ฉบับที่ 269 รวบแก๊งหลอกส่งพัสดุเก็บเงินปลายทาง

        เดี๋ยวนี้หลายคนที่ช้อปออนไลน์มักจะเลือกซื้อจากร้านค้าที่มีบริการเก็บเงินปลายทาง เพราะไม่อยากเสี่ยงโอนเงินไปก่อนแล้วต้องมาลุ้นว่าจะได้ของชัวร์หรือตรงปกไหม แต่รู้หรือไม่ว่านี่กลับเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มิจฉาชีพใช้สวมรอยหลอกให้เหยื่อจ่ายเงินรับพัสดุแบบเนียนๆ ทั้งที่ไม่ได้สั่งซื้อเลย ซึ่งปัจจุบันมีผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความร้องทุกข์แล้วจำนวนมาก         เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตำรวจไซเบอร์แกะรอยสืบสวนจากบริษัทรับส่งพัสดุแห่งหนึ่ง จนจับแก๊งหลอกส่งพัสดุเก็บเงินปลายทางได้ 3 คน ที่โกดังสินค้าและบ้านพักแถวคลองหลวง ปทุมธานี ผู้ต้องหารับสารภาพว่าซื้อกล่องพัสดุที่ติดชื่อผู้รับปลายทางมาชื่อละบาท จำนวน 3,000 รายชื่อ และซื้อกล่องสินค้าแบบแพ็คสำเร็จมากล่องละ 7 บาท แต่จะติดราคาแพงๆ เก็บเงินปลายทาง จากนั้นว่าจ้างให้บริษัทขนส่งเอกชนมารับพัสดุไปส่งให้เหยื่อ โดยจะทำกันเป็นขบวนการตั้งแต่เจ้าของโรงงานผลิตกล่องพัสดุเก็บเงินปลายทางที่ใช้หลอกลวงเหยื่อ ไปจนถึงผู้ลักลอบนำรายชื่อข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหายมาขายให้         มิจฉาชีพพวกนี้ได้ข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อมาจากหลายแหล่ง ได้แก่ เว็บไซต์เปิดรับสมัครงานปลอม ในคอมเมนต์เพจสั่งของ ในหน้าเพจร้านค้าออนไลน์ที่แจ้งการส่งสินค้า หน้ากล่องพัสดุที่ถูกทิ้งโดยไม่แกะหรือขีดฆ่าชื่อ-ที่อยู่ออกก่อน หรือซื้อมาจากบริษัทขนส่งพัสดุและบริษัทสมัครงาน          แก๊งนี้ได้ใจว่าหาเงินได้ง่าย หว่านส่งพัสดุเก็บเงินปลายทางออกไปวันละ 1,000 กล่อง แต่มีผู้รับตีกลับไม่ถึง 100 กล่อง ผู้เสียหายไม่เอาผิดเพราะคิดว่ามูลค่าเงินไม่เยอะ หรือหากเอาผิดก็เป็นเรื่องยากเพราะใช้ชื่อผู้ส่ง ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ปลอมทั้งหมด ดังนั้นใครที่ตกเป็นเหยื่อควรเข้าแจ้งความเอาผิดมิจฉาชีพพวกนี้ อย่าปล่อยให้พวกหลอกลวงลอยนวลได้อีกต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหา ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำวิธีป้องกันและรับมือในกรณีนี้ว่า         1.หากไม่ได้สั่งสินค้า ให้ปฏิเสธการรับพัสดุทันที แต่หากเผลอรับเพราะลืม หรือไม่ได้แจ้งคนที่บ้านเอาไว้ ให้โทรศัพท์ติดต่อไปตามเบอร์ที่อยู่บนกล่องพัสดุนั้น หากติดต่อไม่ได้ให้สันนิษฐานว่าเป็นข้อมูลปลอม          2.ถ่ายรูปกล่องพัสดุ ที่อยู่ที่จัดส่งไว้เป็นหลักฐาน และไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาที่สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือแจ้งความออนไลน์ผ่าน www.thaipoliceonline.com หากจับกุมตัวได้ก็จะส่งฟ้องศาล ซึ่งผู้เสียหายควรไปให้การในชั้นศาล เพื่อเรียกเงินชดใช้ตามจำนวนที่จ่ายไปจริงในการรับพัสดุปลายทางที่ไม่ได้สั่งนั้น           3.ผู้เสียหายที่ถูกมิจฉาชีพนำชื่อไปแปะกล่องส่งพัสดุปลายทาง สามารถฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ "PDPA"  ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 โดนเก็บเงินค่ามอเตอร์ไซต์เกินราคา

