ฉบับที่ 259 ใต้หล้า : กว่าฝนจะตกทั่วฟ้า

        สังคมไทยมีรากเหง้าที่ผูกพันกับธรรมชาติและวิถีเกษตรกรรมมาอย่างยาวนาน โดยริ้วรอยที่เห็นในความเปรียบสำนวนและพังเพยต่างๆ บ่งบอกความสัมพันธ์ดังกล่าวได้อย่างชัดเจน         และในขณะที่ผู้เขียนยกร่างต้นฉบับบทวิจารณ์ละครอยู่ ณ ขณะนี้ ก็เป็นช่วงจังหวะที่ฟ้ากำลังฉ่ำฝน เพราะเมืองไทยก้าวย่างเข้าสู่วสันตฤดูกันอีกคราหนึ่ง เลยทำให้ขบคิดตระหนักได้ว่า คำพังเพยของไทยที่อุปมาอุปไมยด้วยเรื่องราวของฟ้าฝนที่ชุ่มฉ่ำชุ่มชื้นแบบนี้ ก็ดูจะมีอยู่ไม่น้อย         ความเปรียบว่า “ฝนสั่งฟ้า ปลาสั่งหนอง” ที่หมายถึงการกระทำอันใดเพื่อฝากฝังไว้ก่อนลาจากไป หรือพังเพยที่ว่า “ฝนตกอย่าเชื่อดาว” อันกล่าวเตือนสติว่าไม่ควรวางใจใครจนมากเกินไป หรือแม้แต่สำนวนเชิงประชดประชันอย่าง “ฝนตกขี้หมูไหล” ซึ่งหมายถึงคนที่พลอยทำตัวเหลวไหลไม่ดีไปด้วยกัน ต่างก็สะท้อนความรู้สึกนึกคิดที่คนไทยผูกพันวิถีชีวิตในช่วงหน้าฝน จนกลายมาเป็นระบบภาษาสำนวนอยู่ในชีวิตประจำวัน         เมื่อผู้เขียนนั่งดูละครโทรทัศน์แนวดราม่าเข้มข้นเรื่อง “ใต้หล้า” อยู่นั้น สำนวนเปรียบเปรยว่า “ฝนตกไม่ทั่วฟ้า” ก็ผุดขึ้นมาอยู่ในห้วงความคิด ความหมายจริงๆ ของสำนวนนี้แสดงนัยถึงการให้หรือจ่ายแจกสิ่งใดๆ โดยไม่ทั่วถึง หรือจะว่าไปแล้ว ก็เป็นการที่คนโบราณตั้งคำถามว่า การกระจายอำนาจ ทรัพยากร และผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคม ตั้งอยู่บนฐานคิดเรื่อง “ความยุติธรรม” กันบ้างไหม         หากคำถามเรื่องความยุติธรรมเป็นประหนึ่งการตั้งโจทย์ว่า ตกลงแล้วฝนตกลงมาถ้วนทั่วท้องฟ้าจริงๆ หรือ ชีวิตของตัวละครที่พื้นเพเป็นคนชั้นกลางทั่วไปแต่ฐานะขัดสนอย่าง “ใต้หล้า” ผู้ต้องเผชิญมรสุมแห่งความอยุติธรรมมากมาย ก็คือการพิสูจน์คำตอบว่า ถึงที่สุดแล้ว สองมือแห่งปัจเจกบุคคลจะสามารถทำให้ฝนจากฟ้าหล่นลงมาทั่วถ้วนผืนแผ่นหล้าได้หรือไม่         ชีวิตที่ดำเนินไปของตัวละครใต้หล้าดูจะไม่มีปัญหาใดๆ จนกระทั่งเขาได้โคจรมาเจอกับ “หิรัญ” ลูกชายของ “เปี่ยมยศ” นักธุรกิจรายใหญ่แห่งตระกูล “เถากุหลาบ” และอาจจะด้วยเป็นลูกมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ แต่ขาดความรักจากบิดา และถูกเลี้ยงตามใจให้เสียคนจาก “อุษา” ผู้เป็นมารดา หิรัญผู้เกิดมาบนกองเงินกองทองจึงเชื่อว่า “เงินเนรมิตความสุขทุกอย่างในชีวิตได้”         จนกระทั่งวันหนึ่ง หิรัญเมาสุราและได้ขับรถสปอร์ตคันงามซิ่งออกไปชนกับรถยนต์ที่พ่อแม่ของใต้หล้าขับมา ทำให้ทั้งคู่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และเพราะ “คนรวยทำอะไรก็ไม่ผิด” แม้จะ “เมาแล้วขับ” จนมีคนตาย และใต้หล้าเองก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อทวงความถูกต้องยุติธรรมให้กับบุพการี