ฉบับที่ 274 กรแสต่างแดน

เงินขวัญถุง         คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเมืองเดลลี สั่งปรับห้างจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป lifestyle เป็นเงิน 3,000 รูปี (ประมาณ 1,300 บาท) และขอให้ห้างคืนเงิน 7 รูปีที่เรียกเก็บเป็นค่าถุงกระดาษ ให้กับลูกค้าด้วย         คณะกรรมการได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่ง ว่าด้วยความบกพร่องในการให้บริการของห้าง ซึ่งอ้างว่าถุงกระดาษมีต้นทุนแพงกว่าถุงพลาสติก (ที่รัฐบาลประกาศห้ามใช้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565) จึงขอเรียกเก็บค่าถุงจากลูกค้า         คำถามคือห้างควรผลักภาระค่าใช้จ่ายไปให้ลูกค้าที่จ่ายเงินค่าสินค้าแล้วหรือเปล่า สำคัญกว่านั้นคือลูกค้าได้รับการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่         จากหลักฐานภาพถ่ายที่ยืนยันว่าห้างไม่ได้แจ้งให้ลูกค้านำถุงมาเอง รวมถึงไม่ได้บอกราคาและประเภทของถุงกระดาษ บริษัทจึงไม่สามารถเก็บค่าถุงที่ใช้ใส่สินค้าที่ซื้อจากทางร้านได้ และต้องจ่ายค่า “ทำขวัญ” ลูกค้าเป็นจำนวนดังกล่าว   ชื่อไฮเอนด์         เทศบาลกรุงโซลขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้ลดความยาวและความซับซ้อนของโครงการอพาร์ตเมนท์ หลังผลสำรวจพบว่าชาวเมืองส่วนใหญ่ไม่ถูกใจสิ่งนี้         หลายปีที่ผ่านมาเกิดเทรนด์การตั้งชื่ออพาร์ตเมนท์เป็นภาษาเกาหลีผสมกับภาษาต่างประเทศ ยำรวมกันทั้งชื่อย่าน ชื่อบริษัทที่ก่อสร้างรวมถึงชื่อแบรนด์เพื่อแสดงถึงความ “ไฮเอนด์” ทั้งที่ชื่อเหล่านี้ไม่ได้การันตีคุณภาพของที่อยู่อาศัย         เทศบาลฯ ได้สำรวจความเห็นประชากรกว่า 1,000 คน และพบว่าร้อยละ 77.3 ไม่ชอบชื่อยืดยาวแบบนี้ บางหมู่บ้านถึงกับร้องขอให้เอาชื่อของตัวเองออกจากชื่ออพาร์ตเมนท์ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวกันด้วย         หลังการพูดคุยมีผู้ประกอบการ 9 ราย (Samsung Hyundai และ Posco ก็อยู่ในกลุ่มนี้) ให้คำมั่นว่าจะตั้งชื่อโครงการให้สั้นและง่ายกว่าเดิม รวมถึงใช้คำภาษาเกาหลีให้มากขึ้น         เทศบาลโซลมีกำหนดจะประกาศ “แนวทางการตั้งชื่ออพาร์ตเมนท์” ภายในครึ่งปีแรกของปี 2024  ซ่อมกันก่อน         เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนไม่ทิ้งขว้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสียหายเพียงเล็กน้อย รัฐบาลฝรั่งเศสจึงให้ “โบนัสช่วยซ่อม” แบบเหมาจ่ายมาตั้งแต่ปี 2022  โดยเงินช่วยเหลือดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการลดขยะและสร้างเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนที่ประกาศใช้เมื่อปี 2020         สิ่งที่จะเพิ่มมาในปี 2024 คือค่าซ่อมหน้าจอโทรศัพท์ 25 ยูโร (ประมาณ 950 บาท) และค่าซ่อมโน๊ตบุ๊ค 50 ยูโร         รวมแล้วจึงมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าข่ายได้รับเงินช่วยเหลือ 73 รายการ เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน กาต้มน้ำ เครื่องทำกาแฟ โทรทัศน์และเครื่องเล่นดีวีดี         เงินช่วยเหลือนี้จะปรากฎเป็นส่วนลดในบิลค่าซ่อมโดยอัตโนมัติ ลูกค้าไม่ต้องลงทะเบียน เพียงแต่ต้องไปใช้บริการกับร้านซ่อมที่เข้าร่วมโครงการ         ฝรั่งเศสตั้งเป้าเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ารับการซ่อมจากปีละ 10 ล้านชิ้น เป็น 12 ล้านชิ้นให้ได้ภายในปี 2027   ไม่ใช่ที่สูบ         อุตสาหกรรมท่องเที่ยวญี่ปุ่นออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการห้ามสูบบุหรี่ให้มากขึ้น โดยอาจระบุ “พื้นที่สูบบุหรี่” ผ่านแอปพลิเคชันที่ให้ข้อมูลเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวในภาษาต่างๆ เป็นต้น         ญี่ปุ่นห้ามการสูบบุหรี่ทั้งในอาคารและกลางแจ้ง (ยกเว้นในพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่) มาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2020 ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงการระบาดของโควิด 19 จึงไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากนัก แต่เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว จำนวนชาวต่างชาติที่ถูกปรับเพราะ “เดินไปสูบไป” ก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในบางเมืองเช่น โกเบ มีถึงร้อยละ 40 ของผู้ฝ่าฝืนที่เป็นนักสูบจากต่างแดน         นอกจากกฎหมายที่ใช้ทั่วประเทศแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมบางแห่งมีค่าปรับสำหรับการสูบบุหรี่ในพื้นที่ด้วย เช่น การสูบบุหรี่ในสวนนารา มีค่าปรับ 1,000 เยน (ประมาณ 240 บาท) โดยเจ้าหน้าที่สามารถแสดงตนและปรับผู้ฝ่าฝืนได้ทันที   ลดเวลาหน้าจอ         