ฉบับที่ 228 เปิด Moovit มั่นใจไม่ออกนอกเส้นทาง

        แม้ว่าจะใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพมหานครมานานมากแค่ไหน แต่ก็ใช่ว่าจะรู้เส้นทางทั่วทั้งหมด และเมื่อถึงคราวจำเป็นต้องเดินทางไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ก็ถึงเวลาคิดหนักถึงหนักมาก ต้องศึกษาเส้นทางการเดินทางอยู่นานเป็นวัน เพราะบางเส้นทางถ้าเลยจุดหมายเมื่อไรก็ต้องหาทางกลับตัวอีกยาว บางคนอาจกำลังคิดว่าทำไมไม่ขึ้นแท็กซี่ไปเลย บอกตรงๆ ก็อยากจะขึ้นแท็กซี่อยู่นะ แต่ในฐานะมนุษย์เงินเดือนที่ต้องบริหารเงินแบบเดือนชนเดือนอย่างเรา คงไม่มีเงินมากพอที่จะขึ้นแท็กซี่ได้ตลอด ยิ่งระยะทางไกลยิ่งดูดเงินในกระเป๋าอย่างหนัก ดังนั้นจึงต้องหันมาพึ่งรถโดยสารสาธารณะซึ่งเป็นทางออกที่ดีที่สุดกับเงินในกระเป๋า         ล่าสุดผู้เขียนต้องเดินทางไปอาคารหนึ่งที่อยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต ไม่มีบีทีเอส ไม่มีรถไฟใต้ดิน มีแต่รถโดยสารสาธารณะหรือรถเมล์เป็นตัวเลือกที่เหมาะกับเงินในกระเป๋า แล้วขึ้นรถเมล์สายอะไรล่ะ ลงป้ายไหนล่ะ แบบนี้ต้องพึ่งพากูเกิ้ล ค้นหาไปเรื่อยๆ จนได้ไปเจอกับแอปพลิเคชันหนึ่งที่มาตอบโจทย์คำถามทุกสิ่งอย่างได้เป็นอย่างดี นั่นคือ แอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Moovit         แอปพลิเคชัน Moovit ใช้งานได้ง่ายมากไม่ซับซ้อน มีรายละเอียดอยู่ 3 หมวด ได้แก่ หมวด Directions หมวด Stations และหมวด Lines        หมวด Directions เป็นหมวดที่ใช้สำหรับพิมพ์สถานที่ที่ต้องการเดินทางไปเพื่อทำการค้นหาเส้นทาง โดยพิมพ์และกดค้นหา แอปพลิเคชันจะแสดงเส้นทางจากจุดที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันอยู่ไปจนถึงจุดหมายที่ต้องการเดินทางไปถึง ซึ่งจะมีเส้นทางให้เลือกหลายเส้นทางพร้อมแจ้งเวลาในการเดินทาง ระยะทาง วิธีการเดินทางของแต่ละเส้นทางไว้ให้ตัดสินใจด้วย เมื่อเลือกเส้นทางได้แล้วสามารถกดเข้าไปดูแผนที่และข้อมูลรายละเอียดการเดินทางในแต่ละช่วงได้         ยกตัวอย่างเช่น จากจุดที่ยืนอยู่ให้เริ่มเดินไปประมาณ 500 เมตรจะเจอรถไฟใต้ดิน ขึ้นรถไฟใต้ดินไปลงสถานีลาดพร้าว ขึ้นรถเมล์สาย 92 โดยในการขึ้นรถเมล์นั้นจะมีรายละเอียดจำแนกจำนวนป้ายรถเมล์และชื่อป้ายรถเมล์ที่ต้องผ่านให้ด้วย หรือเพื่อเพิ่มความมั่นใจสามารถกดปุ่ม Navigate เพื่อให้รู้ว่าขณะนี้ผู้ใช้แอปพลิเคชันถึงจุดใดแล้วด้วยก็ได้        หมวด Stations เป็นหมวดที่ค้นหาป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟใต้ดิน แอร์พอร์ตลิงค์ เรือคลองแสนแสบ บริเวณใกล้จุดที่ค้นหา โดยแอปพลิเคชั่นจะบอกสายรถเมล์ที่ผ่านป้ายรถเมล์นั้นด้วย และถ้ามีสายรถเมล์ที่ต้องการเดินทางก็สามารถกดเข้าไปดูเส้นทางพร้อมข้อมูลรายละเอียดการเดินทางได้ทันที         สุดท้ายหมวด Lines เป็นหมวดที่ใช้ในการค้นหาป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟใต้ดิน แอร์พอร์ตลิงค์ เรือคลองแสนแสบทั้งหมดที่มีอยู่ แต่หมวดนี้จะมีความพิเศษเพิ่มสำหรับการค้นหารถเมล์ นั่นคือจะมีรูปป้ายรถเมล์ขึ้นบนแผนที่ซึ่งจะช่วยให้รู้เส้นทางชัดเจนยิ่งขึ้น         นอกจากนี้ยังมีแผนที่เส้นทางการเดินทางบีทีเอส รถไฟใต้ดิน แอร์พอร์ตลิงค์ และเส้นทางเดินคลองแสนแสบแบบออฟไลน์ให้ดาวน์โหลดเก็บไว้ในแอปพลิเคชั่นกรณีที่สมาร์ทโฟนไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อีกด้วย โดยขณะนี้แอปพลิเคชัน Moovit นี้สามารถใช้ได้ที่กรุงเทพมหานครและในเชียงใหม่เท่านั้น         การเดินทางด้วยรถเมล์ของผู้เขียนในครั้งนี้ แอปพลิเคชัน Moovit ช่วยได้ดีจริงๆ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ปัญหาของการทำประมงในอียู และบทบาทของผู้บริโภค