แต่กระนั้น กฎหมายก็ไม่อาจทำอะไรกับทายาทมหาเศรษฐ๊ ผู้ที่ประกาศเสียงก้องอยู่ในสองโสตสัมผัสของพระเอกหนุ่มว่า “มึงทำอะไรกูไม่ได้ เพราะอะไร…เพราะกูคือเถากุหลาบ”         เมื่อสายธารชีวิตของชายหนุ่มสองคนได้ไหลมาบรรจบพบกัน โดยมีความยุติธรรมเป็นแกนกลางของเส้นเรื่อง สงครามความขัดแย้งระหว่างชนชั้นจึงระเบิดขึ้นอย่างมิอาจเลี่ยงได้ ทั้งนี้ สำหรับชนชั้นรากหญ้าที่สังคมมักรับรู้กันว่า “คนจนแค่หายใจก็ผิดแล้ว” นั้น ในสงครามยกแรก ฐานานุภาพทางการเงินของเถากุหลาบก็ทำให้เปี่ยมยศมั่นใจที่จะพูดกับหิรัญว่า “ไอ้เด็กนั่นมันไม่มีอะไรเลย เราไม่ได้เกิดมาเพื่อแพ้”         ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ละครได้ฉายภาพจำลองวิถีปฏิบัติของคนรวยที่ใช้เงินซื้อตัว “สันติ” ชายหนุ่มคนหนึ่งที่ “ไม่มีอะไรเลยนอกจากหนี้ติดตัว” ให้มาสมอ้างเป็น “แพะรับบาป” ติดคุกแทนหิรัญ ตามด้วยการป้องปรามและเอาคืนใต้หล้าโดยตัดอนาคตของ “ฟ้ารุ่ง” พี่สาวของเขา ทั้งล่อลวงทางเพศและกระทำกับเธอประหนึ่งวัตถุสิ่งของด้วยการติดป้ายประจานกลางหลังว่า “ขายถูก” โพสต์เป็นคลิปลงในสื่อโซเชียล         ฉากจบในสงครามยกแรกจึงลงเอยที่ใต้หล้าได้ลุแก่โทสะท้าดวลและพลั้งไปตัดนิ้วมือข้างขวาของหิรัญขาด จนทำให้พระเอกหนุ่มติดคุกเป็น “ราคาที่ต้องจ่าย” เซ่นสังเวยให้กับความยุติธรรมที่เขาต้องการทวงถาม         เพราะ “สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร” สองปีผ่านไป ผู้ต้องขังชั้นดีอย่างใต้หล้าก็พ้นโทษ และพร้อมจะกลับมาทวงคืนความยุติธรรมกันอีกคำรบหนึ่ง แม้ใครต่อใครรวมทั้ง “อาม่า” จะพยายามเตือนสติเขาว่า “คิดเสียว่าเป็นเวรเป็นกรรม มันเกิดไปแล้ว ให้เราพาตัวเองไปสู่สิ่งที่ดีกว่า” แต่นั่นก็มิอาจหน่วงรั้งจิตสำนึกพระเอกหนุ่มผู้ต้องการต่อสู้เพื่อผ่าตัดเปลี่ยนแปลงระบบอันไร้ซึ่งความยุติธรรมไปได้เลย         เมื่อสงครามยกใหม่ระหว่างตัวละครได้เริ่มขึ้น ใต้หล้าผู้ที่บัดนี้มีอิสรภาพและปรารถนาจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ ดังนั้น ด้วยความช่วยเหลือของ “หยาง” นายทุนจีนรายใหญ่ผู้รักในคุณธรรมความดี ไม่นานนักเขาก็ค่อยๆ มีเงินทุนและมีฐานะเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว พร้อมบ่งชี้ข้อพิสูจน์กับใต้หล้าว่า สำหรับคนที่เคยติดคุก หากมีคุณธรรมและความพากเพียร ก็สามารถลุกขึ้นใหม่ได้ทุกคน         แต่เพราะสมรภูมิความขัดแย้งของชนชั้นเองก็มิเคยเจือจางลางเลือนหายไป เมื่อเถากุหลาบเล็งเห็นว่า ธุรกิจของใต้หล้าที่เติบโตและมีกลุ่มทุนจีนหนุนหลัง เริ่มเขยิบมา “เหยียบปลายจมูก” กันแล้ว ภาพของกลุ่มทุนรายใหญ่ที่จับจ้องเอาเปรียบกลุ่มคนอื่นๆ เฉกเช่นใต้หล้า จึงวนเวียนกลับมาให้เห็นกันอีกครั้งหนึ่ง         