ฉบับที่ 228 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2563

4 เดือนโครงการรับยาใกล้บ้าน ยอดแตะ 91 รพ. 750 ร้านขายยา        สปสช.โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผย “โครงการผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) รับยาที่ร้านขายยาแผนปัจจุบัน ขย.1 เพื่อช่วยลดแออัดในโรงพยาบาลรัฐ หรือโครงการรับยาใกล้บ้านนั้น ตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 1 ก.พ. 2563 รวม 4 เดือนพบว่า โรงพยาบาลที่เข้าร่วมดำเนินโครงการจำนวน 91 แห่ง ขณะที่มีร้านขายยาแผนปัจจุบัน ขย.1 เข้าร่วมให้บริการจำนวน 750 แห่ง จาก 55 จังหวัด โดย รพ.ขอนแก่น มีร้านยาร่วมเครือข่ายบริการมากสุด 50 แห่ง รพ.ลำพูน มีผู้ป่วยร่วมโครงการมากสุด 480 คน ขณะที่ภาพรวมผู้ป่วยร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และจิตเวช นอกจากนี้ยังมีโรคเรื้อรังอื่นที่ผู้ป่วยมีภาวะคงที่ โดยให้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งจากข้อมูลเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการฯ สะสมแล้ว มีจำนวน 2,453 รายแล้ว อย. เรียกเก็บน้ำเกลือล้างแผลพบการปนเปื้อน        รายงานข่าว นพ. สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีหนังสือที่ สธ 1009.5/ว 1955 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 แจ้งเตือนภัยเร่งด่วน การเรียกเก็บยา KLEAN & KARE NORMAL SALINE เลขทะเบียน 1A 512/56 รุ่นการผลิต 061607 คืนจากท้องตลาดโดยสมัครใจ 29 มี.ค. มอเตอร์ไซค์ใหม่ทุกคันต้องได้ยูโร 4         นายวันชัย  พนมชัย  เลขาธิการ  สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ. ได้เชิญผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์กว่า 40 ราย ชี้แจงทำความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมในการยื่นขอ มอก. 2915-2561 รถจักรยานยนต์เฉพาะด้านความปลอดภัย – สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับยูโร 4  ซึ่งประกาศบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2563 เพื่อช่วยแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นพิษหรือ PM 2.5  ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวมีข้อกำหนดที่ควบคุมปริมาณสารมลพิษที่ปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ของรถจักรยานยนต์ ได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอนออกไซด์ของไนโตรเจน ลดลงถึง 50% เมื่อเปรียบเทียบกับ มอก. เดิม คือ ยูโร 3         นอกจากนี้ มาตรฐานฉบับดังกล่าวนี้ยังมีข้อกำหนดเรื่องความทนทานของอุปกรณ์ควบคุมมลพิษ เพื่อให้มั่นใจว่ารถจักรยานยนต์ที่ผ่านการใช้งานแล้วระยะเวลาหนึ่ง  ยังคงสามารถควบคุมปริมาณสารมลพิษเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดได้ เสวนา พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบยอดร้องเรียนสูงแต่เอาผิดได้น้อย        5 กุมภาพันธ์ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ งานเสวนา “12 ปี  พ.ร.บ  ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551” เผยสถิติ แม้มียอดร้องเรียนนับพันแต่เอาผิดตามกฎหมายได้น้อย        นายคำรณ  ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา ระบุ 1 ปีที่ผ่านมา มาตรการบังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น สังคมตื่นตัว รับรู้ข้อกฎหมายมากขึ้น จึงมีผู้ร้องเรียนเมื่อพบข้อมูลการทำผิดกฎหมายมากถึง 1,100 กรณี สำหรับความผิดที่พบมากที่สุด (ร้อยละ 60) คือ โฆษณาส่งเสริมการตลาด พบว่า ธุรกิจน้ำเมายังคงมั่งคั่ง ใช้กิจกรรมการตลาด จัดคอนเสิร์ตเปิดลานเบียร์ เป็นกิจกรรมหลัก