ฉบับที่126 เกษตรอินทรีย์ท้องถิ่นที่พะงัน: เมื่อชุมชนรับรองกันเอง

  ระบบการตรวจสอบรับรอง มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานอิสระจากภายนอกนั้นไม่ได้เหมาะกับเกษตร อินทรีย์ที่ต้องการขายผลผลิตในท้องถิ่น โดยเฉพาะระบบการตรวจสอบรับรองปกติทั่วไปมักจะเป็นการ "จับผิด" เกษตรกร มากกว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็ง   เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็เป็นเกษตรอินทรีย์กันไปหมด หันไปทางไหนก็มีสินค้าออร์แกนิค ที่อ้างว่า ผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์  บางคนอาจมีการขอรับรองมาตรฐานเฉพาะของบ้านเรา และบางคนก็หลายมาตรฐานทั้งยุโรป อเมริกาและสากล ดูลายตาไปทีเดียว  ที่จริงแล้ว การรับรองมาตรฐานหรือไม่นั้น ไม่ใช่สิ่งบ่งบอกความเป็นเกษตรอินทรีย์ได้ทั้งหมด  มีเกษตรกรหลายคน ฟาร์มหลายแห่ง ที่ทำเกษตรโดยยึดหลักการเกษตรอินทรีย์จริงๆ (ตามหลักการของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ ที่ประกอบด้วยหลักการ 4 ด้าน คือ สุขภาพ นิเวศ เป็นธรรม และดูแลเอาใจใส่) โดยไม่ได้ขอรับรองมาตรฐาน  แต่ก็มีหลายฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโดยไม่ค่อยจะเป็นไปตามหลักการที่ว่านี้เท่าไหร่ โดยเฉพาะปัจจุบัน การรับรองมาตรฐานเป็นธุรกิจที่หน่วยตรวจรับรองมาตรฐานหลายแห่งให้บริการตรวจรับรองฟาร์ม โดยไม่ได้ใส่ใจถึงคุณภาพและหลักการเกษตรอินทรีย์กันเท่าไหร่นัก  แต่การรับรองมาตรฐานก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ผลิต ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ที่ต้องการจำหน่ายผลผลิตไปให้กับผู้บริโภคที่อยู่ห่างไกลออกไป ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถทราบและมีความมั่นใจว่า ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคนั้น มาจากระบบเกษตรอินทรีย์จริงมากน้อยแค่ไหน  แต่สำหรับเกษตรกรผู้ผลิตที่ขายผลผลิตในท้องถิ่นหรือขายโดยตรงให้กับผู้บริโภค การตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อาจไม่จำเป็นเท่าไรนัก  เมื่อกลางปีที่ผ่านมา(16 สิงหาคม 2553) องค์กรและหน่วยงานท้องถิ่นเกาะพะงัน ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการพัฒนาเกาะพะงัน ให้เป็นเกาะแห่งเกษตรอินทรีย์ โดยมีท่านรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ เป็นประธานในการจัดงานดังกล่าว และต่อมาทางกระทรวงพาณิชย์ได้ ริเริ่มโครงการ "เกาะพะงัน เกาะเกษตรอินทรีย์" ขึ้น โดยมอบหมายให้มูลนิธิสายใยแผ่นดินเป็นที่ปรึกษาร่วมกันกับสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกร ร้านอาหาร โรงแรม โรงเรียน และหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นบนเกาะพะงันร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาเกาะพะงันเกษตรอินทรีย์ โดยจะมีการสนับสนุนให้เกษตรกรบนเกาะพะงันผลิตอาหารออร์แกนิค ส่งขายให้กับร้านอาหาร โรงแรม และใช้เป็นอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียน ส่วนเศษอาหาร อาหารที่เป็นขยะอินทรีย์จะถูกจัดแยก แล้วนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ราคาถูกเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ เป็นการแก้ปัญหาขยะเศษอาหารและปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยอินทรีย์ไปพร้อมกัน  