ไม่ว่าจะเป็นความพยายามซื้อตัวฟ้ารุ่งมาเป็นพวก การลอบวางเพลิงเผาโกดังสินค้าของพระเอกหนุ่ม การที่หิรัญส่งนิ้วมือที่ถูกตัดของเขาไปข่มขู่คุกคามอาม่าผู้เป็นญาติผู้ใหญ่ รวมไปถึงการที่เปี่ยมยศใช้เงินเพื่อร้อย “อากาศ” ผู้หญิงคนรักของใต้หล้าเอาไว้หลอกใช้งาน ด้วยเหตุผลที่ลูกสาวนอกสมรสคนนี้จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อรักษามารดาที่ลมหายใจรวยรินอยู่ในห้องไอซียูของโรงพยาบาลเถากุหลาบนั่นเอง         จากนั้น สงครามแห่งชนชั้นก็ได้ดำเนินมาใกล้ฉากจบ พร้อมๆ กับใต้หล้าและฟ้ารุ่งที่บอกกันและกันว่า นี่ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่พี่น้องสองคนจะ “set zero” เริ่มต้นใหม่ เพื่อทำให้เถากุหลาบรู้ซึ้งว่า “ความยุติธรรมมีอยู่จริง” ไม่ต่างจากหยาดฝนที่ปัจเจกบุคคลต้องลงมือทำให้ตกมาจากฟากฟ้าด้วยตนเอง         จนในท้ายที่สุดของเรื่อง เราจึงได้เห็นบทสรุปที่เป็นภาพของคนผิดอย่างหิรัญถอดนิ้วปลอมออกจากมือขวา และเดินเข้าคุกเพื่อชดใช้กรรม รวมไปถึงฉากที่ “แพะ” อย่างสันติตัดสินใจขับรถพุ่งชนเปี่ยมยศจนเขาพิการตลอดชีวิต แม้ภาพจะดูรุนแรง แต่ก็บอกเป็นนัยได้ว่า ถ้าความยุติธรรมในระบบกฎหมายใช้การไม่ได้กับคนบางคน หรือถ้าหาก “คุกไม่ได้มีไว้ขังคนรวย” แต่เตียงโรงพยาบาลก็อาจจะเป็นคุกที่ใช้ขังคนกลุ่มนี้ได้แทน         จากคำถามที่ว่า ฝนจะตกทั่วฟ้า หรือความยุติธรรมมีจริงได้บ้างไหม คำตอบอาจไม่ได้อยู่ที่การรอคอยให้เม็ดฝนนั้นตกมาเอง แต่อยู่ที่ปัจเจกบุคคลมากกว่าว่า จะลงมือสร้างความยุติธรรมให้ปรากฏเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ เฉกเช่นที่ใต้หล้าได้ชี้ไปที่ภูเขาลูกไกลโพ้น และกล่าวกับอากาศผู้เป็นหญิงคนรักว่า “แม้ความยุติธรรมจะใหญ่เหมือนภูเขาลูกโน้น แต่หล้าก็อยากจะลองขยับดู”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 ข้อระวัง ในการมอบอำนาจฟ้องคดี

เชื่อว่าหลายท่านคงมีประสบการณ์เคยมอบหมายงานบางอย่างให้ผู้อื่นทำแทนบ้าง  ซึ่งแน่นอนว่าเราก็ต้องทำหลักฐานมอบอำนาจขึ้นมาโดยทำเป็นหนังสือ เช่น มอบอำนาจให้ไปแจ้งความ ไปยื่นเอกสาร ติดต่อที่หน่วยงานต่างๆ  เป็นต้น  ซึ่งในการดำเนินคดีก็เช่นกัน เราก็มักจะมอบหมายให้ทนายความฟ้องร้องและดำเนินคดีแทนเรา ซึ่งบางคนคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ในคดีหนึ่ง ก็มีการโต้แย้งกันในเรื่องหนังสือมอบอำนาจ จนเป็นข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลฏีกา เรื่องมีว่า โจทก์สองคน ทำหนังสือมอบอำนาจฉบับเดียว ซึ่งการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีก็ต้องมีการติดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนตามกฎหมาย จำเลยสู้ว่าไม่ติดให้ครบถ้วน ซึ่งสุดท้าย ศาลฏีกาก็วินิจฉัยว่า