ฉบับที่ 252 เครื่องดื่มสุขภาพ..มีจริงหรือ

        วันที่ 5 ธันวาคม 2564 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย มีบทความเรื่อง 3 เครื่องดื่มสุขภาพ ถ้าดื่มมากเกินไปหรือดื่มเป็นเวลานาน จะทำให้ภูมิตก เสี่ยงติดโควิด-19 ได้ง่าย จริงหรือ? โดยเนื้อข่าวสรุปแล้วกล่าวประมาณว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ในประเด็นของ 3 เครื่องดื่มสุขภาพนั้น ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับหน่วยราชการหนึ่งพบว่า เป็นข้อมูลจริง โดยหน่วยราชการนั้นอธิบายเหตุผลที่ข้อมูลดังกล่าวน่าเชื่อประมาณว่า “น้ำผักผลไม้สำเร็จรูปส่วนใหญ่เติม น้ำ น้ำตาล สารคงสภาพ ทำให้คุณประโยชน์ที่ได้น้อย แต่อาจได้น้ำตาลฟรุคโตสจำนวนมากแทน ส่วนการดื่มนมวัวโดยเฉพาะนมรสหวานในปริมาณมากอาจทำให้อ้วนได้จริง และเครื่องดื่มชูกำลังจัดเป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ซึ่งน้ำตาลนั้นหากกินมากไปเสี่ยงทำให้ภูมิคุ้มกันลด ควรเลี่ยง”         ผู้เขียนขอละที่จะกล่าวว่า ความเห็นของหน่วยราชการนั้นถูกหรือผิด แต่ขอแสดงความเห็นว่า น่าเสียดายมากที่หน่วยราชการนั้นอาจจำเป็นต้องประหยัดตัวหนังสือในการให้ข้อมูลการประเมินข่าวแก่ผู้บริโภคว่าข้อความนั้น จริงหรือเท็จ จึงไม่ได้อ้างการสนับสนุนข้อมูลนั้นด้วยหลักฐานทางวิชาการว่า มาจากแหล่งใดหรือจากบทความวิชาการที่เป็นงานวิจัยในวารสารใด เพื่อผู้บริโภคจะได้นำหลักกาลามสูตร 10 มาพิจารณา         จริงอยู่ที่ว่าเราควร ละ เลี่ยง เลิก ในการกินหวาน มัน เค็ม เพื่อลดภาวะการทำลายสุขภาพของไต ซึ่งส่งผลถึงความผิดปรกติอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง แต่ในกรณีของน้ำผักผลไม้รวมสำเร็จรูปนั้น สินค้ากลุ่มนี้น่าจะมีทั้งประโยชน์และโทษในตัวเอง เพราะดื่มน้อยอร่อยดีแต่ถ้าดื่มมากและบ่อยเกินไปปัญหาด้านสุขภาพอาจตามมา ดังนั้นสำหรับคนทั่วไปที่ดื่มบ้างเป็นครั้งคราวเพื่อเพิ่มรสชาติของชีวิต จำเป็นด้วยหรือที่ต้องเลิกดื่มผลิตภัณฑ์นี้ ในประเด็นว่าถ้าดื่มมากแล้วภูมิคุ้มกันต่ำจนเสี่ยงโควิด-19 ง่าย ถ้ามีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่า เครื่องดื่มที่มีรสหวานจากน้ำตาลทำอันตรายผู้บริโภคโดยเฉพาะเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันแล้ว ควรมีการเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพิกถอนตำรับสินค้ากลุ่มนี้เสียเลย         ประเด็นที่ควรสนใจคือ ความหมายที่แท้จริงของคำว่า เครื่องดื่มสุขภาพนั้น..มีจริงหรือ เพราะเท่าที่พยายามสืบค้นทางอินเตอร์เน็ทแล้วนั้น ความหมายอย่างเป็นทางการหรือเป็นที่ยอมรับทางวิชาการโดยองค์กรที่น่าเชื่อถือนั้น ดูเหมือนจะไม่มี         โดยปรกติแล้วเครื่องดื่มทุกชนิดที่ขายในท้องตลาดและผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย. มักมีลักษณะตาม “ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 356 พ.ศ.2556 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท” ซึ่งก็ไม่ได้พูดถึง เครื่องดื่มสุขภาพ ส่วนในกรณีที่สินค้าใดจะอ้างว่า องค์ประกอบของสินค้านั้นมีผลต่อสุขภาพ ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามรายละเอียดในเอกสารชื่อ คู่มือสำหรับประชาชน การขอประเมินการกล่าวอ้างทางสุขภาพ (ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพียงเข้าไปใน google แล้วลองค้นหาด้วยคำว่า “health claims on food labels ของ อย.”) ก็มิได้มีคำจำกัดความของคำว่า เครื่องดื่มสุขภาพ         เมื่อค้นหาโดยใช้ google ถึงความหมายของเครื่องดื่มสุขภาพนั้น เว็บไซต์หนึ่งได้ให้ความหมายตามใจเว็บเองว่า “หมายถึงเครื่องดื่มที่มีคุณประโยชน์ที่จับต้องได้และเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ หรือเป็นเครื่องดื่มที่มีการบ่งบอกชัดเจนถึงคุณประโยชน์ เฉพาะเจาะจงเช่น น้ำผลไม้พร้อมดื่มที่มีส่วนผสมของแอล-คารนิทีน ชาเขียวผสมคอลลาเจน นมพร้อมดื่มผสม คอลลาเจน เครื่องดื่มธัญพืชที่ช่วยให้สุขภาพผิวดีขึ้น เครื่องดื่มที่ช่วยลดความอ้วนที่สกัดจากชาหรือสารอาหารจากธรรมชาติ” ซึ่งใครจะเชื่อก็ได้หรือไม่เชื่อก็ได้         มีบทความหนึ่งในอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้เขียนเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยหนึ่ง (ที่ชอบคิดค้นสินค้าที่อ้างว่าเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ) พยายามให้ความหมายประหนึ่งว่า เครื่องดื่มสุขภาพนั้นเป็น functional drink ซึ่งนำไปสู่คำถามต่อไปว่า แล้ว functional drink นั้นคืออะไร และเมื่อค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตต่อก็พบว่า คำ ๆ นี้ยังไม่มีการให้คำจำกัดความทางวิชาการที่แท้จริงเช่นกัน มีแต่ที่จำกัดความกันเองตามใจชอบ เช่นบางเว็บไซต์บอกว่า “คือเครื่องดื่มที่ให้ Benefit กับร่างกายของผู้ดื่มไม่ว่าจะเพื่อช่วยย่อยอาหาร ผิวสวย บำรุงสมอง” ซึ่งเมื่อพิจารณาดีๆ ก็พบว่าเป็นคำจำกัดความที่ค่อนข้างแคบไปหน่อย         ผู้เขียนคิดว่า functional drinks นั้นคงล้อมาจากคำว่า functional foods ซึ่งในความเป็นจริงนั้นถ้าเขียนให้ถูกในความหมายที่มีการอธิบายความเป็นตัวตนของสินค้านี้ ควรใช้คำว่า physiologically functional foods ซึ่งคำๆ นี้น่าจะปรากฏเป็นครั้งแรกในบทความเรื่อง Studies on Functional Foods in Japan: State of the Art ในหนังสือ Food Factors for Cancer Prevention พิมพ์โดย Springer-Verlag Tokyo ในปี 1997 ซึ่งกล่าวถึงโครงการระดับชาติ 3 ปีที่ได้รับการสนับสนุนโดย the Ministry of Education, Science and Culture ของญี่ปุ่นที่มี Dr. Soichi Arai เป็นประธานซึ่งได้เริ่มโครงการชื่อ Analysis and Molecular Design of Physiologically Functional Foods จากบทความนี้ได้สรุปความหมายของ physiologically functional foods ว่าคือ อาหารที่ออกแบบมาให้มีประโยชน์ทางสรีรวิทยาและ/หรือลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังเหนือกว่าอาหารที่มีหน้าที่เกี่ยวกับโภชนาการขั้นพื้นฐาน โดยอาจมีลักษณะภายนอกดูคล้ายกับอาหารทั่วไปและบริโภคโดยเป็นส่วนหนึ่งของการรับประทานอาหารปกติ อย่างไรก็ตาม คำว่า physiologically functional foods นั้นดูยาวเยิ่นเย้อ จึงมีการลดทอนคำไปเป็น functional foods แทน ซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคมวิชาการ         ดังนั้นสินค้าที่อ้างว่าเป็น functional drinks นั้น ควรเป็นเครื่องดื่มที่ดูไม่ต่างจากเครื่องดื่มธรรมดาแต่ถูกปรับให้มีศักยภาพในการส่งผลให้สุขภาพมนุษย์ดีขึ้นกว่าการดื่มเครื่องดื่มธรรมดา เช่นการเติมสารสกัดจากอะไรสักอย่างหนึ่งลงไปในเครื่องดื่ม