ฉบับที่ 242 เมากัญชาจากอาหารกันให้ครื้นเครง

        รายงานข่าวจากไทยพีบีเอสในช่วง 9.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 นั้น ตอนหนึ่งเป็นข่าวเกี่ยวกับ อาหารผสมกัญชา ซึ่งเป็นไปตามกาลสมัยที่ผู้อาศัยอำนาจของประชาชนในการปกครองประเทศได้มองเห็นศักยภาพของกัญชาในการเพิ่มความนิยมทางการเมืองจากประชาชนที่อยู่ในข่ายของคำพระที่ว่า “สุกรานิ อสาธูนิ อตฺตโน อหิตานิ จ” ซึ่งแปลได้ว่า กรรมอันไม่ดีและไม่เป็นประโยชน์แก่ตน คนทำง่าย โดยเปลี่ยนข้อกำหนดทางกฏหมายให้บางส่วนของกัญชาถูกเอามาผสมกับอาหารต่างๆ เพื่อให้คนไทยยุคโควิด-19 นี้ได้ยิ้มกันทั่วหน้าทั้งที่กระเป๋าแห้งครึ่งค่อนประเทศ         สิ่งที่น่าสนใจในตอนหนึ่งของข่าวจากไทยพีบีเอสคือ ได้มีทั้งเภสัชกรของโรงพยาบาลที่สนับสนุนการปรุงอาหารใส่ใบกัญชาและแพทย์ที่เป็นผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด ได้ย้ำเตือนผู้บริโภคเกี่ยวกับการกินอาหารใส่ใบกัญชาว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่า เหมาะสมแค่ไหนในการกินอาหารลักษณะนี้ โดยเฉพาะการเกิดปัญหายาตีกันในผู้ที่ได้รับสารเสพติดจากใบกัญชาแล้วไปมีผลต่อยาบำบัดโรคอื่นที่กำลังกินอยู่ แม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ยังเตือนผู้บริโภคในการกินอาหารที่ปนกัญชาประมาณว่า กินน้อยเป็นคุณกินมากเป็นโทษ ต้องพอดี ( แต่คำว่า พอดี นั้นขึ้นกับแต่ละบุคคลซึ่งไม่เท่ากัน) ดังนั้นอาหารผสมกัญชาจะก่อปัญหาให้เกิดขึ้นต่อผู้บริโภคหรือไม่นั้น อยู่ภายใต้สามัญสำนึกของผู้ประกอบการว่า ควรใส่ส่วนไหนของกัญชาลงในอาหารในปริมาณเท่าใด และมีการเตือนผู้บริโภคหรือไม่ว่าอาหารมีกัญชา         เนื้อความต่อไปนี้ไม่ได้ประสงค์จะต่อต้านการใส่กัญชาในอาหารแต่อย่างใดเพราะรู้อยู่แล้วว่า เปล่าประโยชน์ในการต่อต้าน เพียงแต่ต้องการตั้งประเด็นคำถามให้ผู้อ่านลองหาคำตอบว่า มีวิธีการใดที่สามารถควบคุมผู้ประกอบการให้ใส่เฉพาะใบของกัญชาที่ซื้อจากแหล่งที่ได้รับการอนุญาตการปลูกตามกฏหมาย ด้วยจำนวนใบที่แค่เพิ่มความรู้สึกอร่อยของอาหาร แต่ไม่ทำให้เกิดอาการเมาสารเคมีในกัญชา และเมื่ออาหารที่ผสมใบกัญชามาถึงลูกค้าแล้วทำอย่างไรถึงจะรู้ว่าอาหารนั้นมีแค่ใบกัญชาจำนวนเท่าที่อนุญาต และ/หรือไม่มีการเติมสารสกัดหรือส่วนอื่นของกัญชาที่ยังเป็นยาเสพติด ในประเด็นหลังนี้ผู้สนับสนุนการค้าอาหารใส่กัญชาคงมีคำตอบว่า ไม่น่าจะมีการใส่เกินเพราะกัญชานั้นยังมีราคาแพง แต่ท่านผู้อ่านต้องไม่ลืมว่า ก่อนทำให้คนติดใจในอะไรสักอย่างก็คงต้องมีการลงทุนทำให้ติดใจเสียก่อน เพราะเมื่อติดใจจนใจติดแล้ว เท่าไรก็ยอมควักจ่ายเพื่อให้ได้ตามใจที่ต้องการ         