เป็นการมอบอำนาจให้บุคคลเดียว กระทำการครั้งเดียว การติดอากรแสตมป์ของโจทก์ทั้งสองครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว หนังสือมอบอำนาจย่อมใช้เป็นหลักฐานในคดีได้  โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง  ตามนัยคำพิพากษาฏีกา ที่ 16640/2557 คำพิพากษาฏีกา ที่ 16640/2557    หนังสือมอบอำนาจระบุข้อความว่า “โจทก์ทั้งสองขอมอบอำนาจให้ อ.เป็นผู้รับมอบอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ทั้งสองเพื่อฟ้องร้องและดำเนินคดีแพ่งกับจำเลยทั้งห้า ในข้อหาหรือฐานความผิดละเมิด  สัญญาประกันภัย เรียกค่าเสียหาย ต่อศาลจังหวัดพัทยา โดยให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจในการดำเนินกระบวนพิจารณาไปในทางจำหน่ายสิทธิได้ เช่น ...” ข้อความที่ระบุแจ้งชัดเช่นนี้ ถือว่าเป็นการมอบอำนาจให้ อ. ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งห้า ฐานละเมิด ประกันภัย และเรียกค่าเสียหายคดีนี้เท่านั้น มิได้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีเรื่องอื่นต่อจำเลยทั้งห้า หรือฟ้องบุคคลอื่น อันเป็นการกระทำมากกว่าครั้งเดียวไม่ แม้ตามหนังสือมอบอำนาจจะระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นๆ ได้ด้วยก็ตาม แต่เป็นเพียงวิธีการที่เกี่ยวกับการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งห้าเท่านั้น จึงถือว่าเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวกระทำการครั้งเดียว ซึ่งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้าย ป.รัษฏากร ข้อ 7 (ก) กำหนดให้ปิดอากรแสตมป์คิดตามรายตัวบุคคลผู้มอบคนละ 10 บาท โจทก์ทั้งสองจึงต้องปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจรวม 20 บาท เมื่อโจทก์ทั้งสองปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจ จำนวน 30 บาท จึงครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว หนังสือมอบอำนาจย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฏากร มาตรา 118 จากคำพิพากษาศาลฏีกาข้างต้น เราจะเห็นว่า เรื่องการมอบอำนาจฟ้องคดีมีความสำคัญ หากหนังสือมอบอำนาจไม่ระบุข้อความให้ชัดเจน หรือติดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย  ทำให้อำนาจฟ้องคดีไม่สมบูรณ์ ศาลอาจยกฟ้องได้ อีกประเด็นคือกรณีมีผู้มอบอำนาจสองคน มอบหมายในหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลเดียวทำการแทน การติดอากรแสตมป์ต้องคิดตามรายตัวบุคคลที่มอบอำนาจ อย่างเช่นในคดีนี้ มีผู้มอบอำนาจสองคน ต้องติดคนละ 10 บาท รวม 20 บาท  แต่ถ้าเป็นกรณีการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกันกระทำการมากกว่าครั้งเดียวปิดอากรแสตมป์ จำนวน 30 บาท

อ่านเพิ่มเติม >