ที่รุกจากหน้าห้างกิจกรรมรายย่อยยันทุ่งนา และใช้ตราเสมือนคือเครื่องดื่มน้ำ โซดา รวมไปถึงเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ เป็นตราหลักสื่อสารการตลาด การโฆษณาในสื่อต่างๆ “เครือข่ายฯ ยังพบกิจกรรมหรือความสัมพันธ์ ที่น่าเคลือบแคลงสงสัยในแบบอุปถัมภ์เกื้อหนุนกันระหว่างทุนเหล้ากับกลไกราชการ โดยกิจกรรมการตลาดต่างๆ มักอ้างหรือดึงส่วนราชการเข้ามาร่วมด้วย เพื่อทำให้การบังคับใช้กฎหมาย ขาดประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้คือ ภัยคุกคามสำคัญ”         นพ.นิพนธ์  ชิชานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า         “มาตรการควบคุมผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมาย มีการออกตรวจตามวันที่ห้ามขาย เช่น วันสำคัญทางศาสนา สุ่มตรวจจากเรื่องร้องเรียนในประเด็นที่เป็นปัญหาตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในมาตรา 32 ว่าด้วยการห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มฯ และมาตรา 30 ว่าด้วยการห้ามขาย ด้วยวิธีการ เร่ขาย เครื่องขายอัตโนมัติ ลดแลกแจกแถม ในสถานที่ราชการ สถานศึกษาฯ ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนเข้ามามากกว่า 2,000 เคส แต่พบว่า สำหรับการดำเนินคดีการตามกฎหมายจนสิ้นสุดคดียังมีจำนวนน้อย เพราะการควบคุมหย่อนยานไม่ทั่วถึง ทั้งนี้ต้องกระตุ้นไปยังเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบเพื่อดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายตามกลไกการใช้กฎหมายในแต่ระดับพื้นที่ จะส่งผลให้ติดตามง่ายลดการกระทำผิดซ้ำ”  สมัชชาผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ครั้งที่ 1        18 กุมภาพันธ์ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน จัด ‘เวทีสมัชชาผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ครั้งที่ 1’ ขึ้น เพื่อสะท้อนภาพรวมของปัญหาจากอุบัติเหตุทางถนนและเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประสบอุบัติเหตุให้มีสิทธิและโอกาสการเข้าถึงสังคมที่มีอย่างทั่วถึงเท่าเทียม         ในตอนหนึ่งของการเสวนา การชดเชยเยียวยาผู้เสียหายกรณีรถโดยสาร นักวิจัยระบุ การทำประกันภัยให้รถโดยสารสาธารณะช่วยผู้บริโภคได้ดีกว่าการฟ้องร้อง แต่ปัจจุบันรถโดยสารที่ทำประกันภัยภาคสมัครใจเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ขณะที่ มพบ. ให้ข้อมูลว่า การฟ้องร้องยังจำเป็นเพราะผู้เสียหายอาจเสียเปรียบจากระบบประกันภัย โดยเฉพาะการตีความตามบทบัญญัติที่ไม่สื่อสภาพจริงของสังคม         ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า “การประกันภัย สามารถตอบโจทย์การชดเชยเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ได้ดีกว่าการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายโดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะเวลาในการได้รับค่าชดเชยเยียวยา ซึ่งวงเงินคุ้มครองที่เพิ่มสูง ประกอบกับนโยบายของกรมการขนส่งทางบกที่บังคับให้รถโดยสารสาธารณะต้องทำประกันภัยภาคสมัครใจเพิ่มเติม ทำให้ผู้ประสบภัยสามารถได้รับการชดชดเชยเยียวยาได้ทันท่วงทีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า ปัจจุบันมีรถโดยสารที่ทำประกันภัยภาคสมัครใจเพียง 1 ใน 3 จากจำนวนรถที่จดทะเบียนทั้งหมด จึงมองว่าควรจะมีการสำรวจและศึกษาผลกระทบของรถที่ไม่ได้ทำประกันภัยด้วย อย่างไรก็ตามการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายยังคงจำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคในระบบรถโดยสารสาธารณะที่เหมาะสมต่อไป”         ด้าน ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ถึงแม้ระบบประกันภัยจะรวดเร็ว