ฉบับที่ 235 เสียงสะท้อนจากคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภค 4 คน จาก 4 ภูมิภาค

        “ไหนว่าเลิกใช้พาราควอตแล้ว แต่องค์กรผู้บริโภคยังตรวจพบปนเปื้อนใน ‘น้ำปู’” ,“เผยผลสุ่มตรวจปลาหมึกแห้ง พบแคดเมียมปนเปื้อนเกินเกณฑ์ 7 ตัวอย่าง”, “ฉลาดซื้อเผยปริมาณโลหะหนักและสารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จปลอดภัย แนะผู้บริโภคเลือกยี่ห้อที่ผ่าน อย.”,  และ “เช็กเลย “แกงไตปลาแห้ง” ยี่ห้อไหนมีสารกันบูดเกินเกณฑ์”        พาดหัวข่าวเหล่านี้สะท้อนถึงงานคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ทั่วประเทศ ฉลาดซื้อ จะพาไปพบกับคนทำงานเฝ้าระวังจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในสี่ภูมิภาค พวกเขาทั้งสี่จะมาฉายภาพพลังของผู้บริโภค ความตื่นตัว และผลกระทบในพื้นที่ ตลอดจนความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง           พวงทอง  ว่องไว ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ  หลังจากเรียนจบใน ปี พ.ศ.2539  ก็เริ่มทำงานกับมูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน (North Net Foundation) ที่เชียงใหม่ ประเด็นเรื่อง AIDS ในชุมชน แรงงานข้ามชาติและสิทธิเด็ก ทำอยู่ 2-3 ปี ก็ไปเรียนต่อปริญญาโทและเป็นอาจารย์อยู่ที่ศูนย์ประสานงานวิจัยฯ  ม.ราชภัฏเชียงราย ปี 2547 ลาออกมาช่วยงานที่มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา ช่วงแรกทำเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของ AIDS ในชุมชน จนประมาณปี 58 จึงมาทำเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เกิดผลตอบรับอย่างไรในพื้นที่ หลังการแถลงข่าวผลทดสอบ         มันก็จะมีผลกับการทำงานนิดหน่อย หน่วยงานเขาก็ว่า ทำไมไม่มาคุยกัน จะได้ทำความร่วมมือ ปฏิกิริยามีสองส่วน หน่วยงานในพื้นที่อาจไม่เข้าใจการทำงานของเรา และผู้ประกอบอาจกังวลว่าเก็บไปแล้วจะส่งผลกระทบกับเขาอย่างไร แม้ที่ผ่านมายังไม่เกิดอะไรรุนแรง แต่ในช่วงปีที่สองหลังจากเรามีบทเรียน พอเราประชุมกับ ฉลาดซื้อ เสร็จ ก็วางเป้าหมายว่าเราจะทำความร่วมมือกับ สสจ.ในพื้นที่เลย บอกว่าเราจะเก็บข้อมูลอะไร อย่างไร  จะร่วมมือกันอย่างไร เช่น สสจ.เขาจะให้ข้อมูลว่ามีแหล่งผลิตอะไร ที่ไหน อย่างไร เขาไปทำความร่วมมือกับผู้ประกอบการในการปรับสูตร มีการทำข้อมูลด้วยกัน ปีนี้เราเก็บน้ำพริกหนุ่มรอบสอง ปรากฏว่า สสจ.เขาลงพื้นที่กับผู้ประกอบการ ตอนที่เราประกาศผล ไม่มีผลกระทบใดๆ เลย ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือปรับสูตรได้ก็ปรับเลย และปีนี้ คือครั้งที่ 3 ที่เราทำความร่วมมือกับ สสจ.อย่างชัดเจน โดยเขาทำกับผู้ประกอบการตั้งแต่แรกเลย ปรากฏว่าน้ำพริกหนุ่มของจังหวัดพะเยาที่เคยพบการปนเปื้อน มากๆ กลับลดลงจนแทบจะไม่มี หรือเกินมาตรฐานเล็กน้อย ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสำหรับขบวนการทำงาน         มันเกิดความเข้าใจระหว่างองค์กรที่ทำงานร่วมกัน และระหว่างหน่วยงานราชการกับองค์กร เรามีแผนการทำงานที่ส่งเสริมกันที่ชัดเจน และ มีการวางระบบข้อมูลเพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกัน เช่น เราจะเป็นฝ่ายเฝ้าระวังอย่างไร เขาจะเอาข้อมูลที่เราเฝ้าระวังไปเชื่อมต่อในการทำงานอย่างไร แต่ครั้งที่เราเก็บน้ำปู ต้องบอกว่า สสจ.ไม่ได้อยู่ในแผนเรา เราเก็บแล้วไม่ได้ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการในพื้นที่ เก็บตามเป้าหมายที่เราต้องการคือทำให้เกิดการตระหนักรู้ในภาคประชาชน เรื่องสารพาราควอตในปู พื้นที่ที่เราเก็บตัวอย่างนั้นผลิตน้ำปูค่อนข้างเยอะและเป็นที่นิยม บางเจ้าที่อยู่ในพื้นที่ก็เลยได้รับผลกระทบไปด้วย คนในพื้นที่เขารู้สึกว่าเขาให้ความร่วมมือแล้วได้ประโยชน์อย่างไร        กรณีน้ำพริกหนุ่ม ตอนแรกผู้ประกอบการเขาเจอการปนเปื้อนที่ 3,000 กว่า เขาก็ตกใจ เพราะเขาไปเอาผลิตภัณฑ์จากจังหวัดอื่นมาขายในชื่อเขา เขาไม่เคยสนใจและไม่เคยคิดว่ามันมี สิ่งที่ตามมาคือเขาขอบคุณที่ทำให้เขารู้ เขาจะไม่รับมาขายแล้ว ทำเองดีกว่า หลายผลิตภัณฑ์ที่เราเก็บ เขายอมปรับสูตรกับ สสจ.เลยนะ ปรับสูตรปรับอะไรหลายอย่าง เบื้องต้นคิดว่าเขาพร้อมที่จะปรับ แต่ตอนที่ข่าวออกมาและเราไม่ได้ไปคุยกับเขาก่อน เขาช็อคอยู่เหมือนกัน ถ้าเราไปเก็บข้อมูลแล้วบอกเขาเลยว่าซื้อไปทำไม ผลออกมาแล้วเราจะใช้อย่างไร ทำความเข้าใจกับเขาแต่ต้น อันนี้จะเป็นประโยชน์มากในการขับเคลื่อน ผู้ประกอบการก็คือผู้บริโภคเหมือนกัน เพราะต้องกินของที่อยู่ตามท้องตลาด        มันมีสองทัศนะที่ต้องจูนหากันให้ได้ ผู้บริโภคต้องการสินค้าที่ปลอดภัย ผู้ประกอบการก็ต้องการจำหน่ายให้ได้ยอดเพื่อให้ตัวเองอยู่ได้ ถ้าวันนี้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานและปลอดภัย แม้ราคาจะสูงนิดหน่อย แต่มันสามารถติดตามแหล่งที่มา มีกระบวนการผลิต การควบคุม ในฐานะเครือข่ายผู้บริโภค ก็ต้องทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค มากไปกว่านั้นคือต้องทำให้ผู้บริโภครู้และตระหนักในสิทธิของตัวเอง         พงษภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ เครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก เริ่มทำงานเมื่อปี 2548 ปัจจุบันทำงานตำแหน่งกลไกภาคงานหลักประกันสุขภาพ  หัวหน้าโหนด สสส. จังหวัดกาญจนบุรี และผู้จัดการสมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก เขาบอกว่าเสน่ห์ของงานผู้บริโภคอยู่ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้คนได้ และคนทำงานก็ได้พัฒนาตัวเองตลอดเวลา ถ้าเคสได้รับการแก้ไขจะรู้สึกดีใจมาก บางครั้งรู้สึกเหมือนเป็นปัญหาของตัวเองที่สามารถแก้ไขได้ แต่ถ้าแก้ไม่ได้ก็จะเสียใจ เช่น กรณีเสาส่งสัญญาณที่บ้านห้วยพลู จ.นครปฐม ซึ่งเป็นเคสแรก ทันทีที่เคสแจ้งมาว่าบริษัทเค้าถอนเสา เราก็รู้สึกเหมือนว่าเราทำได้แล้ว หรือกรณีเสาที่โรงเรียนสอนเด็กพิเศษที่บางกะพ้อม สมุทรสงคราม ซึ่งชุมชนยอมให้ติดตั้ง เราก็แอบเสียใจที่เราช่วยเด็กเหล่านั้นไม่ได้ เรื่องการเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคตะวันตก ผู้บริโภคมีความตื่นตัวอย่างไร         ผู้บริโภคในพื้นที่จะระวังมากขึ้น เช่น เขาจะเลือกไปร้านที่ไม่พบสารปนเปื้อน มีการปรับตัวหลังจากได้ข้อมูล ร้านค้าก็ปรับตัว สมมุติว่าเขาเป็นร้านรับซื้อมาขาย เขาก็จะคัดของมากขึ้น สมมุติว่าเราซื้อปลาหมึกแห้งที่เขารับมาจากอีกที่หนึ่ง แล้วปรากฏว่ามีสารปนเปื้อน เขาก็จะไม่รับมาขาย มันก็ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับตัวเองเพื่อให้ขายได้ โดยดูแลเรื่องสารปนเปื้อน เรื่องการผลิตมากขึ้น การทำงานร่วมกันมีความสำคัญกับอาหารปลอดภัยอย่างไร        สิ่งสำคัญของการทำงานแบบทุกฝ่ายร่วมมือกัน คือ หนึ่ง ผู้บริโภคได้ทานอาหารที่ปลอดภัย สอง มันไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง เราโตมากับความคิดว่าทุกอย่างเป็นหน้าที่ของรัฐ รัฐก็จัดการไป แต่จริงๆ แล้วทุกคนมีหน้าที่ร่วมกันเฝ้าระวัง ประชาชนก็มีหน้าที่สอดส่องดูแล แล้วแจ้งเตือน หน่วยงานมีหน้าที่ตรวจสอบ เขาก็ตรวจสอบหลังจากมีคนแจ้ง ถ้าเราไม่เฝ้าไม่ดู เขาไม่รู้ เขาก็ไม่ตรวจสอบ สุดท้ายอาหารพวกนี้มันก็ปนเปื้อนและส่งผลมาที่ตัวเรา ผมว่ามันเป็นภาระของคนใดคนหนึ่งไม่ได้   ภาคประชาชนไม่ได้มาแย่งงานของหน่วยงานรัฐ มันเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกัน ถ้าจับมือทำงานเชิงมิตรกันมากขึ้น ผลประโยชน์สูงสุดมันก็ตกที่ตัวประชาชน ผู้บริโภคมีบทบาทอย่างไรกับการเลือกอาหารปลอดภัยให้กับตัวเอง         สิ่งแรกก็คือต้องรู้ว่าอาหารที่เขากิน มาจากไหน และตรงไหนที่มันปลอดภัย ถ้าดูข้อมูลจาก ฉลาดซื้อ เขาเห็นยี่ห้อ เขาก็เลือกได้ง่ายขึ้น ผู้บริโภคมีอิสระในการเลือกซื้อและมีสิทธิได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค อันนี้ใครก็ไม่สามารถทำให้เขาได้ ผู้บริโภคต้องตัดสินว่ามีข้อมูลแบบนี้แล้วจะเลือกอย่างไรให้ตัวเองปลอดภัย        ศตคุณ คนไว เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน เริ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการเป็นนักศึกษาฝึกงานที่สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น เมื่อปี 2555 เขาได้เรียนรู้งานในช่วงที่การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร ยา เครื่องสำอาง กำลังเป็นที่นิยม  แต่กลับมีผู้บริโภคได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจนเสียชีวิต จึงได้ทำวิจัยเมื่อจบการศึกษาในประเด็นความเข้าใจของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทำให้เห็นว่าผู้ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องการสุขภาพดี  หลังจากเข้ารับการเกณฑ์ทหาร 1 ปี ประมาณปี 2558 จึงได้กลับมาทำงานที่สมาคมผู้บริโภคอีกครั้ง เขาสนใจเรื่องการคุ้มครองสิทธิ ซึ่งผู้คนทั่วไปมักเจอกับการถูกผู้ประกอบการหรือคนอื่น เอารัดเอาเปรียบทางสังคม ทางการค้า หรือแม้แต่ด้านสวัสดิการ การเก็บตัวอย่าง/เฝ้าระวังในพื้นที่มีประโยชน์หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร         ที่ผ่านมามีการเก็บตัวอย่างปลาร้าใน 4 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อุบลราชธานี  ร้อยเอ็ด เก็บตัวอย่างกุนเชียง เก็บตัวอย่างผักในตลาดขายส่งในเมืองขอนแก่น  เฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย โอ้อวดเกินจริง ทางวิทยุ และเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง         ผู้ประกอบการตื่นตัวและปรับปรุงคุณภาพสินค้า ลงโฆษณาที่ถูกกฎหมาย เพิ่มรายละเอียดของสินค้า เช่น วันผลิต วันหมดอายุ เป็นต้น บางรายเปลี่ยนรูปแบบการโฆษณา การขาย หรือรูปแบบผลิตภัณฑ์ ไม่ให้เหมือนกับสินค้าที่ผิดกฎหมาย เพื่อลดต้นทุนการผลิต  ด้านผู้บริโภคก็ตื่นตัว เข้าถึงข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น เช่น มีความรู้เรื่องการเจือปนของโลหะหนักในน้ำปลาร้า            ในส่วนประโยชน์และการเปลี่ยนแปลง จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างอยู่เสมอ เช่น ในการเก็บตัวอย่างเครื่องสำอาง ต้องให้ภาคประชาชนเป็นคนทำ เพราะร้านค้าต่างๆ จะรู้ทันที หากเจ้าหน้าที่ สสจ.ลงพื้นที่ คณะทำงานได้ลงมือปฏิบัติ เครือข่ายภาคประชาชนที่ร่วมกันเก็บข้อมูลก็ได้รับรู้สถานการณ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นการสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนไปพร้อมกัน         หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ได้รับข้อมูลสินค้าและร้านค้าที่ขายของผิดกฎหมาย มีการปนเปื้อนเกินมาตรฐาน การโฆษณาเกินจริง หน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการได้รวดเร็ว เช่น ตักเตือน จับ-ปรับ รวมถึงดำเนินคดี เมื่อหน่วยงานติดตาม ตรวจสอบและพบว่าผลิตภัณฑ์นั้นผิดกฎหมาย แล้วประกาศห้ามขาย ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ภาคอีสานมีแผนเก็บตัวอย่างหรือเฝ้าระวังอะไรต่อ        วางแผนเก็บตัวอย่างเนื้อย่างครับ ทำร่วมกับเครือข่ายในจังหวัด ในส่วนการเฝ้าระวังสถานการณ์ในจังหวัด จะมีกลไกภาคประชาชนและหน่วยงาน ซึ่งจะวางแผนการทำงานร่วมกันในแต่ละปี         จุฑา สังขชาติ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ เริ่มทำงานด้านนี้เลยเพราะสนใจเรื่องสิทธิ รู้สึกว่าเรื่องสิทธิผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก แต่คนไม่ค่อยให้ความสำคัญ แม้จะทำมา 20 ปีแล้ว ยังรู้สึกสนุก เพราะงานผู้บริโภคมีเสน่ห์ตรงที่เป็นเรื่องใกล้ตัว และมีเรื่องใหม่ๆ อยู่ตลอด อาจเป็นปัญหาเดิมแต่มีการยกระดับขึ้นตามสถานการณ์ ทำให้ต้องรู้เท่าทันและเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ได้อะไรจากการทำงานเฝ้าระวังสินค้าและบริการ        อันดับแรกเลย มันจะได้กับคนที่เก็บตัวอย่าง เวลาเราให้อาสาสมัครไปเก็บตัวอย่าง เราก็ได้รู้ว่าอาหารแต่ละอย่างมีปัญหาอะไรได้บ้าง กฎหมายว่าอย่างไร เช่น ตอนเก็บไตปลาเราก็จะรู้ว่าไตปลาเขาใส่สารกันบูดด้วย กฎหมายห้ามใส่เกินเท่านี้ๆ  ทำให้เรามีความรู้มากขึ้น แกนนำเครือข่ายหรืออาสาสมัครที่มาช่วยก็จะมีข้อมูลมากขึ้น ตอนให้เขาเก็บตัวอย่างกาแฟ 3-in-1 เขาก็จะรู้ว่าอันนี้อันตราย ไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ และในพื้นที่เขามีผลิตภัณฑ์ที่น่าจะมีปัญหาเยอะเลย ทำให้ผู้บริโภคระดับแกนนำตื่นตัวมากขึ้น และมีความรู้ไปบอกต่อได้ เวลาผลออกไป เกิดผลกระทบอย่างไรกับคนในพื้นที่         ตอนที่เราตรวจไตปลา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เหมือนกับต้องทำงานเฝ้าระวังให้มากขึ้น หรือเวลาเราเก็บข้อมูลที่อาจไม่เกี่ยวกับเรื่องอาหารโดยตรง เช่นเครื่องสำอาง พอเราเก็บข้อมูลมาจากพื้นที่ว่ามันมีปัญหาน่าสงสัยว่าจะมีการใส่สารที่เป็นอันตราย ก็เอามาพูดคุยให้หน่วยงานเขารู้ ทำให้ สสจ.เขาทำงานเชิงรุก เขาก็ไปดูว่ามันมีการขายพวกนี้ไหม ออนไลน์มีไหม บางอันเขาก็ล่อซื้อ และเขาก็เจอว่าไอ้ที่มันขายอยู่มันอันตราย เขาก็ไปจับ ตอนนี้เป็นข่าวใหญ่เรื่องโรงงานผลิตเครื่องสำอางที่ใส่สารอันตราย อันนี้ก็เริ่มจากการที่เราเก็บข้อมูลมา เราคุยกับเขา ทำให้เขาเห็นว่าผู้บริโภคตื่นตัวค่อนข้างเยอะ มีแผนเฝ้าระวังอย่างไรในพื้นที่         จากที่ได้คุยกัน คิดว่าจะดูพวกของฝากพื้นถิ่น เช่น กะปิ กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ในชุมชนอาศัยความไว้วางใจกัน แต่ตอนหลังเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น เราก็เลยไม่มั่นใจเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย  คุยกันว่าถ้าตรวจเรื่องนี้ก็น่าจะทำให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ผู้บริโภคก็จะมั่นใจมากขึ้น อีกอย่างที่น่าสำรวจคือ กาแฟทรีอินวัน แบบนำเข้า ที่ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่แน่ใจว่าใส่สารอันตรายหรือเปล่า กาแฟในประเทศราคาซองละ 5 - 7 บาท แต่กาแฟนำเข้าพวกนี้ขายซองละ 30 บาท บางทีก็ขาย 2 หรือ 3 ซอง 100 เป็นกาแฟที่กินแล้วคึกคักอะไรแบบนี้ คือมันขายผู้ชาย เวลาลงพื้นที่ก็มีคนเล่าให้ฟังว่าเพื่อนของเขากินแล้วหัวใจวาย

อ่านเพิ่มเติม >