ฉบับที่ 274 สายการบินทำกระเป๋าพัง ทรัพย์สินเสียหาย

        เมื่อคุณโดยสารเครื่องบิน แล้วพอถึงที่หมายพบว่าสายการบินทำกระเป๋าเดินทางพังจากการขนส่ง สิ่งแรกที่ควรทำคือถ่ายรูปความเสียหายทั้งหมดไว้ และติดต่อเคาน์เตอร์สายการบินที่คุณเดินทางมา หรือเจ้าหน้าที่ของสนามบินเพื่อขอเอกสารบันทึกความเสียหายของกระเป๋าเก็บไว้เป็นหลักฐาน และรีบขอเคลมค่าเสียหายกับสายการบินทันที หรือเมื่อสะดวกหลังจากการเดินทาง แต่ก็ต้องเผื่อใจว่าค่าชดเชยที่สายการบินเสนอให้เบื้องต้นอาจดูไม่สมน้ำสมเนื้อกับความเสียหายที่เกิดขึ้น         คุณเจนเป็นคนหนึ่งที่เจอประสบการณ์สุดเซ็งแบบนี้เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2566 เธอเล่าว่าซื้อตั๋วเครื่องบินของสายการบินที่ให้บริการภายในประเทศแห่งหนึ่ง เส้นทางดอนเมือง-ร้อยเอ็ด ราคา 2,499 บาท และซื้อน้ำหนักสัมภาระเพิ่มอีกต่างหาก เดินทางจากสนามบินดอนเมืองตอน 11โมงเช้า มาถึงร้อยเอ็ดตอนเที่ยงครึ่ง ทุกอย่างดูราบรื่นดี แต่พอเธอเดินไปรับกระเป๋าสัมภาระของตัวเองก็ต้องถึงกับอึ้ง เมื่อเห็นกระเป๋าพังยับเยินเกินเยียวยา ทำให้เครื่องสำอางและน้ำหอมราคาแพงที่อยู่ในกระเป๋านั้นเละตุ้มเป๊ะหมด ตอนนั้นตกใจมาก จนเธอไม่ทันได้ฉุกคิดเลยว่าจะต้องถ่ายรูปความเสียหายเก็บไว้         คุณเจนรีบไปติดต่อแผนกเคลมกระเป๋าสัมภาระ เจ้าหน้าที่ได้เสนอทางเลือกให้ว่าจะรับเป็นค่าชดเชย 800 บาท หรือกระเป๋าผ้าใบใหม่ไป เมื่อเธอปฏิเสธเพราะคิดว่าข้อเสนอนี้ไม่เป็นธรรม เจ้าหน้าที่ก็ให้ถุงดำมาใส่สัมภาระแทน คุณเจนไม่พอใจในการบริการของสายการบินนี้อย่างมากและต้องการเรียกร้องค่าชดเชยที่เหมาะสม จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ ทางช่องทางไลน์ เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการไขแก้ปัญหา         ในกรณีนี้ ถ้าผู้โดยสารทำประกันการเดินทาง หรือประกันกระเป๋าเดินทางไว้ ก็จะสามารถเคลมได้ตามเงื่อนไขของประกัน แต่คุณเจนไม่ได้ทำไว้ ทางมูลนิธิฯ จึงให้ส่งข้อมูลมาเพิ่มเติม ดังนี้         1.สรุปค่าเสียหายที่ต้องการเรียกร้องกับสายการบิน (ค่ากระเป๋า 5,000 บาท ค่าโหลดกระเป๋าที่ซื้อเพิ่ม 2,000 บาท ค่าเครื่องสำอางและน้ำหอม 15,000 บาท รวมเป็นเงิน 22,000 บาท)         2.ภาพถ่ายสินค้าที่เสียหาย (ใช้ภาพสินค้าที่ได้ซื้อมาจากอินเตอร์เน็ต พร้อมราคาสินค้าก็ได้)         เมื่อมีข้อมูลครบ มูลนิธิฯ ได้ออกหนังสือถึงบริษัทสายการบินแห่งนี้ เพื่อขอให้พิจารณาชดเชยความ         เสียหายให้กับคุณเจนแล้ว กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 กระแสต่างแดน

แบนดีไหม         ฮ่องกงกำลังพิจารณาห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่น หลังสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) อนุมัติให้ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดฟุกุชิมะที่ผ่านการบำบัด ปริมาณ 1.3 ล้านตัน ลงสู่ทะเลได้ในช่วง 30 ปีข้างหน้า         นอกจากอาหารทะเลชนิดสด แห้ง ดอง แช่เย็น และแช่แข็ง ฮ่องกงยังจะแบนเกลือทะเล สาหร่าย และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทำให้ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น (คิดเป็นร้อยละ 13 ของร้านอาหารที่จดทะเบียนในฮ่องกง) ได้รับผลกระทบ อาจมีถึง 3 ใน 10 ร้านที่ต้องเลิกกิจการ         ฮ่องกงเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นรายใหญ่ที่สุดอันดับสอง รองจากจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นไปก่อนหน้านี้เรียบร้อยแล้ว            ส่วนประเทศไทย อเมริกา แคนาดา อังกฤษ และอีก 30 กว่าประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกมาตรการห้ามหรือจำกัดการนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นมานานแล้ว  ช่วยน้องกลับบ้าน         สืบเนื่องจากการร้องเรียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยในกัวลาลัมเปอร์ ที่ไม่สามารถกลับบ้านได้ในช่วงปิดเทอม เนื่องจากบ้านอยู่ไกลถึงรัฐซาบาห์ ซาราวัก หรือเกาะลาบวน ซึ่งต้องเดินทางโดยเครื่องบิน แต่ราคาตั๋วกลับสูงเกินเอื้อม แม้จะทำงานพิเศษ ก็ยังมีรายได้ไม่พอซื้อตั๋ว         ในที่สุดกระทรวงคมนาคมมาเลเซียตัดสินใจแจกเวาเชอร์มูลค่า 300 ริงกิต (ประมาณ 2,300 บาท) ให้กับนักศึกษาเพื่อใช้ซื้อตั๋วเครื่องบินในประเทศ รายงานระบุว่าแผนนี้สามารถช่วยเหลือนักศึกษาได้ไม่ต่ำกว่า 56,000 คน ด้วยงบประมาณ 16.8 ล้านริงกิต โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มในวันที่ 15 สิงหาคมนี้         สภานักศึกษาฯ มองว่ารัฐมาถูกทางแล้ว แต่ยังต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มด้วย เช่น นักศึกษาบางคนต้องนั่งเครื่องบินมากกว่าหนึ่งต่อ รวมถึงรัฐควรจัดให้มีความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน เช่น การกลับบ้านด่วนเพื่อไปร่วมงานศพของคนในครอบครัว         เมื่อต้นปีรัฐบาลประกาศว่าจะเจรจากับผู้ประกอบการสายการบินให้จัดตั๋วราคาพิเศษสำหรับนักศึกษา แต่แผนดังกล่าวไม่มีความคืบหน้า    ไม่มาเลยดีกว่า         การรถไฟสวิตเซอร์แลนด์ (SBB) ภูมิใจในความตรงต่อเวลาในการให้บริการมาโดยตลอด แต่เมื่อเปิดบริการ “ขบวนรถไฟความเร็วสูงข้ามประเทศ” จากเยอรมนีเข้ามายังเมืองหลักในประเทศ เช่น คูร์ ซูริค หรือ อินเทอร์ลาเคน สถิติความล่าช้าของเขากลับเพิ่มขึ้นจนน่าเป็นห่วง         เพราะขบวนรถจากเยอรมนีมาสายบ่อย ตารางเวลาเดินรถที่ออกแบบไว้เพื่อการเชื่อมต่อจึงไม่สามารถใช้การได้ สถิติปีที่แล้วระบุว่าร้อยละ 80 ของขบวนรถไฟที่มาช้าคือขบวนที่มีต้นทางในเยอรมนี         เพื่อไม่ให้เสียชื่อไปมากกว่านี้ สำนักงานขนส่งของสวิตเซอร์แลนด์ จึงเสนอว่าเมื่อสัญญาร่วมให้บริการหมดลงในปี 