แต่สุดท้ายเมื่อผู้เสียหายไม่สามารถที่จะได้รับการชดเชยค่าเสียหายในระบบประกันภัยได้ ก็จะต้องกลับเข้าไปสู่ระบบของกระบวนการยุติธรรมอยู่ดี ทั้งนี้ในรายละเอียดยังมีคำถามจำนวนมากเกี่ยวกับการคำนวณ การกำหนดค่าสินไหมทดแทน เช่น ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าเสียหายเชิงลงโทษ ค่าเสียหายทางจิตใจ ทายาท ฯลฯ ตลอดจนการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนว่า กรณีใดบ้างที่บริษัทขนส่งหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบด้วย เพราะมีบางกรณีที่บริษัทขนส่งหลุดจากคดี เนื่องจากอ้างว่ารถที่ผู้เสียหายใช้บริการนั้นเป็นรถเถื่อนทั้งที่ขึ้นในสถานีของทางขนส่งเอง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 รำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน

        ปิดฉากกันไปอย่างสวยงามกับกิจกรรมเดิน - วิ่ง “หยุดซิ่ง... มาวิ่งกันเถอะ” ที่จัดขึ้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ (สวนบางกะเจ้า) อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ กับการแสดงพลังของผู้คนมากกว่า 2,000 คน ใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ         ในวันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน” (World Day of Remembrance for Road Traffic Victims 2019) ที่ทุกคนมาช่วยกันหยุด… หยุดไม่ให้มีเหยื่อรายใหม่ หยุดให้อุบัติเหตุทางถนนลดน้อยลง ร่วมกันจัดตั้งกองทุนเพื่อผู้ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน เรียกได้ว่าเป็นการส่งเสียงของกลุ่มคนที่ต้องการบอกให้รู้ว่า ปัญหาความไม่ปลอดภัยทางถนนที่ป้องกันได้ต้องถูกดำเนินการทันที การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทางถนนต้องรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเป็นธรรม เพื่อป้องกันปัญหาอุบัติเหตุและคุ้มครองสิทธิความปลอดภัยทางถนนและร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้มีในหัวใจคนไทยทุกคนแต่ก็น่าเสียดายที่งานครั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลด้านคมนาคม ทั้งกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบก ยังไม่เห็นถึงความสำคัญในกิจกรรมครั้งนี้ เลยไม่ได้เข้าร่วมหรือสนับสนุนแต่อย่างใด  ขณะที่ภาคประชาชนเริ่มเคลื่อนไหว เพื่อต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ภาคนโยบายและบริหารโดยรัฐกลับยังเหมือนขยับตัวช้าและไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก ยังไม่รวมถึงเป้าหมายที่จะลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2563 ตามแผน 10 ปี แห่งทศวรรษความปลอดภัยทางถนนของประเทศ แต่ก็ยังทำไม่ได้ไม่สำเร็จ        อันที่จริงในรอบสิบปีที่ผ่านมา แต่ละรัฐบาลต่างมีเป้าหมายที่จะลดอุบัติเหตุด้วยมาตรการหลายอย่างที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามในการลดอุบัติเหตุ ลดการเจ็บตายในช่วงเทศกาลใหญ่ๆ การบังคับติดจีพีเอสกับรถบรรทุกและรถสาธารณะเพื่อควบคุมความเร็ว การยกเลิกรถโดยสารสองชั้น จัดระเบียบรถตู้โดยสาร ตั้งเป้าลดจำนวนรถตู้โดยสารปรับเปลี่ยนเป็นไมโครบัส ตลอดจนการเพิ่มโทษปรับกับผู้ขับขี่ที่ทำผิดกฎจราจรในทุกประเภทรวมถึงการเมาแล้วขับ         แต่ด้วยความไม่ต่อเนื่องของนโยบายที่มาจากฝ่ายบริหารที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามกระแสการเมือง ดังคำที่ว่า เมื่อการเมืองเปลี่ยนนโยบายก็ต้องเปลี่ยน ทำให้หลายมาตรการที่ดีกลับถูกดองหรือแช่แข็ง เช่น กรณีรถตู้โดยสารสิบปีต้องเปลี่ยนเป็นไมโครบัสเป็นให้เปลี่ยนด้วยความสมัครใจ เป็นต้น รวมถึงขาดความต่อเนื่องเชื่อมร้อยของนโยบายและการปฏิบัติการ ส่งผลให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในการทำงานทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน         ที่ผ่านมาการทำงานด้านลดอุบัติเหตุและความปลอดภัยทางถนนหลายส่วน กลายสภาพเหมือนงานอีเวนท์ที่ต้องรอนโยบายสั่งการจากคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กระทรวงมหาดไทย ที่กว่าจะจัดประชุมเตรียมงานสั่งการความปลอดภัยทางถนนก็ปาเข้าไปกลางเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ระดับจังหวัดก็เตรียมงานเตรียมคนมุ่งจัดรณรงค์ลดอุบัติเหตุ 7 วันอันตราย ในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ตามเดิมแบบที่เคยทำกันทุกปี         แม้ที่ผ่านมาแนวทางของรัฐจะผลักดันให้มีศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนทั้งในระดับอำเภอและตำบล เพื่อให้การดำเนินการด้านความปลอดภัยในระดับท้องถิ่นมีความคล่องตัวต่อเนื่อง เป็นขั้นตอนต่อจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด แต่ถ้าดูจากตัวเลขอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศของบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2562 – 14 ธันวาคม 2562 ตอนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 15,786 คน ยังไม่รวมผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตที่ไม่ได้ใช้สิทธิ พรบ. โดยเป็นอัตราการเสียชีวิตที่มีจำนวนมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 (ทั้งปี) ที่มีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 13,956 คน นั่นยิ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำถึงความล้มเหลวของมาตรการลดอุบัติเหตุของรัฐโดยสิ้นเชิง         การที่คนไทยต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยถึงวันละ 60 คน (เสียชีวิตปีละ 20,000 คน) นี้ ยังไม่สามารถผลักดันให้รัฐจัดทำมาตรการที่เด็ดขาด เพื่อทำให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงบริการขนส่งมวลที่ดี และสร้างระบบการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัยได้ ดังนั้นในปี 2563 ซึ่งจะเป็นปีที่ครบรอบทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนตามแผนของประเทศที่กำหนดไว้ แต่เมื่อทุกอย่างยังไม่มีทิศทางว่าจะดีขึ้นแบบนี้ อาจจะต้องเรียกใหม่เป็น ครบรอบสิบปี ทศวรรษแห่งความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย แทนก็เป็นได้ สวัสดีปลอดภัยกันทุกท่านครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ชวนวิ่ง...สร้างกองทุนเพื่อเหยื่อรถโดยสาร

        วันนี้มีคำถามจากเพื่อนสมาชิกที่สนใจกิจกรรมหยุดซิ่ง…มาวิ่งกันเถอะ ถามมาว่ากิจกรรมนี้มีดีอะไร ทำไมถึงต้องสมัครเดิน-วิ่งในงานนี้ด้วย  แล้วทำไมต้องจัดในวันที่ 17 พฤศจิกายน ทำไมไม่จัดวันอื่น และเพื่อไม่ให้ค้างคาใจกัน วันนี้เลยมาขอตอบให้ชัดกันไปเลยว่าทำไม!         สำหรับคำถามแรกที่ถามว่า กิจกรรมนี้มีดีอะไร ทำไมถึงต้องสมัครเดิน-วิ่งในงานนี้  ?    ต้องบอกเลยว่างานนี้เป็นกิจกรรมที่กลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนนและภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนมากกว่า 20 องค์กร มารวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมนี้ขึ้น โดยมี 3 เหตุผลสุดคุ้ม ที่ว่าทำไมต้องหยุดซิ่ง...