ฉบับที่ 186 อาเซียนกับการคุ้มครองผู้บริโภค ฝันไกลที่ต้องไปให้ถึง

    การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือที่คุ้นกันในชื่อ เออีซี (Asean Economic Community) สร้างโอกาสมากมายให้กับประเทศในอาเซียนที่ช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างกันให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน และสินค้า-บริการระหว่างกัน    ทว่า โอกาสมักมาพร้อมความท้าทาย ในมิติสิทธิผู้บริโภค เออีซีนำปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคต้องหันมาให้ความสนใจ ลองนึกดูว่าถ้าสินค้าที่ผลิตในอาเซียนถูกส่งเข้าไปขายในอาเซียนด้วยกัน หากสินค้ามีปัญหาจะมีกลไกอะไรที่จะช่วยคุ้มครองดูแลผู้บริโภคใน 10 ประเทศได้ แล้วถ้าสินค้านั้นเป็นสินค้าประเภทอาหารหรือยา ผลกระทบก็จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่จะต้องให้ความสนใจกับเรื่องนี้ และติดตามการทำงานของภาครัฐในการดูแลสิทธิของผู้บริโภค    เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับอาเซียนขึ้น เท่าที่ปรากฏขณะนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 องค์กรหลักคือ สภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนหรือเอสอีเอซีซี (SEACC: Southeast Asian Consumer Council) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของภาคประชาชนในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม และไทย ที่จะคอยเกาะติดประเด็นสิทธิผู้บริโภค คู่ขนานไปกับอีกองค์กรหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลของประเทศในอาเซียนที่เรียกว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของอาเซียน หรือ เอซีซีพี (ACCP : ASEAN Committee on Consumer Protection) โดยในส่วนของประเทศสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะทำหน้าที่เป็นผู้แทนในเอซีซีพีถามว่าเอซีซีพีมีภารกิจอะไร คำตอบคือ เพื่อคอยประสานงานด้านการดำเนินการและกำกับติดตามการจัดทำกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับภูมิภาค ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องการความร่วมมือร่วมใจและใส่ใจเป็นพิเศษ ยุทธศาสตร์ของอาเซียน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคƒ    อุฬาร จิ๋วเจริญ ผู้อำนวยการส่วนประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้ทาง ACCP ได้มีการร่างแผนยุทธศาสตร์ขึ้นมา โดยส่งร่างเข้าไปยังที่ประชุมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมียุทธศาสตร์ที่สำคัญด้วยกัน 4 ประการเรียกว่า แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ของอาเซียน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2559-2568 ตามแผนนี้กำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินการตามแผนปฏิบัติการทั้งหมด 4 ด้านยุทธศาสตร์ที่ 1 คือการจัดทำกรอบการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของอาเซียน ให้มีการกำหนดหลักการขั้นสูงด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หมายถึง การยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นระดับสากล ซึ่งจะต้องมีการทบทวนกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศสมาชิก และเมื่อพอทบทวนเสร็จจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายของประเทศภายในสมาชิกให้เป็นสากลยุทธศาสตร์ที่ 2 การคุ้มครองและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้บริโภคในระดับสูง ยุทธศาสตร์นี้จะพูดในเรื่องของการส่งเสริม เช่น การให้ความรู้แก่ผู้บริโภคผ่านการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ออนไลน์สำหรับผู้บริโภค และต้องมีการนำเสนอประเด็นข้อกังวลของผู้บริโภคต่อองค์กรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐ เอ็นจีโอยุทธศาสตร์ที่ 3 สนับสนุนให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อหลักประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและทำธุรกรรมข้ามพรมแดน วิธีการก็คือส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนผ่านการตั้งกลไกการหารือและการพัฒนาชุดเครื่องมือข้อมูลข่าวสาร มีการบังคับใช้กฎมายอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัยของสินค้าต่างๆ มีการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยหรือที่เรียกว่า Alert System ขึ้นมา ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบูรณาการนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในอาเซียน การส่งเสริมให้มีการประสานกันในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคกับส่วนอื่นๆ เช่น ประเด็นการแข่งขันทางการค้า E-Commerce และจะต้องมีการพัฒนาดัชนีการเพิ่มขึ้นของความเข้มแข็งและประสิทธิภาพของผู้บริโภคในอาเซียน มีการพัฒนากลไกการประเมินผลกระทบด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีต่อผู้บริโภคเหล่านี้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ที่กำลังจะจบลงในปีนี้ ที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมในสังคมว่า จะต้องพัฒนามาตรฐานระบบการคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศและรองรับการเคลื่อนย้ายสินค้าบริการและข้อมูลข่าวสารอย่างเสรีในประชาคมอาเซียน การเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎระเบียบด้านมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการ การปรับปรุงกฎหมายระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง โดยครอบคลุมถึงคุณภาพการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐ การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับสิทธิและการคุ้มครองสิทธิ รวมถึงช่องทางการรับข้อร้องเรียน พร้อมทั้งปรับปรุงกลไกเฝ้าระวังคุณภาพมาตรฐานการตรวจสอบและติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการ จากการร้องเรียน การเพิ่มสมรรถนะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค สร้างความตระหนักของ ผู้บริโภคในการรักษาสิทธิและดูแลผลกระทบจากการใช้สินค้าและบริการ ควบคู่ไปกับการกระตุ้น จิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจเอกชนสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียน การผนึกกำลังของภาคประชาสังคมสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อธิบายเพิ่มเติมว่า“แต่เนื่องจากการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยและในอาเซียนมีการแยกส่วน ตัว สคบ. หรือเอซีซีพีดูเฉพาะเรื่องสินค้าปลอดภัยหรือความร่วมมือในบางเรื่อง แต่ก็มีกรรมการเฉพาะด้าน เช่น กรณีอาหารเสริมหมามุ่ย มีคณะกรรมการที่เรียกว่า Traditional Medicine and Health Product ซึ่งกรรมการชุดนี้จะดูเรื่องยาสมุนไพร ซึ่งก็ไปกำหนดกติกาอีกที ทำแนวทางเรื่องยา เครื่องสำอาง คือ เขาจะมีกรรมการเฉพาะในบางด้านอีกต่างหาก ไม่ได้หมายความว่าเอซีซีพีดูทุกเรื่อง ซึ่งก็คล้ายๆ กับบริบทในประเทศ เพราะแต่ละที่ก็จะมีเหมือน อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ของทุกประเทศ ดังนั้น ความร่วมมือในประเด็นเฉพาะบางด้านก็มีความร่วมมือแยกออกไป”อีกด้านหนึ่ง ฟากคนทำงานด้านสิทธิผู้บริโภคก็เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และได้ผลักดันจนเกิดสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนหรือเอสอีเอซีซี โดยมีพันธกิจในการก่อตั้งคือ เป็นตัวแทนและส่งเสริมการเคารพสิทธิของผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภคในภูมิภาค  ส่งเสริมให้เกิดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและเสนอความเห็นเพื่อการตัดสินใจของอาเซียนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค และทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาชนทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และระดับโลก เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคสารี กล่าวว่า SEACC เป็นอีกหนึ่งกลไกที่พยายามผลักดันให้รัฐสนับสนุนให้เกิดกลไกคุ้มครองผู้บริโภคข้ามแดนขึ้น และอีกข้อผลักดันหนึ่งที่สำคัญคือ ทุกครั้งที่รัฐบาลประชุมก็ขอให้มีการจัดประชุมกับองค์กรผู้บริโภคควบคู่กันไป แล้วให้โอกาสภาคประชาสังคมเข้าไปเสนอประเด็นเรื่องผู้บริโภคในการประชุมของเอซีซีพีกติกากลาง-การเชื่อมโยงข้อมูล งานหลักที่ต้องรีบดำเนินการ    อุฬาร อธิบายว่า เบื้องต้นขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ต่างก็มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเป็นของตนเอง บางประเทศเพิ่งร่าง บางประเทศเพิ่งผ่านสภา เช่น กัมพูชาที่เพิ่งจะมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ส่วนเมียนมาร์ก็เพิ่งตั้งหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น เป็นต้น ซึ่งการจะมีกฎหมายกลางระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่จะต้องพัฒนาต่อไป ในเบื้องต้นมีแค่ความตกลงในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพียงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อุฬารเห็นว่าการสร้างกติการ่วมกันนั้นมีความเป็นไปได้“มันมีความเป็นไปได้ เนื่องจากประชาคมอาเซียน เราก็อยู่ในสังคมโลกเหมือนกัน ทางสหประชาชาติก็กำหนดไกด์ไลน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคออกมา ซึ่งประเทศสมาชิกก็ต้องรับมาปฏิบัติ มีคณะกรรมการ กรรมาธิการกฎหมายการค้าแห่งสหประชาชาติ ก็ประชุมกันเพื่อกำหนดเกณฑ์ในเรื่องของกฎหมายการค้า ซึ่งการคุ้มครองผู้บริโภคมันเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งแต่ละประเทศก็คงจะต้องปรับแก้กฎหมายของตนเองให้สอดคล้อง พอกฎหมายของตนเองสอดคล้องแล้ว มันก็จะมีกำหนดกติการ่วมกันได้ในอนาคต”อีกหนึ่งเรื่องสำคัญคือการสร้างฐานข้อมูลการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าในระดับชาติหรือระดับอาเซียน อุฬารยอมรับว่า ปัจจุบันฐานข้อมูลการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยยังกระจัดกระจายอยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 20 หน่วยงาน ซึ่งตอนนี้ สคบ. พยายามปรับองค์กรเพื่อให้มีศูนย์ข้อมูลแห่งชาติด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น เพื่อดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรืออาจจะเชื่อมโยงข้อมูลกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) ด้วย เพราะทาง สคบ. เห็นว่าทาง