ฉบับที่ 266 บขส.วางเงินจ่าย 15 ล้าน คดี 11 ชีวิตอุบัติเหตุรถตู้จันทบุรี

        “ถ้าเราไม่มีมูลนิธิเข้ามาช่วยเหลือ เราไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือเลย เราสูญเสียลูกไป แล้วใครต้องรับผิดชอบบ้าง  ประชาชนทั่วไปไม่รู้ เราอยากให้สังคมมีระบบที่รับผิดชอบชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์มากกว่านี้”         วันที่ 2 มกราคม 2560 เกิดอุบัติเหตุรถตู้โดยสาร สาย จันทบุรี – กรุงเทพ หมายเลขทะเบียน 15-1352 กรุงเทพมหานคร พุ่งข้ามเลนไปชนรถกระบะที่แล่นสวนทางมาอย่างรุนแรง จนเกิดเพลิงลุกไหม้รถทั้งสองคัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากรถตู้โดยสารทั้งหมด 14 ราย ผู้โดยสารในรถกระบะเสียชีวิต 11 ราย รวมมีผู้เสียชีวิตที่เกิดเหตุทั้งหมด 25 ราย           นี่คืออุบัติเหตุครั้งสำคัญในช่วงปีใหม่ของปี 2560 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่า ครอบครัวผู้สูญเสียควรได้รับความเป็นธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมีส่วนสำคัญมาจากบริษัทเจ้าของรถยนต์ เจ้าของบริษัท และบริษัทขนส่งจำกัด ไม่กำกับดูแลให้การเดินทางมีความปลอดภัยอย่างเข้มข้นในช่วงเทศกาลปีใหม่นำมาสู่การฟ้องคดีทั้ง 3 หน่วยงานตั้งแต่ปี 2560 ในวันที่ 10 มกราคม 2566 ที่ผ่านมาคดีความได้ถึงที่สิ้นสุด ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ บริษัทขนส่งจำกัด ชดเชยค่าเสียหายให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตกว่า10 ครอบครัวที่รวมกันฟ้องคดีกับมูลนิธิฯ  หนึ่งในนั้นคือครอบครัวของ คุณเกษมสันต์ และ เกศรา ไทยตรง พ่อและแม่ ที่ได้สูญเสียลูกชายจากอุบัติเหตุสุดสลดใจครั้งนี้ ตลอดระยะ 6 ปีที่รอความยุติธรรม นี่คือเรื่องราวเพียงส่วนหนึ่งของครอบครัวผู้สูญเสียที่ยืนหยัดต่อสู้จนถึงวันที่คดีความสิ้นสุด ช่วยเล่าถึงสถานการณ์ในตอนนั้น         อุบัติเหตุครั้งนี้ ครอบครัวพี่สูญเสียลูกชาย คือน้องคิว กันตินันท์ อายุ 23 ปี  พี่มีลูกทั้งหมด  2 คน คนที่เสียเป็นคนโต  เขาไปเรียนอยู่กรุงเทพ ครอบครัวก็ส่งเสีย พอเรียนจบเข้าได้ทำงาน ที่ธนาคารเกียรตินาคินฯ อยู่ที่กรุงเทพต่อและเขาดูแลตัวเอง และส่งเงินมาให้พ่อแม่ และน้อง  พอเขาเสีย เราไม่มีรายได้จากตรงนั้น ตอนนี้คุณพ่อก็ไม่ได้ทำงานแล้ว           วันที่เกิดอุบัติเหตุ คือวันที่ 2 มกราคม ปี 2560  มีคนโทรมาบอกช่วงบ่าย ตอนแรกไม่เชื่อแต่พอได้ดูกล้องวงจรปิดของบริษัทรถตู้ ตอนที่เขาไปขึ้นรถตู้ที่อำเภอเมือง จันทบุรี  เลยรู้ว่าลูกชายเราขึ้นรถตู้คันนั้นไปด้วย จุดเริ่มต้นของการฟ้องคดี เริ่มได้อย่างไร         พอเกิดเรื่อง เราเสียใจมากๆ ทุกครอบครัวก็เหมือนกัน เป็นความสูญเสียที่ไม่มีอะไรมาทดแทนได้ พี่ไม่ได้เริ่มต้นอะไร เราสูญเสียแต่เราไม่รู้ว่า จะเรียกร้องตรงนี้ได้จากใคร  เราคิดว่าสิทธิของเราอยู่แค่นั้นคือมีบริษัทจากประกันรถยนต์เขาเข้ามาชดเชยให้ ตอนแรกเราไม่ได้เริ่มต้นที่จะรวมตัวแล้วไปเรียกร้อง เพราะเราไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร แล้วเรามีสิทธิ์อะไรนอกจากนี้         จนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเข้ามาเสนอ ให้คำแนะนำ มูลนิธิมองว่า เราควรจะได้รับการเยียวยา ช่วยเหลือมากกว่านี้  เราไม่รู้จักมูลนิธิเลย มูลนิธิฯ ลงมาหาครอบครัวผู้เสียหายหลายครั้ง ให้ความช่วยเหลือ เราก็คิดว่าเราไม่มีอะไรจะเสียไปมากกว่านี้แล้ว เมื่อมูลนิธิเข้ามาช่วยเหลือ แล้วถ้าเรามีสิทธิ์จริง เราคงจะทำเองไม่ได้นะ  เรามีกำลังใจขึ้นมาจึงตัดสินใจดำเนินการ มูลนิธิฯ ดำเนินการให้ทั้งหมด เพราะกลุ่มผู้เสียหายเราไม่รู้จักกันเลยตอนแรก มูลนิธิเริ่มรวบรวมแต่ละครอบครัวๆ เราเลยได้รู้จักมูลนิธิจากตรงนี้  อุบัติเหตุเกิดต้นปี 60 ภายในปีเดียวกัน เราก็ฟ้องคดี ระหว่างการต่อสู้ทางคดี ครอบครัวประสบกับอะไรบ้าง  มีปัญหาอุปสรรคอะไรไหม         มีหลายอย่างมากๆ  เรามีความไม่สะดวกหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการเดินทาง  ต้องลางาน    สำหรับพี่นะ แล้วในกลุ่มแต่ละคนก็หลากหลายมาก  คนอื่น เขาก็อยู่ไกลกว่าพี่ เขาเดินทางลำบาก เพราะเราไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน บางคนอยู่ต่างอำเภอ บางคนอยู่สวนลึกๆ เขาไม่สะดวก เขาไม่มีรถยนต์ เขาเดินทางลำบากมาก  แต่ละครั้งเราก็มาตามที่ศาลนัดกันครบ  ระหว่างที่รอคอยการสิ้นสุดคดี มีปัญหาตรงที่ เราไม่รู้ว่าคดีจะจบลงอย่างไรด้วย  ทางฝั่งจำเลย เราคิดว่าเขายื้อคดี เพราะเขาไม่มาศาลบ่อยมาก แล้วเขาสู้จนถึงศาลฎีกา ทำให้ระยะเวลามันยาวนานมาก  เรารอคอย คอย ถึงเวลาที่ไปศาลเราก็รวมตัวกันไป ปีแล้ว ปีเล่า เราคอยด้วยความหวัง แต่เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่  รอคอยมา 6 ปี คิดว่านี่คือเรื่องสำคัญ แม้ดูเลือนลางแต่ลึกๆ เราต้องรอคอยด้วยความหวัง   แต่ในที่สุด ทุกคนในกลุ่มรวมกลุ่มอยู่ด้วยกันจนถึงวันที่คดีสิ้นสุด          เราก็สู้มาตลอดเลย  มูลนิธิให้กำลังใจว่าอย่าท้อ  จริงๆ เราในกลุ่มหลายคน เราเริ่มท้อกันตั้งแต่ปีที่ 2 ปีที่ 3 แล้ว  หลายคนเราไม่มีเงินไปศาล ต้องไปหยิบยืมเงินคนอื่น แล้วไปศาลแล้วต้องไปอีกกี่ปี ก็มีความคิดแบบนี้ แต่ถึงที่สุดแล้ว เราก็อยู่กันจนครบ ต้องบอกว่าเรามี 2 กลุ่ม กลุ่มที่เราฟ้องกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเรายังอยู่กันจนครบ ทั้งหมด เรามีกัน 14 คน รวมทั้งพ่อแม่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ามาช่วยเหลืออย่างไรบ้าง         เรื่องค่าใช้จ่ายในการทำคดีต่างๆ ไม่มีเลย ไม่มีค่าใช้จ่าย มูลนิธิไม่เรียกร้องเลยออกให้หมดเลย  เขาไม่เรียกร้องอะไรเลย เวลาเดินทาง กรณีพี่นะเราต่างคนต่างไป เรานัดเจอกันที่ศาล พี่ยังสะดวกว่าบ้านพี่อยู่ในตัวเมืองและขึ้นศาลที่ตัวจังหวัดจันทบุรี แต่คนอื่นๆ ต้องออกมาจากสวน หรือเขาอยู่ในอำเภอที่ไกลๆ ก็จะลำบาก อยากฝากอะไรถึงสังคม หรือประชาชน         พี่ว่าควรมีหน่วยงานที่ออกมารับผิดชอบเมื่อเกิดเหตุแบบนี้ขึ้น เพราะ บางครอบครัวเขาไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นจากตรงไหน หน่วยงานควรจะออกมช่วยเหลือ แนะนำว่าเราควรทำอะไร สิทธิของเรามีอะไรบ้าง  เรียกร้องค่าเสียหายจากใครก็ได้ ถ้าเราไม่มีมูลนิธิเข้ามาช่วยเหลือ เราไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือเลย เราสูญเสียลูกไป แล้วใครต้องรับผิดชอบบ้าง  ประชาชนทั่วไปไม่รู้ เราอยากให้สังคมมีระบบที่รับผิดชอบชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์มากกว่านี้ เพราะขนาดเรามีกลุ่มมูลนิธิมาช่วย  เรายังต้องคอยมาถึง 6 ปี  บางครอบครัว 6 ปี นานมาก เขาสูญเสียคนที่หารายได้ เลี้ยงดูครอบครัว แล้วยังไปขอยืมกู้หนี้ ยืมสินมาสำรองระหว่างที่เราต้อสู้คดี  เวลาที่รอคอยมีค่าใช้จ่ายหลายอย่าง อยากให้รับผิดชอบกับชีวิตประชาชนให้มากกว่านี้ อาจเป็นรูปแบบกองทุน เพื่อสำรองจ่ายให้บางครอบครัว  เขาไม่ได้มีเงิน แต่ถ้ามีกองทุนสำหรับช่วยเหลือตรงนี้ สำรองจ่ายให้แต่ละครอบครัว ไม่ใช่ว่า ให้เราดำเนินการเอง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 ปัญหาเมื่อมอเตอร์ไซค์ถูกชน

        หลายคนน่าจะใช้รถมอเตอร์ไซค์ในชีวิตประจำวัน บางครั้งอาจเกิดอุบัติเหตุและไม่รู้ว่าจะสามารถเรียกค่าชดเชยหรือค่าเสียหายอะไรจากอุบัติเหตุได้บ้าง มาดูสิว่า หากเกิดอุบัติเหตุจากมอเตอร์ไซค์ถูกชน ขึ้นแล้ว เราเจ้าของรถจะสามารถเรียกร้องอะไรได้บ้าง         ช่วงเปิดเทอมคุณนิดหน่อย มีภารกิจหลักคือรับหน้าที่รับส่งลูกชายไป-กลับจากโรงเรียน เช้าวันจันทร์คุณนิดหน่อยขับรถมอเตอร์ไซค์ไปส่งลูกชายที่โรงเรียนซึ่งเหตุการณ์เรียบร้อยดี แต่ทว่าขากลับจากโรงเรียนเธอผ่านร้านขนมริมทางที่ลูกชายชอบกินจึงแวะซื้อขนม เพื่อไว้ให้ลูกชายรับประทานในช่วงกลับจากโรงเรียน  คุณนิดหน่อยจอดรถมอเตอร์ไซค์ไว้ข้างทางบริเวณหน้าร้านขนม ขณะที่นั่งรอขนมบนรถมอเตอร์ไซค์นั้นเองมีมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งพุ่งมาชนเธอจนหล่นจากมอเตอร์ไซค์ เธอได้รับบาดเจ็บ หัวโนและมีแผลถลอกตามตัว งงๆ อยู่สักพักจากนั้นก็มีทีมกู้ภัยนำเธอส่งโรงพยาบาลเมื่อถึงโรงพยาบาลคุณหมอให้การรักษาเบื้องต้น หลังจากเห็นว่าไม่มีอาการร้ายแรงมาก ได้ให้เธอกลับบ้านก่อน  บอกว่าให้คอยสังเกตอาการว่า มีอาการอาเจียนหรือแน่นหน้าอกหรือไม่ ถ้ามีให้รีบกลับมาโรงพยาบาล คุณนิดหน่อยไม่มีอาการแบบหมอบอก แต่เมื่อถึงบ้านแล้วเธอมีอาการตามซ้ายบวมจนตาปิดจึงกลับไปโรงพยาบาลอีกครั้ง พอถึงตรงนี้คุณนิดหน่อยจึงเริ่มคิดได้ว่า เธอสามารถเรียกร้องอะไรจากคู่กรณีได้บ้างนะ จึงปรึกษาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีรถมอเตอร์ไซค์ชนกัน รถมอเตอร์ไซค์จะมีประกันภาคบังคับอยู่แล้วตาม พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ โดยจะชดเชยค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน สามารถเบิกจ่ายได้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิด ครอบคลุมทั้งคนขับและคนซ้อน โดยจ่ายตามค่าใช้จ่ายจริง วงเงินไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน แต่ถ้าพิสูจน์แล้วว่าเป็นฝ่ายถูก จะชดเชยค่ารักษาพยาบาล จ่ายตามค่าใช้จ่ายจริง วงเงินไม่เกิน 80,000 บาท         นอกจากนี้ผู้ร้องยังสามารถเรียกค่าเสียหายอื่นๆ เช่น ค่าซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ ค่าทรัพย์สินที่เสียหายจากการเกิดเหตุรถชน เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือโน้ตบุ๊ค ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ กรณีที่รถที่ถูกชนไม่สามารถที่จะใช้งานได้เนื่องจากเกิดความเสียหายจากอุบัติเหตุ ผู้ร้องสามารถเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ต่อการใช้รถหรือค่าขาดประโยชน์จากการซ่อมได้ เช่น ต้องนั่งรถแท๊กซี่ไปทำงานแทนการใช้รถคันที่ถูกชนหรือ ค่าขาดประโยชน์ในการหารายได้ เช่น ทำงานได้วันละ 300 บาท สามารถเรียกได้ 300 บาทตามจริ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 รถบัสประจำทางชนแล้วหนี ผู้โดยสารมีสิทธิ์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้

