ฉบับที่ 165 อิฐบูรณ์ อ้นวงษา “พลังงานเป็นเรื่องของทุกคน”

อิฐบูรณ์  อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันกำลังคร่ำเคร่งอยู่กับประเด็นเรื่องพลังงานอย่างจริงจัง ด้วยเขามองว่าพลังงาน เป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ แต่คนยังขาดความเข้าใจอยู่มาก เพราะอาจดูเหมือนเข้าใจยาก แต่จริงๆ เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวแต่อย่างใด  ทุกๆ คน สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ทั้งการกำหนดนโยบายและการแสวงหาทางออกร่วมกัน   ทำไมถึงสนใจทำเรื่องพลังงาน เพราะว่ามันเป็นเรื่องวิกฤตที่สุดหรือ เพราะตอนทำกิจกรรมสมัยเป็นนักศึกษาก็เรียนรู้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างโรงไฟฟ้า ก็พัฒนาจากโรงไฟฟ้าค่า FT มาเป็นเรื่องของสายปิโตรเลียม เพราะมันเป็นสายเดียวกัน ก็ศึกษามาเรื่อยๆ   ช่วยเล่าสถานการณ์พลังงานในขณะนี้สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้ติดตามข่าวอย่างง่ายๆ ระบบพลังงานประเทศไทยนั้น ไม่ว่ากลุ่มทุนด้านพลังงานประเภทฟอสซิล หรือพลังงานกลุ่มปิโตรเลียม น้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติ มีอิทธิพลสูงมากในการกำหนดนโยบายการใช้ การบริโภค การผลิตพลังงานของประเทศไทย และที่สำคัญมีการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ไม่ตรงกับความเป็นจริงให้ประชาชนอยู่มาก เช่น บอกว่า คนไทยมีการบริโภคพลังงานมากกว่าที่เราผลิตได้ในประเทศหลายเท่าตัว ต้องเสียเงินนำเข้าพลังงานมาปีละหนึ่งล้านล้านบาท เป็นต้น หรือวันละแปดถึงเก้าแสนบาร์เรลต่อวัน แต่ข้อเท็จจริงคือ น้ำมันดิบที่นำเข้ามานั้นทั้งเพื่อการบริโภคภายในประเทศและเพื่อการส่งออกไปขายยังต่างประเทศด้วย ในขณะเดียวกันก็มีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปในรูปของน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล ซึ่งการผลิตในประเทศไทยนั้นมันมากเกินกว่าความต้องการอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีการนำเข้าน้ำมันในรูปแบบนี้มา แล้วรวมเป็นเม็ดเงินที่นำมาบอกกับประชาชนว่านำเข้าเป็นเงินจำนวนมหาศาล เพราะฉะนั้นการให้ข้อมูลในภาพรวมแบบนี้ถือว่าไม่มีความเป็นธรรมกับประชาชน เมื่อแสดงข้อมูลแบบนี้ทำให้การกำหนดนโยบาย การวางทิศทาง การจัดหาพลังงานของประเทศนั้นมันผิดเพี้ยนได้ และด้วยอิทธิพลของกลุ่มทุนพลังงานที่มันมีมูลค่าในทางธุรกิจของเขา ในรูปแบบการจัดหาพลังงานมันมีตัวเลขหนึ่งล้านล้านบาททำให้เขามีอิทธิพลกับธุรกิจหลายๆ ตัว มีความสัมพันธ์กัน อย่างเช่น การใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาป้อนกับธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งใช้ทำพลาสติก ซึ่งเม็ดพลาสติกก็ไปเกี่ยวโยงกับธุรกิจขนาดใหญ่อีก 2 - 3 ตัว อย่างเช่น ธุรกิจประกอบรถยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ธุรกิจทำสินค้าไอที เครื่องคอมพิวเตอร์ มือถือ สมาร์ทโฟนต่างๆ ก็จะเห็นว่ามันมีความสัมพันธ์กัน แล้วก็ไปเกี่ยวร้อยกับธุรกิจอีกอันหนึ่งในรูปแบบของการเงินสนับสนุนภาคโฆษณา ก็ทำให้ประชาชนนั้นรับรู้ข่าวสารในเรื่องพลังงานที่ตรวจสอบโปร่งใสได้มันไม่เป็นอย่างที่ควรจะเป็นนักวิชาการบางท่านกล่าวว่า “แบบนี้ถือว่าเป็นอันตรายมากทั้งต่อตัวประชาชนในฐานะผู้บริโภค ทั้งต่อตัวประเทศในรูปสังคมโดยรวม การถูกเอารัดเอาเปรียบ การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่มีความเป็นธรรม นี่คือสถานการณ์โดยภาพรวมที่เป็นอยู่”   ประเด็นคือประชาชนไม่รู้ความจริง ใช่ ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดนั้นคือ การกำหนดนโยบายทิศทางพลังงานของประเทศนั้น หากมันไปอยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลของกลุ่มคนเล็กๆ แค่นั้นอย่างที่บอกไป มันก็พัง ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น เรื่องของพลังงานนั้นเกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรทั้งรูปแบบสิ้นเปลืองใช้แล้วหมดไป และแบบน้ำมันดิบ หรือทรัพยากรที่ส่วนใหญ่ใช้ ก็คือรูปของก๊าซธรรมชาติเอามาผลิตไฟฟ้าก็ดี อีกส่วนหนึ่งคือ ทรัพยากรที่ไม่มีวันหมด ทรัพยากรหมุนเวียน อย่างเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวลต่างๆ แต่ทีนี้ภาคสายฟอสซิลมันมีอิทธิพลอย่างที่ว่ามา มันก็จะทำให้เห็นว่าภาคฝั่งของพลังงานหมุนเวียนมันอ่อนเปลี้ย ไม่สามารถจะนำมาเป็นพลังงานหลักของประเทศได้ และก็มีการใส่ข้อมูลให้กับประชาชนว่าพลังงานแบบนี้เป็นพลังงานมวยรอง แต่ถ้าเปิดโลกให้ประชาชนในประเทศได้เห็นตัวอย่างจากประเทศใหญ่ๆ อย่าง เยอรมนี ซึ่งมีแสงแดดอ่อนกว่าประเทศไทยเยอะ ก็ยังวางทิศทางนโยบายในประเทศที่จะลดพลังงานนิวเคลียร์ ลดพลังงานที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมของเขา คือเขาไม่ได้มองแต่เรื่องความมั่นคง เขามองเรื่องของผู้บริโภค สุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม เขามองแบบนั้น ส่วนเรื่องไปรองรับเศรษฐกิจนั้นเขามองเป็นเรื่องรองมากกว่า นั่นคือแนวคิดของประเทศที่พัฒนาแล้วในระบบพลังงาน เพราะฉะนั้นเขาจึงกล้าวางทิศทางว่าจะเพิ่มพลังงานแสงอาทิตย์ในสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์เพื่อที่จะลดน้ำหนักของพลังงานสายนิวเคลียร์ หรือพลังงานสายฟอสซิลที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของโลก อย่างนี้เป็นต้น จะเห็นทิศทางของประเทศในยุโรปหรือประเทศใหญ่ๆ ที่ได้กำหนดแนวนโยบายพลังงานไว้ หรือแม้กระทั่งประเทศญี่ปุ่น ล่าสุดการประชุมของ UN เปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ ลดการใช้พลังงานที่มาจากฟอสซิล เพราะมองว่าพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานที่ทำลายสภาพภูมิอากาศของโลกก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ไม่ว่าจะการปล่อยก๊าซมีเทนหรือคาร์บอนไดออกไซด์ต่างๆ ออกมา หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นต้น อันนี้ก็จะมีผลโดยตรงของมัน การใช้น้ำมันของเราก็ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า UN จะมีการประกาศทิศทางที่ชัดเจน หรือประเทศใหญ่ๆ ที่พัฒนาแล้วก็จะมีนโยบายที่ลดพลังงานสายฟอสซิลลงไปด้วยเหตุผลสำคัญ คือ 1) เป็นทรัพยากรที่สิ้นเปลือง 2) เป็นทรัพยากรที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือทำลายสิ่งแวดล้อม เขามองว่าพลังงานกลุ่มนี้ไม่มั่นคง แต่มองว่าพลังงานหมุนเวียน คือพลังงานที่มั่นคง นำมาดูแลได้และมีแนวโน้มที่จะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นพลังงานหลักของประเทศนั้นๆ ได้   ประเทศไทยมีช่วงหนึ่งที่มีเรื่องพลังงานทดแทน แต่เหมือนไม่มีการรณรงค์จริงจังเท่าไหร่ การออกแบบนโยบายด้านพลังงานของเราเป็นการออกแบบที่ไม่เต็มรูปแบบ มันทำให้ถูกตอน ทำให้ไม่สามารถขยายตัวในทางธุรกิจของมันได้ หลักการของพลังงานหมุนเวียนที่ทำให้ประเทศเยอรมนีประสบความสำเร็จมีอยู่ 3 หลักการใหญ่ๆ คือ 1) พลังงานหมุนเวียนต้องขายพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบให้ได้เป็นลำดับแรกก่อน พอพลังงานหมุนเวียนช่วงนี้หมดเราถึงจะเอาพลังงานถ่านหิน พลังงานจากก๊าซเข้ามาเป็นลำดับต่อไปแต่ของบ้านเรานั้นลำดับแรกกลับทำเรื่อง โรงไฟฟ้าก๊าซ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าของ กฟผ. โรงไฟฟ้าต้องเข้าสู่ระบบก่อน ส่วนที่เหลือ ซึ่งมันไม่เคยเหลือจึงเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ แสงอาทิตย์บ้านเราจึงเป็นพลังงานเหลือต่อท้าย กลายเป็นพลังงานที่ไม่จำเป็นต่อระบบถ้าหากชั่วโมงนั้นพลังงานก๊าซ พลังงานถ่านหินยังทำงานของมันได้เต็มที่ ไม่มีการซ่อมแซม