มพบ. มีข้อมูลที่เป็นเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคอยู่มากพอสมควร ซึ่งควรนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของฐานข้อมูลส่วนในระดับชาติจะต้องเชื่อมโยงกับอาเซียน ซึ่งตรงนี้ทางอาเซียนก็ได้เริ่มจัดทำอินเตอร์เน็ต แพล็ตฟอร์มขึ้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประเทศสมาชิกสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและจะมีการพัฒนาต่อไป“ตอนนี้น่าจะยังไม่มีตัวอย่างการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูล ตอนนี้เราอยู่ในระหว่างการเริ่มต้นการพูดคุยกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สพทอ. (สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์) ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เราทำ MOU ร่วมกัน ซึ่งความคิดเห็นส่วนตัวผม เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะนำมากำหนดนโยบายพื้นฐาน ถ้าเราขาดข้อมูลที่ถูกวิเคราะห์ สังเคราะห์ออกมาให้ครบถ้วน วิธีการแก้ไขปัญหามันก็จะไม่ตอบโจทย์ ซึ่งตอนนี้รูปธรรมยังไม่ออกมาเป็นแพทเทิร์นที่สมบูรณ์ จะมีเรื่องการระงับข้อพิพาทข้ามแดน การเยียวยาผู้บริโภค การเจรจาไกล่เกลี่ยออนไลน์ ต่างๆ เหล่านี้พ่วงเข้ามาด้วย ตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการริเริ่มเบื้องต้นเท่านั้น อย่าง สคบ. เอง ตอนนี้ก็กำลังเสนอเรื่องการปรับปรุงโครงสร้าง ปรับปรุงระบบงานเพื่อให้สอดคล้องและมีความเป็นสากลมากขึ้นกับทาง สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อนเสนอทางรัฐบาลต่อไป”อุปสรรคที่ต้องก้าวข้ามอย่างไรก็ตาม ในมุมมองของสารี สะท้อนทัศนะวิพากษ์ต่อการดำเนินการเรื่องของรัฐบาลว่ายังไม่มีความกระตือรือร้นมากนัก โดยยกตัวอย่างว่า“มีความร่วมมือตัวหนึ่งที่น่าสนใจ เรียกว่าการรายงานผลิตภัณฑ์ที่เอาออกจากท้องตลาดหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย อยู่ในหน่วยที่เรียกว่า Product Alert อันนี้คือฝั่งเอซีซีพี พบว่าประเทศไทยเข้าไปแอคทีฟกับการรายงานเรื่องพวกนี้น้อยมาก ทั้งที่เรามีสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยเรื่องสินค้า บริการเยอะแยะ ด้วยความที่มันอาจจะมีหน่วยงานเยอะก็ได้อย่างของเวียดนามมีการรายงานเรื่อง โน้ตบุ๊ค เลอโนโว รถยนต์รุ่นนั้นรุ่นนี้ที่มีปัญหา เราเสนอให้ สคบ. นำข้อมูลเหล่านี้มาเผยแพร่ให้กับผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้ เพราะบางรุ่นอาจจะผลิตที่เวียดนาม เราเชื่อว่า ถ้าพบความผิดพลาดในบางประเทศ ก็น่าจะพบความผิดพลาดที่บ้านเรา ถ้าผู้บริโภครู้ก็จะได้แก้ปัญหา แต่ขณะนี้ต้องบอกว่ามีแต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเท่านั้น ที่เอาข้อมูลนี้มาใช้ประโยชน์ แต่หน่วยงานของรัฐไม่ได้เอาข้อมูลออกมาทำเป็นภาษาไทย เพื่อให้คนตื่นตัว รู้ว่ามีสินค้ารุ่นนี้ที่ประเทศนี้เอาออกจากท้องตลาดหรือในยุโรปที่ใช้กติกาเดียวกัน ใช้ระบบฐานข้อมูลเชื่อมโยงกัน เช่น ไทยส่งผักไปยุโรปและพบว่ามีซัลโมเนลลา(เชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษ) ปนเปื้อน ภายใน 24 ชั่วโมง 27 ประเทศในยุโรปจะรู้หมดว่าผักนี้อยู่ในตลาดไหน บ้านเรายังไม่มีระบบแบบนี้ แม้ว่าจะมียุทธศาสตร์ให้ความสำคัญกับสินค้าปลอดภัยที่ค้าขายกันอยู่ตามชายแดน เรายังไม่เห็นระบบเตือนภัยลักษณะนี้ หรืออย่างอินโดนีเซียก็ก้าวหน้ามาก เขาเอาไดร์เป่าผมออกจากท้องตลาดเพราะไม่มีฉลากเป็นภาษาบาฮาซาร์ ซึ่งมันสะท้อนระดับความจริงจังของการจัดการเรื่องพวกนี้ที่แตกต่างกัน”สารีเห็นว่า การสร้างกติกากลางเป็นประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยยกตัวอย่างว่าขณะนี้สิงคโปร์มีกฎหมายคืนสินค้า ถ้าสิงคโปร์สั่งรถจากไทยไป แล้วพบว่ามีการชำรุด บกพร่อง คนสิงคโปร์จะได้เงินคืนหรือได้รถคันใหม่ ขณะที่ไทยยังไม่มีมาตรการทำนองนี้ เพราะฉะนั้นต้องทำกติกากลางร่วมกัน    ในมิตินี้ อุฬาร กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือความแตกต่างระหว่างกฎหมายภายในแต่ละประเทศ เรื่องขององค์กรที่รับผิดชอบเป็นองค์กรหลักในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคที่แตกต่างกันภายในประเทศ เรื่องขอความกระจัดกระจายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้เกิดการซ้ำซ้อน เกิดช่องว่าง ซึ่งตรงนี้มันจะต้องมาปรับทัศนคติหน่วยงานที่รับผิดชอบภายในประเทศให้เกิดการบูรณาการกันอย่างแท้จริง ตอนนี้ สคบ. ก็เสนอให้มีศูนย์ประสานการขับเคลื่อนนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น โดยที่แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มาบูรณาการในเรื่องของการขับเคลื่อนแผนงานโครงการและก็มีการแก้ไขกฎหมายไปพร้อมๆ กัน“อุปสรรคอีกประการหนึ่ง คือ เรื่องของตัวผู้บริโภคเอง เนื่องจากว่าช่องว่างระหว่างรายได้ การศึกษาของของบุคคลในประเทศเรามีค่อนข้างหลากหลาย ทีนี้จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคมีข้อมูลเพียงพอ ให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูล เข้าถึงกระบวนการเยียวยาได้โดยง่าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันต้องช่วยกันทำ”    อุฬาร เสริมว่า การทำ One Stop Service ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทาง สคบ. กำลังพัฒนา โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นศูนย์กลางเพื่อส่งต่อข้อมูลการร้องเรียนของผู้บริโภค ส่วนในกรณีสินค้าจากต่างประเทศ อุฬารอธิบายว่า“สมมติว่ามีผู้ประกอบการรายหนึ่งของจังหวัดหนองคาย ไปซื้อสินค้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน และผู้บริโภคของเราเกิดความเสียหาย ผู้บริโภคมาเรียกร้องขอให้ชดเชย เยียวยา พอเข้าระบบนี้ก็จะถูกคัดกรองและส่งผ่านระบบการเยียวยาข้ามแดนไป จากไทยผ่านไปที่ สปป.ลาว ทางองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่นั่นก็ไปดำเนินการเพื่อเรียกร้องการเยียวยาความเสียหายจากผู้ผลิตที่นั่น เป็นต้น”ทั้งหมดนี้เป็นความคืบหน้าล่าสุดที่ทาง สคบ. กำลังดำเนินการ แม้ว่าจะพบเผชิญอุปสรรคอยู่บ้าง ขณะที่สภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนหรือเอสอีเอซีซีก็ยังคงเกาะติดการทำงานของภาครัฐ เพื่อปรับปรุงระบบการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไปหมายเหตุ หน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคในกรอบอาเซียนคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ซึ่งทางนิตยสารฉลาดซื้อได้ทำการขอสัมภาษณ์ แต่เนื่องจากความล่าช้าของระบบราชการ และการส่งต่อคำร้องขอสัมภาษณ์อันไม่สิ้นสุด จึงทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลจากทาง อย. มาเสนอได้ทันในการนำเสนอครั้งนี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 139 One bans. All ban.เมื่อความเสี่ยงของผู้บริโภคไม่ใช่ชะตากรรม

การที่อาเซียนมุ่งสู่แนวทางเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ (Economic Liberalization) โดยจะเปิดกว้างต่อการค้าระหว่างประเทศ การลงทุน การเงิน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งจะปรากฏชัดเจนเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ. 2558 หรือที่เรียกว่า “ประชาคมอาเซียน” นั้น จะทำให้เกิดมีการหมุนเวียนหลั่งไหลของสินค้าและบริการต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งก็เป็นไปได้มากว่า สินค้าและบริการส่วนหนึ่งจะเป็นสินค้าและบริการที่ด้อยคุณภาพ หน่วยงานทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคจึงเตรียมตัวกันเต็มที่เพื่อสกัดกั้นปัญหาดังกล่าว กลไกสำคัญหนึ่งคือ การตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคอาเซียน (ASEAN Committee on Consumer Protection) ขึ้น ซึ่งมีสมาชิกจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจากทุกประเทศ ปัจจุบันประเทศฟิลิปปินส์ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ โดยมีหน่วยแข่งขันทางการค้า กรมคุ้มครองผู้บริโภคและกรมทรัพย์สินทางปัญญาของเลขาธิการอาเซียนเป็นสำนักงานเลขานุการ คณะกรรมการฯ นี้จะทำหน้าที่สร้างระบบเตือน การเรียกคืนสินค้าและสินค้าอันตราย สร้างกลไกการแก้ไขปัญหาเยียวยาผู้บริโภค สร้างความเข้มแข็งของกลไก สร้างความตื่นตัวและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ขณะเดียวกันยังมีกลไก องค์กรสภาผู้บริโภคอาเซียน Southeast Asian Consumer Council (SEACC) อีกหนึ่งแห่งที่เกิดขึ้นคู่ขนานกับทางภาครัฐ โดยก่อตั้งขึ้นที่เมืองบาหลี อินโดนีเซีย เมื่อปี 2549 สมาชิกก่อตั้งเป็นองค์กรผู้บริโภคชั้นนำจากประเทศ บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม โดยการสนับสนุนของสหพันธ์ผู้บริโภคสากล ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียน   และเมื่อวันที่ 4-5 กันยายน ที่ผ่านมา “สภาผู้บริโภคอาเซียน” ได้จัดงานประชุมขึ้นที่กรุงเทพฯ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนในการรับมือกับสินค้า(ผลิตภัณฑ์) อันตราย ในหัวข้อ “เมื่อความเสี่ยงของผู้บริโภคไม่ใช่ชะตากรรม : ความจำเป็นในการสร้างความเข้มแข็งผู้บริโภคในประชาคมอาเซียน” ซึ่งฉลาดซื้อ ขอนำประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในงานนี้มาเสนอเป็นความรู้พื้นฐานสำหรับผู้บริโภคในการเตรียมความพร้อมกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนต่อไป   องค์การอิสระผู้บริโภคต้องเกิดเสียที ในเวทีประชุมสภาผู้บริโภคอาเซียน ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ ตัวแทนสมาชิกของประเทศต่างๆ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ได้นำเสนอข้อมูลในเรื่องอันตรายของผลิตภัณฑ์ที่หลายประเทศในอาเซียนได้สั่งห้ามยกเลิกการใช้และห้ามนำเข้าไปนานแล้ว แต่ยังพบในอีกหลายประเทศร่วมภูมิภาคอาเซียน นายเซีย เซ็งชุน (Mr. Seah Seng Choon) ผู้อำนวยการสมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์  กล่าวว่า “ในสิงคโปร์การคุ้มครองผู้บริโภครุดหน้าไปมาก เมื่อสิบปีที่แล้วได้แบน แร่ใยหินหรือแอสเบสตอสไปแล้ว พอได้ฟังข้อมูลที่ประเทศไทยวันนี้ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเลื่อนการแบนไปอย่างน้อยห้าปี รู้สึกตกใจมากเพราะแม้ผลของโรคที่เกิดจากแร่ใยหินไม่ได้เห็นในเวลานี้ แต่ผลกระทบจากการสะสมเริ่มแล้วตั้งแต่วันนี้ ดังนั้นจึงเห็นด้วยว่าจะต้องแบนแร่ใยหินทันที