต้องการสินค้าแบบเฉพาะกลุ่มและตอบโจทย์เรื่องมลภาวะ         สิ่งที่ต้องระวังในกรณีของสินค้าที่เคลมเรื่องสุขภาพผิวสวยคือ กรณีของเครื่องสำอาง ทางหน่วยงานที่กำกับดูแลจะไม่ได้มีการทดสอบเรื่องความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพียงรับจดแจ้งเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปสำหรับผู้บริโภคเท่านั้น ดังนั้นการเสี่ยงกับอาการแพ้ยังคงต้องได้รับความสนใจเป็นอันดับแรกๆ โดยควรทดสอบกับผิวในบริเวณที่ไม่ใช่เป้าหมายหลักก่อนใช้ และอย่าคาดหวังกับสินค้าจนเกินไป นอกจากนี้การช่วยกันเฝ้าระวังสินค้าที่ไม่ปลอดภัยโดยการแจ้งต่อหน่วยงานที่กำกับดูแลจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยในวงกว้าง         ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในหลักการคือ การทำความสะอาดและปกปิดเสริมแต่ง ดังนั้นไม่ควรคาดหวังถึงขนาดแก้ไขหรือฟื้นฟูสภาพผิว        กรณีของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาจมีการโฆษณาจนเกินเลย ให้สรรพคุณที่มากกว่าการบำรุง แต่เป็นโชว์สรรพคุณรักษาโรค ซึ่งถือว่าผิด และเราไม่ควรตกเป็นเหยื่อของสินค้าเหล่านี้ ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางผลิตภัณฑ์ผลิตขึ้นมาเพื่อสร้างการตลาดแบบ แชร์ลูกโซ่ ไม่ได้มีสรรพคุณอะไรมากไปกว่าอาหารธรรมดา ผู้บริโภคต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้ความโลภชักนำให้ขาดความรอบคอบในการใช้สินค้า         การพยายามสวยตามแฟชั่นหรือเทรนด์ไม่ได้เป็นสิ่งผิดปกติ ใครๆ ก็อยากจะได้ชื่อว่าทันสมัย แต่เราควรรอบคอบไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่ไม่มีความรับผิดชอบ ทำสินค้าที่ไม่ปลอดภัยหรือฉาบฉวยเพียงเพื่อจะหาผลประโยชน์ทางการเงิน สวยตามเทรนด์ได้แต่ต้องเท่าทันข้อมูลด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ทีวีดิจิทัลกับสิ่งแอบแฝง

“สารสกัดตัวนี้นำเข้าจากต่างประเทศ จะช่วยให้ผิวหน้าของคุณกระจ่างใส ชุ่มชื่น”“กลัวไหมว่าแต่งหน้าแล้วหน้าเทา พี่ใช้ครีมตัวนี้แล้วไม่มีปัญหาเลย “ถ้าไม่ดีจริง ไม่กล้าบอกต่อหรอก”“มั่นใจได้เพราะเขามี อย.”เรามักจะพบประโยคเหล่านี้อยู่เนืองๆ ผ่านทางรายการโทรทัศน์สักช่อง บางครั้งอาจถึงขนาดที่ว่าเปิดไปกี่ช่องๆ ก็เจอคนดังกำลังบรรยายสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ที่ถืออยู่ในมือ พร้อมกับสาธิตการใช้งาน ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยโปรโมชั่นเขย่าใจ ลดแลกแจกแถมขนานใหญ่ จนผู้บริโภคอย่างเราๆ อยากจะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาโทรสั่งซื้อทันทีทันใดแต่เดี๋ยวก่อน! คุณรู้หรือไม่ว่าพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะรู้สึกเคยชิน หากแต่ต้องสะกิดตัวเองแรงๆ แล้วเตือนสติว่า เรากำลังเสพ ‘โฆษณาแฝง’ โดยไม่ได้ตั้งใจหลายคนอาจจะสงสัยว่าเสพไปแล้วเป็นอะไร มีผลเสียอย่างไร ก็คงต้องเท้าความเสียก่อนว่า ในยุคปัจจุบันผู้คนมักจะเปิดรับข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางของสื่อใหม่ (new media) มากขึ้น เนื่องด้วยคุณลักษณะสำคัญต่างๆ ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนยุคใหม่ เช่น เนื้อหาสั้น กระชับ เข้าใจง่าย เข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ฯลฯ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อเก่า (old media) หลายๆ ประเภทยังคงได้รับการใช้งานจากกลุ่มคนจำนวนมาก โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ที่มีการพัฒนาจากระบบอะนาล็อกสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งมีความโดดเด่นในแง่คุณภาพของการรับชมที่ดีขึ้น มีการประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ ทำให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่มีโอกาสเข้ามาผลิตเนื้อหาและสร้างความหลากหลายในวงการสื่อ ขณะที่ผู้ชมเองก็มีทางเลือกในการรับชมโทรทัศน์ที่เพิ่มขึ้นทว่าเมื่อการแข่งขันระหว่างช่องโทรทัศน์ไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆ กอปรกับการเติบโตของสื่อใหม่ที่เข้ามาช่วงชิงความสนใจของผู้รับสาร ทำให้โฆษณา (advertising) ซึ่งเป็นรายได้หลักของธุรกิจโทรทัศน์เกิดการเลื่อนไหลไปยังพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น ผู้ประกอบการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลหรือ ‘ทีวีดิจิทัล’ จึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจตนเอง กลยุทธ์หนึ่งที่ถูกนำมาใช้อย่างมากคือ ‘โฆษณาแฝง’ ซึ่งเป็นการโฆษณาสินค้าและบริการที่สอดแทรกไปกับเนื้อหาอย่างแยบยล จนผู้บริโภคไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เหมือนกับโฆษณาทั่วไป ทำให้สินค้าและบริการนั้นๆ มีโอกาสซึมลึกเข้าไปในใจของผู้บริโภคโดยไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพที่มักจะพบได้บ่อยๆ เช่น อาหารเสริม ยาบำรุงร่างกาย เครื่องสำอาง เป็นต้น สิ่งที่น่ากังวลคือสื่อโทรทัศน์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่และครอบคลุมทั่วประเทศ ผู้บริโภคจึงมีลักษณะทางประชากรศาสตร์หลากหลาย ทั้งในด้านเพศ อายุ อาชีพ การศึกษา และด้านอื่นๆ ซึ่งส่งผลต่อวิจารณญาณและความรู้เท่าทันสื่อที่ไม่เท่ากัน อันนำไปสู่ทัศนคติและพฤติกรรมการตอบสนองต่อโฆษณาแฝงที่แตกต่างกัน เช่น โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมความงามยี่ห้อหนึ่งอาจไม่มีผลต่อผู้สูงวัย แต่กลับกระตุ้นความต้องการซื้อในกลุ่มวัยรุ่นได้อย่างมาก จนนำไปสู่ค่านิยมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่แพร่หลายนอกจากนี้ การที่ผู้บริโภคคาดหวังว่าจะได้รับสาระหรือความบันเทิงจากรายการโทรทัศน์อย่างเต็มที่ แต่กลับถูกยัดเยียดโฆษณาที่ไม่พึงประสงค์เข้ามาด้วย เนื่องจากผลประโยชน์เชิงธุรกิจของผู้ประกอบการโทรทัศน์และเจ้าของสินค้าและบริการ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นการเอาตัวรอดจากวิกฤติการณ์ขององค์กรสื่อโดยละเลยต่อความต้องการและสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคหรือไม่ ทว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงการตั้งคำถามไปยังจริยธรรมของผู้ประกอบการ เจ้าของสินค้าและบริการ หรือนักการตลาดเพียงเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงการขาดความรู้เท่าทันสื่อของผู้บริโภค และประสิทธิภาพในการคัดกรองโฆษณาแฝงของหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแล ซึ่งยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยในระดับที่ผู้บริโภคจะสามารถฝากความเชื่อมั่นไว้ได้จากปัญหาที่เกิดขึ้นนำไปสู่งานศึกษาเรื่อง “รูปแบบของโฆษณาแฝงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพในรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล” ซึ่งมุ่งที่จะค้นหาคำตอบว่าทีวีดิจิทัลยุคปัจจุบันมีการใช้โฆษณาแฝงในลักษณะใดบ้าง โดยใช้การสำรวจทีวีดิจิทัล 2 ประเภท ได้แก่ บริการสาธารณะ และบริการทางธุรกิจ รวมทั้งเลือกรูปแบบรายการโทรทัศน์ที่หลากหลาย ประกอบด้วย รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (non-fiction) เช่น ข่าว สาระความรู้, รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction) เช่น ละคร ซิทคอม ซีรีส์ และรายการให้ความบันเทิงเบาสมอง (Light Entertainment) เช่น ทอล์กโชว์ เกมโชว์ ซึ่งออกอากาศตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2561 โดยเลือกพิจารณาเฉพาะอาหาร ยา เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยตรงข้อค้นพบในการศึกษาครั้งนี้อาจจำแนกออกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้1. ประเภทของผลิตภัณฑ์สุขภาพ  ผลิตภัณฑ์สุขภาพ หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต มีวัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อสุขภาพอนามัยหรืออาจมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ตลอดจนมีความเกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งในงานศึกษาพบว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปรากฏในรูปของโฆษณาแฝง ได้แก่              •      อาหาร เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนม น้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร              •      ยา เช่น ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร              •      เครื่องสำอาง เช่น ครีมบำรุงผิว เซรั่มบำรุงเส้นผม         2. รูปแบบของโฆษณาแฝงจากการศึกษาสามารถจำแนกข้อมูลโฆษณาแฝงตามแนวทางของ ธาม เชื้อสถาปนศิริ (2552) ที่อธิบายว่าโฆษณาแฝงมีทั้งหมด 5 รูปแบบได้ดังนี้            •      แฝงสปอตสั้นหรือวีทีอาร์ (VTR) ก่อนเข้ารายการแต่ละช่วงจะมีโลโก้สินค้าและเสียงบรรยายว่า “สนับสนุนรายการโดย...” พร้อมกับบรรยายสรรพคุณสินค้าพ่วงเข้ามาด้วย เช่น “ดื่มง่าย ละลายน้ำดี ไม่มีกลิ่นคาว ราคาพิเศษสุดๆ โทรสั่งเลย...”    •      แฝงภาพกราฟิก โดยมีโลโก้สินค้าปรากฏที่ฉากหลัง หรือมีภาพสินค้า ตราสินค้า และสโลแกนปรากฏที่มุมจอเป็นระยะ รวมทั้งมีกรอบสินค้าที่บริเวณขอบจอ (window logo)   •      แฝงวัตถุ พบค่อนข้างมาก เช่น วางสินค้าไว้ที่โต๊ะ พิธีกรพูดถึงสินค้าและมีการแพนกล้องไปที่สินค้า วางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก มีป้ายสินค้าหรือภาพสินค้าเป็นฉากหลัง   •      แฝงบุคคล พิธีกรใส่ผ้ากันเปื้อนที่มีตราสินค้า หรือตัวละครหยิบจับสินค้าขึ้นมาใช้งาน พร้อมกับพูดชื่อยี่ห้ออย่างชัดเจน    •      แฝงเนื้อหา พบได้มากที่สุด โดยส่วนใหญ่มักจะออกแบบเนื้อหาโฆษณาแฝงให้สอดคล้องกับเนื้อหารายการ หากเป็นรายการทอล์กโชว์จะมีการสัมภาษณ์แขกรับเชิญเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว ผลงาน แล้วนำไปสู่เรื่องของความงามหรือความสำเร็จซึ่งมีความเชื่อมโยงกับสินค้า พร้อมสาธิตการใช้งาน เช่น ทาครีม รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตลอดจนมอบสินค้าให้แก่พิธีกรหรือผู้ร่วมรายการ หรือรายการสุขภาพก็มีการแนะนำสินค้าที่มีสรรพคุณในการดูแลสุขภาพ ตลอดจนการออกแบบให้ผู้ดำเนินรายการหรือตัวละครต้องใช้สินค้านั้นๆ เช่น ใช้ในการประกอบอาหาร หรือประกอบอาชีพ ขณะเดียวกันก็พบว่ามีการสอดแทรกโฆษณาแฝงที่โจ่งแจ้งและไม่เชื่อมโยงกับเนื้อหาเช่นกัน โดยผู้ประกาศข่าวพูดโฆษณาสินค้าและโปรโมชั่นในช่วงหนึ่งของรายการ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับข่าวที่นำเสนอแม้แต่น้อยนอกจากนี้ ยังพบรูปแบบของการทำโฆษณาแฝงที่น่าสนใจอีกลักษณะหนึ่ง นั่นคือ การผลิต ‘รายการแนะนำสินค้าโดยเฉพาะ’ ขึ้นมา โดยออกแบบให้มีลักษณะคล้ายรายการสุขภาพเป็นหลัก บางส่วนเป็นรายการวาไรตี้ และบางส่วนออกแบบให้คล้ายรายการเล่าข่าว ลักษณะการนำเสนอจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เสนอเนื้อหาที่สอดคล้องกับรายการแล้วจึงเชื่อมโยงไปสู่สินค้า เช่น รายการสุขภาพก็จะให้ความรู้เรื่องสุขภาพ หรือรายการข่าวนำเสนอข่าวเกี่ยวกับปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ แล้วชี้นำว่าสินค้าสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดยมีการสัมภาษณ์ผู้ใช้สินค้าจริงและอ้างอิงข้อมูลทางการแพทย์หรืองานวิจัยเพื่อเสริมความน่าเชื่อถือของสินค้า ในส่วนของรายการวาไรตี้มีการจัดวางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก และนำสินค้ามาเป็นโจทย์ให้ผู้เข้าแข่งขันทายราคา   จุดประสงค์สำคัญของรายการประเภทนี้ คือ แนะนำสรรพคุณสินค้าและโปรโมชั่น พร้อมกับเชิญชวนให้เกิดการซื้อ แม้ว่าหน้าตาของรายการประเภทจะละม้ายคล้ายคลึงกับการแฝงเนื้อหาโดยทั่วไป ทว่าจุดต่างที่สังเกตได้ชัดเจนคือ            3. ความสัมพันธ์ของประเภทรายการและโฆษณาแฝง    การศึกษาในครั้งนี้ยังพบความสอดคล้องระหว่าง ‘ประเภทของรายการโทรทัศน์’ กับโฆษณาแฝงที่นำเสนอ โดยประเภทของรายการโทรทัศน์มักจะมีผลต่อการออกแบบโฆษณาแฝง ไม่ว่าจะเป็นด้านเนื้อหาหรือด้านรูปแบบของโฆษณาแฝง ดังรายละเอียดต่อไปนี้              3.1 รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (non-fiction)                 มักจะนำเสนอเนื้อหาในเชิงข้อมูลหรือสาระความรู้แล้วค่อยๆ สอดแทรกโฆษณาแฝงเข้าไป พิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการสื่อสารด้วยถ้อยคำที่ค่อนข้างเป็นทางการ น่าเชื่อถือ มีการอ้างข้อมูลประกอบ                1) รายการข่าว/เล่าข่าว                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (ตราสินค้าปรากฏที่ฉากหลัง, มีโลโก้สินค้าปรากฏในจอด้านหน้าโต๊ะผู้ประกาศข่าว) แฝงวัตถุ (วางสินค้าไว้ที่โต๊ะ, พิธีกรพูดถึงสินค้าและมีการแพนกล้องไปที่สินค้า) และแฝงเนื้อหา (สัมภาษณ์แขกรับเชิญเกี่ยวกับปัญหาความงาม แล้วโยงไปสู่สินค้า)                2) รายการสุขภาพ                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงเนื้อหา (พิธีกรนำเสนอเรื่องสุขภาพ แล้วแนะนำสินค้าที่มีสรรพคุณในการดูแลสุขภาพ)           3.2 รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction)                 มักจะสอดแทรกโฆษณาแฝงเข้ากับเรื่องราวหรือตัวละคร เช่น แฝงกับสถานที่ หรือตัวละครมีความจำเป็นต้องใช้สินค้านั้นๆ                1) ซิทคอม                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงวัตถุ (วางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก, มีป้ายสินค้าเป็นฉากหลัง) และแฝงเนื้อหา (ตัวละครมีอาชีพที่ต้องใช้สินค้านั้นๆ)                2) ละคร/ซีรีส์                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (โลโก้สินค้าปรากฏที่มุมจอ) และแฝงเนื้อหา (ตัวละครหยิบสินค้าขึ้นมาใช้ มีการพูดถึงตราสินค้าโดยตรงหรือกล้องแพนไปที่สินค้านั้น)           3.3 รายการให้ความบันเทิงเบาสมอง (Light Entertainment)                 พบว่าโฆษณาแฝงมีความกลมกลืนกับเนื้อหาของรายการ เช่น รายการทอล์กโชว์ที่สัมภาษณ์นักแสดงหญิงก็มักจะแฝงสินค้าด้านความสวยความงาม หรือรายการทำอาหารก็มีโฆษณาแฝงเกี่ยวกับอาหาร                1) รายการทอล์กโชว์                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงสปอตสั้น (ก่อนเข้ารายการมีโลโก้และเสียงบรรยายผู้สนับสนุนรายการ) แฝงภาพกราฟิก (โลโก้สินค้าปรากฏที่มุมจอเป็นระยะ) แฝงวัตถุ (มีสินค้าวางบนโต๊ะและมีภาพสินค้าที่ฉากหลัง) และแฝงเนื้อหา (สัมภาษณ์แขกรับเชิญเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว ผลงาน แล้วโยงไปสู่สินค้าในตอนท้าย)                2) รายการเกมโชว์/แข่งขัน                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงสปอตสั้น (แนะนำผู้สนับสนุนรายการ) และแฝงวัตถุ (มีป้ายโลโก้สินค้าตรงที่นั่งของผู้แข่งขัน)                3) รายการอาหาร                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (โลโก้สินค้าปรากฏที่มุมจอ) แฝงวัตถุ (วางสินค้าไว้ในฉาก) แฝงบุคคล (พิธีกรใส่ผ้ากันเปื้อนที่มีตราสินค้า) และแฝงเนื้อหา (แจกสินค้าให้แขกรับเชิญ หรือร่วมสนุกตอบคำถามชิงรางวัลจากสินค้ายี่ห้อนั้นๆ)                4) รายการแนะนำอาชีพ                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงเนื้อหา (สัมภาษณ์แขกรับเชิญที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ แล้วเชื่อมโยงไปถึงสินค้า)                5) รายการประเภทอื่นๆ เช่น วาไรตี้ ท่องเที่ยว                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (มีภาพสินค้า ตราสินค้า และสโลแกนปรากฏที่มุมจอ) และแฝงเนื้อหา (พาชมบ้านแขกรับเชิญแล้วพบสินค้าวางอยู่ แขกรับเชิญก็บรรยายสรรพคุณสินค้า พร้อมกับชี้ชวนให้ซื้อ)          3.4 รายการแนะนำสินค้าโดยเฉพาะ                มักจะสอดแทรกโฆษณาแฝงที่เข้ากับรูปแบบรายการ เช่น รายการเชิงสุขภาพก็นำเสนอสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ มีการอ้างอิงข้อมูลจากผู้ใช้สินค้าจริงและข้อมูลทางการแพทย์หรืองานวิจัย รายการวาไรตี้มีการแบ่งเนื้อหาเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกมีลักษณะเป็นซิทคอมก็ใช้รูปแบบแบบแฝงวัตถุ (จัดวางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก) ช่วงต่อมาจะเป็นการแข่งขันโดยนำสินค้ามาเป็นโจทย์ให้ผู้แข่งขันทายราคา เป็นต้น                จากข้อมูลที่กล่าวมาจะเห็นว่าโฆษณาแฝงในรูปแบบดั้งเดิมก็ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ล้มหายไปจากหน้าจอโทรทัศน์ และในขณะเดียวกันก็ยังมีโฆษณาแฝงรูปแบบใหม่เพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งสามารถตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมได้ใน 2 ประเด็น ดังนี้                 1. รายการ ‘ยั่งยืน’ กับ ‘ไม่ยั่งยืน’                      เราสามารถแบ่งลักษณะของรายการโทรทัศน์ออกเป็น 2 รูปแบบ คือ รายการ ‘ยั่งยืน’ หมายถึง รายการที่ออกอากาศมานาน/มีระยะเวลาในการออกอากาศ 1 ชั่วโมงขึ้นไป/อยู่ในช่วงเวลาไพร์มไทม์ (prime time)/กำหนดวันและเวลาออกอากาศที่แน่นอน/เป็นรายการที่มีจำนวนผู้ชมมากหรือเป็นที่รู้จักในวงกว้าง กล่าวได้ว่า เป็นรายการที่มีแนวโน้มจะคงอยู่ในระยะยาว เช่น รายการทูเดย์โชว์ (3 HD), คุยโขมงบ่ายสามโมง (MCOT HD), ซีรีส์เป็นต่อ 2018 (ONE 31)                     รายการ ‘ไม่ยั่งยืน’ หมายถึง รายการที่เพิ่งผลิตและออกอากาศในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา/มีระยะเวลาในการออกอากาศ 10-30 นาที (บางรายการอาจถึง 1 ชั่วโมง)/วันและเวลาออกอากาศไม่แน่นอน กล่าวได้ว่า เป็นรายการที่มีแนวโน้มจะคงอยู่เพียงชั่วคราวหรือในระยะสั้นๆ เช่น รายการใส่ใจไกลโรค (ช่อง 8), รายการพลังชีวิต (NOW 26)                     แม้ว่ารายการทั้งสองรูปแบบจะมีความแตกต่างกันในด้านคุณลักษณะ แต่กลับพบว่ามีการนำเสนอโฆษณาแฝงด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งในอดีตนั้นรายการยั่งยืนจะไม่นำเสนอโฆษณาแฝงอย่างหนักหน่วงเหมือนเช่นปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นวิกฤตการณ์ขององค์กรสื่อ ตลอดจนความย่ำแย่ทางเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้ผลิตรายการและสถานีโทรทัศน์แทบทุกช่องต้องหาทางเอาตัวรอดจากสภาวะดังกล่าว เราจึงพบโฆษณาแฝงกระจายตัวไปตามรายการต่างๆ อย่างครอบคลุมไม่ว่าช่องเล็กหรือใหญ่ก็ตาม                  2. แฝงแบบ ‘เนียน’ กับ ‘ไม่เนียน’                      อาจกล่าวได้ว่า รูปแบบของโฆษณาแฝงมีทั้งแนบเนียนและไม่แนบเนียน ซึ่งอธิบายได้ดังนี้                      แนบเนียน หมายถึง นำเสนอเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับรายการ แล้วจึงนำไปสู่การเสนอขายผลิตภัณฑ์  เช่น รายการทอล์กโชว์มีการสัมภาษณ์นักแสดงเกี่ยวกับการดูแลตนเอง แล้วจึงโยงเข้าสู่ผลิตภัณฑ์ หรือรายการด้านสุขภาพนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บและการดูแลสุขภาพ แล้วจึงแนะนำผลิตภัณฑ์ ซึ่งลักษณะการดำเนินรายการจะค่อนข้างราบลื่น (smooth) มีลำดับขั้นตอนในการนำพาไปสู่เป้าหมาย (ผลิตภัณฑ์สุขภาพ) มีจุดเชื่อมโยงที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกคล้อยตามได้                      ไม่แนบเนียน หมายถึง เสนอขายผลิตภัณฑ์อย่างโจ่งแจ้ง โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาระในรายการ เช่น รายการข่าว ผู้ประกาศข่าวอธิบายสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่ง พร้อมชี้ชวนช่องทางการสั่งซื้อให้แก่ผู้ชม โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับข่าวที่นำเสนอแม้แต่น้อย ลักษณะเช่นนี้อาจทำให้ผู้ชมเกิดความตะขิดตะขวงใจ เนื่องจากเนื้อหาที่ไม่ปะติดปะต่อกัน                       ข้อแตกต่างดังกล่าวนอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงระดับความสร้างสรรค์ของผู้ผลิตในการจัดวางโฆษณาแฝงลงในรายการของตนเองแล้ว ยังสามารถตั้งข้อสังเกตต่อไปได้อีกว่า การนำเสนอแบบแนบเนียนนั้นค่อนข้างน่าเป็นห่วงกว่า เพราะผู้ชมเสพเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้คล้อยตามไปกับสารที่ได้รับอย่างง่ายดาย ในขณะที่การนำเสนอแบบไม่แนบเนียนมักจะทำให้ผู้ชมรู้ตัวและรู้ทันเสียก่อน จนนำไปสู่การระแวดระวังได้ แต่ก็ไม่แน่เสมอไปหากมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ความน่าเชื่อถือของผู้ดำเนินรายการ ความถี่ในการรับชม เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ชมได้ทั้งสิ้น                        แต่ไม่ว่าโฆษณาแฝงเหล่านี้จะถูกนำเสนอหรือรังสรรค์ออกมาในแบบใดก็ตามต่างก็สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของวงการทีวีดิจิทัลได้เป็นอย่างดี ในยุคสมัยที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ คาดหวังเนื้อหาน้ำดีมีคุณภาพ ผู้ประกอบการเองก็ต้องขวนขวายหาทางอยู่รอดเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคที่ต้องตระหนักถึงสิทธิที่พึงมี เสพสื่ออย่างระแวดระวัง และรู้จักตรวจสอบสิ่งที่เสพอยู่เสมอ เมื่อผู้บริโภคมีความกระตือรือร้น (active consumers) ก็ย่อมส่งผลไปยังผู้ประกอบการที่ต้องปรับตัวให้ตอบสนองต่อความรู้เท่าทันและพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนได้ในอนาคต  แหล่งข้อมูล:ธาม เชื้อสถาปนศิริ. (2552). รู้เท่าทันโฆษณาแฝง. กรุงเทพฯ: ออฟเซ็ทครีเอชั่น.ปวรรศ จันทร์เพ็ญ. (2560). กลยุทธ์ใหม่กับโฆษณาแฝงในปัจจุบัน. นิเทศสยามปริทัศน์, 12(13).พชร แกล้วกล้า และคณะ. (2559). จับตายโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย. กรุงเทพฯ: พิมพ์ดี. 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 รู้จักกฎหมายดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ตอนที่ 2

บทเรียนการทำคดีผู้บริโภคก่อนมีกฎหมายดำเนินคดีแบบกลุ่มทุกวันนี้ปัญหาของผู้บริโภคที่เกิดมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแบบปัจเจกคือ เกิดกับคนๆ เดียว แต่ปัจจุบันมีปัญหาหลายกรณีที่เป็นปัญหาที่เกิดกับผู้บริโภคหลายคนในเวลาเดียวกัน เช่น กรณี สถานออกกำลังกายแคลิฟอร์เนีย ว้าวปิดตัวโดยไม่แจ้งลูกค้า หรือ กรณีอุบัติเหตุรถโดยสาร หรือ กรณีปัญหาสาธารณูปโภคบ้านจัดสรร ซึ่งเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว กระบวนการใช้สิทธิเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายของผู้บริโภค จะมีความแตกต่างกันตามสภาพของแต่ละบุคคลคือ ต้องแยกกันฟ้อง บางกรณีฟ้องคนละศาล ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งของคำพิพากษา หรือการไม่สะดวกต่อกระบวนการใช้สิทธิดังกล่าว ขอยกกรณีศึกษา จากการฟ้องคดีของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ผ่านมาดังต่อไปนี้ กรณีแคลิฟอร์เนีย ว้าวมีผู้บริโภคมากกว่า 600 ราย มาร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าได้รับความเสียหายจากการปิดกิจการของบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว ฯ  โดยไม่แจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า เป็นเหตุให้สมาชิกจำนวนมากได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้บริการได้ตามสัญญา ทั้งที่ยังมีอายุสัญญาใช้บริการอยู่  และได้จ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้วอีกทั้งยังพบว่า กรณีนี้มีการกระทำผิดหลายอย่าง เช่น การฝ่าฝืนประกาศ สคบ. เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา โดยกำหนดห้ามทำสัญญาเป็นสมัครสมาชิกเกิน 1 ปี แต่ทางแคลิฟอร์เนียเปิดรับสมัครสมาชิกตลอดชีพ เพื่อระดมเงินค่าสมัครของผู้ใช้บริการ ก่อนที่จะยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปต่างประเทศ และทยอยปิดกิจการลงจนหมดสิ้น ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการทั่วประเทศกว่า 1 แสนราย ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้ กรณีอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะกรณีรถยนต์โดยสารประจำทางบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด วิ่งระหว่างเส้นทาง อ.แม่สะเรียง – จ.