เพราะฉะนั้นพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานชีวมวลก็ต้องรอคิวไป การต้องรอคิวไปเรื่อยก็ส่งผลให้ไม่เกิดแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน ธนาคารก็ไม่ปล่อยกู้ อันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ ต่างประเทศเขากลับด้านกัน เป็นสัญญาระยะยาว คือ 20 – 25 ปี อย่างพลังงานแก๊ส พลังงานถ่านหินก็เป็นสัญญา 25 – 30 ปี ก็เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุน อันนี้คือความมั่นคงทางด้านการลงทุนทำให้เกิดการขยายตัว ทำให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้พลังงานหมุนเวียนลด cost ของมันเองได้ เพราะว่าถ้าอุตสาหกรรมมันขยายตัวได้ มันก็ลด cost ได้ มันมีตัวเปรียบเทียบ พลังงานจากแสงอาทิตย์บางตัวนั้นส่งมาจากเยอรมันถูกกว่าส่งมาจากจีน ไม่ได้เกี่ยวว่ามันเดินทางมาไกลกว่า มันอยู่ที่ค่าการผลิต การส่งเสริมสนับสนุนของรัฐบาลนั้นๆ เช่น มีผู้ประกอบการพลังงานแสงอาทิตย์ในเมืองไทยนั้นเขาต้องย้ายฐานการผลิตของตัวเองไปอยู่ประเทศเยอรมัน เพราะว่านโยบายของภาครัฐไทยนั้นไม่มีความแน่นอน ทั้งเรื่องของกรอบระยะเวลาของการลงทุน ทำให้เขาไม่มั่นใจ ไม่ชัวร์ พอไม่ชัวร์หรือไม่จูงใจเขาก็ไปลงทุนที่เยอรมันแทน อย่างนี้เป็นต้น คนเก่งๆ ในประเทศไทยก็ไปลงทุนที่อื่น 2) คือว่ามีการสกัดกั้น มีคอรัปชั่น มีเส้นสาย ทีนี้ไอ้ 2 ตัวแรกมันก็โยงกับไอ้ที่ตัวสุดท้ายคือเรื่องของการสนับสนุนค่าไฟฟ้า แต่เดิมบ้านเราใช้ระบบแอดเดอร์ ก็คือไม่ว่าเราจะผลิตมากแค่ไหนคุณก็ได้ตามหน่วยไปแพงๆ ทีนี้มันก็มีช่องโหว่ในการที่จะมีการทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้นได้ ในตอนหลังเขาเลยมาแก้เป็น Feed-in Tariff ขึ้นมา ขึ้นอยู่กับประเภทเชื้อเพลิงประมาณนี้เป็นต้น นี่คือข้อใหญ่ๆ ที่เป็นโครงสร้างที่ทำให้เยอรมันและประเทศในตะวันตกหรืออีกหลายๆ มลรัฐในอเมริกาประสบความสำเร็จ คือขายแข่งกับเขาได้ แต่ไม่ใช่ให้เราไปเริ่มต้นแข่งกับเขาเลยนะ พลังงานหมุนเวียนของไทยยังเป็นวุ้น รัฐฯ ต้องส่งเสริมอย่างมาก ข้อแรกที่สำคัญเลยคือว่า คิดกลับด้านเสีย พลังงานหมุนเวียน พลังงานชีวมวลขายเข้าโรงไฟฟ้าได้ก่อนจนคุณหมดเชื้อเพลิง คือพลังงานแสงอาทิตย์มันเหมาะสมกับเมืองไทยมาก เพราะว่าการใช้ไฟฟ้าช่วงพีคที่เกิดขึ้นทุกปีมักจะเกิดขึ้นในหน้าร้อนช่วงกลางวัน ตั้งแต่ประมาณบ่ายโมงถึงบ่ายสอง หน้าร้อนของเมืองไทยก็แดดดี อากาศก็แจ่มใสเพราะฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ของพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทำหน้าที่ได้เต็มที่อยู่แล้วในเวลากลางวัน ก็เป็นการอุดช่องโหว่ของข้อกล่าวหาที่ว่าเซลล์แสงอาทิตย์ไม่สามารถทำงานกลางคืนได้ เพราะว่ากลางคืนก็ปล่อยให้พลังงานสายฟอสซิลทำงานไป ไม่เห็นจำเป็นต้องรัน(run) ฟอสซิลตลอดทั้งวัน คุณก็จะได้ลดการนำเข้า การซื้อเชื้อเพลิงที่คุณอ้างว่าเป็นล้านล้านบาทได้ คำถามคือว่านี่คือความจริงใจหรือไม่จริงใจ และท้ายที่สุดนั้น ด้วยพลังงานสายฟอสซิลมีอิทธิพลมากอยู่เบื้องหลังและมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทับซ้อนที่มีการช่วยกันเขียนให้เป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย ซึ่งในหลักสากลนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะมันนำไปสู่ปัญหาการทุจริตได้ แต่ของเราทำข้อทุจริตให้เป็นข้อถูกด้วยการเขียนกฎหมายให้ข้าราชการระดับสูงไปนั่งอยู่ในบริษัทน้ำมัน ไปนั่งอยู่ในกิจการโรงไฟฟ้าและก็รับผลประโยชน์กันที่มากกว่าอัตราเงินราชการที่ตัวเองรับ ก็ทำให้เกิดการบิดเบือนในการวางกรอบนโยบายได้ ทำให้ข้าราชการเหล่านั้นไม่มีความคิดที่อิสระในการกำหนดทิศทางนโยบายที่เอื้อประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติ มันก็ทำให้ประเทศชาติวนเวียนอยู่กับปัญหาเดิมๆ ว่า