        เมื่อผู้โดยสารประสบอุบัติเหตุจากการโดยสารรถสาธารณะ แล้วเจ้าของรถหรือประกันภัยไม่ยอมจ่ายค่าสินไหมให้ตามสิทธิ์ที่ผู้เสียหายพึงจะได้รับ ผู้โดยสารสามารถยื่นฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการประกันภัยและผู้ประกอบธุรกิจรถโดยสารได้                  คุณวิมลศรีเองก็เพิ่งทราบข้อมูลนี้ หลังจากที่เมื่อต้นปี 2562 รถบัสโดยสารประจำทาง สุพรรณบุรี-นครสวรรค์ ที่เธอนั่งมานั้นเกิดอุบัติเหตุรุนแรง เพราะคนขับตีนผีซิ่งไปชนท้ายของรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ บรรทุกนั่งร้านเหล็กมาเต็มคันรถที่จอดอยู่ข้างทาง บนถนนทางหลวงหมายแลข 340 สุพรรณบุรี-ชัยนาท ส่งผลให้คุณวิมลศรีกับญาติอีกคนที่มาด้วยกันได้รับบาดเจ็บสาหัส รวมทั้งยังมีเพื่อนร่วมชะตากรรมที่ได้รับบาดเจ็บมากบ้างน้อยบ้างติดอยู่ภายในรถอีกเกือบ 10 คน ซึ่งหลังจากเกิดเหตุแล้ว คนขับรถโดยสารก็หลบหนีไป คุณวิมลศรีเกรงว่าจะต้องเจ็บตัวฟรี จึงมาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ แนะนำให้ยื่นเรื่องฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค โดยมีคุณวิมลศรีเป็นโจทก์ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก คนขับรถโดยสารเป็นจำเลยที่ 1 บริษัท ขนส่ง จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 3 ซึ่งในข้อเท็จจริงทางคดีคือ โจทก์ใช้บริการจำเลยทั้ง 3 ในเส้นทางจังหวัดสุพรรณบุรีไปนครสวรรค์ ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วไปอัดท้ายรถพ่วง จนทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส และคดีนี้ไม่ใช้ทนาย มีเจ้าหน้าที่มูลนิธิรับมอบอำนาจเป็นผู้ฟ้องคดีแทน โจทก์ฟ้องเรียกเงิน 715,968 บาท นัดไกล่เกลี่ยกับจำเลยที่ 1 จนได้ข้อตกลงร่วมกันว่า จำเลยทั้ง 3 ยอมจ่ายให้ 400,000 บาท โจทก์จึงถอนฟ้อง เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 แค้นรักสลับชะตา : คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต

          เป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้วที่ “วิทยาศาสตร์” ได้สถาปนาขึ้นมาเป็นระบบคิดหลักของสังคมมนุษย์ วิทยาศาสตร์ตั้งอยู่บนฐานคิดที่เชื่อในเรื่องเหตุผล การพิสูจน์ความจริงเชิงประจักษ์ และความก้าวหน้าของการคิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเอื้อให้มนุษย์สามารถเอาชนะธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติทั้งปวง         ในโลกตะวันตก “ยุคมืด” แห่งการผูกขาดความรู้โดยคริสตจักรและความเชื่อเหนือธรรมชาติตามลัทธิเทวนิยมได้ถือครองโลกตะวันตกมานับหลายร้อยปี แต่ภายหลังที่เกิดการปฏิวัติทางความรู้ วิทยาศาสตร์ได้ใช้ข้ออ้างว่า เหตุผลและความจริงเชิงประจักษ์เท่านั้นที่จะเป็นคำตอบไปสู่ความก้าวหน้าของมวลมนุษยชาติในกาลสมัยใหม่ได้ ในขณะที่ศาสนาและความเชื่อพระเจ้าแบบดั้งเดิมได้ถูกผลักให้กลายเป็นเรื่องล้าหลังงมงาย พิสูจน์จับต้องไม่ได้ และค่อยๆ ถูกลดทอนอำนาจในการอธิบายโลกแห่งความรู้ของมนุษย์ลงไป        ทว่า คำอธิบายข้างต้นนั้นดูจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องนักสำหรับปรากฏการณ์ของการสลับร่างระหว่างตัวละคร “เตช” กับ “ภศวรรษ” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “แค้นรักสลับชะตา”         เปิดฉากของเรื่องขึ้นมา ละครได้แนะนำให้รู้จักกับเตช ตัวละครหนุ่มหล่อไฮโซ ลูกชายหัวแก้หัวแหวนของ “ธนภพ” และ “ฐิติยา” เจ้าของธุรกิจโลจิสติกส์ที่ร่ำรวย หลังจากเรียนจบวิศวกรรมการบินจากต่างประเทศ เตชก็มุ่งมั่นที่จะเป็นกัปตันเครื่องบิน และคาดหวังจะลงเอยใช้ชีวิตคู่กับ “กุลนิษฐ์” คุณหมอนิติเวชสาว         ตัดสลับกับภาพของภศวรรษ ดาราชายหนุ่มหล่อ ผู้ที่ทั้งเจ้าชู้ กะล่อน เห็นแก่ตัว และรักใครไม่เป็น เพราะตั้งแต่เด็กนั้น เขาได้รับแต่ “พลังด้านลบ” จากการตั้งแง่รังเกียจของ “สุนัย” ผู้เป็นบิดา โดยที่ตนเองก็ไม่ทราบสาเหตุ จนเลือกชีวิตอีกด้านเป็นคนรับเดินยาเสพติดให้กับแก๊งมาเฟีย และแม้เขาจะคบหาอยู่กับแฟนนางแบบสาวอย่าง “จินนี่” แต่ลึกๆ ภศวรรษก็ไม่เคยเชื่อว่า โลกนี้จะมีใครที่จริงใจและรักเขาจริงๆ         กับชายหนุ่มสองคนที่อยู่กันคนละโลกและคนละเงื่อนไขชีวิต แต่ก็เหมือนถูกสวรรค์เบื้องบนลิขิตให้ต้องโคจรมาพบกัน เพราะในคืนหนึ่งซึ่งเป็นวันพระจันทร์กลายเป็นสีแดง ทั้งคู่ประสบอุบัติเหตุรถยนต์กับมอเตอร์ไซค์ชนกัน ทำให้เตชกับภศวรรษเกิดการสลับร่าง โดยที่วิญญาณของพระเอกหนุ่มทั้งคู่ได้สลับไฟล์ไปอยู่ในร่างของอีกคนหนึ่ง         จากนั้น ปมขัดแย้งของเรื่องก็ผูกขมึงเกลียวยิ่งขึ้น เพราะไม่เพียงแค่ “ร่าง” จะต้องสลับกัน แต่ “ชะตาชีวิต” ของทั้งคู่ก็ต้องสลับปรับเปลี่ยนไปด้วย ดังนั้น เตชผู้ที่ถูกพรากไฟล์ชีวิตไปทั้งหมด จึงพยายามหาทางกลับคืนร่างของเขา ในขณะที่ภศวรรษผู้ซึ่งได้ลิ้มรสชีวิตใหม่เป็นลูกเศรษฐีไฮโซ แถมมีคนรักเป็นหมอสาวแสนสวย ก็ไม่อยากจะย้อนกลับไปเดินทางบนชะตาชีวิตเส้นเดิม         แต่ในท่ามกลางความขัดแย้งของเส้นเรื่องที่ดำเนินไปนี้ ละครก็ค่อยๆ เฉลยให้เห็นว่า แท้จริงแล้วทั้งเตชและภศวรรษเป็นพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน โดยมีจุดเริ่มต้นของความสับสนในชะตาชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปรพลิกผันมาจากความรักความแค้นที่สืบเนื่องมาตั้งแต่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเขาเอง         จุดชนวนเริ่มต้นมาจากความรักที่มีรอยแค้นสลักฝังอยู่ เพราะครั้งหนึ่งสุนัยกับฐิติยาเคยเป็นคนรักเก่ากันมา แต่ด้วยสถานะที่ยากจนกว่า ธนภพจึงใช้อำนาจเงินพรากฐิติยาไป จากความรักจึงเปลี่ยนเป็นความแค้น สุนัยก็ได้แต่รอวันที่จะกลับมาทำให้ธนภพต้องเจ็บปวดแบบที่ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกอีกฝ่ายกระทำมา         หลังเรียนจบและได้มาเป็นหมอทำกิฟต์ชื่อดัง ความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์ผนวกกับแรงรักแรงแค้นที่ฝังแน่นเอาไว้ ทำให้หมอสุนัยผู้มีอหังการว่า ตนสามารถเป็นประหนึ่ง “พระเจ้า” ผู้ให้กำเนิดสรรพชีวิตได้ รอคอยวันที่จะใช้ความรู้ของเขาล้างแค้นธนภพกับอดีตหญิงคนรักของตน         ดังนั้น เมื่อธนภพกับฐิติยามาขอคำปรึกษาเรื่องที่ทั้งคู่มีบุตรยาก สุนัยจึงตัดสินใจแก้แค้นด้วยการแอบทำกิฟต์เด็กทารกชายขึ้นมาสองคนพี่น้อง ซึ่งก็คือเตชกับภศวรรษ ที่คนแรกเป็นลูกชายของเขา กับอีกคนที่เป็นบุตรของธนภพ จากนั้นจึงสลับชาติกำเนิดของเด็กทั้งสองให้ไปอยู่ในครอบครัวของอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้ลูกของตนได้ไปใช้ชีวิตในครอบครัวเศรษฐีผู้มั่งคั่ง และตนก็เลี้ยงลูกชายของศัตรูหัวใจให้เผชิญอยู่แต่กับทุกขเวทนา         ในทางหนึ่ง เส้นเรื่องหลักของละครจะเน้นให้ผู้ชมได้ลุ้นและตื้นเต้นไปกับชะตาชีวิตที่พลิกผัน เพราะเตชก็ต้องมาเผชิญกับด้านมืดในชีวิตที่ภศวรรษก่อไว้ ในขณะที่ภศวรรษก็ได้เปลี่ยนสถานะสลับมาใช้ชีวิตอันอู้ฟู่หรูหรา จนไม่อยากจะสลับคืนกลับไปอยู่ในร่างเดิม ซึ่งนั่นก็คือการให้คำตอบแบบที่ตัวละครต่างก็มักจะพูดอยู่เสมอว่า “ชีวิตเราจะดีหรือไม่ดี ก็อยู่ที่ตัวเรา ไม่ใช่อยู่ที่ว่าเราจะอยู่ในร่างของใคร”         แต่ในอีกทางหนึ่ง ละครเองก็ได้ชี้ชวนให้เราตั้งคำถามไปด้วยว่า ปรากฏการณ์แบบคืนวันพระจันทร์แดงที่ดูเหนือจริง และทำให้ชายหนุ่มสองคนสลับชะตาชีวิตกันได้เยี่ยงนี้ ก็ช่างท้าทายคำอธิบายของวิทยาศาสตร์ที่ธำรงพลานุภาพในโลกแห่งความรู้ของสังคมสมัยใหม่         ในขณะที่เตชผู้เติบโตมากับโลกความจริงและเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ เพราะเขาเป็นทั้งวิศวกรการบินและมีหมอนิติเวชสาวเป็นแฟน ส่วนภศวรรษก็มีชีวิตอยู่กับโลกสมมติและอารมณ์ความรู้สึก ที่เขาเป็นดารานักแสดง แถมมีแฟนสาวเป็นนางแบบที่มีชื่อเสียง เมื่อได้สลับร่างกัน ทั้งคู่ก็พบว่า ความจริงและเหตุผลหาใช่จะอยู่เหนือกว่าสิ่งสมมติและอารมณ์ แต่ทว่าพรมแดนของทั้งสองโลกนี้อาจมีเพียงเส้นกั้นบางๆ ที่พร้อมจะผนวกข้ามไขว้ไปมาได้เช่นกัน         และพร้อมๆ กันนี้ ในขณะที่ละครได้เผยในท้ายเรื่องว่า เศรษฐีผู้มั่งคั่งอย่างธนภพก็มีเบื้องหลังเป็นผู้บงการใหญ่ของธุรกิจค้ายาเสพติด ตัวของหมอสุนัยเองที่เชื่อมั่นในความรู้แบบวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ได้เรียนรู้ด้วยว่า ชะตาชีวิตของคนเราไม่อาจกำกับให้อยู่ใต้อาณัติของมนุษย์ไปได้เลย เพราะแม้วิทยาการการแพทย์จะให้ปฏิสนธิตัวอ่อนชีวิตของมนุษย์ขึ้นมาได้ก็ตาม แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งคืนวันพระจันทร์แดงก็พร้อมที่จะทำให้ชะตาชีวิตของคนเราผันไปตามที่เบื้องบนกำหนดเอาไว้แล้ว         ภาษิตจีนโบราณเคยกล่าวเอาไวว่า “คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต” คำกล่าวนี้ก็อาจใช้เตือนผู้คนในโลกสมัยใหม่ได้ว่า แม้วิทยาการความรู้จะทำให้มนุษย์คิดคำนวณและมีอหังการอยู่เหนือธรรมชาติขึ้นได้ก็จริง แต่ลิขิตแห่งสรวงสวรรค์ก็ยังคงมีอำนาจเหนือเงื้อมมือเล็กๆ ของคนเราอยู่วันยังค่ำ         และในฉากจบของเรื่อง ชายหนุ่มสองคนได้ตัดสินใจไม่สลับร่างกลับคืน ก็เพราะ “ทุกอย่างมันถูกที่ถูกทางของมันไปแล้ว” แต่ที่สำคัญ คำกล่าวของ “ลุงชาติ” บ่าวรับใช้ของหมอสุนัยที่ผ่านชีวิตมานานช่างถูกต้องยิ่งนักว่า “ทุกอย่างได้ถูกกำหนดมาแล้ว ไม่มีใครฝืนโชคชะตาได้…คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่สุดท้ายทุกอย่างมันก็เกิดขึ้นจริง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 รถชนเสาไฟ ไม่มีคู่กรณี จะตายและเจ็บฟรีไหม ?

        คุณวิษรุตยังเห็นภาพอุบัติเหตุเมื่อคืนส่งท้ายปีเก่า 2563 ที่จังหวัดระยองได้ชัดเจนในความทรงจำ แม้วันนี้ดวงตาของเขาจะมองไม่เห็นแล้วก็ตาม        วันนั้นเขาซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์เพื่อนเพื่อกลับบ้าน ขณะที่เพื่อนขี่รถเข้าไปในซอยด้วยความเร็ว พอถึงทางเลี้ยวโค้งรถเกิดเสียหลักไปชนกับเสาไฟฟ้าอย่างแรง เพื่อนของเขาเสียชีวิตคาที่ ส่วนตัวเขาบาดเจ็บสาหัส เคราะห์ดีที่ทางกู้ภัยมาช่วยได้ทันการณ์ ส่งเขาไปรักษาที่โรงพยาบาลระยอง โดยในเบื้องต้นได้ใช้สิทธิรักษาพยาบาลตาม พ.ร.บ.ภาคบังคับเต็มตามจำนวน 80,000 บาท จากนั้นได้ใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มจากจำนวนเงินค่ารักษาที่เกิน         แม้จะรอดตายมาได้แต่คุณวิษรุตเองยังกังวลว่าอาจจะกลับไปทำมาหากินไม่ได้เหมือนเดิม เพราะแขนข้างซ้ายไม่มีแรงคล้ายเป็นอัมพาตและตาก็มองไม่เห็น ยิ่งอุบัติเหตุครั้งนี้ไม่มีคู่กรณีด้วยแล้ว เขาเลยอยากรู้ว่าตัวเองยังพอมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยอะไรได้อีกบ้างไหมในเหตุการณ์นี้ เขาจึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        1. เพื่อนของคุณวิษรุต ซึ่งเสียชีวิตและเป็นคนขี่รถจักรยานยนต์จะได้รับเงินเบื้องต้น 35,000 บาท         2. ส่วนคุณวิษรุตตอนนี้แขนซ้ายคล้ายเป็นอัมพาตและตามองไม่เห็น เมื่อไม่มีคู่กรณีก็ต้องกลับมาดู พ.ร.บ.ภาคบังคับ ซึ่งคุณวิษรุตเป็นผู้นั่งซ้อนท้ายสามารถเบิกได้ตาม พ.ร.บ รถจักรยานยนต์ แต่ต้องให้แพทย์ระบุออกมาให้แน่ชัดก่อนจึงค่อยแจ้งกับทางประกัน ถ้าเป็นทุพพลภาพถาวรก็จะได้รับเงินเท่ากับการเสียชีวิต คือ 500,000 บาท แต่ถ้าสูญเสียอวัยวะก็จะได้ตาม พ.ร.บ. ภาคบังคับที่ระบุไว้         ล่าสุด คุณวิษรุตกำลังรอผลตรวจจากแพทย์เพื่อยืนยันความสามารถในการมองเห็นของเขาอีกครั้ง ถ้าแพทย์ระบุว่าเขาตาบอดจริง ก็จะนำใบรับรองผลไปยื่นทางประกันเพื่อขอรับค่าชดเชยได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 หยุดเร็ว หยุดตาย หยุดประกาศ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

        ทำไมเสียงคัดค้าน ความเร็วรถยนต์ 120 กิโมตรต่อชั่วโมง ของรัฐมนตรีคมนาคมถึงเงียบเชียบมาก คงไม่ต้องหาสาเหตุว่าเพราะอะไร แน่นอนว่าถ้าประเทศไทยให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน เราไม่ควรยอมให้เพิ่มความเร็วในการขับขี่รถยนต์         ย้อนกลับไปเมื่อปลายปีที่แล้ว คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดความเร็วของยานพาหนะ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งเป็นการกำหนดความเร็วในการขับรถในทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงชนบท ที่มีทางเดินรถแบบจัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่ 2 ช่องเดินรถ มีเกาะกลางถนนเฉพาะแบบกำแพงกั้น (Barrier Median) และไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน รวมทั้งการกำหนดความเร็วขั้นต่ำ สำหรับการขับรถในช่องเดินรถช่องทางขวาสุดในทางหลวง โดยรถยนต์สามารถให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะเดียวกันได้กำหนดความเร็วขั้นต่ำสำหรับช่องขวาสุดของทางเดินรถในทางหลวง ซึ่งแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันตั้งแต่ 2 ช่องทางขึ้นไปไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคการขนส่งและจราจรของประเทศ สามารถแก้ไขปัญหาจราจรให้มีความคล่องตัวมากขึ้น         ต้นเดือนมีนาคมผ่านมา ก่อนเทศกาลสงกรานต์ ได้มีราชกิจจานุเบกษา ประกาศเพิ่มเติมให้ถนนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 32 บางปะอิน-พยุหะคีรี (ช่วงอยุธยา-อ่างทอง) ระหว่าง กม.4+100 ถึง กม.50+000 ทั้งขาเข้าและขาออก รวมระยะทาง 45.9 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่ใช้อัตราความเร็วยานพาหนะได้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง         ความเร็ว เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาอุบัติเหตุรุนแรงที่สำคัญ นอกเหนือจากปัญหาคนขับรถหลับใน ถนนที่ไม่ปลอดภัย และรถยนต์ที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยทั้งหลาย         ข้อมูลรณรงค์ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เรื่องความปลอดภัยทางถนนให้ข้อมูลว่า หากคนขับรถมอเตอร์ไซด์ที่ขับเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่ากับการตกจากตึกสูง 8 ชั้น         อันตรายและกระทบจากการขับขี่รถยนต์ด้วยความเร็วสูง ที่สำคัญ คือ แรงปะทะ ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน เมื่อใช้ความเร็วสูง แรงปะทะย่อมสูงตามไปด้วย ซึ่งส่งผลทำให้ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ปัญหาต่อการหยุดรถ การขับขี่รถยนต์ด้วยความเร็วสูง แล้วไปพบเจอเหตุที่ไม่คาดฝันจะทำให้ระยะการเบรก หรือหยุดรถสั้นลง อาจทำให้ตนเอง และเพื่อนร่วมทางได้รับอันตราย ปัญหาการตัดสินใจ ทำให้ระยะเวลาในการตัดสินใจสั้นลงจากความเร็ว ทั้งหมดย่อมเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ         หลายเรื่อง องค์กรผู้บริโภค สนับสนุนคุณศักดิ์สยาม เช่น ราคารถไฟฟ้าที่ถูกลง หรือการมีแนวทางให้ประชาชนสามารถใช้ขนส่งมวลชนแต่ละวันไม่เกิน 30 บาท แต่การเพิ่มความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขอค้านหัวชนฝา เพราะการเพิ่มความเร็วย่อมเพิ่มความเสี่ยงให้กับทุกคนบนท้องถนน ทั้งคนขับ คนโดยสาร บุคคลที่ 3 ความเสี่ยงอีกมากมาย จะอ้างว่า คนชับ 120 กิโลเมตรอยู่แล้ว เพียงทำให้ถูกต้องคงฟังไม่ขึ้น เหมือนกับบอกว่า คนไม่สามารถทำตามกฎหมายได้ ต้องแก้กฎหมาย แทนที่จะช่วยกันทำให้คนรู้กฎหมาย หรือบังคับใช้กฎหมายให้มากขึ้น คนขับรถเร็วลดลง เพิ่มความปลอดภัยในท้องถนนมากขึ้น หรือถ้าไปถึงรากของปัญหา ทำให้คนใช้รถส่วนตัวน้อยลง ใช้บริการขนส่งมวลชนมากขึ้นนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 เบาะกันกระแทก (จบ)

        ไม่ใช่แค่อายุกับอาชีพเท่านั้นที่เป็นเรื่องสำคัญในการเลือกประกันภัยอุบัติเหตุ เมื่อมันคือการจ่ายเงินเพื่อประกันความไม่แน่นอนในอนาคต เงินที่จ่ายออกไปก็ควรคุ้มค่าที่สุด คุณจึงต้องใส่ใจกับเบี้ยประกันเพราะมันสัมพันธ์กับทุนประกันหรือการคุ้มครองที่จะได้กลับมาเมื่อเกิดอุบัติเหตุ         แน่นอนว่าไม่มีใครอยากจ่ายเบี้ยประกันสูงๆ และแน่นอนด้วยว่าใครๆ ก็อยากการคุ้มครองมากๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน บริษัทประกันมีการประเมินความเสี่ยงให้ผู้ซื้ออยู่แล้ว แต่ตัวเราเองก็ต้องประเมินความเสี่ยงด้วย เช่น นิสัยการขับขี่รถ กีฬาที่ชอบเล่น ผาดโผนมากก็เสี่ยงกว่านั่นแหละ หรือคุณมีภาระรออยู่ข้างหลังหรือเปล่าถ้าคุณประสบอุบัติเหตุจนทำงานไม่ได้ไปช่วงเวลาหนึ่ง เป็นต้น         สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ประเมินได้ว่าเบี้ยประกันและทุนประกันที่เหมาะสมกับตัวเราควรเป็นเท่าไหร่         ต้องไม่ลืมด้วยว่าการประกันภัยอุบัติเหตุเน้นคุ้มครองความเสี่ยงพื้นฐานทั่วไป มันจึงมีเหตุการณ์บางอย่างที่เป็นข้อยกเว้นหรือไม่คุ้มครองซึ่งจะกำหนดอยู่ในกรมธรรม์ เช่น การเข้าร่วมการทะเลาะวิวาท การจลาจล หรือการโดยสารพาหนะที่คนทั่วไปไม่ใช่กันอย่างเฮลิคอปเตอร์ รายละเอียดพวกนี้ต้องอ่านให้ดี         แต่อีกด้านหนึ่งเราก็สามารถขยายความคุ้มครองได้ (ถ้ามีปัญญาจ่ายเบี้ยประกัน) ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดไว้เพียง 5 กรณี ได้แก่        1.การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์        2.การจลาจล การนัดหยุดงาน        3.การสงคราม        4.การโดยสารอากาศยานที่มิได้ประกอบการโดยสายการบินพาณิชย์ (เช่นเฮลิคอปเตอร์นั่นแหละ)        5.การเล่นหรือแข่งกีฬาอันตราย         แล้วอย่าลืมดูด้วยว่าบริษัทประกันที่คุณซื้อมีโรงพยาบาลอยู่ในเครือข่ายประกันอุบัติเหตุครอบคลุมแค่ไหน         สุดท้ายที่ลืมไม่ได้ บริษัทประกันคือธุรกิจ คุณในฐานะผู้ซื้อประกันคือผู้บริโภค บริการหลังการขาย ความน่าเชื่อถือ เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาประกอบด้วย จะได้ไม่กลายเป็นเหยื่อแบบที่มักเห็นตามข่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 เบาะกันกระแทก (2)

        มาว่ากันต่อเกี่ยวกับประกันภัยอุบัติเหตุ (Personal Accident Insurance) หรือที่มักเรียกกันว่าพีเอ เชื่อเหลือเกินว่าหลายคนต้องเคยเจอสถานการณ์ที่บริษัทประกันโทรหา (เอาเบอร์โทรของเรามาจากไหน?) เพื่อเสนอขายประกันให้ บางคนตัดบทปฏิเสธ บางคนเคลิ้มตอบตกลง         การซื้อประกันอุบัติเหตุ (และประกันชนิดอื่นๆ) ไม่ควรใจร้อน มันมีหลายเรื่องที่เราต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับเงื่อนไขชีวิตของตัวเรา ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แยกประกันอุบัติเหตุออกเป็น 2 แบบ คือ แบบ อบ. 1 และ อบ. 2 โดยแบบแรกจะมีความคุ้มครองให้เลือกซื้อ 4 ความคุ้มครอง-การเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ/สายตา การทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง, การทุพพลภาพชั่วคราวสิ้นเชิง, การทุพพลภาพชั่วคราวบางส่วน และการรักษาพยาบาล         ส่วนแบบที่ 2 จะให้ความคุ้มครองเพิ่มจากแบบแรกคือรวมเรื่องการสูญเสียนิ้ว การสูญเสียการรับฟังเสียง/การพูดออกเสียง และการทุพพลภาพถาวรบางส่วน         แต่ถ้าจะเลือกประกันอุบัติเหตุที่เหมาะกับตัวคุณก็มีหลายเรื่องที่ต้องมานั่งพิจารณากัน         อย่างแรกเลยคืออายุ คนอายุน้อยกับคนอายุมาก แน่นอนว่าคนกลุ่มหลังย่อมจ่ายเบี้ยประกันต่ำกว่า แต่อายุก็เป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง ยังต้องดูอีกคุณประกอบอาชีพอะไร เพราะแต่ละอาชีพมีระดับความเสี่ยงต่างกัน อาชีพที่มีความเสี่ยงสูงกว่า เบี้ยประกันสูงกว่า         คปภ. แบ่งชั้นอาชีพในการรับประกันภัยไว้ 4 ชั้น ประกอบด้วย อาชีพชั้น 1 ส่วนใหญ่ทำงานประจำในสำนักงาน อาชีพชั้น 2 ปฏิบัติงานที่ใช้วิชาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้งตลอดเวลา อาชีพชั้น 3 ปฏิบัติงานด้านช่าง กระบวนการผลิต ที่มีการใช้เครื่องจักรกลหนัก ผู้ใช้แรงงาน การเดินทาง หรือทำงานนอกสำนักงานเป็นประจำ และอาชีพชั้น 4 อาชีพพิเศษที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่าชั้นอื่น ๆ เป็นพิเศษ เช่น นักแสดงผาดโผน         ถ้าคุณรู้ว่าอาชีพที่ทำอยู่มีความเสี่ยงระดับไหน มันจะช่วยให้คุณพอจะประเมินได้ว่าทุนประกันภัย-หมายถึงเงินที่จะได้เวลาประสบอุบัติเหตุนั่นแหละ-แค่ไหนที่เหมาะสมกับตัวเอง ต้องการให้ครอบคลุมความคุ้มครอง ค่าใช้จ่าย และผลประโยชน์ในกรณีเสียชีวิตอย่างไร เช่น ถ้าคุณเป็นเครื่องยนต์หลักในการหาเลี้ยงครอบครัว คุณอาจต้องการทุนประกันที่มากกว่า เพื่อช่วยดูดซับแรงกระแทกไม่ให้คนข้างหลังซวนเซ หรือถ้าคุณยังไม่มีครอบครัว มีพี่น้อง และมีพ่อแม่ที่พอมีเงินเก็บอยู่บ้าง ทุนประกันที่คุณต้องการก็อาจไม่จำเป็นต้องมากเท่ากับกรณีแรก เพราะยิ่งทุนประกันสูง เบี้ยประกันก็ยิ่งสูงตาม การคำนึงถึงจุดนี้จะช่วยให้การจ่ายเบี้ยประกันไม่กลายเป็นภาระเกินจำเป็น         เรื่องนี้ยังไม่จบ ไว้มาต่อกันคราวหน้า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 The World Day of Remembrance for Road Traffic Victims

        15 พฤศจิกายน นอกจากจะเป็นวันรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน หรือ The World Day of Remembrance for Road Traffic Victims (WDR) แล้ว ยังเป็นการครบรอบ 15 ปี ของการกำเนิดวันรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนอีกด้วย แต่ด้วยเพราะสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 กิจกรรมรณรงค์ร่วมรำลึกในปีนี้อาจจะดูเงียบเหงาขาดสีสันลงไปบ้าง คงมีเพียงมูลนิธิเมาไม่ขับที่เป็นแกนหลักในการจัดงานรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนทุกปี ขณะที่หน่วยงานหลักของประเทศกลับไม่มีการแสดงออกถึงวาระสำคัญของโลกในวันนี้อีกเช่นเคย         เหมือนทุกปีที่วันรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนหรือที่เราเรียกกันว่า “วันเหยื่อโลก” มีเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนได้ร่วมกันรำลึกถึงผู้เสียชีวิตและผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลก เพราะอุบัติเหตุทางถนนเกิดไม่ได้เลือกเกิดขึ้นเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เกิดได้กับทุกคนไม่ว่าจะรวยล้นฟ้า ดารานักแสดงหรือแม้แต่คนเดินถนนทั่วไป         ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนตลอดปี พ.ศ. 2563 ผ่านการเบิกจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 12,990 คน และบาดเจ็บ 855,415 คน ผ่านมาเกือบครบปีแล้ว แม้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะลดน้อยลง อาจเพราะผลสืบเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดการล็อกดาวน์ประเทศ ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม มีจำนวนลดลง แต่เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างเริ่มคลี่คลายทุกคนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนก็ดีดตัวกลับพุ่งขึ้นมาแรงเหมือนเดิม         โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และเมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้หลายฝ่ายคาดว่า หากไม่ทำอะไรจริงจัง ในช่วงปลายปีไตรมาสสุดท้ายจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนอาจจะพุ่งแตะใกล้เคียงสองหมื่นคนเหมือนในปีที่ผ่านมาก็เป็นได้         ทั้งนี้ตัวเลขการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวน 12,990 คน ข้างต้นยังไม่ได้รวมกรณีเกิดเหตุแล้วไม่ใช้สิทธิ หรือ รถไม่มีประกัน พ.ร.บ. รวมถึงยังไม่ใช่ตัวเลขจากระบบ 3 ฐาน ที่ประกอบด้วย ข้อมูลจากมรณบัตรและหนังสือรับรองการตาย ที่เป็นระบบลงทะเบียนการตายของผู้เสียชีวิตทุกรายที่มีการแจ้งตาย ข้อมูลจากระบบ POLIS ที่เป็นระบบบันทึกข้อมูลคดี และข้อมูลจากระบบ E-Claim ที่เป็นระบบบันทึกข้อมูลสำหรับเบิกจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน เพื่อให้ได้ข้อมูลการตายที่มีความครอบคลุมมากที่สุด         เพราะหากกลับไปย้อนดูข้อมูลการเสียชีวิตของอุบัติเหตุทางถนนจากข้อมูล 3 ฐาน ย้อนหลัง 4 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2562 พบว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงเล็กน้อย คือ 21,745 > 21,607 > 19,331 และ 19,904 คน ตามลำดับ แต่ที่น่าตกใจ คือ ยังอยู่ในระดับเกือบ 20,000 คน ต่อปี หรือคิดเป็นวันละ 55 คนทุกวัน และเกือบ 70% ของผู้เสียชีวิตเกิดจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ขณะที่อีกประมาณ 3,000 คน ต่อปีที่เสียชีวิตเป็นเด็กและเยาวชน หรือเท่ากับโรงเรียนขนาดใหญ่ปีละ 1 โรงเรียนที่หดหายไป         ในแต่ละปีประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเกือบ 20,000 คน หากพิจารณามูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ กรณีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส ข้อมูลโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า การเสียชีวิตมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 10 ล้านบาทต่อราย และการบาดเจ็บสาหัสมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 3 ล้านบาทต่อราย และถ้าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในปี พ.ศ. 2562 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 19,904 คน จะคิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากถึง 119,040,000,000 (หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นเก้าพันสี่สิบล้านบาท) และอาจถึง 200,000 ล้านบาท หากรวมมูลค่าความเสียหายทั้งบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตไว้ด้วยกัน         ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนจึงไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนนึง และไม่ใช่เรื่องที่ต้องฝากความหวังไว้กับรัฐบาลเพียงอย่างเดียว เพราะที่ผ่านมาสิบปีทศวรรษความปลอดภัยทางถนน (พ.ศ. 2554 - 2563) ตามข้อตกลงปฏิญญามอสโกที่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องลดอัตราการเสียชีวิตลงครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยล้มเหลวไม่เป็นท่า          รัฐบาลมีโอกาสแก้ตัวต่อจากนี้อีกสิบปี กับการจัดการความปลอดภัยทางถนนภายใต้กรอบ “ปฏิญญาสตอกโฮล์ม” พ.ศ. 2564 – 3573 และเป้าหมายระดับโลกในการลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50 ที่ต้องลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงให้ได้เหลือ 10,000 คนต่อปีภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าจะไม่ใช่แค่งานอีเว้นท์ประจำปีเน้นเทศกาลเหมือนที่ผ่านมา แต่จะเป็นการจัดการที่เข้มข้นและต่อเนื่องในทุกกลุ่มของผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างที่ทุกคนต้องการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 เหตุสลดซ้ำซ้อนจากอุบัติเหตุที่ตายครั้งละมากๆ

        ตุลาคมปีนี้ไม่ได้มีแค่เม็ดฝนและลมหนาว เพราะนับแต่ย่างก้าวเข้าเดือนตุลาคมเพียงสองสัปดาห์ ประเทศไทยมีอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับระบบขนส่งมวลชนติดต่อกันมากถึง 7 ครั้ง บาดเจ็บรวมมากกว่า 70 ราย เสียชีวิต 20 ราย โดย 1 ใน 20 ของผู้เสียชีวิตเป็นเด็กนักเรียนชั้นประถม 3 ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียน (อีกแล้ว)         ขณะที่เหตุสะเทือนขวัญรถไฟพุ่งชนรถบัสคณะกฐิน เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่ผ่านมา บนทางรถไฟบริเวณจุดตัดทางข้าม (จุดลักผ่าน) สถานีรถไฟคลองแขวงกลั่น จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ไม่มีอุปกรณ์เครื่องกั้นข้ามรางรถไฟ ถือเป็นความรุนแรงอีกครั้งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 18 ราย บาดเจ็บอีกจำนวนมากเกือบ 40 ราย และเช่นเดียวกันที่อุบัติเหตุบนทางรถไฟในลักษณะนี้กลับไม่เคยอยู่ในแผนการแก้ไขปัญหาของรัฐ ทั้งที่เป็นเรื่องเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้จะมีเหตุการณ์ใหญ่เกิดมาก่อนแล้วหลายครั้งก็ตามที         ที่สำคัญสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่มีปัจจัยจากพฤติกรรมเสี่ยงของคนและระบบการจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ เช่น คนขับรถโดยสารไม่คุ้นเส้นทาง บรรทุกผู้โดยสารเกิน เปิดเพลงบนรถเสียงดัง ไม่ได้ยินเสียงหวูดรถไฟ หรือกายภาพของพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยงอันตราย ทางข้ามรางรถไฟเป็นเนินลาดชัน เป็นทางลักผ่านที่ประชาชนใช้จนเคยชิน ต้นไม้ขึ้นปกคลุมบดบังทัศนวิสัยการมองเห็น ขาดระบบป้องกันและจัดการความปลอดภัยในพื้นที่ ไม่มีอุปกรณ์ไม้กั้นหรือมีแต่ไม่ได้เปิดใช้งาน เป็นต้น         เรื่องที่กล่าวถึงข้างต้นล้วนเป็นบทบาทของรัฐที่ต้องกำกับดูแลคุณภาพบริการและมาตรฐานความปลอดภัย เมื่อเกิดเหตุบ่อยครั้งเข้าก็สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างการจัดการและการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกันที่ขาดประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นกรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมการขนส่งทางบก และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีจุดตัดทางข้ามหรือทางลักผ่านในพื้นที่  ตลอดจนปัญหาข้อกฎหมายที่เป็นปัญหาต่อการพัฒนา ล้าหลังไม่ทันสมัยต่อสภาพการณ์ในปัจจุบัน เช่น พระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ.2464 และพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494           และจากเหตุการณ์ครั้งนี้ยังพบปัญหาการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียชีวิตที่ไม่เป็นธรรมอีกด้วย เพราะแม้ว่ารถโดยสารไม่ประจำทางคันเกิดเหตุจะทำ พ.ร.บ.รถ หรือประกันภัยภาคบังคับและประกันภัยภาคสมัครใจที่มีวงเงินคุ้มครองของทั้งสองกรมธรรม์ กรณีผู้เสียชีวิตไว้กรมธรรม์ละ 500,000 บาทต่อราย (ตามคำสั่งนายทะเบียน คปภ. ที่ 10/2563 มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 เมษายน 2563) แต่เมื่อถึงเวลาจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับทายาทผู้เสียชีวิตประกันภัยกลับจ่ายให้เพียง 673,103.44 บาท เท่านั้น โดยเป็นเงินที่ได้รับจากประกันภัยภาคบังคับ  311,551.72 บาท และประกันภัยภาคสมัครใจอีก 361,551.72 บาท ซึ่งตามหลักแล้วผู้เสียชีวิตจะต้องได้รับการชดเชยอย่างน้อยเป็นเงิน 1 ล้านบาทต่อราย         ข้ออ้างที่ บ.ประกันภัยอ้างเหตุจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียชีวิตได้เต็มวงเงินความคุ้มครองกรมธรรม์ละ 500,000 บาทต่อรายไม่ได้นั้น เพราะว่าอุบัติเหตุครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก หากต้องจ่ายเงินชดเชยกรณีเสียชีวิตทุกคนให้ได้เต็มวงเงินประกันภัยจะทำให้มีเงินไม่เหลือพอจ่ายค่าเสียหายในส่วนอื่น ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีค่าเสียหายรวมได้ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อครั้ง จึงต้องเฉลี่ยแบ่งจ่ายให้ทายาทผู้เสียชีวิตแต่ละรายแทน         ซึ่งการที่ บ.ประกันภัยไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนกรณีเสียชีวิตให้ได้เต็มวงเงินความคุ้มครองประกันภัย ด้วยเหตุเพราะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในครั้งเดียว  และกฎหมายกำหนดให้จ่ายค่าเสียหายรวมต่อครั้งของกรมธรรม์ประกันภัยต้องไม่เกิน 10 ล้านบาทนั้น เป็นปัญหาและข้อจำกัดทางกฎหมายที่สะท้อนถึงระบบการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่ไม่เป็นธรรมและกลายเป็นเรื่องละเมิดสิทธิซ้ำเติมให้กับผู้เสียชีวิตทันที โดยเฉพาะความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 (ประกันภัยภาคบังคับ) ที่เป็นความคุ้มครองตามกฎหมาย ยิ่งไม่ควรต้องถูกจำกัดสิทธิด้วยเกณฑ์ขั้นต่ำค่าเสียหายรวมที่กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อครั้ง  และควรที่จะต้องจ่ายชดเชยกรณีเสียชีวิตให้เต็มความคุ้มครองที่กำหนดไว้ทุกคน         ดังนั้น คปภ. ในฐานะนายทะเบียนจึงควรต้องออกประกาศแก้ไขความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ที่กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำค่าเสียหายรวมต่อครั้งจาก 10  ล้านบาท เป็น 30 ล้านบาท และควรหาทางออกร่วมกับกรมการขนส่งทางบกในการกำหนดมาตรการความปลอดภัยร่วมกับกลุ่มรถโดยสารขนาดใหญ่ทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง เช่น รถมาตรฐาน 1 และมาตรฐาน 4 ที่มีผู้โดยสารจำนวนมากในแต่ละครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการจ่ายเงินชดเชยในปัจจุบันที่มีเกณฑ์จ่ายค่าสินไหมทดแทนกรณีเสียชีวิตรายละ 500,000 บาท ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันความเสี่ยงและเพิ่มความมั่นใจ ในการคุ้มครองและชดเชยเยียวยาความเสียหาย โดยไม่ต้องถูกละเมิดสิทธิซ้ำซ้อนจากการถูกเฉลี่ยค่าสินไหมทดแทนที่ไม่เป็นธรรม อย่าลืมว่าผู้โดยสารที่เสียชีวิตเป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายและไม่ได้มีส่วนกระทำความผิด จึงสมควรต้องได้รับการชดเชยเยียวยาเต็มวงเงินเป็นลำดับแรกโดยไม่ต้องมีเกณฑ์ขั้นต่ำกำหนดไว้เหมือนเช่นในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 เบาะกันกระแทก (1)