เชียงใหม่ แล้วรถเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำระหว่างทาง เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกว่า 40 คน  ผู้เสียหายแต่ละรายต้องใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแยกเป็นรายคดี เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย  ซึ่งผู้เสียหายที่เจ็บมากและเจ็บน้อย ต่างก็ต้องแยกฟ้องคดีส่วนของตนเอง ในทางปฏิบัติอาจฟ้องหลายๆ คนรวมกันได้ แต่มีความยุ่งยากค่อนข้างสูงกรณีรถยนต์ชำรุดบกพร่อง (เชฟโรเล็ต)  จากกรณีความชำรุดบกพร่องของสินค้ารถยนต์เชฟโรเลต ที่พบปัญหาในระบบส่งกำลัง ระบบเกียร์  ของรถยนต์รุ่นครูซ และแคปติว่า ของรถยนต์เชฟโรเลต โดยปัญหาที่เกิดขึ้นมีมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ซื้อรถจนถึงปัจจุบัน แต่บริษัทก็ไม่สามารถแก้ไขให้รถมีสภาพปกติเหมาะกับการใช้งานได้แต่เมื่อคดีไม่สามารถเจรจาตกลงการเยียวยาได้ ผู้เสียหายทั้ง 7 ราย จึงตัดสินใจฟ้องบริษัท บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย ,  บริษัทผู้ขายรถยนต์ (ดีลเลอร์) และบริษัทเช่าซื้อ เป็นคดีผู้บริโภค ต่อศาลแพ่ง โดยฟ้องแยกเป็น 7 คดี เรียกค่าเสียหาย ทั้งนี้ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง 4 ประเด็น คือ1.ขอให้รับผิดชอบคืนเงินดาวน์และค่างวดการเช่าซื้อที่ชำระไปแล้วทั้งหมด2.ขอให้บริษัทฯ รับผิดชอบค่าใช้สอยรถยนต์ต่อผู้ให้เช่าซื้อเต็มจำนวนแทนผู้บริโภค เนื่องจากสาเหตุที่ต้องบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและเรียกเงินคืนนั้นเพราะสินค้าชำรุดบกพร่องจากการผลิต ไม่ใช่จากการใช้งานปกติของผู้บริโภค3.ขอให้ศาลห้ามบริษัทฯ จำหน่ายรถยนต์รุ่นพิพาท และให้เรียกเก็บสินค้าดังกล่าวจนกว่าจะได้เปลี่ยนแปลงให้มีความปลอดภัย แต่หากแก้ไขไม่ได้นั้นห้ามผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่าย4.ขอเรียกค่าเสียหายต่อจิตใจที่ต้องหวาดกลัว วิตกกังวล ตลอดเวลาในการใช้รถยนต์พิพาทวันที่ 9 ตุลาคม 2558  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ 6 คดี ชนะคดีโดยศาลพิจารณาตามหน้าที่ของบริษัทที่ต้องชำระคืน ทั้งเงินดาวน์และเงินที่ผ่อนชำระค่างวดไปแล้ว นั้นก็คือผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ของบริษัทเชฟโรเล็ต คืนเงินดาวน์ทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ตั้งแต่วันทำสัญญาจนถึงวันที่ชำระคืนให้ผู้บริโภคจนเสร็จ และให้บริษัทไฟแนนซ์ ผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์คืนเงินค่าเช่าซื้อที่ผ่อนไปทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันรับฟ้องคดีนกว่าจะชำระหมด  และให้โจทก์ชำระเงินค่าใช้รถยนต์ให้กับบริษัทผู้เช่าซื้อรถยนต์วันละ 100 บาท ตั้งแต่วันรับรถจนกว่าจะคืนรถ  แต่อีกคดี ปรากฏว่า แม้ฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นเดียวกัน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ กลับพิพากษายกฟ้องโจทก์ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างโจทก์ขออนุญาตฎีกา ดังนั้น จะเห็นได้ว่าจากการฟ้องคดีรถยนต์ดังกล่าวนี้  แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นการฟ้องคดีที่ผู้เสียหายมีความเสียหายแบบเดียวกัน มีจำเลยคนเดียวกัน ในปัญหาข้อเท็จจริงแบบเดียวกัน แต่ก็ศาลก็อาจมีผลคำพิพากษาที่แตกต่างกันได้   จากตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นว่าปัญหาของผู้บริโภคหลายครั้งเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะโดยสภาพของการทำธุรกิจ ย่อมเข้าถึงผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาจากการบริโภคสินค้าและบริการ จึงทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคจำนวนมาก บางครั้งการร้องเรียนหรือฟ้องคดีเพื่อให้ได้รับการชดเชยเยียวยา อาจไม่ได้รับการดูแลที่เท่าเทียมกัน และผู้บริโภคที่เสียหายแต่ละรายก็ไม่มีกำลังทรัพย์หรือความรู้ที่เท่าทันมากพอที่จะคุ้มครองสิทธิของตนเอง จึงจำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มของผู้เสียหายเพื่อให้เกิดอำนาจต่อรอง มีตัวแทนกลุ่มในการเรียกร้องสิทธิ รวมถึงมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองประโยชน์ของคนจำนวนมากจากความเสียหายเดียวกัน[1] จุฬารัตน์  ยะปะนัน. หนังสือจุลนิติ พ.ค. - มิ.ย. 53[2] เกรียงศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์. สรุปสาระสำคัญการดำเนินคดีแบบกลุ่ม[3] ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “บทเรียน 10 ปี ศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 รู้จักกฎหมายดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ตอนที่ 1

การดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action คืออะไร        การดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action เป็นหนึ่งในวิธีพิจารณาความ เพื่อเยียวยาความเสียหายให้แก่กลุ่มผู้เสียหายที่มีจำนวนหลายคน  ให้ทั่วถึง รวดเร็ว เป็นธรรม  สร้างภาระและค่าใช้จ่ายแก่ภาครัฐน้อยที่สุด  โดยมีรูปแบบการดำเนินคดีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน เนื่องจากเป็นวิธีการที่สามารถคุ้มครองผู้เสียหายจำนวนมากได้ในการทำคดีเพียงครั้งเดียว และสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหายที่ไม่มีความสามารถฟ้องคดีเพื่อตนเองได้ หรือผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจำนวนเพียงเล็กน้อย หลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในการฟ้องคดี และป้องกันความขัดแย้งกันของคำพิพากษา ตลอดจนเป็นมาตรการในการลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยประเทศไทย ได้ออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2558 ว่าด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่ม มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2558 เป็นต้นมา[1]คดีอะไรบ้างที่ฟ้องคดีแบบกลุ่มได้   การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะใช้ในกรณีที่มีผู้ถูกโต้แย้งสิทธิเป็นจำนวนมาก เช่น ในคดีคุ้มครองผู้บริโภคที่มีผู้เสียหายจำนวนมากจากการใช้สินค้าและบริการ ซึ่งเกิดจากผู้ประกอบการรายเดียวกัน หรือในคดีละเมิดที่มี ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำเป็นบุคคลจำนวนมาก   ซึ่งบ่อยครั้งความเสียหาย อาจเกิดจากอุบัติเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะทางบก ทางน้ำหรือทางอากาศ ซึ่งแต่ละครั้ง ที่มีเหตุละเมิดดังกล่าวจะมีผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำนั้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ที่พบปัญหามากขึ้นในปัจจุบัน เพราะการกระทำอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในแต่ละครั้งนั้น จะมีผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกันนอกจากนี้ ยังรวมถึง คดีอื่นๆ เช่น คดีแรงงาน คดีเกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์   การแข่งขันทางการค้า  เป็นต้น[i] ศาลที่มีอำนาจรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีแบบกลุ่มได้   ศาลที่มีอำนาจรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีแบบกลุ่มได้  คือ ศาลยุติธรรมทุกศาล(ยกเว้น ศาลแขวง) ทั้งศาลแพ่ง  ศาลจังหวัด  ศาลภาษีอากร  ศาลแรงงาน  ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการ ค้าระหว่างประเทศ  เป็นต้น(แต่ไม่รวมไปถึงศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ) หลักการสำคัญของการฟ้องคดีแบบกลุ่ม·ผู้ที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายเดียวกันจะอยู่ในฐานะเป็นสมาชิกกลุ่ม และเฉพาะสมาชิกกลุ่มที่เป็นโจทก์  เท่านั้นที่จะมีฐานะเป็นคู่ความในคดี·โจทก์และทนายความโจทก์ในการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะทำหน้าที่เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ให้กับสมาชิกกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม โดยศาลจะต้องคัดเลือกผู้ที่จะเป็นโจทก์และทนายความฝ่ายโจทก์อย่างละเอียดรอบคอบ·การเริ่มดำเนินคดีแบบกลุ่มจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อน  เมื่อเข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามกฎหมายและตามข้อกำหนดที่จะออกตามมาที่จะสามารถดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ทุกประการแล้ว  การดำเนินคดีนั้นๆ ในศาลจะไม่เป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่มโดยอัตโนมัติ  แต่โจทก์จะต้องยื่นคำร้องขออนุญาตดำเนินคดีแบบกลุ่มต่อศาลเสียก่อน  และเมื่อศาลอนุญาตแล้ว  จึงจะให้ถือว่าการดำเนินคดีในคดีนั้นเป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม การยื่นคำร้องฝ่ายโจทก์จะต้องเป็นฝ่ายยื่นคำร้องไปพร้อมกับการยื่นคำฟ้อง·การออกจากลุ่ม