กระทรวงเด็กและโรงเรียนของเดนมาร์กเล็งออกกฎหมายห้ามศูนย์รับดูแลเด็กเล็กใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์ช่วยเลี้ยงเด็ก         ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ดูแลจะให้เด็กดูหน้าจอแท็บเล็ตหรือโทรทัศน์ไม่ได้ เพียงแต่ต้องจำกัดเวลา เช่น สำหรับเด็กอายุไม่เกินสองปี จะอนุญาตให้ดูหน้าจอมือถือหรือแท็บเล็ตได้ในกรณีที่ “จำเป็นอย่างยิ่ง” เท่านั้น เพราะเด็กเล็กไม่ควรมี “เวลาหน้าจอ” มากเกินไป         ขณะที่เด็กอายุระหว่างสามถึงห้าปีจะอนุญาตให้ใช้หน้าจออย่างเหมาะสม โดยเด็กจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้รับผิดชอบ         สรุปว่าสถานรับเลี้ยงเด็กจะอ้างว่าจำเป็นต้องปล่อยให้เด็กดูจอเพราะ “วันนี้ยุ่งมาก” หรือ “ใกล้เวลาพ่อแม่มารับแล้ว” ไม่ได้ รัฐมนตรีฯ เขามองว่ามันเป็นความบกพร่องในการดูแลเยาวชนของชาติ กระทรวงฯ คาดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะผ่านเป็นกฎหมายได้ในเดือนกรกฎาคมปี 2024   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ซักก่อนใส่

        หลายคนอาจมีความชอบเป็นส่วนตัวในการสวมใส่เสื้อผ้าใหม่เอี่ยมที่มิได้ซักมาก่อน ด้วยรู้สึกว่าการรีดเสื้อหรือกางเกงให้เรียบเหมือนที่วางขายในร้านนั้นทำได้ยาก จึงขอใส่โชว์ให้ดูดีที่สุดสักครั้งหนึ่งก่อนซัก         ใครที่ทำเช่นนี้ย่อมมีโอกาสสัมผัสกับสารเคมีที่ก่ออันตรายเช่นภูมิแพ้ได้ เนื่องจากการใส่เสื้อผ้าที่ยังไม่ได้ซักนั้นระหว่างที่เหงื่อออกมักก่อให้เกิดการเสียดสีระหว่างเนื้อผ้าและผิวกายจนทำให้สีย้อมผ้าส่วนที่อาจหลงเหลือในการผลิตหลุดออกมาสู่ผิวกาย นอกจากนี้แล้วอุปกรณ์ใหม่ในการเล่นกีฬาที่ทำจากผ้าหรือใยสังเคราะห์ที่สัมผัสกับผิวหนัง เช่น ที่รัดเข่า รัดน่อง รัดข้อมือ ฯ ก็เป็นอีกแหล่งของสีย้อมผ้าส่วนเกินที่หลุดออกมาก่อปัญหาภูมิแพ้ได้เช่นกัน         มีงานวิจัยหลายเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า เสื้อผ้าใหม่ที่ยังไม่ได้ซักมีสารเคมีที่เป็นพิษตกค้างอยู่ เช่น บทความเรื่อง Quinolines in clothing textiles—a source of human exposure and wastewater pollution? ในวารสาร Analytical and Bioanalytical Chemistry ของปี 2014 ซึ่งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์มในสวีเดนได้ทดสอบเสื้อผ้า 31 ตัวอย่างที่ซื้อจากร้านค้าปลีกที่มีความหลากหลายทั้งในด้านสี วัสดุ ยี่ห้อ และราคาจากบังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ จอร์เจีย โปรตุเกส จีน บัลแกเรีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย อินเดีย อินโดนีเซีย ตุรกี กัมพูชา สวิตเซอร์แลนด์ อียิปต์ อิตาลี ปากีสถาน โปแลนด์ ซึ่งผลการวิเคราะห์ปรากฏว่า ตรวจพบสารเคมีกลุ่ม “ควิโนลีน (quinoline)” และอนุพันธ์อีก 10 ชนิด ใน 29 ตัวอย่าง โดยระดับของสารเคมีกลุ่มนี้มีแนวโน้มสูงเป็นพิเศษในเสื้อผ้าโพลีเอสเตอร์ สำหรับสารประกอบ Quinoline ต่าง ๆ ที่ถูกใช้ในการผลิตสีย้อมเสื้อผ้านั้น หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา หรือ EPA ได้จัดว่าเป็น " possible human carcinogen" (เป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็งในมนุษย์) เนื่องจากการศึกษาบางเรื่อง เช่น Tumor-Initiating Activity of Quinoline and Methylated Quinolines on The Skin of Sencar Mice ในวารสาร Cancer Letters ของปี 1984 ได้เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสารกลุ่มนี้กับการกระตุ้นเนื้องอกในหนูทดลอง เพียงแต่ว่ายังไม่มีการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง         นอกจากนี้สารเคมีอีกชนิดที่พบได้ในเสื้อผ้าใหม่คือ ไนโตรอะนิลีน (Nitroaniline) ซึ่งใช้ในการสังเคราะห์สีย้อมผ้ากลุ่มเอโซ (Azo dyes) นั้นมีบทความเรื่อง NTP Toxicology and Carcinogenesis Studies of p-Nitroaniline (CAS No. 100-01-6) in B6C3F1 Mice (Gavage Studies) ใน National Toxicology Program technical report series ปี 1993 ที่ระบุหลักฐานการศึกษาในสัตว์ทดลองที่เชื่อมโยงผลเสียเนื่องจากสารเคมีนี้ต่อสุขภาพผู้บริโภคที่อาจเกิดขึ้น (ซึ่งรวมถึงมะเร็ง) ถ้าสารเคมีบางส่วนยังคงติดอยู่ในเส้นใยของเสื้อผ้า                 MDA เป็นสารที่นำมาใช้สำหรับผลิตโพลียูรีเทน ซึ่งมีการนำไปเป็นส่วนผสมในการผลิตเส้นใยสแปนเด็กซ์ (Spandex) ที่ยืดแล้วหดกลับได้เท่ากับขนาดเดิม และสามารถรีดให้เรียบได้ด้วยเตารีดที่อุณหภูมิต่ำ ทนต่อเหงื่อไคลและไขมันจากร่างกายได้ดีกว่ายางธรรมชาติ ใยสแปนเด็กซ์ถูกย้อมสีต่างๆ ได้ ทนต่อการขัดสีและทนต่อปฎิกริยาออกซิเดชั่นดี จึงมีความนิยมนำมาใช้ทำเป็นส่วนหนึ่งของชุดชั้นในสตรี ชุดอาบน้ำ ขอบถุงเท้า ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ต้องการให้มีการยืดกระชับ เช่น ผ้าพันข้อเท้าและหัวเข่า ผ้าพันกล้ามเนื้อ เป็นต้น ดังนั้นสินค้าเหล่านี้จึงอาจมี