        ประเทศไทยมีสวัสดิการสุขภาพที่ครอบคลุมประชากรเกือบทั้งหมด ไล่ตั้งแต่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ โดยเฉพาะหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ        แต่แน่นอนว่าไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ การไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ตามสวัสดิการที่มีแต่ละครั้งอาจหมายถึงต้นทุนการเสียโอกาสในการทำมาหากินของวันนั้นไปทั้งวัน คนจำนวนหนึ่งที่พอมีกำลังจับจ่ายจึงเลือกใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน        ถึงกระนั้น การพบแพทย์หรือต้องนอนโรงพยาบาลจากการเจ็บป่วยกับอุบัติเหตุก็มีความแตกต่างกันไม่น้อย เพราะการเจ็บป่วยสามารถป้องกันได้ ค่อยๆ รักษาได้ ยกเว้นอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือการเจ็บป่วยเรื้อรังที่ส่งผลต่อการประกอบอาชีพซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่กับอุบัติเหตุไม่ใช่         ยิ่งถ้าเป็นอุบัติเหตุรุนแรง บางครอบครัวถึงขั้นยากจนเฉียบพลันจากการรักษาพยาบาล แม้จะมี พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 ผนวกเข้ามาแล้วก็ตาม หากผู้ได้รับอุบัติเหตุเป็นคนหลักในการหารายได้เข้าบ้านด้วยแล้ว เรื่องจะยิ่งเศร้าขึ้นไปอีก         การทำประกันอุบัติเหตุจึงช่วยอุดช่องว่างส่วนนี้ได้ ไอเดียก็คล้ายกับเรื่องเงินฉุกเฉินที่เคยเขียนไปแล้วนั่นแหละ เป็นการป้องกันความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน โดยมอบให้บริษัทประกันเป็นผู้รับความเสี่ยง         ประกันอุบัติเหตุคืออะไร?         สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้ความหมายไว้ว่า         ‘เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองต่อผู้เอาประกันภัยในกรณีที่ผู้เอาประกันภัย ประสบอุบัติเหตุได้รับความบาดเจ็บทางร่างกาย และหากผลของการบาดเจ็บนั้นส่งผลให้ผู้เอาประกันภัยต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล หรือรุนแรงถึงขั้นทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต บริษัทประกันภัยจะเข้ามารับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจาก การรักษาพยาบาลของผู้เอาประกันภัย หรือจ่ายค่าทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยหากผู้เอาประกันภัยต้องสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต’         พื้นที่สัมปทานใกล้หมด คราวหน้าจะมาต่อเรื่องนี้กันอีก         ก่อนจบ ยังขอยืนยันซ้ำๆ ว่าสวัสดิการรัฐที่ดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนตายต้องเกิดขึ้น เท่าเทียม ทั่วถึง และคำนึงถึงต้นทุนต่างๆ ในชีวิตผู้คน เพราะใช่ว่าคนทุกคนจะสามารถซื้อประกันอุบัติเหตุได้         ดังนั้น เรามาช่วยกันทำให้เกิดรัฐสวัสดิการกันเถอะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 มอเตอร์ไซค์ขาดต่อ พ.ร.บ. เกิดอุบัติเหตุยังได้สิทธิรักษาหรือไม่

        บ่ายวันหนึ่งคุณพิพัฒน์ออกไปซื้อของที่ตลาดนัดแห่งหนึ่งแถวละแวกบ้าน หลังอาบน้ำแต่งตัวเสร็จเรียบร้อย ก็เดินมาหยิบกุญแจรถมอเตอร์ไซค์ที่วางไว้บนโต๊ะทำงาน แต่ปรากฏว่า กุญแจรถที่เคยวางอยู่บนโต๊ะหายไป คุณพิพัฒน์จึงคิดว่าลูกสาวคงยืมรถมอเตอร์ไซค์ไปหาเพื่อน จึงหยิบกุญแจรถมอเตอร์ไซค์อีกคัน ซึ่งเป็นรถพ่วงข้างของตนเองที่เอาไว้ใช้งานขนของแต่รถคันนี้เป็นคันที่ยังไม่ได้ต่ออายุตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535         เมื่อทำธุระในตลาดเสร็จเรียบร้อย คุณพิพัฒน์ขับขี่รถกลับบ้านอย่างช้าๆ เพราะเป็นรถพ่วงข้าง ซึ่งไม่ค่อยได้นำออกมาใช้งานนัก เมื่อขับขี่มาจนถึงบริเวณด้านหน้าปากซอยขณะที่กำลังจะเลี้ยวเข้าบ้านนั้น คุณพิพัฒน์ได้กะจังหวะการเลี้ยวผิด ทำให้รถพุ่งไปชนกับรั้วบ้านจนได้รับบาดเจ็บแขนหัก ต่อมาเพื่อนบ้านที่เห็นเหตุการณ์ได้นำตัวคุณพิพัฒน์ส่งโรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้าน หลังเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารสิทธิแล้วได้แจ้งว่า คุณพิพัฒน์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเองทั้งหมด เพราะว่ารถพ่วงข้างที่คุณพิพัฒน์ขับขี่แล้วเกิดอุบัติเหตุนั้นเป็นรถที่ไม่ได้ต่อ พ.ร.บ.         ในกรณีแบบนี้ คุณพิพัฒน์จะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลกับหน่วยงานใดได้บ้าง และเบิกจ่ายได้แค่ไหน แนวทางแก้ไขปัญหา        ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 หรือที่เราเรียกกันว่า “ประกันภัยภาคบังคับ” หรือ “ พ.ร.บ.รถ”  กฎหมายบังคับให้รถทุกคัน ทุกประเภท ที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกต้องทำไว้ เพื่อให้ความคุ้มครองกับตัวบุคคลที่ได้รับผลจากอุบัติเหตุ ซึ่งตัวบุคคลที่ว่านั้นหมายถึง ผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลภายนอก ในความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และอนามัย โดยจะได้รับเป็นเงินค่าชดเชยความเสียหายเบื้องต้นและค่าสินไหมทดแทน        จากข้อเท็จจริงกรณีนี้พบว่า คุณพิพัฒน์ขับขี่รถมอเตอร์ไซด์ด้วยความประมาทล้มเองไม่มีคู่กรณี และรถมอเตอร์ไซค์ไม่ได้จัดทำ พ.ร.บ. จึงไม่ได้รับความคุ้มครองใดตามสิทธิใน พ.ร.บ. นี้ แต่จะเข้าในสิทธิประกันสุขภาพที่สังกัด เช่น พ.ร.บ.ประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง หรือสิทธิประกันสังคม หรือสิทธิข้าราชการ ซึ่งกรณีอุบัติเหตุหากร้ายแรงอยู่ในเกณฑ์อันตรายถึงแก่ชีวิตจะเข้าข่ายกรณีฉุกเฉิน เมื่อ รพ.เอกชนได้ดูแลเบื้องต้นจนอาการปลอดภัยแล้ว จะต้องเข้ารักษาต่อที่ รพ.ตามที่มีสิทธิอยู่ต่อไป โดยไม่ต้องจ่ายค่ารักษา แต่กรณีอาการไม่ถึงแก่ชีวิตหากเข้ารักษาตัวใน รพ.เอกชน ก็ต้องสำรองเงินตนเองจ่ายไปก่อน        แต่ถ้ารถมอเตอร์ไซค์คุณพิพัฒน์จัดทำ พ.ร.บ. ไว้ คุณพิพัฒน์จะสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ในส่วนค่าเสียหายเบื้องต้น คือ ค่ารักษาพยาบาลตามจริงไม่เกิน 30,000 บาท และเงินชดเชย 35,000 ต่อคน กรณีเสียชีวิต        ดังนั้นการต่ออายุ พ.ร.บ. หรือ ประกันภัยภาคบังคับ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของรถทุกคน เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ต้องป้องกันไว้ก่อนเป็นดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 เรือโดยสารคลองแสนแสบคือทางเลือกจริงหรือ

        สถานการณ์ปัญหาจราจรที่ติดขัดในกรุงเทพมหานคร ไม่ได้เพียงสร้างปัญหาให้กับประชาชนผู้บริโภคจำนวนมากที่ต้องเสียเวลาไปกับการจราจรที่ติดขัดบนท้องถนนเท่านั้น แต่สำหรับคุณภาพชีวิตของสังคมภาพรวมก็พลอยได้รับผลกระทบที่ย่ำแย่ไปด้วย ทางเลือกรูปแบบอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ติดขัดของคนเมืองจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมา การเดินทางด้วยเรือโดยสาร เช่น เรือโดยสารคลองแสนแสบ ที่สะดวกรวดเร็วไม่ต้องเจอปัญหาติดขัดบนท้องถนน กลายเป็นทางเลือกหนึ่งที่นิยมของประชาชนจำนวนมาก         แต่การเดินทางด้วยเรือโดยสารแม้จะมีข้อดีที่สะดวกรวดเร็วประหยัดราคาถูกเมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยรถยนต์บนท้องถนน แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยหลายประการ เช่น ปัญหาความแออัดของผู้โดยสารบนเรือในช่วงเวลาเร่งด่วน ปัญหาความไม่ปลอดภัยของท่าเรือหรือจุดจอดรับส่งผู้โดยสาร ปัญหาโครงสร้างและการไม่มีอุปกรณ์ป้องกันบนเรือโดยสารที่ไม่ปลอดภัย ตลอดจนปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมทางน้ำในคลองที่มีกลิ่นเหม็น ทางอากาศที่มาจากการเผาผลาญเชื้อเพลิง และทางเสียงที่ดังของเครื่องยนต์เรือโดยสาร        หลายปัญหาที่เกิดจากบริการเรือโดยสารไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนจากผู้ประกอบการเรือโดยสาร คือ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ราคาค่าโดยสารยังอยู่เท่าเดิม ขณะที่เสียงสะท้อนของผู้โดยสารที่ใช้บริการ ทั้งหมดตอบเกือบเป็นเสียงเดียวกันว่า จำใจต้องใช้บริการเพราะไม่มีทางเลือกอื่น ยอมรับว่าสะดวกกว่ารถโดยสารประจำทาง ในแง่ของการบริหารเวลาเท่านั้น ถ้าราคาแพงกว่านี้คงไม่ใช้ เป็นต้น         กว่า 30 ปีที่เรือโดยสารคลองแสนแสบเปิดให้บริการ พบว่า มีผู้บริโภคที่ใช้บริการเรือโดยสารคลองแสนแสบตั้งแต่ปี 2560 - 2562 จำนวน 60,607,648 คน ต่อเที่ยวเรือ 377,395 เที่ยว และเมื่อเปรียบเทียบ พบว่า ปี 2562 มีผู้ใช้บริการมากที่สุด ถึง 22,573,874 คน (ข้อมูลกรมเจ้าท่า 2562) ซึ่งถือว่าปัจจุบันมีผู้บริโภคที่ต้องการใช้บริการเรือโดยสารคลองแสนแสบเป็นจำนวนมาก ส่วนราคาค่าบริการเรือโดยสารกลุ่มเรือโดยสารคลองแสนแสบอยู่ในอัตราตามระยะทางตั้งแต่ 9 – 19 บาท (กลุ่มสถิติวิเคราะห์ สำนักแผนงาน กรมเจ้าท่า ปีงบประมาณ 2562)           ขณะที่ผู้ใช้บริการเรือโดยสารหลายคนอาจไม่รู้ว่าเลย ทุกคนมีสิทธิอะไรบ้างเมื่อเกิดอุบัติเหตุขณะใช้บริการเรือโดยสาร เพราะข้อมูลเหล่านี้ไม่ถูกเผยแพร่หรือประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนผู้บริโภคทั่วไปให้ทราบก่อนใช้บริการ เช่น ทุกคนมีสิทธิความคุ้มครองจากประกันภัยภาคบังคับของเรือโดยสาร กรณีเสียชีวิต สูญเสียดวงตา สายตา แขน ขา ทั้งสองข้าง หรือทุพพลภาพถาวร (ไม่สามารถทำงานเลี้ยงชีพอย่างหนึ่งอย่างใดได้ตลอดไป) จะได้รับค่าชดเชยเยียวยา คนละ 100,000 บาท กรณีสูญเสียดวงตา สายตา แขน ขา หรือสมรรถภาพในการใช้แขนหรือขาหนึ่งข้าง จะได้รับค่าชดเชยเยียวยา คนละ 60,000 บาท และกรณีบาดเจ็บได้ค่ารักษาพยาบาล คนละไม่เกิน 15,000 บาท          แม้อุบัติเหตุที่เกิดกับเรือโดยสารจะเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนักเมื่อเทียบกับอุบัติเหตุทางถนน แต่การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลสิทธิประโยชน์สำหรับผู้บริโภคที่ใช้บริการนั้นมีสำคัญและจำเป็นสำหรับการใช้บริการ ตลอดจนข้อมูลช่องทางการร้องเรียนเพื่อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาการให้บริการเรือโดยสารที่มีความปลอดภัย จากข้อมูลกรมเจ้าท่าปี 2561 มีเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคในการใช้บริการเรือคลองแสนแสบจำนวน 47 เรื่อง ส่วนใหญ่เกี่ยวกับมารยาทในการให้บริการของพนักงาน บรรทุกผู้โดยสารเกิน การขับเรือเร็ว ไม่จอดเรือเทียบท่า เป็นต้น ขณะที่ผลสำรวจผู้บริโภคในการใช้บริการเรือโดยสารคลองแสนแสบ ปี 2561(ข้อมูลกรมเจ้าท่า 2562) พบว่า ผู้บริโภคไม่พึงพอใจต่อความเพียงพอของที่นั่งบริเวณท่าเรือ ร้อยละ 57.20 ความพร้อมของอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยบนท่าเรือ ร้อยละ 59.67 และมารยาทในการให้บริการของพนักงานเรือ ร้อยละ 59.96         กล่าวโดยสรุป ปัญหาที่เกิดกับการใช้บริการเรือโดยสารคลองแสนแสบ ณ ปัจจุบัน อาจจะไม่ใช่เรื่องราคาค่าบริการเนื่องจากอัตราค่าบริการในปัจจุบันยังมีอัตราที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับระยะเดินทางและความสะดวกที่ผู้บริโภคได้รับ แต่สิ่งที่ผู้บริโภคเรียกร้องเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงปรับปรุง คือ คุณภาพบริการและมาตรฐานความปลอดภัยของเรือโดยสารมากกว่า การเปลี่ยนเรือน้ำมันเป็นเรือไฟฟ้าเพื่อลดมลพิษรักษาสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพดี จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่รัฐควรส่งเสริมควบคู่ไปกับการกำกับมาตรฐานของพนักงานขับเรือและมาตรการป้องกันความปลอดภัยทางน้ำอย่างเป็นระบบ สนับสนุนให้คนใช้บริการทางเรือเพิ่มมากขึ้น เชื่อมต่อกับระบบขนส่งทางบกและจุดจอดบริการรถโดยสารสาธารณะเพื่อการเข้าถึงของผู้บริโภคที่ใช้บริการอย่างเป็นระบบและปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2563

4 เดือนโครงการรับยาใกล้บ้าน ยอดแตะ 91 รพ. 750 ร้านขายยา        สปสช.โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผย “โครงการผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) รับยาที่ร้านขายยาแผนปัจจุบัน ขย.1 เพื่อช่วยลดแออัดในโรงพยาบาลรัฐ หรือโครงการรับยาใกล้บ้านนั้น ตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 1 ก.พ. 2563 รวม 4 เดือนพบว่า โรงพยาบาลที่เข้าร่วมดำเนินโครงการจำนวน 91 แห่ง ขณะที่มีร้านขายยาแผนปัจจุบัน ขย.1 เข้าร่วมให้บริการจำนวน 750 แห่ง จาก 55 จังหวัด โดย รพ.ขอนแก่น มีร้านยาร่วมเครือข่ายบริการมากสุด 50 แห่ง รพ.ลำพูน มีผู้ป่วยร่วมโครงการมากสุด 480 คน ขณะที่ภาพรวมผู้ป่วยร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และจิตเวช นอกจากนี้ยังมีโรคเรื้อรังอื่นที่ผู้ป่วยมีภาวะคงที่ โดยให้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งจากข้อมูลเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการฯ สะสมแล้ว มีจำนวน 2,453 รายแล้ว อย. เรียกเก็บน้ำเกลือล้างแผลพบการปนเปื้อน        รายงานข่าว นพ. สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีหนังสือที่ สธ 1009.5/ว 1955 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 แจ้งเตือนภัยเร่งด่วน การเรียกเก็บยา KLEAN & KARE NORMAL SALINE เลขทะเบียน 1A 512/56 รุ่นการผลิต 061607 คืนจากท้องตลาดโดยสมัครใจ 29 มี.ค. มอเตอร์ไซค์ใหม่ทุกคันต้องได้ยูโร 4         นายวันชัย  พนมชัย  เลขาธิการ  สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ. ได้เชิญผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์กว่า 40 ราย ชี้แจงทำความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมในการยื่นขอ มอก. 2915-2561 รถจักรยานยนต์เฉพาะด้านความปลอดภัย – สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับยูโร 4  ซึ่งประกาศบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2563 เพื่อช่วยแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นพิษหรือ PM 2.5  ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวมีข้อกำหนดที่ควบคุมปริมาณสารมลพิษที่ปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ของรถจักรยานยนต์ ได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอนออกไซด์ของไนโตรเจน ลดลงถึง 50% เมื่อเปรียบเทียบกับ มอก. เดิม คือ ยูโร 3         นอกจากนี้ มาตรฐานฉบับดังกล่าวนี้ยังมีข้อกำหนดเรื่องความทนทานของอุปกรณ์ควบคุมมลพิษ เพื่อให้มั่นใจว่ารถจักรยานยนต์ที่ผ่านการใช้งานแล้วระยะเวลาหนึ่ง  ยังคงสามารถควบคุมปริมาณสารมลพิษเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดได้ เสวนา พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบยอดร้องเรียนสูงแต่เอาผิดได้น้อย        5 กุมภาพันธ์ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ งานเสวนา “12 ปี  พ.ร.บ  ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551” เผยสถิติ แม้มียอดร้องเรียนนับพันแต่เอาผิดตามกฎหมายได้น้อย        นายคำรณ  ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา ระบุ 1 ปีที่ผ่านมา มาตรการบังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น สังคมตื่นตัว รับรู้ข้อกฎหมายมากขึ้น จึงมีผู้ร้องเรียนเมื่อพบข้อมูลการทำผิดกฎหมายมากถึง 1,100 กรณี สำหรับความผิดที่พบมากที่สุด (ร้อยละ 60) คือ โฆษณาส่งเสริมการตลาด พบว่า ธุรกิจน้ำเมายังคงมั่งคั่ง ใช้กิจกรรมการตลาด จัดคอนเสิร์ตเปิดลานเบียร์ เป็นกิจกรรมหลัก ที่รุกจากหน้าห้างกิจกรรมรายย่อยยันทุ่งนา และใช้ตราเสมือนคือเครื่องดื่มน้ำ โซดา รวมไปถึงเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ เป็นตราหลักสื่อสารการตลาด การโฆษณาในสื่อต่างๆ “เครือข่ายฯ ยังพบกิจกรรมหรือความสัมพันธ์ ที่น่าเคลือบแคลงสงสัยในแบบอุปถัมภ์เกื้อหนุนกันระหว่างทุนเหล้ากับกลไกราชการ โดยกิจกรรมการตลาดต่างๆ มักอ้างหรือดึงส่วนราชการเข้ามาร่วมด้วย เพื่อทำให้การบังคับใช้กฎหมาย ขาดประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้คือ ภัยคุกคามสำคัญ”         นพ.นิพนธ์  ชิชานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า         “มาตรการควบคุมผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมาย มีการออกตรวจตามวันที่ห้ามขาย เช่น วันสำคัญทางศาสนา สุ่มตรวจจากเรื่องร้องเรียนในประเด็นที่เป็นปัญหาตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในมาตรา 32 ว่าด้วยการห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มฯ และมาตรา 30 ว่าด้วยการห้ามขาย ด้วยวิธีการ เร่ขาย เครื่องขายอัตโนมัติ ลดแลกแจกแถม ในสถานที่ราชการ สถานศึกษาฯ ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนเข้ามามากกว่า 2,000 เคส แต่พบว่า สำหรับการดำเนินคดีการตามกฎหมายจนสิ้นสุดคดียังมีจำนวนน้อย เพราะการควบคุมหย่อนยานไม่ทั่วถึง ทั้งนี้ต้องกระตุ้นไปยังเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบเพื่อดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายตามกลไกการใช้กฎหมายในแต่ระดับพื้นที่ จะส่งผลให้ติดตามง่ายลดการกระทำผิดซ้ำ”  สมัชชาผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ครั้งที่ 1        18 กุมภาพันธ์ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน จัด ‘เวทีสมัชชาผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ครั้งที่ 1’ ขึ้น เพื่อสะท้อนภาพรวมของปัญหาจากอุบัติเหตุทางถนนและเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประสบอุบัติเหตุให้มีสิทธิและโอกาสการเข้าถึงสังคมที่มีอย่างทั่วถึงเท่าเทียม         ในตอนหนึ่งของการเสวนา การชดเชยเยียวยาผู้เสียหายกรณีรถโดยสาร นักวิจัยระบุ การทำประกันภัยให้รถโดยสารสาธารณะช่วยผู้บริโภคได้ดีกว่าการฟ้องร้อง แต่ปัจจุบันรถโดยสารที่ทำประกันภัยภาคสมัครใจเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ขณะที่ มพบ. ให้ข้อมูลว่า การฟ้องร้องยังจำเป็นเพราะผู้เสียหายอาจเสียเปรียบจากระบบประกันภัย โดยเฉพาะการตีความตามบทบัญญัติที่ไม่สื่อสภาพจริงของสังคม         ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า “การประกันภัย สามารถตอบโจทย์การชดเชยเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ได้ดีกว่าการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายโดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะเวลาในการได้รับค่าชดเชยเยียวยา ซึ่งวงเงินคุ้มครองที่เพิ่มสูง ประกอบกับนโยบายของกรมการขนส่งทางบกที่บังคับให้รถโดยสารสาธารณะต้องทำประกันภัยภาคสมัครใจเพิ่มเติม ทำให้ผู้ประสบภัยสามารถได้รับการชดชดเชยเยียวยาได้ทันท่วงทีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า ปัจจุบันมีรถโดยสารที่ทำประกันภัยภาคสมัครใจเพียง 1 ใน 3 จากจำนวนรถที่จดทะเบียนทั้งหมด จึงมองว่าควรจะมีการสำรวจและศึกษาผลกระทบของรถที่ไม่ได้ทำประกันภัยด้วย อย่างไรก็ตามการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายยังคงจำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคในระบบรถโดยสารสาธารณะที่เหมาะสมต่อไป”         ด้าน ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ถึงแม้ระบบประกันภัยจะรวดเร็ว แต่สุดท้ายเมื่อผู้เสียหายไม่สามารถที่จะได้รับการชดเชยค่าเสียหายในระบบประกันภัยได้ ก็จะต้องกลับเข้าไปสู่ระบบของกระบวนการยุติธรรมอยู่ดี ทั้งนี้ในรายละเอียดยังมีคำถามจำนวนมากเกี่ยวกับการคำนวณ การกำหนดค่าสินไหมทดแทน เช่น ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าเสียหายเชิงลงโทษ ค่าเสียหายทางจิตใจ ทายาท ฯลฯ ตลอดจนการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนว่า กรณีใดบ้างที่บริษัทขนส่งหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบด้วย เพราะมีบางกรณีที่บริษัทขนส่งหลุดจากคดี เนื่องจากอ้างว่ารถที่ผู้เสียหายใช้บริการนั้นเป็นรถเถื่อนทั้งที่ขึ้นในสถานีของทางขนส่งเอง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ภัยไวรัสว่าน่ากลัว แต่ภัยจากอุบัติเหตุน่ากลัวกว่า

                ฉลองปีใหม่แว้บเดียว ตอนนี้ก็เข้ากุมภาพันธ์เดือนแห่งความรัก และยังเป็นเดือนกุมภาพันธ์ยกกำลังสอง ที่มาพร้อมกับ PM 2.5 และไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ตอนนี้แผ่ขยายความหวาดระแวงแพร่กระจายกันไปแล้วทั่วประเทศ  โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครที่ไปทางไหนก็จะต้องเห็นคนใส่หน้ากากอนามัย  ไม่รู้ว่าใส่เพราะกลัว PM 2.5 หรือกลัวไวรัสโคโรน่า 2019 กันแน่  หรือเพราะกระแสสังคมกดดันให้ทุกคนต้องใส่ ใครไม่ใส่อาจกลายเป็นคนแปลกหน้าและหน้าแปลกในเวลาเดียวกันได้ทันที เรียกได้ว่าเป็นความตื่นตัวครั้งใหญ่ของคนไทยทุกคนเลยก็ว่าได้         ขณะที่ หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกโรงเตือนหวั่นคุมการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า 2019 ไม่อยู่ อาจกระจายผ่านรถสาธารณะ เตือนคนขับและผู้โดยสารต้องสวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ ออกมาตรฐานฆ่าเชื้อคุมเข้มห้องโดยสาร เพราะถ้าผู้ติดเชื้อยังไม่แสดงอาการ ก็ยังไม่สามารถแยกแยะลักษณะท่าทางได้อย่างชัดเจนมองแง่ดีการตื่นตัวของคนไทยกับ PM 2.5 และไวรัสโคโรน่า 2019 ครั้งนี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพบริการของขนส่งสาธารณะกันได้บ้าง บางเรื่องอาจจะดูตลกขบขัน แต่เชื่อเถอะมันถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานะ         หนึ่งในเรื่องที่อาจดูตลกคือเราเห็นกรมการขนส่งทางบกนำร่องติดตั้งเครื่องฟอกอากาศเคลื่อนที่แบบทำเองบนหลังคารถเมล์ ก็ไม่รู้วิธีนี้ช่วยอะไรได้บ้าง แทนที่จะติดตั้งภายในรถเมล์แต่ดันเอาไปติดบนหลังคา เราเห็นข่าวเจ้าหน้าที่เร่งทำความสะอาดราวจับ เบาะที่นั่งบนรถเมล์-รถไฟฟ้า แต่ก็ไม่รู้ทำทุกวันหรือเปล่า เราเห็นคนส่วนใหญ่ใส่หน้ากากอนามัยพกเจลล้างมือติดตัว เราเห็นกลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐต้องเร่งเปลี่ยนรถเมล์ ขสมก. เป็นรถเมล์พลังไฟฟ้าทั้งหมดภายใน 3 ปี และมีการคาดการณ์ว่า จากการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ รถเมล์ รถตู้ รถทัวร์ จะมีความเสี่ยงที่สุด เพราะเป็นพื้นที่ปิดและแคบ (closed space) โดยเฉพาะกรณีรถต่างจังหวัดที่ต้องเดินทางไกล เพราะถ้าคืนนี้มีผู้ป่วยโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 1 คนขึ้นรถ 1 คัน เช้ารุ่งขึ้นอาจจะมีคนติดเชื้อกระจายออกไปทุกมุมของจังหวัดปลายทาง ดังที่เราเห็นในกรณีการติดเชื้อบนเรือสำราญในหลายมุมโลกขณะนี้         หันมาคิดอีกมุม แล้วทำไมประเด็นอันตรายจากอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ กลับไม่ตื่นตัวแบบนี้บ้าง ทั้งที่ประเทศไทย ณ ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ 33 คน และที่สำคัญยังไม่มีคนเสียชีวิต!! แสดงว่ารัฐบาลนี้เอาอยู่สินะ แต่อุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย แต่ละวันมีผู้เสียชีวิตมาถึง 50 – 60 คนต่อวัน บางวันพุ่งสูงถึง 70 คนก็มี รวมแล้วมากกว่า 20,000 คนต่อปี บาดเจ็บอีกวันละ 3,000 คน ครบปีก็หลักล้านคนแล้ว ยังไม่รวมคนเจ็บที่ไม่ไปโรงพยาบาลอีกเท่าไหร่ แบบนี้ไม่น่ากลัวกว่าหรือยังไง ??        ที่ต้องถามว่าแบบนี้ก็เพราะว่า ขณะที่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ของไทยเราหยุดนิ่งที่ 33 คนมาระยะหนึ่งแล้ว เท่ากับว่าประชาชนมีความตื่นตัว รู้เท่าทันว่าจะต้องป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อนี้อย่างไร แต่ความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนกลับไม่หยุดนิ่ง และทวีความรุนแรงสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เป็นเรื่องใกล้ตัวเห็นคนเจ็บตายกันอยู่ทุกวัน         แน่นอนว่าสาเหตุของอุบัติเหตุทางถนน ส่วนใหญ่มาจากความประมาทที่เกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ ไม่สวมหมวกกันน็อค และพฤติกรรมเมาแล้วขับ ขณะที่ผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะส่วนใหญ่ มักคิดว่ามันคงไม่เกิดเหตุอะไรกับตัวเอง เลยไม่คิดว่าต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ทั้งที่สาเหตุการเสียชีวิตบนรถโดยสารสาธารณะ ส่วนหนึ่งมาจากการกระแทกกันภายในรถหรือหลุดกระเด็นออกนอกตัวรถ เพราะผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัย อีกอย่างที่สำคัญ คือ คนเรามักคิดว่าอุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องเวรกรรม เกิดเหตุทีก็ถือว่าฟาดเคราะห์กันไป หนักเบาก็แล้วแต่บุญกรรมที่ทำมาแต่ชาติปางก่อน ไม่อยากเอาเรื่องเอาราวกับใคร กลัวต้องผูกเวรผูกกรรมกันไปไม่จบสิ้น กลายเป็นเรื่องความเชื่อแทนที่จะเป็นเรื่องความจริง ก็น่าคิดว่า ทำไมตายกันเยอะขนาดนี้ ถึงไม่กลัวกัน…         แล้วจะทำยังไงในเมื่อความสูญเสียบาดเจ็บยังมีอยู่ต่อเนื่อง ยังนิยมรถผี รถเถื่อน เพราะสะดวกสบายรับส่งถึงหน้าบ้าน ยังพอใจนั่งรถแล้วไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ทั้งที่กฎหมายบอกไม่คาดปรับห้าพัน ก็ไม่สนใจเพราะไม่มีจับปรับจริง  ยังพอใจนั่งท้ายกระบะ ห้ามนั่งก็ไม่สนอ้างวิถีชนบทความจำเป็น ยังพอใจเมาก่อนค่อยขับ ห้ามเมาแล้วขับก็ขับทั้งที่เมา สุดท้ายพอเกิดอะไรขึ้นมาก็โทษเวรกรรม ยอมรับชะตากรรมแบบนี้เรื่อยไป         ประเทศนี้ที่มีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนปีละมากกว่า 20,000 คน ทำไมถึงไม่มีใครกลัว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 คดีรถชน ผู้ตายมีแอลกอฮอล์ คนขับที่เป็นคู่กรณีต้องรับผิดไหม

        สวัสดีครับ ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงและเริ่มหนาวกันแล้ว ต้องดูแลสุขภาพกันให้ดีๆ  อย่าประมาทนะครับ เดี๋ยวจะป่วยเป็นภูมิแพ้  เมื่อพูดถึงเรื่องความประมาท ประกอบกับใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่แล้ว ก็อยากหยิบยกเรื่องราวน่าสนใจของคดีที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุรถชนมาเล่าสู่กันฟัง หลายครั้งที่เกิดอุบัติเหตุรถชนก็มักพบว่า สาเหตุมาจากคนขับที่ไม่ได้ระมัดระวังให้ดี  ซึ่งในคดีนี้ ฝ่ายจำเลยขับรถบรรทุกสิบล้อด้วยความเร็ว ระหว่างที่ขับตามหลังรถกระบะคันหนึ่ง อยู่ดีๆ รถกระบะคันดังกล่าวก็หยุด เพราะมีรถอีกคันออกมาจากปั๊มน้ำมัน ทำให้จำเลยที่ขับรถสิบล้อหักรถไปทางขวาไปชนกับรถผู้ตาย ต่อมาก็พบว่าผู้ตายมีแอลกอฮอล์ 0.239 กรัมเปอร์เซ็นต์ จำเลยจึงอ้างว่าผู้ตายก็มีส่วนประมาทด้วย  ซึ่งต่อมาศาลฏีกาก็ได้ตัดสินว่าแม้ผู้ตายจะมีแอลกอฮอล์ แต่เมื่อจำเลยขับรถประมาท จำเลยก็ไม่พ้นความรับผิด         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2803/2550         จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกทรายเต็มคันรถในเขตชุมชนใกล้ทางแยกเข้าหมู่บ้านกฤษดานคร ตามหลังรถยนต์กระบะไปตามถนน ควรใช้ความเร็วต่ำและเว้นระยะให้ห่างมากพอที่จะหยุดรถได้ทันโดยไม่ให้ชนรถคันหน้ายิ่งมีฝนตกและเป็นเวลากลางคืน ควรต้องระมัดระวังเว้นระยะให้ห่างมากขึ้น การที่จำเลยที่ 1 ต้องหักหลบไปทางขวาเมื่อรถยนต์กระบะต้องหยุดรถเพราะมีรถยนต์ออกจากปั๊มน้ำมัน ก็เกิดจากจำเลยที่ 1 เกรงว่าจะหยุดไม่ทันเนื่องจากบรรทุกของหนักเป็นเครื่องแสดงอยู่ในตัวว่ารถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 1 ขับจะต้องใช้ความเร็วสูงทั้งไม่เว้นระยะให้ห่างรถยนต์กระบะ ซึ่งขับอยู่ข้างหน้าให้อยู่ในระยะที่สามารถหยุดรถได้ทันโดยไม่ต้องหักหลบเช่นนั้น รถของจำเลยที่ 1 จึงล้ำเข้าไปในช่องเดินรถที่ผู้ตายขับรถยนต์สวนมาและเกิดเหตุชนกับรถที่ผู้ตายขับในช่องเดินรถของผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นผลโดยตรงจากการขับรถโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 1 จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และจำเลยที่ 1 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จึงเป็นการขับรถโดยประมาทและกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (4), 157 และ ป.อ. มาตรา 291 แม้จะมีรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 2 ขับตามหลังมาไม่สามารถหยุดรถได้ทัน ก็หามีผลให้การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดและการขับรถยนต์ประมาทของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวไม่ตัดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นแก่ผู้ตาย ส่วนกรณีที่ตรวจพบแอลกอฮอล์ 0.239 กรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดระดับนี้มีผลต่อร่างกาย ทำให้การตัดสินใจผิดพลาดได้นั้น ก็ถือว่าผู้ตายมิได้มีส่วนประมาทก่อให้เกิดเหตุชนกันขึ้น ไม่อาจทำให้ผู้ตายหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุชนกันได้ จึงไม่อาจทำให้จำเลยที่ 1 พ้นผิดไปได้ และกรณีไม่อาจรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 56 ได้          จากคดีนี้ นอกจากเรื่องแอลกอฮอลล์แล้ว เราจะเห็นได้ว่าศาลฏีกาก็มองว่า เมื่อผู้ตายไม่ได้มีส่วนประมาทกับจำเลย จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ         อีกประเด็นที่อยากฝากไว้คือ กรณีที่เมาแล้วขับกับขับรถประมาทจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ศาลวางหลักไว้ว่า เป็นการกระทำกรรมเดียวกัน เมื่อตัดสินลงโทษ ต้องใช้บทลงโทษที่หนักที่สุด คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 “มาตรา 291  ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท”         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4067/2550         การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (2), 160 วรรคสาม กับการที่จำเลยขับรถโดยประมาทแซงรถที่อยู่ข้างหน้าไปในหน้าไปในช่องเดินรถขวามือในขณะที่ผู้ตายขับสวนมา เป็นเหตุให้ชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายเสียหายและทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (4), 157 นั้น เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด         สุดท้ายนี้ ขอฝากถึงทุกท่านที่จะใช้รถใช้ถนน ขอให้มีความระมัดระวัง เอื้อเฟื้อต่อกัน บางเรื่องหากเราไม่ใชอารมณ์ เคารพกฎหมาย ถ้อยทีถ้อยอาศัย คดีความก็จะไม่เกิดขึ้นครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 รำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน

        ปิดฉากกันไปอย่างสวยงามกับกิจกรรมเดิน - วิ่ง “หยุดซิ่ง... มาวิ่งกันเถอะ” ที่จัดขึ้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ (สวนบางกะเจ้า) อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ กับการแสดงพลังของผู้คนมากกว่า 2,000 คน ใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ         ในวันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน” (World Day of Remembrance for Road Traffic Victims 2019) ที่ทุกคนมาช่วยกันหยุด… หยุดไม่ให้มีเหยื่อรายใหม่ หยุดให้อุบัติเหตุทางถนนลดน้อยลง ร่วมกันจัดตั้งกองทุนเพื่อผู้ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน เรียกได้ว่าเป็นการส่งเสียงของกลุ่มคนที่ต้องการบอกให้รู้ว่า ปัญหาความไม่ปลอดภัยทางถนนที่ป้องกันได้ต้องถูกดำเนินการทันที การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทางถนนต้องรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเป็นธรรม เพื่อป้องกันปัญหาอุบัติเหตุและคุ้มครองสิทธิความปลอดภัยทางถนนและร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้มีในหัวใจคนไทยทุกคนแต่ก็น่าเสียดายที่งานครั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลด้านคมนาคม ทั้งกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบก ยังไม่เห็นถึงความสำคัญในกิจกรรมครั้งนี้ เลยไม่ได้เข้าร่วมหรือสนับสนุนแต่อย่างใด  ขณะที่ภาคประชาชนเริ่มเคลื่อนไหว เพื่อต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ภาคนโยบายและบริหารโดยรัฐกลับยังเหมือนขยับตัวช้าและไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก ยังไม่รวมถึงเป้าหมายที่จะลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2563 ตามแผน 10 ปี แห่งทศวรรษความปลอดภัยทางถนนของประเทศ แต่ก็ยังทำไม่ได้ไม่สำเร็จ        อันที่จริงในรอบสิบปีที่ผ่านมา แต่ละรัฐบาลต่างมีเป้าหมายที่จะลดอุบัติเหตุด้วยมาตรการหลายอย่างที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามในการลดอุบัติเหตุ ลดการเจ็บตายในช่วงเทศกาลใหญ่ๆ การบังคับติดจีพีเอสกับรถบรรทุกและรถสาธารณะเพื่อควบคุมความเร็ว การยกเลิกรถโดยสารสองชั้น จัดระเบียบรถตู้โดยสาร ตั้งเป้าลดจำนวนรถตู้โดยสารปรับเปลี่ยนเป็นไมโครบัส ตลอดจนการเพิ่มโทษปรับกับผู้ขับขี่ที่ทำผิดกฎจราจรในทุกประเภทรวมถึงการเมาแล้วขับ         แต่ด้วยความไม่ต่อเนื่องของนโยบายที่มาจากฝ่ายบริหารที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามกระแสการเมือง ดังคำที่ว่า เมื่อการเมืองเปลี่ยนนโยบายก็ต้องเปลี่ยน ทำให้หลายมาตรการที่ดีกลับถูกดองหรือแช่แข็ง เช่น กรณีรถตู้โดยสารสิบปีต้องเปลี่ยนเป็นไมโครบัสเป็นให้เปลี่ยนด้วยความสมัครใจ เป็นต้น รวมถึงขาดความต่อเนื่องเชื่อมร้อยของนโยบายและการปฏิบัติการ ส่งผลให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในการทำงานทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน         ที่ผ่านมาการทำงานด้านลดอุบัติเหตุและความปลอดภัยทางถนนหลายส่วน กลายสภาพเหมือนงานอีเวนท์ที่ต้องรอนโยบายสั่งการจากคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กระทรวงมหาดไทย ที่กว่าจะจัดประชุมเตรียมงานสั่งการความปลอดภัยทางถนนก็ปาเข้าไปกลางเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ระดับจังหวัดก็เตรียมงานเตรียมคนมุ่งจัดรณรงค์ลดอุบัติเหตุ 7 วันอันตราย ในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ตามเดิมแบบที่เคยทำกันทุกปี         แม้ที่ผ่านมาแนวทางของรัฐจะผลักดันให้มีศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนทั้งในระดับอำเภอและตำบล เพื่อให้การดำเนินการด้านความปลอดภัยในระดับท้องถิ่นมีความคล่องตัวต่อเนื่อง เป็นขั้นตอนต่อจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด แต่ถ้าดูจากตัวเลขอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศของบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2562 – 14 ธันวาคม 2562 ตอนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 15,786 คน ยังไม่รวมผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตที่ไม่ได้ใช้สิทธิ พรบ. โดยเป็นอัตราการเสียชีวิตที่มีจำนวนมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 (ทั้งปี) ที่มีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 13,956 คน นั่นยิ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำถึงความล้มเหลวของมาตรการลดอุบัติเหตุของรัฐโดยสิ้นเชิง         การที่คนไทยต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยถึงวันละ 60 คน (เสียชีวิตปีละ 20,000 คน) นี้ ยังไม่สามารถผลักดันให้รัฐจัดทำมาตรการที่เด็ดขาด เพื่อทำให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงบริการขนส่งมวลที่ดี และสร้างระบบการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัยได้ ดังนั้นในปี 2563 ซึ่งจะเป็นปีที่ครบรอบทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนตามแผนของประเทศที่กำหนดไว้ แต่เมื่อทุกอย่างยังไม่มีทิศทางว่าจะดีขึ้นแบบนี้ อาจจะต้องเรียกใหม่เป็น ครบรอบสิบปี ทศวรรษแห่งความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย แทนก็เป็นได้ สวัสดีปลอดภัยกันทุกท่านครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ชวนวิ่ง...สร้างกองทุนเพื่อเหยื่อรถโดยสาร

        วันนี้มีคำถามจากเพื่อนสมาชิกที่สนใจกิจกรรมหยุดซิ่ง…มาวิ่งกันเถอะ ถามมาว่ากิจกรรมนี้มีดีอะไร ทำไมถึงต้องสมัครเดิน-วิ่งในงานนี้ด้วย  แล้วทำไมต้องจัดในวันที่ 17 พฤศจิกายน ทำไมไม่จัดวันอื่น และเพื่อไม่ให้ค้างคาใจกัน วันนี้เลยมาขอตอบให้ชัดกันไปเลยว่าทำไม!         สำหรับคำถามแรกที่ถามว่า กิจกรรมนี้มีดีอะไร ทำไมถึงต้องสมัครเดิน-วิ่งในงานนี้  ?    ต้องบอกเลยว่างานนี้เป็นกิจกรรมที่กลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนนและภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนมากกว่า 20 องค์กร มารวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมนี้ขึ้น โดยมี 3 เหตุผลสุดคุ้ม ที่ว่าทำไมต้องหยุดซิ่ง...แล้วมาวิ่งกันเถอะ         ประการที่หนึ่ง เพื่อรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน หยุดไม่ให้มีเหยื่อรายใหม่ เพราะประเทศไทยที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากถึงวันละ 62 คนต่อวัน หรือทุกๆ หนึ่งชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนชั่วโมงละ 2.5 คน ตัวเลขดูน้อยๆ แบบนี้ พวกเราอาจจะไม่รู้สึกอะไรเท่าไหร่นัก เพราะคนที่สูญเสียไม่ใช่ตัวเราหรือคนใกล้ชิด ในความเป็นจริงหากมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ความสูญเสียนั้นไม่ใช่เพียงแค่หนึ่งชีวิตที่ต้องเสียไป แต่หมายรวมถึงครอบครัวที่ต้องมาทนทุกข์กับการสูญเสียนี้ด้วย         ประการที่สอง เพื่อจัดตั้งกองทุนผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน รู้ไหมในแต่ละปีผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต้องประสบกับความยากลำบากขนาดไหน แม้วันเวลาจะพาให้เรื่องราวของอุบัติเหตุจะผ่านพ้นไป แต่ความทุกข์ของคนที่บาดเจ็บและสูญเสียนั้นยังอยู่ การใช้ชีวิตหลังความสูญเสียต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่ากินค่าอยู่ ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน แม้รัฐจะมีกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหาย แต่การเข้าถึงสิทธิกองทุนกลับมีเงื่อนไขมากมายที่ไม่เอื้อต่อการใช้สิทธิ ขณะที่สิ่งที่ผู้ประสบอุบัติเหตุต้องการ คือ อยากให้มีกองทุนที่สามารถช่วยเหลือเยียวยาค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนได้จริง อย่างน้อยก็เพื่อช่วยให้มีคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้ประสบอุบัติเหตุทุกคน           ประการที่สาม เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี ด้วยการออกกำลังกายกับการเดิน-วิ่งที่เป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุดและต้นทุนน้อยที่สุด ที่สำคัญถ้าทุกคนได้มาวิ่งที่สวนบางกะเจ้า ก็จะได้พบกับแหล่งโอโซนอากาศบริสุทธิ์ สถานที่ฟอกปอดที่เหมาะสำหรับการมาเดิน-วิ่ง พักผ่อนกันแบบชิลๆ และไม่ใช่จะได้เพียงสุขภาพที่ดีอากาศบริสุทธิ์เท่านั้น ทุกคนยังได้มีโอกาสสัมผัสวิถีชุมชนที่คงอยู่กับการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวอีกด้วย          สำหรับคำถามสองที่ถามว่า กิจกรรมหยุดซิ่ง…มาวิ่งกันเถอะ ทำไมต้องจัดในวันที่ 17 พฤศจิกายน ทำไมไม่จัดวันอื่น ?         เพราะวันที่ 17 พฤศจิกายนของปีนี้ จะตรงกับวันอาทิตย์ที่สามของเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ทุกวันอาทิตย์ที่สามของเดือนพฤศจิกายน เป็นวันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน หรือ “วันเหยื่อโลก” เพื่อรณรงค์ให้ทุกประเทศดำเนินมาตรการป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจัง        เพราะอุบัติเหตุทางถนนส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ และคร่าชีวิตผู้คนจากความประมาทเป็นจำนวนมาก มีตัวเลขที่น่าตกใจที่พบว่า แต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 1.3 ล้านคน บาดเจ็บอีกกว่า 50 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 22,491 คนต่อปี  หรือ 62 คนบนถนนทุกวัน และที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือ แค่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวก็มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่ใกล้เคียงกับผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่เสียชีวิตต่อปีประมาณ 26,500 คน         จะเห็นได้ว่าความรุนแรงของอุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เลย ซึ่งเป้าหมายของ “วันเหยื่อโลก” คือวันที่คนทั้งโลกจะร่วมกันรำลึกอาลัยแก่ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้งตระหนักถึงผลกระทบ และความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนน เช่น การเสียชีวิต พิการ บาดเจ็บ สูญเสียทรัพย์สิน รวมถึงปัญหาค่าใช้จ่ายในการรักษาในระยะยาว การสูญเสียผู้นำของครอบครัว ตลอดจนผลกระทบทางด้านจิตใจของคนในครอบครัวและคนรอบข้าง         อย่างไรก็ดี ในวันเหยื่อโลกของทุกๆ ปี ทั่วโลกจะมีกิจกรรมรำลึกถึงผู้สูญเสียที่หลากหลายรูปแบบกันไป และวันเหยื่อโลกในปีนี้ที่จะมาครบบรรจบในวันที่ 17 พฤศจิกายน สำหรับประเทศไทยจะเป็นครั้งแรกของการรวมพลังของกลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนนและภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ที่อยากรณรงค์เชิญชวนให้ทุกคนทุกฝ่ายเห็นถึงความสำคัญของความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน         ด้วยการรณรงค์เดิน-วิ่ง หยุดซิ่ง…มาวิ่งกันเถอะ “Run for Road Traffic Victims” ที่มีเป้าหมายเพื่อการลดอุบัติเหตุหยุดไม่ให้เหยื่อรายใหม่ และรายได้จาการค่าสมัครสมทบจัดตั้งกองทุนเพื่อผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมกัน ในการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประสบอุบัติเหตุ และครอบครัวให้มีสิทธิ และโอกาสการเข้าถึงสังคมเหมือนเช่นคนปกติทั่วไป         ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยคนมักจะมองว่าเป็นเรื่องเวรกรรมและเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่ความจริงอุบัติเหตุไม่ใช่เรื่องของเวรกรรม แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนป้องกันได้ นอกจากนี้ทุกคนยังมีโอกาสเป็นเหยื่อได้เหมือนกัน ฉะนั้นเราอย่าประมาทชะล่าใจ สักวันอาจจะเกิดกับตัวเราและคนรอบข้างก็ได้  ถึงเวลาแล้วล่ะที่ทุกคนต้องช่วยกันหยุดสิ่งนี้ด้วยกัน หยุดซิ่ง…แล้วมาวิ่งกันเถอะ

อ่านเพิ่มเติม >