โดยสมาชิกกลุ่มมีสิทธิแสดงเจตนาต่อศาลในการขอออกจากการเป็นสมาชิก และไม่ประสงค์จะผูกพันในคำพิพากษาคดีแบบกลุ่ม เพื่อไปฟ้องคดีของตนเองได้·ผลของคำพิพากษาสมควรผูกพันบุคคลอื่นที่ไม่ได้เข้ามาในคดีโดยวิธีการแจ้งหรือประกาศเพื่อให้สมาชิกกลุ่มทราบถึงความเคลื่อนไหวของคดีและทราบถึงสิทธิของตน·โจทก์ ต้องมีความสามารถทำแทนคนอื่นได้ กล่าวคือ โจทก์จะต้องทำหน้าที่แทนสมาชิกกลุ่มทั้งหมดซึ่งอาจมีจำนวนมากโดยที่ไม่เคยพบปะกันมาก่อน และการทำหน้าที่ของโจทก์จะส่งผลกระทบต่อสมาชิกกลุ่มคนอื่นๆ โจทก์จึงเป็นตัวละครที่มีความสำคัญมาก จึงมีความจำเป็นที่ศาลจะต้องควบคุมตรวจสอบผู้ที่เป็นผู้แทนกลุ่มโดยเคร่งครัด ·กลุ่มบุคคล แม้ความเสียหายต่างกันก็ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้  หมายถึง บุคคลที่มีสิทธิอย่างเดียวกัน เนื่องจากข้อเท็จจริงและกฎหมายอย่างเดียวกัน และมีลักษณะเฉพาะของกลุ่มเหมือนกัน แม้ว่าลักษณะของความเสียหายจะแตกต่างกันก็ตาม เช่น นางสาวแดง ฟ้า และส้ม ซื้อเครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่ง จากห้างสรรพสินค้าคนละที่ คนละจังหวัดกันไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แต่ปรากฎว่าพอทุกคนใช้เครื่องสำอางเกิดอาการเป็นผื่นแดง ผิวลอกลาย ต้องไปหาหมอเสียค่ารักษาพยาบาล กรณีเช่นนี้ทั้งสามคนถือว่าเป็นกลุ่มบุคคล เมื่อมาร้องเรียนและรวมกลุ่มกัน ก็สามารถตกลงกันให้ใครคนหนึ่งเป็นตัวแทน ฟ้องร้องและดำเนินคดีแบบกลุ่มกับบริษัทเครื่องสำอางได้ โดยคนที่เหลือก็เป็นสมาชิกกลุ่ม แม้แต่ละคนจะมีความเสียหายต่างกันก็ตาม ·ทนายความฝ่ายโจทก์ ต้องรับผิดชอบสูงจึงมีสิทธิได้รับเงินรางวัล หลังจากที่ศาลอนุญาตให้มีการดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้ว ทนายความของโจทก์จะทำหน้าที่เป็นทนายความของกลุ่มด้วย ซึ่งบทบาทของทนายความฝ่ายโจทก์นี้ก็มีความสำคัญไม่แพ้ตัวโจทก์ เพราะทนายความจะเป็นผู้รวบรวมผู้ที่ได้รับความเสียหาย รวบรวมพยานหลักฐาน รวมทั้งจ่ายเงินทดรองในการดำเนินคดีทั้งหมดไปก่อน เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการแสวงหาพยานหลักฐานและค่าใช้จ่ายในการติดต่อประสานงานสมาชิกกลุ่ม เป็นต้น ซึ่งกฎหมายได้กำหนดความสามารถของทนายความฝ่ายโจทก์ไว้ว่า ต้องสามารถดำเนินคดีคุ้มครองสิทธิของกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม และต้องไม่มีผลประโยชน์ขัดหรือแย้งกับสมาชิกกลุ่ม หากปรากฏว่าทนายความไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม หรือเมื่อทนายความถอนตัว สมาชิกกลุ่มสามารถร้องขอต่อศาลให้มีการเปลี่ยนตัวทนายความฝ่ายโจทก์ได้  ทนายความของกลุ่มจึงมีภาระหน้าที่สูงกว่าทนายความคดีทั่วไป เนื่องจากต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ให้คนเป็นจำนวนมากและต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงในการออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ไปก่อน ดังนั้น เพื่อเป็นค่าตอบแทนและแรงจูงใจ กฎหมายจึงกำหนดให้ทนายความกลุ่มมีสิทธิได้รับเงินรางวัลทนายความ ศาลจะเป็นผู้กำหนดเงินรางวัลทนายความให้เมื่อการดำเนินคดีสิ้นสุดแล้ว โดยพิจารณาจากความยากง่ายของคดี และระยะเวลาการทำงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินแบบกลุ่ม  แต่ไม่เกินจำนวนร้อยละ 30 ของจำนวนค่าเสียหายที่สมาชิกกลุ่มมีสิทธิได้รับ โดยจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายเงินรางวัลให้ทนายความ·ศาล ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงแบบเชิงรุก ในระบบวิธีพิจารณาปกติ ศาลจะดำเนินกระบวนการพิจารณาด้วยระบบกล่าวหา คือ โจทก์และจำเลยนำเสนอพยานหลักฐานของตนต่อศาล ศาลมีหน้าที่ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานและตัดสินไปตามที่ปรากฏ แต่ในการพิจารณาคดีแบบกลุ่มนั้น ศาลจะมีบทบาทในเชิงรุกโดยใช้ระบบไต่สวนในการพิจารณา กล่าวคือ ศาลมีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้เอง ไม่ผูกพันอยู่เฉพาะแต่พยานหลักฐานที่คู่ความนำเสนอเท่านั้น  โดยมีเจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่มทำหน้าที่ช่วยเหลือศาล·เมื่อมีการพิจารณาคดีแบบกลุ่มแล้ว หากศาลเห็นว่าสมาชิกในกลุ่มได้รับความเสียหายต่างกัน ศาลก็สามารถแบ่งสมาชิกในกลุ่มออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ได้ เพื่อความสะดวกในการพิสูจน์เรื่องจำนวนค่าเสียหาย[2] สิทธิของสมาชิกกลุ่ม (ที่ไม่ได้เป็นโจทก์ผู้เริ่มคดี)       มีสิทธิดังนี้ 1. เข้าฟังการพิจารณาคดี2. ร้องขอต่อศาลถ้าเห็นว่าโจทก์ไม่มีคุณสมบัติหรือส่วนได้เสียในคดี3. ขอตรวจเอกสารหรือขอคัดสำเนาเอกสารในสำนวนความ4. จัดหาทนายคนใหม่แทนทนายที่ขอถอนตัวหรือที่ศาลสั่งเปลี่ยนทนาย5. ร้องขอเข้าแทนที่โจทก์6. คัดค้านสมาชิกอื่นในกลุ่มที่ร้องขอเข้าแทนที่โจทก์7. คัดค้านการที่โจทก์ขอถอนฟ้อง8. คัดค้านการตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ9. คัดค้านการตกลงเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด10.ตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของสมาชิกอื่น11. แต่งตั้งทนายความให้เป็นผู้ดำเนินการแทนตนตาม 1 ถึง 10 ข้างต้นได้ประโยชน์ของการฟ้องคดีแบบกลุ่ม·ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี·เป็นมาตรการที่เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมให้มากขึ้น·ทำให้การดำเนินคดีในปัญหาอย่างเดียวกันได้รับผลเป็นอย่างเดียวกันโดยจำเลยจะไม่ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษาที่แตกต่างกัน·ทำให้ผู้ที่จะฝ่าฝืนกฎหมายเกิดความยับยั้งชั่งใจในการที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย·เป็นมาตรการที่ได้รับความคุ้มครองผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และผู้ที่ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยให้ได้รับการเยียวยาแก้ไขตัวอย่างคดีผู้บริโภคที่มูลนิธิฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่มนับตั้งแต่มีกฎหมายฟ้องคดีแบบกลุ่มประกาศใช้ในประเทศไทยในปี 2558  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการดำเนินคดีแบบกลุ่ม จึงมีการสนับสนุนผู้บริโภคให้เกิดการรวมกลุ่ม และฟ้องคดีผู้บริโภคแบบกลุ่มในหลายกรณี ที่สำคัญ ดังนี้ 1.ฟ้องคดีสินค้าไม่ปลอดภัย กรณีเครื่องสำอางเมื่อวันที่   18  กันยายน  2560   กลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องผู้ประกอบธุรกิจเป็นคดีผู้บริโภค และขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551  คดีนี้สืบเนื่องจากจำเลย เป็นผู้จำหน่ายเครื่องสำอางใช้ชื่อการค้าว่า “เมย์โรว”  โดยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง คือ เพิร์ลลี่ อินแทนซีพ ไวท์ โลชั่น เป็นเครื่องสำอางประเภทผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกาย เพื่อจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป ด้วยการโฆษณา และจำหน่ายสินค้าทางสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ค ตัวแทนจำหน่าย และอื่นๆ โดยได้โฆษณาชวนเชื่อในลักษณะเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเกิดความเชื่อถือเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ของจำเลยว่า “ผิวขาวสวย ปัง ปัง ปัง”  “ขาวสุดพลัง ขาวได้มง อยากขาว ต้องลอง” และอื่นๆจากการโฆษณาชวนเชื่อของจำเลยดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ และผู้บริโภครายอื่นอีกหลายรายเชื่อว่าสินค้าของจำเลยเป็นจริงตามที่โฆษณา ปลอดภัยต่อสุขภาพ และร่างกาย จึงซื้อสินค้าของจำเลยมาใช้กับตนตามที่จำเลยโฆษณา แต่เมื่อมีการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทบำรุงผิวกายของจำเลยเป็นประจำทุกวัน ปรากฏว่ามีอาการปวดแสบ ปวดร้อน มีรอยแตกลาย เป็นแผลเป็นบริเวณแขน และขา อันเกิดจากการแพ้สารเคมีที่ผสมอยู่ในเครื่องสำอางของจำเลย เมื่อไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย แพทย์วินิจฉัยว่าสาเหตุที่ผิวหนังแตกลายเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสม สารสเตียรอยด์ และไม่สามารถรักษาผิวหนังให้กลับมาเป็นปกติได้  ผลการดำเนินการ  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสี่ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ยกคำร้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 9 อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม และมีการประกาศแจ้งการดำเนินคดีแบบกลุ่มลงหนังสือพิมพ์ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่าง นัดพร้อมและนัดไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว2.