ประเทศเรานำเข้าพลังงานฟอสซิลเยอะ เราต้องเร่งขุดเจาะหาปิโตรเลียม ถ้าไม่เร่งขุดเจาะหาปิโตรเลียมโรงงานไฟฟ้าที่มีสัญญาอยู่กับแหล่งแก๊สต่างๆ นั้นพอสัญญาหมดก็จะขาดสัญญา ทำให้ขาดวัตถุดิบในการปั่นไฟ มันก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่มีทางออก สุดท้ายคนไทยในฐานะผู้บริโภคก็อยู่ในสถานะของภาคที่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าพลังงานในราคาที่สูงขึ้นๆ เรื่อยๆ เพราะว่าอัตราค่าพลังงานของประเทศไทยนั้นมันถูกโยง แม้ว่าก๊าซจะขุดในประเทศไทยแต่ก็ถูกโยงอยู่กับราคาน้ำมันดิบของตลาดโลก อันนี้ในส่วนของก๊าซนะ และมีค่าตอบแทนการลงทุนน่าจะสูงเกินควรมากๆ  ทำให้ผู้ประกอบการได้ผลกำไรที่ผู้บริโภคจ่ายไปสูงเกินควรมาก ไม่มีการกำกับดูแลในส่วนนี้ที่เหมาะสม เพราะอำนาจการกำกับดูแลการซื้อของก๊าซจากหลุมต้นทางนั้นไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ราคาน้ำมันดิบแม้ว่าน้ำมันดิบจะมาจากแหล่งเศรษฐกิจก็ถูกกำหนดไว้ว่า ถ้าจะซื้อน้ำมันดิบเอามาเข้าโรงกลั่นน้ำมันไทย ให้ไปอิงเหมือนเป็นราคานำเข้าจากตลาดโลก อย่างนี้เป็นต้น พอมาเป็นน้ำมันสำเร็จรูปก็มาบวกค่าขนส่งจากสิงคโปร์มาไทยทั้งๆ ที่ไม่มีการขนส่งจริง เป็นอย่างนี้เป็นทอดๆ ไป เพราะฉะนั้นผู้บริโภคก็อยู่ในสภาพของทาสที่ไม่สามารถมีข้อต่อสู้ใดๆ  เพราะทุกอย่างการปรับขึ้นราคาก็อ้างว่าทำตามระเบียบกฎหมายธุรกิจพลังงานที่วางกรอบเอาไว้   แล้วผู้บริโภคจะทำอย่างไรได้บ้าง ข้อมูลแบบนี้ผู้บริโภคจะต้องรู้ พอรู้จะได้เกิดปัญญา การกำหนดหาทิศทางของนโยบายที่เหมาะสม ซึ่งตอนนี้ก็มีประชาชนส่วนหนึ่ง ได้มองเห็นถึงปัญหาว่า ถ้าการจัดการปัญหาพลังงานของประเทศไทยก็ต้องลดอำนาจของพลังงานฟอสซิลลงหน่อย ให้มันมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐฯ ให้ได้ ตอนนี้เขาพยายามจะฉีกให้เป็นอิสระของเขาเต็มที่ เพราะรัฐฯ คือตัวแทนของประชาชน ถ้าเขาฉีกเป็นอิสระได้ ประชาชนก็ไม่สามารถไปควบคุมอะไรได้ ดังนั้นตอนนี้เลยมีการแก้ไข และยกเลิกกฎหมาย พ.ร.บ.ปิโตรเลียมที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ออกไปแล้วเปลี่ยนเป็นระบบการให้ติดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีความเป็นธรรมต่อประเทศต่อประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ ที่เรียกว่าระบบแบ่งปันผลผลิต ใช้สำหรับแหล่งสำรวจแหล่งใหม่ แต่หากแหล่งไหนที่เป็นแหล่งใกล้จะหมดอายุแล้วหรือจะหมดสัญญาแล้วนั้น ก็เตรียมให้ใช้ระบบรับจ้างบริการ ซึ่ง 2 ระบบนี้จะทำให้รัฐกลับไปเป็นเจ้าของปิโตรเลียมนั้น และจะได้มีส่วนแบ่งที่เรียกว่า “เนื้อปิโตรเลียม” มากกว่าส่วนแบ่งในรูปของตัวเงิน การที่มีส่วนแบ่งในรูปของปิโตรเลียมก็ดี หรือมีประโยชน์ในส่วนที่ไม่ใช่ตัวเงินอื่นๆ เช่น สิทธิในการเป็นกรรมสิทธิ์ การได้เข้าถึงข้อมูลนั้น ก็เชื่อว่าจะทำให้แหล่งปริมาณสำรองของก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำมันดิบของประเทศไทยจะมีอัตราที่สูงมากกว่า ที่มีการรายงานในปัจจุบันภายใต้ระบบสัมปทาน   ...กำลังสนุกใช่ไหมคะ เผอิญว่าจำนวนหน้าค่อนข้างจำกัด แต่เราไม่อยากให้เนื้อหาจำกัด จึงขออนุญาตนำบทสัมภาษณ์ของคุณอิฐบูรณ์ลงต่อเนื่องในฉบับหน้า ซึ่งจะว่าด้วยเรื่อง ระบบสัมปทานที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันมากในขณะนี้ อย่าพลาดนะคะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 166 อิฐบูรณ์ อ้นวงษา “พลังงานเป็นเรื่องของทุกคน” ตอน2

เนื้อหาที่เราสัมภาษณ์คุณอิฐบูรณ์ อ้นวงษา ค้างไว้ตรงเรื่องที่เกี่ยวกับการสัมปทาน ซึ่งเราขอนำลงต่อเนื่องในฉบับนี้นะคะ...ตอนนี้เลยมีการแก้ไข และยกเลิกกฎหมาย พรบ.ปิโตรเลียมที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ออกไปแล้วเปลี่ยนเป็นระบบการให้ติดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีความเป็นธรรมต่อประเทศต่อประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ ที่เรียกว่าระบบแบ่งปันผลผลิต ใช้สำหรับแหล่งสำรวจแหล่งใหม่ แต่หากแหล่งไหนที่เป็นแหล่งใกล้จะหมดอายุแล้วหรือจะหมดสัญญาแล้วนั้น ก็เตรียมให้ใช้ระบบรับจ้างบริการ ซึ่ง 2 ระบบนี้จะทำให้รัฐกลับไปเป็นเจ้าของปิโตรเลียมนั้น และจะได้มีส่วนแบ่งที่เรียกว่าเนื้อปิโตรเลียมมากกว่าส่วนแบ่งในรูปของตัวเงิน การที่มีส่วนแบ่งในรูปของปิโตรเลียมก็ดี หรือมีประโยชน์ในส่วนที่ไม่ใช่ตัวเงินอื่นๆ เช่นสิทธิในการเป็นกรรมสิทธิ์ การได้เข้าถึงข้อมูลนั้นก็เชื่อว่าจะทำให้แหล่งปริมาณสำรองของก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำมันดิบของประเทศไทยจะมีอัตราที่สูงมากกว่าที่มีการรายงานในปัจจุบันภายใต้ระบบสัมปทาน...เนื้อปิโตรเลียมที่ขุดเจออันใหม่นี้จะไม่ถูกแบ่งผลประโยชน์หรือถ้าอยู่ภายใต้สัมปทาน ระบบสัมปทานก็คือ การให้สิทธิกับผู้รับสัมปทานกับเอกชนที่ได้รับสัมปทานตลอดอายุสัญญาสัมปทาน ซึ่งมีอายุถึง 39 ปี ถ้ามีการค้นพบแหล่งปิโตรเลียมนั้น ปิโตรเลียมทั้งหมดที่มีการค้นพบเป็นของผู้รับสัมปทาน 100% เต็ม แล้วจะเป็นของรัฐฯ ได้อย่างไร ก็คือต่อเมื่อ ถ้า ปตท.ไปทำเป็นสัญญาซื้อขายกับเอกชนนั้น แล้วถึงจะบอกว่า อันนี้คือแหล่งปริมาณสำรองของรัฐฯ แล้ว เพราะฉะนั้นคำว่า ปริมาณสำรองที่มีการรายงานต่อประชาชน จึงไม่ใช่ปริมาณสำรองที่แท้จริงทั้งหมด แต่มีการเซ็นสัญญากับรัฐฯ แล้ว เพราะฉะนั้นหมายถึงเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐฯ แค่ส่วนนี้เท่านั้น จะเห็นว่าระบบสัมปทานเป็นการยกกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมที่ค้นพบให้เอกชนไป แล้วรัฐฯ อยากจะได้มาก็ต้องไปทำสัญญาซื้อขายระยะยาว ซึ่งคนจ่ายไม่ใช่รัฐฯ แต่เป็นประชาชนทั้งประเทศที่เป็นคนจ่าย เพื่อให้ได้สิ่งที่เคยเป็นของตัวเองกลับมา นี้คือสิ่งที่เรียกว่าระบบสัมปทานแล้วมีเยอะแค่ไหนไม่มีใครบอกได้ในประเทศเพื่อนบ้านของเราใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต กระทั่งประเทศกัมพูชาซึ่งยังไม่มีการขุดเจาะ หรือผลิตปิโตรเลียมเลยก็เลือกที่จะใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต เพราะฉะนั้นการจะเลือกใช้ระบบสัมปทานหรือแบ่งปันผลผลิตไม่เกี่ยวว่าประเทศนั้น จะเป็นแหล่งเล็กหรือกระเปาะอย่างที่กล่าวอ้าง ไม่เกี่ยวกัน เป็นทางเลือกของรัฐฯ ที่อยากเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมหรือไม่ ถ้าหากดำเนินการขุดเจาะหรือผลิต อันนี้คือประเด็นที่หนึ่ง จะเห็นว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เคยเป็นเมืองขึ้นแต่เก่าก่อนนั้น ไม่ปฏิเสธระบบสัมปทาน มาเลเซียก็เคยใช้ระบบสัมปทาน อินโดนีเซียก็เคยเพราะเขาเคยเป็นเมืองขึ้น ระบบสัมปทานมาจากยุโรป  อังกฤษ อเมริกาก็ใช้ แต่ของเขากฎหมายมันต่างกัน แต่ว่าประเทศเล็กๆ เหล่านี้ก็มีหลายๆ ประเทศแห่กันมาใช้ระบบแบ่งปัน ดังนั้นไม่ใช่ข้ออ้างที่ว่าการเปลี่ยนแปลงระบบแบ่งปันผลผลิตจะไม่มีใครมาลงทุน เพราะประเทศต่างๆ เหล่านี้ก็เคยไปลงทุนกับประเทศที่ใช้ระบบแบ่งปันมาแล้วหรือแม้กระทั่งบริษัทลูกของ ปตท. เองก็ไปทำระบบแบ่งปันผลผลิตกับมาเลเซีย กับเวียดนาม พม่า แต่ปรากฏว่าของเรากลับไม่ยอมยกระดับเจ้าของแหล่งปิโตรเลียมกลับคืนมา อันนี้ก็เป็นประเด็นมากที่ต้องให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ให้มากที่สุด ถ้ามันถึงจุดที่มีการรับรู้ที่มีความอิ่มตัวการเปลี่ยนแปลงมันก็จะเกิดขึ้นและการเคลื่อนไหวของประชาชนในขณะนี้ คือมีสภาปฏิรูปก็จะมีการผลักดันกฎหมายที่จะเสนอเข้าไปเป็นคู่แข่งของกฎหมายหรือแนวทางการปฏิรูปด้านพลังงานของสภาปฏิรูป ซึ่งทราบว่าสัดส่วนกรรมการที่มาจากสายพลังงานสายฟอสซิลนั้นเกือบ 99% ดังนั้นจำเป็นที่ประชาชนจะมีการผลักดันมาจากข้างนอกเพิ่มอีกทางหนึ่ง ที่มองไว้ก็คือ ประชาชนต้องมีความรู้มากขึ้น เกิดการตื่นรู้ที่จะเลือกทิศทางของตนเองในการจัดสรรทรัพยากรด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นโมเดลของการต่อสู้เรื่องพลังงานนั้นกำลังจะถูกใช้ไปยังโมเดลการจัดสรรทรัพยากรเรื่องอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเหมืองแร่ หินแร่ต่างๆ ทองคำที่กระจัดกระจายและสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนทั่วประเทศ เพราะว่าคนในท้องถิ่นที่ขุดเจาะในแหล่งสัมปทานต่างๆ ไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากผลประโยชน์ที่ได้รับ และยังรับเคราะห์ด้านสุขภาพ ด้านสังคม เรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องของที่นาไม่สามารถทำการได้ปกติมีเยอะมากเรื่องที่ทำต่อคือการให้ความรู้เกี่ยวกับทางออกว่ามีแบบผลประโยชน์ร่วมข้อมูลความรู้เป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่จะสร้างทางเลือก สร้างวิสัยทัศน์ให้ประชาชนเห็นได้มากกว่าข้อมูลที่มันถูกครอบไว้อยู่ ทำให้เรารู้สึกว่าไม่มีหนทางออก จริงๆ มันมีทางออกอยู่ ส่วนการจะเลือกหรือไม่เลือกนั้นก็อยู่ที่ตัวประชาชนในการให้อำนาจของประชาชน ซึ่งแน่นอนก็มีกลุ่มของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบเพราะว่าตัวเองก็ได้รับผลประโยชน์ มีส่วนได้เสียเรื่องของหุ้นในธุรกิจพลังงานแบบเดิม แต่เราก็ต้องบอกว่ามิติแบบนี้สักวันมันต้องมีการเปิดกว้างมากขึ้นในหลายๆ ประเทศที่ผ่านการต่อสู้ การปะทะในทางเลือกแบบนี้ตลอดเวลาตัวอย่างจากประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซียประสบความสำเร็จมาก เขาให้บริษัท ปิโตนาส เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ มียอดขายใกล้เคียงกับ ปตท. เล็กน้อย แต่เมื่อหักต้นทุนจิปาถะต่างๆ แล้วปรากฏว่ามาเลเซียมีกำไรมากกว่า ปตท. หลายแสนล้านบาทเลย แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับ ปตท. ก็มีจดหมายชี้แจงหน้าเว็บไซต์ออกมาว่า เพราะมาเลเซียใช้ระบบแบบแบ่งปันผลผลิตทำให้เขาได้เป็นเจ้าของ และได้ส่วนแบ่งปิโตรเลียมโดยไม่ต้องจ่ายเงินซื้อคืนมา ในขณะที่ ปตท.นั้นใช้ระบบสัมปทาน ปิโตรเลียมที่ได้มาต้องจ่ายเงินซื้อไปจึงกลายเป็นเพิ่มต้นทุน พอปิโตรนาสได้กำไรเขาก็เอากำไรนั้นไปส่งเข้ารัฐ  รัฐก็เอาเงินบางส่วนมาอุดหนุนเป็นค่ารถ ค่าน้ำมันให้กับประชาชน ทำให้น้ำมันในมาเลเซียอยู่ที่ 20 กว่าบาทต่อลิตร เรื่องนี้ก็ถูกพวก ปตท. มาอ้างว่า ของมาเลเซียเขาก็ต้องใช้เงินอุดหนุน แต่เงินอุดหนุนดังกล่าวมาจากผลประกอบการที่ได้จากการใช้ทรัพยากรร่วมกันของประเทศชาติแต่ในขณะเดียวกันกำไรของ ปตท. ไม่เคยมาจัดการโดยตรงแบบรูปแบบของมาเลเซียเลย เงินอุดหนุนก็คือ ประชาชนควักกระเป๋าจ่ายกันเอง ดูแลกันเอง ซ้ำยังมากล่าวอ้างว่าเป็นบุญคุณของ ปตท. อย่างนี้มันต่างกันเยอะ ข้อมูลแบบนี้มันมีการกล่าวไม่ครบ ขนาดบอกว่า มาเลเซียมีการอุดหนุนแต่ไม่ได้บอกว่าเงินอุดหนุนนั้นมาจากไหน อันนี้เป็นตัวอย่างชัดเจนว่า ระบบแบ่งปันผลผลิตนั้น สามารถนำมาพัฒนาให้กับประเทศชาติได้ สามารถออกแบบได้อีกหลายอย่าง เช่น ประเทศนอร์เวย์ อาจจะใช้อีกระบบหนึ่งมันเป็นระบบสัมปทานของเขาแต่การออกแบบของเขาคือ รายได้จากปิโตรเลียมของเขานั้น ตั้งเป็นกองทุนเรียกว่า กองทุนมั่นคงแห่งชาติ เนื่องจากว่านอร์เวย์มีประชากรน้อยมาก แต่เขารวยน้ำมันขุดเจาะจากทะเลเหนือได้มาก เขาก็เลยเอาไปใส่เป็นกองทุน และไม่ใช้ เลยเรียกว่ากองทุนมั่งคั่ง เอาไว้ใช้ในยามวิกฤตอย่างเดียว เช่นถ้าหากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้นมา เขาถึงจะเอามาใช้เพราะคนนอร์เวย์ก็รวยอยู่แล้ว อันนี้ก็เป็นอีกแบบหนึ่งไปแต่จริงๆ เราก็สามารถออกแบบผสมผสานได้ อย่างจะเป็นแบบมาเลเซีย ถ้าเห็นว่ามาเลเซียเอาเงินมาอุดหนุนโดยตรงเป็นค่าน้ำมันอาจจะไม่ดีในแง่ของการใช้ฟุ่มเฟือย