MDA ตกค้างได้         นอกจากสาร MDA แล้วเครื่องนุ่งห่มต่างๆ มักถูกย้อมด้วยสีกลุ่มเอโซซึ่งหลายชนิดสหภาพยุโรปห้ามใช้หรือจำกัดการหลงเหลือของสี ทั้งที่สีบางชนิดไม่ได้ก่อมะเร็งด้วยตัวมันเอง เพียงแต่ขณะใช้อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารก่อมะเร็งได้ ดังแสดงในบทความเรื่อง Formation of a carcinogenic aromatic amine from an azo dye by human skin bacteria in vitro ในวารสาร Human & Experimental Toxicology ของปี 1999 ซึ่งให้ข้อมูลว่า สีย้อมเอโซบางชนิดถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารประกอบแอโรแมติกอะมีนโดยแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บนผิวหนัง อีกทั้งมีข้อมูลทางพิษวิทยาว่า สารประกอบแอโรแมติกอะมีนหลายชนิดถูกดูดซึมได้ทางผิวหนัง โดยในการศึกษานี้ผู้วิจัยได้นำเอา Direct Blue 14 (สีเอโซชนิดหนึ่งซึ่งมักถูกใช้สำหรับผ้าฝ้าย ป่าน ไหมเทียม และเส้นใยเซลลูโลสอื่นๆ) มาผสมกับเชื้อ Staphylococcus aureus (พบได้ทั่วไปบนผิวหนังมนุษย์) แล้วบ่มในเหงื่อสังเคราะห์ (20 มิลลิลิตร, pH 6.8) ที่ 28 องศาเซลเซียส นาน 24 ชั่วโมง จากนั้นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากปฏิกิริยาถูกสกัดและวิเคราะห์โดยใช้ HPLC ที่มีชุดตรวจวัดเป็น mass spectrometer ทำให้ตรวจพบสาร o-tolidine (3,3'-dimethylbenzidine) ซึ่งเป็นสารพิษในระดับ IARC Group 2B carcinogen (อาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์) และอนุพันธ์ของ Direct Blue 14 อีกสองชนิดซึ่งยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยที่ชัดเจน         บทความที่ศึกษาในประเด็นเดียวกันอีกเรื่องคือ Azo dyes in clothing textiles can be cleaved into a series of mutagenic aromatic amines which are not regulated yet ในวารสาร Regulatory Toxicology and Pharmacology ของปี 2017 ให้ข้อมูลว่า สีย้อมเอโซเป็นสีที่แบคทีเรียที่ผิวหนังหลายชนิดสามารถเปลี่ยนแปลงสีชนิดนี้ไปเป็นแอโรแมติกอะมีน ซึ่งอาจถูกดูดซึมทางผิวหนังในปริมาณที่อาจก่อปัญหา เพราะเป็นที่ทราบกันว่า สีเอโซต่างๆ อาจถูกเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็งชนิดแอโรแมติกอะมีนชนิดใดชนิดหนึ่งใน 22 ชนิดที่ถูกห้ามพบในสิ่งทอที่จำหน่ายในสหภาพยุโรป (ดูรายละเอียดได้จาก เอกสาร COMMISSION REGULATION (EC) No 552/2009 of 22 June 2009) และผลการทดสอบจาก Ames Test (การทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์) ซึ่งใช้ทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ในการศึกษานี้พบว่า แอโรแมติกอะมีน 4 ชนิดเป็นสารก่อกลายพันธุ์ ซึ่งเมื่อนับรวมกับข้อมูลเดิมที่เปิดเผยต่อสาธารณะแล้วว่า มีสีที่ถูกเปลี่ยนเป็นสารก่อกลายพันธุ์ 36 ชนิด จึงทำให้ระบุได้ว่า จากสีเอโซ 180 ชนิด (ซึ่งนับเป็น 38% ของสีย้อมเอโซในฐานข้อมูลสีย้อมผ้า) ถูกเปลี่ยนโดยแบคทีเรียบนผิวหนังไปเป็นแอโรแมติกอะมีนที่ก่อกลายพันธุ์ได้ 40 ชนิด        ผู้บริโภคหลายท่านอาจไม่เคยทราบว่า โดยปรกติแล้วเสื้อผ้าที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมมักใช้สารเคมีหลายชนิดช่วยในการผลิต (ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องเปิดเผยสิ่งเหล่านี้แก่ผู้บริโภค) สารเคมีหลายชนิดนั้นรวมถึงสารเคมีกันน้ำและกันน้ำมัน ที่นิยมกันคือ ฟลูออโรเซอร์แฟกแตนต์ (fluorosurfactant ที่ใช้มากคือ Per- and polyfluoroalkyl substances หรือ PFAS ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับสารเคลือบกระทะชนิดที่ไม่ต้องใช้น้ำมันคือ Polytetrafluoroethylene (PTFE)) ที่มีงานวิจัยเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีเลยที่รายงานถึงความปลอดภัย         การซักเสื้อผ้าก่อนใส่นั้นทำให้โอกาสเสี่ยงอันตรายจากสารเคมีหมดไปหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่เสมอไป” เพราะยังอาจมีสารเคมีอื่นๆ ที่อาจทยอยหลุดออกจากเสื้อผ้าสู่ผิวหนังเมื่อเสื้อผ้ามีอายุและเสื่อมสภาพ หรือกำลังสวมระหว่างการเล่นกีฬาจนเหงื่อซก ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่า ควรเปลี่ยนเสื้อที่สวมใส่เล่นกีฬาจนเปียกเหงื่อระหว่างเล่นกีฬาบ้าง ทั้งนี้เพราะสารเคมีที่หลุดออกมาได้เหล่านี้ยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างดีเกี่ยวกับการดูดซึมของผิวหนังหรือผลกระทบต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ………… การระบุเส้นใยธรรมชาติ 100 %              ผู้บริโภคทั่วไปมักมีความคิดว่า วัสดุสังเคราะห์มักใช้สารเคมีมากกว่าเส้นใยธรรมชาติ ดังนั้นจึงพบได้เสมอว่า มีเสื้อผ้าที่ระบุว่าผลิตจาก 'ผ้าฝ้าย 100%' เพื่อให้ผู้บริโภคดีใจว่าอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาตินั้น มักไม่บอกข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สารเคมีหรือสารเติมแต่งใดที่ถูกนำมาใช้ในการปรับปรุงเส้นใยเพื่อเพิ่มมูลค่า และถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า เสื้อผ้าฝ้ายแบรนด์เนมที่ติดฉลากว่าเป็น ผ้าฝ้าย 100% นั้น บางตัวใส่สบายมากแต่ถ้าพ่อไม่รวยพอคงซื้อใส่ไม่ไหวแน่        นิตยสารฉลาดซื้อฉบับที่ 149 ในปี 2556 เคยรายงานผลการเก็บตัวอย่างกางเกงชั้นในของผู้ชาย (สีดำ) มาตรวจหาสารก่อมะเร็งที่ปนในสีย้อมและฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับย่น) แล้วต่อมาในฉลาดซื้อฉบับที่ 259 ประจำเดือน กันยายน 2565 ฉลาดซื้อได้รายงานผลทดสอบกางเกงชั้นในชายสีดำอีกครั้งเพื่อเป็นการติดตามผลจากครั้งแรกซึ่งพบว่า กางเกงชั้นในสำหรับผู้ชาย 3 ตัวอย่าง ที่ตรวจทั้งหมดนั้นมีสีย้อมที่ให้สารประกอบแอโรแมติกอะมีนเกินกำหนดคือ กางเกงในชื่อดังราคา 1090 บาทต่อ 6 ตัว (พบ 61.40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) กางเกงในราคา 169 บาทต่อ 2 ตัว (พบ 59.89 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) และมีกางเกงในอีกหนึ่งยี่ห้อที่ตรวจพบแม้ไม่เกินมาตรฐานซึ่งขาย 169 บาทต่อ 2 ตัวเช่นกัน (พบ 14.55 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) สำหรับสารเคมีที่ตรวจพบนั้นคือ 4,4'-ไดอะมิโนไดฟีนิลเม็ทเทน (4,4'-Diaminodiphenylmethane) หรืออีกชื่อคือ 4,4'-เมทิลีนไดแอนิลีน (4,4’-Methylenedianiline หรือ MDA) ได้ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในสถานที่ทำงาน โดย US National Institute for Occupational Safety and Healthของสหรัฐอเมริกา สำหรับในประเทศไทยนั้น MDA เป็นสารเคมี 1 ใน 24 ชนิดที่ถูกห้ามพบในสินค้าต่างๆ ตามมาตรฐาน มอก. 2346-2550        เคยมีบทความเรื่อง Detection of azo dyes and aromatic amines in women under garment ในวารสาร Journal of Environmental Science and Health, Part A: Toxic/Hazardous Substances and Environmental Engineering ของปี 2016 ได้รายงานถึงการประเมินตัวอย่างชุดชั้นในสตรีจำนวน 120 คอลเลคชั่นที่ถูกซื้อจากหลายห้างสรรพสินค้าเพื่อนำมาวิเคราะห์ว่า มีการปล่อยสารประกอบแอโรแมติกอะมีนสู่ผิวหนังเพียงใด ผลการวิเคราะห์พบว่า 74 ตัวอย่าง ตรวจพบสารกลุ่มแอโรแมติกอะมีนในระดับต่ำ ในขณะที่ 18 ตัวอย่างพบสารกลุ่มแอโรแมติกอะมีนสูงกว่า 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ppm)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ซื้อเครื่องอบผ้าจากออนไลน์ แต่เสียงดังเกินไป ทำอย่างไรดี

ธุรกิจแพลตฟอร์มซื้อของออนไลน์ ในปัจจุบันนอกจากจะสะดวกสบายในการซื้อแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายคนติดกับดักหลุมพรางจนต้องเสียเงิน ก็คงหนีไม่พ้นการขยันออกโปรโมชันกระตุ้นยอดขายของบริษัทต่างๆ ไม่ว่าจะโปรโมชัน  9.9 , 10.10 , 11.11 ที่ขยันออกมา ล่อตา ล่อใจ ล่อเงินในกระเป๋าสตางค์อยู่เรื่อย ทำให้หลายคนที่มีแอปพลิเคชันธนาคารอยู่ในมือคงสั่นไม่น้อย พร้อมจะเสียเงินไปกับร้านค้าต่างๆ ที่จัดโปรโมชันเอาใจลูกค้าอย่างแรง ไม่ว่าจะเป็นลด แลก แจก แถม ลดแล้วลดอีก ก็แหมใครจะไปทนไหวกับโปรโมชัน ล่อตา ล่อใจ ขนาดนี้ล่ะเนอะ        ในกรณีนี้ คุณภูผาก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ซื้อสินค้าในช่วงโปรโมชันนี้เช่นกัน แถมเขายังอยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “งานบ้านที่รัก”อีกด้วย พอดีช่วงหน้าฝน มีคนในกลุ่มเฟซบุ๊กมาโพสต์รีวิวเครื่องอบผ้ายี่ห้อหนึ่งว่า “ของมันต้องมี มีแล้วชีวิตดีมาก ผ้าแห้งเร็ว ไม่ต้องง้อแดด ผึ่งแปบเดียวแห้ง ยิ่งหน้าฝนด้วยแล้วจำเป็นต้องมีอย่างยิ่ง” เมื่อคุณภูผาเห็นโพสต์รีวิว พร้อมข้อความรีวิวดังกล่าวดูน่าสนใจมากเลยทีเดียว จึงได้ตัดสินใจสั่งซื้อเครื่องอบผ้ายี่ห้อ G จากร้าน Power Buy ทางออนไลน์ ราคาประมาณ 20,000 บาท ชำระเงินผ่านบัตรเครดิตทันที สินค้ามาส่งทันใจไม่รอนาน แต่...         เมื่อใช้งานโดยหวังว่าจะตากผ้าโดยไม่ต้องง้อแดดอย่างคำโฆษณา เพราะช่วงนี้ฝนตกทุกวันหากไม่อบผ้าผ้าก็อาจจะไม่แห้งและเหม็นอับจากการตากในที่ร่ม แต่แล้วก็เกิดปัญหาขึ้นจนได้ ผ้าที่อบได้นั่นโอเคไม่มีปัญหา ที่ไม่โอเคคือ เจ้าเครื่องอบผ้าที่เขาซื้อมาตอนปั่นหมาดนั้นมีเสียงดังมาก ดังราวกับจะพัง แก้อย่างไรก็ไม่หายสักที “จะทำยังไงดีล่ะเนี้ย” ภูผาปวดหัวตึ้บ จึงได้มาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าต้องการขอเงินคืนจากทางบริษัทจะต้องทำอย่างไร ทำได้ไหม แนวทางการแก้ไขปัญหา         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำผู้ร้องเบื้องต้นให้ทำหนังสือไปยังสามบริษัท ได้แก่ บริษัทบัตรเครดิต บริษัท G ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องอบผ้า และบริษัท Power Buy ซึ่งเป็นผู้ขาย โดยเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคร่าวๆ และแจ้งความต้องการว่าต้องการขอเงินคืน พร้อมส่งไปรษณีย์แบบลงทะเบียนตอบรับ และระบุในหนังสือว่าผู้ร้องสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วย         เมื่อผู้ร้องได้ทำตามคำแนะนำของฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ต่อมาผู้ร้องหรือคุณภูผาแจ้งกลับมาว่าได้รับเงินคืนเป็นยอดในบัตรเครดิตเรียบร้อยแล้ว และขอบคุณที่ทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิฯ ได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้บริโภค วิธีการนี้สามารถนำไปใช้ได้ในกรณีใกล้เคียงกันหรือปรึกษามาที่มูลนิธิฯ เมื่อท่านประสบปัญหาถูกละเมิดสิทธิ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 เกร็ดความรู้เรื่องการซักผ้าด้วยเครื่อง ตอนที่ 2

กิจกรรมการซักผ้าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่แต่ละครอบครัวจะต้องทำเป็นกิจวัตร คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ อาจจะมีเวลาไม่มากนัก การซักผ้าอาจจะพึ่งพาแม่บ้านมืออาชีพ (คนรับจ้างทำงานบ้าน) บางท่านอาจยังไม่ได้แต่งงาน ใช้ชีวิตเป็นคนโสด ก็อาจจะใช้บริการ จ้างร้านซักรีด หรือไม่ก็ใช้บริการตู้ซักผ้าหยอดเหรียญ ซึ่งมีแพร่หลายอยู่ทั่วไป บทความในวันนี้จะอธิบายและให้ความรู้เกี่ยวกับการซักผ้าด้วยเครื่องซักผ้าอัตโนมัติผงซักฟอกสำหรับผ้าสี กำจัดคราบสกปรกได้ดีหรือไม่เนื่องจากในผงซักฟอกสำหรับผ้าสีโดยทั่วไป ไม่ได้มีสารเคมีที่สำคัญในการกำจัดคราบคือ สารฟอกขาว (bleaching medium) ซึ่งจำเป็นในการกำจัดคราบที่ฝังแน่นบนเนื้อผ้า แต่ผงซักฟอกปัจจุบันมีส่วนผสมสาร Tenside ซึ่งทำหน้าที่ในการละลายคราบไขมันบนผ้า และสารเอนไซม์ที่ช่วยกำจัดคราบได้ดีขึ้น สำหรับผงซักฟอกสำหรับผ้าขาวนั้นมีสารเคมีที่ช่วยกำจัดคราบสกปรกได้ดีอยู่แล้วใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มดีหรือไม่ผ้าบางชนิดไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม เช่น ผ้าเช็ดมือ การใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มกับผ้าเช็ดมือ ทำให้ผ้าเสื่อมคุณภาพเร็ว และสารเคมีที่ผสมอยู่ในน้ำยาปรับผ้านุ่มอาจทำให้เกิดอาการแพ้ เมื่อสัมผัสกับผิวของคน นอกจากนี้การใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มก็ยังเป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอีกด้วยมีผงซักฟอกที่ถนอมเนื้อผ้าหรือไม่ผ้าที่ซักด้วยผงซักฟอก เมื่อผ่านการซักหลายครั้งย่อมทำให้สีซีดสีจางลงได้ ซึ่งเป็นผลมาจากสารเคมีในผงซักฟอก โดยทั่วไปผงซักผ้าสี ป้องกันสีซีดสีจางได้ดีกว่าผงซักฟอกผ้าขาวที่มีส่วนผสมของ Bleaching medium มีความสามารถในการซักฟอกได้ดี แต่ก็ทำให้ผ้าเสื่อมสภาพได้เร็วเช่นกันกลิ่นไม่พึงประสงค์จากเครื่องซักผ้าเกิดขึ้นได้อย่างไรในกรณีที่การระบายน้ำในเครื่องซักผ้าไม่หมด และปล่อยทิ้งไว้ในเครื่องซักผ้า แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของกลิ่นไม่พึงประสงค์สามารถเจริญเติบโตได้ และกลิ่นไม่พึงประสงค์จากเครื่องซักผ้า ก็อาจติดอยู่กับเสื้อผ้าที่เราซักได้ โดยเฉพาะในกรณีที่เครื่องซักผ้านั้นเป็นเครื่องซักผ้าสาธารณะ การป้องกันคือ การซักเครื่องเปล่า โดยใช้ผงซักฟอก และใช้น้ำซักที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นทำความสะอาดกล่องใส่ผงซักฟอก เมื่อซักเครื่องเปล่าเสร็จแล้ว ก็เปิดฝาทิ้งไว้จนภายในเครื่องแห้งสนิทในการซักผ้านอกจากเราคำนึงความสะอาดของเนื้อผ้าแล้ว ปัจจุบันเราต้องหันมาสนใจในประเด็นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเริ่มตั้งแต่การเลือกใช้เครื่องซักผ้าที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ และช่วยให้เราประหยัดปริมาณผงซักฟอกที่ใช้ด้วย และท้ายสุดคือ ประหยัดเงินของเรา ดังนั้นการเลือกซื้อเครื่องซักผ้า จึงเป็นสิ่งที่เราควรหาข้อมูลทางด้านประสิทธิภาพเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือก(แหล่งข้อมูล: วารสาร Test ฉบับที่ 8/2012)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 เครื่องซักผ้านำเข้า...ซักผ้านวมแล้วเอ๋อ