ฟ้องคดีสินค้าโฆษณาเกินความเป็นจริงเมื่อวันที่   30  มิถุนายน 2560   กลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องบริษัท เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 72 คน  ต่อศาลแพ่ง เรียกเงินคืน และเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน  1,650  ล้านบาท จากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณา   คดีนี้สืบเนื่องจากจำเลย เป็นผู้จำหน่าย “กระทะโคเรียคิง (KOREA KING)” โดยจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคทั่วไป ด้วยการโฆษณา และจำหน่ายสินค้าของจำเลยทางสื่อโฆษณาทางช่องโทรทัศน์ สื่อสังคมออนไลน์ เฟสบุ๊ค และอื่นๆ โดยได้โฆษณาชวนเชื่อในลักษณะเชิญชวนให้ผู้บริโภคทั่วไปเกิดความเชื่อถือว่าผลิตภัณฑ์ของจำเลยเป็นกระทะไม่ใช้น้ำมัน ทำอาหารไม่ติดกระทะ ราคาถูก เหมาะสำหรับทำอาหารคลีน หรืออาหารเพื่อสุขภาพ เป็นกระทะที่ขายดีที่สุดในประเทศไทย  จากการโฆษณาชวนเชื่อของจำเลยดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสอง และผู้บริโภครายอื่นๆ อีกจำนวนมากหลงเชื่อว่าสินค้าของจำเลยมีราคาแพง แต่จำเลยจัดรายการส่งเสริมการขาย(PROMOTION) จำหน่ายในราคาพิเศษ และสินค้ามีคุณสมบัติเป็นจริงตามที่โฆษณา รวมทั้งปลอดภัยต่อสุขภาพ และร่างกาย จึงสำคัญผิดในสาระสำคัญของราคา และคุณสมบัติของสินค้าจำเลย จึงซื้อสินค้าจำเลยมาใช้กับตนและครอบครัวตามที่จำเลยโฆษณา  เมื่อโจทก์ทั้งสองและผู้บริโภครายอื่นๆ ได้ใช้สินค้าของจำเลยตามวิธีการที่จำเลยโฆษณาไว้ ผลปรากฏว่าไม่เป็นไปตามที่จำเลยโฆษณาไว้ เช่น กระทะดำไหม้  อาหารติดกระทะ ไม่ทนความร้อน ฯลฯ           ผลการดำเนินการ  ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างไต่สวนคำร้องขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม3.ฟ้องคดีบริษัทคิดค่าโทรศัพท์เกินจริง   เมื่อวันที่   15 พฤษภาคม  2561   ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากการที่ผู้เสียหายถูกคิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาทีเป็นนาที ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากการคิดค่าบริการเกินจริงเป็นวงกว้าง  มีการแยกฟ้องเป็นสามคดี ตามค่ายมือถือ คือ เอไอเอส ดีแทคและทรู  เรียกค่าเสียหายรวมไม่น้อยกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท เพื่อให้จ่ายให้ชดเชยและเยียวยาแก่ผู้ใช้มือถือทุกคนกว่า 90 ล้านเลขหมายในประเทศไทย กำหนดโจทก์ผู้ฟ้องคดี  เป็นแกนนำคดีละ 2 คน  แบ่งตามผู้ใช้บริการแบบรายเดือนกับเติมเงิน  โดยแบ่งเป็นสองศาล คือ คดีดีแทค ยื่นฟ้องที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ.527/2561 ซึ่งศาลได้นัดไต่สวนคำร้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม ในวันที่  18  มิถุนายน  2561 เวลา 9.00 น. ส่วนเอไอเอสและทรู  ยื่นฟ้องที่ศาลแพ่ง (รัชดา) โดยเอไอเอสเป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ. 2023/2561  และทรู เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ. 2031/2561  และมีการแถลงข่าวต่อสาธารณะ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561  ณ สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคผลการดำเนินการ   โดยทั้งสามคดีอยู่ระหว่างศาลนัดไต่สวนคำร้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม[3] 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2561จับตาพิจารณา “พาราควอต” หมอจุฬาฯ ย้ำอันตราย ทำผู้ป่วยตายทรมานเมื่อวันที่ 9 เม.ย.61 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ ในฐานะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข กล่าวว่า ยังพบคนไทยมีความเสี่ยงจากการกินผักผลไม้ปนเปื้อนสารเคมี ซึ่งอาจสะสมจนเสี่ยงต่อโรคไต โรคตับ ล่าสุดพบส่งผลต่อสมองด้วย ที่ผ่านมาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้เรียกร้องให้ยกเลิกการใช้พาราควอต อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญได้สรุปข้อเสนอไปแล้วว่าควรถอนทะเบียนพาราควอต เพราะมีผลต่อสุขภาพ แต่ยังมีการตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจ ที่มีตัวแทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อพิจารณาตัดสินในเดือนเมษายนนี้อีกว่า จะถอนหรือต่อทะเบียนพาราควอตปัจจุบันพาราควอตถูกห้ามใช้แล้วใน 48 ประเทศทั่วโลก โดยมีผู้ป่วยจากการสัมผัสสารเคมีที่ผิวหนัง หรือกินโดยไม่ตั้งใจ เสียชีวิตอย่างทรมานจากเนื้อปอดเป็นพังผืด ตับวาย ไตวาย และยังพบว่าชาวสวนนั้นสัมผัสสารเคมีจากการย่ำน้ำที่ขังอยู่ในไร่นา ทั้งนี้ คณะวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พบว่า รพ.จังหวัด หนองบัวลำภู ในหนึ่งปีมีคนไข้ 100 กว่าราย และเสียชีวิตแล้ว 6 ราย จากภาวะขาเน่าและติดเชื้อซ้ำซ้อน ซึ่งผู้ป่วยหลายรายต้องตัดขาทิ้ง สบส.ยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค สแกนปุ๊บ รู้ทันทีคลินิกไหนเถื่อนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สร้างระบบให้ประชาชนตรวจสอบการขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลด้วย “คิวอาร์โค้ด” (QR Code) ผ่านสมาร์ทโฟน สแกนแล้วรู้ทันทีว่าเป็นคลินิกถูกต้องตามกฎหมาย หรือ คลินิกเถื่อนนพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในปี พ.ศ.2561 เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีคลินิกที่ขึ้นทะเบียนกับ สบส. เกือบ 6,000 แห่ง ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลักลอบเปิดคลินิกเถื่อนให้บริการทางการแพทย์ที่ไม่ได้คุณภาพ สร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพ และชีวิตประชาชน สบส.ได้พัฒนาระบบตรวจสอบคลินิกเอกชนที่มีกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ โดยนำนวัตกรรม “คิวอาร์โค้ด” (QR Code) ติดที่ใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล, ใบอนุญาตแพทย์ผู้ดำเนินการ และบริเวณด้านหน้าของคลินิกหากประชาชนสแกนคิวอาร์โค้ดแล้วพบว่าข้อมูลชื่อสถานพยาบาลและที่ตั้งไม่ตรง หรือแพทย์ผู้ดำเนินการเป็นคนละคนกับที่แสดงในฐานข้อมูล ขอให้หลีกเลี่ยงการรับบริการจากคลินิกดังกล่าว สำหรับในพื้นที่ กทม. ให้แจ้งมายังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18618 ในส่วนภูมิภาค ให้แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อให้หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเข้าดำเนินการตรวจสอบโดยทันที พบเครื่องสำอางเกาหลี 8 ยี่ห้อ ปนเปื้อนโลหะหนักเมื่อวันที่ 23 มี.ค.61 เว็บไซต์ข่าวโพสต์ทูเดย์ ได้เผยแพร่ข่าวจากเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ ซึ่งรายงานว่า รัฐบาลเกาหลีใต้โดยกระทรวงความปลอดภัยของอาหารและยา เปิดเผยเครื่องสำอาง 8 ยี่ห้อ ที่ผลิตในเกาหลีปนเปื้อนสารโลหะหนักจำนวนมาก โดยพบว่าเครื่องสำอาง 13 ชนิด มีทั้งเครื่องสำอางสำหรับชายและหญิง ที่จำหน่ายโดยแบรนด์ดัง 8 ยี่ห้อ มีตั้งแต่แบรนด์ อีทูดี้ เฮ้าส์, เอเทรียม, เมคฮัล, XTM Style, SKEDA, สกินฟู้ด, 3CE และ Makeheal Naked Slim Brow Pencil (สี BR0203 and YL0801) ซึ่งตามรายงานของหน่วยงานดังกล่าว ระบุว่า พบ antimony ในระดับตั้งแต่ 10.1 ส่วนต่อล้าน (ppm) ถึง 14.3 ppm จากทั้งใน 13 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้พบ antimony ได้สูงสุดไม่เกิน 10 ppmด้านบริษัท อมอร์แปซิฟิก ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าของแบรนด์ที่อยู่ในรายชื่อดังกล่าว ได้ออกแถลงการณ์ขอโทษต่อสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมระบุว่าจะหามาตรการอย่างดีที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก และได้สั่งเรียกคืนเครื่องสำอางที่มีปัญหาดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคมแล้วที่มา: เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์, scmp.com สคบ. ออก“สัญญาเช่าซื้อรถ” เพิ่มความคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ให้ถูกเอาเปรียบเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 (ฉบับใหม่ล่าสุด) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคมนี้โดยสาระสำคัญของประกาศฉบับใหม่ ไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก ที่แก้ไขเป็นเรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระหนี้, การปรับลดดอกเบี้ยกรณีผู้บริโภคต้องการชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียวกัน, ค่าใช้จ่ายจากการบังคับยึดรถกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระหนี้เกิดกำหนด ซึ่งเดิมผู้ให้สินเชื่อเช่าซื้อหรือบริษัทลีซซิ่ง สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการยึดรถจากผู้บริโภคได้ แต่กฎหมายใหม่กำหนดข้อห้ามไว้ ซึ่งประกาศฉบับใหม่ มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้1. กำหนดดอกเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระ ไม่เกิน 15% (เดิม 17%)2. บริษัทเช่าซื้อต้องทำตารางแสดงค่างวด แยกเงินต้น-ดอกเบี้ย วันเดือนปีชำระค่างวด ให้ผู้บริโภคทราบชัดเจน3. กรณีผู้เช่าซื้อต้องการชำระเงินทั้งหมด (โปะ) บริษัทลีสซิ่งต้องให้ส่วนลดดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 50%4. ให้สิทธิ์ผู้เช่าซื้อ ซื้อรถคืนได้ภายใน 7 วัน หลังยึดรถ และให้สิทธิ์ผู้ค้ำประกันอีก 15 วัน5. กรณีจะนำรถขายทอดตลาด ต้องแจ้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันทราบล่วงหน้า 7 วัน โดยจะซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ6. บริษัทเช่าซื้อสามารถเก็บค่าธรรมเนียมทวงถามได้ตามใช้จ่ายจริง แต่ห้ามเก็บค่าใช้จ่ายดำเนินการยึดรถ7. มีผลบังคับใช้ 1 กรกฎาคม 2561นอกจากนี้ ในประกาศยังระบุว่า ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อ ชำระเงินค่าเช่าซื้อและค่าใช้จ่ายต่างๆ ครบถ้วนแล้ว ให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อเป็นของลูกค้าทันที โดยบริษัทลีสซิ่งต้องดำเนินการจดทะเบียนรถให้เป็นชื่อของลูกค้าภายใน 30 วัน หากเกินกำหนด บริษัทลีสซิ่งต้องเสียเบี้ยปรับในอัตราที่เท่ากับเบี้ยปรับที่ลูกค้าต้องชำระเมื่อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ คอบช. ทวงถาม กรมการค้าภายใน เรื่องควบคุมค่ารักษา รพ.เอกชนเมื่อวันที่ 28 มี.ค.61 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค(คอบช.) พร้อมเครือข่ายผู้บริโภค ได้เดินทางไปติดตามทวงถาม เรื่องการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาล กับ กรมการค้าภายใน หลังจากเคยยื่นหนังสือขอให้ควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน เมื่อ มี.ค.ที่ผ่านมาโดยได้มีการเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการบริการสุขภาพของ รพ.เอกชน ว่าถือเป็นบริการที่มีความจำเป็นพื้นฐาน จึงควรมีการควบคุมราคา ซึ่งการเรียกเก็บค่าบริการที่ไม่เป็นธรรมของ รพ.เอกชน ยังคงเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาน.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการ คอบช. ด้านบริการสุขภาพ กล่าวว่า การควบคุมค่ารักษาพยาบาลแพง ใน รพ.เอกชนนั้นเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะผู้ใช้บริการมีความเดือดร้อน จากการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลที่ไม่มีการกำกับดูแลขอบเขต จึงขอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้จัดประชุมเพื่อทบทวนในเรื่องนี้ โดยขอให้กรมการค้าภายใน เก็บข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สมาคมโรงพยาบาลเอกชน  เพื่อหามาตรการกำกับควบคุมต่อไป โดยหลังจากนี้ ทางเครือข่ายผู้บริโภคจะมีการติดตามทวงถามความคืบหน้าอีกครั้งหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 ก่อนซื้อเครื่องสำอาง อย่าลืมดูฉลาก

สาวๆ หลายคนที่ชื่นชอบการแต่งหน้า อาจเคยเผลอซื้อเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งบางคนอาจโชคดีไม่เกิดอาการแพ้ใดๆ แต่ไม่ใช่กับผู้ร้องรายนี้ คุณปาริชาตร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ว่า เธอซื้อเครื่องสำอางนำเข้าจากร้าน  K'Saranon Beauty and Herb  ที่ตั้งอยู่หลังตึกการบินไทยมาใช้ ซึ่งหลังใช้แล้วเกิดอาการคัน แพ้ แสบปาก และเมื่อตรวจสอบสินค้าดูอีกครั้งก็พบว่ากล่องก็ไม่มีฉลากภาษาไทย เธอจึงกลับไปที่ร้านเพื่อขอคืนสินค้า แต่แม่ค้าไม่ยินยอม โดยอ้างว่าเป็นของแท้และไม่คืนเงินให้ อย่างไรก็ตามจะให้เปลี่ยนเป็นสินค้าอื่นภายในร้านแทนด้านคุณปาริชาตไม่มั่นใจว่าสินค้าอื่นๆ จะได้มาตรฐานหรือเปล่า จึงไม่ต้องการแลกสินค้าและถ่ายรูปร้านค้าไว้ ทำให้แม่ค้าแจ้งว่าจะไม่ขายสินค้ายี่ห้อดังกล่าวแล้ว และจะคืนเงินให้ 60% แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการติดต่อกลับมาแต่อย่างใด เธอจึงส่งเรื่องมายังศูนย์ฯ เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ช่วยผู้ร้องด้วยการทำหนังสือถึง อย. เพื่อให้มีการเข้าไปตรวจสอบร้านค้าดังกล่าว ซึ่งภายหลังการดำเนินการ อย. ได้แจ้งกลับมาว่า สถานที่จำหน่ายเครื่องสำอางตามที่ผู้ร้องได้แจ้งมานั้นปิดทำการไปแล้ว โดยได้มีการเข้าตรวจสอบหลายครั้งก็ไม่พบว่าร้านเปิดทำการอีกเลย ทำให้ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ อย่างไรก็ตามทาง อย. จะติดตามผลต่อไป และหากพบว่าทางร้านกระทำผิดจริงหรือจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานก็จะสั่งระงับการขายทันที ทั้งนี้สำหรับผู้บริโภคที่กำลังตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องสำอาง ควรตรวจสอบฉลากภาษาไทยก่อนซื้อทุกครั้ง โดยอย่างน้อยฉลากต้องระบุข้อความดังนี้ (1) ชื่อเครื่องสำอาง (2) ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง (3) ส่วนประกอบ (4) วิธีใช้ (5) ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต/นำเข้า (6) ปริมาณสุทธิ (7) เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต (8) เดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ รวมทั้งต้องมีเลขที่จดแจ้ง 10 หลัก ซึ่งเราสามารถนำเลขดังกล่าวเข้าไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์สืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของ อย. หรือ http://164.115.28.102/FDA_SEARCH_CENTER/PRODUCT/FRM_SEARCH_CMT.aspx เพื่อดูว่าเป็นเครื่องสำอางที่ได้รับการอนุญาตให้ขายจริงหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าชื่อจดแจ้งข้างกล่องกับในเว็บไซต์ไม่ตรงกันก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเครื่องสำอางดังกล่าวอาจไม่ปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 คืนสินค้าเร็ว แต่ได้รับเงินช้า

คุณปราณีสั่งซื้อเครื่องสำอางจากรายการขายของในช่องเคเบิลทีวี ซึ่งผู้ดำเนินรายการแจ้งว่าหากซื้อไปใช้แล้ว เกิดอาการแพ้ก็สามารถคืนสินค้าได้ เธอจึงตัดสินใจลองสั่งเครื่องสำอางดังกล่าวมาใช้ดูเป็นจำนวนเงินเกือบ 2,000 บาท แต่ปรากฏว่าหลังจากทดลองใช้ไปได้ประมาณ 3 วัน คุณปราณีกลับรู้สึกมีอาการคันและผื่นขึ้นบริเวณใบหน้า จึงไปพบแพทย์เพื่อรักษา ซึ่งวินิจฉัยว่าเกิดจากอาการแพ้เครื่องสำอางนั่นเอง เธอจึงโทรศัพท์ไปแจ้งบริษัทเครื่องสำอางถึงอาการแพ้ดังกล่าว เพื่อขอคืนสินค้าและขอเงินคืน เมื่อบริษัทเครื่องสำอางรับทราบก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่มารับสินค้าคืน และขอเลขบัญชีของคุณปราณีไป เพื่อจะโอนเงินค่าสินค้าให้ อย่างไรก็ตามหลังผ่านไปเกือบ 4 เดือนก็ไม่พบว่ามีการโอนเงินคืนจากบริษัทดังกล่าวแต่อย่างใด ทำให้คุณปราณีส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยโทรศัพท์ไปสอบถามที่บริษัทเครื่องสำอางถึงกรณีดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตอบกลับมาว่าเหตุที่คืนเงินล่าช้า เพราะผู้ร้องแจ้งเลขบัญชีผิดและไม่มีการติดต่อเข้ามายังบริษัทเพื่อแจ้งเลขบัญชีใหม่ ทำให้บริษัทไม่สามารถโอนเงินคืนให้ได้ อย่างไรก็ตามบริษัทยินดีรับผิดชอบด้วยการโอนเงินคืนเต็มจำนวน ซึ่งภายหลังผู้ร้องได้รับเงินคืนเรียบร้อยแล้วก็ยินดียุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 