สำหรับประชาชนที่อยู่ในประเทศไทย มักได้ยินข่าวเกี่ยวกับเรื่องปัญหาการทำประมงในบ้านเรา ที่เคยถูกอียูแบนสินค้าประมงที่เรียกว่า IUU (Illegal, Unreported und Unregulated ) ซึ่งเป็นมาตรการและนโยบายของทางอียู ในการที่จะรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเล ให้มีความยั่งยืนไม่ให้เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีมีชีวิตในทะเล ซึ่งนโยบายของอียูที่เคยให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย ในอดีตเมื่อไม่นานมานี้จนกระทั่งรัฐบาลไทย ได้แสดงความเจตจำนงและตั้งใจในการแก้ปัญหาดังกล่าวจนกระทั่งสามารถแก้ปัญหาได้ลุล่วงได้ในที่สุด         ถึงแม้ว่าอียูจะมีมาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดการขูดรีดทรัพยากรจากท้องทะเลมากเกินไปก็ตาม แต่สถานการณ์เรื่องนี้ในกลุ่มประเทศอียูก็ไม่ได้ดีขึ้น องค์กรผู้บริโภค ต่างก็ยังคงมีข้อกังวลในเรื่องนี้ ในกรณีของประเทศเยอรมนี โดยเฉพาะปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน และปลาแฮริง ที่เป็นที่นิยมของบริโภคชาวเยอรมัน สถิติการบริโภคปลาและอาหารทะเลของคนเยอรมัน คือ 13.7 กิโลกรัมต่อประชากร 1 คน และมีแนวโน้มว่าจะมีสัดส่วนการบริโภคที่เพิ่มขึ้นทุกปี ในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมานี้ ปลาทุกชนิดได้ถูกจับขึ้นมาในอัตราความเร็วที่สูงกว่าจนการเกิดและการเติบโตของปลาไม่ทันกับการบริโภค         เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ทางคณะกรรมาธิการยุโรป อียู จึงได้กำหนดมาตรการ และจำกัดปริมาณการจับปลาในทะเลแอตแลนติก เหนือ และแอตแลนติกตะวันออก (North- East Atlantic Sea)  ทะเลเหนือ (North Sea) และทะเลตะวันออก (East Sea) ปริมาณที่กำหนดในการจับมาจากคำแนะนำขององค์กรทางวิชาการระดับนานาชาติอย่าง International Council for the Exploration of the Sea: ICES) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะให้ปริมาณสัตว์น้ำ ฟื้นตัวได้ทันก่อนปี 2020 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่คาดว่าไม่สามารถบรรลุได้ทันตามคำคาดการณ์ของที่ปรึกษานโยบายการประมงของสหภาพยุโรป องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF)1         (1https://www.test.de/Ratgeber-Fischkauf-Arten-schuetzen-Qualitaet-erkennen-1746195-0/) มีปลาหลายชนิดที่องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่าง กรีนพีซและWWF แนะนำให้ผู้บริโภคสามารถรับประทานได้ และบางชนิดควรหลีกเลี่ยง เพราะจะไปสนับสนุนการจับปลาแบบทำลายล้าง ซึ่งได้ทำเป็นคู่มือ2 และ application ให้กับผู้บริโภคที่ใส่ใจในเรื่อง การบริโภคที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (2https://issuu.com/greenpeacede/docs/greenpeace_fischratgeber_2016)         ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สร้างผลกระทบกับปริมาณปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติในทะเล ก๊าซเรือนกระจกส่งผลให้อุณหภูมิของน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และเกิดสภาพความเป็นกรดมากขึ้นส่งผลให้ปะการังตาย ซึ่งปะการังเป็นแหล่งอาศัยของปลาและสิ่งมีชีวิตในทะเลที่สำคัญ การตายของปะการังเป็นสัญญาณเตือนภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นกับระบบนิเวศน์ในทะเล และแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อปริมาณอาหารของมนุษย์ที่มีแหล่งกำเนิดจากท้องทะเลที่ลดลง         การทำประมงแบบ Aqua Culture (การเลี้ยงปลาในทะเล) จะมีบทบาทที่สำคัญในการทำประมงยุคใหม่ จากรายงานล่าสุดขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ระบุว่า ปลาที่ขายอยู่ในท้องตลาด ปัจจุบันนี้ครึ่งหนึ่งเป็นปลาที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยง แบบ Aqua Culture และมีอัตราการขยายตัวของการเลี้ยงปลาแบบนี้ ปีละ 6 % การเลี้ยงปลาในทะเลแบบนี้ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลด้วยเช่นกันไม่ว่าจะเป็นการทำลายป่าชายเลนหรือการทำลายสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่จำเป็นในการดำรงชีพของสัตว์น้ำบางชนิด ทำให้เกิดความเสียหายในประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ และ มีปัญหาในด้านสารเคมีตกค้างหรือการตกค้างของยาปฏิชีวนะในสิ่งแวดล้อม         จากกรณีปัญหาเรื่องการประมงนี้ในฐานะผู้บริโภค คงต้องกลับมามีสติและบริโภคทรัพยากรอย่างมีเหตุมีผลและต้องช่วยกันรณรงค์บริโภคทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเพื่ออนุรักษ์โลกที่เราอาศัยอยู่นี้  เพื่อส่งมอบให้กับลูกหลานของเราต่อไป (แหล่งข้อมูล วารสาร Test 12/2019)

อ่านเพิ่มเติม >