เพราะจะได้ไม่มีผลร้ายมากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตามในมุมมองเรื่องการแบนสินค้าที่เกิดขึ้นในประเทศของสิงคโปร์และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันนั้น หากขาดประเทศไทยที่เดียวที่ไม่มีการแบน ประเทศไทยก็ต้องเป็นแหล่งเดียวที่รับสินค้าอันตรายเช่นแร่ใยหินเข้าประเทศไทยแทนประเทศอื่นที่ได้สั่งแบนสินค้าไปแล้ว” นางสาวโมฮานา ปรียา (Ms. Mohana Priya) จากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมาเลเซีย กล่าวว่า “ในมาเลเซียนั้น สารบีพีเอ ถูกแบนโดยไม่ยากนักเพราะมีข้อมูลวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดเจนว่า สารบีพีเอในขวดนม มีผลกระทบต่อสุขภาพทารกและเด็ก ซึ่งทำให้รัฐบาลมาเลเซียตัดสินใจอย่างไม่ยากเย็นในการห้ามใช้สารบีพีเอในขวดนม เพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อสุขภาพของอนาคตของชาติที่จะละเลยมิได้” ในขณะที่ ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์   ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) กล่าวว่า “จากประสบการณ์การจัดการปัญหาสินค้าไม่ปลอดภัย หน่วยงานราชการเกี่ยงกันไปมา ไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเช่น กรณีของบีพีเอ หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับแร่ใยหิน ทั้งที่มีหลักฐานทางวิชาการอย่างชัดเจนว่ามีอันตราย ดังนั้นจึงเห็นด้วยหากประเทศใดในอาเซียนแบนสินค้าใดสินค้าหนึ่ง ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนควรแบนด้วย ไม่เช่นนั้น สินค้าอันตรายที่ถูกประเทศอื่นยกเลิกแล้วจะเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศที่ยังไม่มีมาตรการเกี่ยวกับสินค้านั้น” และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ความเห็นปิดท้ายว่า“นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ควรเร่งผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ ต้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบอีกครั้งก่อนที่จะเป็นกฎหมาย ซึ่งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจะเป็นกลไกใหม่ในการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคและเป็นตัวแทนในประเด็นต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้างเช่น สินค้าอันตราย ไม่ว่าจะเป็นกรณีแร่ใยหิน หรือ สารบีพีเอในขวดนม ที่มีการยกเลิกการใช้ในหลายประเทศในอาเซียน ขณะที่ประเทศไทยไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะไม่มีหน่วยงานที่อยากจะรับผิดชอบผู้บริโภคอย่างชัดเจนเบ็ดเสร็จได้” เมื่อจบการประชุมในวันแรก ตัวแทนจากองค์กรสภาผู้บริโภคอาเซียน ได้ร่วมในงานเลี้ยงต้อนรับที่ทางรัฐบาลจัดขึ้น ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทางองค์กรผู้บริโภคอาเซียนเข้ายื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี  นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้เร่งออก พรบ.  องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเป็นกลไกใหม่ในการเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค  ห้ามผลิต  และนำเข้าผลิตภัณฑ์อันตรายทั้งภูมิภาคอาเซียน   ถ้ามีการประกาศห้ามผลิต/นำเข้า ผลิตภัณฑ์ชนิดใดชนิดหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะต้องถูกห้ามผลิต/นำเข้าในประเทศอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวทั้งภูมิภาค   1 ประเทศแบน 10 ประเทศแบน One bans. All ban. ในส่วนการประชุมวันที่ 5 กันยายน 2555 องค์กรสภาผู้บริโภคอาเซียน ได้ประกาศ ปฏิญญากรุงเทพ โดยมีใจความสำคัญดังนี้ สภาผู้บริโภคอาเซียน ร่วมประกาศปฏิญญา SEACC กรุงเทพฯ 2555 “1 ประเทศแบน 10 ประเทศแบน” ปฏิญญา SEACC กรุงเทพฯ 2555 เพื่อเรียกร้องให้เกิดความร่วมมือในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกันของรัฐบาลในอาเซียน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรผู้บริโภค ตัวแทนองค์กรผู้บริโภคต่างยืนยันที่จะร่วมมือกันคุ้มครองผลประโยชน์ ของผู้บริโภคในทุกภาคส่วน และเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในกระบวนการตัดสินใจในเรื่องมาตรการและนโยบายที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคในอาเซียนให้มีมาตรฐานเดียวกัน   รองศาสตราจารย์ ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานกรรมการอำนวยการสภาผู้บริโภคอาเซียน และประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ปฏิญญาสภาผู้บริโภคอาเซียน กรุงเทพฯ 2555 ตกลงกันในการร่วมกันแบนสินค้า แอสเบสตอสและ บีพีเอ เช่นเดียวกับที่สิงคโปร์และมาเลเซียได้แบนสำเร็จแล้ว โดยยืนยันให้มีมาตรการอัตโนมัติที่ประเทศหนึ่งแบนสินค้าใด ประเทศอื่นในอาเซียนต้องแบนสินค้านั้นทันที ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีในการร่วมมือกันในครั้งนี้  การประชุมสภาอาเซียนผู้บริโภคนี้ ยังเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือระหว่างกัน ดังเช่นที่ปฏิญญาได้ให้การสนับสนุนการเกิดขึ้นขององค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในไทย นอกจากนี้ตัวแทนจากประเทศอินโดนีเซีย ก็ให้ความสนใจในประเด็นเรื่องข้อมูลผลกระทบ FTA ของไทย  และต้องการศึกษาผลกระทบในอินโดนีเซียเช่นกัน ก็สามารถร่วมมือกันได้ เพื่อหาวิธีร่วมกันในการจัดการปัญหาในระดับอาเซียน ซึ่งเป็นกลไกที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภคอย่างเท่าเทียมกัน”   นางสาวอินดา  สุขมานิวซิงค์ ประธานกรรมการบริหารสภาผู้บริโภคอาเซียน กล่าวต่อว่า “เมื่อค่ำวานนี้มีความยินดีที่ได้มีโอกาสพบตัวแทนรัฐบาลไทยซึ่งดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งตัวแทนรัฐบาลไทยได้ให้สัญญาณที่ดีในเรื่องที่จะทำงานร่วมกันเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ผู้บริโภคร่วมกัน  ไม่ว่าจะเกิดปัญหากับผู้บริโภคในประเทศไหนในภูมิภาคอาเซียน เราทุกคนควรมองว่าเป็นปัญหาร่วมกันไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง”   นายเซีย เซ็งชุน ผู้อำนวยการสมาคมผู้บริโภคแห่งสิงค์โปร์ กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างองค์กร สำคัญมาก เช่น งานประชุมนี้เราก็ได้มีโอกาสแชร์ประสบการณ์ทำให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทยไหนบ้างอยากให้มีผู้บริโภคมาร่วมกันมากกว่านี้เวลาที่ออกไปให้ความรู้ผู้บริโภคจะได้รู้ว่าพวกเขาพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภคกันอย่างไร หรือได้รู้ว่ากฎหมายที่ออกมาเช่น LEMON LAW ของสิงคโปร์ เป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน”   นางสาวโมฮานา ปรียา สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมาเลเซีย กล่าวว่า “เราจะมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐและแลกเปลี่ยนเรื่องการตัดสินใจของหน่วยงานรัฐซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจต่างๆ เพื่อให้เกิดความเท่าทันในการเท่าทันปัญหาได้อย่างทันสถานการณ์” --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ขอแนะนำ 1 ในสมาชิกผู้ก่อตั้ง สภาองค์กรผู้บริโภค หน่วยงานนี้มีชื่อว่า Badan Perlindungan Konsumen Nasional หรือ(National Consumer Protection Agency เขาเป็นองค์กรของรัฐ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ประเทศอินโดนีเซีย วิสัยทัศน์ของ BPKN ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ 11 ปีที่แล้วคือการเป็นองค์กรชั้นนำที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบมากขึ้นพร้อมๆ กับการส่งเสริมให้ผู้บริโภคตระหนักในสิทธิของตัวเองมากขึ้นด้วย เขาเน้นการพัฒนาศักยภาพของผู้บริโภคผ่านหน่วยงาน ตั้งแต่กระทรวงต่างๆ ผู้ว่าการรัฐ สถาบัน/หน่วยงาน/คณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง/ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ภาคธุรกิจ หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของภาครัฐ หน่วยงานจัดการข้อพิพาท องค์กรระหว่างประเทส องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคในต่างประเทศ และภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หน้าที่สำคัญของ BPKN ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงาน 4 ฝ่าย (ฝ่ายวิจัยและพัฒนา ฝ่ายการศึกษาและสื่อสารสังคม ฝ่ายรับเรื่องร้องเรียน และฝ่ายสร้างความร่วมมือ) คือ ให้คำแนะนำแก่รัฐบาล ในการร่างนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคง ของผู้บริโภค ศึกษาและประเมินกฎระเบียบต่างๆที่มีอยู่ในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ทำวิจัยเรื่องความปลอดภัยของสินค้าและบริการ ส่งเสริมการจัดตั้งองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เผยแพร่ข้อมูลการคุ้มครองผู้บริโภคผ่านสื่อ และส่งเสริมสิทธิของผู้บริโภค รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน และ ภาคธุรกิจ ทำการสำรวจความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าและบริการต่างๆ ตัวอย่าง งานด้านการศึกษาวิจัยของ BPKN ได้แก่ การศึกษามาตรฐานขั้นต่ำของบริการสายการบินสัญญามาตรฐาน  การทบทวนกฎหมายเรื่องมาตรวิทยา และการทบทวนกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค BPKN ไม่เด่นในเรื่องการรับร้องเรียนเท่าไรนัก แต่ที่น่าสนใจคือการทำข้อเสนอต่อรัฐบาลอินโดนีเซียในเรื่องต่างๆ เช่น -          เสนอให้กระทรวงไอซีทีพิจารณาการห้ามส่งสแปมหรือ SMS ที่สร้างความรำคาญแก่ผู้บริโภค -          เสนอให้กระทรวงการคลังและการธนาคารควบคุมพฤติกรรมของบริษัททวงหนี้ -          เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการดูแลให้สถาบันการศึกษาปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน -          และที่เป็นข่าวฮือฮาเมื่อต้นปีคือข้อเสนอต่อกระทรวงคมนาคมให้มีการออกกฎให้มีการตรวจหายาเสพติดในกัปตันและลูกเรือทุกคน และให้มีการดำเนินการทางกฎหมายกับสายการบินที่จ้างกัปตันที่ติดยาเสพติดไว้ในสังกัดด้วย ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   ผู้อ่านฉลาดซื้ออาจสงสัยว่าสังคมเป๊ะเวอร์อย่างสิงคโปร์เขามีมาตรการจัดการกับสินค้าไม่ปลอดภัยอย่างไร  จากคำบอกเล่าของคุณเซีย เซ็ง ชุน ผู้อำนวยการสมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์  ที่นั่นเขามีองค์กรชื่อว่า SPRING Singapore ทำหน้าที่ดูแลจัดการกับสินค้าไม่ปลอดภัย โดยเป้าหมายคือการยกระดับคุณภาพการผลิตของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในประเทศไปพร้อมๆกับการคุ้มครองผู้บริโภคนั่นเอง แรกเริ่มเดิมที่มีผลิตภัณฑ์อันตรายทั้งหมด 45 ประเภท (ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์) ที่รัฐกำหนดให้มาขึ้นทะเบียนกับ SPRING เพื่อทดสอบความปลอดภัยก่อนจะได้รับอนุญาตให้วางขายได้ ปัจจุบัน กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับปรับปรุงใหม่กำหนดมีผลิตภัณฑ์ที่ต้องขึ้นทะเบียนกับ SPRING ถึง 15,000 รายการ (สินค้าที่เข้าข่าย ผลิตภัณฑ์อันตรายนี้ครอบคลุมตั้งแต่อาหารที่มีส่วนประกอบที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรม สารเคมีต่างๆ และสินค้าอุปโภคบริโภค) ค่าปรับของการขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยนั้นอยู่ที่ 10,000 เหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 250,000 บาท ใครยังจะกล้าขายก็ให้รู้กันไป ไหนๆ ก็แวะมาสิงคโปร์กันแล้ว จะไม่แถมเรื่อง Lemon Law ซึ่งสิงคโปร์ประกาศใช้ในเดือนกันยายนนี้ ก็ดูจะกระไรอยู่ กฎหมายนี้เราเคยเรียกร้องขอให้มีในกรณีของรถยนต์ เมื่อหลายปีก่อน (สมาชิกฉลาดซื้อคงยังจำกันได้ถึงเหตุการณ์ที่มีคุณผู้หญิงคนหนึ่งออกมาทุบรถออกสื่อ เพราะคับแค้นใจที่รถที่ทุ่มทุนซื้อมาหมาดๆ ดันเสียซ้ำเสียซ้อน แถมโชว์รูมก็ไม่ยอมเปลี่ยนคันใหม่ให้อีกต่างหาก) อิจฉากันได้เลย เพราะสิงคโปร์เขาล้ำหน้าไปถึงขั้นมีกฎหมายที่ระบุให้มีการเยียวยาให้กับผู้บริโภค เมื่อสินค้าที่ซื้อไปนั้นไม่เป็นไปตามสัญญา / โฆษณาที่ระบุไว้ขณะที่ซื้อ (ถ้าพบข้อบกพร่องของผลิตภัณฑ์ภายในเวลา 6 เดือนก็ให้ถือว่าเป็นความบกพร่องที่เกิดขึ้นในขณะที่ซื้อ) โดยผู้ขายจะต้องซ่อม เปลี่ยน คืนเงินทั้งหมด หรือบางส่วนให้กับผู้บริโภค ตามขั้นตอนคือให้ซ่อมหรือเปลี่ยนสินค้าบกพร่องนั้นก่อน ถ้าไม่สามารถทำได้ ผู้บริโภคมีสิทธิขอลดราคาสินค้านั้น หรือคืนสินค้าแล้วขอรับเงินคืน โดยผู้บริโภคต้องทำเรื่องร้องเรียนภายใน 6 เดือนหลังจากซื้อสินค้า ความจริงแล้วหลัง 6 เดือนก็ยังร้องเรียนได้ เพียงแต่ผู้บริโภคจะต้องรับภาระการพิสูจน์เอง และที่สำคัญ การติดป้ายว่า “สินค้านี้ซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยนหรือคืน” ก็ไม่สามารถปกป้องผู้ขายจากความรับผิดชอบนี้ได้ ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   พฤติกรรมผู้บริโภคของประเทศอาเซียน (ASEAN-5) สิงคโปร์ • การตัดสินใจซื้อ: ด้วยกำลังซื้อที่ค่อนข้างสูง ทำให้ชาวสิงคโปร์มักนิยมเลือกซื้อสินค้าแบรนด์เนม เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและมีคุณภาพค่อนข้างสูง • รสนิยม: วัฒนธรรมไลฟ์สไตล์ทางตะวันตกมีอิทธิพลมากในสังคมสิงคโปร์ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น นอกจากนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคยัง อ่อนไหวต่อกระแสนิยมและแฟชั่นในตลาดโลกสูง จนได้ชื่อว่าเป็นตลาดแฟชั่นที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ • การบริโภค: ชาวสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมาก และนิยมทานอาหารเสริมเพื่อบำรุงร่างกาย นอกจากนี้ ผู้มีรายได้และ มีระดับการศึกษาสูงจะนิยมบริโภคอาหารออร์แกนิกมากขึ้น บรูไน • การตัดสินใจซื้อสินค้า: ชาวบรูไนมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง และนิยมสินค้าแบรนด์เนม สินค้าหรูหรามูลค่าสูง และสินค้าฟุ่มเฟือย รวมทั้งให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้ามาก • รสนิยม: ชาวบรูไนมีข้อจำกัดจากทางด้านวัฒนธรรมและมีกฎระเบียบรวมถึงข้อห้ามที่เคร่งครัด ขณะเดียวกันมีรสนิยมที่ค่อนข้างทัน สมัยและอิงสไตล์ตะวันตก • การบริโภค: - พฤติกรรมการบริโภคสินค้าอาหารค่อนข้างใกล้เคียงกับมาเลเซีย โดยนิยมอาหารฮาลาลตามการยึดถือศาสนาอิสลาม - ชาวบรูไนค่อนข้างเชื่อถือคุณภาพสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอาหาร จากสิงคโปร์และมาเลเซีย มาเลเซีย • การตัดสินใจซื้อ: ชาวมาเลเซียมีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้าที่อำนวยความสะดวกสบายใน ชีวิตประจำวัน สินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าหรูหรามากขึ้น ขณะที่ กลุ่มวัยรุ่นค่อนข้างให้ความ สำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ สะท้อนจากการใช้จ่ายสินค้าไอทีที่มากเป็นอันดับแรกเมื่อเทียบกับการใช้จ่าย ด้านอาหารและการพักผ่อนอื่นๆ • รสนิยม: ผู้บริโภคมาเลเซียมีรสนิยมค่อนข้างหลากหลายตามกลุ่มเชื้อชาติ แต่กลุ่มผู้บริโภคที่มีระดับการศึกษาสูงและรายได้สูงมักมี รสนิยมอิงสไตล์ตะวันตก • การบริโภค: - ผู้บริโภคมาเลเซียนิยมบริโภคอาหารสด ขณะที่อาหารแปรรูปและอาหารบรรจุถุงมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้นจากความ เร่งรีบในชีวิตประจำวัน - ชาวมาเลเซียรับประทานอาหารวันละ 3 ครั้ง และระหว่างวันจะมีช่วงพักดื่มน้ำชา และนิยมทานขนมขบเคี้ยว/บิสกิตเป็นอาหารว่างควบคู่ไปด้วย - ชาวมาเลเซียในวัยแรงงานนิยมบริโภคสินค้า Functional Food เช่น เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ/ให้พลังงาน อินโดนีเซีย • การตัดสินใจซื้อ: ชาวอินโดนีเซียยังมีช่องว่างทางรายได้ค่อนข้างสูง และผู้บริโภคส่วน ใหญ่ยังค่อนข้างอ่อนไหวกับราคาสินค้า ทำให้ไม่ค่อยนิยมสินค้านำเข้าที่ราคาแพงหรือสินค้าที่มี