ฉบับที่ 234 อุ้มรักเกมลวง : มดลูกในความคาดหวังของสังคม

        ตามความเข้าใจของคนเรา มดลูกก็คืออวัยวะสืบพันธุ์ของสตรี และเป็นปัจจัยการผลิตที่ก่อกำเนิดทรัพยากรมนุษย์รุ่นใหม่ๆ มาทำหน้าที่สืบต่อระบบสังคมออกไป แต่แม้มดลูกจะเป็นอวัยวะที่ดูหลบเร้นในหลืบลึกของร่างกายผู้หญิง ก็ใช่ว่าพื้นที่อันลึกลับในร่างกายนี้ จะปลอดซึ่งอำนาจและความคาดหวังของสังคม        พลันที่มนุษย์เราถือกำเนิดชีวิตขึ้นมาบนโลกใบนี้ สังคมก็เริ่มต้นกำหนดความคาดหวังเอาไว้เหนือปัจเจกบุคคลโดยทันที โดยเข้าไปกำกับไว้ซึ่งความคิด พฤติกรรม การกระทำ จนถึงจิตใจและองคาพยพทุกส่วนในร่างกายของคนเรา         ไม่ต่างจากการผูกปมความสัมพันธ์ของมนุษย์ในละครโทรทัศน์เรื่อง “อุ้มรักเกมลวง” ที่พันผูกให้ชีวิตตัวละครได้เรียนรู้ถึงอิทธิพลแห่งความคาดหวังของสังคมที่มีอำนาจกำหนดชะตาชีวิตของปัจเจกบุคคล โดยพล็อตเรื่องราวย้อนกลับไปสมัยวัยรุ่นของนางเอกสาว “กชมน” หรือ “เกี้ยว” ผู้กำกับละครเวทีนักศึกษา ซึ่งเริ่มต้นเรื่องได้บอกเลิก “สิบทิศ” แฟนหนุ่มที่คบหากันอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย และทั้งคู่ก็ห่างหายร้างราจากกันไป         จากนั้นสิบห้าปีให้หลัง กชมนได้กลายมาเป็นผู้กำกับหนังโฆษณาและละครซีรีส์ และเป็นเจ้าของสมญา “ป้ามั่น” แม้เธอจะประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงในอาชีพการงาน แต่ฝันร้ายของการบอกเลิกรากับสิบทิศก็ยังคอยตามหลอกหลอนกชมนอยู่ตลอดเวลา         ในขณะที่สิบทิศได้แต่งงานกับ “ปิ่นปัก” ผู้หญิงทำงานที่ตั้งใจลาออกจากงานเพื่อมาทำหน้าที่ภรรยาอย่างเต็มตัว กชมนกลับยังครองตัวเป็นโสดในวัยที่ตัวเลขอายุเริ่มมากขึ้น โดยมีก็แต่ “เพียงพันแสง” เพื่อนเกย์หนุ่มคนสนิทที่คอยปรับทุกข์ระหว่างกัน ไม่ต่างจากเพื่อนสาวคนหนึ่งที่ยืนอยู่เคียงข้างเธอ         บนเส้นทางที่เดินหน้าโลดแล่นไปของชีวิตตัวละครนั้น ละครก็ได้วางพล็อตให้บุคคลทั้งสี่คนมีเหตุให้ต้องโคจรมาร่วมชะตากรรมหลักเดียวกันของเรื่อง ที่ตัวละครต้องดำรงตนอยู่ภายใต้ข้อเรียกร้องบางอย่างของสังคม โดยเริ่มต้นจากสิบทิศและปิ่นปักที่แม้จะแต่งงานสร้างครอบครัวไปแล้ว แต่สังคมก็ยังคงกำกับความคาดหวังต่อไปอีกว่า ชีวิตครอบครัวที่จะสมบูรณ์ได้ต้องกอปรด้วยความสัมพันธ์ที่ครบแบบ “พ่อแม่ลูก” เท่านั้น         ส่วนเกย์หนุ่มอย่างเพียงพันแสงก็เช่นกัน เขามีชีวิตอยู่บนความคาดหวังของบิดาว่า