ฉบับที่ 194 กฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา เครื่องมือรัฐจัดการเจ้าหนี้ดอกเบี้ยโหด (2)

ความเดิมตอนที่แล้ว รัฐบาลได้ปรับปรุงและประกาศใช้ พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฉบับใหม่ (พ.ศ. 2560) ห้ามเจ้าหนี้ คิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ถ้าฝ่าฝืนมีโทษอาญาทั้งจำทั้งปรับ สำหรับเจ้าหนี้บุคคลธรรมดา มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 15  ต่อปี ส่วนสถาบันการเงินในกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทบัตรเครดิต บริษัทสินเชื่อส่วนบุคคล เจ้าหนี้กลุ่มนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเงินกู้ได้เกินร้อยละ 15 ต่อปีดอกเบี้ยของเจ้าหนี้เงินกู้ที่เป็นสถาบันการเงิน  “สถาบันการเงิน” ตามนิยามของ พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ได้แก่ (1) ธนาคารแห่งประเทศไทย(2) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์  (3) บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์  (4) สถาบันการเงินอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษากฎหมายให้สิทธิ สถาบันการเงินสามารถคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีได้ โดยจะออกเป็นประกาศกระทรวงการคลัง กำหนดรายละเอียดว่าสถาบันการเงินประเภทไหน คิดดอกเบี้ยได้เท่าไร และก็จะมีการปรับแก้อัตราดอกเบี้ยอยู่เป็นระยะ ๆ ตามสภาพเศรษฐกิจ ล่าสุด กำหนดให้ ธนาคารพาณิชย์คิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดได้ไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปีดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราสูงสุดของดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จาก      ผู้กู้ยืม ได้ที่ http://law.longdo.com/lawindex/%E0%B8%94ดอกเบี้ยของเจ้าหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลบริษัทบัตรเครดิต บริษัทสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งหลายนั้น เป็นการประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย  “บัตรเครดิต” มีเงื่อนไขกำหนดว่า “การเรียกเก็บดอกเบี้ยในหนี้ค้างชำระ หรือดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดชำระหนี้ หรือค่าปรับในการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด หรือค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการอื่นใด จากผู้ถือบัตร เมื่อคำนวณรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี” และ “ห้ามคิดค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายอื่นใด ในการเบิกถอนเงินสดผ่านบัตรเครดิต เกินร้อยละ 3 ของจำนวนเงินที่เบิกถอนนั้น”ในส่วนของ “สินเชื่อส่วนบุคคล” นั้น จะคิดดอกเบี้ย ได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ยังมีสิทธิคิด ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้อีก แต่เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี ดอกเบี้ยธุรกิจเช่าซื้อ ธุรกิจเช่าซื้อไม่ว่าจะเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสินค้าอะไรก็ตามนั้น ไม่อยู่ในการกำกับ ดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะไม่ได้เป็นการกู้ยืมเงิน ดังนั้น จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เกินร้อยละ 15 ต่อปี ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแพ่ง มาตรา 654  ดังนั้น จึงมีนายทุนเงินกู้นอกระบบเจ้าเล่ห์ อาศัยช่องว่างของกฎหมายตรงนี้ ปล่อยกู้โดยคิดดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละ 15 ต่อปี โดยอาศัยการทำสัญญาเช่าซื้อบังหน้า โดยทำทีว่า ลูกหนี้มาเช่าซื้อสินค้า เช่น คอมพิวเตอร์ ราคา 30,000 บาท ผ่อน 10 เดือน เดือนละ 3,000 บาท แต่ไม่ได้มีการส่งมอบเครื่องคอมพิวเตอร์กันจริง ๆ เมื่อเซ็นสัญญาเช่าซื้อแล้ว เจ้าหนี้ก็จะเอาเงินสดให้ลูกหนี้ 20,000 บาท หักไว้ 10,000 บาท เป็นค่าดำเนินการและดอกเบี้ยล่วงหน้า เป็นธุรกรรมทำนาบนหลังคน ที่มีเจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมายห้ามคิดดอกเบี้ยเกินอัตราอย่างชัดเจน ซึ่งมีโทษทางอาญาทั้งจำทั้งปรับเลยทีเดียว ดอกเบี้ยผิดกฎหมาย ศาลยกขึ้นมาพิจารณาเองได้การคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดนั้น เป็นเรื่องที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ศาลจึงมีอำนาจที่จะหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาได้เอง แม้ว่าลูกหนี้จะไม่ได้อ้างเรื่องนี้เป็นข้อต่อสู้ในคดี ถ้าคุณเจอศาลที่ท่านเมตตาลูกหนี้   ให้ความเป็นธรรมพิพากษาไม่ให้คุณต้องจ่ายดอกเบี้ยโหดก็ถือว่าโชคดีไป แต่เพื่อความไม่ประมาท ก็ควรเตรียมตัวทำคำให้การให้ชัดเจนว่า เจ้าหนี้เขาคิดดอกเบี้ยคุณถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะการตัดหนี้ดอกเบี้ยพวกนี้ออกไปจะช่วยให้คุณประหยัดเงินในการปิดบัญชีปลดหนี้ไปได้อีกเยอะเลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >