ฉบับที่ 276 ว่าด้วย “รายการส่งเสริมการขาย” ในโลกของบริการมือถือ

        ในความหมายทั่วไป รายการส่งเสริมการขายหมายถึงข้อเสนอพิเศษที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราวเพื่อการส่งเสริมการขาย หรือ Sale Promotion โดยเป็นวิธีการทางการตลาดที่ใช้เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าสนใจและตัดสินใจซื้อสินค้าในทันที ดังนั้นข้อเสนอพิเศษดังกล่าวจึงต้องมีลักษณะ “ว้าว” มากพอที่จะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นและเป็นเรื่องเร่งด่วน นั่นคือเป็นโอกาสที่ต้องรีบคว้าไว้ หากชักช้าอาจพลาดได้         โดยทั่วไปแล้ว รายการส่งเสริมการขายจึงมีลักษณะชั่วคราว จัดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ และบางครั้งมีการตั้งวัตถุประสงค์หรือกลุ่มลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง รูปแบบหลักที่มีการใช้มากที่สุดก็คือ การลด แลก แจก แถม         แต่สำหรับรายการส่งเสริมการขายในโลกของบริการมือถือ จะมีลักษณะที่แตกต่างออกไปในทางตรงกันข้ามเลยทีเดียว กล่าวคือจะเป็นเรื่องของการเสนอขายบริการในลักษณะที่มีการรวมรายละเอียดของบริการต่างๆ เป็นชุด  และเสนอขายเป็นการปกติทั่วไป ไม่มีทั้งการลด แลก แจก แถม และไม่มีความพิเศษหรือเร่งด่วนจนต้องรีบคว้าเอาไว้ หรือต้องรีบตัดสินใจ         ความหมายของรายการส่งเสริมการขายในบริการมือถือแท้จริงแล้วจึงค่อนข้างจะตรงกับคำว่า แพ็กเกจ (Package) ที่แปลว่าการซื้อขายเหมาเป็นชุด ซึ่งในวงการก็มีการใช้สองคำดังกล่าวในลักษณะทดแทนกันอยู่แล้ว         และรายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือก็จะมีอยู่มากมายหลายๆ แพ็กเกจ         เมื่อรายการส่งเสริมการขายบริการมือถือคือชุดของบริการที่บรรจุรายละเอียดบริการต่างๆ เอาไว้ จึงเท่ากับเป็นกรอบกำหนดปริมาณและคุณภาพของบริการ เช่นว่า ในแพ็กเกจ ก. อาจใช้บริการโทรได้ 100 นาทีและใช้อินเทอร์เน็ต 5G ความเร็วสูงสุดได้ 10 GB ดังนั้น ในโลกของการให้บริการมือถือ แพ็กเกจหรือรายการส่งเสริมการขายจึงเป็นส่วนที่ใช้ในการโฆษณา ซึ่งจุดนี้เป็นจุดหนึ่งที่เป็นประเด็นปัญหาอย่างยิ่ง         ดังที่ผู้บริโภคทั่วไปคงรู้สึกได้ว่า ในวงการโทรคมนาคมด้านบริการมือถือ มีการโฆษณาที่เข้าข่ายเกินจริง มีการใช้คำหรือข้อความโฆษณาลักษณะ เร็วสุด, แรงสุด, ทั่วไทย ฯลฯ กันเป็นปกติ และยังมีปัญหาลักษณะการยัดเยียดโฆษณาจนเป็นการรบกวนผู้บริโภคด้วย โดยเฉพาะการส่งข้อความสั้น หรือ SMS ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาลักษณะของการได้รับข้อมูลเกี่ยวกับรายการส่งเสริมการขายไม่ชัดเจนเพียงพอด้วย ตัวอย่างเช่น รายการส่งเสริมการขายมีข้อกำหนดว่าโทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง แต่มีเงื่อนไขในรายละเอียดพ่วงด้วยว่า ส่วนที่ฟรีนั้นจำกัดเฉพาะในส่วน 30 นาทีแรกของการโทรแต่ละครั้งเท่านั้น แต่ในการโฆษณาหรือแจ้งรายการส่งเสริมการขายดังกล่าวไม่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขรายละเอียดนี้         ปัญหาประการสำคัญในส่วนนี้คือ การไม่ได้รับบริการที่เป็นไปตามรายการส่งเสริมการขาย ทั้งๆ ที่ในทางกฎหมายแล้ว แพ็กเกจหรือรายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา โดยคุณภาพบริการที่ใช้งานได้จริงต้องเป็นไปตามที่พรรณนาหรือบรรยายไว้ในการโฆษณารายการส่งเสริมการขาย เรื่องนี้มีปัญหามากในส่วนบริการอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการไม่ได้ความเร็วตามกำหนด หรือใช้ได้ไม่ครบตามปริมาณที่กำหนด         ปัญหาอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับรายการส่งเสริมการขายที่ผู้บริโภคมักประสบเป็นเรื่องของการเปลี่ยนรายการส่งเสริมการขาย โดยมีปัญหาทั้งในลักษณะไม่สามารถเปลี่ยนได้ หรือถูกทางบริษัทผู้ให้บริการเปลี่ยนให้โดยพลการ ปัญหาทั้งสองลักษณะเท่ากับเป็นการจำกัดหรือละเมิดสิทธิการเลือกบริการของผู้บริโภค ทำให้ต้องผูกติดอยู่กับแพ็กเกจใดแพ็กเกจหนึ่ง หรือถูกบังคับใช้แพ็กเกจตามความพึงพอใจของบริษัทผู้ให้บริการ         ปัญหาประการหลังสุดนี้ขัดกับสิทธิผู้บริโภคประการที่ 2 ใน 5 ประการที่พระราชบัญญัติฃคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 บัญญัติไว้ว่าเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่ต้องได้รับความคุ้มครอง นั่นคือ สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ แต่ในส่วนของกฎหมาย กสทช. ไม่มีข้อกำหนดโดยตรงในเรื่องนี้ มีเพียงข้อกำหนดที่ว่า กรณีผู้ใช้บริการมิได้ปฏิเสธข้อเสนอใด จะถือว่าตกลงใช้บริการไม่ได้         ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับการโฆษณา แม้กสทช. จะไม่ได้มีกฎหมายกำกับควบคุม แต่ในมิติของการให้ข้อมูลที่เพียงพอ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 6 กำหนดไว้ว่า ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการให้บริการโทรคมนาคมในแต่ละบริการอย่างชัดเจนและครบถ้วน ผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย ซี่งตรงกับสิทธิของผู้บริโภคตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 บัญญัติไว้เป็นสิทธิประการที่ 1 นั่นคือ สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ         ส่วนประเด็นเรื่องการให้บริการที่ต้องเป็นไปตามสัญญา รวมถึงโฆษณา เป็นไปตามหลักที่ว่า โฆษณาถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ดังนั้น เมื่อรายการส่งเสริมกำหนดไว้อย่างไร บริการที่ผู้บริโภคได้รับย่อมต้องเป็นไปตามนั้น         ในโลกของบริการมือถือ รายการส่งเสริมการขาย จึงไม่ใช่การส่งเสริมการขาย แต่คือสาระสำคัญของบริการที่ผูกโยงกับปัญหาที่ผู้บริโภคอาจประสบและเกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 คุณภาพเน็ตมือถือถูกปรับลดในนามประโยชน์สาธารณะ

        ตั้งแต่ปลายปี 2566 ที่ผ่านมา เกิดเสียงบ่นจนเป็นกระแสทั้งในโลกออนไลน์และสื่อสาธารณะเกี่ยวกับปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตมือถือ ที่คุณภาพมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ นั่นคือ ความเร็วลดลง มีภาวะเน็ตอืดช้าหรือใช้การไม่ได้ ไม่เฉพาะการใช้งานลักษณะเข้มข้นหรือหนักหน่วง แม้แต่การใช้งานบางเบาอย่างการส่งข้อความทางไลน์ การใช้งานเฟซบุ๊ก ก็ยังมีความติดขัดหรือไม่อาจทำได้         คำอธิบายหรือข้ออ้างจากเอกชนผู้ให้บริการทั้งหลาย รวมถึงองค์กรกำกับดูแลอย่าง กสทช. ประเภทที่ว่า คุณภาพที่ลดลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติจากปัจจัยหลากหลาย เช่น เรื่องของปริมาณการใช้งานรวมในบางช่วงบางเวลาและบางพื้นที่มีความหนาแน่นเกินกว่าความจุโครงข่าย หรือ capacity  ปัจจัยเรื่องประสิทธิภาพอุปกรณ์ของผู้ใช้บริการแต่ละราย หรือรายการส่งเสริมการขายที่เลือกใช้ ฯลฯ ดูเหมือนจะฟังไม่ขึ้น เนื่องจากข้อมูลและเสียงสะท้อนของประชาชนผู้ใช้บริการจำนวนมาก ทำให้เห็นได้ว่า คุณภาพ “เน็ตมือถือ” ที่เปลี่ยนแปลงไปในทางลบนั้น เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ทั้งเชิงพื้นที่และเครือข่ายที่ให้บริการ (เอกชนทุกราย) อีกทั้งมีลักษณะที่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ         อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวย่อมเป็นเรื่องที่ประชาชนไม่อาจพิสูจน์เองได้ง่ายๆ ในขณะที่ กสทช. ตอบสนองล่าช้าและยังไม่มีทีท่าว่าจะหาทางพิสูจน์ความจริงอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทำเพียงมอบหมายคณะอนุกรรมการตรวจสอบบ้าง ให้เอกชนผู้ให้บริการรายงานเข้ามาบ้าง ประเด็นปัญหานี้จึงกลายเป็นอีกเรื่องที่ประชาชนได้แต่ “บ่นหาย” ยังไม่มีแววว่าจะเกิดมรรคผลและทางออกใดตามมา การบ่นได้แต่ซาลงตามกาลเวลาที่ล่วงไป         แต่ที่จริงแล้ว ความจริงส่วนหนึ่งได้ปรากฏชัดผ่านเรื่องร้องเรียนที่สำนักงาน กสทช. ได้รับ เนื่องจากในหนังสือตอบของบริษัทผู้ให้บริการต่อกรณีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวมีการยอมรับว่าทางบริษัทได้มีการปรับลดความเร็วอินเทอร์เน็ตลง อันเนื่องมาจากการพบว่าผู้ร้องเรียนมีการถ่ายโอนข้อมูลปริมาณมากเป็นเวลานาน หรือที่เรียกว่าการใช้งานแบบ BitTorrent ตลอดจนมีการแชร์อินเทอร์เน็ตในลักษณะเป็นจุดให้บริการ หรือ Hotspot และ/หรือการใช้งานในเชิงพาณิชย์         บริษัทอ้างว่า การกระทำของบริษัทในเรื่องการปรับลดความเร็วเป็นไปตาม “นโยบายการจัดการบริหารเครือข่ายตามความเหมาะสม” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษามาตรฐานคุณภาพของบริการและเพื่อช่วยให้ผู้ใช้บริการโดยรวมสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ         นโยบายที่ว่านี้ หรือที่เรียกว่า FUP อันย่อมาจาก Fair Usage Policy คือมาตรการสากลที่ผู้ให้บริการมือถือในระดับโลกต่างก็นำมาใช้กัน นัยว่าเพื่อเป็นการรักษามาตรฐานการใช้งานอินเทอร์เน็ตมือถือในภาพรวมและป้องกันการใช้งานผิดประเภท ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแย่งพื้นที่การใช้งานของผู้ใช้คนอื่นในช่องสัญญาณนั้นๆ เปรียบเทียบง่ายๆ ให้เห็นภาพคือ เสมือนการใช้สัญญาณ Wi-Fi ภายในบ้านที่มีผู้เชื่อมต่อหลายคน หากมีคนหนึ่งคนใดดาวน์โหลด BitTorrent ขึ้นมา ก็จะทำให้ความเร็วอินเทอร์เน็ตเกือบทั้งหมดในบ้านนั้น ถูกดึงไปให้ผู้ใช้คนนั้น ทำให้คนที่เหลือได้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วลดลง         ในหมู่ผู้ใช้เน็ตมือถือไทยรู้จักกับ FUP กันมานานแล้ว ซึ่งบังเอิญออกเสียงที่ให้ความหมายแบบไทยได้ตรงตามเรื่องว่า “ฟุบ” พอดิบพอดี โดยในการใช้งานเน็ตมือถือระยะแรกๆ รายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือแบบมีอินเทอร์เน็ตเกือบทั้งหมดที่นำเสนอขายในฐานะ “เน็ตไม่อั้น” มักจะมีสิ่งที่เรียกว่า “ติดฟุบ” พ่วงควบมาด้วย กล่าวคือ ในแต่ละเดือน เมื่อใช้งานเน็ต ณ ความเร็วตามที่กำหนด (หน่วยนับคือ Mbps-Megabit per second หรือ Kbps-Kilobit per second) ไปจนครบจำนวนดาต้า (data) ที่ตกลงกันไว้ เช่น 1GB ทางบริษัทผู้ให้บริการก็จะจัดการปรับลดความเร็วในส่วนการให้บริการของผู้ใช้แต่ละรายลง         ปัญหาของ FUP ในยุคแรกคือ เน็ตที่ว่าใช้ได้ “ไม่อั้น” แท้จริงแล้วแทบไม่มีประโยชน์อะไร เนื่องจากระดับของความเร็วที่ปรับลดลงมักต่ำเตี้ยจนกระทั่งแทบใช้งานไม่ได้ ต่างกับ FUP ในต่างประเทศที่ลดแบบอยู่ในระดับมาตรฐาน         ปัญหาเรื่อง FUP-ฟุบ ในระลอกนั้นคลี่คลายลงบ้างเมื่อ กสทช. มีการกำกับความเร็วขั้นต่ำของ FUP ผ่านการวินิจฉัยเรื่องร้องเรียน แต่ปัจจัยที่ทำให้ปัญหาบรรเทาลงดูจะมาจากพัฒนาการของเทคโนโลยีมากกว่า         จุดเปลี่ยนที่ทำ FUP-ฟุบ ค่อนข้างลดบทบาทลงเกิดขึ้นหลังจากการประมูลคลื่นความถี่สำหรับบริการ 4G เมื่อปลายปี 2558 โดยบรรดาค่ายมือถือพากันออกรายการส่งเสริมการขายที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตในปริมาณที่มากขึ้น เช่นสูงถึง 80 GB รายการส่งเสริมการขายหรือแพ็กเกจประเภท “เน็ตเต็มสปีด” หรือ “เน็ตไม่มี FUP” จึงเกิดขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ควรเรียกเช่นนั้น เนื่องจากความหมายจริงคือ รายการส่งเสริมการขายในยุคนี้เปลี่ยนมาเป็นการจำกัดปริมาณการใช้งานเป็นหลัก ส่วนเรื่องความเร็วก็จะมีการกำหนดรับรองไว้ว่ารายการส่งเสริมการขายนั้นๆ จะได้ความเร็วสูงสุดเท่าไร         ด้วยลักษณะดังกล่าวนี้ ปัญหาคุณภาพบริการที่ผู้ใช้บริการมักจะประสบจึงเป็นเรื่องของการได้รับความเร็วที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงหรือตามที่ได้โฆษณาไว้ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ FUP แต่อย่างใด         อย่างไรก็ตาม การที่เอกชนค่ายมือถือกลับมาอ้างและใช้ FUP-ฟุบ อีกครั้ง ทั้งที่ข้อกำหนดของรายการส่งเสริมการขายระบุชัดเจนว่า เป็นประเภท “ไม่ลดสปีด” จึงเป็นการทำผิดสัญญาอย่างแน่ชัด ส่วนว่าเป็นเรื่องของประโยชน์สาธารณะจริงหรือไม่ ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์         ที่สำคัญคือ เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการควบรวมของสองค่ายมือถือ และเป็นส่วนหนึ่งของคำถามที่สังคมตั้งขึ้นด้วยความคลางแคลงว่า ใช่ผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นให้ผู้บริโภคต้องแบกรับหรือไม่ ในขณะที่เอกชนได้ประโยชน์กันไปเรียบร้อยตามประสงค์         คำถามนี้เกิดขึ้นมาข้ามปีแล้ว และ กสทช. ยังไม่ได้ตอบด้วยประจักษ์หลักฐานให้กระจ่าง พร้อมๆ กับวิกฤติศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรกำกับดูแลแห่งนี้ที่ยิ่งเพิ่มขึ้นกับกาลเวลาที่ผ่านไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 อยากเลิกต้องเลิกได้

        เขียนเรื่องเลิกอีกแล้วไม่ใช่เพราะหมกมุ่นกับการเลิกหรอกนะ แต่เพราะในช่วงนี้มีกระแสข่าวเกี่ยวกับความเดือดร้อนของผู้บริโภคที่ถูกปฏิเสธไม่ให้ยกเลิกบริการอินเทอร์เน็ต เว้นแต่จะต้องจ่ายค่าปรับอุปกรณ์และค่าแรกเข้าที่ทางเครือข่ายผู้ให้บริการอ้างว่าได้ยกเว้นให้เมื่อตอนสมัครใช้บริการ โดยแลกกับการต้องอยู่ใช้บริการกันไปไม่น้อยกว่า 1 ปี หรืออาจจะมากกว่านั้น...ก็แล้วแต่จะกล่าวอ้างกันไป         อย่างที่เคยเขียนไว้ในคอลัมน์นี้แล้วว่า ตามกติกาที่ กสทช. กำหนดนั้น มีการให้สิทธิผู้ใช้บริการในการยกเลิกบริการได้เสมอ ดังที่ระบุไว้ในข้อ 32 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 (แม้เป็นประกาศของ กทช. แต่ก็มีผลใช้บังคับต่อมาจนถึงยุค กสทช.) ว่า        “ผู้ใช้บริการมีสิทธิเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ด้วยการบอกกล่าวเป็นหนังสือให้แก่ผู้ให้บริการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ” ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “ผู้ใช้บริการจะต้องชำระค่าบริการครบถ้วนแล้วจนถึงวันที่การยกเลิกสัญญามีผลบังคับ”        ขณะเดียวกันก็ได้กำหนดเหตุที่ผู้ใช้บริการอาจใช้สิทธิยกเลิกสัญญาได้ทันทีไว้ 4 ประการ เช่น ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับบริการจากผู้ให้บริการได้ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการได้ละเมิดข้อตกลงอันเป็นสาระสำคัญของสัญญา        ตามนัยของข้อ 32 นี้จึงเท่ากับว่า ผู้บริโภคย่อมมีสิทธิที่จะขอยกเลิกสัญญาหรือเลิกใช้บริการเมื่อไรก็ได้ เพียงแต่จะต้องแจ้งผู้ให้บริการทราบแบบเป็นลายลักษณ์อักษร โดยที่การยกเลิกจะมีผลในอีก 5 วันหลังการแจ้งนั้น การยกเลิกนี้จะมีเหตุผลอะไรอย่างไรหรือไม่ก็ไม่ใช่ประเด็น กล่าวคือ ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลหรือแสดงเหตุผลอันใด แค่อยากเลิกก็เลิกได้         ส่วนกรณีที่การใช้บริการมีปัญหา เมื่อแจ้งยกเลิกแล้ว ตามกฎหมายก็ถือว่ามีผลทันทีเลย เพียงแต่ว่าเรื่องยุ่งยากมักตามมาในแง่ที่ว่า ผู้ให้บริการอาจไม่ยอมรับว่าบริการมีปัญหาตามที่ผู้บริโภคกล่าวอ้าง จากนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงและพิสูจน์กันยืดยาว        อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายอนุญาตให้ผู้บริโภคยกเลิกบริการโทรคมนาคมเมื่อใดก็ได้ตามที่ต้องการ แต่สำหรับกรณีที่มีการรับมอบเครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อสัญญาสิ้นสุดก็ต้องส่งคืนอุปกรณ์เหล่านั้นแก่ผู้ให้บริการด้วย ซึ่งในกรณีอินเทอร์เน็ตบ้าน อย่างน้อยต้องมีเราเตอร์ ซึ่งหากเสียหายหรือไม่มีคืนให้ ก็ต้องชดใช้ตามราคาจริงในตลาดขณะนั้น        ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ถ้าหากผู้บริโภคคนใดไม่ต้องการใช้บริการโทรคมนาคมใดอีกต่อไปแล้ว ก็มีหน้าที่เพียงแค่บอกเลิกกันไปให้เป็นเรื่องเป็นราว และ “มีหลักฐาน” ส่วนข้าวของก็ส่งคืนให้ครบถ้วน หากมีการสูญหายหรือสึกหรอก็ต้องชดใช้ตามสัดส่วน แต่สำหรับเรื่องของ “ค่าปรับ” ตามกฎหมายไม่อนุญาตให้ผู้ให้บริการเรียกเก็บ “ค่าปรับ” ใดๆ จากผู้บริโภคได้ทั้งสิ้น         กติกามีความตรงไปตรงมาเช่นนี้ และตั้งอยู่บนหลักการที่ค่อนข้างเรียบง่าย ซึ่งให้ความคุ้มครองทั้งสองฝ่ายเสมอภาคกัน  เพียงแต่ว่าในโลกความเป็นจริงมักมีเรื่องซับซ้อนกว่านั้น เช่นว่า บริการเน็ตบ้านมักถูกเสนอขายพ่วงมากับบริการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ กล่องรับชมรายการโทรทัศน์ หรือกระทั่งเครื่องโทรศัพท์มือถือ        ถ้าเน็ตบ้านเป็นบริการหลัก ซึ่งในทางกฎหมายเท่ากับสัญญาใช้บริการเน็ตบ้านคือสัญญาหลัก เมื่อสัญญาหลักเลิกกันแล้วจึงมักมีประเด็นว่า แล้วบริการพ่วงอื่นๆ จะอยู่ในสถานะใด ความซับซ้อนจึงเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในแง่ที่ว่า ผู้บริโภคอาจยังประสงค์ใช้บริการอื่นๆ อยู่ เช่น ยังอยากเก็บกล่องไว้ดูทีวีต่อไป  หรือผู้บริโภคบางคนอาจเพียงแค่ลืมไปแล้วว่า “ตอนนั้น” มี “ซิมฟรี” ให้มาด้วยนะ แต่ด้วยความที่ไม่เคยได้เอามาใช้เลย จึงไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนแล้ว และไม่คิดว่าต้องทำอะไรกับซิมนั้นทั้งสิ้น จนกระทั่งเดือนถัดมา คราวนี้ก็ว้าวุ่นเลย เนื่องจากถูกเรียกเก็บค่าบริการ บางรายการเป็นการเรียกเก็บในอัตราที่เพิ่มขึ้น บางรายการเป็นสิ่งที่โผล่มาใหม่ จากที่ไม่เคยมีการเรียกเก็บมาก่อน        เบื้องหลังของสิ่งที่เกิดขึ้น ในมุมของผู้ให้บริการอธิบายได้ว่า เมื่อการรับชมช่องรายการโทรทัศน์ไม่ใช่บริการที่พ่วงกับอินเทอร์เน็ตที่เป็นบริการหลักแล้ว ค่าบริการที่เคยคิดในอัตราลดพิเศษก็ต้องถูกคิดแบบเต็มจำนวน ส่วนซิมโทรศัพท์มือถือนั้นเป็นการให้บริการแบบรายเดือนในอัตราเหมาจ่าย เพียงแต่ที่ผ่านมาอยู่ในฐานะบริการแถม จึงไม่เคยมีการเรียกเก็บค่าบริการ แต่เมื่อสัญญาหลักหมดไป ก็กลับสู่การคิดค่าบริการตามปกติ        ในชีวิตจริงของการเลิกเน็ตบ้านที่มีบริการต่างๆ พ่วงอยู่ด้วยจึงไม่ง่ายนัก         ในทางปฏิบัติ ผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องตัดสินใจในส่วนของบริการพ่วงทั้งหลายด้วยว่าจะเอาอย่างไร ส่วนใดที่ไม่ได้จะใช้ต่อไปหรือไม่เคยใช้ก็ต้องยื่นยกเลิกไปพร้อมกัน ส่วนบริการที่อยากเก็บไว้ ก็ควรต้องทำสัญญาหรือทำความตกลงกันใหม่ให้มีความชัดเจน ว่าบริการส่วนนั้นๆ จะมีอัตราค่าบริการเป็นอย่างไร มีเงื่อนไขอะไรบ้างหรือไม่        และเพื่อหลีกเลี่ยงความว้าวุ่นในอนาคต ควรที่จะเก็บหลักฐานการยกเลิกบริการทั้งหลายเอาไว้สักระยะหนึ่งด้วย เผื่อไว้สำหรับกรณีมีการเรียกเก็บค่าบริการขึ้นมาอีกในภายหลัง เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีเรื่องร้องเรียนจำนวนหนึ่งที่ผู้บริโภคประสบปัญหาว่ายังคงถูกเรียกเก็บค่าบริการส่วนที่ยกเลิกไปแล้ว ซึ่งถ้าหากมีหลักฐานก็จะทำให้ไม่ต้องยุ่งยากในการพิสูจน์ และไม่ต้องโต้แย้งกันโดยยากจะหาข้อยุติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 โปรแกรมเพื่อความปลอดภัยออนไลน์

        เมื่อธุรกรรมหลายๆ อย่างพากันย้ายขึ้นไปบนแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต หลายคนจึงต้องการมั่นใจว่า “ทีมรักษาความปลอดภัย” ที่ใช้อยู่หรือวางแผนจะใช้นั้นมีประสิทธิภาพแค่ไหน ฉลาดซื้อฉบับนี้ชวนคุณมาดูผลทดสอบโปรแกรมเพื่อความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้ทำไว้ในช่วงต้นปี 2021 มีทั้งแบบฟรีและแบบเสียเงิน และทั้งที่ใช้กับระบบปฏิบัติการ Mac และ Window คะแนนรวม 100 ได้จากคะแนน 3 ด้านดังนี้         -       ร้อยละ 65              ประสิทธิภาพในการคุ้มครองความปลอดภัย (เช่น การตรวจจับและจัดการไวรัสทั้งออนไลน์และออฟไลน์ หรือประสิทธิภาพของฟังก์ชัน anti-phishing เป็นต้น) โปรแกรมที่ใช้คือ WINDOW 10 และ MacOS ในเวอร์ชันที่อัปเดตล่าสุด และในคอมพิวเตอร์ที่ใช้จะต้องมีโปรแกรมอย่าง Adobe Reader, Edge, Internet Explorer 11, Firefox, Chrome, Thunderbird, VLC, และ 7zip ติดตั้งอยู่ด้วย        -       ร้อยละ 25              ความสะดวกการใช้งาน (เริ่มตั้งแต่ความยากง่ายในการติดตั้ง เวลาที่ใช้ โปรแกรมเสริม รวมถึงอัปเดตและการแจ้งเตือนต่างๆ) เป็นคะแนนจากผู้เชี่ยวชาญ 3 คนที่ใช้โปรแกรมทุกตัว แล้วตอบแบบสอบถาม ให้ความเห็นเกี่ยวกับโปรแกรมต่างๆ        -       ร้อยละ 10             การไม่สิ้นเปลือง “พื้นที่” ในการติดตั้ง รวมถึงการไม่ทำให้เครื่องทำงานช้า         หมายเหตุ โปรแกรมที่เราทดสอบมีทั้งแบบโหลดฟรีและแบบที่ต้องจ่ายเงิน โดยอย่างหลังนั้นราคาจะแตกต่างกันไปตามจำนวนอุปกรณ์และจำนวนปีที่ผู้ใช้เลือก มีตั้งแต่ปีละ 299 บาท (สำหรับอุปกรณ์เดียว) ไปจนถึง 3,750 (ใช้ได้ถึง 7 อุปกรณ์) นอกจากนี้ยังอาจมีโปรโมชันอื่นๆ ที่ทำให้ราคาถูกลงด้วย โปรดตรวจสอบราคาโปรแกรมตามความต้องการอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 235 กระแสต่างแดน

ลดช่องว่าง    สถิติเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศจีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 940 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งโลกรายงานจากศูนย์ข้อมูลสารสนเทศและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งชาติจีน ยังบอกอีกว่าอัตราการเข้าถึง อินเทอร์เน็ตของจีนสูงถึงร้อยละ 67 (ค่าเฉลี่ยของทั้งโลกคือร้อยละ 62) และที่สำคัญกว่านั้นคือช่องว่างหรือความได้เปรียบเสียเปรียบทางดิจิทัลระหว่างคนเมืองกับคนชนบทลดลงอย่างมาก เพราะร้อยละ 98 ของหมู่บ้านในชนบทห่างไกลมีอินเทอร์เน็ตผ่านไฟเบอร์ออปติกให้ชาวบ้านใช้แล้วขณะนี้จีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอนออนไลน์ไม่ต่ำกว่า 380 ล้านคน และยังมีการใช้ประโยชน์ในการทำงานจากบ้าน หรือ “พบแพทย์” ออนไลน์เพื่อขอคำปรึกษามากขึ้นสาเหตุที่ชาวจีนทุกเพศทุกวัยหันมาใช้อินเทอร์เน็ตกันมากขึ้นก็เพราะการระบาดของโควิด-19 นั่นเอง มีลูก มีรางวัล    รัฐบาลสิงคโปร์พยายามแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำมากว่าหนึ่งทศวรรษ ด้วยแผนให้เงินช่วยเหลือ 10,000 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 230,000 บาท) กับคู่สามีภรรยาที่มีบุตร แถมด้วยโบนัสอื่นๆ อีกมากมาย แต่ดูเหมือนจะยังไม่ประสบความสำเร็จข้อมูลปี 2018 ระบุว่าค่าเฉลี่ยการให้กำเนิดบุตรของสิงคโปร์อยู่ที่ 1.14 คนต่อผู้หญิง 1 คน และปีนี้การระบาดของโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกเมื่อคู่แต่งงานพากันยกเลิกแผนมีบุตร เพราะกังวลเรื่องปัญหาการเงินหรือการถูกเลิกจ้าง รัฐบาลจึงเตรียมประกาศแพ็กเกจใหม่ที่น่าดึงดูดใจกว่าเดิมเรื่องราวช่างตรงข้ามกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับสี่ของโลกคาดว่าจะมีจำนวนเด็กเกิดมากกว่าปกติถึง 400,000 คน ในขณะที่ฟิลิปปินส์ซึ่งปัจจุบันมีประชากรไม่ต่ำกว่า 108 ล้านคน มีแนวโน้มจะมีเด็กเกิดใหม่อีก 2.6 ล้านคน หากมาตรการล็อกดาวน์ยังมีอยู่จนถึงสิ้นปี คนท้องถิ่นต้องมีที่อยู่    การขยายตัวของการท่องเที่ยวและแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นมาเป็นสื่อกลางระหว่าง “เจ้าของบ้าน” ในเมืองยอดนิยมกับบรรดานักท่องเที่ยวที่ต้องการประหยัดเงิน ทำให้คนท้องถิ่นที่ต้องการหาที่อยู่ใกล้ที่ทำงานหรือที่เรียนกลายเป็นกลุ่มที่ “ไร้ที่พักอาศัย” เพราะไม่สามารถจ่ายค่าเช่าห้องซึ่งแพงขึ้นได้เทศบาลของ 22 เมืองยอดนิยมในยุโรปจึงรวมตัวกันเรียกร้องให้สหภาพยุโรปออกกฎระเบียบควบคุมแพลตฟอร์มหรือแอปฯ อย่าง Airbnb ให้แชร์ข้อมูลกับรัฐบาลท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยบริการดิจิทัลกลุ่มพันธมิตรเมืองในยุโรป (Eurocities Alliance) ต้องการให้เทศบาลสามารถกำกับดูแลได้ ว่าเจ้าของบ้านไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการหรือไม่  หรือมีรายใดปล่อยเช่าห้องพักต่อปีกับแอปฯ เหล่านี้เกินจำนวนวันที่ได้รับอนุญาตหรือเปล่า และแอปฯ ต้องร่วมรับผิดชอบหากเกิดการฝ่าฝืนจะอ้างว่าเป็นเพียงตัวกลางไม่ได้เมืองในพันธมิตรดังกล่าวได้แก่ ลอนดอน ปารีส มิลาน เบอลิน เวียนนา พอร์โต เฮลซิงกิ บาเซโลนา และอัมสเตอร์ดัม เป็นต้น เตรียมเลิกรถใช้น้ำมัน    แคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในอเมริกา (39.5 ล้านคน) ออก “คำสั่งผู้บริหาร” ห้ามใช้รถที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ภายในปี 2035 แน่นอนว่าคำสั่งนี้ไม่ถูกใจค่ายรถยนต์และสร้างความหงุดหงิดให้ลุงทรัมป์เป็นอย่างมาก แต่ผู้ว่าการรัฐฯ เขาก็เล่นใหญ่ ถึงกับเซ็นคำสั่งดังกล่าวบนฝากระโปรงรถพลังงานไฟฟ้ารุ่น Ford Mustang Mach E ออกสื่อมันเสียเลย แต่ก็ยังต้องรอลุ้นกันต่อไปว่าคำสั่งนี้จะถูกล้มล้างโดยรัฐบาลหรือไม่  นอกจากการแบนรถใช้น้ำมันแล้ว แคลิฟอร์เนียยังมีแผนพัฒนาการขนส่งระบบราง การปรับปรุงทางเท้า และทางจักรยาน  กว่าร้อยละ 50 ของมลภาวะที่เกิดขึ้นในแคลิฟอร์เนียมาจากการเดินทางขนส่ง จึงตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกให้เหลือเพียงร้อยละ 80 ของปริมาณทีเกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน ภายในปี 2050นอกจากมลภาวะบนท้องถนนแล้ว ปีนี้แคลิฟอร์เนียยังเผชิญกับสภาพอากาศเลวร้ายเพราะไฟป่าที่ กินพื้นที่ถึง 14,600 ตารางกิโลเมตรอีกด้วย ไม่ขาดก็เกิน    ในปี 2018 อินโดนีเซียใช้เงินถึง 155,000 ล้านเหรียญเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพ ซึ่งมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับ “อาหาร” โดยร้อยละ 48 เป็นความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน ในขณะที่ร้อยละ 26 เป็นปัญหาการขาดอาหารในเด็ก ร้อยละ 20 เกิดจากมลภาวะ ที่เหลืออีกร้อยละ 6 คือการได้รับสารอันตรายจากยากำจัดศัตรูพืชนักวิจัยจากโครงการแนวร่วมอาหารและการใช้ที่ดิน (Food and Land Use Coalition) บอกว่ารัฐบาลยังใช้เงินอีก 137,000 ล้านเหรียญเพื่อลดผลกระทบของการเกษตรที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 55 เพื่อแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 40 แก้ปัญหาภัยแล้ง และอีกร้อยละ 5 ในการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพและนักวิจัยยังขอร้องให้คนอินโดนีเซียปรับปรุงนิสัยการบริโภค ด้วยการกินผักให้มากขึ้น (คนอินโดฯ กินผักเพียงวันละ 122 กรัม จากปริมาณที่แนะนำ 300-400 กรัม) และบริโภคน้ำตาลให้น้อยลง (จากมากกว่า 50 กรัมควรเหลือเพียงไม่เกิน 40 กรัม) เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ผู้ป่วยควรเข้าถึงยาจากกัญชา แต่ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาอย่าให้ถูกหลอก

        ช่วงที่สังคมกำลังตื่นตัวเรื่องการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ มีการกำหนดช่วงเวลาให้ผู้ป่วยที่กำลังใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชา มาแจ้งข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในแต่ละจังหวัด ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ป่วยที่มาแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การได้รับผลิตภัณฑ์จากกัญชา ทราบว่าส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะให้ข้อมูลว่า มีคนนำมาจำหน่ายให้ หรือบางรายก็สั่งซื้อจากอินเทอร์เน็ต        ประเด็นที่เจ้าหน้าที่และพวกเราควรจะช่วยกันหาทางเพื่อคุ้มครองดูแลผู้ป่วยเหล่านี้คือ ผลิตภัณฑ์ที่พวกเขายอมเสียเงินเสียทองซื้อมา เป็นน้ำมันกัญชาจริงหรือไม่ เพราะข้อมูลราคาของน้ำมันกัญชาที่ผู้ป่วยแต่ละคนซื้อมา มีราคาแตกต่างกันมาก ตั้งแต่ขวดละ 500 ไปจนถึง 10,000 บาท         ผู้ป่วยที่น่าสงสารหลายรายที่ป่วยโรคเรื้อรังยอมเสียเงินแพงๆ เพราะคาดหวังผลในการรักษา ยิ่งสอบถามวิธีการใช้ ยิ่งน่าเป็นห่วงเพราะส่วนมากจะดูข้างขวดและมักจะเพิ่มขนาดการใช้เอง เพราะต้องการผลที่รวดเร็วขึ้น บางรายก็แอบใช้โดยไม่บอกใคร พอมาเจอยาแผนปัจจุบันที่ตนเองรับประทานเป็นประจำก็ยิ่งเสริมฤทธิ์กัน จนต้องนำส่งโรงพยาบาล กว่าผู้ป่วยจะยอมบอกคุณหมอ ก็แทบแย่         ล่าสุด ได้รับข้อมูลจากน้องเภสัชกรจากหลายๆ จังหวัดแจ้งว่า เริ่มมีขบวนการนำยามาเร่ขาย อ้างว่ามีส่วนผสมของกัญชา โดยคนที่มาเร่ขายจะบอกว่าเป็นยาจากโครงการหลวง เวลาจะซื้อต้องบอกหมายเลขบัตรประชาชนด้วย  และให้ไปขอใบรับรองจากแพทย์ว่าป่วย  อ้างว่าจะนำชื่อผู้ป่วยไปเข้าโครงการให้ ถ้าซื้อยาในวันนี้ ราคากระปุกละ 500 บาท แต่ถ้าไปซื้อที่โรงพยาบาลจะต้องเสียเงินถึง 750 บาท หลังจากเสียเงินแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับแจกกัญชาสองต้น และอัญชันอีกหนึ่งต้น มีเหยื่อหลงเชื่อหลายราย         จากข้อมูลที่พบคาดว่า สถานการณ์ที่จะเอากระแสกัญชามาหลอกลวงผู้ป่วยเริ่มจะมีมากขึ้น และหลากหลายรูปแบบด้วย การนำผลิตภัณฑ์กัญชามาใช้ทางการแพทย์ เป็นทางเลือกให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาอย่างหนึ่ง แต่ผลิตภัณฑ์จากกัญชาก็เหมือนยาทั่วๆ ไป ที่มีทั้งคุณและโทษ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข ก็พยายามที่จะดูแลให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยาอย่างปลอดภัย หากพบผู้ป่วยรายใดที่ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาแล้วเกิดผลข้างเคียง ก็สามารถแจ้งข้อมูลยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผ่านทางช่องทางนี้ได้ที่ http://thaihpvc.fda.moph.go.th/thaihvc/Marijuana/input-form.jsf        เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลแล้ว จะติดต่อกลับ เพื่อสอบถามอาการ และรวบรวมเป็นข้อมูลในการเฝ้าระวังผลข้างเคียง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยต่อไป        หากเราพบเห็นผลิตภัณฑ์แปลกๆ ที่อ้างว่ามีส่วนผสมของกัญชา ตลอดจนมีพฤติกรรมการขายที่หลอกให้ผู้ป่วยเสียเงินเสียทอง ขอให้รีบแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อจะได้ช่วยกันดูแล อย่าให้ใครมาอาศัยสถานการณ์นี้ หลอกลวงซ้ำเติมผู้ป่วยที่น่าสงสารเหล่านี้อีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 กระแสต่างแดน

ปอดไม่สำราญ        รายงานการสำรวจมลพิษในเมืองท่าของยุโรปโดยสหพันธ์การขนส่งและสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรปพบว่า สเปนคือประเทศที่มีมลภาวะจากเรือสำราญมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองบาร์เซโลนาและพาลม่า        รายงานระบุว่าในปี 2017 มีเรือสำราญมาเทียบท่าเรือบาร์เซโลนาถึง 105 ลำ รวมเวลาปล่อยมลพิษ  8,293 ชั่วโมง และปริมาณไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลฟูรอกไซด์ และฝุ่นจิ๋ว (พีเอ็ม 2.5) ที่ปล่อยออกมานั้น สูงกว่ามลพิษจากรถยนต์ 558,920 คันบนท้องถนนในเมืองถึงห้าเท่า        เช่นเดียวกับพาลม่าที่มีเรือสำราญมาจอด 87 ลำ แต่มลภาวะจากเรือเหล่านี้สูงกว่ารถยนต์ในเมืองรวมกันถึง 10 เท่า        ต้องติดตามว่าสเปนซึ่งได้ชื่อว่าจริงจังกับการจัดการปัญหามลพิษจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร สถิติอย่างเป็นทางการระบุว่า คนสเปนเสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับมลพิษถึงปีละ 30,000 คน หิวเลือกได้        ข่าวดีสำหรับสายบุญ สายสุขภาพ และสายรักษ์โลก ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องลงความเห็นแล้วว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ร้อยละ 60 ของ “เนื้อสัตว์” ที่เรารับประทานจะไม่เกิดจากการฆ่า        ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถสังเคราะห์เนื้อสัตว์ขึ้นในห้องทดลอง หรือใช้พืชผักมาทำเป็นอาหารในรูปแบบที่ต้องการได้        ปัจจุบันมีบริษัท “สตาร์ทอัป” ด้านอาหารทางเลือกเกิดขึ้นมากมาย เช่น บียอนด์มีท อิมพอสสิเบิลฟู้ดส์ และจัสต์ฟู้ดส์ และมีผู้สนใจลงทุนในธุรกิจดังกล่าวไม่น้อย        เมื่อ บียอนด์ฟู้ด เข้าตลาดหลักทรัพย์ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทสามารถระดมทุนได้ถึง 240 ล้านเหรียญ (ประมาณ 7,500 ล้านบาท)         การสำรวจในจีน อินเดีย และอเมริกา พบว่าผู้บริโภคให้การตอบรับ “เนื้อทางเลือก” เป็นอย่างดี และขณะนี้เม็ดเงินลงทุนเพื่อพัฒนาอาหารทางเลือกยังสูงถึง 1,000 ล้านเหรียญ (ประมาณ 312,000 ล้านบาท) ด้วย ขอดีกว่านี้        คิวบาเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้อินเทอร์เน็ตมาหกเดือนแล้ว แต่ผลการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้พบว่าบริการนี้ยังต้องปรับปรุงทั้งเรื่องราคาและอิสระในการนำเสนอข่าวสารข้อมูล        แพ็คเกจอินเทอร์เน็ต 4 GB สำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟนอยู่ที่ 30 เหรียญ(ประมาณ 950 บาท) ต่อเดือน เท่ากับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของคนคิวบาพอดี        ในขณะที่แพ็คเกจอินเทอร์เน็ตบ้านแบบ “เหมาจ่าย” อยู่ที่เดือนละ 800 เหรียญ(ประมาณ 25,000 บาท) คิวบามีประชากรทั้งหมด 11,200,000 คน และมีเพียง 79,000 ครัวเรือนเท่านั้นที่ใช้อินเทอร์เน็ตบ้าน        นอกจากนี้เว็บไซต์ที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลมักจะถูกสั่งปิด และ Etecsa ผู้ประกอบการโทรคมนาคมของรัฐก็ถูกกล่าวหาว่าแอบสอดส่องพฤติกรรมของผู้ใช้ด้วย        ก่อนคิวบาจะเริ่มนำเทคโนโลยี 3G มาใช้ ผู้ใช้สมาร์ทโฟนจำนวน 5.3 ล้านคน จะต้องเชื่อมต่อกับชาวโลกผ่านฮอทสปอต wifi ที่คิดค่าใช้จ่ายเป็นรายชั่วโมงโปรฯ ลดเหลื่อมล้ำ        Digi ผู้ประกอบการโทรคมนาคมอันดับสามของมาเลเซียออกโปรโมชั่นให้ส่วนลดเดือนละ 10 ริงกิต ตลอดชีพ(ประมาณ 75 บาท) สำหรับผู้พิการที่สมัครใช้บริการรายเดือน        แพ็คเกจโทรไม่อั้นได้ทุกเครือข่ายเริ่มต้นที่เดือนละ 28 ริงกิต(ประมาณ 200 บาท) สำหรับการใช้งานอินเทอร์เน็ต 6 GB เป็นต้นไป ใครที่เป็นลูกค้าอยู่แล้วก็รับส่วนลดไปโดยไม่ต้องเปิดเบอร์ใหม่ แต่ทั้งนี้ต้องมีการแสดงบัตรผู้พิการในการสมัครด้วย        บริษัทบอกว่าโปรฯ นี้เป็นการปฏิบัติตามแผนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ที่ต้องการส่งเสริมความเท่าเทียมให้กับประชาชนทุกคน        คนมาเลย์คงกำลังลุ้นกันว่าผู้ประกอบการอีกสองเจ้า ได้แก่ Maxis และ Celcom ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งและสองของมาเลเซีย จะจัดโปรฯ อะไรออกมาสู้ เรื่องนี้ผู้บริโภคได้ประโยชน์เห็นๆ หน้าดินที่หายไป        ความต้องการบริโภคโปรเซกโก(ไวน์มีฟอง) ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนำไปสู่ปัญหาการสูญเสียหน้าดินในประเทศอิตาลี          การศึกษาโดยมหาวิทยาลัยปาดัวพบว่าร้อยละ 74 ของการสูญเสียหน้าดินในไร่องุ่นในเขตทางตอนเหนือของอิตาลีเป็นผลมากจากอุตสาหกรรมนี้        ไวน์หนึ่งขวดทำให้เสียหน้าดินประมาณ 4.4 กิโลกรัม และหากเป็นแบบนี้ต่อไป ผู้ที่จะได้รับผลกระทบในที่สุดก็คืออุตสาหกรรมที่ผลิตโปรเซกโกปีละ 446 ล้านขวด        ในจำนวนนี้ส่งออก 90 ล้านขวด และประเทศที่นำเข้าโปรเซกโกเป็นสามอันดับแรกของโลกได้แก่ อังกฤษ อเมริกา และเยอรมนี ตามลำดับ        ผู้ประกอบการแย้งว่าข้อกล่าวหานี้ไม่จริง เพราะพวกเขาปลูกองุ่นบนพื้นที่ขั้นบันได ซึ่งป้องกันน้ำท่วมและดินถล่มได้ ผู้ว่าฯ แคว้นเวเนโตก็บอกว่าอุตสาหกรรมนี้เป็นแพะรับบาปของปัญหาสิ่งแวดล้อมในอิตาลี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 กระแสต่างแดน

เยอรมันก็มุงความอยากรู้อยากเห็น(และอยากถ่ายรูป) เป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่บางครั้งมันก็ทำให้เกิดผลกระทบที่ไม่คาดคิดอุบัติเหตุรถโดยสารชนท้ายรถบรรทุกแล้วเกิดไฟลุกไหม้ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 18 ราย บนมอเตอร์เวย์สาย A9 ในแคว้นบาวาเรียนั้นเป็นตัวอย่างเรื่องนี้ได้ดีข่าวระบุว่าทีมช่วยเหลือใช้เวลา 10 นาทีเพื่อมายังที่เกิดเหตุ ทั้งๆ ที่ควรมาถึงเร็วกว่านี้หากไม่ต้องเจอกับรถที่ชะลอดู ถ่ายรูป ถ่ายคลิป กว่ารถพยาบาลและรถดับเพลิงจะเข้าถึงจุดเกิดเหตุ ไฟก็โหมจนเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปช่วยผู้บาดเจ็บออกมาได้รัฐบาลของแคว้นบาวาเรียกำลังเตรียมพิจารณาขึ้นค่าปรับสำหรับเยอรมันมุง จาก 20 ยูโร(775 บาท) ในปัจจุบัน เป็น 155 ยูโร(6,000 บาท) และอาจแถมโทษจำคุกให้ด้วย เพราะเหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรก เอาอะไรมาแลกก็ยอมPurple บริษัทผู้ให้บริการฮอทสป็อตไวไฟรายหนึ่งในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษทดลองซ่อนเงื่อนไขแปลกๆ ลงไปในข้อตกลงการเข้าใช้ไวไฟฟรี(ที่ผู้ใช้ควรอ่านให้ถี่ถ้วนก่อนจะกด “ยอมรับ”) ในสองสัปดาห์ บริษัทพบว่ามีผู้ใช้ 22,000 คนที่ “ยินดี” สละเวลามาทำงานบริการสังคม เช่นล้างห้องน้ำสาธารณะ ขูดหมากฝรั่งตามพื้นถนน หรือล้วงท่อระบายน้ำ เป็นเวลา 1,000 ชั่วโมงเขาเสนอให้รางวัลกับคนที่อ่านข้อตกลงและเงื่อนไขโดยละเอียด(และพบข้อความแปลกๆ) มีผู้ได้รางวัลไปทั้งหมด... หนึ่งคน ผลการทดลองนี้ยืนยันอีกครั้งว่า เราหน้ามืดขนาดไหนเวลาอยากใช้ของฟรี สามปีก่อนหน้านี้บริษัทซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสรายหนึ่ง ก็เคยทดลองในลอนดอน แม้จะเขียนไว้ชัดเจนว่าบริการฟรีนั้นจะต้องแลกกับ “ลูกคนแรก” ก็ยังมีคนลงชื่อใช้ถึง 6 คนต่ำกว่าคาดจากการเปรียบเทียบความพร้อมด้านอินเทอร์เน็ตของ 139 ประเทศทั่วโลก ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีการเข้าถึงโมบายบรอดแบนด์สูงเป็นอันดับ 10 กำลังจะดีแล้วเชียว แต่... ผลสำรวจระบุว่า บรอดแบนด์สำหรับอินเทอร์เน็ตบ้านในออสเตรเลียยังมีราคาแพงเกินไป ทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงได้ ส่งผลให้ประเทศยังไม่พร้อมที่จะเป็น “เศรษฐกิจดิจิตัลระดับเวิร์ลดคลาส” อย่างที่ตั้งใจ (เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วระดับการเข้าถึงของออสเตรเลียหล่นลงไปที่อันดับ 57)ความเร็วเบรอดแบนด์เฉลี่ยของเขาอยู่ที่ 11.1Mbps หรืออันดับที่ 50 ของโลก ในขณะที่อันดับหนึ่งอย่างเกาหลีมีความเร็วเฉลี่ยสูงสุด 28.6Mbps (สิงคโปร์เพื่อนบ้านเราอยู่อันดับ 7)ร้อยละ 56 ของคนออสซี่เชื่อว่าอินเทอร์เน็ตของเขาอยู่ในระดับแถวหน้าและรัฐบาลก็ทุ่มงบประมาณลงไปกับโครงการ NBN (New Broadband Network) ไม่น้อย ไม่ต้องรีบเริ่มแล้ว! แผนลดความแออัดของรถไฟโตเกียวในชั่วโมงเร่งด่วนเพื่อสยบความวุ่นวายโกลาหลในการเดินทางให้ได้ก่อนถึงการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกในอีก 3 ปีข้างหน้า สิ่งที่ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียวอยากขอร้องจากมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายคือ ช่วยมาขึ้นรถกันก่อนหรือหลังชั่วโมงเร่งด่วนกันบ้างนางยูริโกะ โคอิเกะ เคยเสนอแผนนี้ไว้เมื่อครั้งที่เธอสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ เธอบอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องเปลี่ยนทัศนะของคนญี่ปุ่นที่คุ้นชินกับชั่วโมงทำงานอันยาวนานและการเบียดเสียดขึ้นรถไฟไปทำงานในช่วงเวลาเดียวกันแผนดังกล่าวประกอบด้วยความร่วมมือจาก 260 บริษัทและหน่วยงาน ที่จะเพิ่มบริการรถเที่ยวเช้าตรู่จัดหาของรางวัลให้กับผู้ที่เลือกเดินทางก่อนหรือหลังชั่วโมงเร่งด่วน รวมถึงให้พนักงานในบริษัทตัวเองเลือกเวลาทำงานได้ แบบนี้เรียกจริงจังตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของมาเลเซีย การขายกุ้งแห้งย้อมสีมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 ริงกิต(ประมาณ 785,000 บาท) หรือจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วสองพี่น้องคู่หนึ่งถูกจับได้(เพราะมีคนถ่ายคลิปไว้) ว่าพ่นสีสเปรย์ลงในกุ้งแห้งเพื่อให้มีสีแดงสดน่ารับประทานและขายได้ราคาดีขึ้น กุ้งธรรมดากิโลกรัมละ 20 ริงกิต แต่กุ้งสีสวยของร้านนี้ขายได้ถึง 25 ริงกิตเนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดร้ายแรงที่ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชน สร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ของสินค้าอาหารทะเลในท้องถิ่นและการท่องเที่ยวของเมืองโคตาคินาบาลูในภาพรวม ศาลจึงตัดสินให้ผู้กระทำผิดจ่ายค่าปรับสูงสุด 100,000 ริงกิต  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 ลูกค้า 3BB เจ็บแล้วอย่าแค่จำ

หากไม่ได้ใช้บริการและมีความเสียหาย ฟ้องคดีผู้บริโภค ดีที่สุดจากกรณีที่บริษัท ทริปเปิลทรี อินเทอร์เน็ต จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 3BB ได้ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 12,000 รายการกระทำของบริษัท ทริปเปิลทรีฯ ที่ยกเลิกการให้บริการมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมโดยไม่ได้แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการทั่วประเทศ ถือเป็นการกระทำที่ขาดจริยธรรมทางการค้าเป็นอย่างยิ่งที่สังคมควรร่วมกันประณามและมีมาตรการลงโทษ ที่สำคัญยังเป็นการกระทำผิดทั้งด้านสัญญาและการโฆษณา คือนอกจากจะไม่ให้บริการตามสัญญาทั้งๆ ที่มีการเรียกเก็บเงินค่าบริการไปแล้ว ยังมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคด้วยการโฆษณาโดยใช้ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง ด้วยการใช้ข้อความว่า “ต้องได้ทุกที่ ทุกแห่ง... ทั่วประเทศ 6 MB” ถือเป็นการกระทำผิดต่อผู้บริโภคที่ชัดแจ้งเป็นอย่างยิ่ง แนวทางแก้ไขปัญหาในขณะที่กำลังรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่ขณะนี้พบว่าผู้ใช้บริการจำนวนมากที่ถูกระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจต่างได้รับความเสียหายกันโดยถ้วนหน้า โดยที่ยังไม่มีการช่วยเหลือเยียวยาใดๆ จากผู้ให้บริการรายนี้เลย เห็นว่าผู้ใช้บริการควรมีมาตรการลงโทษบริษัท ทริปเปิ้ลทรีฯ ด้วยการใช้สิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ และสามารถเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเป็นรายวันได้อีกด้วย โดยสามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคกับศาลยุติธรรมที่ประจำอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ที่ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนได้เลยเพราะถือว่าได้เกิดเหตุการผิดสัญญา ณ ที่จังหวัดนั้น โดยการยื่นฟ้องผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมใดๆ การฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคนั้น ผู้บริโภคสามารถไปยื่นฟ้องด้วยตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทนายความในขั้นตอนยื่นฟ้องก็ได้ เพราะศาลทุกแห่งจะจัดให้มีเจ้าพนักงานคดีคอยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บริโภคที่ต้องการใช้สิทธิฟ้องร้องเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังอาจขอให้ศาลใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวด้วยการให้มีการเปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ตแก่ผู้ใช้บริการได้ และกรณีนี้น่าจะเข้าข่ายการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจที่มีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย ผู้บริโภคที่ยื่นฟ้องสามารถขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นอีกได้“สำหรับผู้บริโภคที่มีความกังวลในการยื่นฟ้องด้วยตนเองสามารถติดต่อขอให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือดำเนินการได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายที่เบอร์โทรศัพท์ 02-2483734-7 หรือติดต่อที่ www.consumerthai.org”  

อ่านเพิ่มเติม >