เภสัชกรท่านหนึ่งได้เขียนบทความเรื่อง พืชกัญชา:ประโยชน์ โทษและข้อเสนอการพัฒนาการกำกับดูแล ซึ่งปรากฏอยู่บนเว็บ https://ccpe.pharmacycouncil.org (ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ สภาเภสัชกรรม) ตอนหนึ่งประมาณว่า  “ส่วนของต้นกัญชาที่มีสาร Tetrahydrocannabinol หรือ THC มากที่สุด คือ ช่อดอก (flower heads) และใบ (leaves)”..... ดังนั้นจึงควรเป็นที่เข้าใจในแนวทางเดียวกันว่า การบริโภคใบกัญชาในอาหารนั้นน่าจะเป็นหนทางการรับสาร THC เข้าสู่ร่างกายด้วยความตั้งใจนอกเหนือไปจากการสูดควันจากใบกัญชาที่มวนในลักษณะบุหรี่ อย่างไรก็ดีปริมาณ THC ในใบกัญชานั้นขึ้นกับสายพันธุ์ของกัญชาว่าเป็นสายพันธุ์ใดด้วย         อาหารที่รสชาติไม่ได้เรื่องแล้วเมื่อใส่กัญชาลงไปอร่อยขึ้นหรือ คำตอบคือ ใช่ในภาพลวง ดังนั้นพ่อครัวหรือแม่ครัวไร้ฝีมือย่อมพอใจถ้าคนกินอาหารเข้าไปแล้วสักพักก็ชมว่า อาหารจานนั้นอร่อย เพราะผลจากการที่สาร THC ในกัญชาวิ่งเข้าไปหาตัวรับ (receptor) ก็จะส่งผลให้ระบบประสาทส่งสัญญาณไปสมองว่า ร่างกายรู้สึกชอบใจเมื่อได้กิน THC ในอาหารนั้นๆ ดังปรากฏจากบทความเรื่อง The endocannabinoid system controls food intake via olfactory processes ในวารสาร Nature Neuroscience Trusted Source ของปี 2014 ที่ระบุว่า  เมื่อ THC เข้าไปในสมองของหนูทดลองแล้วได้ช่วยเพิ่มความสามารถในการรับกลิ่นและลิ้มรสอาหารสูงขึ้น ดังนั้นผู้กินอาหารมีกัญชา (ซึ่งต้องมี THC) จึงคงรู้สึกพึงพอใจในอาหารจานนั้นมากขึ้นเพราะลิ้มรสได้ดีขึ้น ไม่ใช่อาหารอร่อยขึ้นแต่อย่างใด         นอกจากนี้บทความเรื่อง  Hypothalamic POMC neurons promote cannabinoid-induced feeding ในวารสาร Nature Neuroscience Trusted Source ของปี 2015 พบว่า สารเคมีในกัญชาน่าจะกระตุ้นเซลล์ประสาทส่วนที่ทำให้กินอาหารไม่หยุด เพราะเซลล์ประสาทที่ดูเหมือนถูกเปิดให้ทำงานด้วยสาร THC นั้นเป็นเซลล์ประสาทที่ปรกติแล้วทำหน้าที่ปิดสัญญาณความหิวของร่างกายตามปกติเพื่อควบคุมการกินอาหาร ดังนั้นจึงดูเหมือนว่า THC ได้เปลี่ยนกระบวนการทำงานของสมอง โดยส่งคำสั่งแสดงความหิวโหยแม้ว่าเพิ่งกินไปหรือไม่มีความหิวก็ตาม         บทความเรื่อง Smoking, Vaping, Eating Is Legalization Impacting the Way People Use Cannabis ในวารสาร International Journal of Drug Policy ของปี 2016 ให้ข้อมูลว่า อาหารผสมกัญชาที่มี THC นั้น ทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกหลุดไปจากโลกเช่นเดียวกับการสูบกัญชา นอกจากนี้การกินกัญชานั้นน่าจะเป็นวิธีที่ทำให้ THC ออกฤทธิ์ได้สูงกว่าเมื่อได้จากการสูบควัน ซึ่งมีการทำวิจัยเกี่ยวกับการกินอาหารมีกัญชานั้นได้แสดงให้เห็นว่า