ฉบับที่ 140 กระแสต่างแดน

ได้เวลาตัดสัญญาณ ปัจจุบันประเทศเคนยามีผู้ใช้มือถืออยู่ประมาณ 29 ล้านคน แต่มือถือที่ชาวบ้านร้านตลาดถือกันอยู่นั้น มีไม่น้อยที่เป็น “เครื่องปลอม” หรือเครื่องที่หมายเลขอีมี่ไม่ปรากฏในฐานข้อมูลระหว่างประเทศ พูดง่ายๆ คือมือถือประเภทที่แอบหิ้วเข้ามาขายกันเองจากจีน ไนจีเรีย หรือ อัฟริกาใต้นั่นแหละ รัฐบาลเคนยาตัดสินใจเด็ดขาด ให้บรรดาผู้ประกอบการทั้ง 4 เจ้า ระงับการให้สัญญาณกับ ”เครื่องปลอม” ที่ว่านั้นทันทีหลังเที่ยงคืนวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา (ข่าวบอกว่าก่อนหน้านี้ รัฐบาลประกาศเลื่อนเวลาการตัดสัญญาณไปแล้ว 3 ครั้ง) รัฐบาลเขาบอกว่า “เครื่องปลอม” นั้นเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติและของบุคคลทั่วไป เพราะโทรศัพท์พวกนี้ทำให้ประสิทธิภาพของเครือข่ายลดลง และยังอาจถูกนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมด้วย ผู้ประกอบแต่ละรายมีจำนวนผู้ได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป ซาฟารีคอมมีลูกค้าได้รับผลกระทบถึง 670,000 คน ตามด้วยแอร์เทลเคนยา 100,000 คน เทเลคอมออเรนจ์ 20,000 คน และยูโมบายอีก 45,000 คน ทางออกของผู้บริโภคคือต้องไปซื้อเครื่องใหม่มาใช้ก่อนกำหนดตัดสัญญาณดังกล่าว   รวมๆ แล้ว มีเลขหมายที่ถูกตัดสัญญาณทั้งหมด 800,000 เลขหมาย (รวมซิมการ์ดแบบไม่จดทะเบียนด้วย) ทั้งนี้ กสทช. ของเคนยา บอกว่าจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการตัดสัญญาณให้กับผู้ประกอบการ แต่ไม่ได้บอกว่าผู้บริโภคจะได้รับการชดเชยอย่างไร หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การที่โทรศัพท์ “ปลอม” สามารถผ่านชายแดนเข้ามาขายในประเทศได้ ก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐเช่นกัน เพราะผู้บริโภคทั่วไปจะไปตรวจสอบหมายเลขอีมี่ของโทรศัพท์ด้วยตนเองได้อย่างไรกัน บอลจบ คนยังจบไม่ได้ ชาวฉลาดซื้อคงยังจำกันได้ว่าเมื่อ 2 ปีก่อน ทีมนักเตะจากสเปนได้ตำแหน่งแชมป์ฟุตบอลโลก (World Cup 2010) ไปครอง สำหรับพวกเราที่นี่พอได้รู้ว่าใครเป็นแชมป์ก็บ้านใครบ้านมัน แต่จนถึงวันนี้ มีผู้บริโภคชาวสเปนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่าเกมนี้ยังไม่จบ คนเหล่านี้คือผู้บริโภคที่ซื้อโน้ตบุ้ค และเครื่องรับโทรทัศน์ ยี่ห้อทอม ทอม และโตชิบา รุ่นที่โฆษณาในช่วงก่อนและขณะที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ประเทศอัฟริกาใต้ว่า “ถ้าสเปนได้แชมป์ พวกเขาจะสามารถมาขอเงินคืนได้ทันที” ผ่านไปแล้ว 2 ปี บางคนก็ยังไม่ได้เงินคืน แต่ได้รับคำตอบจากบริษัททั้งสองแห่งว่า เป็นเพราะพวกเขาไม่ได้เข้าไปลงทะเบียนในเว็บไซต์หลังการซื้อ (แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้บอกไว้ชัดเจนในโฆษณา) องค์กรผู้บริโภค FACUA ของสเปนบอกว่าขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาท่วมท้น และทีมกฎหมายขององค์กรก็กำลังเตรียมที่จะฟ้องบริษัทอยู่ เนื่องจากโฆษณาที่ว่านั้นเข้าข่ายทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิด ซึ่งเป็นตามมาตรา 5 ของ พรบ.การค้าที่เป็นธรรม ของสเปน ความจริงโฆษณานี้ก็มีในประเทศอื่นในยุโรปด้วยเช่นกัน ทอม ทอม ทำโฆษณาใน 8 ประเทศ ในขณะที่โตชิบาก็โฆษณาใน เยอรมนี อังกฤษ อิตาลี สเปน และโปรตุเกส แต่ไม่เป็นปัญหาที่ประเทศอื่นเพราะประเทศเหล่านั้นไม่ได้แชมป์   อาหารกลางวันเยอรมนี เดือนที่แล้วนักเรียนกว่า 11,000 คนในเยอรมนีตะวันออก (เบอร์ลิน แบรนเดนเบิร์ก แซ็กโซนี เทอริงเกีย)  ต้องล้มป่วยลงด้วยอาการอาหารเป็นพิษ สาเหตุเบื้องต้นคาดว่าน่าจะมาจากชุดอาหารกลางวันที่มีสตรอเบอรี่แช่แข็งเป็นของหวานอยู่ด้วย ระบบอาหารกลางวันที่โน่นเขาใช้การจ้างบริษัทเอกชนจัดส่งให้ตามโรงเรียน สถาบันควบคุมและป้องกันโรค สถาบันประเมินความเสี่ยง และสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคของที่นั่น สันนิษฐานว่าโรงเรียนที่มีเด็กป่วยเหล่านี้ น่าจะได้รับอาหารจากบริษัทที่ชื่อ โซเด๊กโซ เหมือนกัน  และสาเหตุน่าจะมาจากไวรัสที่แฝงตัวมาในอาหาร อย่าง โนโรไวรัส โซเด๊กโซ ยืนยันว่ามีเพียงร้อยละ 5 ของโรงเรียนที่เขาส่งอาหารให้เท่านั้นที่มีนักเรียนมีอาการอาหารเป็นพิษ แต่ข่าวล่าสุด ระบุว่าโซเด๊กโซยอมจ่ายค่าชดเชยให้กับนักเรียนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด (แต่ไม่ได้เปิดเผยตัวเลข) เนื่องจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากบริษัทที่มารับช่วงการผลิตนั่นเอง นายกผู้ประกอบการอาหารโรงเรียนแห่งเบอร์ลินและแบรนเดนเบิร์ก บอกว่าเขาไม่แปลกใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะราคาวัตถุดิบแพงขึ้นในขณะที่งบช่วยเหลือที่รัฐบาลให้กับพวกเขาก็น้อยลง เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการ 6 รายร่วมกันหยุดส่งอาหารตามโรงเรียนจนกว่าเทศบาลจะอนุมัติเพิ่มเงินช่วยเหลือ งานวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ก็ระบุว่ารัฐจะต้องเพิ่มงบประมาณอีกอย่างน้อย 1 ยูโรต่อหัว จึงจะสามารถมีอาหารกลางวันที่ดีตามมาตรฐานของสมาคมโภชนาการแห่งเยอรมนีให้กับเด็กนักเรียนได้ ปัจจุบันงบอาหารกลางวันอยู่ที่ประมาณ 2.50 ยูโรต่อหัว (99 บาท) แต่เขาบอกว่าถ้าจะให้ดีต้องมีถึง 3.17 – 4.25 ยูโรต่อหัว (126 – 168 บาท)     นายก (อียิปต์) หยุดได้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าต่างประเทศของอียิปต์ กำลังเล็งจะรื้อฟื้นการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 10 ของ พรบ. คุ้มครองการแข่งขันและป้องกันการผูกขาดทางการค้าขึ้นมาอีกครั้ง กลุ่มประชาชนต่อต้านการขึ้นราคาสินค้า (Citizens Against Price Rise Association CAPRA) สนับสนุนการเคลื่อนไหวดังกล่าวเต็มที่ เพราะกฎหมายดังกล่าวระบุให้นายกรัฐมนตรีมีสิทธิกำหนดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ ในยามจำเป็นหรือเมื่อประเทศเกิดวิกฤติ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าอียิปต์จะกลับไปใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบเผด็จการ ที่กำหนดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทุกชนิดเหมือนในอดีต เขาแค่ต้องการจัดระเบียบการค้าและป้องกันผู้บริโภคจากผู้ค้าบางรายที่อาศัยช่วงชุลมุนมาผูกขาดราคาสินค้า หลังเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555 และเหตุการณ์ต่อเนื่องหลังจากนั้น กลุ่ม CAPRA บอกว่ารัฐบาลปฏิบัติต่อนักธุรกิจพวกนี้ราวกับว่าพวกเขาเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศเป็นหลักและใส่ใจความเดือดร้อนของคนในสังคม ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วผู้ค้าเหล่านั้นไม่ได้มีความรับผิดชอบถึงระดับนั้น ข่าวบอกว่า ราคาสินค้าที่สูงขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่ได้เป็นไปตามหลักอุปสงค์อุปทานแต่อย่างใด แต่เป็นผลพวงจากการคอรัปชั่นในช่วงการปกครองของนายมูบารัคนั่นเอง    ยักษ์ใหญ่ยอมแล้ว ในที่สุดห้างยักษ์ใหญ่ค้าปลีกของอังกฤษอย่างเทสโก้ก็ยินยอมที่จะใช้ฉลากอาหารระบบไฟจราจร เหมือนห้างอื่นๆ ในประเทศเสียที เทสโก้บอกว่าได้ทำการสำรวจความเห็นของลูกค้าแล้วพบว่า พวกเขาชอบฉลากแบบไฟจราจรที่แสดงให้เห็นกันไปเลยว่าอาหารดังกล่าวมีปริมาณไขมัน น้ำตาล และเกลือ เกินไปหรือไม่ ในขณะเดียวกันก็ชอบฉลากแบบ GDA ที่ให้ข้อมูลละเอียดเป็นร้อยละด้วย เลยตัดสินใจจะใช้ฉลากระบบ “ลูกครึ่ง” ที่มีทั้งสองอย่างด้วยกัน ความจริงแล้ว ก่อนหน้านี้ห้างอื่นๆ (Sainsbury, Mark & Spencer, Asda) เขาเปลี่ยนมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว อีกสองห้างได้แก่ Lidl และ Aldi ก็เปลี่ยนไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน และข่าวล่าสุดห้าง Morrisons ก็เปลี่ยนแล้วเช่นกัน องค์กรมาตรฐานอาหารของอังกฤษ ระบุว่าฉลากไฟจราจร จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการบริโภคที่ดีต่อสุขภาพและจัดการไขปัญหาโรคอ้วนของคนอังกฤษได้ดีที่สุด ข้ามฝั่งมาดูทางอเมริกาเขาบ้าง บริษัทน้ำอัดลม โค้ก เป๊ปซี่ และดร.เปปเปอร์ กำลังจะเปิดตัวตู้ขายน้ำอัดลมอัตโนมัติที่จะแจ้งปริมาณแคลอรี่ ให้ทราบก่อนลูกค้าจะตัดสินใจซื้อ โดยจะเริ่มจากตึกราชการในเมืองชิคาโก และซานอันโตนีโอ และจะใช้ตู้ดังกล่าวทั่วประเทศในปี 2556

อ่านเพิ่มเติม >