การใช้บริการรถรับจ้างไม่ว่าจะรถมอเตอร์ไซต์ รถแท็กซี่ ฯลฯ นอกจากจะต้องระวังเรื่องความปลอดภัยแล้ว ก็คงไม่พ้นที่จะต้องระวังเรื่องการฉวยโอกาสคิดเงินเกินราคาของคนขับที่มีข่าวให้เห็นกันบ่อยๆ  ไม่ว่าจะชอบคิดเหมาๆ ไม่ยอมคืนเงินทอน หรือไม่กดมิเตอร์ เหมือนกับที่คุณน้ำตาล ซึ่งชอบนั่งรถมอเตอร์ไซต์รับจ้าง ได้มาเล่าให้ทางมูลนิธิฯ ฟังเพื่อเป็นประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคคนอื่นๆ เรื่องราวมีอยู่ว่าโดยปกตินั้นเธอมักจะนั่งรถมอเตอร์ไซต์ช่วงเย็นตอนกลับบ้านเนื่องจากมันสะดวกและเร็วดี วันเกิดเหตุเธอต้องแวะไปซื้อของที่ห้างใกล้บ้าน เธอจึงเลือกนั่งรถไฟฟ้าโดยให้เลยไปอีกหนึ่งสถานีซึ่งติดกันกับห้างสรรพสินค้า         เมื่อจัดการธุระซื้อข้าวของที่ห้างฯ อย่างสบายใจ ตอนกลับเธอก็เลือกกลับด้วยมอเตอร์ไซต์เพราะไม่อยากหิ้วของขึ้นรถไฟฟ้าย้อนกลับ จึงลงไปเข้าแถวเพื่อต่อรถวินเตอร์ไซต์กลับบ้าน พอถึงคิวก็บอกพี่วินว่าไป อพาร์ทเม้นท์.....ค่ะ  ครั้นพอมาถึงที่หมายปลายทางก็จ่ายพี่วินไป 30 บาท (เธอนั่งประจำ) แต่พี่วินบอก 35 บาทครับ ก็จ่ายไปโดยไม่คิดอะไร (ปกติ 30 บาท) เพราะตอนนั้นนึกว่าอาจจะขึ้นราคาแล้วก็ได้ก็น้ำมันมันแพง แต่...           “คือก็คิดว่าเรื่องราวจะจบลงไปแค่วันนั้นใช่ไหมคะ แต่ไม่ใช่อย่างนั้นพออีกไม่กี่วันก็ไปขึ้นวินที่เดิมอีกแต่คราวนี้ยื่นแบงค์ 50 ไปพี่วินทอนมา 20 บาท”  อ้าว! ก็ 30 บาท เลยถามพี่คนขับ (คนละคนกับวันก่อน) ว่าวินขึ้นราคาแล้วไม่ใช่เหรอคะ พี่เขาก็ตอบว่าครับขึ้นราคาแล้วครับแล้วพี่วินก็ขี่รถไปอย่างรวดเร็ว แต่ไม่เก็บเงินเธอเพิ่ม แม้จะงงๆ อยู่ แต่คุณน้ำตาลเชื่อว่า วันก่อนหน้านี้น่าจะคิดเกินราคาจริงแน่ๆ เพราะไม่ใช่ว่าเธอไม่เคยโดน สมัยตอนเป็นนักศึกษาเธอเคยโดนวินคิดเงินเกินราคาอยู่ แต่ที่ตอนแรกเธอไม่ได้เอะใจเพราะเธอไม่ได้นั่งนานแล้วจึงคิดอาจขึ้นราคาจริงๆ แต่พอมาเจออีกคันคิดแค่ 30 บาท จึงคิดขึ้นได้ว่าคงโดนซะแล้วววว  แถมตอนนี้จะให้ไปร้องเรียนกับใครก็คงไม่ได้เพราะเธอก็จำวินคันนั้นไม่ได้แล้ว จึงได้แต่มาเล่าให้ทางมูลนิธิฯ ฟังเพื่อเป็นประสบการณ์ให้ระมัดระวังกันด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหา                                   จริงๆ คุณน้ำตาลมาเล่าให้ฟังเพื่อให้ผู้บริโภคที่เจอประสบการณ์ดังกล่าวนั้น ได้ทราบถึงวิธีการร้องเรียนและแก้ไขปัญหาเพราะไม่อยากให้ปล่อยไปเหมือนคุณน้ำตาล เนื่องจากหากไม่ร้องเรียนวินมอเตอร์ไซต์บางที่ก็จะเอาเปรียบเราไปเรื่อยๆ ดังนั้นควรที่จะร้องเรียนเพื่อสิทธิของตนเอง วิธีการร้องเรียน มีดังนี้        1. จำเบอร์วินมอเตอร์ไซต์คันนั้นไว้ให้แม่น หรือ ชื่อ-นามสกุล        2.บันทึกทะเบียนไว้ หรืออาจจะถ่ายเก็บไว้ยิ่งดี        3.ควรจำเหตุการณ์ว่าเป็นวันไหน เวลาอะไร สถานที่เกิดเหตุที่ไหน        4. โทรไปร้องเรียนกับเบอร์ 1584 (กรมขนส่งทางบก) 24 ชั่วโมง และยังมีช่องทางอื่นๆ ได้แก่                4.1 Line ID “@1584dlt”                  4.2 เว็บไซต์ http://ins.dlt.go.th/cmpweb/                4.3 E-Mail : dlt_1584complain@hotmail.com และ                4.4 เฟซบุ๊ก “1584 ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ”                      อย่างไรก็ตาม ก่อนใช้บริการลองสอบถามราคาก่อนหรืออ่านป้ายแสดงราคา เพื่อไม่ให้พลาดพลั้งค่ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 แก็งเก็บเงินพัสดุปลายทางกำลังระบาด ระวังกันด้วย

        ใครไม่เคยชอปปิ้งออนไลน์นี่ต้องเรียกว่า ใจแข็งมาก เพราะทุกวันนี้การขายสินค้าทางออนไลน์ได้เข้ามาเป็นเรื่องธรรมดาๆ ของชีวิตไปแล้ว สังเกตได้จากการเติบโตของธุรกิจการรับขนส่งสินค้า ซึ่งปัจจุบันมีหลายเจ้ามากที่เข้ามาดำเนินธุรกิจ ถ้าใครอยู่บ้านหรือทำงานที่บ้าน ก็คงสังเกตได้ถึงรถมอเตอร์ไซต์ที่วิ่งเข้าออกซอยนั้นซอยนี้ เพื่อส่งสินค้าให้กับผู้บริโภค แน่นอนว่ามันก็เป็นโอกาสด้วยเช่นกันที่มิจฉาชีพจะใช้ช่องทางนี้ทำมาหากินเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งที่กำลังเป็นข่าวคราวอยู่ในเวลานี้คือ การส่งพัสดุเก็บเงินปลายทาง หรือ ที่เรียกว่า COD (Cash on Delivery)         คุณปลาย ซึ่งเป็นข้าราชการเกษียณอายุแต่ยังคงมีบทบาทหน้าที่ในด้านการให้คำปรึกษากับหน่วยงานบางแห่งอยู่ รวมถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เล่าเรื่องที่ตนเองก็พลาดเหมือนกันกับเจ้า COD นี้ ดังนั้นจึงอยากให้ทาง มพบ.นำมาเตือนผู้บริโภค         วันหนึ่งมีพนักงานบริษัทขนส่งแห่งหนึ่งนำพัสดุแบบ COD มาส่ง ซึ่งคุณปลายก็รับไว้เพราะราคาที่แจ้งเก็บเงินนั้นตรงกันพอดีกับสินค้าที่สั่งซื้อไป ยอมรับเลยว่า “ตนเองไม่ได้พิจารณาให้ดีก่อน พอได้สินค้ามาก็สเปรย์แอลกอฮอล์ที่กล่องสินค้าไว้ก่อนวางทิ้งหนึ่งคืน” ต่อเมื่อแกะสินค้าดูจึงพบว่า ไม่ใช่สินค้าที่สั่ง         คุณปลายจึงลองติดต่อกับบริษัทขนส่งเพราะต้องการทราบรายละเอียดว่า ผู้ที่นำสินค้ามาส่งและเก็บเงินตนเองไปนั้นเป็นใคร ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ข้อมูลอะไร ทำให้สงสัยว่าทำไม มิจฉาชีพรายนี้จึงมาส่งถูกและเก็บเงินได้ตรงกับสินค้าที่ตนเองสั่งพอดีขนาดนั้น จึงโทรไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ตำรวจเพราะเกรงว่า ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรของคุณปลายอาจหลุดไปอยู่ในมือมิจฉาชีพ ซึ่งอาจนำไปสู่การส่งสินค้าผิดกฎหมายก็เป็นได้ ซึ่งคุณเจ้าหน้าที่บอกว่า ถ้าแค่ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรไม่น่าจะเป็นอะไร และต่อไปหากมีพัสดุน่าสงสัยมาส่ง หรือเกิดกรณีแบบนี้อีกก็ให้โทรแจ้งทาง สน. ซึ่งจะส่งสายตรวจมาช่วยดูแลให้ นี่ก็ขอบใจทั้งบริษัทขนส่งและทาง สน.ไปแล้ว ส่วนเรื่องเงิน ไม่ได้คิดอะไรมากเพราะราคาไม่สูง แต่ก็อยากฝากเตือนทุกคนไว้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ขออนุญาตนำข้อมูลของ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร) มาแจ้งเตือนผู้บริโภค ดังนี้        วิธีป้องกันไม่ให้สูญเงินกับพัสดุเก็บเงินปลายทางที่คุณไม่ได้สั่ง         ทำไมมิจฉาชีพ ถึงรู้ ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ของเรา ในการส่งพัสดุเก็บเงินปลายทาง        1. ทำเว็บไซต์หลอกขึ้น เช่น เปิดรับสมัครงาน รายได้ดี ใครสนใจกรอกข้อมูลตามลิงก์นี้ โดยให้ใส่ชื่อ-นามสกุล, เลขบัตรประชาชน,ที่อยู่, อายุ, วันเดือนปีเกิด, เบอร์โทร และเลขที่บัญชีธนาคาร เป็นต้น ซึ่งสังเกตได้จากการให้กรอกเลขที่บัญชีธนาคาร ทั้งที่ยังไม่ได้รับเข้าทำงาน ยังไม่ได้จ่ายเงินเดือน        2. เปิดเฟซบุ๊กโพสต์สินค้าประเภทพรีออเดอร์ ของพรีเมียม สินค้าราคาพิเศษ แล้วให้กรอกชื่อ-นามสกุล, ที่อยู่ และ เบอร์โทร. เพื่อใช้สิทธิ์จองสินค้า ซึ่งสังเกตได้จากการออกอุบายจ่ายเงินเมื่อของมาถึง ทำให้เราตายใจว่ายังไม่ต้องเสียเงิน แต่เสียข้อมูลส่วนตัวไปให้แล้ว        3. เป็นไปได้ที่ข้อมูลส่วนตัวของเรา เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ จะรั่วไหลจากบริษัทที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่เกี่ยวกับการค้าขาย หรือบริษัทด้านการขนส่ง ที่อาจจะมีพนักงานของบริษัทเหล่านี้ ลักลอบนำข้อมูลลูกค้าออกไป.วิธีป้องกัน        1. ก่อนจ่ายเงินค่าพัสดุเก็บเงินปลายทาง กรณีรับพัสดุแทน ญาติ เพื่อน หรือ คนรู้จัก ให้โทรสอบถามเจ้าตัวว่า ได้โทรสั่งสินค้าเรียกเก็บเงินปลายทาง จริงหรือไม่ ต้องจ่ายเงินเท่าไร        2. ดูบนกล่องพัสดุ จะมีข้อมูลที่อยู่ เบอร์โทรผู้ส่ง ให้โทรกลับไปตรวจสอบว่า ส่งอะไรมาให้ มีค่าใช้จ่ายเท่าไร ส่วนใหญ่เมื่อโทรกลับจะติดต่อไม่ได้ เพราะเป็นเบอร์โทรปลอม.ที่มา : ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร)         บริการเก็บเงินปลายทาง หรือ Cash on Delivery (COD) คือตัวเลือกการชำระเงินรูปแบบหนึ่ง ที่ลูกค้าจะชำระเงินก็ต่อเมื่อพัสดุที่สั่งไปจัดส่งถึงมือลูกค้าแล้วเท่านั้น และพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ก็จะได้รับเงินค่าสินค้าหลังจากลูกค้าชำระเงินกับบริษัทขนส่งเรียบร้อยแล้ว ซึ่งบริษัทขนส่งแต่ละเจ้าจะคิดค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการเพิ่มเติม

อ่านเพิ่มเติม >

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พัฒนาเครือข่ายผู้บริโภค ‘เก็บตัวอย่าง-เฝ้าระวังอาหาร ยา สินค้าสุขภาพ’ รุกสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเก็บตัวอย่าง-เฝ้าระวังสินค้าและบริการสุขภาพ” เพื่อเสริมความรู้และพัฒนาศักยภาพในการเก็บตัวอย่างสินค้าและบริการประเภทอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพให้กับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อนำไปใช้ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้าถึงระดับท้องถิ่นอย่างมีมาตรฐานถูกต้องและมีประสิทธิภาพวันนี้ (10 ต.ค.60) เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ - มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดกิจกรรมฝึกอบรมปฏิบัติการ การเก็บตัวอย่างและเฝ้าระวังสินค้าและบริการสุขภาพ ภายใต้ โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมความรู้ให้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชน สามารถลงพื้นที่สุ่มเก็บตัวอย่าง ทำการบรรจุ-จัดส่งผลิตภัณฑ์เพื่อส่งตรวจ และเฝ้าระวังสินค้าหรือบริการด้านสุขภาพในท้องถิ่นได้ถูกต้องมีประสิทธิภาพ โดยการบรรยายความรู้การเก็บตัวอย่างเพื่อการทดสอบอาหาร ยาและเครื่องสำอาง จาก ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร อดีตอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และคณะ และกิจกรรมฝึกปฏิบัติการเก็บตัวอย่างสินค้านายสมนึก งามละมัย ผู้ประสานงานโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ กล่าวว่า “การมีส่วนร่วมในการทดสอบสินค้าหรือบริการของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนจากทั่วประเทศ มีผลดีต่อการสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่กว้าง และครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น ทำให้ผลการทดสอบโดยรวม มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น” “ผู้เข้าอบรมเองจะได้รับความรู้พื้นฐานในการเลือกซื้อสินค้า ดูข้อมูลบนฉลาก ทำให้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคมีความเชี่ยวชาญในการสุ่มเก็บตัวอย่าง โดยเฉพาะสินค้าในตลาดชุมชนที่ดูมีความสุ่มเสี่ยงน่าสงสัยว่าอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไปยังห้องแล็บเพื่อตรวจสอบ และนำผลการทดสอบที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค” นายสมนึกกล่าว นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ความรู้และเทคนิคการสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าประเภทอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำอย่างถูกต้องและรวดเร็ว เช่น การคำนวณปริมาณที่ต้องสุ่มเก็บ เลขล็อตการผลิตที่ต้องเป็นชุดเดียวกัน การถ่ายภาพตัวอย่าง การบันทึกข้อมูลฉลากของตัวอย่างอาหารติดบนตัวอย่าง เหล่านี้ต้องทำอย่างระมัดระวังและเข้มงวด เพราะการเก็บตัวอย่างที่ถูกต้องจะสามารถนำส่งตรวจวิเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะสินค้าประเภทอาหารหากเก็บผิดพลาด อาจไม่สามารถส่งตรวจได้ เป็นการเสียเวลาและงบประมาณ”นางสาวบารีย๊ะ ยาดำ ผู้ประสานงานสมาคมผู้บริโภคจังหวัดสงขลา กล่าวว่า “อำเภอหาดใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีสินค้าหลากหลาย มีแหล่งตลาดสดจำนวนมาก สินค้านำเข้าส่วนใหญ่มาจากจีนและมาเลเซียซึ่งไม่มีฉลากภาษาไทย เช่น อาหารแห้งและเครื่องสำอางที่มีความสุ่มเสี่ยง วันนี้ได้เรียนรู้การอ่านและดูฉลากและเลือกเก็บตัวอย่างประเภทอาหารสด อาหารแห้ง สุ่มเก็บอย่างไรให้ครอบคลุม โดยเรามีเครือข่ายอาสาทำงานในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่รู้เทคนิคการเก็บตัวอย่าง จะนำความรู้ในวันนี้ไปถ่ายทอดให้กับคนทำงานพื้นที่ต่อไป” นางสาวพวงทอง ว่องไว กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคภาคเหนือและผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา กล่าวว่า “ปัญหาการเฝ้าระวังสินค้าและบริการสุขภาพในภาคเหนือ ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าจากประเทศจีน เช่น ขนม อาหารแห้ง ยา และเครื่องสำอาง ซึ่งไม่มีฉลากภาษาไทย มีการตรวจพบสเตียรอยด์ในยาสมุนไพรจีน จากรถขายเร่ที่มาจำหน่ายตามชุมชน ซึ่งเป็นยาที่ไม่ได้จดแจ้ง มาอบรมวันนี้ได้เทคนิคการอ่านฉลาก วิธีการเลือกเก็บตัวอย่างสินค้า การคำนวณปริมาณสินค้าที่ต้องส่งต่อ การบันทึกข้อมูลเอกสารที่นำส่งเพื่อตรวจสอบสินค้า ซึ่งทั้งหมดจะได้นำไปใช้ทำงานในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”ทั้งนี้ ภายหลังการฝึกอบรมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนจะลงพื้นที่เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในชุมชนส่งศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการมาตรฐานต่อไป ซึ่งจะส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนครอบคลุมพื้นที่ระดับประเทศมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 แอร์เอเซีย เรียกเก็บค่าธรรมเนียมยกเลิกเที่ยวบิน

คุณยิ่งปลิวและลูกชายจองตั๋วสายการบินแอร์เอเซีย ไป-กลับ กรุงเทพมหานคร-นครศรีธรรมราช แต่มีเหตุไม่ได้ไปเพราะคุณแม่ของคุณยิ่งปลิวป่วยเข้าโรงพยาบาลกะทันหันคุณยิ่งปลิวจ่ายเงินค่าตั๋วเครื่องบินเป็นเงินทั้งสิ้น 5,568.96 บาท  แบ่งเป็นค่าตั๋วและภาษี 4,683 บาท ค่าประกันภัยและดำเนินการ 885.96 บาท โดยมีเงื่อนไขความคุ้มครองของประกันภัยว่า หากผู้เอาประกันภัยจำเป็นต้องยกเลิกการเดินทางอันมีสาเหตุจากการเสียชีวิตหรือการบาดเจ็บสาหัส หรือการเจ็บป่วยของผู้เอาประกันภัย คู่สมรส บิดามารดาของผู้เอาประกันภัย บิดามารดาของคู่สมรส ปู่ ย่า ตา ยาย บุตร พี่ น้อง ของผู้เอาประกันภัย ทำให้ไม่สามารถเดินทางตามกำหนดได้ จะให้ความคุ้มครองการบอกเลิกการเดินทางด้วยการคืนเงินชดเชยสูงสุดไม่เกินราคาค่าโดยสาร (ค่าตั๋ว + ภาษี + น้ำมัน)“แม่ผมป่วยอยู่โรงพยาบาล อยู่ในเงื่อนไขการคืนเงิน และทางแอร์เอเซียก็ไม่ขัดข้องใดๆ เพราะไม่ได้คืนเงินให้จริง แต่ให้เป็นเครดิตไว้สำหรับการเดินทางครั้งต่อไปภายใน 90 วัน แต่เมื่อคำนวณการคืนเงินให้ผู้โดยสาร ผมคิดว่าเอาเปรียบผู้โดยสารอยู่ดี” แนวทางแก้ไขปัญหา แอร์เอเซียเอาเปรียบหรือไม่ ลองมาพิจารณาโครงสร้างการหักเงินก่อนคืนเงินค่าโดยสารครั้งนี้ดู แอร์เอเซียหักค่าธรรมเนียมยกเลิกเที่ยวบิน (749 บาท/คน/เที่ยว) เป็นเงิน 2,996 บาท หักค่าประกันและดำเนินการ 885.96 บาท รวมเงินที่หัก 3,881.96 บาท จากเงินที่จ่ายไป 5,568.96 บาท  คงเหลือเงินที่คืนให้แก่ผู้โดยสารเพียง 1,687 บาท“ผมทำประกันการยกเลิกเที่ยวบิน แต่ยังมาหักค่าธรรมเนียมยกเลิกเที่ยวบินอีก ถ้าเป็นอย่างนี้จะทำประกันไปทำไม” คุณยิ่งปลิวถามด้วยความเคืองใจเมื่อไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดการคืนเงิน คุณยิ่งปลิวจึงส่งเสียงทักท้วงไปที่แอร์เอเซีย ผลปรากฏว่า แอร์เอเซียได้ดำเนินการชดเชยให้แก่ผู้ร้องโดยการส่งตั๋วบินไปกลับฟรีมาให้ แถมยังคืนเงินที่หักค่าธรรมเนียมการยกเลิกเที่ยวบินมาให้อีกด้วย ทำให้คุณยิ่งปลิวรู้สึกพอใจกับการชดเชยของแอร์เอเซียเป็นอย่างมากใครที่เจอปัญหาทำนองนี้ อย่าลืมรักษาสิทธิกันนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 “อภิสิทธิ์” โดนเก็บค่าตัดไฟ 107 บาท

หากมีคนถามว่า เวลาจ่ายค่าไฟคุณจ่ายค่าไฟวันไหน  หลายคนมักจะตอบโดยไม่ต้องคิด ป้าดโธ่ เงินเดือนมาก็ไปจ่ายเมื่อนั้นล่ะ ไม่เห็นจะต้องคิดให้มากเลย พอคิดแบบนี้ ทำให้ผู้ใช้ไฟส่วนใหญ่ มักจะโผล่ไปจ่ายค่าไฟตอนต้นเดือนกันเป็นแถวแต่กับคุณอภิสิทธิ์ คนเชียงใหม่ ที่ไม่ใช่ “อภิสิทธิ์” คนที่อยู่กรุงเทพฯ ต้องบอกว่าก็เพราะไปจ่ายค่าไฟตอนต้นเดือนนี่แหละ ที่ทำให้ต้องถูกการไฟฟ้าตัดไฟและเรียกเก็บค่าตัดไฟ 107 บาทมาแล้ว ทั้ง ๆ ที่ไม่มีการแจ้งเตือน “ผมเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ อ.แม่แตงครับ”คุณอภิสิทธิ์บอกว่าครอบครัวเป็นบ้านใหญ่ ทำให้ใช้มิเตอร์รวม 3 หม้อ ตอนเย็นอากาศดี ๆ ของวันเสาร์ที่ 30 มกราคม 2552 ระหว่างที่กำลังนำขยะไปทิ้งที่ถังขยะหน้าบ้าน สายตาพลันเหลือบไปเห็นใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้า 2 ใบนอนแอ้งแม้งอยู่บนพื้นหน้าบ้าน หยิบขึ้นมาดูจึงรู้ว่าเป็นของบ้านตัวเอง เลยมองหาอีกใบเผื่อว่าจะตกหล่นเหมือนกันแต่หาเท่าไหร่ก็หาไม่พบวันรุ่งขึ้นแม้จะเป็นวันอาทิตย์ แต่เพราะเห็นจากบิลค่าไฟ 2 ใบว่าจะครบกำหนดชำระในวันนี้แล้ว คุณอภิสิทธิ์จึงต้องเดินทางไปชำระค่าไฟฟ้าที่มีบิลก่อน 2 หม้อที่ห้างสรรพสินค้าในตัวเมือง ส่วนค่าไฟฟ้าของหม้อที่ 3 คุณอภิสิทธิ์เคยทราบว่าก่อนจะตัดไฟการไฟฟ้าจะมีใบแจ้งเตือนมาก่อนเพื่อให้รีบไปจ่ายค่าไฟที่ค้างอยู่ภายใน 3 วันทำการ เมื่อหาบิลไม่เจอ ก็คิดว่ายังพอมีเวลาจะหาโอกาสไปจ่ายในวันธรรมดาที่สำนักงานของการไฟฟ้าต่อไป“วันจันทร์ผมติดธุระที่ต้องไปรับ-ส่งญาติที่มาจากต่างจังหวัด กะว่าจะไปชำระเงินหม้อที่ไม่ได้รับใบแจ้งหนี้ในวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์” คุณอภิสิทธิ์เล่าถึงแผนที่ได้เตรียมไว้ แผนการของคุณอภิสิทธิ์เกือบสมบูรณ์แบบ ถ้าหากว่าเช้าวันที่ 3 กุมภาพันธ์ตอนเก้าโมงครึ่งจะไม่มีเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าโผล่มาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยและทำการปลดสายมิเตอร์ออก พร้อมกับยื่นใบเหลืองเหมือนกรรมการฟุตบอลยื่นให้ตอนนักฟุตบอลทำฟาวล์แล้วบอกกับคุณอภิสิทธิ์ด้วยหน้าตาขึงขังว่า ไปจ่ายค่าไฟซะพร้อมเสียค่าต่อมิเตอร์ด้วย 107 บาท ไม่งั้นจะไม่จ่ายกระแสไฟให้   คุณอภิสิทธิ์ที่เป็นคนไม่มีอภิสิทธิ์จึงต้องจ่ายค่าต่อไฟ 100 บาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม  7 บาทไปด้วยความชอกช้ำใจ แนวทางแก้ไขปัญหา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 1 (ภาคเหนือ) เชียงใหม่ มีคำชี้แจงในกรณีนี้ว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีระเบียบว่าด้วยการเงินกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการชำระค่ากระแสไฟฟ้าและการงดจ่ายกระแสไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย โดยจะมีระยะเวลาเวลาชำระเงินค่าไฟฟ้า