บรรจุภัณฑ์ราคาสูง • รสนิยม: ผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไปนิยมบริโภคสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งสินค้านำเข้าจากเอเชียและประเทศตะวัน ตก • การบริโภค: - ชาวอินโดนีเซียมีการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอาหารค่อนข้างสูง (สัดส่วนประมาณร้อยละ 51 ของรายได้ทั้งหมด) - ชาวอินโดนีเซียนิยมใช้เวลาพักผ่อนร่วมกับเพื่อนและครอบครัวโดยการออกมารับประทานอาหารนอกบ้าน - พฤติกรรมการซื้อสินค้าอาหารเปลี่ยนจากซื้อวันต่อวันมานิยมซื้ออาหารสำเร็จ รูป อาหารพร้อมปรุง และอาหารพร้อมรับประทาน ที่เก็บไว้ได้นานขึ้น ขณะที่สินค้า กลุ่ม Cereal ยังเป็น อาหารหลักสำหรับทุกกลุ่มรายได้ นอกจากนี้ยังนิยมอาหารรสจัด - มีแนวโน้มใส่ใจกับการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น ฟิลิปปินส์ • การตัดสินใจซื้อ: แม้ปัจจุบันกระแสไอทีได้เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมโลกมากขึ้น แต่ชาว ฟิลิปปินส์ไม่นิยมการซื้อสินค้าออนไลน์ แต่นิยมเดินเลือกซื้อสินค้าด้วยตนเอง (ยกเว้นสินค้า กลุ่มสื่อบันเทิง) นอกจากนี้ ชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยยึดติดกับสินค้าแบรนด์เนม แต่นิยมสินค้า Private Label มากกว่า • รสนิยม: มีรสนิยมค่อนข้างหลากหลาย โดยทั่วไปเน้นความเรียบง่าย สะดวกและเหมาะสมกับระดับรายได้ • การบริโภค: - ชาวฟิลิปปินส์ใส่ใจกับการดูแลสุขภาพ และการดูแลความสวยงามและผิวพรรณ - ชาวฟิลิปปินส์ค่อนข้างผูกพันกับตราสินค้าเดิมที่เคยใช้และไม่เปลี่ยนตราสินค้าบ่อย - ชาวฟิลิปปินส์นิยมรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นหลัก - เช่นเดียวกับผู้บริโภคในประเทศอาเซียนอื่นที่มีรายได้สูงขึ้น ชาวฟิลิปปินส์นิยมซื้อสินค้าที่อำนวยความสะดวกสบายมากขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์และอุปกรณ์มือถือ   พฤติกรรมผู้บริโภคของประเทศอาเซียน (CLMV)   เวียดนาม พม่า / สปป.ลาว / กัมพูชา • การตัดสินใจซื้อ: พฤติกรรมชาวเวียดนามแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ของประเทศ กลยุทธ์การเข้าถึงตลาดจำเป็นต้องชัดเจนและ เหมาะสม อาทิ ทางตอนใต้พิจารณามูลค่าสินค้า เป็นสำคัญ ขณะที่ทางตอนกลางให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้า ส่วนทางเหนือจะค่อนข้างมัธยัสถ์และพิจารณาประโยชน์และความคงทนเป็นสำคัญ • รสนิยม: ผู้บริโภคชาวเวียดนามมีรสนิยมการบริโภคเปลี่ยนไปในทิศทางที่ต้องการสินค้าระดับกลางถึงบนมากขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มวัย แรงงานของเวียดนามค่อนข้างอ่อนไหวต่อ กระแสความนิยมในตลาดโลก • การบริโภค: - ชาวเวียดนามในเมืองใหญ่มักนิยมสินค้าแฟชั่น สินค้าไอทีและการสื่อสารที่ทันสมัย - อาหารสไตล์ตะวันตกได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะอาหารฟาสฟู้ดที่เข้ามาในรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ - ชาวเวียดนามนิยมอาหารสด ผักสดเป็นหลัก ขณะที่ความนิยมอาหารสำเร็จรูป อาหารพร้อมปรุงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีพฤติกรรมการจับจ่ายสินค้าประมาณ อาทิตย์ละครั้ง - พฤติกรรมทางสังคมที่มีการพบปะทางธุรกิจและสังสรรค์มากขึ้น ประกอบกับความสะดวกสบายและไม่เสียเวลาทำอาหารเอง ทำให้นิยมรับประทานอาหารนอก บ้านมากขึ้น - ระดับรายได้ที่สูงขึ้นทำให้ชาวเวียดนามนิยมซื้อสินค้าตกแต่งบ้าน/เครื่องใช้ ในบ้านมากขึ้น โดยยังนิยมสินค้าที่มีราคาไม่สูงนัก • การตัดสินใจซื้อ: ผู้บริโภคในพม่า/ สปป.ลาว / กัมพูชา ส่วนใหญ่ยังมีกำลังซื้อไม่สูงนัก ทำให้ การตัดสินใจซื้อส่วนใหญ่เน้นพิจารณาจากประโยชน์ของสินค้าเป็นสำคัญ และมักซื้อ สินค้าเท่าที่จำเป็น อย่างไรก็ดี สำหรับกลุ่มวัยรุ่นชาวลาว พบว่า กระแสแฟชั่นสมัยใหม่เข้ามามีอิทธิพลต่อการเลือกซื้อสินค้าค่อนข้างมาก โดยเฉพาสินค้าด้าน เครื่องแต่งกายและการ ดูแลสุขภาพ • รสนิยม: ประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 3 มีรสนิยมค่อนข้างคล้ายคลึงกับไทย จากประเพณีและวัฒนธรรม และพรมแดนที่อยู่ติดกัน ทั้งยังนิยม เลียนแบบการบริโภคสินค้าผ่านสื่อโทรทัศน์ ของไทย • การบริโภค: - สินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านมีอิทธิพลค่อนข้างมากในตลาดพม่า สปป.ลาว และกัมพูชา - สินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดกลุ่มนี้ยังไม่หลากหลายนัก ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากไทย จีน และเวียดนาม - ผู้บริโภคทั้ง 3 ประเทศ ส่วนใหญ่ยังเน้นบริโภคสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน ขณะที่สินค้าฟุ่มเฟือยหรือสิ่งอำนวยความสะดวกยังได้รับความนิยมในวงจำกัด เฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้สูง / นักการเมือง - ชาวลาวได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมทางอาหารจากฝรั่งเศสมาพอสมควร อย่างไรก็ดี อาหารท้องถิ่นของชาวลาวยังคงเป็นที่นิยมโดยทั่วไป   ที่มา ”พฤติกรรมผู้บริโภคในอาเซียน”...ตัวแปรสำคัญที่ SMEs ไทยควรรู้ก่อนก้าวสู่ AEC ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กรกฎาคม 2554

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point