การเป็นบุตรชายคนเดียวนั้น มีภาระหน้าที่ต้องแต่งงานกับผู้หญิงสักคนเพื่อมีทายาทไว้สืบสกุล ดังนั้น ไม่เพียงแต่เขาจะต้องปกปิดความลับเรื่องเพศวิถีต่อบุพการีแล้ว อีกด้านหนึ่ง เขาก็ได้วางแผนยื่นข้อเสนอต่อกชมนให้รับเป็น “แม่อุ้มบุญ” และเป็นภรรยากำมะลอ เพื่อสนองความคาดหวังที่มาจากคนรอบข้าง        และแน่นอน สำหรับกชมนที่ตัวเลขอายุเฉียดใกล้เลขสี่เข้าไปนั้น การตัดสินใจรับข้อเสนอเป็นแม่อุ้มบุญให้เพื่อนเกย์ ก็เพียงเพื่อตอบโจทย์ของสังคมที่ว่า ผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานแล้ว ก็ควรจะมีชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ มิเช่นนั้นก็ต้องก้าวเท้าเข้าไปใช้ชีวิตใน “คานทองนิเวศน์” อยู่อย่างเดียวดาย         แม้ในบทบาทของผู้กำกับละครหญิง กชมนอาจมีอำนาจเขียนบทและกำกับโชคชะตาของตัวละครที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาได้ แต่กับชีวิตจริงนั้น ความรักและชีวิตคู่หาใช่สิ่งที่มนุษย์เราจะมีอำนาจจับมาออกแบบวางเรียงได้แบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์         จากความคาดหวังของสังคมที่เข้ามากำกับอยู่นั้น ตัวละครทั้งหมดได้ใช้การทำกิฟต์เป็นคำตอบ และด้วยการตัดสินใจใช้วิธีปฏิสนธิเทียมเช่นนี้เอง ไม่เพียงแต่ทำให้ตัวละครทั้งสี่ได้ช่วยสืบต่อลมหายใจให้สังคมดำรงและดำเนินต่อไปได้เท่านั้น หากแต่ยังทำให้ตัวแทนของสถาบันสังคมอย่างการแพทย์สมัยใหม่ ได้เข้ามามีอำนาจกำกับควบคุมความคิด การกระทำ ไปจนถึงแม้แต่อวัยวะที่เรียกว่ามดลูกของผู้หญิง         หลังจากที่ตัวละครเลือกยินยอมให้อำนาจและความคาดหวังของสังคมเข้ามากำกับชีวิตของปัจเจก บททดสอบใหม่ก็เริ่มต้นขึ้นโดย “เอมิกา” ซึ่งแค้นใจที่กชมนวางแผนล่มงานวิวาห์ของเธอกับ “ฌาน” จนพังไม่เป็นท่า จึงได้วางแผนสลับตัวอ่อนผสมเทียมกันในครรภ์ของกชมนกับปิ่นปัก         บททดสอบใหม่ดังกล่าวก็ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า ทั้งตัวอ่อน การตั้งครรภ์ และปฏิบัติการทั้งหลายของการปฏิสนธิในมดลูกของผู้หญิง ไม่เคยที่จะปลอดซึ่งอำนาจที่สังคมจะเข้าไปกำกับบงการได้เลย         จะด้วยเหตุผลที่ต้องการแกล้งคนรักเก่าอย่างสิบทิศ หรือหมั่นไส้ปิ่นปักที่ร่ำร้องให้เธอช่วยดูแลตัวอ่อนของลูกที่สลับอยู่ในครรภ์เป็นอย่างดี แต่ที่แน่ๆ ในจิตใจลึกๆ แล้ว เพราะกชมนเองก็เชื่อว่า สิทธิในร่างกายและมดลูกของเธอ เธอเองก็น่าที่จะมีอำนาจเข้าไปกำหนด เราจึงเห็นภาพปฏิบัติการแห่ง “อนารยะขัดขืน” ที่กชมนลุกขึ้นมาท้าทายบรรทัดฐานของสังคมที่มีต่อร่างกายของผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์         ไม่ว่าจะเป็นการสนุกสนานเฮฮากับการร้องเต้นในวงคาราโอเกะ สวมรองเท้าส้นสูงเดินไปมา ดื่มกาแฟถ้วยแล้วถ้วยเล่า ไปจนถึงกินปูดองและอาหารเสาะท้อง ที่ด้านหนึ่งก็ดูขบขัน แต่อีกด้านก็เพื่อจะยืนยันสิทธิเหนือร่างกายภายใต้ความคาดหวังที่สังคมถาโถมให้ผู้หญิงพึงต้องปฏิบัติตาม โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าความคาดหวังนั้นขีดขึ้นเมื่อไร และเขียนขึ้นโดยใคร        ในขณะที่ทุกคนได้รางวัลจากการสมาทานตนต่อความคาดหวังของสังคม เหมือนที่สิบทิศและปิ่นปักก็ได้ทารกแสนน่ารักมาเป็น “โซ่ทองคล้องใจ” หรือเพียงพันแสงที่ได้ลูกชายไว้สืบสายสกุลให้กับบิดา จะมีก็แต่กชมนที่กลับพบว่า การเลือกขัดขืนต่อกฎเกณฑ์ของสังคม ทำให้เธอเองกลายเป็น “คนที่ไม่มีใครเลย” เหมือนกับที่กชมนได้เคยตัดพ้อว่า “ทุกคนมารุมวุ่นวายกับฉัน แล้วก็ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการไป ฉันไม่ได้อะไรเลยนะ…”         ตามบทสรุปของละครนั้น คำตอบของปัจเจกบุคคลอาจไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างการสมยอมหรือปฏิเสธต่อความคาดหวังของสังคม หากแต่อยู่ที่ว่า ภายใต้อำนาจของกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มา “รุมวุ่นวาย” เหนือร่างกายและจิตใจของเรานั้น เราจะรอมชอมหรือต่อรองกับความคาดหวังดังกล่าวได้อย่างไร         ดังนั้น พลันที่หมอหนุ่มรูปหล่ออย่าง “เจษ” ปรากฏตัวขึ้น พร้อมกับสอนให้กชมนเริ่มรู้สึก “รักตัวเอง” และบอกกับเธอว่า “ขออยู่กินกาแฟด้วยทุกเช้านะ” ในความสัมพันธ์ครั้งใหม่นี้ กชมนก็ค้นพบว่า หากความคาดหวังแห่งสังคมเข้ามาล่วงลึกได้ถึงมดลูกในฐานะปัจจัยแห่งการผลิตของสตรี การลงเอยกับสูตินารีแพทย์หนุ่มก็น่าจะย้อนศรให้เธอได้เข้าไปต่อรองกับชายผู้มีความรู้เหนืออวัยวะที่ลึกลับที่สุดในความเป็นเพศหญิง        ประหนึ่งเดียวกับเสียงก้องในตอนท้ายเรื่อง ซึ่งกชมนพูดขึ้นหลังจากเข้าใจที่จะต่อรองกับพลังแห่งความคาดหวังของสังคมว่า “ก่อนที่ฉันจะเริ่มใหม่ ฉันก็ต้องเชื่อใจในความรักเสียก่อน ฉันต้องวางเรื่องเก่าๆ เอาไว้ ก่อนที่จะวางใจไปกับใครสักคน และฉันก็เพิ่งรู้ว่า เมื่อเราพร้อม เราถึงจะเจอคนที่ใช่...”

อ่านเพิ่มเติม >