แล้วทำการศึกษาจนได้เห็นว่า มีประโยชน์จริงในมนุษย์        อาจมีผู้บริโภคสงสัยว่า functional drinks นั้นเป็นอย่างไร ปรากฏว่าเมื่อพิจารณาจากโฆษณาทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตแล้วพบว่า น่าจะมีลักษณะเป็น เครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา (Sport Drink ) ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นเกลือแร่และน้ำตาลเพื่อชดเชยแร่ธาตุและพลังงานที่เสียไประหว่างออกกำลังกาย แต่ประเภทที่ดูว่าขายดีที่สุดคือ เครื่องดื่มให้พลังงาน (Energy Drink) ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ผสมสารให้ความหวานพร้อมกลุ่มวิตามินและกรดอะมิโนในปริมาณหนึ่ง ซึ่งแม้มีประโยชน์บ้างก็ตามแต่จริงแล้วสารเคมีที่ต้องการขายจริงคือ คาเฟอีน ซึ่งช่วยให้คลายความง่วงนอนและมีความตื่นตัว สำหรับเครื่องดื่มเข้มข้น (Enriched Drink) นั้นเป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมองค์ประกอบในอาหารและไม่ใช่อาหาร เช่น คอลลาเจน โคคิวเท็น สารสกัดจากเมล็ดหรือเปลือกหรือรากของพืช  โดยมักอ้างว่ามีสารต่อต้านอนุมูลอิสระหรือช่วยการเผาผลาญไขมัน ฯลฯ ซึ่งสินค้าเหล่านี้บางชนิดเป็นสินค้าเกิดใหม่ บรรพบุรุษเราไม่เคยพบเห็น         สำหรับงานวิจัยที่กล่าวว่า การกินน้ำตาลมากมีผลโดยตรงต่อระบบภูมิคุ้มกันนั้น เท่าที่หาได้จาก PubMed และ ScienceDirect คือ บทความเรื่อง A high-sugar diet affects cellular and humoral immune responses in Drosophila ในวารสาร Experimental Cell Research ของปี 2018 ซึ่งเป็นการเลี้ยงแมลงหวี่ด้วยอาหารที่มีน้ำตาลทรายสูงราว 6.7 เท่าของอาหารปรกติ ทำให้พบข้อบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันเกี่ยวกับความสามารถด้านฟาโกไซโทซิส* (phagocytosis) ของแมลงหวี่ในการจัดการกับสิ่งแปลกปลอมคือ เม็ดยางลาเท็กซ์และสปอร์ของเชื้อราบิวเวอเรีย (Beauveria bassiana เป็นเชื้อราใช้กำจัดแมลง โดยสปอร์งอกและแทงเส้นใยทะลุตัวแมลง ทำให้แมลงมีอาการผิดปกติ อ่อนแอ จนแมลงตายในที่สุด)         อีกทั้งยังพบว่า อาหารที่มีน้ำตาลทรายสูงกระตุ้นการพัฒนาของ lamellocytes (เซลล์ที่มีเฉพาะในตัวอ่อนแมลงที่สามารถต่อสู้เชื้อโรคที่บุกรุก) ในต่อมน้ำเหลืองและระบบเลือดมากเกินไป ซึ่งปรกติไม่เกิดขึ้นในแมลงที่แข็งแรง นั่นแสดงว่าการพัฒนาเพื่อเป็นแมลงตัวโตเต็มวัยนั้นถูกชะลอหรือชะงักด้วยการกินน้ำตาลทรายมากเกิน ซึ่งบทความเรื่องนี้โดยสรุปแล้วให้ข้อมูลว่า อาหารที่มีน้ำตาลสูงนั้นน่าจะส่งผลต่อความผิดปรกติของระบบภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติซึ่งรวมถึงการอักเสบด้วย         *ฟาโกไซโทซิสนั้นเป็นส่วนสำคัญของระบบภูมิคุ้มกัน เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันหลายชนิดทำหน้าที่นี้เช่น นิวโทรฟิล แมคโครฟาจ เซลล์เดนไดรต์ เป็นต้น กระบวนการฟาโกไซโทซิสนั้นเป็นการกลืนเชื้อโรคเข้าในเซลล์แล้วย่อยทำลายทิ้งด้วยเอ็นซัม เซลล์ฟาโกไซต์บางชนิดได้นำโปรตีนที่ย่อยแล้วและมีส่วนที่เป็น epitope ซึ่งแสดงความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (antigenicity) ของเชื้อโรคไปแสดงบนผนังเซลล์ทำให้เม็ดเลือดขาวเข้ามาเรียนรู้เพื่อทำความรู้จักก่อนที่จะถูกกระตุ้นให้สร้างแอนติบอดีหรือเปลี่ยนไปเป็น T-killer cell

อ่านเพิ่มเติม >