ก็อาจจะมาเป็นเงินกองทุน เราก็เอามาประยุกต์ได้ อย่างของมาเลย์ เขาก็มีจุดอ่อน แต่ละประเทศก็จะมีจุดอ่อน อย่างอินโดนีเซียนั้นได้เงินจากน้ำมันมาก แต่ก็เกิดทุจริตคอรัปชั่น ทั้งที่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตเหมือนกัน เงินไม่ถึงประชาชน เพราะนั่นคือรูปแบบประเทศของเขา มาเลเซียก็เอาแบบอย่างมาแต่มาเลเซียอยู่ภายใต้สหพันธรัฐ 3 รัฐ และปิโตนาสมีหน้าที่ต้องแบ่งสันปันส่วนจากทรัพยากรของเขา เพราะตัวเองเป็นคนดูแลและแบ่งปันค่าใช้จ่ายไปให้รัฐ เพราะฉะนั้นเขาก็จะออกแบบเป็นเก็บเป็นกองกลางไม่ได้ เดี๋ยวรัฐจะโวยวายเอา เลยต้องจัดการออกมาแบบนี้ ให้คนที่เป็นดั้งเดิมของมาเลเซียเท่านั้นที่จะได้ผลประโยชน์จากราคาน้ำมันโดยตรงแบบนี้ถ้าเราเห็นว่าแบบนี้อาจจะไม่เหมาะกับเมืองไทย อาจจะเอาโมเดลบางส่วนของนอร์เวย์ คือการจัดตั้งเป็นกองทุนขึ้นมาก็ได้ เพราะตอนนี้เราก็มีกองทุน อย่างเช่น ทรัพยากรด้านสื่อสารก็มีการตั้งกองทุนขึ้นมา ได้เงินมาจากค่าใบอนุญาต ค่าประกอบการต่างๆ ก็กันส่วนหนึ่งมาเป็นกองทุน และวางกองทุนให้อยู่ภายใต้กฎหมายชัดเจนป้องกันการทุจริต แล้วก็บริหารกองทุนนั้นไป เป็นต้น ซึ่ง10 กองทุนแบบนี้ก็คล้ายกองทุนของสสส. ซึ่งหักจากภาษีเหล้า ก็มีคนช่วยกันคิดเหมือนกันว่า ถ้าได้เงินมาจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมนั้นได้มาจากแหล่งเดียว คือ แหล่งภาพทัพหลวง ซึ่งมันก็น้อยนิดมากเมื่อเทียบกับมูลค่าของมัน 30 กว่าปีที่ผ่านมาได้เพียงแค่ ? กว่าเปอร์เซ็นเท่านั้นเอง ก็คิดกันว่า หนึ่ง ถ้าเปลี่ยนเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต สอง นำรายได้ส่วนหนึ่งตั้งเป็นกองทุนขึ้นมาเรียกว่ากองทุนปิโตรเลียมเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ก็ออกแบบเลยว่า จะนำไปบำรุงดูแลท้องถิ่นโดยตรง หรือจะนำไปใช้ในเรื่องการศึกษา การให้ความรู้ในเรื่องของเรื่องพลังงานไม่ว่าจะเป็นพลังงานฟอสซิลหรือพลังงานหมุนเวียน หรือจะนำมาส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนหรือเกี่ยวกับเรื่องของระบบขนส่งสาธารณะที่จะทำให้ลดการใช้พลังงานลงได้ ก็ออกแบบกันได้เป็นต้น แต่ ณ วันนี้มันไม่มีจินตนาการใดๆ สำหรับประเทศไทยในการออกแบบ เพราะทุกอย่างอยู่ภายใต้อำนาจของสายธุรกิจฟอสซิลหมดเลย ภายใต้การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างที่ว่าไว้ การจัดตั้งกองทุนอนุรักษ์พลังงานก็ไม่ได้เกี่ยวพันอะไรกับการลดใช้ฟอสซิล ทำให้เรารู้สึกว่าเลิกยา(เสพติด) ไม่ได้แล้วถ้าเปรียบเทียบนะถ้าพูดถึงพลังงานฟอสซิลเป็นยาเสพติดนั้น คนไทยก็เหมือนมีคนจ่ายยาให้ตลอดเวลา แล้วก็เลิกยาไม่ได้ ถ้าเลิกคุณก็ลงแดงตาย สภาพก็คล้ายๆ ถ้าไม่ขุดเจาะปิโตรเลียม เราก็จะตายทั้งประเทศ ปิโตรเลียมเหมือนการหยอดยาบ้าให้คนไทยถ้ามีพลังงานไฟฟ้ามาใช้ได้จริง จะช่วยลดปัญหานี้ไหมเราอย่าเพิ่งคิดไกล ต้องรู้ว่าการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยกับรถยนต์นั้น อันที่ใช้เยอะที่สุดคือน้ำมันดีเซล วันละ 60 ล้านลิตร เบนซินรวมทุกประเภทไม่ว่าจะ 91 หรือ 95 วันละ 20 ล้านลิตร เราจะออกแบบลดการใช้พลังงานแล้วไปออกแบบเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับรถที่ใช้น้ำมันเบนซิน ซึ่งมีผลบวกเพียงส่วนน้อยที่ 20 ล้านลิตรเท่านั้น ทำไมเราไม่ไปออกแบบดีเซลที่ใช้ 60 ล้านลิตรแทน เราก็ออกแบบได้ว่า ดีเซลส่วนใหญ่เป็นรถเพื่อการขนส่งในเชิงพาณิชย์ ถ้าอยากลดระบบที่ส่วนใหญ่เป็นระบบล้อ คุณก็เปลี่ยนเป็นระบบราง เริ่มต้นจากระบบรางคู่ก่อน ซึ่งเห็นด้วยที่รัฐบาลเริ่มคิดที่จะพัฒนาระบบรถไฟรางคู่ ก็จะทำให้การขนส่งทางรถไฟนั้นมีศักยภาพมากขึ้น พอรถไฟรางคู่เกิดขึ้น การใช้ระบบทางล้อก็จะลดลงก็จะลดการใช้น้ำมันดีเซลเพื่อการขนส่งทางล้อไปโดยปริยายแต่เพราะอะไรถึงยังมีการปล่อยให้ใช้ดีเซลที่วันละ 60 ล้านลิตรอยู่ เพราะว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยขายได้ราคาสูงกว่าการส่งออกไปขายที่ตลาดสิงคโปร์ เพราะการส่งออกไม่ได้รับค่าจูงใจเหมือนที่ขายในประเทศ เลยมีการเบี่ยงเบนประเด็นว่าใช้รถไฟฟ้าไหม ซึ่งต้นทุนยังไงมันก็ต้องใช้พลังงานเพื่อปั่นกระแสไฟฟ้าอยู่ดี แล้วมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และก็ผิดกลุ่มเป้าหมาย ในทางยุทธศาสตร์คุณต้องวางว่าใครที่มันกินมากที่สุดก็ทำงานตรงนั้น ซึ่งรัฐก็กำลังออกแบบมาเพื่อทำตรงนั้นแสดงว่าเริ่มมาถูกทางแล้วก็ปรับมาจากการใช้รถไฟความเร็วสูงเพื่อส่งคนในเชิงการท่องเที่ยวก็อาจจะโยงกับสายจีน ทำให้ไม่ได้เพื่อการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวแต่อาจเป็นเพื่อการขนส่งสินค้าด้วย เพราะเรามีสินค้าเยอะ และไทยเราเป็นประเทศที่เป็นตัวเชื่อมระหว่าง 2 ทะเล ก็มีสินค้าจากอินเดีย ตะวันออกกลางข้ามมหาสมุทรอินเดียมา ก็มาชนที่แหลมมลายู ขณะเดียวกันมหาสมุทรแปซิฟิกจากญี่ปุ่น จากจีน ก็มาชนที่ทะเลอ่าวไทย แต่ถ้าเราทำขนส่งทางรถ การดึงสินค้าจากจีนก็จะทำได้ดีขึ้น ตอนนี้มันมีการขนส่งทางเดียวคือทางแม่น้ำโขงก็คือทางเรือ ซึ่งจีนได้ไปหมดเพราะจีนล่องขึ้น แต่ไทยล่องลง เพราะฉะนั้นทางบกจึงยังเป็นสิ่งสำคัญ และสามารถเปิดเส้นทางได้อีกหลายประเทศ โดยเฉพาะเส้นทางขวางทุกทวีป คือจากเวียดนามไปพม่า เรียกเส้นทางขวางกลางประเทศไทย เพราะฉะนั้นเรื่องการท่องเที่ยวนั้นก็สบายแล้วเพราะไม่ต้องใช้รถยนต์ ซึ่งแต่ก่อนเราก็เคยมีเส้นทางขวาง อย่างเช่น เส้นเขมร คือเวียดนาม เขมร ไทย แต่เราไม่เคยทำเสร็จสักที ทีนี้เมื่อระบบรางเกิดขึ้นมันจะทำให้ระบบล้อลดการใช้โดยอัตโนมัติเพราะมันจะถูกกว่า ขนได้มากกว่า และปลอดภัยกว่า ความสูญเสียจะน้อยกว่า ก็อาจจะต้องรออีกสักหน่อยแต่ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แต่น่าเสียดายที่ว่าการลงทุนด้านขนส่งสาธารณะนี้ใช้วิธีกู้เงินมาลงทุน แทนที่จะเอารายได้จากการประกอบการกิจการปิโตรเลียมโดยตรงมาเป็นส่วนร่วมลงทุนก็ไม่ได้ จะเห็นว่าปิโตรเลียมไม่ได้มีความสัมพันธ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพประโยชน์โดยรวมเท่าไร แต่เป็นผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มอย่างเอาปิโตรเลียมมาทำปิโตรเคมีก็เป็นเฉพาะกลุ่มของเขาไป และจะเห็นว่าสินค้าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและเป็นสินค้าขยะ ไม่ว่าจะรถยนต์ 5 ปีก็หมดสภาพแล้วกลายเป็นขยะ เป็นเงินไหลออก หรือสินค้าพลาสติกทั้งหมดนั้นมีปัญหาอยู่ 2 อย่างคือเป็นขยะนี่แน่นอน และเป็นไหลออก และไม่ได้ส่งเสริมในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเลย เขาก็เลยจะแก้ปัญหาด้วยการสร้างโรงงานไฟฟ้าขยะขึ้นมาให้ครบวงจร คือแทนที่จะลกการใช้ เขาคงไม่แฮปปี้ในด้านที่เราจะเอาขยะกลับมาใช้ใหม่ มารีไซเคิล เพราะมันจะลดปริมาณการใช้เม็ดพลาสติก เพราะฉะนั้นถ้าเขาสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาดักการรีไซเคิลของคุณเสีย มันก็ตัดทอนพลาสติกบางส่วนออกไปแล้วเติมพลาสติกใหม่ใส่เข้าไปในระบบ มองในระบบก็คงเกิดการหมุนเวียนเงินทุนเกิดขึ้นได้ ก็เป็นกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มเดียวกันเกิดขึ้นรู้สึกท้อบ้างไหมที่ต้องต่อสู้กับเรื่องใหญ่ขนาดนี้ไม่เลย ทุกวันนี้เห็นเป็นเชิงระบบมากขึ้น คือมันมีพัฒนาการทางการมองเห็นในโลกทัศน์ที่เพิ่มมากขึ้น อีกอย่างคือแต่ก่อนคนไทยก็ไม่ได้สนใจเรื่องพลังงาน แต่วันนี้กลายเป็นเรื่อง Talk of the town ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก แต่ปรากฏว่ามีคนไม่น้อยที่ให้ความสำคัญ และเห็นว่าเรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่ไม่คุยกันไม่ได้ และอยู่ในหนึ่งเรื่องของการปฏิรูปประเทศ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point