2035 เขาจะให้รถไฟจากเยอรมนีส่งผู้โดยสารเป็นป้ายสุดท้ายที่สถานีเมืองบาเซิลตรงชายแดนเท่านั้น ผู้โดยสารที่ต้องการเข้าเมืองจะต้องเปลี่ยนไปขึ้นรถไฟขบวนท้องถิ่น         หลายฝ่ายไม่เห็นด้วย การตัดลดเส้นทางไม่น่าจะเอื้อต่อแผนลดโลกร้อน นักท่องเที่ยวคงไม่อยากหอบกระเป๋าขึ้นลงหลายรอบ แม้แต่รัฐบาลกลางก็ไม่เห็นด้วยและเกรงว่าเรื่องนี้อาจยังแก้ไม่ถูกจุด   กติกานักสู้         หน่วยงานป้องกันการผูกขาดทางการค้าของอิตาลีเริ่มสอบสวน CoopCulture ผู้ให้บริการขายตั๋วเข้าชม “โคลอสเซียม” หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวว่าการซื้อตั๋วเพื่อเข้าชมสถานที่แห่งนี้ด้วยตนเอง แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะบริษัททัวร์ใหญ่ๆ กว้านซื้อไปหมดแล้ว         จากการตรวจสอบพบว่า จนถึงวันที่ 7 สิงหาคม มีตั๋วเหลืออยู่เพียง 3 ใบในเว็บขายตั๋วอย่างเป็นทางการของโคลอสเซียม (ราคาตั๋วปกติอยู่ที่ 18 ยูโร หรือประมาณ 700 บาท)        แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน เว็บของบริษัททัวร์หลายเจ้ากลับมี “ทัวร์โคลอสเซียมพร้อมตั๋วและไกด์” ให้เลือกมากมายในราคาตั้งแต่ 37.50 ถึง 74 ยูโร (1,430 ถึง 2,820 บาท)        CoopCulture ยืนยันว่าบริษัทมีระบบป้องกันการกว้านซื้อ และยินดีให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบ ในขณะที่องค์กรผู้บริโภค Codacons ก็ออกมาเรียกร้องให้มีกฎหมายห้ามการซื้อตั๋วไปขายต่อ รวมถึงเพิ่มบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนด้วย  ผิดซ้ำต้องแฉ         ตั้งแต่ต้นปี 2566 สำนักอนามัยเทศบาลเมืองไทเป ได้สุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ขนมหวานแช่แข็งและเครื่องดื่มเย็นทั้งหมด 299 รายการ เพื่อหาแบคทีเรียที่เป็นอันตราย (เช่น ซัลโมเนลลา อีโคไล) และพบว่ามี 20 ผลิตภัณฑ์หรือร้อยละ 6.7 ที่ไม่ผ่านเกณฑ์        ตามระเบียบของไทเป ผู้ประกอบการที่มีอาหารหรือเครื่องดื่ม “ไม่ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัย จะได้รับแจ้งจากสำนักฯ พร้อมกับ “เดดไลน์” ในการปรับปรุง แต่การตรวจครั้งล่าสุดยังพบว่ามากกว่าร้อยละ 50 ยังคงสอบตกเหมือนเดิม        พ.ร.บ.ความปลอดภัยและอนามัยด้านอาหารของไต้หวันกำหนดโทษปรับสำหรับร้านค้าที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องปริมาณจุลินทรีย์ไว้ที่ระหว่าง 30,000 ถึง 3,000,000 เหรียญ         สำนักอนามัยฯ ยังเตือนภัยผู้บริโภคด้วยการเปิดเผยชื่อเมนู ชื่อร้าน รวมถึงสาขาที่ตั้ง พร้อมรูปถ่ายในการแถลงข่าวด้วย หากสนใจกดเข้าไปดูได้ที่ลิงก์นี้ https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4947489

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2565

นายกฯ สั่งปฏิรูปรถเมล์ไทย         5 เมษายน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและติดตามความคืบหน้าของโครงการจัดหารถโดยสารพลังงานสะอาดเพื่อมาให้บริการประชาชนในกรุงเทพฯ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมคาดการณ์ว่า “จะสามารถให้บริการได้ภายในเดือนสิงหาคม 2565”  โดยการปฏิรูปรถเมล์ครั้งนี้ ต้องการให้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะยกระดับมาตรฐานบริการรถโดยสารประจำทาง ซึ่งกรมการขนส่งทางบก จะมีการประเมินผลการประกอบการด้วยดัชนีชี้วัด 12 ข้อ ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ รถโดยสารใหม่จะต้องมี GPS  CCTV หรือระบบ E-Ticket เก็บข้อมูลผู้โดยสาร ใช้บริการมากน้อยแค่ไหน ช่วงเวลาไหนผู้โดยสารแน่นหรือคนน้อย หรือช่วงไหนรถติด โดยข้อมูลจะถูกนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ด้วยระบบ AI ทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาการให้บริการได้อย่างรวดเร็ว โฟม-พลาสติกใช้ครั้งเดียว ห้ามนำเข้าอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช         ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง นำเข้าเขตอุทยานแห่งชาติ  ทั้งนี้เพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษา ทรัพยากรธรรมชาติ ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง ระบบนิเวศ และเป็นการควบคุมลดปริมาณขยะในอุทยานแห่งชาติ จึงมีประกาศ ดังนี้         ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟม และบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว ได้แก่ พลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องบรรจุอาหารพลาสติก แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) หลอดพลาสติก และช้อน-ส้อมพลาสติก เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท (มีผล 6 เมษายน 2565 เป็นต้นไป)  ตำรวจสอบสวนกลางเตือนภัย “มิจฉาชีพ แอบอ้างเป็นบริษัทเงินกู้”         ตำรวจสอบสอบสวนกลาง ได้โพสต์เตือนภัย โดยมีข้อความระบุว่า ปัจจุบันเราจะพบเห็นกลุ่มมิจฉาชีพหลากหลายกลุ่มใช้กลลวงต่างๆ หลอกลวงประชาชน เพื่อให้ได้ไปซึ่งข้อมูลส่วนตัวต่างๆ รวมไปถึงทรัพย์สินของมีค่าของประชาชน ตำรวจสอบสวนกลางจึงขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้ทราบถึงรูปแบบหนึ่งของมิจฉาชีพที่จะแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของท่านไป เพื่อนำไปใช้ในการถอนเงินในบัญชี ซึ่งมิจฉาชีพจะติดต่อผ่านช่องทาง SMS Line Facebook หรืออื่นๆ และแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกลวงให้โอนค่าธรรมค้ำประกัน หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว เลขหน้า-หลังบัตรประชาชน เลขหน้า-หลังบัตรเครดิต  วันเดือนปีเกิด หลังจากนั้นนำข้อมูลไปใช้เพื่อถอนเงินในบัญชี เพื่อความปลอดภัยเราควรตรวบสอบข้อมูลให้แน่ใจ ว่าบริษัทบริการเงินกู้นั้นได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ที่ https://bit.ly/3rW26VF   (เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศ) หากพลาดโอนเงินให้มิจฉาชีพสามารถแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ หรือติดต่อได้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร.1599 กรมอนามัยเผยคนไทยบริโภคน้ำตาลสูงเสี่ยงโรค NCDs          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่าปัจจุบันคนไทยกินน้ำตาลมากถึงวันละ 25 ช้อนชา มากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ คือไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs มากยิ่งขึ้น         สอดคล้องกับข้อมูลการศึกษาเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2562 ที่ระบุว่า โดยเฉลี่ยคนไทยดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาล 3 แก้วต่อวัน โดยเฉพาะเด็กอายุ 6-14 ปี ซึ่งคือกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเฉลี่ยต่อสัปดาห์มากที่สุด  ทั้งนี้เครื่องดื่มผสมน้ำตาลที่ขายทั่วไปนั้น พบว่ามีปริมาณน้ำตาลสูงถึง 9-19 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร แต่ปริมาณที่เหมาะสมจริงๆ แล้วคือไม่ควรมีน้ำตาลเกินกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินน้ำตาลของคนไทย สามารถเปลี่ยนได้ โดยเริ่มจากการลดการดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลมาเป็นดื่มน้ำเปล่า 6-8 แก้วต่อวันแทน  และขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ร้านเครื่องดื่ม ร้านกาแฟที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ขอให้ช่วยกันในการคิดค้นหาเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยจำหน่ายในร้าน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเลือกเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ลดเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง ผู้บริโภคต้องการยกเลิกจองทัวร์ท่องเที่ยว “สามารถขอเงินคืนได้”          วันที่ 14 เมษายน 2565 นางนฤมล เมฆบรสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์อาจมีผู้บริโภคที่จองทัวร์ท่องเที่ยวไว้ แต่ด้วยความที่ช่วงนี้สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มติดเชื้อสูงขึ้น ผู้บริโภคที่จองทัวร์สามารถใช้สิทธิของผู้บริโภคในการยกเลิกทัวร์ที่จองไว้ได้ ตามประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 ในกรณีมีเหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางได้เฉพาะตัว ให้นักท่องเที่ยวแจ้งขอรับเงินค่าบริการคืนจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องจ่ายเงินคืนในอัตรา ดังนี้  1. หากนักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 30 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 100 ของเงินค่าบริการ 2. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 15 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 50 ของเงินค่าบริการ 3. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อนน้อยกว่า 15 วัน ไม่ต้องคืนเงินค่าบริการ กรณีมีเหตุให้ต้องยกเลิกนำเที่ยวตามที่ได้โฆษณาไว้ โดยไม่ใช่ความผิดผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจ่ายค่าบริการคืนในอัตรา ร้อยละ 100 ขอเงินค่าบริการ

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 221 จองตั๋วเครื่องบินพลาด ระวังค่าธรรมเนียมแพง

        การทำธุรกรรมทางออนไลน์ ก่อนจะคลิกเพื่อตกลงในเงื่อนไขใดๆ ควรพิจารณารายการให้ละเอียดรอบคอบสักนิด เพราะหากพลาดแล้ว และการแก้ไขก็อาจไม่ง่ายอีกทั้งยังต้องเสียเงินที่เรียกว่า ค่าธรรมเนียมเป็นจำนวนสูงด้วย          เรื่องนี้ได้รับการร้องทุกข์จากคุณกรณ์ ซึ่งซื้อตั๋วเครื่องบินผ่านระบบการจองตั๋ว และชำระเงินด้วยระบบ E-Banking หลังจากชำระเงินสำเร็จ คุณกรณ์จึงพบว่าตนเองซื้อตั๋วผิด จากที่จะเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปอุดรธานี กลายเป็นซื้อตั๋วเดินทางจากอุดรธานีมาที่ปลายทางกรุงเทพฯ จึงรีบโทรศัพท์ติดต่อคอลเซนเตอร์ของทางสายการบินเพื่อขอแจ้งเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินให้ถูกต้อง คำตอบในครั้งแรกคือ ทำไม่ได้และทางพนักงานแนะนำให้แจ้งธนาคารที่คุณกรณ์ใช้ในการจ่ายเงิน เมื่อคุณกรณ์โทรไปธนาคารตามที่ได้รับคำแนะนำ พบว่ายอดเงินได้ถูกตัดแล้วและไม่สามารถนำเงินกลับได้ แนะนำว่าให้โทรไปยังส่วนที่เป็นบริการตัวกลางชำระเงิน ก็ได้คำตอบกลับมาว่า เงินถูกโอนไปที่สายการบินแล้ว เรียกคืนไม่ได้เช่นกัน แนะนำให้โทรกลับไปที่สายการบินอีกครั้ง           คราวนี้เมื่อโทรไปที่สายการบิน ทางพนักงานแจ้งว่าสามารถเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินได้ แต่มีค่าธรรมเนียม คือ (1) 500 บาทต่อการอัพเกรดที่นั่ง (2) ราคาค่าโดยสารที่ปรับขึ้นไปจาก 1,500 เป็น 2,000 บาท คุณกรณ์ต้องจ่ายส่วนต่างนี้ และ (3) ค่าปรับในการเปลี่ยนเที่ยวเดินทาง 500 บาท คุณกรณ์รู้สึกไม่เห็นด้วย ที่ถูกคิดค่าธรรมเนียมสูงขนาดนี้ “ถึงผมจะซื้อตั๋วผิด แต่ก็รีบติดต่อขอเปลี่ยนแปลงทันที ควรทำได้โดยมีค่าปรับในการเปลี่ยนเที่ยวบินตามสมควร มิใช่ราคาแพงกว่าค่าตั๋ว”  แนวทางการแก้ไขปัญหา          ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ติดต่อกับทางสายการบินเพื่อขอทราบรายละเอียดการคิดค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนแปลงเที่ยวเดินทางและขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้อง และอีกทางหนึ่งได้แจ้งเรื่องต่อทางสำนักงานการบินพลเรือนเพื่อขอให้ช่วยบรรเทาปัญหาให้ผู้บริโภค ต่อมาได้รับการชี้แจงจากทางสำนักงานการบินพลเรือน(กพท.) ว่า “การสลับต้นทางกับปลายทางไม่ใช่ความผิดพลาดของระบบการสำรองที่นั่งของสายการบิน เพราะทางบริษัทสายการบินดังกล่าวได้แสดงรายละเอียดเส้นทางและปลายทางไว้แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของผู้ซื้อบัตรโดยสารที่จะต้องตรวจสอบรายละเอียดการเดินทางและข้อมูลผู้โดยสารให้ถูกต้อง และจะต้องศึกษาและตกลงยอมรับเงื่อนไขในการขนส่งก่อนการชำระเงิน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเส้นทางบินหลังจากชำระเงิน ผู้ร้องจะต้องชำระค่าธรรมเนียม โดยค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขการขนส่งของบริษัทสายการบิน ได้รับความเห็นชอบจาก กพท.แล้ว บริษัทฯ จึงสามารถดำเนินการได้”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 จองตั๋วเครื่องบินผ่านเอเยนต์ เครื่องล่าช้าขอเคลมได้

        มีหลายเรื่องที่บางคนอาจเห็นว่าเสียเวลา เช่นการร้องเรียนเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากการให้บริการที่แย่ของผู้ประกอบการ ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไม่อยากให้คิดเช่นนั้น การร้องทุกข์หนึ่งครั้งย่อมดีกว่า การบ่นปากเปล่า เพราะไม่เพียงช่วยให้ผู้ให้บริการได้ตระหนักถึงปัญหาตลอดจนหาแนวทางแก้ไข ยังช่วยให้เกิดบทเรียนกับบุคคลอื่นอีกด้วย         เช่นกรณีของคุณเด่น ที่ใช้บริการจองเที่ยวบินเดินทางไปจังหวัดภูเก็ตกับทาง Traveloka มีกำหนดเดินทางวันที่  8 กรกฎาคม ปีที่แล้ว เที่ยวบินกำหนดเวลาการเดินทาง 10.55 น. สายการบินไลอ้อนแอร์ ปรากฏว่าเที่ยวบินล่าช้ากว่ากำหนดไปเกือบสามชั่วโมง โดยไม่แจ้งสาเหตุแห่งความล่าช้าแก่ผู้โดยสาร คุณเด่นไม่สามารถทนรอต่อไปโดยไม่ทราบว่าจะได้เดินทางเมื่อไรกันแน่ จึงทำเรื่องขอเงินค่าโดยสารคืนกับทางสายการบิน ทางพนักงานสายการบินแจ้งว่าจะคืนเงินให้แต่ขอให้คุณเด่นติดต่อขอคืนเงินผ่านทางเว็บ Traveloka  “ดิฉันก็ทำเรื่องติดต่อประสานงานผ่านทั้ง สายการบินไลอ้อนแอร์และทางเว็บ Traveloka  แต่เหมือนทั้งคู่เกี่ยงกันไปมาไม่ยอมรับผิดชอบ สองเดือนแล้ว ดิฉันควรทำอย่างไรดี”  แนวทางการแก้ไขปัญหา        ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ทำหนังสือถึง บ.ไทย ไลอ้อนแอร์ บ.ทราเวลโลก้า และกรมการบินพลเรือน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ช่วยบรรเทาความเสียหายให้กับคุณเด่น เบื้องต้นทางทราเวลโลก้าแจ้งว่า ตรวจสอบกับทางสายการบินแล้ว ทางสายการบินแจ้งว่า “หมายเลขรหัสการจองของคุณเด่น” ไม่สามารถขอเงินคืนได้ เนื่องจากเที่ยวบินไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทางศูนย์ฯ ได้พยายามติดตามเรื่องอย่างต่อเนื่องเพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับทางคุณเด่น จนในที่สุดทางสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ แจ้งกลับมาว่า “กรณีขอเงินคืนจะสามารถย้อนหลังได้ไม่เกิน 90 วันและจะติดต่อกับทราเวลโลก้าก่อนว่าจะดำเนินการคืนเงินให้กับลูกค้าได้หรือไม่”         ย่างเข้าปลายเดือนมกราคม 2562 ทางสายการบินโทรแจ้งว่า หมายเลขรหัสจองของคุณเด่นได้รับการพิจารณาคืนเงินแบบ Full Refund ซึ่งกำหนดคืนภายใน 45 วัน โดยสายการบินแจ้งเรื่องไปที่เอเยนต์ซี่แล้ว ภายใน 30 วันให้ตรวจสอบการคืนเงินจากเอเยนต์ซี่ได้ จึงแจ้งเรื่องให้คุณเด่นทราบความคืบหน้าว่าจะใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 30 วัน ต่อมาเดือนมีนาคมเมื่อสอบถามกับคุณเด่นว่าได้รับการติดต่อคืนเงินหรือยัง จึงทราบว่า ยังไม่ได้รับการคืนเงิน จึงติดต่อกลับสายการบิน ได้รับแจ้งว่าสายการบินคืนเงินให้ทางทราเวลโลก้าแล้ว เมื่อสอบถามทราเวลโลก้า กลับระบุว่า ได้รับเงินจากสายการบินจริง แต่ไม่เต็มจำนวน จึงขอประสานงานกับทางสายการบินก่อนและจะแจ้งผลภายใน 24 ชั่วโมง สุดท้ายคุณเด่นก็ได้รับเงินค่าตั๋วคืนเต็มจำนวน แต่ก็ต้องใช้เวลาหลายเดือน คมนาคม เปิดสิทธิ์ชดเชยผู้โดยสารเที่ยวบินดีเลย์รายงานข่าวจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัญหาสายการบินล่าช้าที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ ดังนั้น กพท. กำชับไปยังทุกสายการบินให้เร่งแก้ไขปัญหารวมทั้งให้การดูแลผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบให้ครบถ้วนตาม เกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด สำหรับผู้โดยสารที่ประสบปัญหาเที่ยวบินดีเลย์สามารถขอใช้สิทธิ์ชดเชย ได้ดังต่อไปนี้สำหรับเที่ยวบินประจำภายในประเทศ ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553กรณียกเลิกเที่ยวบิน หรือ ปฏิเสธการขนส่ง ผู้โดยสารจะได้รับการปฏิบัติจากสายการบิน ดังนี้ 1. ได้รับเงินค่าโดยสารคืน หรือ เปลี่ยนเที่ยวบิน หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น และ2. ได้รับการดูแลจากสายการบิน อาหารและเครื่องดื่ม, โทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail, ที่พักพร้อมการขนส่งระหว่างสนามบินกับที่พัก (ถ้าต้องค้างคืน) และ3. ได้รับค่าชดเชย 1,200 บาท เว้นแต่ สายการบินพิสูจน์ได้ว่าการยกเลิกเที่ยวบินเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัยหรือสายการบินได้แจ้งการยกเลิกเที่ยวบินก่อนวันเวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วัน หรือ สายการบินเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินให้แก่ผู้โดยสารไปยังจุดหมายที่ระบุในบัตรโดยสารได้ภายในไม่เกิน 3 ชั่วโมง จากเวลาเดิมสำหรับกรณีเที่ยวบินล่าช้า ผู้โดยสารจะได้รับการปฏิบัติจากสายการบิน ดังนี้ 1. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 3 ชั่วโมง อาหารและเครื่องดื่ม และโทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail , ได้รับเงินค่าโดยสารคืน กรณีไม่ประสงค์จะเดินทางต่อ2. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 5 ชั่วโมงอาหารและเครื่องดื่ม และโทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail , ได้รับเงินค่าโดยสารคืน หรือ เปลี่ยนเที่ยวบิน หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น3. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 6 ชั่วโมง อาหารและเครื่องดื่ม และโทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail , ได้รับเงินค่าโดยสารคืน หรือ เปลี่ยนเที่ยวบิน หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น และ, ค่าชดเชยเป็นเงินสดจำนวน 600 บาท เว้นแต่ สายการบินพิสูจน์ได้ว่าเที่ยวบินล่าช้าเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัย4. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 6 ชั่วโมง ทั้งนี้ สายการบินต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสารเช่นเดียวกับมาตรการในเรื่องการยกเลิกเที่ยวบินทั้งนี้ หากสายการบินไม่ปฏิบัติตามประกาศฯ ผู้โดยสารสามารถร้องเรียนมาที่ กพท. E-mail : info@caat.or.th โทรศัพท์ 0-2568-8800ที่มา https://www.khaosod.co.th/economics/news_920242

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ข้องใจทำไมบริษัทรับจองตั๋วเครื่องบินไม่แจ้งการเลื่อนเที่ยวบิน

ปัจจุบันการจองตั๋วเครื่องบินไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไร มีบริการทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันให้เลือกมากมาย หนึ่งในผู้ให้บริการที่นิยมกันในเวลานี้ คือ ทราเวลโลกา(Traveloga) ซึ่งมีผู้ร้องรายหนึ่งปรึกษามาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิว่าไม่ได้รับบริการที่ดี ควรทำอย่างไร เรื่องมีอยู่ว่า คุณตุลยา ใช้บริการจองตั๋วเครื่องบินกับ ทราเวลโลกา ทั้งหมด 3 ครั้ง สองครั้งแรกพบปัญหาว่า เมื่อสายการบินต้องเลื่อนเวลาการเดินทาง คุณตุลยาจะไม่เคยได้รับข้อมูลการแจ้งเตือนจาก ทราเวลโลกา เลย เหตุครั้งแรกเกิดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เธอไปตามตารางเวลาบินแต่พบว่า สายการบินประกาศเลื่อนการเดินทาง เมื่อสอบถามกับสายการบินว่าทำไมไม่มีการแจ้งล่วงหน้า “สายการบินแจ้งว่า ได้บอกข้อมูลเรื่องเลื่อนการเดินทางกับทราเวลโลกาแล้ว” เหตุดังกล่าวทำให้คุณตุลยาต้องเสียเวลาอยู่ที่สนามบินหลายชั่วโมง  ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 เมษายน จองตั๋วเที่ยวบิน ภูเก็ต-กรุงเทพฯ เวลา 21.40 น. ครั้งนี้อาศัยว่ามีประสบการณ์ไม่ดีมาก่อน เลยโทรไปสอบถามกับสายการบินเอง พบว่าเที่ยวบินเลื่อนการเดินทางเป็น 20.35 น. ซึ่งถ้าไม่สอบถามเองเธอคงต้องพลาดโอกาสขึ้นเครื่องบินแน่ๆ  ทางคุณตุลยาอยากให้ทางทราเวลโลกาปรับปรุงเรื่อง บริการแจ้งเตือนลูกค้า และไม่อยากพลาดอีกเป็นครั้งที่สาม แนวทางแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ประสานไปที่ ทราเวลโลกา ผ่านทางระบบแชทหน้าเว็บไซต์ พนักงานให้ข้อมูลว่า ทราเวลโลกา มีระบบเรื่องการแจ้งเตือนเมื่อมีการเลื่อนเที่ยวบิน  โดยปกติสายการบินจะแจ้งตรงต่อผู้โดยสารเอง และหากแจ้งผ่านมาทางทราเวลโลกา บริษัทจะแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบผ่านทางอีเมล ทั้งนี้ทราเวลโลกา อยากทราบข้อมูลผู้ร้องเพื่อตรวจสอบหาสาเหตุว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร ตรงนี้คุณตุลยาไม่อยากเปิดเผยข้อมูลกับทราเวลโลกา เพราะเกรงว่า อาจมีปัญหาในภายหลัง อย่างไรก็ตามคุณตุลยาสอบถามเพิ่มเติมว่า กรณีนี้ใครเป็นฝ่ายผิด ผู้โดยสารหรือทราเวลโลกา หากขึ้นเครื่องไม่ทัน เรื่องนี้ต้องดูที่เงื่อนไขการให้บริการของตัวแทน หากบริษัทตัวแทนมีภาระหน้าที่ต้องแจ้งเตือนผู้ใช้บริการ บริษัทก็เป็นฝ่ายผิดเพราะไม่แจ้งเตือน สำหรับกรณีทราเวลโลกา ทางบริษัทแจ้งว่า มีระบบแจ้งสองแบบ คือ สายการบินแจ้งเองกับสายการบินแจ้งผ่านทราเวลโลกา  ก็มองได้ว่าทราเวลโลกาเป็นฝ่ายผิด สามารถเรียกค่าเสียหายได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 จองตั๋วเครื่องบินไม่ได้

มีวิธีการมากมายในการจองตั๋วเครื่องบินผ่านสายการบินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจองผ่านเว็บไซต์ หรือผ่านแอพพลิเคชั่น อย่างไรก็ตามแม้วิธีการเหล่านั้นจะสะดวกสบายและรวดเร็ว แต่ก็สามารถสร้างปัญหาได้เช่นกัน หากระบบการจองเกิดความผิดพลาด เหมือนเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้คุณสมชายและเพื่อนต้องการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ จึงจองตั๋วเครื่องบินของสายการบินแอร์เอเชีย ผ่านแอพพลิเคชั่นของสายการบินดังกล่าว และชำระเงินผ่านบัตรเครดิตเป็นเงิน 3,094.72 บาท อย่างไรก็ตามหลังชำระเงินเรียบร้อยกลับขึ้นข้อความว่าแจ้งเตือนว่าหมดเวลา(Time out) คุณสมชายจึงโทรศัพท์ไปยังบริษัทเพื่อสอบถามปัญหา ซึ่งพนักงานตอบกลับว่าไม่มีรายการจองตั๋วดังกล่าว และขอให้ทำรายการใหม่ ดังนั้นเขาจึงต้องทำการจองใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง รวมทั้งชำระเงินผ่านบัตรเครดิตในยอดเงินเท่าเดิม ซึ่งปัญหาก็เกิดขึ้นเหมือนครั้งก่อน โดยมีการแจ้งเตือนผ่านหน้าแอพพลิเคชั่นว่าทำรายการล้มเหลว แต่มีการตัดยอดเงินในบัตรเครดิตเช่นเดิม ยิ่งกว่านั้นเมื่อเขาได้ตรวจสอบข้อมูลการจองอีกครั้ง กลับพบว่าตนเองจองตั๋วผิด และหลังจากโทรศัพท์ไปยังสายการบินเพื่อขอเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน พนักงานก็ได้แจ้งกลับมาว่าหากสำรองที่นั่งแล้ว สายการบินอนุญาตเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินได้ก่อนกำหนดเดินทางอย่างน้อย 