เมื่อปลายปี 2553 ในงานแสดงสินค้าที่เมืองทองธานี ประสารได้ซื้อเครื่องซักผ้านำเข้าจากนิวซีแลนด์ ยี่ห้อ Fisher & Paykal บริษัท ทิมแลง 2000 จำกัดเป็นตัวแทนจำหน่าย เครื่องซักผ้าที่ซื้อเป็นระบบฝาบน ขนาดความจุประมาณ 10 กิโลกรัม ราคา 25,000 บาท เหตุผลสำคัญที่ซื้อเพราะตัวแทนขายสินค้ายืนยันว่า เครื่องซักผ้ารุ่นนี้สามารถซักผ้านวมขนาด 6 ฟุตได้แน่นอนตอนที่ซื้อเครื่องซักผ้า ประสารเพิ่งปลูกบ้านหลังใหม่ยังสร้างไม่เสร็จ จึงฝากเครื่องไว้กับตัวแทนขายก่อน และได้รับเครื่องซักผ้าจริงๆ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2554พอได้เครื่องซักผ้ามาก็ฉลองใช้งานเลย เสื้อ-กางเกงผ้าชิ้นไม่ใหญ่น้ำหนักไม่มาก ซักได้ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอเอาผ้าห่มนวมขนาด 6 ฟุตมาซักปรากฏว่าเกิดปัญหาทุกครั้ง“เครื่องจะมีอาการหยุดทำงานระหว่างที่การซักยังไม่จบ หน้าจอเครื่องร้องว่าเครื่องขัดข้อง พร้อมกับมีน้ำค้างที่ก้นถังซัก ปั่นออกไม่หมด และไม่สามารถดำเนินการซักต่อได้”วิธีการแก้ไขของประสารคือ ต้องเอาผ้าห่มออกและถอดปลั๊ก ปิดเครื่องแล้วเปิดใหม่ พร้อมกับกดโปรแกรมให้ปั่นน้ำออก เครื่องก็จะกลับมาทำงานได้ใหม่ และซักผ้าอื่นๆ ต่อไปได้ แต่หากเอาผ้าห่มนวม 6 ฟุตกลับมาซักอีกก็จะเกิดปัญหาแบบเดิมซ้ำๆ ทุกครั้ง บางครั้งเกิดหลังซักผ้าห่มนวม 1-2 ผืน บางครั้งซักผ้าห่มนวมผืนแรกก็เกิดปัญหาที่ว่าแล้ว และประสารต้องใช้วิธีแก้ไขแบบเดิมๆ ทุกครั้งเขาตั้งข้อสงสัยว่า เครื่องซักผ้าที่ซื้อมา น่าจะซักผ้าห่มนวมขนาด 6 ฟุตไม่ได้จริงตามที่โฆษณาก่อนที่จะนำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ประสารติดต่อไปที่บริษัทจัดจำหน่ายคือบริษัททิมแสง 2000 ให้มาตรวจสอบแก้ไข บริษัทแสดงความรับผิดชอบด้วยการส่งช่างเข้ามาซ่อมหลายครั้งในช่วงเวลาราว 1 ปี ตั้งแต่ที่รับเครื่องมาเมื่อต้นปี 2554 จนถึงปี 2555 การซ่อมของช่างจากบริษัททุกครั้งก็ทำและได้ผลชั่วคราวเหมือนกับที่ประสารจัดการแก้ปัญหาเอง “คือเครื่องซักผ้ากลับมาใช้งานได้ชั่วคราว ก่อนจะเกิดปัญหาเดิมอีกครั้งเมื่อซักผ้าห่มนวม 6 ฟุตอีก”สำหรับสาเหตุอาการเสียของเครื่องซักผ้าก็มีความแตกต่างกันไปในการซ่อมแต่ละครั้ง เช่น ยกท่อน้ำทิ้งสูงเกินไป เครื่องชื้นจากโดนละอองน้ำฝน หรือเครื่องชื้นจากการอยู่ในห้องปิดระบายน้ำไม่ดี เครื่องวางบนพื้นเอียง อุปกรณ์บางชิ้นเสื่อม ซึ่งเปลี่ยนแล้วก็ไม่หาย“ผมได้ร้องเรียนที่บริษัทหลายครั้งในช่วงปี 2555 เป็นต้นมา ด้วยความเชื่อว่าเครื่องซักผ้ารุ่นนี้อาจไม่สามารถซักผ้านวมขนาด 6 ฟุตได้จริงตามที่โฆษณา สุดท้ายทางผู้จัดการบริษัทแจ้งผมว่า ถ้าเครื่องมีปัญหาอีกให้รีบโทรบอก อย่าเพิ่งถอดปลั๊ก ให้ปล่อยเครื่องร้องข้ามวันข้ามคืนไปก่อนเพื่อให้การบันทึกการเสียโดยอัตโนมัติยังอยู่ที่เครื่องซักผ้า จะรีบนำเครื่องเข้ามาตรวจจับให้เพื่อจะได้ทราบสาเหตุเสียที่แน่นอนและแก้ไขได้ถูกต้อง และจะยอมคืนเงินพร้อมรับเครื่องคืน ถ้ามีหลักฐานชัดเจนแจ้งไปที่บริษัทผู้ผลิตที่นิวซีแลนด์ว่าเครื่องใช้ไม่ได้จริงๆ” ข้อเสนอของผู้จัดการบริษัทนี้มีขึ้นในช่วงปลายปี 2555หลังจากนั้นเครื่องซักผ้ายังคงทำงานตามปกติ คือรับซักเฉพาะเสื้อและกางแกง แต่ไม่รับซักผ้านวมเจอผ้านวม 6 ฟุตลงเครื่องเมื่อไหร่เป็นต้องหยุดปั่นผ้าทุกครั้ง แต่ประสารก็ไม่สามารถเปิดเครื่องให้ร้องข้ามวันข้ามคืนไว้ให้ทางบริษัทเข้ามาตรวจได้ตามที่บอก เพราะกว่าบริษัทจะเข้ามาได้ก็ต้องนัดนานเป็นสัปดาห์ ก็ต้องทนใช้วิธีการแก้ปัญหาชั่วคราวแบบเดิมไปพลางๆ“จนถึงต้นปี 2556 เมื่อเกิดปัญหาแบบเดิมอีก ผมได้แจ้งบริษัทให้ส่งช่างมาดู พร้อมกับบอกว่าจะยอมเปิดเครื่องให้ร้องทิ้งไว้ข้ามสัปดาห์ ทางบริษัทแจ้งว่า ผู้จัดการคนเดิมที่เคยคุยกับผมมาตลอดนั้นตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว ไม่ทราบว่าตกลงยังไงกันไว้บ้าง ให้ปิดเครื่องไปได้เลยแล้วจะส่งช่างเข้ามาดูในสัปดาห์ถัดไป” ประสารเล่าพอถึงวันนัด มีช่างเข้ามาดูแลแจ้งว่าอุปกรณ์บางชิ้นเสื่อมอีก จะเปลี่ยนให้ฟรีแม้จะหมดประกันแล้ว แต่ช่างมาสังเกตพบว่า น้ำไหลเข้าเครื่องไม่สม่ำเสมอ และตรวจพบว่าเกิดจากแผงวงจรเสีย ซึ่งต้องเปลี่ยนแผงวงจรราคา 4,000 บาท เพราะหมดประกันแล้วประสารไม่ตกลงเพราะอะไหล่ที่จะเปลี่ยนไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเครื่องซักผ้าไม่ยอมซักผ้านวม ทางช่างจึงกลับไปโดยไม่คิดค่าตรวจ แต่เครื่องซักผ้าก็ถูกทิ้งในสภาพเดิมที่แจ้งสถานะว่า ใช้งานไม่ได้ต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหาประสารพยายามโทรติดต่อกับผู้จัดการคนใหม่หลายครั้งแต่ติดต่อไม่ได้เลย เลขาหรือเจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่ว่างทุกครั้ง แล้วจะติดต่อกลับมาแต่ไม่เคยติดต่อกลับมาอีก ประสารจึงส่งเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแม้เรื่องนี้จะเกิดมาเนิ่นนานหลายปี แต่ก็เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่บริษัทเองก็ไม่สามารถแก้ไขให้เครื่องสามารถใช้งานได้ตามโฆษณา มูลนิธิฯ จึงติดต่อไปที่บริษัทเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคประสารแจ้งว่า หลังจากที่มูลนิธิฯ ช่วยประสานงานให้ ในที่สุดทางผู้จัดการคนใหม่ได้ยอมพูดคุยด้วย และส่งช่างเข้ามาดู ทางผู้จัดการยังคงยืนยันว่าเครื่องซักผ้ารุ่นนี้ซักผ้านวมขนาด 6 ฟุตได้แน่นอนตามที่โฆษณา แต่คาดว่าประสารอาจจะโชคร้ายได้รับเครื่องการผลิตที่มีปัญหาเอง