นอกจากนี้ จะมีการสนับสนุนให้โรงแรมเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีกำจัดแมลง ที่ใช้ในห้องพักและสวนไม้ประดับรอบโรงแรม มาเป็นสารกำจัดแมลงจากธรรมชาติ ที่ไม่เป็นพิษภัยต่อมนุษย์และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย  หลายคนอาจเห็นว่า การพัฒนาเกาะพะงันเกษตรอินทรีย์นี้น่าจะต้องใช้ระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐาน ที่มีการทำอยู่แล้วในต่างประเทศมาใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะนักท่องเที่ยว(ทั้งคนไทยและคนต่างชาติ) มีความมั่นใจในสินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นบนเกาะพะงัน โดยให้หน่วยงานอิสระจากภายนอกเป็นผู้เข้ามาตรวจสอบรับรองมาตรฐาน แต่ที่จริงแล้วเกาะพะงันมีทางเลือกอย่างอื่นอยู่อีก  จากการศึกษาข้อมูลโดยมูลนิธิสายใยแผ่นดินพบว่า  มีระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ที่น่าจะเหมาะสมกับเกาะพะงันมากกว่าการตรวจสอบจากภายนอก คือระบบที่สมาชิกกลุ่มผู้ผลิต/ชุมชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบกันเอง ซึ่งเรียกว่า Participatory Guarantee System หรือถ้าจะเรียกแบบไทยๆ ก็คือ "ชุมชนรับรอง" โดย ระบบ "ชุมชนรับรอง" นี้เป็นการริเริ่มของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movements) กับหน่วยงานระหว่างประเทศและองค์กรท้องถิ่นอีกหลายแห่ง ซึ่งเห็นร่วมว่า ระบบการตรวจสอบรับรอง มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานอิสระจากภายนอกนั้นไม่ได้เหมาะกับเกษตร อินทรีย์ที่ต้องการขายผลผลิตในท้องถิ่น โดยเฉพาะระบบการตรวจสอบรับรองปกติทั่วไปมักจะเป็นการ "จับผิด" เกษตรกร มากกว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็ง อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงด้วย ในระบบชุมชนรับรองนี้ เกษตรกรจะเป็นผู้รับรองกันเองในกลุ่มละแวกเดียวกัน(ถ้าเป็นภาษาวิชาการสมัยใหม่ก็ต้องเรียกว่า คลัสเตอร์เกษตรกรอินทรีย์) โดยสมาชิกกลุ่ม ซึ่งอาจมีประมาณ 5 - 7 คน จะหมุนเวียนไปตามฟาร์มของเพื่อนสมาชิก ไปเยี่ยมเยือนและตรวจรับรองฟาร์มเกษตรอินทรีย์ไปพร้อมกันด้วย ซึ่งในหมู่สมาชิกเกษตรกรอาจแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้และให้ข้อแนะนำกันเองไปในตัว  เรียกว่าไปครั้งเดียวได้ประโยชน์หลายอย่าง ยิ่งกว่า "3 in 1" เสียอีก  และถ้าใครคิดว่าเกษตรกรจะโกงกันเองก็สามารถเข้ามาตรวจสอบระบบชุมชนรับรองนี้ได้  ไม่ว่าจะเป็นเข้าไปดูในเว็บไซต์ของกลุ่ม ซึ่งจะมีข้อมูลรายละเอียดของเกษตรกรสมาชิกทุกราย รวมทั้งผลการตรวจรับรองโดยชุมชนด้วย  และถ้ายังไม่เชื่อกันอีก ก็สามารถแวะเวียนไปดูฟาร์มของเกษตรกรด้วยตัวเองได้ ซึ่งอาจกลายเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย  นี่เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการพัฒนา “เกาะพะงัน เกษตรอินทรีย์” ที่ทางมูลนิธิสายใยแผ่นดินได้เริ่มดำเนินการร่วมกับหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องบนเกาะพะงัน  ถ้าใครสนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูได้ ที่ facebook/Organic Phangan หรือจะไปทดลองเป็นนักท่องเที่ยวเชิงเกษตร ไปดูฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่พะงันด้วยก็ได้ครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point