48 ชม. หากเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไม่อนุญาตให้เปลี่ยนแปลงใดๆ และการเปลี่ยนแปลงนี้จะต้องชำระค่าธรรมเนียมตามอัตราของสายการบินด้วย ส่วนในกรณีที่ไม่สามารถเดินทางได้ สามารถขอคืนค่าภาษีสนามบินได้หลังจากที่เที่ยวบินได้ผ่านไปแล้ว เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้คุณสมชายจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวการทางการแก้ไขปัญหาหลังได้รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์ฯ ช่วยติดต่อกับทางบริษัทให้มีการเจรจา ซึ่งใช้หลักฐานประกอบการดำเนินการคือ ข้อมูลหมายเลขบัตรโดยสาร และยอดบัตรเครดิตที่จ่ายไป ทั้งนี้ผู้ร้องต้องการให้ทางสายการบินคืนเงินค่าตั๋วทั้งหมดจำนวน 6,189.44 บาท อย่างไรก็ตามทางบริษัทได้ส่งหนังสือชี้แจงกลับมาว่า สามารถคืนเงินค่าโดยสารได้แค่ครั้งแรกที่เกิดความผิดพลาดจากระบบ ส่วนครั้งที่สองเสนอให้เก็บยอดดังกล่าวไว้เพื่อใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอดังกล่าว และขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 Skyscanner บินลัดฟ้าข้ามหาราคาที่พึงพอใจ

  ฉบับนี้มาบินลัดฟ้าท่องเที่ยวกันทั่วโลกดีกว่าค่ะ ใครที่ชอบเดินทางไปโน่นมานี่ โดยใช้บริการเครื่องบินโดยสารสายการบินต่างๆ ไม่ว่าจะเดินทางไปท่องเที่ยว ทำกิจกรรมของบริษัท ติดต่อธุรกิจ แม้กระทั่งเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง ไม่มากก็น้อยที่เคยใช้บริการซื้อตั๋วเครื่องบินของสายการบินต่างๆ ในรูปแบบออนไลน์  เพราะสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็วและสะดวกสบาย อีกทั้งยังสามารถเปรียบเทียบราคา และเลือกเวลาการเดินทางได้ด้วยตนเอง   ด้วยเหตุผลมากมายหลายประการที่กล่าวมาทั้งหมด ผู้เขียนจึงอยากให้ผู้อ่านที่ชอบใช้บริการบนเว็บไซต์ ลองเปลี่ยนมาใช้แอพพลิเคชั่น Skyscanner บนโซเชียลมีเดียกันดูบ้าง เพียงแค่โหลดแอพพลิเคชั่นลงบนมือถือ ที่รองรับได้หลากหลายประเภท ได้แก่ ไอโฟน(iphone) ไอแพด(ipad)  แอนดรอยด์ (Android)  แบล็คเบอร์รี่ (Blackberry) นอกจากนี้ยังมีเวอร์ชั่นสำหรับวินโดวส์ (Windows 8) ที่ผู้อ่านสามารถดาวน์โหลดมาไว้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้ได้เลย หรือถ้าไม่ถนัดแอพพลิเคชั่น ก็สามารถเข้าไปใช้บริการได้ที่ http://th.skyscanner.com  ในเวอร์ชั่นภาษาไทย   แอพพลิเคชั่นนี้ มีประโยชน์ในการใช้ค้นหาและเปรียบเทียบตั๋วเครื่องบินจากสายการบินทั่วโลก ที่มีมากกว่า 1,000 สายการบิน  รองรับภาษาต่างๆ ได้ถึง 28 ภาษา และสามารถเปลี่ยนสกุลเงินได้กว่า 61 สกุลเงิน ซึ่งช่วยให้นักเดินทางสะดวกและรวดเร็ว โดยสามารถระบุวันที่ที่ต้องการเดินทาง ประเภทที่นั่ง เมืองหรือประเทศที่ต้องการเดินทางไป   โปรแกรมจะช่วยประมวลผลราคาและช่วงเวลาในการเดินทางของสายการบินต่างๆ จากนั้นราคาทั้งหมดที่ใช้ในการเดินทางก็จะถูกสรุปออกมาพร้อมกับสายการบินต่างๆ  เพื่อให้เลือกได้ตามความพึงพอใจ เมื่อได้สายการบิน ราคา ช่วงเวลาเดินทางที่ต้องการทั้งหมดแล้ว แอพพลิเคชั่น Skyscanner จะส่งต่อหน้าเว็บไปยังเว็บไซต์ของสายการบินนั้นๆ หรือเว็บไซต์ตัวแทนจำหน่าย เพื่อให้ผู้ใช้บริการติดต่อซื้อตั๋วเครื่องบินได้โดยตรง ตามราคาที่แจ้งมานั้น โดยที่ไม่ต้องเสียค่าบริการผ่าน Skyscanner แต่อย่างใด หรือถ้ายังไม่แน่ใจ คลิกที่ปุ่ม Call โทรหาสายการบินนั้นได้ทันที   แต่ถ้าผู้อ่านยังไม่รู้จุดหมายปลายทางที่แน่ชัด ก็สามารถค้นหาเมืองในประเทศต่างๆ ว่ามีที่ใดบ้าง ในราคาตั๋วเครื่องบินเท่าไร ได้ที่ปุ่ม Explore  และทำขั้นตอนเพื่อใช้บริการตามเดิม หลังจากเลือกตั๋วเครื่องบินที่ต้องการได้แล้ว แอพพลิเคชั่น Skyscanner จะเก็บข้อมูลการค้นหาไว้ เพื่อสะดวกในการเรียกใช้ในครั้งต่อไป นอกจากค้นหาตั๋วเครื่องบินแล้ว แอพพลิเคชั่นนี้ยังช่วยค้นหาโรงแรม รีสอร์ท บังกะโล ที่พักต่างๆ รถเช่า ได้อีกด้วย และถ้าต้องการแบ่งปันรายละเอียดเที่ยวบินที่น่าสนใจให้กับเพื่อน ขวามือด้านบน จะมีปุ่มเพื่อแบ่งปันข้อมูลไปยัง E-Mail  Facebook หรือ Twitter ได้เลย   Skyscanner ใช้งานฟรีค่ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 109 ไทยแอร์เอเซีย ชดใช้ผู้บริโภคเหตุเครื่องบินดีเลย์

เรื่องนี้...เป็นเรื่องยาวข้ามประเทศครับคุณรุจน์ และภรรยา มีกิจธุระที่ต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย และเลยไปท่องเที่ยวยังเมืองที่ชื่อว่า ย๊อกยาการ์ตา ซึ่งอยู่ในประเทศอินโดนีเซียเช่นกันทั้งสองสามีภรรยาเลือกใช้บริการสายการบินราคาประหยัดไทยแอร์เอเซีย โดยซื้อตั๋วจากเว็บไซต์ของสายการบินแห่งนี้ ได้ตั๋วขาไปออกเดินทางในวันที่ 21 มีนาคม 2552 ออกจากกรุงเทพฯ เวลา 20.15 น. และถึงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียเวลา 23.45 น. และตั๋วขากลับเครื่องบินจะออกจากจาการ์ตาในวันที่ 29 มีนาคม 2552 เวลา 16.20 น. และถึงกรุงเทพฯ เวลา 19.45 น. ทั้งนี้เพื่อจะกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ ให้ทันในเช้าวันรุ่งขึ้นอย่างไรก็ดี ในวันที่ 29 มีนาคมซึ่งเป็นวันที่ต้องเดินทางกลับนั้น สองสามีภรรยายังอยู่ที่เมืองย๊อกยาการ์ตา เพื่อไม่ให้พลาดเที่ยวบินขากลับจากจาการ์ตาไปกรุงเทพฯ ทั้งสองจึงได้ซื้อตั๋วจากไทยแอร์เอเซียเที่ยวบินจากย๊อกยาการ์ตามาถึงจาการ์ตาในเวลา 12.45 – 13.45 น. อีกด้วยคุณรุจน์และภรรยาทราบจากโฆษณาว่า สายการบินแอร์เอเซีย เป็นสายการบินที่ให้บริการแบบ “จุดต่อจุด” ไม่ได้ให้บริการเที่ยวบินต่อเนื่อง ผู้โดยสารต้องรับผิดชอบตัวเองในการไปเช็คอินให้ทันเที่ยวบินถัดไป คุณรุจน์จึงไม่ประมาทเพราะกลัวตกเครื่องบิน ก่อนออกเดินทางคุณรุจน์และภรรยาจึงช่วยกันเข้าอินเทอร์เน็ตเพื่อรวบรวมข้อมูลเที่ยวบินของสายการบินอื่นๆ ที่ให้บริการในเส้นทางย๊อกยาการ์ตา – จาการ์ตา ในเวลาใกล้เคียงกันกับเที่ยวบินของไทยแอร์เอเซียไว้เผื่อเหนียว ขาไปไม่มีปัญหาอะไร ทำธุระและท่องเที่ยวอยู่ในอินโดนีเซียจนถึงวันที่ 26 มีนาคม 2552 จึงได้เดินทางมาถึงเมืองย๊อกยาการ์ตา ก่อนออกจากสนามบินย๊อกยาการ์ตาจึงได้นำตั๋วเครื่องบินเส้นทางย๊อกยาการ์ตา – จาการ์ตา และ จาการ์ตา – กรุงเทพฯ ที่ซื้อไว้แล้วไปยืนยันการเดินทางกับพนักงานไทยแอร์เอซีย พนักงานก็จิ้ม ๆ ดูข้อมูลในคอมพิวเตอร์แล้วบอกว่าเที่ยวบินที่สำรองที่นั่งไว้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ คุณรุจน์และภรรยาจึงออกจากสนามบินไปท่องเที่ยวและทำธุระในเมืองย๊อกยาการ์ตาอย่างสบายใจพอถึงวันเดินทางกลับในวันที่ 29 มีนาคม 2552 ซึ่งจะต้องบินออกจากย๊อกยาการ์ตาไปจาการ์ตาในเวลา 12.45 น. คุณรุจน์และภรรยา จึงรีบเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า เดินทางมาถึงสนามบินย๊อกยาการ์ตา และเช็คอินในเวลา 10.30 น. ได้ถามพนักงานไทยแอร์เอเซียว่าเที่ยวบิน “ตรงเวลา” หรือเปล่า ได้รับคำตอบจากพนักงานยืนยันว่าเที่ยวบินนี้ตรงเวลาจนถึงเวลา 12.15 น. พนักงานของท่าอากาศยานได้ประกาศเรียกให้ผู้โดยสารของสายการบินไทยแอร์เอเซียเที่ยวบินที่จะไปจาการ์ตาเข้าไปรอที่หน้าประตูทางออก คุณรุจน์และภรรยาก็เบาใจว่าได้ขึ้นเครื่องบินตรงเวลาแน่ จึงได้ผ่านกระบวนการซื้อสิทธิการใช้ท่าอากาศยานและผ่านการตรวจค้นอาวุธเพื่อไปรอที่ประตูทางออกรอกันอยู่ที่ประตูทางออกจนถึงเวลาที่เครื่องบินจะต้องออกคือเวลา 12.45 น. ไม่เห็นวี่แววจะมีเครื่องบินของไทยแอร์เอเซียมารับไปจาการ์ตาเสียที มองไปที่ลานบิน เห็นเครื่องบินของสายการบินอื่นที่ได้เล็งไว้เผื่อเป็นเที่ยวบินสำรองเวลามีเหตุฉุกเฉิน ก็ทยอยโผผินบินไปทีละลำๆโอย...นี่มันเหตุฉุกเฉินแล้วนี่ คุณรุจน์และภรรยามองหน้ากันเลิ่กลั่ก และทำสิ่งที่อาจหาญที่สุดเท่าที่เคยทำในชีวิตที่ผ่านมาด้วยการ ขออนุญาตพนักงานรักษาความปลอดภัยของสนามบินวิ่งย้อนออกไปถามข้อมูลเรื่องความล่าช้าของเที่ยวบินกับพนักงานไทยแอร์เอเซียกระทั่งเวลาบ่ายโมงเศษถึงได้รับข้อมูลว่า เครื่องบินที่จะใช้เดินทางนั้นเกิดความล่าช้าในการบินจากสนามบินสิงคโปร์มาสนามบินย๊อกยาการ์ตา ทำให้ต้องเลื่อนการเดินทางออกจากย๊อกยาการ์ตาเป็นเวลา 15.00 น. และถึงจาการ์ตา เวลา 16.00 น.การที่พนักงานไทยแอร์เอเซียเพิ่งมาบอกข้อมูลการดีเลย์ของเที่ยวบิน ทำให้คุณรุจน์และภรรยาหมดสิทธิที่จะไปเช็คอินเที่ยวบินจาการ์ตา – กรุงเทพฯ ได้ทัน เพราะเครื่องบินจะออกเวลา 16.20 น. แต่ต้องเช็คอินก่อนเครื่องบินออกอย่างน้อย 45 นาที สองสามีภรรยาจึงได้แต่นั่งทำใจหลังจากนั่งทำใจอยู่ในสนามบินย๊อกยาการ์ตาจนเบื่อแล้วเบื่ออีก ท้ายที่สุด คุณรุจน์และภรรยาได้ขึ้นเครื่องจากย๊อกยาการ์ตาในเวลา 15.30 น. ล่าช้าไปกว่ากำหนดการเดิม 2 ชั่วโมงครึ่ง และถึงจาการ์ตาเวลา 16.30 น. ซึ่งเที่ยวบินที่ซื้อจองไว้โบยบินไปกรุงเทพฯ เรียบร้อยแล้วทำให้คุณรุจน์และภรรยาต้องควักเงินซื้อตั๋วเครื่องบินหาทางกลับกรุงเทพฯ ใหม่ทั้งหมด และกลับมาถึงกรุงเทพฯ เกือบเที่ยงคืน นับเป็นการเดินทางที่ต้องใช้ความพยายามอย่างแสนสาหัสและต้องจดจำไปอีกนานแนวทางการแก้ไขปัญหาหลังเกิดปัญหา คุณรุจน์และภรรยา ได้พยายามติดต่อไปที่ไทยแอร์เอเซียเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบใช้เวลาไปอีก 26 วัน ถึงจะได้คำตอบว่า ไทยแอร์เอเซีย ไม่จ่ายค่าชดเชยให้ โดยอ้างว่าความล่าช้าของเที่ยวบินที่เกิดขึ้น เป็นความล่าช้าจากระบบของสนามบินสิงคโปร์ที่ขัดข้องอย่างกะทันหัน ทำให้เครื่องบินของไทยแอร์เอเซียจากสิงคโปร์ไม่สามารถบินมารับผู้โดยสารที่ย๊อกยาการ์ตาได้ตรงตามเวลาเมื่อเห็นการปัดความรับผิดชอบเช่นนั้น คุณรุจน์และภรรยาจึงอีเมลล์ไปสอบถามข้อเท็จจริงกับทางท่าอากาศยานสิงคโปร์ ไม่นานได้รับคำตอบกลับมาว่า เหตุล่าช้าของเที่ยวบินเจ้าปัญหานั้น เกิดความบกพร่องของสายการบินไทยแอร์เอเซียเอง ไม่ใช่ความผิดพลาดของสนามบินสิงคโปร์ คำตอบดังกล่าวทำให้ลิมิตความอดทนของคุณรุจน์และภรรยาขาดสะบั้น แบกความชอกช้ำระกำใจจูงมือกันมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อให้ช่วยทำเรื่องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับไทยแอร์เอเซียให้หลาบจำเสียทีศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับมอบอำนาจจากผู้ร้องทั้งสอง ยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายกับไทยแอร์เอเซีย โทษฐานผิดสัญญาการให้บริการ รวมเป็นเงิน 65,000 บาทเศษศาลได้นัดเจรจาไกล่เกลี่ย ท้ายที่สุดไทยแอร์เอเซีย ยอมชดใช้ค่าเสียหายในส่วนที่เป็นค่าตั๋วเครื่องบิน ค่ารถแท๊กซี่ ในการที่ต้องวิ่งวุ่นไปมา ตามจำนวนที่ถูกเรียกร้องมาทั้งหมดคือ 15,844 บาท และยังยอมชดใช้ค่าเสียความรู้สึกอีกเป็นเงิน 30,000 บาท จากที่เรียกร้องไปในส่วนนี้ 50,000 บาท ทำให้คุณรุจน์ได้รับการเยียวยาความเสียหายจากการเดินทางด้วยความทรมานของสายการบินไทยแอร์เอเซียเป็นเงินทั้งสิ้น 45,844 บาทถือเป็นบรรทัดฐานสำหรับผู้โดยสารอื่นๆ ว่า ปัญหาเที่ยวบินดีเลย์แล้วไม่รับผิดชอบนั้น อย่าปล่อยให้สายการบินลอยนวลโดยเด็ดขาด  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 107 โดนน้ำร้อนลวกบนแอร์เอเซีย