ผลกระทบจากการกินนั้นใช้เวลาหลังจากกินแล้วประมาณ 1 ชั่วโมงในการเริ่มต้นแสดงฤทธิ์เมา และอาจอยู่ได้นานถึง 6 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ซึ่งต่างจากผลของ THC จากการสูบควันกัญชานั้นมักออกฤทธิ์เมาอยู่ในช่วง 1–4 ชั่วโมง         ในเอกสารเรื่อง The Health Effects of Cannabis and Cannabinoids ของ The National Academies of Sciences, Engineering, and Medicine เผยแพร่โดย The National Academies Press ในปี  2017  กล่าวเป็นเชิงว่า การกินอาหารใส่กัญชานั้น เป็นการลดความเสี่ยงในการได้รับควันจนเกิดอาการไอเรื้อรังและมีเสมหะ หรือถ้ายาวไปกว่านั้นคือ ลดความเสี่ยงของมะเร็งปอด ดังนั้นสำหรับผู้ประสงค์จะละศีลข้อ 5 เพื่อลองกินผลิตภัณฑ์ใส่กัญชาจึงรู้สึกว่า ได้ทำคุณแก่โลกที่ไม่ได้หยิบยื่นควันพิษให้สัตว์โลกที่อยู่ใกล้เคียง สิ่งสำคัญที่พึงระลึกเสมอคือ ควรเริ่มด้วยขนาดที่ต่ำหน่อยเพื่อดูว่าร่างกายตอบสนองอย่างไร เพราะการกินนั้นง่ายมากที่จะกินจนได้สารเสพติดในขนาดที่สูงเกินไป ซึ่งกว่าที่จะรู้ผลที่เกิดขึ้นจาก THC นั้น ก็อาจเกินกว่าที่ร่างกายรับไหว         เรารู้กันมานานแล้วว่า สารเสพติด THC ในกัญชานั้นออกฤทธิ์แทบจะทันทีทันใดเมื่อสูบควันเข้าถึงปอด เพราะมีการส่งต่อสารเสพติดนั้นเข้าสู่เลือดในพริบตาที่ปอด ในขณะที่ผลของ THC จากการกินนั้นต้องรอเวลาย่อยผ่านระบบทางเดินอาหาร ไปตับก่อนเข้าสู่เลือดที่ต้องรอเวลาสักระยะหนึ่ง ซึ่งไม่เท่ากันในแต่ละคน คนที่มีการเผาผลาญเร็วอาจรู้สึกถึงผลกระทบได้เร็วขึ้นเนื่องจากร่างกายสามารถย่อยและประมวลผลสิ่งที่กินได้เร็วขึ้น การกินกัญชาตอนท้องว่างอาจทำให้ได้ผลเร็วกว่าเมื่อเทียบกับการกินแบบกินร่วมกับอาหารอื่นๆ หรือหลังกินอาหาร ดังนั้นหลังการกินอาหารใส่กัญชาสิ่งที่ผู้บริโภคอาจนึกไม่ถึงคือ การออกฤทธิ์ของสารเสพติดในกัญชา (ถ้ามี) อาจเริ่มขึ้นหลังจากอยู่หลังพวงมาลัยรถยนต์แล้วเริ่มเคลิบเคลิ้มไปกับการจราจร         อาหารบางอย่างเช่นลูกอมหรือลูกกวาดนั้น การดูดซึมของ THC อาจทำให้เมาตั้งแต่ขนมนั้นอยู่ในปาก ดังบทความเรื่อง  Practical considerations in medical cannabis administration and dosing ในวารสาร  European Journal of Internal Medicine ของปี 2018 ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กัญชาในลูกอมที่เรียกว่า hard candy นั้นอาจเริ่มออกฤทธิ์ใน 15–45 นาที ในขณะที่กัญชาในอาหารอื่นอาจต้องรอเวลา 60–180 นาที กว่าที่ผู้บริโภคเริ่มเมา         ความสามารถทนได้ต่อการออกฤทธิ์ของสารเสพติดทั้งหลายในกัญชา (Individual tolerance) นั้นต่างกันในแต่ละคน สายเขียวที่จัดว่าได้สูบหรือกินกัญชามาเป็นเวลานานสามารถทนกับฤทธิ์ของ THC ได้ในปริมาณสูงระดับหนึ่งจึงจะเมาตามต้องการ ส่วนผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์จากกัญชาอาจรู้สึกถึงฤทธิ์ที่รุนแรงอย่างรวดเร็วจนหัวทิ่มตำหลังได้ THC จากกัญชาในระยะเวลาไม่นานเท่าใด  ซึ่งตรงกับข้อมูลในบทความเรื่อง Practical considerations in medical cannabis administration and dosing ซึ่งกล่าวแล้วข้างต้นที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อได้รับ THC ในปริมาณหนึ่ง สายเขียวส่วนใหญ่อาจเมากัญชาแค่ไม่กี่ชั่วโมง (เฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ 4 ชั่วโมง) ในขณะที่มือใหม่หัดเสพอาจเป๋ได้ถึง 6–8 ชั่วโมง และไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่พบว่า คนที่ไวต่อสารเสพติดต่างๆ ในกัญชาสูงอาจเมาได้นานถึง 8–12 ชั่วโมง        เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดปริมาณของ THC ในกัญชาว่า ควรเป็นเท่าใดในอาหารจึงจะไม่ออกฤทธิ์ที่ก่อปัญหาในคนที่ไวต่อการเมากัญชา  มีบางบทความในอินเตอร์เน็ทเสนอว่า สาร THC ในปริมาณที่ต่ำแค่ 0.5 มิลลิกรัม เรื่อยไปจนถึง  2.5-5.0 มิลลิกรัมนั้นไม่ควรส่งผลเสียในผู้บริโภค อย่างไรก็ดียังไม่มีงานวิจัยรับรองข้อเสนอนี้ สำหรับสายเขียวมืออาชีพที่นิยมการใช้หรือกินผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชามักกล่าวว่า THC ประมาณ 10-15 มิลลิกรัม ก็ควรส่งผลให้ร่างกายรู้ได้ถึงฤทธิ์ของสารเสพติดดังกล่าวแล้วหลังการเสพเข้าไป 2-3 ชั่วโมง และเมื่อใดที่ขนาดของสาร THC ขึ้นไปถึง 20 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่มืออาชีพรับได้นั้น มือใหม่อาจจะได้รับโอกาสรู้ว่า ชีวิตหลังความตายเป็นอย่างไร โดยไม่มีโอกาสกลับมาบอกเล่าให้เพื่อนสนิทมิตรสหายฟัง         ปริมาณจิ๊บ ๆ  (สำหรับบางคน) ของ THC ที่ 20 มิลลิกรัมนั้น ดูแล้วไม่เท่าไรเลยในผู้ที่ชินกับการสูบกัญชา แต่ปริมาณเดียวกันนี้อาจก่ออันตรายต่อมือใหม่หัดกินอาหารใส่กัญชา ดังที่บทความทบทวนเอกสารเรื่อง Tasty THC Promises and Challenges of Cannabis Edibles ในวารสาร Methods Rep RTI Press ของปี 2017 ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าผลกระทบจาก THC ในอาหารที่กินได้อาจปรากฏในบางคนด้วยปริมาณที่ต่ำแค่ 2.5 มิลลิกรัม ในขณะที่คนอื่น ๆ ต้องการสูงถึง 50 มิลลิกรัมจึงจะซาบซึ้งถึงฤทธิ์ของ THC ช่วงที่กว้างของขนาดที่ออกฤทธิ์ในแต่ละบุคคลของ THC นี้ดูเป็นการตอกย้ำถึงหลักการว่า คนที่ยินดีละศีลข้อ 5 ควรเริ่มต้นกินอาหารใส่กัญชาด้วยปริมาณที่น้อยก่อนถ้ายังคิดว่า โลกนี้ยังน่าอยู่ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >