ฉบับที่ 243 กระแสต่างแดน

วิกผมขาดแคลน        ร้อยละ 70 ของสินค้าประเภทวิกผม/ผมปลอม ที่จำหน่ายในโลกนั้นมาจากจีน โดยแรงงานหลักๆ ที่ใช้คือแรงงานในเกาหลีเหนือที่ฝีมือดีเลิศแถมค่าจ้างยังถูกกว่าในจีนกว่าครึ่งกระบวนการนี้เริ่มจากการนำเข้าวัตถุดิบหลักซึ่งได้แก่ผมมนุษย์ จากอินเดียและเมียนมาร์ไปยังเมืองจีน จากนั้นส่งออกผมและตาข่ายสำหรับถักไปยังเกาหลีเหนือ แล้วผมปลอมที่ถักด้วยมือเสร็จแล้วจะถูกส่งกลับมาที่เมืองจีนอีกครั้งเพื่อทำความสะอาด บรรจุ และส่งไปขายในอเมริกาและกลุ่มประเทศอัฟริกันแต่การมาถึงของโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างชะงักลง ก่อนหน้านั้นจีนส่ง “ผมดิบ” ไปเกาหลีเหนือเดือนละหลายตัน โดยมูลค่าของผมดิบที่จีนส่งไปในเดือนมกราคม ปี 2020 เท่ากับ 14,000,000 หยวน เดือนต่อมา มูลค่าดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 452,000 หยวนหลังจากนั้นจีนปิดชายแดน จึงไม่มีการส่งเข้าไปอีกเลย วิกผมที่ผลิตหลังจากนั้นคือวิกที่ผลิตในจีน ซึ่งช่างผมรับรองว่าคุณภาพสู้แบบที่ทำในเกาหลีเหนือไม่ได้ แถมราคายังแพงขึ้นจนน่าตกใจด้วย อย่าเพิ่งรีบชม        อุตสาหกรรมเพชรออกมาตอบโต้แถลงการณ์ของ Pandora บริษัทเครื่องประดับรายใหญ่ของโลกสัญชาติเดนมาร์กที่ประกาศนโยบายใช้ “เพชรจากแล็บ” แทนเพชรที่ขุดจากเหมือง และจะผลิตโดยใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลักตัวแทนจากกลุ่มผู้ผลิตเครื่องประดับเพชรบอกว่า การกระทำดังกล่าวสร้างความเข้าใจผิดให้คนคิดว่าอุตสาหกรรมนี้คือผู้ร้าย และขอร้องให้ Pandora ถอนคำโฆษณาที่ชักชวนให้ผู้บริโภคสนับสนุน “ทางเลือกที่มีจริยธรรม”ปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้จ้างานคนหลายสิบล้านคนทั่วโลก และหลายชุมชนในประเทศกำลังพัฒนาก็อยู่ได้เพราะรายได้จากการทำงานในเหมืองเพชร ที่สำคัญคือผู้ซื้อสามารถสืบกลับที่มาของเพชรได้ผู้บริหารบริษัท 77 DIAMONDS ร้านค้าเพชรออนไลน์เจ้าใหญ่ที่สุดในยุโรป บอกว่าการทำเหมืองเพชรแบบเอาเปรียบชาวบ้านเหมือนในหนัง Blood Diamond มันหมดไปนานแล้ว ทุกวันนี้แร่โลหะหายากที่ใช้กันอยู่ในโทรศัพท์มือถือ ยังมาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนยิ่งกว่าเพชรอีก เป้าหมายรีไซเคิล        สมาคมเครื่องดื่มในญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายว่าจะรีไซเคิลขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มให้ได้ถึงร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2030 จากปัจจุบันที่ทำได้ร้อยละ 12.5   เขาวางแผนจะปรับปรุงปากถังขยะรีไซเคิลให้รับได้เฉพาะขวดพลาสติกเท่านั้น ปัญหาขณะนี้คือมีคนทิ้งขยะอื่นลงในถังที่มักตั้งอยู่ใกล้ๆ กับตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ทำให้ขวดข้างในสกปรกเกินกว่าจะนำไปรีไซเคิล เครื่องล้างก็ยังไม่สามารถล้างขวดทีละใบได้ จากข้อมูลของเทศบาลไซตามะ ร้อยละ 16 ของขยะใน “ถังสำหรับขวดพลาสติก” ไม่ใช่ขวดพลาสติกปัจจุบันร้อยละ 76 ของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสำเร็จรูปในญี่ปุ่น เป็นเครื่องดื่มที่บรรจุในภาชนะพลาสติก  เรื่องนี้จึงเรื่องใหญ่และเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิด “ความยั่งยืน”  อย่างไรก็ตามผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นมีการตื่นตัวมากในเรื่องนี้ สถิติในปี 2019 ระบุว่าร้อยละ 93 ของขวดพลาสติกที่ขายออกไป ถูกนำกลับมาใช้ใหม่กล่องอาหารต้องปลอดภัย        Arnika องค์กรพัฒนาเอกชนจากสาธารณรัฐเชค ร่วมกับอีก 6 องค์กรในยุโรป ได้ร่วมกันเก็บตัวอย่างภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อมาวิเคราะห์ทดสอบหาสาร PFAS ซึ่งมักถูกใช้เป็นสารเคลือบในภาชนะดังกล่าวเขาพบว่า 38 ตัวอย่างจาก 99 ตัวอย่าง (ร้อยละ 38) ที่เก็บจากภาชนะบรรจุอาหารที่ซื้อกลับบ้าน อาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านออนไลน์ มีการเคลือบด้วย PFAS เพื่อป้องกันการซึมเปื้อนของน้ำมันสารเคมีที่ว่านี้เป็นที่รู้กันว่าสลายตัวยาก สามารถปนเปื้อนในดิน น้ำ อากาศ และสะสมในห่วงโซ่อาหาร นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยยืนยันว่ามันสามารถก่อมะเร็ง ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ระบบสืบพันธุ์ และฮอร์โมนด้วยกลุ่มองค์กรดังกล่าวจึงเรียกร้องให้สหภาพยุโรปออกกฎหมายห้ามใช้สารดังกล่าวในภาชนะใส่อาหารโดยเร็ว ขณะนี้มีเพียงเดนมาร์กเท่านั้นที่ห้ามใช้สารนี้ไปเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2563 แหล่งน้ำของใคร        หุบเขาในภาคกลางของฝรั่งเศส เป็นแหล่งน้ำแร่ที่โด่งดังไปทั่วโลก แต่ชาวบ้านแถบนั้น รวมถึงนักปฐพีวิทยาหวั่นว่าจะการสูบน้ำแร่ขึ้นมามากเกินไปจะทำให้ทั้งภูมิภาคต้องเจอกับปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ชาวบ้านวัย 69 คนหนึ่งที่อาศัยอยู่ใกล้กับบริษัทน้ำแร่ Volvic ที่มีบริษัท Danone เป็นเจ้าของ บอกว่าลำธารแถวบ้านเคยมีระดับน้ำสูงถึงเข่า แต่ทุกวันนี้ใกล้แห้งเหือดเต็มทน ในขณะที่เจ้าของบ่อเลี้ยงปลาแห่งหนึ่งในบริเวณดังกล่าวที่ต้องปิดกิจการเพราะน้ำไม่พอ ก็ยื่นฟ้องบริษัทแล้วด้วยตั้งแต่ปี 2014 รัฐบาลฝรั่งเศสอนุญาตให้ Danone ใช้น้ำได้ถึง 2.8 ล้านลิตรต่อปี หรือถ้าคิดเป็นขวดขนาดหนึ่งลิตร ก็เท่ากับ 2,800 ล้านขวด และขณะนี้บริษัทสามารถสูบน้ำขึ้นมาได้ถึง 89 ลิตรต่อวินาที แถมยังสูบได้ทั้งปี ไม่เว้นช่วงหน้าร้อนที่ความต้องการใช้น้ำของชาวบ้านก็เพิ่มขึ้นเช่นกันการขาดแคลนน้ำส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ บริเวณดังกล่าวไม่มีต้นไม้ขึ้นมานานแล้ว ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าความชื้นที่ลดลงนี้กำลังจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดทะเลทราย

อ่านเพิ่มเติม >