แต่ยินดีที่จะรับเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้มาใช้ต่อประสารบอก ผมไม่สามารถเชื่อใจทางบริษัทได้อีก จึงยื่นข้อเสนอขอคืนเครื่องและรับเงินคืนหลังจากการเจรจาต่อรองกันอีกราว 2 เดือน ในที่สุดจึงได้ข้อตกลงร่วมกัน โดยทางบริษัทยอมรับคืนเครื่องและคืนเงินให้จำนวน 15,000 บาท เรื่องจึงเป็นอันยุติความจริงแล้ว กระบวนการร้องเรียนเพื่อการเยียวยาความเสียหายไม่จำเป็นต้องปล่อยให้ยืดยาว รอซ่อมแล้วซ่อมอีก หากผู้บริโภคพบว่า สินค้ามีคุณภาพไม่เป็นไปตามที่โฆษณาก็สามารถที่จะแสดงเจตจำนงขอเปลี่ยนสินค้าหรือคืนสินค้าเพื่อขอคืนเงินได้ตั้งแต่การมาตรวจซ่อมครั้งแรกแล้ว หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ยินยอมผู้บริโภคก็สามารถร้องเรียนต่อ สคบ. หรือที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทันที  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 กระแสต่างแดน

Chonky Awards 2012 แม่ช้อยส์เจ้าเก่าเขากลับอีกครั้ง ไม่ได้มารำโชว์แต่มาประกาศผลรางวัลผลิตภัณฑ์/บริการ ยอดแย่ประจำปี 2012 CHOICE เป็นชื่อขององค์กรเพื่อผู้บริโภคและนิตยสารเพื่อผู้บริโภคเช่นเดียวกับ ฉลาดซื้อ (ต่างกันตรงที่เขามีทุนในการทดสอบสินค้าและบริการสูงกว่ามาก เพราะเขาก่อตั้งมากว่า 50 ปี และมีสมาชิกในออสเตรเลียไม่ต่ำกว่า 200,000 คน)     เครื่องนี้ต้องซักฟอก จากการทดสอบเครื่องซักผ้าไปแล้ว 170 เครื่อง ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา CHOICE พบว่ามีเครื่องซักผ้ารุ่นหนึ่งใช้น้ำถึง 224 ลิตร ในการซักผ้า 3.5 กิโลกรัม ด้วยโปรแกรมซักอัตโนมัติ เครื่องรุ่นที่ควรค่าแก่การถูกซักฟอกครั้งนี้ได้แก่ เครื่องซักผ้าซัมซุงฝาบน ขนาด 7 กิโลกรัม รุ่น SW70SP ใช้น้ำ มากแล้วจะซักได้สะอาดขึ้น? ... เครื่องซักผ้าดังกล่าวได้คะแนนการล้างผงซักฟอกออกถึงร้อยละ 99 แต่ได้คะแนนการกำจัดคราบสกปรกไปเพียงร้อยละ  62 ในขณะที่เครื่องที่ได้คะแนนกำจัดคราบสูงสุด ใช้น้ำเพียง 1 ใน 4 ของ ปริมาณนี้  ความจริงเครื่องรุ่นนี้จัดอยู่ในกลุ่มที่ได้ 4 ดาวในเรื่องการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ แต่การคำนวณนี้คิดจากการทดสอบที่ทำโดยห้องปฏิบัติการที่มีนักวิจัยคอยตั้งโปรแกรมการซักให้เหมาะสม  แต่แม่ช้อยส์เชื่อว่า ผู้บริโภคทั่วไปจะเลือกใช้โปรแกรมซักอัตโนมัติมากกว่า   เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจโปรแกรมออโต้ กันน้ำ (ออก) ยอดเยี่ยม อ้างอิงจากข้อมูลบนเว็บไซต์ของเขาเอง ลิควิเพล คือเทคโนโลยีนาโน ที่ใช้เคลือบอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางน้ำ คนออสซี่ส่วนหนึ่งยินดีควักกระเป๋า 99 เหรียญ (ประมาณ 3,000 กว่าบาท) เพื่อสร้างความมั่นใจว่าอุปกรณ์อันเป็นที่รักจะมีอายุการใช้งานนานขึ้น เว็บไซต์ของลิควิเพล สาธิตประสิทธิภาพของลิควิเพลด้วยการทำให้เห็นว่า ไอโฟนที่ผ่านการเคลือบแล้วยังอยู่ดีมีสุขหลังจากลงไปนอนแช่น้ำเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่เขามีคำเตือนว่าไม่ควรทำการทดลองดังกล่าวนี้เองที่บ้าน บังเอิญว่าทีมงานแม่ช้อยส์ไม่เชื่อคำเตือน เลยไปซื้อไอโฟนและไอแพด ส่งไปเคลือบลิควิเพล แล้วนำมาทดลองแช่น้ำดูบ้าง ปรากฏว่าอุปกรณ์เหล่านั้นแทบจะเสียชีวิตในทันที เมื่อทำการทดลองซ้ำอีก (งบเยอะจริง... ชักจะอิจฉาแล้วนะ) ก็พบว่าโทรศัพท์เครื่องที่เคลือบแล้วนั้น มีอาการ “น้ำเข้า” ไม่ต่างอะไรกับเครื่องที่ไม่ได้เคลือบ แถมยังมีรายงานจากหน่วยกู้ภัยว่า ในกลุ่มผู้รอดชีวิตนั้น มีเครื่องที่ไม่ได้ผ่านการเคลือบอยู่ด้วย     ผลิตภัณฑ์ที่ไม่อาจ “เลิกรา” จากการทดสอบผลิตภัณฑ์กำจัดราทั้งหลายในปีนี้ แม่ช้อยส์เขาพบว่าไม่มีผลิตภัณฑ์ใดเลยที่สามารถ “ฆ่า” เชื้อราได้จริงๆ ผู้เชี่ยวชาญสาขาราวิทยาบอกว่า สาเหตุหลักเป็นเพราะผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อรา เหล่านี้ไม่สามารถเจาะผ่านพื้นผิวที่เป็นรูพรุนอย่างปูนยาแนว ลงไปจัดการกับราต่างๆ ซึ่งมั่วสุมกันอยู่ภายใต้มันได้ ที่เราเห็นว่าขาวขึ้นนั้นเป็นเพียงอิทธิฤทธิ์ของสารฟอกขาว ซึ่งถ้าใช้ไปเรื่อยๆ กระเบื้องและปูนยาแนวก็จะสึกมากขึ้น เปิดโอกาสให้ราทั้งหลายขยายขอบเขตการปกครองออกไปได้อีก แม้จะมีราบางตัวที่อยู่ด้านบนถูกกำจัดออกไปได้ แต่ตัวแม่ยังคงฝังแน่นอยู่ในปูนยาแนว และพร้อมที่จะออกมาเฮฮาปาร์ตี้ได้อีก CHOICE เลยบอกว่าขอเถอะ อย่าได้เที่ยวโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์นั้น “สามารถขจัดราฝังลึก” หรือ “ซึมผ่านพื้นผิวเข้าไปกำจัดราที่ต้นตอ” อีกเลย   ธรรมชาติบำบัดไม่ได้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าที่ออสเตรเลียก็มีผลิตภัณฑ์แนว “น้ำป้าเช็ง” ขายเหมือนกัน แม่ช้อยส์ลงความเห็นว่า การขายน้ำ (ที่อ้างว่าสามารถรักษาได้สารพัดโรค) ในราคาลิตรละ 1,000 เหรียญ มันก็แย่พออยู่แล้ว