ภายใน 7 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับใบแจ้งค่าไฟฟ้า และอ้างว่าจะมีช่วงเวลาการแจ้งเตือนตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเสนอได้กำหนดอีก  3 วันก่อนการงดจ่ายไฟฟ้า รวมเป็น 10 วัน โดยระเบียบที่ว่านี้มุ่งหมายให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถนำใบแจ้งค่าไฟฟ้าไปชำระเงินที่สำนักงานการไฟฟ้าฯ หรือตัวแทนจุดรับบริการรับชำระเงินได้ภายใน 10 วันนี้ แต่เมื่อครบกำหนดชำระเงิน 10 วันข้างต้นแล้วผุ้ใช้ไฟฟ้ายังไม่ชำระเงิน พนักงานจะเสนอผู้จัดการไฟฟ้าฯ เพื่อขออนุมัติงดจ่ายไฟฟ้า อย่างช้าไม่เกินวันทำการถัดไปเหตุผลที่มีการตัดไฟและเรียกเก็บเงินกับคุณอภิสิทธิ์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเชียงใหม่ แจ้งว่า คุณอภิสิทธิ์ได้รับใบแจ้งหนี้เมื่อ 21 มกราคม 2552 ซึ่งครบกำหนดชำระค่าไฟฟ้าวันที่ 31 มกราคม 2552 ซึ่งการไฟฟ้าฯ ตีความว่าครบ 10 วันแล้ว ดังนั้นเมื่อผู้ใช้ไฟไม่ไปชำระค่าไฟภายในกำหนด จึงได้มีการอนุมัติให้งดจ่ายไฟฟ้าในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 และผู้รับจ้างงดจ่ายไฟฟ้าได้ไปปลดสายมิเตอร์ในวันเดียวกันเวลาประมาณ 09.30 น. หลังจากนั้นคุณอภิสิทธิ์จึงได้ไปชำระค่าไฟพร้อมค่าธรรมเนียมต่อกลับในวันเดียวกัน ในเวลาประมาณ 10.25 น.จึงได้แจ้งให้ผู้รับจ้างไปทำการต่อไฟตามปกติในวันนั้นประเด็นนี้ เราเห็นว่าแนวปฏิบัติการตัดไฟและเรียกเก็บค่าต่อไฟของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซึ่งมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถือเป็นแนวปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค การไฟฟ้าฯ อ้างว่าในระเบียบได้มีช่วงเวลาการแจ้งเตือนเพิ่มขึ้นอีก 3 วันก่อนที่จะดำเนินการตัดไฟหากไม่มีการชำระค่าไฟหลังการแจ้งเตือน แล้วการไฟฟ้าฯ ได้ถือวิสาสะนำระยะเวลาของการแจ้งเตือน 3 วันนี้ไปรวมกับระยะเวลากำหนดการจ่ายค่าไฟ 7 วัน แล้วนับต่อเนื่องไปในคราวเดียวกันเป็น 10 วันรวด โดยที่ไม่เคยมีการส่งเอกสารการแจ้งเตือนจริงๆ ไปให้กับผู้บริโภคเลยซึ่งต่างจากแนวปฏิบัติของการไฟฟ้านครหลวงที่ปฏิบัติอยู่ และจากการสอบถามผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้ร้องเรียนเข้ามาพบว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในหลายๆ แห่ง ไม่เคยมีการส่งใบแจ้งเตือนมาแต่อย่างใด มีแต่เพียงใบแจ้งหนี้ใบเดียวเท่านั้นดังนั้น เมื่อไม่มีการแจ้งเตือนมาเป็นหนังสือ การไฟฟ้าฯ จึงยังไม่มีสิทธิ์ที่จะมาตัดไฟกับผู้บริโภคและเรียกเก็บเงินค่าต่อไฟกับผู้บริโภคได้ ซึ่งหากมีการเก็บค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปแล้วถือเป็นการเรียกเก็บเงินที่ผิดระเบียบของการไฟฟ้าเอง ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ ทั้งโดยการเรียกร้องโดยตรงกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือฟ้องร้องเป็นคดีผู้บริโภคก็ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 167 กระแสต่างแดน

ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) ได้สำรวจความพร้อมทางการเงินสำหรับชีวิตวัยเกษียณ ของผู้คนในวัย 25 ปีขึ้นไป และผู้คนในวัยเกษียณ จาก 15 ประเทศ* ทั่วโลกในระหว่างเดือนสิงหาคมและกันยายนปี 2557 และพบสิ่งที่น่าสนใจดังนี้ ... เมื่อแยกดูรายประเทศจะเห็นว่า คนฝรั่งเศสในวัยทำงานที่ไม่มั่นใจว่าจะมีชีวิตสุขสบายหลังเกษียณ มีถึงร้อยละ 60  รองลงมาได้แก่ คนไต้หวัน (ร้อยละ 56) และคนตุรกี (ร้อยละ 54) ส่วนในอินเดียและอินโดนีเซียนั้นมีผู้ตอบแบบสำรวจไม่ถึงร้อยละ 10 ที่รู้สึกไม่มั่นใจว่าตนเองจะสามารถเกษียณอย่างเป็นสุข ถ้าแยกกันระหว่างหญิงชายจะพบว่า ร้อยละ 38 ของผู้หญิงไม่มั่นใจว่าจะได้ใช้ช่วงเวลาเกษียณโดยไม่ลำบากทางการเงิน ในขณะที่ฝ่ายชายนั้นอยู่ที่ร้อยละ 31 ในภาพรวม ประมาณร้อยละ 70 ของคนวัยทำงาน มีความกังวลว่าจะมีเงินไม่พอใช้ในวัยเกษียณ ร้อยละ 66 กลัวว่าจะมีเงินไม่พอกับค่าใช้จ่ายรายวันในอนาคต อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 85 ของคนกลุ่มดังกล่าว ไม่ได้จัดให้การเก็บเงินเพื่อใช้ยามเกษียนเป็นเป้าหมายหลักของการออมเงินในปัจจุบัน อุปสรรคสำคัญที่ทำคนวัยทำงานรู้สึกว่าพวกเขายังไม่สามารถเก็บเงินไว้ใช้ยามชราได้ คือภาระผ่อนบ้าน ค่าเล่าเรียนลูก และหนี้อื่นๆ  แนวโน้มดังกล่าวชัดเจนมากในประเทศสหรัฐอเมริกา มาเลเซีย เม็กซิโก และแคนาดา เกือบร้อยละ 30 ของคนในวัยเกษียณที่รู้สึกไม่มีความพร้อมทางการเงินสำหรับชีวิตปัจจุบัน บอกว่า ก่อนหน้านี้พวกเขาไม่ทราบว่าตนเองควรมีเงินเก็บเท่าไร ร้อยละ 37 ของผู้ตอบแบบสำรวจในวัยก่อนเกษียณบอกว่าพวกเขายังเตรียมตัวไม่พร้อมทางการเงินสำหรับการเกษียณอย่างสุขสบาย  โดยประเทศที่คนวัยก่อนเกษียณรู้สึกไม่พร้อมมากที่สุดในการสำรวจนี้ได้แก่ ไต้หวัน และตุรกี สำหรับกลุ่มคนที่เกษียณแล้ว ผู้คนในตุรกี ฝรั่งเศส เม็กซิโก และสิงคโปร์ คือกลุ่มที่รู้สึกว่าตนเองมีความพร้อมน้อยที่สุด เกือบ 2 ใน 3 ของคนในวัยเกษียณที่รู้สึกไม่พร้อมนั้น ไม่รู้เลยว่าตนเอง “ไม่พร้อม” จนกระทั่งเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว มากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจที่อยู่ในวัยเกษียณบอกว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้พวกเขาจะเริ่มเก็บเงินให้เร็วกว่านี้ โดยคนวัยเกษียณใน มาเลเซีย เม็กซิโก และอินเดีย เป็นกลุ่มที่อยากกลับไปเปลี่ยนพฤติกรรมการออมของตนเองมากที่สุด ร้อยละ 38 ของคนที่เกษียณแล้วเห็นว่า การเก็บเงินเพื่อชีวิตหลังเกษียณควรเริ่มก่อนอายุ 30 ปี ในขณะที่เพียงร้อยละ 26 ของคนวัยใกล้เกษียณเท่านั้นที่เห็นว่าควรเริ่มเก็บเงินเร็วขนาดนั้น ร้อยละ 38 ของคนวัยทำงาน (ยกเว้น สหรัฐฯ และ ฮ่องกง) ยังไม่เริ่มเก็บเงิน และยังไม่มีแผนที่จะเก็บเงินสำหรับชีวิตหลังเกษียณ ผู้ทำสำรวจ (HSBC) ให้คำแนะนำว่า ถ้าต้องการอยู่สบายในวัยเกษียณ ... -          ควรเริ่มเก็บเงินตั้งแต่วันนี้ ยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี -          ประเมินให้ได้ว่าจะต้องใช้เงินเท่าไรสำหรับการใช้ชีวิตในแบบที่เราต้องการ โดยเฉลี่ยแล้วคนเราจะต้องการเงินสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณอีก 18 ปี (คิดจากอายุเกษียณที่ 60 ปี และอายุคาดเฉลี่ยที่องค์การอนามัยโลกประเมินไว้ที่ 78 ปี) -          หาทางทำให้เงินที่มีอยู่งอกเงยขึ้น ด้วยการลงทุนอย่างฉลาด -          คิดถึงเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเช่น อุบัติเหตุ หรืออาการเจ็บป่วย ไว้ด้วย ว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อแผนการใช้เงินของเราอย่างไร   *ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา ฝรั่งเศส ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เม็กซิโก สิงคโปร์ ไต้หวัน ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา *การสำรวจดังกล่าวเป็นการตอบแบบสอบถามออนไลน์ โดยในประเทศอินโดนีเซียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีการสอบถามแบบตัวต่อตัวเพิ่มด้วย *อ้างอิงจากรายงาน The Future of Retirement: A balancing act ลิขสิทธิ์ HSBC Holdings plc 2015

อ่านเพิ่มเติม >