แล้วมาวิ่งกันเถอะ         ประการที่หนึ่ง เพื่อรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน หยุดไม่ให้มีเหยื่อรายใหม่ เพราะประเทศไทยที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากถึงวันละ 62 คนต่อวัน หรือทุกๆ หนึ่งชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนชั่วโมงละ 2.5 คน ตัวเลขดูน้อยๆ แบบนี้ พวกเราอาจจะไม่รู้สึกอะไรเท่าไหร่นัก เพราะคนที่สูญเสียไม่ใช่ตัวเราหรือคนใกล้ชิด ในความเป็นจริงหากมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ความสูญเสียนั้นไม่ใช่เพียงแค่หนึ่งชีวิตที่ต้องเสียไป แต่หมายรวมถึงครอบครัวที่ต้องมาทนทุกข์กับการสูญเสียนี้ด้วย         ประการที่สอง เพื่อจัดตั้งกองทุนผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน รู้ไหมในแต่ละปีผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต้องประสบกับความยากลำบากขนาดไหน แม้วันเวลาจะพาให้เรื่องราวของอุบัติเหตุจะผ่านพ้นไป แต่ความทุกข์ของคนที่บาดเจ็บและสูญเสียนั้นยังอยู่ การใช้ชีวิตหลังความสูญเสียต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่ากินค่าอยู่ ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน แม้รัฐจะมีกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหาย แต่การเข้าถึงสิทธิกองทุนกลับมีเงื่อนไขมากมายที่ไม่เอื้อต่อการใช้สิทธิ ขณะที่สิ่งที่ผู้ประสบอุบัติเหตุต้องการ คือ อยากให้มีกองทุนที่สามารถช่วยเหลือเยียวยาค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนได้จริง อย่างน้อยก็เพื่อช่วยให้มีคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้ประสบอุบัติเหตุทุกคน           ประการที่สาม เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี ด้วยการออกกำลังกายกับการเดิน-วิ่งที่เป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุดและต้นทุนน้อยที่สุด ที่สำคัญถ้าทุกคนได้มาวิ่งที่สวนบางกะเจ้า ก็จะได้พบกับแหล่งโอโซนอากาศบริสุทธิ์ สถานที่ฟอกปอดที่เหมาะสำหรับการมาเดิน-วิ่ง พักผ่อนกันแบบชิลๆ และไม่ใช่จะได้เพียงสุขภาพที่ดีอากาศบริสุทธิ์เท่านั้น ทุกคนยังได้มีโอกาสสัมผัสวิถีชุมชนที่คงอยู่กับการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวอีกด้วย          สำหรับคำถามสองที่ถามว่า กิจกรรมหยุดซิ่ง…มาวิ่งกันเถอะ ทำไมต้องจัดในวันที่ 17 พฤศจิกายน ทำไมไม่จัดวันอื่น ?         เพราะวันที่ 17 พฤศจิกายนของปีนี้ จะตรงกับวันอาทิตย์ที่สามของเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ทุกวันอาทิตย์ที่สามของเดือนพฤศจิกายน เป็นวันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน หรือ “วันเหยื่อโลก” เพื่อรณรงค์ให้ทุกประเทศดำเนินมาตรการป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจัง        เพราะอุบัติเหตุทางถนนส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ และคร่าชีวิตผู้คนจากความประมาทเป็นจำนวนมาก มีตัวเลขที่น่าตกใจที่พบว่า แต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 1.3 ล้านคน บาดเจ็บอีกกว่า 50 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 22,491 คนต่อปี  หรือ 62 คนบนถนนทุกวัน และที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือ แค่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวก็มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่ใกล้เคียงกับผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่เสียชีวิตต่อปีประมาณ 26,500 คน         จะเห็นได้ว่าความรุนแรงของอุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เลย ซึ่งเป้าหมายของ “วันเหยื่อโลก” คือวันที่คนทั้งโลกจะร่วมกันรำลึกอาลัยแก่ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้งตระหนักถึงผลกระทบ และความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนน เช่น การเสียชีวิต พิการ บาดเจ็บ สูญเสียทรัพย์สิน รวมถึงปัญหาค่าใช้จ่ายในการรักษาในระยะยาว การสูญเสียผู้นำของครอบครัว ตลอดจนผลกระทบทางด้านจิตใจของคนในครอบครัวและคนรอบข้าง         อย่างไรก็ดี ในวันเหยื่อโลกของทุกๆ ปี ทั่วโลกจะมีกิจกรรมรำลึกถึงผู้สูญเสียที่หลากหลายรูปแบบกันไป และวันเหยื่อโลกในปีนี้ที่จะมาครบบรรจบในวันที่ 17 พฤศจิกายน สำหรับประเทศไทยจะเป็นครั้งแรกของการรวมพลังของกลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนนและภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ที่อยากรณรงค์เชิญชวนให้ทุกคนทุกฝ่ายเห็นถึงความสำคัญของความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน         ด้วยการรณรงค์เดิน-วิ่ง หยุดซิ่ง…มาวิ่งกันเถอะ “Run for Road Traffic Victims” ที่มีเป้าหมายเพื่อการลดอุบัติเหตุหยุดไม่ให้เหยื่อรายใหม่ และรายได้จาการค่าสมัครสมทบจัดตั้งกองทุนเพื่อผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมกัน ในการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประสบอุบัติเหตุ และครอบครัวให้มีสิทธิ และโอกาสการเข้าถึงสังคมเหมือนเช่นคนปกติทั่วไป         ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยคนมักจะมองว่าเป็นเรื่องเวรกรรมและเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่ความจริงอุบัติเหตุไม่ใช่เรื่องของเวรกรรม แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนป้องกันได้ นอกจากนี้ทุกคนยังมีโอกาสเป็นเหยื่อได้เหมือนกัน ฉะนั้นเราอย่าประมาทชะล่าใจ สักวันอาจจะเกิดกับตัวเราและคนรอบข้างก็ได้  ถึงเวลาแล้วล่ะที่ทุกคนต้องช่วยกันหยุดสิ่งนี้ด้วยกัน หยุดซิ่ง…แล้วมาวิ่งกันเถอะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 วิ่งเพื่อ เหยื่อรถโดยสาร

        รู้หรือไม่แต่ละปีทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 1.3 ล้านคน และบาดเจ็บอีกกว่า 50 ล้านคน หรือเท่ากับมีคนเสียชีวิตวันละ 3,700 คนทุกวัน หากนึกไม่ออกว่ารุนแรงขนาดไหน ลองนึกภาพเรือสำราญขนาดใหญ่ที่มีผู้โดยสารเต็มความจุของเรือ แล้วเรือลำนั้นเกิดล่มและผู้โดยสารทั้งหมดเสียชีวิต!!! เป็นแบบนี้ทุกวันทุกวันวันละ 3,700 คน         หากเป็นเหตุการณ์ปกติถ้ามีเรือสำราญขนาดใหญ่ล่มจมน้ำ เพียงแค่ครั้งเดียวก็คงเป็นข่าวใหญ่ที่ทำให้คนทั้งโลกต้องตกใจ และมีคำถามตามมาว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ขณะที่มีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากเท่ากับจำนวนผู้โดยสารบนเรือสำราญขนาดใหญ่ที่เสียชีวิตทุกวันแบบนี้ ก็ยังไม่สามารถทำให้คนทั้งโลกรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางถนนในส่วนนี้ได้เลย         สำหรับประเทศไทยนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของความสูญเสียดังกล่าวเช่นกัน องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยรายงาน Global Status Report on Road Safety 2561 เรื่องรายงานความปลอดภัยทางถนนระดับโลก ระบุว่า ประเทศไทยถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในลำดับที่ 9 มีอัตราผู้เสียชีวิต 32.7 รายต่อแสนประชากร หรือเสียชีวิต 22,491 คนต่อปี  หรือเฉลี่ยมีผู้เสียชีวิต 62 คนบนถนนทุกวัน ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนคนวัยทำงาน ขณะที่มีผู้พิการรายใหม่เพิ่มมากขึ้นกว่า 40,000 คนต่อปี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี        แม้ว่าในรอบ 5 ปีหลังสุดตัวเลขอย่างเป็นทางการขององค์การอนามัยโลกจะบ่งชี้ว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตของประชากรจากอุบัติเหตุทางถนนลดน้อยลง แต่การที่คนไทยต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยถึงวันละ 62 คน นั้นนับเป็นเรื่องที่ทุกคนควรตระหนักและยอมรับไม่ได้ เพราะเป็นสถิติการเสียชีวิตที่มากกว่าโรคภัยร้ายแรงเสียอีก        ทั้งนี้อุบัติเหตุทางถนนแต่ละครั้งไม่ได้จบแค่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่ทุกๆ ปีมีผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 2 แสนคน ทั้งครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บพิการ สิ่งที่เหลือไว้จากอุบัติเหตุ คือ ความทุกข์ของคนที่ยังอยู่ หลายครอบครัวไม่ได้จบแค่การสูญเสียญาติพี่น้องที่จากไปเท่านั้น แต่การต้องดิ้นรนต่อสู้กับสภาพชีวิตสังคมหลังเกิดเหตุนั่นแหละ คือหัวใจของการต้องมีชีวิตอยู่ให้ได้        หลายคนต้องเจ็บปวดซ้ำซ้อน เจ็บตัวแล้วยังต้องเจ็บใจ เสียคนรักไปไม่พอ ยังโดนยัดเยียดการชดเชยเยียวยาที่ไม่เป็นธรรมเข้าไปด้วย จากระบบการช่วยเหลือผู้เสียหายที่ล้มเหลว โดนวลีเด็ดที่หลายคนเจอ คือ “อยากได้มากกว่านี้ให้ไปฟ้องเอา” หลายคนต้องมีคดีฟ้องต่อศาลเสียเงินจ้างทนายความ ต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ บางครอบครัวต้องสู้คดีกันถึงสามศาล จบคดีได้เงินก็โชคดีไป บางครอบครัวได้มาแต่คำพิพากษา กลายเป็นปัญหาซ้ำเติมความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับครอบครัวพวกเขาเหล่านั้น         ขณะที่ยังมีผู้พิการจากอุบัติเหตุทางถนนอีกจำนวนมากที่ขาดโอกาสจากสังคม แม้ภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือในหลายส่วน แต่เรื่องสำคัญและจำเป็น เช่น การเดินทางซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์นั้น ยังมีคุณภาพไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้พิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ ใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ ดูแลตัวเองและประกอบอาชีพเพื่อการพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่มีคุณภาพได้         ด้วยปัจจัยและปัญหาที่สะสมอย่างต่อเนื่องยาวนาน จากกลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่อยากจะทำงานใหญ่ ว่าจะทำอย่างไรดี ที่จะทำให้คนส่วนใหญ่เห็นถึงความสำคัญของความปลอดภัยทางถนน เพื่อช่วยให้คนที่เสียโอกาสทางสังคมกลุ่มนี้ได้กลับเข้ามามีที่ยืนและพร้อมที่จะลุกขึ้นมาช่วยกัน         ทำให้การเยียวยาความเสียหายรวดเร็วไม่เป็นภาระของทุกคน และหาทางเร่งรัดให้มีบริการขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพรถและความปลอดภัยมากขึ้น เพราะชีวิตไม่ใช่ชิ้นส่วนรถยนต์ ต้องไม่ยอมจำนนกับรถถนนที่ไม่ปลอดภัย         จากจุดเริ่มต้นของกลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเมาไม่ขับ ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและความปลอดภัยทางถนนมากกว่า 20 องค์กร        จึงได้ร่วมกันจัด เดิน – วิ่ง กับกิจกรรม หยุดซิ่งมาวิ่งกันเถอะ “Run For Road Traffic Victims” ภายใต้เป้าหมาย รณรงค์รวมพลังลดอุบัติเหตุหยุดเหยื่อรายใหม่ และจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนขึ้น ในวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน 2562  ณ สวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติศรีนครเขื่อนขันธ์ (สวนบางกะเจ้า) อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ         กิจกรรมดีๆ กับค่าสมัครเพียง 500 บาทเท่านั้น กับการวิ่ง 2 ระยะ ได้แก่ เดิน-วิ่งระยะสั้น Fun Run 5 กิโลเมตร และวิ่งมินิมาราธอน 10 กิโลเมต         หยุดซิ่ง... แล้วมาวิ่งกันที่สวนบางกะเจ้า ผู้สนใจสามารถมาสมัครกันเลย ที่ https://rtv.regist.co ตั้งแต่วันนี้ - 31 ตุลาคม 2562 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ : https://www.facebook.com/SafeThaibus หรือ โทร : 094-4869598        

อ่านเพิ่มเติม >