198 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนสิงหาคม 2560ใช้ “รังสี” ต้องติดใบรับรองสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) แนะประชาชนสังเกตสัญลักษณ์แสดงสถานประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตครอบครองหรือใช้รังสีอย่างถูกต้องจาก ปส. ก่อนเข้ารับบริการ เพื่อให้มั่นใจปลอดภัยจากรังสีตามมาตรฐานสากลหลังจากที่พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ปส. ได้เร่งสร้างความเข้าใจต่อผู้ประกอบและประชาชนให้พร้อมต่อการบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อกฎหมายลำดับรองแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2560 นี้ โดยล่าสุดมีสถานประกอบการยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาติจาก ปส. แล้วกว่า 3,500 แห่ง ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตแล้ว ปส. จะมอบสัญลักษณ์แสดงการได้รับอนุญาต สามารถนำไปติดบริเวณที่ให้บริการประชาชน เพื่อให้เป็นจุดสังเกตซึ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจก่อนเข้ารับบริการมากยิ่งขึ้นโดยปัจจุบันสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับรังสีมีมากมายหลายด้าน ทั้งด้านอาหาร การแพทย์ และด้านอุตสาหกรรม เช่น การทำอัญมณี ด้านเชื้อเพลง เป็นต้นอาหารทะเลปลอดภัยไม่มีปรอทข่าวนี้ถือเป็นข่าวดีของคนที่ชอบรับประทานอาหารทะเลเพราะมีผลตรวจการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า อาหารทะเล พวก กุ้ง หอย ปูปลา ที่ขายในตลาดจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง ปลอดภัยจากสารปรอทกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี ได้สุ่มเก็บตัวอย่าง อาหารทะเล จำนวน 54 ตัวอย่าง ได้แก่ ปลา หอย กุ้ง ปู ปลาหมึก และ กั้ง จากแหล่งจำหน่ายอาหารทะเลที่สำคัญ ได้แก่ ตลาดหนองมน และสะพานปลาอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ตลาดประมงพื้นบ้านหาดสวนสน จังหวัดระยอง นำมาตรวจวิเคราะห์หาปริมาณสารปรอท โดยใช้เครื่อง Mercury Analyzer หลักการ Cold Vapor Atomic Absorption Spectrometry (CVAAS) พบว่าอาหารทะเลทั้ง 54 ตัวอย่างมีปริมาณสารปรอทต่ำกว่ามาตรฐานที่ประกาศโดยกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดให้มีได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เท่ากับว่าตัวอย่างอาหารทะเลที่นำมาวิเคราะห์อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อการบริโภคพบสารอันตรายในเครื่องสำอาง “โบวี่ คิ้ม”เรายังคงได้ยินข่าวคราว เครื่องสำอางอันตราย ปรากฎให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ทำการลงดาบจัดการเครื่องสำอางยี่ห้อ “โบวี่ คิ้ม”(BOWVY KIM) หลังจากมีผู้บริโภคร้องเรียนว่าใช้แล้วผิวเกิดขึ้นผื่นแดง ซึ่งจากการวิเคราะห์ก็พบสารอันตรายต้องห้ามปนเปื้อนอยู่ในเครื่องสำอางยี่ห้อดังกล่าวโดยผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการใช้เครื่องสำอางยี่ห้อ โบวี่ คิ้ม ได้ซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแบบที่ขายเป็นเซ็ตผ่านทางเฟซบุ๊ค ประกอบด้วย  ครีมสมุนไพรเวียดนาม ครีมกันแดดหน้าเงา ครีมแตงกวา ครีมขมิ้น เซรั่มอโลเวล่าเจล และสบู่เมือกหอยทาก เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ 1 วัน พบว่า เกิดผื่นแดงและสิวขึ้นตามใบหน้า และมีอาการคัน ทำให้สงสัยว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจมีสารอันตรายปนเปื้อนอยู่ อย. ได้นำตัวอย่างครีมที่ได้รับการร้องเรียนส่งตรวจวิเคราะห์ให้กับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี พบไฮโดรควิโนน และ กรดเรทิโนอิก ซึ่งเป็นสารห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ชื่อว่า Bowvy Kim แตงกวา Night 1 สมุนไพรลดฝ้า กระ จุดด่างดำ และพบปรอทแอมโมเนียในผลิตภัณฑ์  Bowvy Kim ขมิ้น Night 2ซึ่งเมื่อมีการไปตรวจยังสถานที่ผลิตที่ตั้งอยู่ใน จังหวัดสกลนคร พบตลับบรรจุครีม ตัวครีม สติกเกอร์ ยี่ห้อผลิตภัณฑ์ของกลางจำนวนมาก แต่ไม่มีหลักฐานการจดแจ้งผลิตภัณฑ์หลายรายการ รวมทั้งยังตรวจพบการโฆษณาทางเฟซบุ๊คที่มีข้อความแสดงสรรพคุณรักษาโรค ซึ่งไม่ใช่จุดมุ่งหมายของการเป็นเครื่องสำอาง เช่น ลดสิว ฝ้า กระ จุดด่างดำรอยสิว ริ้วรอย ลดอาการแพ้ ระคายเคือง เป็นต้น มีความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทดลองวิ่ง “รถเมล์ปฏิรูป” 8 เส้นทาง เปลี่ยนเบอร์ใหม่ เติมสีแบ่งโซนวิ่งกรมการขนส่งทางบก และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดทดลองเดินรถเมล์ตามโครงการปฏิรูปเส้นทางใหม่ นำร่องจำนวน 8 เส้นทาง  ประกอบด้วยสาย G21 (เทียบเคียงกับสาย 114) : รังสิต - ท่าเรือพระราม 5 สาย G59E (เทียบเคียงกับสาย 514) : มีนบุรี - ท่าเรือสี่พระยา (ทางด่วน) สาย R3 (เทียบเคียงกับสาย 11) : สวนหลวง ร.9 - สนามกีฬาแห่งชาติ สาย R41 (เทียบเคียงกับสาย 22) : ถนนตก - แฮปปี้แลนด์ สาย Y59 (เทียบเคียงกับสาย 189) : สถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน - กระทุ่มแบน สาย Y61 (เทียบเคียงกับสาย 509) : หมู่บ้านเศรษฐกิจ - หมอชิต 2 สาย B44 (เทียบเคียงกับสาย 54) : วงกลมพระราม 9 - สุทธิสาร สาย B45 (เทียบเคียงกับสาย 73) : ม.เอื้ออาทรบึงกุ่ม - สะพานพุทธ โดยทำการแบ่งโซนเส้นทางวิ่งเป็น 4 สี 4 โซน ประกอบด้วย สีเขียว G (Green) ย่าน รังสิต บางเขน มีนบุรี, สีแดง R (Red) ย่าน ปากน้ำ คลองเตย สาธุประดิษฐ์, สีเหลือง Y (Yellow) ย่าน พระประแดง พระราม 2 บางแค ศาลายา และ สีน้ำเงิน B (Blue) ย่าน นนทบุรี ปากเกร็ด หมอชิต 2 ดินแดง สวนสยาม โดยสีที่กำหนดขึ้นจะนำมาติดไว้บนรถเมล์ที่วิ่งในโซนนั้นๆในการทดลองเดินรถจะใช้รถธรรมดา (รถร้อน) สายละ 5 คัน เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม - 15 กันยายน 2560 เวลา 06.30 - 18.30 น. และในช่วงการทดลองเดินรถ รถสายเดิมยังคงมีรถให้บริการตามปกติ หลังจากนั้นจะประเมินผลการให้บริการ พร้อมสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน และรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ทางแฟนเพจ Facebook ในชื่อ การปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ กทม. เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพของระบบรถโดยสารประจำทางต่อไปไปรษณีย์ไทยยืนยันใช้กล่อง – ซองรีไซเคิลได้จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งได้โพสต์ภาพประกาศเตือนที่ถ่ายจากที่ทำการไปรษณีย์บางบัวทอง ซึ่งแจ้งประชาชนว่า ไม่ให้ใช้ซองที่ใช้แล้ว หรือกล่องที่มีตราสัญลักษณ์อื่นๆ โดยผู้โพสต์ได้ระบุว่า “#แจ้งมาเพื่อทราบครับ ต่อไปนี้จะเอาซอง กล่อง KERRY กล่องเบียร์ กล่องใช้แล้ว มาส่งที่ไปรษณีย์บางบัวทองไม่ได้แล้ว จะถูกปฏิเสธการรับของนะครับ #เมื่อวานมีคนโวยแล้วเจ้าหน้าที่บอก คำสั่งหัวหน้าครับ"ข้อมูลดังกล่าวสร้างความสงสัยให้กับผู้ที่ใช้บริการไปรษณีย์ไทยเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นการปฏิบัติในลักษณะเอาเปรียบผู้ใช้บริการมากเกินไปหรือไม่ซึ่งต่อมาทางไปรษณีย์ไทย ก็ได้ออกจดหมายมาชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวเกิดจากความเข้าใจผิดในการสื่อสารของไปรษณีย์สาขาดังกล่าว พร้อมทั้งยืนยันว่าผู้ใช้บริการสามารถใช้กล่องหรือซองที่เคยผ่านการนำส่งแล้วกลับมาใช้อีกได้ โดยไม่ถือเป็นข้อห้าม ทั้งนี้ หากผู้ใช้บริการนำกล่องและซองที่เคยผ่านการนำส่งแล้วมาใช้ในการห่อหุ้มสิ่งของเพื่อฝากส่งนั้น เจ้าหน้าที่รับฝากจะพิจารณาจากลักษณะของกล่องหรือซองว่ามีความมั่งคง แข็งแรง และต้องปิดผนึกจ่าหน้าใหม่ทับจ่าหน้าเดิมให้ถูกต้องตามที่ไปรษณีย์ไทยกำหนด เพราะหากกล่องหรือซองมีสภาพไม่แข็งแรงเพียงพออาจทำให้เกิดความเสียหายกับสิ่งของที่ฝากส่งได้ โดยเจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำและแก้ไขหรือหุ้มห่อใหม่ เพื่อไม่ให้สิ่งของที่ฝากส่งทางไปรษณีย์เสียหาย ส่วนการใช้กล่องที่ผลิตจากบริษัทรับขนส่งเอกชนรายอื่นในการฝากส่งสิ่งของเข้าสู่เส้นทางไปรษณีย์ไทยผู้ใช้บริการก็สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ถือเป็นข้อห้ามเช่นเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >