ฉบับที่ 197 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2560“เก้าอี้ไฟฟ้าสถิต” รักษาโรคไม่ได้ใครที่กำลังคิดจะซื้อ “เก้าอี้ไฟฟ้าสถิต” เพราะเชื่อตามโฆษณาว่าสามารถรักษาโรคต่างๆ ได้ ขอให้เปลี่ยนความคิดเดี๋ยวนี้ เพราะล่าสุด อย. ออกมาให้ข้อมูลแล้วว่า อุปกรณ์เก้าอี้ไฟฟ้าสถิตย์ไม่ได้มีไว้เพื่อผลในการรักษาโรคแต่อย่างใด ซึ่งจากการตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีการขออนุญาตผลิตหรือนำเข้าอุปกรณ์บำบัดด้วยเก้าอี้ไฟฟ้าสถิตอุปกรณ์เก้าอี้ไฟฟ้าสถิตจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ต้องขออนุญาต อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ อย. ซึ่ง อย.กำหนดวัตถุประสงค์การใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวไว้ว่าเพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิตเฉพาะที่ชั่วคราว หรือผ่อนคลายกล้ามเนื้อเฉพาะที่ชั่วคราวเท่านั้น ไม่สามารถรักษาหรือบำบัดบรรเทาโรคได้ และต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด แต่ปัจจุบันกลับพบปัญหาการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เรื่องการรักษา บรรเทา และป้องกันโรคต่างๆ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด ส่งผลกระทบที่อาจทำให้ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยต้องสูญเสียโอกาสและเวลาในการรักษาโรคให้หายด้วยวิธีทางการแพทย์ที่ถูกต้อง รวมทั้งต้องเสียเงินในการซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวโดยเปล่าประโยชน์อย.ได้กำหนดโทษการโฆษณาที่เป็นเท็จทำให้ผู้บริโภคเข้าใจของสินค้าในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ คือจำคุกไปเกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ อะลูมิเนียมใส่อาหารได้ไม่ทำให้เป็นอัลไซเมอร์ในสื่อสังคมออนไลน์มีการส่งต่อเรื่องการใช้แผ่นอะลูมิเนียมฟอยล์ห่ออาหารที่มีความร้อน ว่าจะทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยอ้างว่าอะลูมิเนียมเมื่อโดนความร้อนจะละลายปนลงในอาหาร เมื่อบริโภคเข้าไปจะส่งผลต่อระบบสมอง ทำให้ความจำลดลงและเป็นสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ รวมทั้งจะทำลายแคลเซียมในร่างกายมีผลต่อกระดูก ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับผู้บริโภค จนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ต้องออกมาชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องพร้อมด้วยผลการทดสอบ ยืนยันว่าอะลูมิเนียมที่ใช้ในการห่อหุ้มอาหารปลอดภัย และไม่ใช่ต้นเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์แต่อย่างใดสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ทำการตรวจวิเคราะห์การละลายออกมาของอะลูมิเนียมจากภาชนะที่ทำด้วยโลหะอะลูมิเนียม แบ่งเป็นภาชนะหุงต้ม จำนวน 22 ตัวอย่าง และแผ่นเปลวอะลูมิเนียม(ฟอยล์) 6 ตัวอย่าง โดยทำการทดสอบในภาวะที่สุดโต่ง ด้วยสารละลายกรดอะซิติก ที่อุณหภูมิน้ำเดือด 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ผลการทดสอบพบว่า มีอะลูมิเนียมละลายจากภาชนะหุงต้ม ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 11-953 มิลลิกรัม/ลิตร และพบการละลายออกมาจากแผ่นเปลวอะลูมิเนียมทั้งหมด ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 483.6-1,032 มิลลิกรัม/ลิตร ส่วนการทดสอบถาดหลุมที่อุณหภูมิ 22 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง มีการละลายออกมาของอะลูมิเนียมจากถาดหลุมทั้ง 6 ตัวอย่าง ปริมาณที่พบน้อยกว่ามาก ซึ่งพบอยู่ในช่วง 0.5-14.1 มิลลิกรัม/ลิตรนอกจากนี้ยังมีการทดสอบเรื่องการละลายออกมาของอะลูมิเนียมลงสู่อาหาร 4 อย่าง คือ ข้าวสุก ผัดผัก ต้มยำ และยำวุ้นเส้น ที่ใส่ในถาดหลุมไว้เป็นเวลา 30 นาที เพื่อเลียนแบบการรับประทานอาหารโดยใช้ถาดหลุม พบว่า การละลายออกมาของอะลูมิเนียมมีน้อยมากๆ อยู่ในช่วง 0.047 - 0.928 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ที่สำคัญคือ การรับประทานอาหารที่อยู่ในภาชนะหรือห่อหุ้มด้วยอะลูมิเนียมฟอยล์ไม่ได้เป็นต้นเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์แต่อย่างใด ครีมกันแดดในบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อผู้ป่วยเอสแอลอีเพราะผู้ป่วยโรคเอสแอลอี(SLE) มีความจำเป็นต้องใช้ครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ  ซึ่งที่ผ่านมามูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก ได้จัดกิจกรรมระดมทุนเพื่อหาครีมกันแดดให้กับผู้ป่วยเหล่านี้ทุกปี ล่าสุดในงาน “แดดจ๋า อย่ารังแกหนู หนูเป็นโรคเอสแอลอี” จึงได้มีข้อเสนอที่อยากให้มีการเพิ่มครีมกันแดดเข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติในระบบประกันสุขภาพของรัฐ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยเอสแอลอี สามารถเข้าถึงครีมกันแดด ซึ่งถือเป็นเวชภัณฑ์สำหรับคนไข้ในกลุ่มนี้พญ.พรเพ็ญ อัครวัชรางกูร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติซัม โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย ที่ปรึกษาชมรมคนต่อสู้โรคเอสแอลอี กล่าวว่า แดดในเมืองไทยแรงมาก ทำให้มีแนวโน้มที่คนไทยจะเป็นโรคเอสแอลอีอยู่แล้วถูกกระตุ้นให้เป็นเร็วมากขึ้น เวลาที่ผู้ป่วยอาการของโรคกำเริบ อาจจะต้องได้ยาขนานสูง บางคนได้สเตียรอยด์ หรือแรงกว่านั้น ทำให้มีผลกระทบหลายอย่าง เช่น ประจำเดือนไม่มา กระดูกพรุน หรือมีปัญหาเรื่องความสูงและความสมบูรณ์ของร่างกาย ดังนั้นตรงนี้จึงสำคัญมาก หากครีมกันแดดสามารถเบิกได้ในคนไข้ที่จำเป็นจะต้องใช้ เช่น ผู้ป่วยโรคเอสแอลอี จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้โรคเอสแอลอี (SLE) ย่อมาจากชื่อเต็มในภาษาอังกฤษว่า systemiclupus erythematosus เป็นโรคที่มีอาการเกิดขึ้นกับหลายระบบหรือหลายอวัยวะในร่างกาย ทั้ง ปวดบวมตามข้อ อาการต่อระบบไต ระบบเลือด และระบบประสาท เป็นต้น ซึ่งเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงไป มีผลต่อเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ซึ่ง 1 ในปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยอาการกำเริบเกิดจากการที่ผิวหนังถูกแสงอัลตราไวโอเลต คัดค้านขยายสิทธิผู้ประกันตนจาก 55 ปี เป็น 60 ปีจากการที่สำนักงานประกันสังคมมีนโยบายที่จะขยายระยะเวลาการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี โดยให้เหตุผลว่า เพื่อสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับแรงงานที่อยู่ภายใต้สิทธิประกันสังคม ได้รับการดูแลคุ้มครองตามสิทธิต่อเนื่องจนถึงอายุ 60 ปีแต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกคัดค้านจากองค์ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ทั้งเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน และ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) โดยทั้ง 2 องค์กรเห็นตรงกันว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นลดทอนสิทธิมากกว่าสร้างประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน การขยายระยะเวลาในการอยู่ภายใต้สิทธินั้น หากมีการนำมาใช้จริงก็ควรเป็นไปแบบสมัครใจ สำหรับประเด็นที่ว่าสำนักงานประกันสังคมต้องการที่จะสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับแรงงานในส่วนของผู้ประกันตน ด้วยการขยายระยะเวลาการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี เพราะสามารถใช้สิทธิต่างๆ ได้นานขึ้น องค์กรที่ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านมองว่าเป็นคนละประเด็นกัน การยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความมั่นคงให้กับผู้ประกันตนสามารถทำได้ด้วยวิธีอื่นเตรียมทำมาตรฐานน้ำดื่มแห่งชาติกรมอนามัยเตรียมทำร่างมาตรฐานน้ำบริโภค ที่จะเป็น “มาตรฐานกลาง” ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เนื่องจากปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำบริโภคได้อ้างอิงเกณฑ์คุณภาพที่แตกต่างกัน อาทิ การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค อ้างอิงจากเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ใช้เกณฑ์คุณภาพน้ำบาดาลเพื่อการบริโภค และมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการนพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ร่างมาตรฐานน้ำบริโภคประเทศไทย” ว่า ปัจจุบันมีการใช้สารเคมี สารฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ และยากำจัดวัชพืชเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำที่ใช้ในการบริโภค ซึ่งจากการสำรวจและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคในประเทศของสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย โดยใช้เกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ พบว่า ตั้งแต่ปี 2551 - 2559 น้ำบริโภคไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเฉลี่ย ร้อยละ 60 จำนวนนี้แบ่งเป็นมาตรฐานด้านกายภาพร้อยละ 30 เคมี ร้อยละ 15 และชีวภาพ ร้อยละ 70โดยกรมอนามัยจะเป็นแกนหลักในการจัดทำมาตรฐานคุณภาพน้ำบริโภคประเทศไทยร่วมกับภาคีเครือข่าย คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เพื่อช่วยกันยกระดับคุณภาพน้ำบริโภคของประเทศให้เป็นมาตรฐานกลางเพื่อหน่วยงานต่างๆ ได้ใช้เป็นเกณฑ์ในการควบคุมคุณภาพน้ำเพื่อการบริโภค ทั้ง น้ำประปา น้ำประปาภูเขา น้ำบ่อบาดาล น้ำผิวดิน และน้ำฝน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ตั๋วรถไฟมีเลขที่นั่ง แต่ไม่มีเก้าอี้

ใครที่เคยเดินทางโดยสารด้วยรถไฟของบ้านเรา คงเจอปัญหารถไฟมาช้าไม่ตรงเวลากันมาบ้าง แต่จะมีสักกี่คนที่เจอปัญหาซื้อตั๋วที่มีเลขนั่งแล้ว แต่บนรถไฟกลับไม่มีเก้าอี้ให้นั่ง เพราะเก้าอี้เบอร์ดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้วเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณสมชาย เขาซื้อตั๋วรถไฟที่สถานีรังสิต เพื่อที่จะกลับบ้านที่จังหวัดสุรินทร์ โดยได้ซื้อตั๋วนั่งชั้นที่ 2 ในราคา 190 บาท ซึ่งเป็นขบวนรถเร็ว กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี และเมื่อรถไฟมาถึงผู้ร้องจึงขึ้นไปที่โบกี้ชั้น 2 และเดินดูหมายเลขที่นั่งตามตั๋วที่ซื้อมา แต่เขาไม่พบเบอร์เก้าอี้ของตนเอง จึงไปสอบถามกับพนักงานตรวจตั๋ว ซึ่งตอบกลับมาว่า ชั้น 2 มีที่นั่งถึงเบอร์ 20 กว่าเท่านั้น ส่วนเบอร์อื่นได้ถูกยกเลิกไปหมดแล้ว เพราะทางการรถไฟได้ตัดตู้ชั้น 2 ไปหนึ่งตู้ ทำให้เบอร์ที่นั่งของผู้ร้องหายไป แต่สามารถไปร้องเรียนหรือขอคืนเงินค่าตั๋วได้ที่สถานีปลายทาง ส่วนตอนนี้ถ้ามีที่ว่างก็นั่งไปก่อนได้ แต่ถ้าเจ้าของหมายเลขเขาขึ้นมาก็ต้องลุกให้เขานั่งแทน ดังนั้นผู้ร้องจึงไปนั่งเก้าอี้ที่ว่าง ซึ่งภายหลังก็มีเจ้าของหมายเลขขึ้นมา ทำให้ผู้ร้องต้องลุกไปนั่งที่อื่นสลับไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหมาย เมื่อลงจากรถไฟ คุณสมชายจึงไปสอบถามกับพนักงานขายตั๋ว ซึ่งเขาไม่ได้ต้องการเงินคืน เพียงแต่ไม่เข้าใจว่าหากไม่มีเบอร์หมายเลขที่นั่ง แล้วพนักงานจะขายตั๋วเบอร์ดังกล่าวให้ทำไม ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคมาก อย่างไรก็ตามพนักงานขายตั๋วก็ไม่สามารถให้คำตอบใดๆ กับคุณสมชายได้ เขาจึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอให้มีการตรวจสอบการทำงานของการรถไฟ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์สอบถามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับตั๋วโดยสารว่า ผู้ร้องได้ไปคืนตั๋วที่ปลายทางหรือยังและได้รับเงินคืนหรือไม่ เพราะถ้าไม่ได้รับเงินคืนจะได้ทำจดหมายขอเงินคืนในครั้งเดียวกัน ซึ่งผู้ร้องแจ้งว่า ยังไม่ได้ไปขอเงินคืน เนื่องจากจะเก็บไว้เป็นหลักฐาน  จึงขอให้ผู้ร้องส่งรูปถ่ายมาให้กับศูนย์ฯ เพิ่มเติม จากนั้นจึงช่วยผู้ร้องทำหนังสือถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย และสำเนาถึงปลัดกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรยังคงต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป 

อ่านเพิ่มเติม >