แต่การหลอกลวงพ่อแม่ที่อยากให้ลูกหายป่วยโดยเร็วนี่มันออกจะใจร้ายไปหน่อย ยาสมุนไพร เนเจอร์ส์ เวย์ คิดส์มาร์ท (ซึ่งเคยโดนตักเตือนมาแล้วเรื่องการโฆษณาเกินจริง) อ้างว่าสามารถรักษาอาการไข้ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ แพ้อากาศ น้ำมูกไหล และทำให้เด็กรู้สึกสบายขึ้น ด้วยส่วนผสม “จากธรรมชาติ” หนึ่งในส่วนผสมที่ว่าของ “น้ำรสผลไม้” นี้ประกอบด้วย สตริกนิน 1 ส่วนในล้านส่วน (ถูกต้องแล้ว .. สตริกนิน .. ยาพิษ แบบในหนังที่เคยดูนั่นแหละ) ซึ่งปริมาณดังกล่าวไม่มากพอที่จะเป็นอันตรายต่อเด็ก แต่ ... ความเสี่ยงคือการเสียเวลาไปเปล่าๆ เพื่อรอผลการรักษาโดยไม่ได้หาวิธีการอื่นๆ เพราะอาการหงุดหงิด ร้องไห้โยเย ไม่หลับไม่นอนของเด็กนั้นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคร้ายแรงที่เกินกว่าการรักษาแบบธรรมชาติจะรับมือไหว   ขนมสร้างความแตกแยก ขนมรวยเพื่อนก็รู้จักกันมานานแล้ว เรามาดูขนมที่อาจทำให้เสียเพื่อนกันบ้าง เนื่องจากแม่ช้อยส์แกเป็นคนละเอียดถี่ถ้วน แม้แต่จะซื้อขนมมาแจกเพื่อน แกก็ไม่ลืมเช็คก่อนว่าจะพอรับประทานกันโดยเท่าเทียมหรือเปล่า บ่อยเข้าแกเลยพบว่าขนมหวานรสช็อกโกแลตยี่ห้อทอปเบอโรน มันมีฉลากที่ไม่ชอบมาพากล ฉลากขนมทอปเบอโรน ขนาด 400 กรัม ระบุว่าทานได้ 16 ที่ แต่ว่าที่เขาแบ่งมาเป็นยอดปิระมิดเล็กๆ ในกล่องนั้นมีเพียงแค่ 15 ชิ้นเท่านั้น ขนาด 200 กรัมก็เช่นกัน ฉลากระบุว่า ทานได้ 8 ที่ (แต่มี 15 ชิ้น) ส่วนขนาด 50 กรัมนั้นระบุว่าทานได้ 2 ที่ (มี 11 ชิ้น)  มีเพียงขนาด 100 กรัมเท่านั้น พอจะแบ่งกันได้ไม่เกิดความแตกแยก   อย่ามาตั๋ว ค่าธรรมเนียม ตามประสาคนชอบดูมหรสพ แม่ช้อยส์แกหงุดหงิดกับภาวะไม่มีทางเลือก เพราะบัตรคอนเสิร์ต/การแสดงจากต่างประเทศ ทั้งหมดในประเทศออสเตรเลีย จัดจำหน่ายโดย ทิคเก็ตเทค และทิคเก็ตมาสเตอร์ ซึ่งคิด “ค่าธรรมเนียมพิเศษ” แพงเหลือเกิน คอนเสิร์ตของเอลตัน จอห์น ที่จัดขึ้นซิดนี่ย์ เอนเตอร์เทนเมนท์เซ็นเตอร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ราคาที่นั่งที่ถูกที่สุดคือ 119.90 เหรียญ (ประมาณ 3,800 บาท) ถ้าจ่ายด้วยบัตรเครดิตทิคเก็ตมาสเตอร์คิดค่าธรรมเนียมอีก 2.64 เหรียญ (85 บาท) และ “ค่าดำเนินการ” อีก 9.50 เหรียญ (300 บาท) รวมๆ แล้วก็เกือบๆ 4,200 บาท ด้าน ทิคเก็ตเทค ก็ใช่ย่อย รายนี้มีค่าจัดส่งด้วย คอนเสิร์ตของเจนนิเฟอร์ โลเปซ ที่รอดลาเวอร์ อารีน่า ตั๋วราคาต่ำสุดคือ 101.60 เหรียญ (ประมาน 3,200 บาท) รวมค่าจัดส่งอีก 5.20 ถึง 11.10 เหรียญ (160 -  350 บาท) ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดส่ง บวกค่าธรรมเนียมการจ่ายด้วยบัตรเครดิตอีกร้อยละ 1.75 บริษัทที่คิดค่าธรรมเนียมเป็นธรรมกว่านี้ก็เคยมี แต่ถูกเบียดตกเวทีไปแล้วโดยดูโอยักษ์ใหญ่ทั้งสอง ปีกลายทิคเก็ตเทค โดนปรับ 2,500,000 เหรียญ ข้อหามีพฤติกรรมผูกขาดทางธุรกิจ ซึ่งนับว่าเป็นเงินจิ๊บๆ สำหรับกำไร 50 ล้านเหรียญในปีดังกล่าว   ค่าแท็กซี่ติดเทอร์โบ แม่ช้อยส์คิดไปคิดมาแล้วงงว่า ทำไมการจ่ายค่าแท็กซี่ด้วยบัตรเครดิตเพื่อความสะดวกมันถึงได้แพงเลยเถิดขนาดนี้ ลองนึกภาพ... คุณมาถึงที่หมายและกำลังจะจ่ายเงินค่าแท็กซี่ มองไปเห็นค่าโดยสารขึ้นที่มิเตอร์ 42.10 เหรียญ (ราคานี้รวมค่าโดยสารเริ่มต้น ค่าจอง ค่าทางด่วน/ทางพิเศษ ค่าธรรมเนียมกลางคืนและภาษี) แต่บังเอิญคนขับไม่มีเงินทอนพอสำหรับแบงค์ 50 ของคุณ คุณเลยจ่ายด้วยบัตรเครดิต เลยโดนเรียกเก็บค่า “เซอร์ชาร์จ” อีกร้อยละ 10 (ซึ่งโดยทั่วไปเขาคิดกันไม่เกินร้อยละ 3 เท่านั้น) บริษัทแค็บชาร์จ ซึ่งเป็นผู้ดูแลการจ่ายเงินค่าแท็กซี่ผ่านบัตรเครดิต อธิบายว่านั่นไม่ใช่ “เซอร์ชาร์จ” มันเป็น “ค่าธรรมเนียมการให้บริการทางการเงิน” ต่างหาก นอกจากนี้ยังมีภาษีอีก 1% สำหรับบัตรเครดิตอื่น ที่ไม่ใช่บัตรของแค็บชาร์จเองด้วย     บริษัททัวร์เจ้าเล่ห์ คุณเลือกจ่ายค่าทริปในฝันของคุณผ่านบัตรเครดิต เพราะถ้าบริษัททัวร์ไม่สามารถจัดทัวร์ให้คุณได้หรือมีเหตุให้เลิกกิจการไปกะทันหัน คุณจะได้รับเงินคืน ซึ่งเป็นเงื่อนไขตามบริการ “chargeback” ที่คุณสมัครไว้กับบริษัทบัตรเครดิตในกรณีที่คุณไม่ได้รับสินค้าหรือบริการที่จ่ายผ่านบัตรเครดิต (โดยบริษัทบัตรเครดิตจะเป็นฝ่ายไปเรียกเก็บเงินกับผู้ขายเอง) บริการนี้สำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการซื้อทัวร์ต่างประเทศ เพราะมันไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของ “ประกันภัยการเดินทาง” แต่บริษัทเจ็ทเซท ทราเวลเวิร์ลด กรุ๊ป และบริษัทในเครือ (ซึ่งคุม 1 ใน 3 ของธุรกิจนี้ในออสเตรเลีย) มีข้อความใน “ข้อตกลงและเงื่อนไข” ที่ระบุว่าลูกทัวร์จะยินยอมงดเว้นการใช้สิทธิ “chargeback” กับบริษัท แม้สิ่งที่เจ็ทเซททำจะไม่ผิดกฎหมาย แต่แม่ช้อยส์เขาขอประณามการกระทำดังกล่าว ซึ่งเข้าข่ายเจ้าเล่ห์และไร้จริยธรรมไปหน่อย

อ่านเพิ่มเติม >