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2552 คุณปาริจฉัตร์ ได้เดินทางไปฮ่องกงกับเพื่อนอีก 5 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นพนักงานฝ่ายขายของบริษัทขายยาและเวชภัณฑ์แห่งหนึ่ง โดยได้ใช้บริการไป-กลับ กับสายการบินไทยแอร์เอเซีย ขาไปเหตุการณ์ปกติ แต่ในขากลับ วันที่ 6 พ.ย. 2552 ออกจากฮ่องกงเวลา 20.50 น. และถึงกรุงเทพฯ เวลา 22.50 น.นั้น นับเป็นช่วงเวลาการเดินทางที่คุณปาริจฉัตร์ต้องจดจำไปอีกนานคุณปาริจฉัตร์ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า ในขณะที่มีการเสิร์ฟอาหารบนเครื่อง เมื่อถึงที่นั่งแถวเธอ พนักงานต้อนรับบนเครื่องแจ้งว่า อาหารไม่มีให้เลือกแล้ว เหลือแต่สปาเก็ตตี้กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เธอเลยสั่งบะหมี่ถ้วยปกติและพี่ที่นั่งติดกันสั่งเป็นบะหมี่เกาหลีถ้วยใหญ่“หลังจากได้รับอาหารแล้วดิฉันก็รับประทานตามปกติ โดยวางกระเป๋าบนขาแล้วเอาถาดที่ใช้วางอาหารลงมา แต่ถ้วยบะหมี่ของพี่ที่นั่งข้างๆ นั้น น้ำที่ใส่ให้ในถ้วยเป็นแค่อุ่นน้อยๆ เอามือสัมผัสที่ถ้วยแล้วแทบจะไม่มีความร้อนเลยทำให้บะหมี่ไม่สุก เส้นแข็ง ไม่สามารถรับประทานได้ ดิฉันจึงได้เรียกพนักงานให้นำอาหารไปอุ่นให้”ไม่นานพนักงานก็เดินถือบะหมี่ถ้วยใหญ่มาเสิร์ฟ เมื่อเดินมาถึงทางด้านข้างเยื้องไปทางด้านหลัง พนักงานแจ้งว่า “ได้แล้วค่ะ” แต่ทันใดนั้นบะหมี่ที่มีน้ำร้อนอยู่เต็มถ้วยได้หกรดใส่ตัวคุณปาริจฉัตร์อย่างไม่ทันตั้งตัวโดยเฉพาะบริเวณต้นขาขวา“ตอนนั้นตกใจมากทั้งแสบทั้งร้อน ร้องออกมาเสียงดังมากด้วยความเจ็บปวดสะดุ้งสุดตัวจนลุกขึ้นยืนแต่ยืนไม่ได้เพราะติดเบลท์(belt) ที่คาดไว้” คุณปาริจฉัตร์ได้เล่าต่อว่า พนักงานได้กล่าวคำขอโทษบอกว่าไม่ได้ตั้งใจ ในจังหวะนั้นคุณปาริจฉัตร์รีบปลดเบลท์ ปัดทุกอย่างออกจากตัวแล้ววิ่งไปทางด้านหลังเครื่องโดยมีพนักงานที่ก่อเหตุวิ่งตามมาด้วย และได้ร้องขอน้ำเปล่า น้ำเย็น น้ำแข็ง จากพนักงานแล้วทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในห้องน้ำ และต้องนั่งอยู่ในนั้นตลอดการเดินทางเพราะต้องถอดเสื้อผ้าออกเกือบทั้งหมดเพื่อทำการปฐมพยาบาล และเมื่อมาถึงสนามบินเพื่อนๆ ที่มาด้วยกันจึงได้พาคุณปาริจฉัตร์ไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที และได้มีการร้องเรียนผ่านทางศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดชลบุรีและส่งต่อมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลืออีกทีแนวทางแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ครั้งนี้มีรายละเอียดอีกเยอะที่คุณปาริจฉัตร์ได้เล่ามา แต่ต้องขอตัดทอนเอาเฉพาะที่สำคัญ ซึ่งโดยสรุปคือเป็นเรื่องที่พนักงานของสายการบินประมาทขาดความระมัดระวังทำให้ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ แม้จะไม่หนักหนาสาหัสแต่ก็มีความเสียหายทุกข์ทรมานไม่น้อยที่ต้องโดนน้ำร้อนลวกจนเกือบจะถูกจุดสำคัญเมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิจึงแนะนำให้ผู้ร้องรายนี้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน และในวันที่ 27 พ.ย.2552 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้นัดเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างผู้เสียหายคือคุณปาริจฉัตร์และตัวแทนของบริษัทไทยแอร์เอเซียคือคุณระวีวรรณ สุทธิลักษณ์ ผู้จัดการฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ ขึ้น โดยในวันดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันว่าผู้บริโภคจะไม่ติดใจเอาความทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อไป โดยไทยแอร์เอเซียได้เสนอเยียวยาความเสียหายดังนี้1. ชดเชยค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง จำนวน 2,160.80 บาท2. ชดเชยความเสียหายของทรัพย์สินคือ กระเป๋าและเสื้อผ้าที่ถูกบะหมี่หกราด จำนวน 5,000 บาท3. ค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับ กรุงเทพฯ-ฮ่องกง ของสายการบินแอร์เอเซีย จำนวน 6 ที่นั่ง(ไม่ระบุวันเดินทางไป-กลับ)4. ให้บริษัทไทยแอร์เอเซียฯ ออกจดหมายขอโทษผู้บริโภคอย่างเป็นทางการต่อมาในวันที่ 2 ธันวาคม 2552 คุณระวีวรรณ สุทธิลักษณ์ ผู้จัดการฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ บริษัท ไทยแอร์เอเซีย ได้ดำเนินการเยียวยาความเสียหายตามที่ได้ตกลงกันไว้ พร้อมกับจดหมายขอโทษอย่างเป็นทางการถึงคุณปาริจฉัตร์ โดยมีสาระที่น่าสนใจดังนี้ทางสายการบินฯ และพนักงานทุกคนขอแสดงความเสียใจอย่างที่สุดที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นกับท่าน และขอเรียนให้ทราบว่าหลังจากได้ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้เข้าร่วมประชุมและหารือถึงสาเหตุและมาตรการต่างๆ ซึ่งทางหลักปฏิบัติโดยทั่วไปนั้น หากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น พนักงานต้อนรับจะต้องรีบทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยใช้ชุดอุปกรณ์ตามมาตรฐานความปลอดภัยในอากาศยาน และจะต้องทำการแจ้งกับผู้ควบคุมการบินประจำเที่ยวบินนั้นโดยทันทีผู้ควบคุมการบินจะทำการติดต่อหอบังคับการ และเจ้าหน้าที่ภาคพื้นเพื่อดำเนินการเตรียมอุปกรณ์เพื่อพร้อมรับผู้โดยสารไปยังโรงพยาบาลทันที ณ เครื่องบินลงจอด ซึ่งสายการบินฯ ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นอันดับหนึ่ง พนักงานทุกภาคส่วนได้รับการฝึกอบรมตามมาตรฐานความปลอดภัยในอากาศยานมาโดยตลอดอย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวมิได้มีการแจ้งไปยังหน่วยงาน ผู้เกี่ยวข้องตามระเบียบปฏิบัติแต่อย่างใด ยังผลให้ท่านผู้โดยสารไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้อง อันเป็นเหตุมาจากการประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาด และการไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่กำหนดของพนักงานต้อนรับท่านดังกล่าว ทั้งนี้สายการบินฯ ได้มีการเรียกประชุมแผนกพนักงานต้อนรับเพื่อให้มีการรับทราบ และเพื่อให้พนักงานทุกคนได้ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับอย่างเคร่งครัดเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวอีกต่อไป....

อ่านเพิ่มเติม >