ฉบับที่ 152 รูป รส กลิ่น สี ในอาหารอุตสาหกรรม

ผู้เขียนดื่มกาแฟมาแต่เล็ก เนื่องจากเห็นผู้ใหญ่ดื่มกันก็ดื่มบ้าง ถามว่าติดไหม ตอบได้ว่าไม่ดื่มก็ได้ ถ้าวันนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่มีดื่ม ก็ไม่รู้สึกอะไร จึงเข้าใจว่าผู้เขียนไม่น่าถูกจัดว่าเป็นคนติดกาแฟ คำอธิบายง่าย ๆ สำหรับปรากฏการณ์นี้คือ ผู้เขียนน่าจะมีระบบการเปลี่ยนแปลงแคฟฟีอีนเพื่อขับออกจากร่างกายค่อนข้างเร็ว เพราะทุกครั้งที่ดื่มกาแฟหมดแก้ว จากนั้นไม่นานเกินรอก็ต้องเข้าห้องน้ำเพื่อปัสสาวะซึ่งเป็นการขับแคฟฟีอีนที่ถูกเปลี่ยนแปลงแล้วพร้อมกับสารที่ให้กลิ่นของกาแฟออกจากร่างกายดังนั้นการดื่มกาแฟก่อนนอนจึงไม่เคยเป็นปัญหาต่อการนอนหลับของผู้เขียนเลย แถมกลับพบว่า วันใดที่รู้สึกเครียดหรือเหนื่อยมาก การได้ดื่มกาแฟสักนิดกลับทำให้หลับสบาย แคฟฟีอีนนั้นเป็นสารเคมีที่มีความสามารถในการกระตุ้นให้ผู้ดื่มกาแฟเกิดความสดชื่น ประสาทตื่นตัว ยิ่งถ้าอยู่ในร่างกายนานเท่าใด ร่างกายก็ตื่นตัวมากขึ้นเท่านั้นจนถึงนอนไม่หลับ ค่าครึ่งชีวิต (half-life) ของแคฟฟีอีนจาก Wikipedia คือ ประมาณ 5 ชั่วโมง ซึ่งหมายความว่า แคฟฟีอีนในแต่ละแก้วที่คนทั่วไปดื่มจะถูกขับออกทางปัสสาวะครึ่งหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไป 5 ชั่วโมงจากนั้นที่เหลือก็จะถูกขับออกอีกครึ่งหนึ่งของที่เหลือเมื่อเวลาผ่านไปอีก 5 ชั่วโมง เรื่อยๆ จนอยู่ในระดับที่ไม่พอออกฤทธิ์ จึงต้องมีการเติมแคฟฟีอีนจากกาแฟแก้วต่อไป สำหรับพฤติกรรมในการดื่มกาแฟนั้น ผู้เขียนไม่นิยมดื่มกาแฟที่มีขายตามซุ้มหรือร้านต่างๆ ตามศูนย์การค้า เนื่องจากกาแฟที่ขายนั้นมักมีความเข้มข้น หวานและมันมากจนเสี่ยงต่อความอ้วน ที่สำคัญปริมาณแคฟฟีอีนที่สูงมากอาจเป็นอันตรายต่อหัวใจเป็นอย่างยิ่ง   เคยมีลูกศิษย์ซื้อกาแฟโบราณซึ่งทั้งเข้มข้นและหวานมันมาให้ดื่มในช่วงเที่ยง ซึ่งเป็นขณะที่ผู้เขียนกำลังจะไปเล่นแบดมินตัน ผลปรากฏว่า วันนั้นเมื่อเริ่มเล่นเกมส์ไปได้เพียงห้านาทีผู้เขียนก็ต้องหยุดเล่นทันทีเพราะรู้สึกตัวว่าหัวใจเต้นเร็วมาก และทำท่าจะไม่ยอมลดลงมาเต้นปรกติเลยแม้หยุดยืนพัก(ซึ่งปรกติแล้วกีฬาที่ต้องใช้แรงเป็นพัก ๆ นั้นเมื่อเกมส์หยุด อาการเต้นเร็วของหัวใจควรผ่อนลงเป็นปรกติ) เมื่อผู้เขียนถามตนเองว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็นึกได้ว่าเพิ่งดื่มกาแฟที่เข้มข้นไปราวครึ่งแก้วนั่นเอง บทเรียนนี้สอนว่า กาแฟนั้นมีประโยชน์ในการทำให้เราสดชื่นและช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อยระหว่างการย่อยอาหาร แถมแคฟฟีอีน(ในขนาดที่พอเหมาะ) น่าจะเป็นเทอร์โมเจน (thermogen) ที่ช่วยในการใช้ไขมันเป็นพลังงานได้ดีระหว่างการออกกำลังกาย(ถ้าไม่มีการออกกำลังกาย เทอร์โมเจนก็ไม่ทำงาน) แต่จะเป็นโทษแก่หัวใจถ้าดื่มอย่างเข้มข้นในขณะที่ร่างกายต้องออกแรงอย่างหนัก ชนิดของกาแฟที่ผู้เขียนดื่มประจำคือ ทรีอินวัน ซึ่งเป็นกาแฟปรุงสำเร็จที่สะดวกมากในการตัดปากซองเทลงแก้วแล้วเติมน้ำร้อน คนให้เข้ากันดื่มได้เลย ที่สำคัญกาแฟลักษณะนี้มีราคาถูกเป็นหนึ่งในสิบของกาแฟที่ขายตามซุ้มต่างๆ และมัก ไม่อร่อยเลย จึงทำให้สามารถดื่มได้ทุกยี่ห้อ ขึ้นกับว่ายี่ห้อใดถูกที่สุด ณ เวลาซื้อ จนวันหนึ่งก็ได้พบว่า กาแฟปรุงสำเร็จแบบทรีอินวันซองหนึ่งเมื่อเทน้ำร้อนใส่ลงไปแล้ว กลิ่นนั้นหอมขจรกระจายไปทั้งห้อง จนนักศึกษาที่เดินผ่านมาต้องถามว่า อาจารย์ดื่มกาแฟยี่ห้ออะไรจึงหอมได้สะใจขนาดนี้ ผู้เขียนก็บอกยี่ห้อไปแล้วสำทับด้วยว่า ซองละ 2 บาท 85 สตางค์เท่านั้นเอง ทุกคนที่ได้ยินก็รู้สึกทึ่งว่า ทำไมกาแฟราคาแบบโลว์เอ็นจึงมีกลิ่นหอมเท่ากาแฟไฮเอ็นได้ ผู้เขียนจึงฉุกใจหยิบซองใส่กาแฟในถังผงขึ้นมาดู ก็ถึงบางอ้อว่า ไม่หอมได้อย่างไรในเมื่อในกาแฟนั้นได้เติมกลิ่นกาแฟสังเคราะห์ลงไปด้วย กลิ่นกาแฟสังเคราะห์นั้นเป็นสารเจือปนในอาหารที่มีการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นสารเคมีที่สังเคราะห์ขึ้นเพื่อเลียนแบบกลิ่นธรรมชาติของกาแฟ สารเคมีกลุ่มนี้มีมากมายเพื่อเลียนแบบกลิ่นธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการผลิตอาหารต่างๆ ทางอุตสาหกรรม ความรู้ทำนองนี้สามารถหาได้โดยอาศัย google ที่เราคุ้นกันดี ที่สำคัญกาแฟลดน้ำหนักที่ขายตามเน็ตหลายยี่ห้อก็ใช้สารเคมีเหล่านี้   ที่น่าตลกก็คือ เคยมีผู้ผลิตกาแฟดำที่ผู้ซื้อสามารถนำไปผสมน้ำแข็งทำเป็นโอวเลี้ยงได้ ส่งตัวอย่างมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเคมีของที่ทำงานของผู้เขียน แล้วพบว่าสินค้าชิ้นนั้นเป็นกาแฟดำที่ไม่มีแคฟฟีอีนเลย   ผู้เขียนเคยเดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในตอนเปิดห้าง เมื่อผ่านร้านขายกาแฟที่มีราคาระดับไฮเอ็น(แต่รสชาติที่ผู้เขียนเคยสัมผัสเพราะมีคนซื้อให้ลองชิม ก็ไม่ได้ดีเลิศกว่าทรีอินวันสักเท่าไร) ปรากฏว่ามีกลิ่นกาแฟหอมยั่วยวนมากมาเตะจมูก ทั้งที่เด็กประจำร้านเพิ่งเปิดประตูร้านและยังไม่ได้ต้มน้ำร้อนเลย ทั้งนี้เพราะร้านใช้สเปรย์กลิ่นกาแฟพ่นเพื่อให้ลูกค้าทราบว่ามีร้านกาแฟอยู่แถวนั้นนะ สิ่งที่เป็นประเด็นที่หวังให้ท่านผู้อ่านคิดก็คือ สินค้าอาหารที่ไม่ได้ผลิตเพื่อขายในระบบอุตสาหกรรม นั้น เป็นการขายจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคโดยตรง ไม่มีการขึ้นทะเบียนที่เป็นระบบ เนื่องจากผู้บริโภคสามารถได้ข้อมูลจากปากผู้ผลิตโดยตรง(ถ้าถาม) แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักไม่สนใจ ยกตัวอย่างง่ายว่า ใครเคยถามผู้ขาย ขนมเค้ก ไอศครีม(โดยเฉพาะเชอร์เบ็ต) น้ำผลไม้ น้ำสมุนไพร ขนมปังสังขยา ขนมชั้น แม้แต่ขนมเปียกปูน (ที่ดำปี๋แต่ไม่มีกลิ่นถ่านไม้เลย) ว่าใช้สารเคมีทั้งหมดเลยหรือใช้สารเคมีผสมกับสารสกัดจากธรรมชาติบ้าง ทั้งที่ผู้ผลิตหรือแม่ค้านั้นควรมีป้ายแจ้งให้ผู้บริโภคทราบเนื่องจากเป็นสินค้าซึ่งผลิตขายหน้าร้าน (ไม่จำเป็นต้องมีฉลาก) ท่านผู้อ่านคงเคยอมทอฟฟีที่มีกลิ่นและรสกาแฟแล้วสงสัยว่า ทำไมยังง่วงอยู่ คำตอบง่าย ๆ ก็คือ ทอฟฟีหลายยี่ห้อนั้นใช้สารเคมีแต่งกลิ่นกาแฟผสมน้ำตาลทำเป็นทอฟฟีกาแฟ ยกเว้นทอฟฟีกาแฟบางยี่ห้อที่นักเรียนนักศึกษาที่ต้องการอยู่ดึกรู้จักดีว่า อมเมื่อไรตาค้างเมื่อนั้น เพราะมีแคฟฟีอีนสังเคราะห์ในระดับสูง ที่น่าตลกก็คือ เคยมีผู้ผลิตกาแฟดำที่ผู้ซื้อสามารถนำไปผสมน้ำแข็งทำเป็นโอวเลี้ยงได้ ส่งตัวอย่างมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเคมีของที่ทำงานของผู้เขียน แล้วพบว่าสินค้าชิ้นนั้นเป็นกาแฟดำที่ไม่มีแคฟฟีอีนเลย การใช้สารเคมีในการผลิตอาหารระดับอุตสาหกรรมนั้น นัยว่าเพื่อควบคุมการผลิตสินค้าให้อยู่ในมาตรฐานที่กำหนดได้ตามต้องการ ซึ่งต่างจากสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติซึ่งอาจมีการแปรเปลี่ยนของรสชาติได้ เนื่องจากวัตถุดิบมาจากคนละสวน หรือคนละไร่ ท่านผู้บริโภคจึงควรใช้วิจารณญานตัดสินใจเองว่า ต้องการกินสินค้าที่มีรสชาติมาตรฐานที่ทำจากสารเคมี(ซึ่งผู้ผลิตมักแจ้งที่ฉลากเพราะเป็นข้อบังคับของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) หรือสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติของชาวบ้านซึ่งอาจมีรสชาติแปรปรวนได้ในการผลิตวันต่อวันโดยไม่ต้องสัมผัสกับสารเคมีโดยไม่จำเป็น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 83 ของ (ไม่น่า) เล่น

ใครๆก็รู้ว่าของเล่นเป็นสิ่งที่สามารถสร้างช่วยเสริมทักษะ และสนับสนุนพัฒนาการต่างๆให้กับเด็กได้ แต่ใช่ว่าของเล่นทุกชิ้นที่มีขายอยู่ทั่วไปในท้องตลาดจะปลอดภัยสำหรับบุตรหลานของท่าน หลายคนอาจได้ยินเรื่องของของเล่นปนเปื้อนสารตะกั่วที่ต้องมีการประกาศเรียกคืนมาบ้างแล้ว เพราะของเล่นดังกล่าวอาจจะทำให้พัฒนาการเรียนรู้ พัฒนาการของกล้ามเนื้อและกระดูก รวมถึงพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กช้าหรือน้อยลงนั่นเอง มาดูกันว่าของเล่นที่มีขายในตลาดบ้านเราชิ้นที่เป็นอันตรายเพราะมีสารตะกั่วปนเปื้อนเกินมาตรฐานนั้นมีอะไรบ้าง ข้อมูลที่ฉลาดซื้อนำมาเสนอนั้นได้จาก ศูนย์วิจัยเสริมสร้างความปลอดภัยการป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก  คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ได้ทำการตรวจสอบหาโลหะหนักในของเล่นจำนวน 183 ชิ้น ที่มีราคาระหว่าง 20 – 150 บาท และเป็นของเล่นที่หาซื้อได้จากห้างและตลาดทั่วไป ในเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร น่าน พิษณุโลก สระแก้ว และ บุรีรัมย์ ผลการตรวจสอบ•    ของเล่นที่พบว่ามีสารตะกั่วเกินกว่าที่มาตรฐานกำหนดนั้นมีทั้งของเล่นที่มี และไม่มีเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม •    ในภาพรวม ร้อยละ16.9 ของของเล่นทั้งหมดที่ตรวจสอบ มีระดับสารตะกั่วสูงเกินมาตรฐาน•    ร้อยละ 16.3 ของของเล่นที่มีเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม และร้อยละ 18.8 ของของเล่นที่ไม่มีเครื่องหมายดังกล่าว มีระดับสารตะกั่วสูงเกินกว่าที่มาตรฐานกำหนด 

อ่านเพิ่มเติม >